ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 11099
ตอบกลับ: 46
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน ~

[คัดลอกลิงก์]
ประวัติย่อหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม


พระญาณวิศิษฎ์ สมิทธิวีราจารย์

    นามเดิม สิงห์ บุญโท
    บิดา เพียอินทวงษ์ (อ้วน)
    มารดา นางหล้า
    เกิดที่ บ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๒ เวลา ๐๕.๑๐ น. มีพี่น้องร่วมกัน ๗ คน ท่านเป็นคนที่ ๔ และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นคนที่ ๕
    บรรพชา เป็นสามเณรในสำนักพระอุปัชฌาย์ป้อง ณ บ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่ออายุ ๑๕ ปี พ.ศ. ๒๔๔๖
    บรรพชาอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นสามเณรธรรมยุตในสำนักพระครูสมุห์โฉม เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙
    อุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ขณะดำรงตำแหน่งพระศาสนดิลกเป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเสน ชิตเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
    เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีนามว่าพระครูญาณวิศิษฎ์
    เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีนามว่าพระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่สิงห์ สมัยเมื่อยังเป็นพระหนุ่ม

    พ.ศ. ๒๔๕๘ ออกพรรษาแล้วได้เดินธุดงค์ไปกับพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตเถระ เข้าอยู่ในถ้ำภูเขาหอกลอง ในท้องที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบล และในท้องที่เมืองหนองสูงเก่าอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม
    พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๓ จำพรรษาวัดป่าสาลวัน
    พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้พิจารณาเห็นอุปสรรคแห่งการประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาถึงขั้นสละชีวิตทำความเพียรจึงตั้งสัจอธิษฐานทำความเพียรไม่ได้หลับนอนถึง ๗ วัน ๗ คืน เกิดอาพาธหนักทุกขเวทนากล้าแข็ง และเกิดโทมนัสคับแค้นใจเป็นกำลัง พิจารณาเห็นว่า บุญวาสนาไม่เพียงพอจึงตัดสินใจปรารถนาพุทธภูมิสร้างบารมีเพื่อพระโพธิญาณสืบไป
    มรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลา ๑๐.๒๐ น. ด้วยโรคมะเร็งลำไส้ที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา สิริอายุรวม ๗๒ ปี


เมรุเผาศพหลวงปู่สิงห์ ยังคงเหลือให้เห็นในปัจจุบันที่วัดป่าสาลวัน

http://www24.brinkster.com/thaniyo/archan1044_2.html
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม


วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

“พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์” หรือ “ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม” แห่งวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา มีนามเดิมว่า สิงห์ บุญโท เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๒ เวลา ๐๕.๑๐ นาฬิกา ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ บ้านหนองขอน ตำบลหัวทะเล อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ในปัจจุบัน)

โยมบิดาชื่อ เพียอัครวงศ์ (อ้วน บุญโท) (เพียอัครวงศ์ เป็นตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองลาวกาว-ลาวพวน เมืองเวียงจันทน์ มีหน้าที่จัดการศึกษาและการพระศาสนา) โยมมารดาชื่อ นางหล้า บุญโท มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นบุตรคนที่ ๕ อายุห่างจากท่าน ๓ ปี การศึกษาในสมัยที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านได้ศึกษาจนเป็นครูสอนวิชาสามัญได้ดีผู้หนึ่ง
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรฝ่ายมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ในสำนักพระอุปัชฌาย์ “ป้อง” ณ วัดบ้านหนองขอน ตำบลหัวทะเล อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี

และบรรพชาอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นสามเณรธรรมยุตในสำนักพระครูสมุห์โฉม เจ้าอาวาสวัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙

ครั้นเมื่ออายุครบบวช ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เวลา ๑๔.๑๒ นาฬิกา โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมัยเมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็น พระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอิสาน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาเสน ชิตเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงปู่สิงห์นับว่าเป็นสิทธิวิหาริกอันดับ ๒ ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้นามฉายาว่า “ขนฺตยาคโม”

เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในโรงเรียนสร่างโศกเกษมศิลป์ จนกระทั่งสอบไล่ได้มัธยมปีที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เข้าสอบไล่ได้วิชาบาลีไวยากรณ์ ในสนามวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ให้เป็นครูมูลและครูมัธยมประจำอยู่ที่โรงเรียนสร่างโศกเกษมศิลป์

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านได้จัดการให้น้องชาย คือ นายปิ่น บุญโท ได้บวชในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อมีอายุได้ ๒๒ ปี และได้มาอยู่ที่วัดสุทัศนารามด้วยกัน

หลวงปู่สิงห์ได้เรียนพระปริยัติธรรมจนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘

ในขณะที่หลวงปู่สิงห์เป็นครูสอนนักเรียนอยู่นั้น ท่านเป็นอาจารย์เทศนาสั่งสอนประชาชนด้วย ได้ค้นคว้าหลักธรรมคำสั่งสอนของพระศาสนาสอนสัปบุรุษอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่ง เผอิญท่านค้นพบหนังสือธรรมเทศนาเรื่องเทวสูตร ซึ่งมีใจความว่า พระบรมศาสดาทรงตำหนิการบรรพชาอุปสมบทที่มีความบกพร่อง คือ การบวชแล้วไม่มีการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยมีโทษมาก ตกนรกไม่พ้นอบายภูมิทั้ง ๔ จึงเป็นเหตุให้ท่านเกิดความสลดสังเวชสำนึกในตน ออกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยลาออกจากตำแหน่งครูผู้สอน

เมื่อลาออกจากหน้าที่ครูแล้ว หลวงปู่สิงห์ก็ได้ออกปฏิบัติกรรมฐาน ท่านได้พิจารณาว่า การปฏิบัติธรรมในสมัยนี้หมดเขตที่จะบรรลุมรรคผลหรือยัง ? ซึ่งท่านก็ได้รู้ว่า การบรรลุมรรคผลนิพพานยังมีอยู่แก่ผู้ที่ปฏิบัติจริง ท่านจึงได้มุ่งหน้าปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ หลวงปู่สิงห์พบพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรกและกราบขอเป็นศิษย์

และในปีนั้นเอง หลังจากพระอาจารย์มั่นได้จำพรรษาที่กรุงเทพฯ ท่านก็มีดำริว่าท่านควรจะได้แนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่ท่านได้รู้ ได้เห็นมา ซึ่งเป็นธรรมที่ยากที่จะรู้ได้ ซึ่งท่านได้อุตส่าห์พยายามบำเพ็ญมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี ควรจะได้แนะนำบรรดาผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติให้ได้รู้และจะได้แนะนำกันต่อๆ ไป

ดังนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วท่านจึงได้ลา ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) กลับไปจังหวัดอุบลราชธานี จำพรรษาที่วัดบูรพาราม ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น ปีนั้นท่านมีพรรษาได้ ๒๕ พรรษา ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น ท่านก็พิจารณาว่าใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน

พระเทพเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ได้บันทึกเรื่องราว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ไว้ใน หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ดังนี้

“ในขณะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นครูสอนนักเรียนอยู่เหมือนกับครูอื่นๆ เป็นครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ

ในวันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว ท่านก็ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพา ขณะนั้นเป็นเวลา ๑ ทุ่มแล้ว เมื่อเข้าไปเห็นท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเดินจงกรมอยู่ ท่านก็รออยู่ครู่ใหญ่ จนท่านอาจารย์เลิกจากการเดินจงกรม เหลือบไปเห็นท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง ท่านจึงได้เรียกและพากันขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากท่านอาจารย์สิงห์กราบแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้พูดขึ้นว่า

“เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน”

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เพราะท่านได้ทราบจิตใจของท่านอาจารย์สิงห์มาก่อน เนื่องจากท่านอาจารย์ได้ตั้งใจมาหลายเวลาแล้วที่จะขอมาพบกับท่าน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย พอท่านอาจารย์สิงห์ได้ฟังเช่นนั้นก็รีบตอบท่านไว้ว่า “กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว”

กล่าวจบท่านอาจารย์มั่นฯ จึงได้อธิบายให้ฟังว่า “การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้นจักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือพิจารณา ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เป็นเบื้องแรกเพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติอริยสัจจธรรม ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

เมื่ออธิบายไปพอสมควร ท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นผู้นำนั่งสมาธิในตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบ แล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันที เป็นการอัศจรรย์ยิ่ง ภายหลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณาจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับไป

จากนั้นมาท่านก็พยายามนั่งสมาธิทุกวัน จนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ไปสอนนักเรียนตามปรกติ (ขณะนั้นท่านเป็นครูสอนนักเรียนชั้นวิสามัญในโรงเรียนสร่างโศรกเกษมศิลป์) ซึ่งเด็กนักเรียนในสมัยนั้นเรียนรวมกันทั้งชายและหญิง และอายุการเรียนก็มาก ต้องเรียนถึงอายุ ๑๘ ปี เป็นการบังคับให้เรียนจบ ป. ๔

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียน มองดูเด็กนักเรียนเห็นแต่โครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด ไม่มีหนังหุ้มอยู่เลยสักคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ ๓๘ คนได้มองเห็นเช่นนั้นไปหมดทุกคนเลย แม้ท่านจะพยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น ที่สุดก็เกิดความสังเวชใจขึ้นแก่ท่านเป็นอย่างมาก แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง จึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์นัก เพราะธรรมดาปฏิภาคนิมิตต้องเกิดในขณะหลับตาอยู่ในฌานจริงๆ แต่ท่านกลับเห็นทั้งหลับคาและลืมตา อาการที่ท่านเห็นเป็นอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน จนนักเรียนพากันสงสัยว่า ทำไมครูจึงนั่งนิ่งอยู่เช่นนั้น ทุกคนเงียบกริบ เวลาได้ล่วงไปนานโขทีเดียว ตาของท่านจึงค่อยปรากฏเห็นร่างของเด็กนักเรียนในชั้นเหล่านั้นมีเนื้อหนังขึ้นจนปรากฏเป็นปรกติ หลังจากนั้นท่านก็พูดกับเด็กนักเรียนทั้งหลายเป็นการอำลาว่า

“นักเรียนทุกคน บัดนี้ครูจะได้ขอลาออกจากความเป็นครูตั้งแต่บัดนี้แล้ว เนื่องจากครูได้เกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงเสียแล้ว”

และท่านก็ได้ลาออกจากการเป็นครูเพื่อตั้งหน้าปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังต่อไป และในปีนั้นหลังจากที่ได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่สิงห์ก็ได้นำพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้น้องชาย เข้ากราบนมัสการและฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่นด้วย ทำให้พระมหาปิ่นเกิดความศรัทธามาก และได้ให้ปฏิญาณว่าจะขอลาไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ สัก ๕-๖ ปี แล้วจึงจะออกมาปฏิบัติธรรมด้วย

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ หลวงปู่สิงห์พบกัลยาณมิตร

ในช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ทางด้านจังหวัดสุรินทร์ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งขณะนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุได้ประมาณ ๕ พรรษา พำนักอยู่ที่วัดบ้านคอโค จังหวัดสุรินทร์ ได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับการสอนการเรียนพระปริยัติธรรมที่จังหวัดอุบลราชธานี ตามแบบของมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ท่านก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางไปศึกษายังจังหวัดอุบลฯ

ท่านได้เพียรขออนุญาตพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินทางไปศึกษา แต่ก็ถูกทัดทานในเบื้องต้น เพราะในระยะนั้นการเดินทางจากสุรินทร์ไปอุบลราชธานีลำบากยากเข็ญเป็นอย่างยิ่ง

ท่านเพียรขออนุญาตหลายครั้ง ที่สุดเมื่อพระอุปัชฌาย์เห็นความมุ่งมั่นของท่าน จึงได้อนุญาต ท่านจึงได้ออกเดินทางไปกับพระภิกษุอีก ๒ องค์ คือ พระคง และพระดิษฐ์

เมื่อท่านได้เดินทางไปถึงอุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์ต้องประสบปัญหาในเรื่องที่พัก เนื่องจากท่านบวชในมหานิกาย ขณะที่วัดสุปัฏนารามและวัดสุทัศนาราม แหล่งศึกษาพระปริยัติธรรมนั้นเป็นวัดฝ่ายสงฆ์ธรรมยุต

โชคดีที่ได้พบพระมนัสซึ่งได้เดินทางมาเรียนอยู่ก่อนแล้ว ได้ให้ความช่วยเหลือฝากให้อยู่อาศัยที่วัดสุทัศนารามได้ แต่อยู่ในฐานะพระอาคันตุกะ ทำให้ความราบรื่นในทางการเรียนค่อยบังเกิดขึ้นเป็นลำดับ

การที่ท่านได้พักในวัดสุทัศนาราม ก็เป็นเหตุให้ท่านได้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งขณะนั้นท่านรับราชการครู ทำหน้าที่สอนฆราวาส ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ที่วัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อรู้จักคุ้นเคยกันมากเข้า ประกอบกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่หลวงปู่ดูลย์อ่อนพรรษากว่า ๑ พรรษา หลวงปู่สิงห์จึงชอบอัธยาศัยไมตรีของหลวงปู่ดูลย์ และเห็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียน พร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจในพระศาสนาของท่านว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจจริง และต่างฝ่ายต่างจึงเป็นกัลยาณมิตรกันมาโดยตลอด

ครั้นเมื่อหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้กราบพระอาจารย์มั่นฝากตัวขอเป็นศิษย์แล้ว เมื่อได้โอกาสก็ได้นำหลวงปู่ดูลย์เข้าไปกราบเป็นศิษย์อีกองค์หนึ่งด้วย
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ หลวงปู่สิงห์ธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น

เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้ว พระอาจารย์มั่นได้กราบลาพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน คือ พระครูสีทา ชยเสโน เพื่อไปติดตาม พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดมุกดาหาร)

ในคราวนั้น หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ทราบว่าพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไป ท่านก็ธุดงค์ตามไปติดๆ กับพระอาจารย์มั่น แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้ป่า จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ


๏ หลวงปู่สิงห์ธุดงค์ไปโปรดศิษย์

ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๔๕๙ หลังจากที่รักษาไข้ป่าจนสงบไปแล้ว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เดินรุกขมูลไปกับพระอาจารย์คำ มาถึงวัดบ้านนาสีดา (วัดป่าจันทรังสี) ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นนายเทสก์ เรี่ยวแรง อายุย่าง ๑๕ ปี นายเทสก์และโยมบิดาได้อุปัฏฐากหลวงปู่สิงห์อยู่ ๒ เดือน ทีแรกท่านตั้งใจจะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น แต่เนื่องด้วยท่านมีเชื้อไข้ป่าอยู่แล้ว พอมาถึงที่นั้นเข้า ไข้ป่าของท่านยิ่งกำเริบขึ้น พอจวนเข้าพรรษาท่านจึงได้ออกไปจำพรรษา ณ ที่วัดร้างบ้านนาบง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ นายเทสก์ก็ได้ตามท่านไปด้วย ในพรรษานั้นท่านเป็นไข้ตลอดพรรษา ถึงอย่างนั้นก็ตามในเวลาว่างท่านยังได้เมตตาสอนหนังสือและอบรมนายเทสก์บ้างเป็นครั้งคราว จวนออกพรรษาท่านได้ชวนนายเทสก์ให้ติดตามท่านไปโดยท่านได้บอกว่า ออกพรรษาแล้วจะต้องกลับบ้านเดิม แล้วท่านถามนายเทสก์ว่า เธอจะไปด้วยไหม ทางไกลและลำบากมากนะ นายเทสก์ตอบท่านทันทีว่า ผมไปด้วยครับ

หลวงปู่สิงห์ได้พานายเทสก์ออกเดินทางทางจากท่าบ่อ ลุยน้ำลุยโคลน บุกป่าผ่าต้นข้าวตามทุ่งนาไปโดยลำดับ เวลาท่านจับไข้ก็ขึ้นนอนบนขนำนาหรือตามร่มไม้ที่ไม่มีน้ำชื้นแฉะ รุ่งเช้าท่านยังอุตส่าห์ออกไปบิณฑบาตมาเลี้ยงนายเทสก์ด้วย เดินทางสามคืนจึงถึงอุดรฯ แล้วพักอยู่วัดมัชฌิมาวาสสิบคืนจึงได้ออกเดินทางต่อไปทางจังหวัดขอนแก่น ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร การเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาเดือนเศษ จึงถึงบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ อันเป็นบ้านเกิดของท่าน ท่านพักอบรมโยมมารดาของท่าน ณ ที่นั้น ราวสามเดือน และหลวงปู่สิงห์ก็ได้ดำเนินการให้นายเทสก์ได้บรรพชาเป็นสามเณร กับพระอุปัชฌาย์ลุย บ้านเค็งใหญ่ ตำบลเค็งใหญ่ อำเภอหัวตะพาน และได้พาสามเณรเทสก์มาพักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเคยเป็นพี่พักอยู่เดิมของท่าน หลังจากนั้นท่านก็ได้ปล่อยให้สามเณรเทสก์ได้อยู่ศึกษาที่โรงเรียนวัดศรีทอง
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พระปิ่นผู้น้องชายเข้ากรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงปู่สิงห์ได้จัดการส่ง พระปิ่น ปญฺญาพโล พระน้องชายของท่านออกเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พระปิ่นได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารนั้นเป็นเวลา ๕ ปี โดยได้แสวงหาความรู้อย่างทุ่มเทชีวิต ความมุมานะอดทนทำให้ท่านสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก จนกระทั่งได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ตามลำดับ


๏ ช่วยหลวงปู่ดูลย์ให้ได้ญัตติเป็นธรรมยุต

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม นั้น นอกจากนำพาให้หลวงปู่ดูลย์เข้าเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฎฐานแล้ว ยังเป็นภาระช่วยให้หลวงปู่ดูลย์ได้ญัตติอยู่ในฝ่ายธรรมยุตต่อมาได้อีกด้วย

เรื่องก็มีอยู่ว่า หลวงปู่ดูลย์นั้นท่านได้พยายามอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนญัตติจากมหานิกายมาเป็นธรรมยุติกนิกาย ท่านบวชเป็นพระในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จึงมีปัญหาในด้านการเรียนกับวัดที่เป็นธรรมยุติกนิกาย ท่านจึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนนิกายใหม่อันเป็นความคิดที่ค้างคาใจของท่านอยู่แต่เดิม แต่ทางคณะสงฆ์ธรรมยุต โดยเฉพาะ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมัยเมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็น พระธรรมปาโมกข์ เจ้าคณะมณฑลอิสาน ในขณะนั้น ได้ให้ความเห็นว่า “อยากจะให้ท่านศึกษาเล่าเรียนไปก่อน ไม่ต้องญัตติ เนื่องจากทางคณะสงฆ์ธรรมยุตมีนโยบายจะให้ท่านกลับไปพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรมที่จังหวัดสุรินทร์ หากท่านญัตติเปลี่ยนนิกายเป็นธรรมยุต ท่านจะต้องอยู่โดดเดี่ยวเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่วัดฝ่ายธรรมยุตที่จังหวัดสุรินทร์เลย”

แต่ตามความตั้งใจของหลวงปู่ดูลย์เองนั้น มิได้มีความประสงค์จะกลับไปสอนพระปริยัติธรรม จึงได้พยายามขอญัตติต่อไปอีก ซึ่งต่อมาจะนับว่าเป็นโชคของท่านก็ว่าได้ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกอันดับ ๒ ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อทราบเรื่องเข้าก็ได้ช่วยเหลือหลวงปู่ดูลย์ในการขอญัตติจนกระทั่งประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ขณะเมื่ออายุ ๓๑ ปี หลวงปู่ดูลย์จึงได้เปลี่ยนญัตติจากนิกายเดิมมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี นั้นเอง
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ออกธุดงค์กับหลวงปู่ดูลย์

ครั้นถึงกาลจวนเข้าพรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระสหธรรมิกอีก ๕ รูป คือ พระอาจารย์ดูลย์, พระอาจารย์บุญ, พระอาจารย์สีทา และพระอาจารย์หนู จึงได้เดินธุดงค์แสวงหาที่สงบวิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียร บำเพ็ญสมณธรรม ในกาลเข้าพรรษานั้น นับว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ในการออกธุดงค์ครั้งแรกที่ได้ร่วมเส้นทางไปกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

คณะของหลวงปู่สิงห์เดินธุดงค์เลียบเทือกเขาภูพานมาจนกระทั่งถึงป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความเห็นตรงกันว่าสภาพป่าแถบนี้มีความเหมาะสมที่จะอยู่จำพรรษาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สมมติเอาบริเวณป่านั้นเป็นวัดป่า แล้วก็อธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น จากนั้นทุกองค์ก็ตั้งสัจจะปรารภความเพียรอย่างแน่วแน่ ดำเนินข้อวัตรปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของพระอาจารย์มั่นอย่างอุกฤษฏ์

บริเวณป่าท่าคันโทแถบเทือกเขาภูพาน ที่หลวงปู่สิงห์และสหายธรรมได้อธิษฐานจำพรรษาอยู่นั้น เป็นป่ารกชัฏ ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายและยุงอันเป็นพาหะของไข้มาลาเรีย และในระหว่างพรรษานั้นคณะของหลวงปู่สิงห์ ยกเว้นพระอาจารย์หนูรูปเดียว ต่างก็เป็นไข้มาลาเรีย ยาที่จะรักษาก็ไม่มี จนกระทั่งพระรูปหนึ่งมรณภาพไปต่อหน้าต่อตา ยังความสลดสังเวชให้กับผู้ที่ยังคงอยู่เป็นอย่างยิ่ง

หลังออกพรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้ว คณะของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่จำพรรษาอยู่ที่ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่างก็แยกย้ายกันเดินธุดงค์ต่อไป เพื่อค้นหาพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่ดูลย์ได้ร่วมเดินทางไปกับหลวงปู่สิงห์ แต่ภายหลังได้แยกทางกัน ต่างมุ่งหน้าตามหาพระอาจารย์มั่นตามประสงค์

หลังจากแยกจากหลวงปู่ดูลย์แล้ว หลวงปู่สิงห์ได้จาริกตามลำพังเพื่อตามพระอาจารย์มั่น
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้