ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ความพยายามในการแก้ไขปัญหา

ปัญหาเรื่องพระผู้ใหญ่กับพระกัมมัฏฐานนี้นั้นเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกันมายาวนาน พระอาจารย์ทั้งหลายในฝ่ายพระกัมมัฏฐานก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด ในช่วงเวลาที่มีโอกาสก็จะพยายามโน้มน้าวเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ลดทิฏฐิ หันมาพิจารณาการปฏิบัติธรรมของพระกัมมัฏฐานว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และมีผลดีต่อคณะสงฆ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเองด้วย

หลวงปู่สิงห์เองในฐานที่เป็นสัทธิวิหาริกของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้พยายามในเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ เท่าที่มีโอกาส ในระยะแรกก็ไม่ค่อยจะได้ผล เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านไม่ฟัง มิหนำซ้ำท่านยังมีบัญชากับพระเณรด้วยว่า “ถ้าเห็นอาจารย์สิงห์มาอย่าให้ใครต้อนรับเด็ดขาด ให้ไล่ตะเพิดเสีย” แต่จากการที่คณะพระกรรมฐานอันมีพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น เป็นหลัก เป็นประธานอยู่นั้น ไม่ได้มีปฏิกิริยาใดๆ ในเชิงตอบโต้ ได้แต่หลีกเลี่ยงเสีย ถ้าเหตุการณ์รุนแรงนัก หรือ ชี้แจงแสดงเหตุผลในเมื่อมีโอกาส ประกอบกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็ได้ทั้ง “ทดสอบ” ทั้ง “ลองภูมิ” เหล่าคณะพระกัมมัฏฐานอยู่ทุกเมื่อที่มีโอกาส ก็ได้แปลกใจที่เห็นว่าความรู้ในทางธรรมของคณะพระกัมมัฏฐานดียิ่งเสียกว่าพระมหาเปรียญ ที่เชี่ยวชาญในเชิงปริยัติเสียอีก มีเรื่องเล่าว่า

สมัยหนึ่ง เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่นได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไป และไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหลวงอยู่ระยะหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเดินทางไปตรวจงานการคณะสงฆ์มณฑลภาคเหนือ และมีโอกาสได้พบกับพระอาจารย์มั่นที่เชียงใหม่

ด้วยความเป็นคู่ปรับกับพระกัมมัฏฐานมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงตั้งคำถามในลักษณะตำหนิติเตียนพระอาจารย์มั่นว่า “ญาคูมั่น เธอเที่ยวตามป่าเขาอยู่เพียงลำพังผู้เดียวอย่างนี้ เธอได้สหธรรมิก ได้ธรรมวินัยเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติที่ไหน เธอได้รับฟังธรรมจากสหธรรมิกอย่างไร ทำไมเธอจึงได้ปฏิบัติมางมไปอย่างนั้น เธอทำอย่างนั้นจะถูกหรือ”
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถามในเชิงตำหนิติเตียนพระอาจารย์มั่นเช่นนั้น เพื่อจะแสดงให้ผู้ที่อยู่ ณ ที่นั้น เห็นว่าพระอาจารย์มั่นเป็นพระเร่ร่อน หลักลอย ไม่มีสังกัด ไม่มีหมู่คณะรับรอง

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ในครั้งนั้นได้ถึงกับมีการตรวจหนังสือสุทธิกันเลยทีเดียว ปกติพระอาจารย์มั่นท่านไม่เคยยอมแพ้ใคร และก็ไม่เอาชนะใครเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาต่างยกย่องว่า ท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ปฏิภาณไหวพริบที่เฉียบคมและฉลาดปราดเปรื่องหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก

พระอาจารย์มั่นได้กราบเรียนตอบเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปว่า “...สำหรับเรื่องนี้ พระเดชพระคุณท่านไม่ต้องเป็นห่วงกังวล กระผมอยู่ตามป่าตามเขานั้น ได้ฟังธรรมจากเพื่อนสหธรรมิกตลอดเวลา คือมีเพื่อนและฟังธรรมจากธรรมชาติ เลี้ยงนกเสียงกา เสียงจิ้งหรีด จักจั่นเรไร เสียงเสือ เสียงช้าง มันเป็นธรรมชาติไปหมด

มันทุกข์หรือสุขกระผมก็รู้ เขาคอยตักเตือนกระผมอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ลืมสติว่า เจ้าเป็นใครมาจากไหน อยู่อย่างไร แล้วก็จะไปไหน เวลาใบไม้ร่วงหล่นจากขั้ว ทับถมกันไปไม่มีสิ้นสุด ก็เป็นธรรม บางต้นมันก็เขียวทำให้ครึ้ม บางต้นมันก็ตายซากแห้งเหี่ยว เหล่านั้นมันเป็นธรรมเครื่องเตือนสติสัมปชัญญะไปหมด ฉะนั้น พระเดชพระคุณท่าน โปรดวางใจได้ ไม่ต้องเป็นห่วงกระผม เพราะได้ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน”


เมื่อได้ฟังคำตอบเช่นนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ท่านก็จนด้วยเหตุผล ไม่อาจจะหาคำพูดมาตำหนิติเตียนพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ต่อไปได้
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ เจ้าประคุณสมเด็จฯ คลายทิฏฐิ

ต่อมาภายหลังเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้มีโอกาสออกตรวจการณ์คณะสงฆ์ตามหัวเมืองมณฑลอิสาน ปรากฏว่าการออกตรวจการณ์ในครั้งนั้น ได้สร้างความประทับใจให้ท่านเป็นอย่างมาก เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเห็นประจักษ์ด้วยตาท่านเองว่า ทั่วอิสานได้เกิดวัดป่าสังกัดคณะธรรมยุตขึ้นอย่างมากมาย นับจำนวนหลายร้อยวัด ทั้งๆ ที่พระผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งฝ่ายบริหารขยายวัดธรรมยุตได้เพียง ๒-๓ วัด และก็อยู่ในเมืองที่เจริญแล้วเป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถขยายออกไปตามอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านรอบนอกได้ การที่วัดป่าเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ก็เกิดจากหลวงปู่ใหญ่เสาร์ หลวงปู่ใหญ่มั่น และลูกศิษย์พระกัมมัฏฐานพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสององค์

ยิ่งกว่านั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังพบว่าเมื่อท่านผ่านไปตามหมู่บ้านที่พระกัมมัฏฐานเคยจาริกปฏิบัติธรรม และที่มีวัดป่าเกิดขึ้น ปรากฏว่าประชาชนในหมู่บ้านมีกิริยามารยาทเรียบร้อย แสดงว่าได้รับการอบรมมาดี รู้จักปฏิบัติต่อพระสงฆ์องค์เจ้า รู้จักการปฏิบัติต้อนรับ รู้ของควร ไม่ควร เข้าใจหลักการพระพุทธศาสนา รู้จักสวดมนต์ไหว้พระ มีการรักษาศีล มีการปฏิบัติสมาธิภาวนา และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน น่าชมเชย ต่างกันกับหมู่บ้านที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์ หลวงปู่ใหญ่มั่น และลูกศิษย์ลูกหาคณะพระธุดงค์กัมมัฏฐานไม่เคยจาริกผ่านไป ความประทับใจในครั้งนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงกับประกาศในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ว่า

“การเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องให้พระกัมมัฏฐานเป็นแนวหน้า หรือเรียกว่า กองทัพธรรมแนวหน้า”

นับจากนั้นเป็นต้นมา เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทัตโต และคณะพระธุดงค์กัมมัฏฐาน คำเรียกแต่เดิมว่า “ญาคูเสาร์ ญาคูมั่น” ก็เปลี่ยนไปเป็น “พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น” ส่วนลูกศิษย์พระกัมมัฏฐานที่มีอาวุโส เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็เรียกว่า “อาจารย์สิงห์ ท่านลี (ธมฺมธโร) ท่านกงมา (จิรปุญฺโญ)” เป็นต้น

เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีความรู้สึกที่ดีต่อพระธุดงค์กัมมัฏฐานแล้ว ท่านก็ให้ความสนับสนุนพระกัมมัฏฐานเป็นอย่างดี แม้แต่วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่ หลวงพ่อโชติ อาภคฺโค เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็บัญชาให้สร้างเพื่อถวายหลวงปู่ใหญ่เสาร์ด้วยแห่งหนึ่ง

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) พระองค์นี้ท่านสร้างความเจริญให้แก่วงการพระพุทธศาสนา ทั้งด้านพระปริยัติธรรมศึกษาและด้านการปฏิบัติภาวนา จนเกิดมีพระสงฆ์ผู้ได้รับการศึกษาสูง และมีพระกัมมัฏฐานผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างมากมาย สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พระอาจารย์มั่นปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก

ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว พระอาจารย์มั่นก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออก (โยมมารดาของท่านซึ่งบวชเป็นแม่ชี) ไปส่งมอบให้นางหวัน จำปาศีล น้องสาวของท่านในเมืองอุบลฯ เพื่อให้ช่วยดูแล ท่านและคณะศิษย์พักที่วัดบูรพาราม คณะศิษย์เก่าๆ ทั้งหลายอันมี พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร, พระอาจารย์กว่า สุมโน, พระอาจารย์คูณ, พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร, พระอาจารย์ดี ฉนฺโน, พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์ทอง อโสโก, พระอาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า), พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต, หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) เป็นต้น เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นเดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาศิษย์ทั้งหมดมีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคยๆ ปฏิบัติกันมา

ในค่ำคืนวันหนึ่ง พระอาจารย์มั่นได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า

“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้

ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูกๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย

อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่างๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”

25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครั้นท่านปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว จึงได้เรียกศิษย์ทั้งหลายมีหลวงปู่สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจหลวงปู่สิงห์และท่านมหาปิ่น เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่มารดาของท่านจนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลามารดาของท่าน และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ จากนั้นออกพรรษาแล้วประมาณเดือน ๓ หรือ เดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) จำพรรษาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร) และออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตาม ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่


๏ ติดตามหลวงปู่สิงห์ไปจังหวัดขอนแก่น

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ระหว่างนี้หลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น กับพระภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป ก็ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของเจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นบ้านญาติท่าน

ในช่วงที่หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหัวงัว ท่านก็ได้ทราบข่าวจาก พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติของท่านทั้งสองด้วย ว่าทางขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี ขณะนั้นพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ที่หนองน่อง บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ก็ได้มากราบนมัสการและได้ร่วมปรึกษาหารือกับหลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ในเรื่องดังกล่าว และเห็นควรลงไปช่วยพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทางโดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่วัดป่าเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เมื่อเป็น ดังนั้น ชาวอำเภอยโสธร มีอาจารย์ริน อาจารย์แดง อาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และคณะได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ ไปพักแรมอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านกล่าวกันว่าผีดุ มีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์ฟังธรรมมากมาย จากนั้นเดินทางต่อไปถึงบ้านโนนยาง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตรงกับเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ และได้ไปรวมกันอยู่ที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ เหตุการณ์ไม่สู้ดีที่ขอนแก่น

ที่เมืองขอนแก่นนั้น คณะหลวงปู่สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นได้พบว่าเหตุการณ์ก็ไม่สู้ดีตามที่ พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) ว่าไว้ ดังที่ปรากฏในหนังสืออัตตโนประวัติ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ซึ่งในสมัยนั้นท่านได้ร่วมอยู่ในคณะด้วย ท่านได้เขียนไว้ว่า

“ข้าได้พักอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ฟังเสียงพวกโยมคนเมืองขอนแก่น ไม่เคยเห็นพระกรรมฐาน ตื่นเต้นกล่าวร้ายติเตียนกันไปสารพัดต่างๆ นานา มิใช่เขาตื่นเต้นไปทางกลัวทางเสื่อมใส ดังพวกชาวเมืองราชคฤห์ตื่นเต้นคราวได้เห็นพระพุทธเจ้าออกบรรพชาใหม่ไปเที่ยวบิณฑบาตนั้น

โยมคนเมืองขอนแก่นพากันตื่นเต้นอย่างเห็นพระกรรมฐานเป็นสัตว์ เรียกพวกพระกรรมฐานว่า “พวกบักเหลือง” คำว่า “บักเหลือง” นี้เขาว่าพระกรรมฐานทั้งหลายเป็นงูจงอาง อีหล้าคางเหลือง

ฉะนั้น จึงมีคนเขาออกมาดูพวกพระกรรมฐาน เขาจำต้องมีมือ ถือไม้ค้อนกันมาแทบทุกคน เมื่อมาถึงหมู่พวกข้าแล้ว เขาถือไม้ค้อนเดินไปมาเที่ยวดูพระเณรที่พากันพักอยู่ตามร่มไม้และร้านที่เอากิ่งไม้ แอ้ม และมุงนั้น ไปๆ มาๆ แล้วก็ยืนเอาไม้ค้อนค้ำเอว ยืนดูกันอยู่ก็มีพอควร แล้วก็พากันกลับบ้าน เสียงร้องว่า เห็นแล้วละพวกบักเหลือง พวกอีหล้าคางเหลือง พวกมันมาแห่น (แทะ) หัวผีหล่อน (กะโหลก) อยู่ป่าช้าโคกเหล่างา มันเป็นพวกแม่แล้ง ไปอยู่ที่ไหนฝนฟ้าไม่ตกเลย จงให้มันพากันหนี ถ้าพวกบักเหลืองไม่หนีภายในสามสี่วันนี้ ต้องได้ถูกเหง้าไม้ไผ่ค้อนไม้สะแกไปฟาดหัวมันดังนี้ไปต่างๆ นานา จากนี้ไปก็มีเขียนหนังสือปักฉลากบอกให้หนี ถ้าไม่หนีก็จะเอาลูกทองแดงมายิงบูชาละ ดังนี้เป็นต้น

ไปบิณฑบาตไม่มีใครยินดีใส่บาตรให้ฉัน จนหลวงปู่สิงห์ภาวนาคาถาอุณหัสสวิชัย ว่าแรงๆ ไปเลยว่า ตาบอดๆ หูหนวกๆ ปากกืกๆ (ใบ้) ไปตามทางบิณฑบาตนั้นแหละ ทั้งมีแยกกันไปบิณฑบาตตามตรอกตามบันไดเรือนไปเลย จึงพอได้ฉันบ้าง ทั้งพระอาจารย์ก็มีการประชุมลูกศิษย์วันสองวันต่อครั้งก็มี

ท่านให้โอวาทแก่พวกลูกศิษย์ได้มีความอบอุ่นใจ ไม่ให้มีความหวาดกลัวอยู่เสมอ แต่ตัวข้าก็ได้อาศัยพิจารณากำหนดจิตตั้งอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ นี้อยู่เรื่อยไป”

27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ แยกย้ายกันไปตั้งวัดใหม่

ที่วัดป่าเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) พระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ ได้ประชุมตกลงให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าฝ่ายอรัญวาสีขึ้นหลายแห่งในจังหวัดขอนแก่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ โดยได้แยกกันอยู่จำพรรษาตามสำนักสงฆ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม, พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๒. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านพระคือ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๓. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านผือ ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๔. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าชัยวัน บ้านสีฐาน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๕. พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านคำไฮ ตำบลเมืองเก่า อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๖. พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านทุ่ง อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๗. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านโคกโจด อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๘. พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

๙. พระอาจารย์นิน อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านพร้อมด้วยเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และพระอุปัชฌาย์ในท้องที่ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น ออกเทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ทุกปีตลอดมาทั้ง ๓ ปี

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ติดตามหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ผู้เป็นพระพี่ชาย พร้อมด้วยหมู่คณะ ออกเผยแผ่ธรรม อีกทั้งก่อสร้างเสนาสนะเพื่อปฏิบัติธรรม เฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นรวมได้ถึง ๖๐ แห่งเศษ โดยเฉพาะที่ป่าช้าบ้านพระคือ ได้กลายเป็นที่ชุมนุมฟังธรรม และปฏิบัติธรรมของบรรดาชาวบ้านทั้งจากที่ใกล้และไกล ด้วยชื่นชอบศรัทธาว่าท่านเป็นพระที่มีความสามารถทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ หลวงปู่สิงห์หัดเสือให้เดินจงกรม

เรื่องนี้ คุณหญิงสุรีย์พันธ์ มณีวัต เล่าไว้ในหนังสือ “จันทสาโรปูชา” ซึ่งเป็นประวัติของ หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ไว้ดังนี้ “ความอัศจรรย์ที่หลวงปู่ท่านชอบเล่ามากที่สุดก็คือเรื่องที่ ท่านพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์องค์ลำดับแรกๆ ของท่าน ซึ่งท่านไปจำพรรษาอยู่ด้วยที่วัดป่าบ้านเหล่างา หรือวัดป่าวิเวกธรรม ที่จังหวัดขอนแก่นนั้น ท่านได้เล่าถึงว่า เมื่อเวลาท่านพระอาจารย์สิงห์เดินจงกรมในป่า ด้วยจิตท่านนั้นอ่อน แผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ถึงกับว่า เมื่อมีเสือมานั่งอยู่ใกล้ทางจงกรม ท่านแผ่เมตตาให้จนจิตของเสือนั้นอ่อนรวมลงเป็นมิตรสนิทต่อท่าน ท่านหัดให้เสือเดินจงกรมตามท่านไปได้ ความนี้แม้แต่ภายหลัง ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวยกย่องท่านพระอาจารย์สิงห์กรณีนี้อยู่เสมอ ท่านถึงกล่าวว่า สัตว์นั้นสุดท้ายย่อมทำให้อ่อนได้ด้วยแรงเมตตา ไม่ใช่การใช้กำลังอำนาจที่จะเอาชนะกัน มนุษย์สมัยนี้เอาชนะกันด้วยกำลัง จึงมีการฆ่าฟันกันตาย โกรธขึ้งหึงสาพยาบาทซึ่งกันและกัน พยาบาทแล้วก็เคียดแค้นกัน ก่อเวรก่อกรรมไม่มีที่สิ้นสุด”

๏ ช่วยหลวงปู่หลุยให้พ้นจากบุรพกรรม

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้รับนิมนต์ไปที่หล่มสัก ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาของหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เพื่อไปในงานศพญาติคนหนึ่งของหลวงปู่หลุย และในงานนั้นหลวงปู่หลุยก็ได้รับนิมนต์ไปในงานนั้นด้วย ก็ได้ปรากฏเรื่อง หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ช่วยให้หลวงปู่หลุยได้พ้นจากเหตุการณ์อันหวาดเสียวต่อสมณเพศไว้ได้ ดังที่คุณหญิงสุรีย์พันธ์ มณีวัต เล่าไว้ในหนังสือ “จันทสาโรปูชา” ไว้ดังนี้

“หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่เคยคิดเลยว่า การแวะไปเยี่ยมญาติและสวดมนต์ในครั้งนั้น จะทำให้ท่านถึงกับซวดเซลงแทบจะล้มลงทั้งยืน ล้ม....ล้มอย่างไม่มีสติสตังเลยทีเดียว ท่านเล่าให้เฉพาะผู้ใกล้ชิดฟังว่า วันนั้นท่านกำลังสวดมนต์เพลินอยู่ ระหว่างหยุดพักการสวด เจ้าบ้านก็นำน้ำปานะมาถวายพระแก้คอแห้ง บังเอิญตาท่านชำเลืองมองไปในหมู่แขกที่กำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่เพียงตาสบตา ท่านก็รู้สึกแปล๊บเข้าไปในหัวใจ

เหมือนสายฟ้าฟาด แทบจะไม่เป็นสติสมประดี ท่านกล่าวว่า เพียงตาพบแว้บเดียว ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านก็เซแทบจะล้ม เผอิญขณะนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้รับนิมนต์ไปด้วย ท่านคงสังเกตถึงอาการหรือว่าท่านอาจจะกำหนดจิตทราบเหตุการณ์ก็ได้ ท่านจึงเข้ามาประคองไว้ เพราะมิฉะนั้นหลวงปู่คงจะล้มลงจริงๆ ฝ่ายหญิงที่นั่งอยู่ทางด้านโน้นก็เป็นลมไปเช่นกัน คงจะเป็นอำนาจความเกี่ยวข้องแต่บุพชาติมา ที่มาบังคับให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น

ท่านบอกว่าในหัวอกเหมือนจะมีอะไร แต่ภายหลังได้พิจารณากลับมา และเมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ได้อธิบายให้ท่านทราบในภายหลังว่า การครั้งนี้เป็นนิมิต เนื่องจากบุพเพสันนิวาสท่านและสุภาพสตรีผู้นั้นเคยเป็นเนื้อคู่เกี่ยวข้องกันต่อมาช้านาน เคยบำเพ็ญบารมีคู่กันมาโดยเฉพาะเมื่อภายหลัง หลวงปู่ได้สารภาพถึงความในใจที่ตั้งปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็อธิบายว่า เธอผู้นั้นก็คงได้ปรารถนาบำเพ็ญบารมีคู่กันมาเช่นกัน

29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
....เนื่องจากเป็นการปรารถนาพุทธภูมิเคียงคู่กันมา จึงมีอำนาจรุนแรงมาก และเนื่องจากว่าฝ่ายหญิงมิได้พบกันแล้วก็ห่างกันไป....ต้องพบประจันหน้ากันอีกหลายครั้ง เนื่องด้วยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้คุ้นเคยกันประหนึ่งญาติ และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาหลายชั้น ตั้งแต่ครั้งบิดามารดาต้องพบเห็นกัน ไม่ใช่ว่าเป็นการพบกันแล้วก็ผ่านจากไป เช่นนั้นอาจจะเป็นกรณีที่ง่ายหน่อย แต่การนี้หลังจากพบครั้งแรกแล้วนั้น ก็ยังต้องเห็นกันอีก....

ท่านได้ยกกรณีของท่านขึ้นมาว่า องค์ท่านเองยังแทบเป็นลม ฝ่ายท่านนั้นพระเถระต้องเข้าประคองฝ่ายหญิงเป็นลม ญาติผู้ใหญ่และมารดาต้องเข้าประคอง

หลวงปู่จึงเล่าภายหลังว่า ท่านรู้สึกเหมือนกับว่า หัวอกแทบจะระเบิด อกกลัดเป็นหนอง แต่ใจหนึ่งก็คิดมุ่งมั่นว่า จะต้องบำเพ็ญเพศพรหมจรรย์ต่อไป

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เข้าใจในความรู้สึกของหลวงปู่ผู้เป็นศิษย์ใหม่ได้ดี ท่านจึงจัดการพาตัวหลวงปู่รีบจากหล่มสักมาโดยเร็วที่สุดหลวงปู่กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการพาตัวมาอย่างธรรมดา แต่เป็นการควบคุมนักโทษ ผู้นี้ให้หนีออกมาจากมารที่รบกวนหัวใจแต่โดยเร็ว

หลวงปู่กล่าวว่า เป็นการเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่บังเอิญเจ้าภาพที่หล่มสักนั้นได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไปร่วมในงานศพในครั้งนั้นด้วย หากไม่มีพระเถระช่วยให้สติปรับปรุงแถมยังคอยควบคุมตัว ท่านว่า ไม่ทราบว่าจะรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้หรือไม่

ท่านได้เห็นจริงในตอนนั้นว่า มาตุคามเป็นภัยแก่ตนอย่างยิ่ง เมื่อพระอานนท์กราบทูลถามสมเด็จพระพุทธองค์ว่า ควรปฏิบัติต่อมาตุคามเช่นใด พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ไม่ควรมอง ถ้าจำเป็นจะต้องมอง ก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าจำเป็นจะต้องพูดด้วย ก็ให้ตั้งสติ” ท่านตรัสบอกขั้นตอนปฏิบัติต่อมาตุคามเป็นลำดับๆ ไป แต่นี่หลวงปู่เพียงโดนขั้นแรก มองก็ถูกเปรี้ยงเสียแล้ว ถ้าเป็นนักมวยก็ขึ้นเวทียังไม่ทันจะเริ่มต่อย ก็ถูกน็อค

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม นี้เป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นที่พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ ท่านได้เห็นพระรุ่นน้องแสดงกิริยาดูน่ากลัวว่าจะพ่ายแพ้อำนาจของกิเลส ถ้าเป็นนักสู้ก็เป็นนักสู้ที่ยินยอมจะให้เขายกกรีธาพาเข้าสู่ที่ประหารชีวิตแต่โดยดี ไม่พยายามฝืนต่อสู้แต่อย่างใด

ท่านจึงควบคุมนักโทษ “ซึ่งเป็นนักโทษหัวใจ” ผู้นั้น รีบหนีออกจากหล่มสักโดยเร็ว ออกมาจากสถานที่เกิดเหตุคือเมืองหล่มสักโดยเร็วที่สุด เที่ยววิเวกลงมาตามป่าตามเขา และเร่งทำตบะความเพียรอย่างหนัก

ท่านพระอาจารย์สิงห์สนับสนุนให้หลวงปู่อดนอน อดอาหาร เพื่อผ่อนคลายความนึกคิดถึงมาตุคาม ให้เร่งภาวนาพุทโธ....พุทโธถี่ยิบ และนั่งข่มขันธ์ แต่ความกลับกลายเป็นโทษ เคราะห์ดีท่านไม่ตามนิมิต ซึ่งแทนที่จะยอมสิโรราบตามเคราะห์กรรมที่มีอยู่เช่นนั้น เพราะเคยมีกรรมต่อกันมาเช่นนั้น ทำให้พอเห็นก็มืออ่อนเท้าอ่อน ยอมตายง่ายๆ ท่านกลับเข้าหาครู เชื่อครู เล่านิมิตถวาย ท่านพระอาจารย์สิงห์ท่านได้โอกาสจึงได้อบรมกระหน่ำเฆี่ยนตีทันควัน”

30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ สมเด็จฯ สั่งให้ไปนครราชสีมา

หลังจากเสร็จงานพิธีอุปสมบท พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรจันทร์ศรี แสนมงคล เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งสามเณรจันทร์ศรีได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ในเดือนถัดมาคือเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง (หิรัญบัตร) ในพระราชทินนามที่ พระพรหมมุนี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ท่านได้บังเกิดมีความสังเวชสลดใจ โดยได้ทัศนาการเห็นท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ป่วยหนัก ระลึกถึงตัวเองว่าไม่มีกัลยาณมิตรที่ดีทางฝ่ายวิปัสสนา จึงใคร่จะหาที่พึ่งอันประเสริฐต่อไป จึงตกลงใจต้องไปเอาหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ซึ่งกำลังออกเที่ยวธุดงค์ไปจังหวัดขอนแก่น มาเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้จงได้ เมื่อตกลงใจแล้วก็เดินทางไปโดยฐานะเป็นเจ้าคณะตรวจการ ครั้นไปถึงจังหวัดขอนแก่นแล้ว สอบถามได้ทราบว่าหลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น กำลังออกไปเทศนาสั่งสอนประชาชนอยู่อำเภอน้ำพอง ก็โทรเลขถึงนายอำเภอให้ไปอาราธนาหลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น เอารถยนต์มาส่งถึงจังหวัดขอนแก่นในวันนั้น

เมื่อหลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่นมาถึงจังหวัดขอนแก่นแล้ว ท่านบอกว่าจะเอาไปอยู่ด้วยที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อปรึกษาหารือกันด้านวิปัสสนาและอบรมสมถวิปัสสนาแก่พุทธบริษัททั้งหลายด้วย เพราะได้เห็นท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ป่วยขาหักเสียแล้ว ท่านสลดใจมาก

และในปีนี้เอง พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขต ได้ถวายที่ดินหลังสถานีรถไฟจำนวน ๘๐ ไร่เศษ ให้สร้างเป็นวัด ซึ่งต่อมาก็คือ วัดป่าสาลวัน นั่นเอง หลวงปู่สิงห์จึงได้เรียกลูกศิษย์ที่อยู่ทางขอนแก่นลงไป เมื่อคณะศิษย์มาถึงนครราชสีมาก็ได้ออกเดินทางไปพักที่สวนของ พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขต

รุ่งขึ้นจากวันที่มีการถวายที่ดิน หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยเดินทางร่วมมากับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นการเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกของพระอาจารย์ฝั้น เพื่อเข้ามาเยี่ยมอาการป่วยของเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ที่วัดบรมนิวาส เมื่อถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เข้าพักอยู่ที่วัดบรมนิวาสตั้งแต่เดือนสามจนถึงเดือนหก

ในระหว่างนั้นท่านก็ได้ฝึกสอนพุทธบริษัทวัดบรมนิวาสและวัดสัมพันธวงศ์ให้นั่งสมาธิภาวนา มีประชาชนพุทธบริษัทมาสดับตรับฟังและฝึกหัดนั่งสมาธิเป็นอันมากทั้ง ๒ สำนัก
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้