ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน ~

[คัดลอกลิงก์]
31#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ช่วยหลวงปู่ฝั้นให้พ้นจากบุรพกรรมอีกองค์หนึ่ง

ระหว่างพักจำพรรษาอยู่ในกรุงเทพฯ เรื่องที่ไม่น่าจะเกิด ก็ได้อุบัติขึ้นแก่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร โดยบังเอิญ ที่ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นนั้นก็เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสตรีเพศ

เรื่องมีว่า วันหนึ่งหลวงปู่สิงห์ได้พาหลวงปู่ฝั้นไปกราบนมัสการ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) ที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร) ระหว่างทางได้เดินสวนกับผู้หญิงคนหนึ่งเข้า นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมาพระอาจารย์ฝั้นก็ลืมผู้หญิงคนนั้นไม่ลง ท่านรู้สึกว่าท่านได้เกิดความรักขึ้นในใจเสียแล้ว ขณะเดียวกันท่านก็บอกตัวเองด้วยว่า ท่านจะต้องขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปเสียให้พ้นจากความรู้สึกนึกคิดให้ได้

เมื่อกลับวัดบรมนิวาสในวันนั้น หลวงปู่ฝั้นได้นั่งภาวนาพิจารณาแก้ไขตัวเองถึง ๓ วัน แต่ก็ไม่ได้ผล ใบหน้าของผู้หญิงคนนั้นยังคงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด จนไม่อาจสลัดให้ออกไปได้ ในที่สุดเมื่อเห็นว่า เป็นการยากที่จะแก้ไขได้ด้วยตัวเองแล้ว ท่านจึงได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้หลวงปู่สิงห์ฟัง เพื่อให้ช่วยแก้ไข หลวงปู่สิงห์ได้แนะให้ท่านไปพักในพระอุโบสถ พร้อมกับให้พิจารณาทำความเพียรให้หนักขึ้น

หลวงปู่ฝั้นได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในพระอุโบสถเป็นเวลาถึง ๗ วัน ก็สามารถรู้ชัดถึงบุพเพสันนิวาสแต่ในปางก่อน ว่าผู้หญิงคนนั้นกับท่านเคยเป็นสามีภรรยากันมา จึงทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวขึ้น เมื่อตระหนักในเหตุในผล ท่านก็สามารถตัดขาดลืมผู้หญิงคนนั้นไปได้โดยสิ้นเชิง


๏ แยกย้ายกันสร้างวัดและเผยแผ่ธรรม

ในระหว่างที่หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น เดินทางเข้ากรุงเทพฯ คณะศิษย์ก็ร่วมกันจัดสร้างเสนาสนะชั่วคราวขึ้น พอท่านกลับมาถึงแล้วเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ก็ไปพักที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขตได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้กุฏิ ๑ หลัง ศาลายังสร้างไม่เสร็จ ๑ หลัง

จากนั้นพระอาจารย์มหาปิ่นก็ได้พาหมู่ศิษย์อีกหมู่หนึ่งไปสร้างเสนาสนะที่ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นป่าช้าที่ ๒ สำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ เช่น อหิวาตกโรค และกาฬโรค เป็นต้น ให้ชื่อว่า วัดป่าศรัทธารวม พรรษานั้นมีพระผู้ใหญ่ด้วยกันหลายองค์ คือ พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ภูมี ฐิตธมฺโม พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร และพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ โดยมีพระอาจารย์มหาปิ่นเป็นหัวหน้า พรรษานี้พระอาจารย์มหาปิ่นก็ได้รับแขกและเทศนาอบรมคณะศรัทธาญาติโยมตลอดพรรษา ในปีเดียวเกิดมีวัดป่าพระกัมมัฏฐานขึ้น ๒ วัดเป็นปฐมฤกษ์ของเมืองโคราช

พรรษาแรก ได้แยกกันอยู่จำพรรษา ดังนี้คือ
32#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม
๒. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

เผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ พักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา มีพระภิกษุ ๓๘ รูป สามเณร ๑๒ รูป

๑. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ป.ธ.๕
๒. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
๓. พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

เผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีพระภิกษุ ๑๐ รูป สามเณร ๔ รูป ได้มีการอบรมศีลธรรมให้แก่ประชาชน จนประชาชนเกิดความเลื่อมใสและตั้งตนอยู่ในพระไตรสรณาคมน์ ถือเอา “วัดป่าสาลวัน” เป็นจุดศูนย์กลางปฏิบัติกัมมัฏฐานและเป็นสถานที่ชุมนุมประจำ ครั้นเมื่อจะเข้าพรรษาก็ให้แยกย้ายพระภิกษุไปวิเวกจำพรรษาในวัดต่างๆ ที่ไปตั้งขึ้น ตัวท่านหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ไปจำพรรษาอยู่ที่ศูนย์กลางคือวัดป่าสาลวันแห่งนี้

ครั้นปีต่อมา คือในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ได้แยกกันอยู่จำพรรษาเป็นหลายสำนักมากขึ้นโดยลำดับคือ

๑. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม พร้อมด้วยพระภิกษุ ๕ รูป สามเณร ๒ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าสุวรรณไพโรจน์ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

๒. พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม พร้อมด้วยพระภิกษุ ๕ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา

๓. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอมีศรัทธาเลื่อมใสมากได้อาราธนาให้ท่านไปพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าสว่างอารมณ์ บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

๔. พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่อำเภอโชคชัย ขุนอำนาจ นายอำเภอมีศรัทธาเลื่อมใสมากได้อาราธนาให้ท่านไปพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าธรรมนิการาม อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา

๕. พระอาจารย์บุญ พระอาจารย์พรหม พรหมสโร ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าสำราญจิต ตำบลบ้านชวน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ

๖. พระอาจารย์คำตา พร้อมพระภิกษุ ๕ รูป สามเณร ๒ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่อำเภอปักธงชัย ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าเวฬุวัน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

๗. พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม พร้อมด้วยพระภิกษุ ๕ รูป สามเณร ๒ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ฝ่ายวิปัสสนาธุระ อำเภอจักรราช ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าจักรราช อำเภอจักรราช จังหวัดนครราชสีมา

ระยะต่อมาก็มีการกระจายกันไปสร้างวัดโดยรอบวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา เช่น วัดศรัทธาวนาราม ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล วัดป่าคีรีวัลย์ อำเภอท่าช้าง วัดป่าอำเภอกระโทก วัดป่าอำเภอจักราช วัดป่าสะแกราช อำเภอปักธงไชย วัดป่าบ้าใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว วัดป่าบ้านมะรุม อำเภอโนนสูง ฯลฯ... เป็นกองทัพธรรมกระจายแยกย้ายกันไปเทศนาอบรมประชาชน
33#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ไปสร้างวัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี

หลวงปู่สิงห์ได้พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสาลวัน ๕ พรรษา ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระในจังหวัดปราจีนบุรี ตามคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระปราจีนมุนี ตั้งแต่เมื่อยังไม่ตั้งสำนักสงฆ์วัดป่าทรงคุณ โดยมีพระอาจารย์มหาปิ่นได้ติดตามไปด้วย ท่านพักที่สวนมะม่วงของอาจารย์พร บรรลือคุณ

การมาอยู่จำพรรษาที่นี่ หลวงปู่สิงห์ได้นำธรรมปฏิบัติสอนให้บรรดาชาวบ้านญาติโยมโดยทั่วไปประพฤติปฏิบัติ จนปรากฏว่าชื่อเสียงในการสั่งสอนและแสดงพระธรรมเทศนาของท่านลึกซึ้ง จับใจ ฟังแล้วเข้าใจง่าย บรรดาชาวบ้านญาติโยมที่ได้สดับรับฟังแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามจนเกิดสติปัญญารอบรู้ แต่ก็สร้างความไม่พอใจแก่คนเลวบางคนเป็นยิ่งนัก ถึงขนาดจ้างมือปืนมาฆ่าท่าน แต่ก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นในขณะที่มือปืนเล็งปืนขึ้นหมายยิงท่านนั้น ต้นไม้ทุกต้นในบริเวณป่านั้นแกว่งไกวเหมือนถูกลมพายุพัดอย่างรุนแรง ขนาดต้นไม้โตๆ ยังล้มระเนระนาดหมด ทำให้มือปืนใจชั่วตกใจเหลือกำลัง จะวิ่งหนีแต่ขาก้าวไม่ออก ปืนที่หมายจะยิงพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้ตกหล่นอยู่บนพื้นดิน มือปืนจึงก้มลงกราบพร้อมกับกล่าวคำสารภาพผิด หลวงปู่สิงห์ได้อบรมจิตใจของมือปืนรับจ้างด้วยความเมตตา และปล่อยตัวไป ครั้นต่อมาผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นผู้จ้างมือปืนมาฆ่าหลวงปู่สิงห์ได้สำนึก และได้รับฟังธรรมโอวาทจากหลวงปู่สิงห์ แล้วเกิดปีติในธรรมะอย่างล้นพ้น เลื่อมใสศรัทธาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ จึงพร้อมใจกันฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิงห์ พร้อมทั้งได้ชักชวนกันสร้างสำนักสงฆ์อันถาวรถวายแด่หลวงปู่สิงห์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณของท่านที่ได้เปิดตาเปิดใจพวกเขาให้ได้รับแสงสว่างในธรรมะ และได้ตั้งชื่อไว้ว่า “วัดป่ามะม่วง” หรือ “วัดป่าทรงคุณ” แห่งจังหวัดปราจีนบุรีในปัจจุบันนี้

๏ งานบำเพ็ญกุศลครบรอบ ๘๐ ปี ของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล

ปี พ ศ. ๒๔๘๑ เมื่อครั้งจัดงานบำเพ็ญกุศลครบรอบ ๘๐ ปี ของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม กับพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ร่วมกันเรียบเรียง หนังสือที่ระลึก เรื่องกติกาวิธีสัมมาปฏิบัติ ว่าด้วยข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสำหรับสำนักชีกรรมฐาน ถวายมุทิตาจิตแด่หลวงปู่ใหญ่เสาร์เพื่อพิมพ์แจกในงาน ซึ่งก่อนหน้านี้หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ได้เรียบเรียง แบบถึงพระไตรสรณคมน์ กับแบบวิธีนั่งสมาธิภาวนา ตามที่คุณหา บุญมาไชย์ ปลัดขวาอำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น อาราธนาให้เรียบเรียงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยถวายหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ให้พิจารณาตรวจทานด้วย
34#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในงานบำเพ็ญกุศลฯ ดังกล่าว พระภิกษุที่ได้รับนิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ในงานพิธีนี้มีจำนวน ๘๐ รูป ครบเท่าอายุของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล โดยคณะศรัทธาญาติโยมได้จัดเตรียมผ้าจีวรครบ ๘๐ ชุด สำหรับหลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้ทอดถวายเป็นผ้าบังสุกุล นอกจากนี้คณะพระลูกศิษย์ของท่านยังได้ช่วยกันตัดเย็บผ้าขาวเป็นจำนวน ๘๐ ผืน ให้ท่านได้แจกทานแด่แม่ชีที่มาในงานพิธีครั้งนี้ด้วย

ในงานมุทิตาจิตหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล นี้ไม่มีมหรสพสมโภชใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่การปฏิบัติธรรมและแสดงพระธรรมเทศนาโดย หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล และพระลูกศิษย์ที่มีเทศนาโวหารเก่งๆ ทั้งหลาย ได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นธรรมาสน์กล่าวธรรมกถาสะกดคณะศรัทธาญาติโยมผู้ฟังที่มากันเต็มศาลาใหม่วัดบูรพารามนั้น

หนังสือแบบถึงพระไตรสรณคมน์ กับแบบวิธีนั่งสมาธิภาวนา ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นนี้ได้เป็นเหตุนำมาซึ่งความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเหตุเริ่มต้นที่ทำให้เราได้มีพระสุปฏิปันโนเพิ่มขึ้นอีก ๒ องค์ด้วยกัน คือ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ และพระอาจารย์หลวง กตปญฺโญ

หลวงปู่เหรียญได้บวชเมื่ออายุย่างได้ ๒๐ ปี ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่วัดบ้านหงษ์ทอง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยมีท่านพระครูวาปีดิฐวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์พรหม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้กลับมาอยู่วัดโพธิ์ชัย บ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย พรรษาแรกจำพรรษา ณ วัดศรีสุมัง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โยมบิดาเอาหนังสือธรรมะมาถวายเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสมถะและวิปัสสนาของหลวงปู่สิงห์ ได้อ่านดูเกิดความสนใจเรื่องสติปัฎฐานสี่ โดยเฉพาะเรื่องกายานุปัสสนา

ส่วนพระอาจารย์หลวง กตปญฺโญ แห่งวัดป่าสำราญนิวาส อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ได้เล่าให้ พระอาจารย์มหาถาวร จิตฺตถาวโร แห่งวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ฟังว่า

“สมัยอาตมาเป็นฆราวาส อาตมาได้รับหนังสือแบบถึงพระไตรสรณคมน์ มาเล่มหนึ่ง พออ่านไปๆ จิตใจนี้บังเกิดความเลื่อมใส อยากบวชเป็นพระเสียเลย พออ่านแล้วจิตใจอยากบวช เพราะเกิดซาบซึ้งขึ้นในธรรมนั้นๆ ทั้งๆ ที่อ่านเพียงครั้งแรก อาตมาก็ยังมานึกสงสัยอยู่เลยว่า ทำไมจึงเข้าใจได้เข้าใจดี นี่อาจเป็นวาสนาของอาตมาก็ได้นะ มันคงถึงคราวต้องบวชด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้…”
35#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ตั้งใจปรารถนาพุทธภูมิ

ท่านได้จำพรรษาที่วัดป่าสาลวันจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้พิจารณาเห็นอุปสรรคแห่งการประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาถึงขั้นสละชีวิตทำความเพียร จึงตั้งสัจอธิษฐานทำความเพียรไม่ได้หลับนอนถึง ๗ วัน ๗ คืน เกิดอาพาธหนักทุกขเวทนากล้าแข็ง และเกิดโทมนัสคับแค้นใจเป็นกำลัง พิจารณาเห็นว่าบุญวาสนาไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจปรารถนาพุทธภูมิสร้างบารมีเพื่อพระโพธิญาณสืบไป


๏ หลวงปู่สิงห์จัดการงานศพหลวงปู่เสาร์

ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่อหลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้มรณภาพลงที่วัดอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ข่าวการมรณภาพของพระครูวิเวกพุทธกิจ หรือหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว พระอาจารย์กงแก้วได้ส่งโทรเลขไปยังเมืองอุบลราชธานี แจ้งข่าวให้หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และญาติโยม ได้ทราบข่าวการมรณภาพของหลวงปู่ใหญ่ และให้เตรียมไปรับศพท่านกลับเมืองไทยต่อไป

ทางด้านจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อทางหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และคณะ ได้ทราบข่าวการมรณภาพของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ จึงได้นำหีบศพที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้เตรียมไว้ที่วัดบูรพาราม คราวทำบุญบำเพ็ญกุศลอายุครบ ๘๐ ปี มุ่งหน้าเดินทางไปนครจำปาศักดิ์โดยด่วน

การเดินทางได้ใช้รถยนต์ของคุณหญิงตุ่น โกศัลวิตร กับแม่ชีผุย ซึ่งเคยให้บริการเมื่อครั้งคณะของหลวงปู่ใหญ่เสาร์เดินทางเข้ามาทางฝั่งลาวก่อนที่ท่านจะมรณภาพ

ขบวนรถนำหีบศพแล่นพ้นเขตอำเภอพิบูลมังสาหารเข้าไปทางช่องเม็ก มุ่งหน้าสู่เมืองเก่านครจำปาศักดิ์

เพียงเข้าเขตประเทศลาว รถวิ่งอยู่ดีๆ ก็เกิดยางระเบิด พอเปลี่ยนยางเสร็จวิ่งไปได้สักครู่เครื่องยนต์ก็เกิดดับขึ้นเฉยๆ แก้ไขอย่างไรเครื่องก็ไม่ยอมติด ตะวันก็จวนจะมืดค่ำลงทุกขณะ บริเวณนั้นก็เป็นป่าเปลี่ยวด้วย จนปัญญาที่สารถจะแก้ไขให้รถยนต์วิ่งต่อไปได้

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม จึงพูดขึ้นว่า “หรือว่าพวกเราจะขัดความประสงค์ของท่านอาจารย์ เทวดาทั้งหลายจึงได้ขัดขวางการที่พวกเราจะไปเคลื่อนศพท่านกลับมาประเทศไทย”
36#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่สิงห์ให้คนจัดหาดอกไม้ธูปเทียนถวายท่าน แล้วท่านก็ลงคุกเข่าอยู่ตรงข้างๆ รถ ผินหน้าไปทางนครจำปาศักดิ์ กล่าวคำขมาโทษครูบาอาจารย์ แล้วพูดดังๆ ป่าวประกาศให้เทวดาฟ้าดินทั้งหลายได้รับทราบทั่วกันว่า

“...ที่มานี้ก็มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะไปรับศพของพระอาจารย์กลับมาบำเพ็ญกุศลทางฝั่งไทย เพราะลูกศิษย์ลูกหาทางฝั่งนั้นมีมาก หากพวกเขาจะต้องเดินทางมาบำเพ็ญกุศลทางฝั่งนี้จะเป็นการลำบากวุ่นวาย ไม่สะดวกโดยประการทั้งปวง ฉะนั้น ข้าพเจ้า พระอาจารย์สิงห์ จึงขอป่าวประกาศให้เทวดาฟ้าดิน ตลอดทั้งรุกขเทวดา อากาศเทวดา ภุมเทวดาทั้งหลายได้โปรดทราบโดยถ้วนทั่ว และขอศพพระอาจารย์เพื่อไปบำเพ็ญกุศลทางฝั่งประเทศไทยเถิด”

พอหลวงปู่สิงห์กล่าวจบลง ท่านก็สั่งให้คนขับติดเครื่องทันที

เป็นเรื่องที่แปลกและอัศจรรย์มาก หลวงปู่สิงห์ยังไม่ลุกจากที่นั่ง สตาร์ทเครื่องเพียงครั้งเดียวเครื่องยนต์ก็ติด รถจึงได้ออกแล่นมุ่งตรงไปยังนครจำปาศักดิ์เพื่อไปรับศพหลวงปู่ใหญ่ ที่วัดอำมาตยารามต่อไป

หลวงปู่สิงห์พร้อมคณะได้ขอศพหลวงปู่ใหญ่กลับไปบำเพ็ญกุศลที่เมืองอุบลฯ เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลถวายอย่างสมเกียรติแก่พระบูรพาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นเวลาพอสมควรแล้ว และเห็นว่าระยะเวลานั้นอยู่ในช่วงสงครามอินโดจีนของฝรั่งเศส หรือสงครามบูรพาอาคเณย์ยังร้อนระอุอยู่ จะจัดงานศพครูบาอาจารย์ทางฝั่งลาวคงไม่สะดวกนัก จึงได้มอบศพหลวงปู่ใหญ่ให้คณะของหลวงปู่สิงห์ได้เคลื่อนย้ายจากวัดอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ สู่จังหวัดอุบลราชธานีต่อไป

เมื่อศพหลวงปู่ใหญ่เดินทางถึงจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ได้ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบูรพาราม เมื่อเป็นเวลาพอสมควรแล้ว หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จึงสั่งให้บรรจุเก็บศพของท่านไว้ก่อน รอความพร้อมที่จะฌาปนกิจในปีต่อไป

กำหนดวันจัดงานฌาปนกิจศพหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ ซึ่งเป็นเวลา ๑๔ เดือน หลังจากการมรณภาพของท่าน

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เป็นแม่งานในการจัดเตรียมงานทั้งหมดแทนหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ศิษย์ผู้มีอาวุโสมากที่สุด ที่กำลังเดินทางจากบ้านโคก จังหวัดสกลนคร มาเป็นประธานก่อนวันเผาราว ๓ วัน และอยู่ต่ออีก ๑ วันหลังวันงาน จึงได้เดินทางกลับจังหวัดสกลนคร
37#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในงานนั้นพระอาจารย์มั่นก็ได้แสดงธรรม ซึ่งในตอนหนึ่งของการแสดงธรรม ท่านก็ได้พูดถึง หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ได้เล่าไว้ว่า

“...จำได้ว่างานศพหลวงปู่เสาร์ ตอนนั้นหลวงพ่อบวชเป็นพระได้พรรษาหนึ่งอยู่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ) ใครต่อใครเขาก็ไปกัน แต่พระอุปัชฌาย์ (เจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร - หนู ฐิตปญฺโญ) ให้หลวงพ่อเฝ้ากุฏิ เลยไม่ได้ไปกับเขา พอพระอุปัชฌาย์ท่านไป กลับมาก็มาเทศน์ให้ฟัง...”

พระอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมว่า “...เมื่อสมัยท่านอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนเรา บัดนี้ท่านอาจารย์เสาร์ได้มรณภาพไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่เราท่านอาจารย์มั่น จะเป็นอาจารย์อบรมสั่งสอนหมู่ในสายนี้ต่อไป ดังนั้น ท่านผู้ใดสมัครใจเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นต้องปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่น ถ้าใครไม่สมัครใจหรืปฏิบัติตามไม่ได้ อย่ามายุ่งกับท่านอาจารย์มั่นเป็นอันขาด ทีนี้ถ้าเราคือท่านอาจารย์มั่นตายไปแล้ว ก็ยังเหลือแต่ท่านสิงห์นั่นแหละ พอจะเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนหมู่ได้


๏ จัดการงานศพพระมหาปิ่นผู้เป็นน้องชาย

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านพำนักอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ ในปีนั้นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) อาพาธหนัก ถึงขนาดฉันอาหารไม่ได้ ต้องถวายอาหารทางเส้นโลหิต ท่านจึงเรียกพระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าไปปรึกษาหารือเพื่อหาทางบำบัดโรคในทางธรรมปฏิบัติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้นิมนต์หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์ทอง อโสโก และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ให้มาอธิบายธรรมให้ท่านฟัง ปีนั้นเป็นปีเดียวกับที่พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล น้องชายของท่านซึ่งได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จังหวัดปราจีนบุรีอยู่ ๕ พรรษา ได้กลับมาจังหวัดอุบลฯ

พระอาจารย์มหาปิ่นเมื่อกลับจากจังหวัดปราจีนบุรี มาอยู่ที่อุบลฯ แล้วได้อาพาธด้วยโรคปอดอยู่ที่วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงนั้นพระอาจารย์ฝั้นซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้พระอาจารย์ฝั้นอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ เพื่ออุปัฏฐากเจ้าประคุณสมเด็จฯ

ในพรรษานั้น ในช่วงเวลาที่พ้นเวลาอุปัฏฐากเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระอาจารย์ฝั้นก็ประกอบยารักษาโรคถวายพระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามหาสมุนไพรต่างๆ มาปรุง แล้วกลั่นเป็นยาถวายพระอาจารย์มหาปิ่น หยูกยาที่ทันสมัยก็ไม่มี เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครั้นออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เสร็จฤดูกาลกฐินแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้เข้ากราบนมัสการลาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดสุปัฏนาราม ขอเดินทางกลับไปจังหวัดสกลนครอันเป็นจังหวัดบ้านเกิดของท่าน

พระอาจารย์มหาปิ่นอาพาธอยู่ ๒ พรรษา ไม่หายและได้ถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงปู่สิงห์ก็ได้เป็นธุระในเรื่องเกี่ยวกับการศพพระอาจารย์มหาปิ่นจนเสร็จการ
38#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พระอาจารย์มั่นมรณภาพ

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในปีนั้นเมื่อใกล้จะออกพรรษาเหลืออีกประมาณ ๑๐ วัน พระอาจารย์มั่นก็ได้บอกพระที่อยู่ใกล้ชิดว่า

“ชีวิตของเราใกล้จะสิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมะเป็นครั้งสุดท้าย”

บรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้จดหมายบ้าง โทรเลขบ้างไปยังที่อยู่ของพระคณาจารย์เหล่านั้น บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายเมื่อได้รับจดหมายบ้าง โทรเลขบ้างแล้ว ต่างก็ได้บอกข่าวแก่กันต่อๆ ไปจนทั่ว เมื่อการปวารณาออกพรรษาแล้ว ต่างองค์ก็รีบเดินทางมุ่งหน้ามาหาพระอาจารย์มั่นยังบ้านหนองผือ อันเป็นจุดหมายเดียวกัน แต่พระอาจารย์มั่นได้สั่งให้นำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เมื่อได้ทราบข่าวก็รีบเดินทางเพื่อมาเฝ้าพระอาจารย์มั่นโดยทันที และตามมาทันในระหว่างทาง เมื่อคณะศิษยานุศิษย์และคณะชาวบ้านญาติโยมได้นำพระอาจารย์มั่นมาถึงวัดป่าดงนาภู่ ในวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส ใกล้เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ มาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน พระอาจารย์มั่นก็ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นต้น สิริอายุรวมได้ ๘๐ ปี

หลังงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่น เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ วัดป่าสุทธาวาส แล้ว หลวงปู่สิงห์ก็ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการแบ่งอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ซึ่งประกอบด้วย

พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
พระอริยคุณาธาร (พระมหาเส็ง ปุสฺโส)
พระพิศาลสารคุณ (พระมหาอินทร์ ถิรเสรี)
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
พระครูอุดมธรรมคุณ (พระมหาทองสุก สุจิตฺโต)


ในส่วนของหลวงปู่สิงห์เองก็ได้รับมาส่วนหนึ่ง และได้แจกไปตามวัดต่างๆ รวมทั้ง อุบาสกอุบาสิกาที่เคารพนับถือในพระอาจารย์มั่นด้วย

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เจ้าคณะภาค (ธรรมยุต) ได้อาราธนาให้หลวงปู่สิงห์ ขนฺยาคโม ไปอบรมกรรมฐานแก่พุทธบริษัทชาวเมืองเพชรบุรี
39#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ สมณศักดิ์และหน้าที่ทางคณะสงฆ์

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตผู้ช่วยจังหวัดปราจีนบุรี

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ คณะสงฆ์ขอสมณศักดิ์ที่พระครูญาณวิศิษฏ์ ให้หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม พร้อมกันกับหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี แต่คำขอสมณศักดิ์ให้หลวงปู่เทสก์ได้ตกไปเพราะท่านยังไม่มีสำนักเป็นที่อยู่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วยจังหวัดปราจีนบุรี-นครนายก

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์

และในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นี้เอง ท่านเจ้าคุณพระปราจีนมุนีได้มรณภาพ หลวงปู่สิงห์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครนายก สืบแทนท่านเจ้าคุณพระปราจีนมุนี


๏ ปฏิปทาของหลวงปู่สิงห์

ตลอดระยะเวลาหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันมิได้ขาด ตอนเช้าทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านจะนำคณะออกบิณฑบาตแผ่บุญกุศลให้แก่คณะศรัทธาญาติโยม หลังจากนั้นท่านจะทำการอบรมพระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติกัมมัฏฐานทุกๆ วันมิให้ขาด ตอนเย็นเมื่อกระทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านจะอบรมธรรมะ แก้ปัญหาธรรมที่มีพระภิกษุสามเณรติดขัดจนเป็นที่เข้าใจ ตอนกลางคืนท่านจะให้พระภิกษุสามเณรนั่งสมาธิภาวนาทุกรูป ซึ่งปรากฏว่าไม่มีใครกล้าหลีกเลี่ยง พอตอนเช้าท่านก็จะเรียกพระภิกษุสามเณรที่ไม่ปฏิบัติกัมมัฏฐานมาว่ากล่าวตักเตือน ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายต่างๆ จนเป็นที่ยำเกรงของคณะศิษยานุศิษย์ทุกรูป

หลวงปู่สิงห์ฉันหนเดียว และฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตรตลอดชีวิต ท่านถือผ้าไตรจีวรสามผืนเป็นวัตร ท่านถือผ้านิสีทนะปูนั่งเป็นวัตร คือ จะนั่ง ณ ที่ใดก็ตาม ท่านต้องปูผ้านิสีทนะของท่านก่อนจึงจะนั่งทับลงไป การปฏิบัติข้อวัวัตรต่างๆ หลวงปู่สิงห์ท่านถือเคร่งครัดมาก
40#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ขันติธรรมของหลวงปู่สิงห์

หลวงปู่สิงห์ท่านมีความเพียรพยายามจริงๆ เดินจงกรมตลอดวัน นั่งสมาธิตลอดคืน บางทีท่านจะสั่งลูกศิษย์คือ พระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รักขิตสีโล ให้ปฏิบัติท่าน โดยท่านจะเข้าสมาบัติเป็นเวลา ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ซึ่งก็หมายความว่าท่านได้อดอาหารเป็นเวลา ๕-๗ วันไปด้วย แต่ร่างกายของหลวงปู่สิงห์ก็มิได้มีอะไรผิดปรกติ ยังเห็นท่านปฏิบัติกัมมัฏฐานเดินจงกรมทุกวี่วันมิได้ขาด

เมื่อเกิดการเจ็บป่วยเจ็บปวดมีทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ท่านก็ไม่เคยปริปากบอกใคร เวลาเจ็บป่วยหนักๆ ลุกไม่ขึ้น เมื่อมีแขกมาเยี่ยม แขกถามว่า “ท่านอาจารย์สบายดีหรือ” หลวงปู่สิงห์ท่านก็ตอบเขาไปว่า “สบายดีอยู่” ทั้งๆ ที่เจ็บปวดอย่างที่คนธรรมดาสามัญจะทนไม่ได้ หลวงปู่สิงห์เป็นโรคมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้ ช่วงระยะเวลาบั้นปลายของชีวิต ท่านถูกโรคร้ายนี้คุกคามตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งตอนที่หลวงปู่สิงห์นอนป่วยอยู่ พระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รักขิตสีโล ได้เข้าเวรรักษาพยาบาลปรนนิบัติท่าน ขณะกำลังนั่งทำงานพัดอยู่ กลดเจ้ากรรมหล่นลงมากระแทกหน้าอกของหลวงปู่สิงห์ เป็นกลดแบบกัมมัฏฐานที่ฝ่ายมหานิกายใช้เสียด้วย มันเบาอยู่เสียเมื่อไหร่ น้ำหนักร่วม ๓๐ กิโลกรัม ด้ามกลดเป็นเหล็กด้วยซ้ำ ตกลงมาถูกหน้าอกของท่านเป็นรอยช้ำ ท่านมิได้ปริปากพูดแต่ประการใด เพียงแต่นอนมองทำตาปริบๆ เท่านั้น ถ้าเป็นคนอื่นโดนเข้าแบบนี้ ในขณะที่ไม่สบายด้วยเช่นนี้ มิด่าโขมงโฉงเฉงไปหมดหรือ แต่ท่านมีขันติธรรมความอดทนเสียทุกเรื่องทุกอย่าง เป็นพระแท้จริงๆ สมกับเพศสมณะ

ในตอนงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ขณะคณะสงฆ์กำลังทำสังฆกรรมภายในอุโบสถ พอดีกับเวลานั้นโรคมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้ของหลวงปู่สิงห์กำเริบ เจ็บปวดจนกระดิกตัวไม่ได้ ท่านก็ไม่ยอมปริปากบอกให้ใครรู้ จนเสร็จจากสังฆกรรมเรียบร้อย พระสงฆ์องค์อื่นลุกออกไปเกือบหมดแล้ว หลวงปู่สิงห์ท่านจึงได้บอกกับพระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รักขิตสีโล ว่า “ขณะนี้ในท้องของเราไม่ปรกติเสียแล้ว” ท่านพูดเพียงแค่นี้เอง แต่ความไม่ปรกติของท่านนั้นทำเอาท่านลุกไม่ขึ้น ต้องหามส่งเข้าโรงพยาบาลทันที ปฏิปทาในด้านความมีขันติธรรมของท่านเป็นที่กล่าวขวัญในระหว่างลูกศิษย์ลูกหาทุกคนด้วยความเคารพศรัทธา


๏ กลับสู่สำนักเดิม

ระยะหลังบั้นปลายของชีวิตของหลวงปู่สิงห์ ท่านถูกโรคมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้รบกวนอย่างหนักตลอดเวลา แต่ท่านก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่สั่งสอนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอมิได้ขาด

จวบจนปี พ.ศ. ๒๕๐๒ คณะสัปบุรุษวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ได้มาอาราธนาหลวงปู่สิงห์จากวัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี ให้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสาลวันอีก ท่านจึงได้ไปจำพรรษาวัดป่าสาลวัน ๑ พรรษา

พอปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าทรงคุณ ช่วงนี้เองอาการป่วยเริ่มเบียดเบียนท่านอีก ต้องเข้าทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ

พอปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้จัดงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา งานเสร็จก็ป่วยหนักจนต้องหามส่งเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ อีก

วันเข้าพรรษาลูกศิษย์ได้รับมาพักรักษาตัวที่วัดป่าสาลวันตามเจตนาของหลวงปู่สิงห์ ดูเหมือนท่านจะรู้วาระของท่านอย่างแน่ชัด โดยท่านได้จัดการสั่งสอนศิษย์และพระภิกษุสามเณร มอบงานหน้าที่ต่างๆ จนเป็นที่เรียบร้อย

จวบจนวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ หลวงปู่สิงห์ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบ ท่ามกลางคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ที่เฝ้าดูแล ยังความเศร้าสลดอาลัยเป็นอย่างยิ่ง วันมรณภาพของหลวงปู่สิงห์นั้นได้มีนิมิตบอกมายังพระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รักขิตสีโล ซึ่งตอนนั้นอยู่ที่วัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี พระครูใบฎีกาณรงค์ชัยจึงรีบเดินทางมายังวัดป่าสาลวัน แต่ก็มาถึงช้าไป ปรากฏว่าหลวงปู่สิงห์ได้มรณภาพไปเสียก่อนแล้วประมาณ ๒ ชั่วโมง หลวงปู่สิงห์มรณภาพเมื่อเวลา ๑๐.๒๐ น. ของวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียพระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของพระกัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ทีเดียว
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้