ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 7527
ตอบกลับ: 23
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก วัดชัยมงคล (วัดวังมุย) ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก
วัดชัยมงคล (วัดวังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน


จาก...หนังสือวังมุย แห่งหริภุญชัย
(จัดทำโดย สมาชิกฯ อินทราพงษ์)



ประวัติทั่วไป

นามเดิมชื่อ ชุ่ม ปลาวิน
ถือกำเนิดเมื่อวันอังคารที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๒
เมื่อวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ ปีกุน ณ บ้านวังมุย จ.ลำพูน
บิดาชื่อ นายมูล ปลาวิน มารดาชื่อ นางลุน ปลาวิน
มีพี่น้องสืบสายโลหิตเดียวกัน ๖ คน เป็นผู้หญิง ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕

บุตรคนหัวปี ชื่อ พี่เอ้ย (หญิง) บุตรคนรองชื่อ พี่เป็ง (หญิง)
บุตรคนที่สามชื่อ พี่โต (ชาย) บุตรคนที่สี่ ชื่อพี่แก้ว (หญิง)
บุตรคนที่ห้า คือ ครูบาชุ่ม และบุตรคนสุดท้องชื่อ นายเปา (ชาย)


ตัวอย่างรูป สามีภรรยาชาวลัวะ


บิดาของท่านเป็นคนบ้านวังมุยโดยกำเนิด
ส่วนมารดาเป็นคนบ้านขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่
(ระยะทางระหว่างบ้านวังมุยกับบ้านขุนคงอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐  กิโลเมตร)
บุพการีทั้งสองท่าน เป็นคนเชื้อสาย ละ บางคนออกเสียง วะ หรือ ลัวะ
ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

เมื่อเด็กชายชุ่ม ปลาวิน เจริญวัยขึ้นก็พอจะทำงานช่วยเหลือบิดา มารดา
เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการงานได้บ้าง
เช่น ช่วยทำงานในทุ่งนา เท่าที่สามารถจะทำได้ทุกอย่าง
เลิกงานก็ทำสวนทำไร่ ถางหญ้าพรวนดิน และงานบ้าน
อย่างการปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือน เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของบิดามารดา
เท่าที่กำลังความสามารถของตนจะทำได้

ครั้นเมื่อเติบโตได้พอสมควรได้ไปศึกษาเล่าเรียนการอ่าน
การเขียนหนังสือเบื้องต้น กับเจ้าอาวาสวัดศรีสองเมือง
(เมื่อรกร้างไป ชาวบ้านจึงเรียกวันว่า วัดห่าง)
พร้อมกับเรียนวิธีการอ่านบทสวดมนต์ และธรรมะเบื้องต้นจากท่านเจ้าอาวาส

การที่เด็กชายชุ่ม ปลาวิน เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย และมีความจำดีเลิศ
จึงเป็นที่รักใคร่ของท่านเจ้าอาวาส และบรรดาภิกษุสามเณรในวัดเป็นอันมาก
และการที่ได้คลุกคลีกับท่านเจ้าอาวาสบ่อยๆ นี่เอง
ทำให้ท่านค่อยๆ ซึมซับหลักพระธรรมคำสอนของ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีละเล็กทีละน้อย
จนสามารถอ่านหนังสือ และสวดมนต์ได้อย่างคล่องแคล่ว
เริ่มมีใจรักเคารพในสมณเพศมากขึ้นทุกวัน

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 10:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทดแทนบุญคุณพ่อแม่

ครั้งหนึ่งเด็กชายชุ่ม ปลาวิน ได้ยินอุ๊ย (คนเฒ่า คนแก่)
แถวบ้านพูดว่า ใครอยากทดแทนบุญคุณพ่อ แม่ ต้องบวชให้กับท่าน
ใครบวชเป็นเณร ถือว่าเป็นการบวชทดแทนบุญคุณให้แม่
แต่ถ้าใครบวชเป็นตุ๊เจ้า (พระภิกษุ) ถือว่าเป็นการบวชทดแทนบุญคุณทั้งพ่อและแม่
เพราะการบวชเป็นพระ จะได้อานิสงส์ผลบุญมาก
ต่อมาเด็กชายชุ่มจึงตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเดินในหนทางของการบรรพชา
ตั้งแต่อายุเพียง ๑๐ กว่าขวบเท่านั้น
ถือว่าท่านมีบุญบารมีเกี่ยวข้องในทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน


บรรพชาที่วัดพระธาตุขาว

เมื่ออายุได้ ๑๒  ปี เด็กชายชุ่ม ปลาวิน
ได้ขออนุญาตจากบิดา และมารดา เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร
ซึ่งบุพการีทั้งสองต่างก็ยอนยอมพร้อมใจให้บรรพชา
โดยทั้งสองท่านได้เล็งเห็นว่า

ประการแรก เด็กชายชุ่มจะได้มีวิชาความรู้ติดตัว
เพราะในสมัยก่อนโรงเรียนที่ดีที่สุดก็คือ "วัด" นั่นเอง

ประการที่สอง เด็กชายชุ่ม มีใจรักในทางพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
บุพการีทั้งสองจึงได้นำตัวไปฝากเป็นศิษย์ ครูบาอินตา
แห่งวัดพระธาตุขาว จ.ลำพูน ซึ่งท่านทั้งสองคุ้นเคยเป็นอย่างดี

ต่อมาท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร
โดยมีครูบาอินตา วัดพระธาตุขาวเป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรน้อยชุ่มได้ตั้งสัตยาธิษฐานด้วยใจแน่วแน่
มีพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประธาน พร้อมพระธรรม
และบารมีพระคุณครูบาอาจารย์ คุณบิดามาดา พร้อมกล่าวคำอธิษฐานว่า

"ข้าน้อยขอถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งข้าน้อยเคารพอย่างสูงสุด และจะขอรับใช้พระพุทธศาสนา
เผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ตั้งแต่บัดนี้ตราบเท่าชีวิตจะหาไม่"


สามเณรชุ่ม ปลาวิน นั้นเป็นสามเณรน้อยที่มีความพยายามสูง
และควรค่าแก่การบันทึกไว้ ท่านเป็นสามเณรชาวเหนือที่เคร่งครัด
เพียบพร้อมไปด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม สิ่งใดที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอน
ท่านก็เชื่อฟังและหมั่นปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ท่านครูบาอินตาได้สั่งให้สามเณรชุ่ม
ท่องบททำวัตร และบทอื่นๆ รวมทั้ง บท ๑๒ ตำนาน ให้ขึ้นใจ
และสามเณรชุ่ม ก็ไม่ได้ทำให้ครูบาอาจารย์ผิดหวัง
ท่านได้ท่องบทสวดมนต์ต่างๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
รวมทั้งศึกษาพระไตรปิฎกไปด้วย และเริ่มเข้าใจอย่างถ่องแท้มากขึ้น

ภายหลังเมื่อสามเณรชุ่มได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว
ท่านเคยกล่าวให้พระเณร และเหล่าลูกศิษย์ฟังว่า

"การศึกษาทางพระพุทธศาสนาในสมัยก่อนนั้น ต้องทำกันอย่างจริงจัง
และใช้ความเพียรเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีเทคโนโลยีอย่างสมัยใหม่นี้
การศึกษา บทสวดมนต์ และพระไตรปิฏกในสมัยก่อนนั้น
ต้องอาศัยสมอง​อย่างเดียวล้วนๆ ต้องจด ต้องจำ ต้องท่องบ่นอย่างเอาเป็นเอาตายเท่านั้น
จึงจะสามารถจำบทสวดมนต์ และสามารถแปลพระไตรปิฎกได้อย่างถ่องแท้
และจึงจะนับได้ว่าเป็นผู้รู้หนังสือดี"


ต่อมาเมื่อสามเณรชุ่ม ได้ศึกษาวิชาความรู้จากพระอุปัชฌาย์ เป็นอย่างดีแล้ว
ด้วยใจที่รัก และใฝ่รู้การศึกษา ได้กราบขออนุญาตจากพระอุปัชฌาย์
ออกเดินทาง เพื่อแสวงหาวิชาความรู้ต่างๆ เพิ่มเติม
โดยพระอุปัชฌาย์ได้ชี้แนะครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษด้านต่างๆ ให้

จากนั้นจึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ พร้อมกับลาบิดามารดา ญาติพี่น้อง
นำเครื่องอัฐบริขารเท่าที่จำเป็น ออกเดินทางด้วยเท้ามุ่งสู่ จ.เชียงใหม่
และเข้าศึกษาด้านปริยัติธรรมที่วัดผ้าขาว, วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวง ตามลำดับ


อุปสมบท

ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจนอายุได้ ๒๐ ปี สามเณรชุ่ม ปลาวิน
จึงได้พิจารณาว่า "บัดนี้เราก็อายุครบบวชแล้ว ควรจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองลำพูน
เพื่อทำการอุปสมบท การที่เราได้อาศัยอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนานั้น
เรารู้สึกเย็นใจ และร่มเย็นดีแท้ แม้เราคิดสึกออกไป
เราก็ยากที่จะได้รับความสงบร่มเย็นเช่นนี้ เห็นทีเราจะต้องบวชเรียนต่อไป"


หลังจากตัดสินใจแล้ว ท่านจึงได้เดินทางกลับมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์
ที่ภูมิลำเนาเดิม คือ ณ บ้านวังมุย จ.ลำพูน
โดยมี พระครูบาอินตา (ครูบาปัญโญ) วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์,
พระอาจารย์หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์หลวงอ้าย เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับนามฉายาว่า "โพธิโก" ซึ่งแปลว่า ผู้ประกอบด้วยองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้

เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว ก็ได้มุ่งมั่นศึกษาทั้งทางด้านปริยัติควบคู่กับด้านปฏิบัติ
โดยได้ฝึกพระกรรมฐานตามแนวทางกรรมฐาน ๔๐
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง
เพื่อชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลส สามารถทรงสมาธิได้สูงขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้นท่านยังได้ศึกษาศาสตร์ทางด้านพระเวทย์เลขยันต์ คาถาอาคมต่างๆ
รวมทั้งตำราพิชัยสงครามอีกด้วย

ความพากเพียรศึกษาในด้านการศึกษาของพระภิกษุชุ่ม เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว
เมื่อการกลับมาของหลวงพ่อได้ทราบถึงเจ้าคุณพระญาณมงคล
เจ้าคณะจังหวัดลำพูนในสมัยนั้น มีความชื่นชมพระภิกษุชุ่มเป็นอย่างมาก
ได้ร้องขอให้ท่านไปศึกษาต่อด้านปริยัติที่กรุงเทพฯ
โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
เมื่อศึกษาจบแล้วจะได้กลับมาช่วยสอนหนังสือให้กับพระเณรในจังหวัด
แต่ท่านไม่อาจรับภารกิจนี้ได้ โดยให้เหตุผลว่ายังต้องศึกษาด้านการปฏิบัติให้มากๆ เสียก่อน

ท่านเจ้าคณะจังหวัดเมื่อมีกิจธุระสิ่งใดก็มักจะเรียกให้พระภิกษุชุ่มอยู่เสมอ
โดยได้มอบหมายให้ท่านเป็นเลขาฯ ประจำใกล้ชิด
มอบหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านต่างๆ ให้ ซึ่งท่านก็มิได้ทำให้พระผู้ใหญ่ผิดหวัง
งานด้านต่างๆ ท่านสามารถทำได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีทุกชิ้นทุกอัน
จนเจ้าคณะจังหวัดจะแต่งตั้งชั้นยศ และขอสมณศักดิ์ชั้นพระครูให้
แต่พระภิกษุชุ่มได้ปฏิเสธไม่ขอรับสมณศักดิ์นั้น
                                                                                       

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 10:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เสาะหาครูบาอาจารย์

ตั้งแต่ช่วงแรกที่บวชเป็นพระภิกษุ พระภิกษุชุ่มก็ได้พากเพียรฝึกกายฝึกจิต
ตามแนวทางสายเอกของพระพุทธศาสนา
แล้วยังออกเดินทางแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์
เอาเยี่ยงอย่างภูมิธรรมชั้นเลิศจากคณาจารย์หลายท่านคือ

- ครูบาอริยะ ที่วัดท้าวบุญเรือง ต.หนองหอย อ.หางดง จ.เชียงใหม่

ศึกษาศาสตรสนธิทั้งแปดมรรค แปดบท อันเป็นอรรถคาถาบาลีมูลกัจจายน์จนจบ
สามารถแปลและผูกพระคาถาต่างๆ ได้

- พระครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่ง อ.หางดง จ.เชียงใหม่

เป็นพระอาจารย์ พระปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น
ตอนที่ครูบาชุ่มไปฝากตัวเป็นศิษย์ พระครูบาศรีวิชัย วัดร้องแหย่ง มีอายุประมาณ ๗๐ ปีแล้ว
แต่ก็ยังแข็งแรงดี ครูบาชุ่มได้อยู่ศึกษาปฏิบัติกับพระครูบาศรีวิชัยวัดร้องแหย่ง เป็นเวลา ๒ พรรษา


ครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน


ในขณะที่อยู่วัดร้องแหย่งนี้เอง ท่านจึงได้พบพระนักบุญแห่งล้านนา
คือ ครูบาศรีวิชัย (ครูบาศีลธรรม) แห่งวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน

เนื่องเพราะท่านครูบาศรีวิชัยแห่งวัดบ้านปาง
ได้มาเยี่ยมเยือนสักการะท่านครูบาศรีวิชัยวัดร้องแหย่งด้วยความเคารพนับถืออยู่เสมอ
ทุกครั้งที่มาเยี่ยมก็จะมีปัจจัยไทยธรรมมาถวาย
บางครั้งได้มาพักจำวัด และร่วมสวดมนต์ เจริญพระกรรมฐานกับภิกษุสามเณรที่วัดร้องแหย่งด้วย
ครูบาชุ่มจึงได้รู้จักมักคุ้นกับท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่วัดร้องแหย่งนี้เอง
และในเวลาต่อมาปรากฏว่าทั้งคู่เป็นศิษย์ อาจารย์ที่มีความผูกพันรักใคร่กันอย่างยิ่ง

- ครูบาแสน วัดหนองหมู อ.เมือง จ.ลำพูน

เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดทางด้านวิปัสสนากรรมฐานอีกรูปหนึ่ง
มีลูกศิษย์มากมายเป็นผู้มีความรู้สูง เป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก

- ครูบาก๋ำ วัดน้ำโจ้ อ.สารภี จ.เชียงใหม่


พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก)


- ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

เป็นผู้สอนอักขระล้านนาให้แก่ครูบาชุ่ม
(บ้างเรียกครูบาพรหมจักร หรือครูบาพรหมจักโก
สมณศักดิ์เดิมคือ พระครูพรหมจักรสังวร สมณศักดิ์สุดท้ายคือ พระสุพรหมยานเถระ)

ความจริงแล้วครูบาชุ่ม กับครูบาพรหมา
ท่านอายุรุ่นราวคราวเดียวกันแต่ต่างองค์ต่างนับถือ
และแลกเปลี่ยนความรู้ สรรพวิชาต่างๆ กันอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ท่านยังได้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่วัดห้วยโท้ง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
และวัดน้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่อีกด้วย

จากนั้น เมื่อเจ้าอาวาสวัดวังมุยเก่ามรณภาพลง
ชาวบ้านจึงมาอาราธนาท่านให้กลับไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดต่อไป
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 10:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ข้อวัตรปฏิบัติ

ครูบาชุ่มท่านจะตื่นขึ้นมาตอนตี ๓ เพื่อปฏิบัติไปตามลำพังในกุฏิของท่าน
จากนั้นก็กระทำกิจธุระส่วนองค์ แล้วจึงปลุกเรียกพระเณรให้ทำวัตรเช้าในเวลาประมาณตี ๕
ต่อด้วยการนั่งสมาธิภาวนาอีก ๑ ชั่วโมง พอคลายออกจากสมาธิ
จึงนำพระเณรออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ ในยามปรกติท่านจะฉันสองมื้อ
แต่ในช่วงเข้าพรรษาท่านจะฉันเพียงมื้อเดียว
อาหารที่ท่านฉันก็เป็นอาหารพื้นบ้านง่ายๆ อย่างข้าวเหนียว จิ้มกับน้ำพริกผักต้ม

"แม่เพชร อินโม่ง" ซึ่งเป็นผู้ทำอาหารถวายครูบาชุ่มอยู่เสมอ
เล่าว่า ท่านชอบทานผักแคบ หรือตำลึงในภาษากลางนั่นเอง

ครูบาชุ่มละเว้นไม่ฉันอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์
แต่จะฉันบ้างกรณีที่มีญาติโยมมาถวายภัตตาหารเพลและนั่งรอรับศีลรับพรอยู่ต่อหน้า
เป็นการฉันเพื่อไม่ให้ญาติโยมเสียกำลังใจ ช่วงหนึ่ง ครูบาชุ่มป่วย
แพทย์ระบุว่าเป็นโรคขาดสารอาหาร
ศรัทธาชาวบ้านจึงได้ขอร้องให้ท่านฉันเนื้อสัตว์บ้าง ท่านก็รับปาก


พระเดชลือชา

ช่วงเย็น ๑๘.๐๐ น. พระเณรที่วัดวังมุยจะทำวัตรเย็นพร้อมกัน
ต่อจากนั้นนั่งสมาธิอีกประมาณ ๓๐ นาที แล้วจึงแยกย้ายกันไปทำกิจธุระส่วนตัวได้
จนใกล้เวลาจำวัด คือราว ๒๐.๑๐ น. ครูบาชุ่มท่านจะเรียกให้พระเณรทุกองค์
มาสวดมนต์ร่วมกันก่อนจำวัดอีกครั้ง โดยท่านจะนั่งอยู่ด้านหน้า นำสวดบทนะโมฯ ๓ จบ
แล้วท่านจะเงียบ คอยฟังเสียงของพระเณร ว่าตั้งใจสวดมนต์กันหรือไม่
หากพบว่าองค์ไหนเงียบเสียงไป ท่านจะเมตตาตักเตือนให้
อย่างเบา คือ โยนดินสอ หรือหนังสือไปสะกิด
และก็มีบ้างที่ท่านต้อง "เมตตา" หนักเป็นกรณีพิเศษ คือสะกิดด้วยกระโถนบิน
พระเณรที่ย่อหย่อนจากความเพียร อุตสาหะ วิริยะ ต่างหัวปูด หัวโน ไปตามกัน

แม้แต่ชาวบ้านที่พ้นวัยเด็กมานาน หากมาส่งเสียงดังในบริเวณวัด
อย่างเบาครูบาชุ่มท่านจะแค่ตวาด และอย่างหนักหน่อยอาจจะโดนท่านยิงด้วยหนังสติ้ก
แล้วท่านก็ยิงได้แม่นยำอย่างยิ่ง โดยเล็งที่ขาหรือหลัง พอให้รู้ตัว

สมัยนั้น ถ้าใครคิดจะให้ลูกหลานมาบวชที่วัดของหลวงปู่ครูบาชุ่ม
ต้องยกให้เป็นลูกของท่านเลย เพราะท่านจะอบรมสั่งสอนเต็มที่
แม้แต่เฆี่ยนตีบ้าง พ่อแม่จะต้องยอมรับได้ เพราะท่านจะบอกไว้ก่อนว่าห้ามมาโกรธกัน
หากท่านต้องทำโทษเฆี่ยนตีลูกๆ ในทางธรรมของท่านด้วยความปรารถนาดี

เด็กบางคนทางบ้านได้ส่งให้มาเป็นขโยม (ลูกศิษย์วัด) รอบวช
โดยให้หลวงปู่ครูบาชุ่มอบรมบ่มนิสัยไปด้วย
ขโยมรายนี้โดนกระโถนเข้าไปครั้งเดียวเพราะทำผิด
ถึงกับโดดหน้าต่างหนีออกจากวัดมาตอนกลางคืนแทบไม่ทันทีเดียว
ทางบ้านขอร้องให้กลับไปอยู่วัดต่ออย่างไร
ขโยมน้อยรายนั้นก็ยืนกรานไม่ไปเด็ดขาด ด้วยเห็นว่าหลวงปู่ชุ่มดุมาก

ก็คงจะเป็นเรื่องจริต วาสนา และความเกี่ยวเนื่องที่ยากจะอธิบาย
ศิษย์อาจารย์บางคน หากไม่มีวาสนเกี่ยวเนื่องกัน ไม่เคยสอนสั่งกันมาก่อน
ต่อให้ทั้งศิษย์หรืออาจารย์คู่นั้นจะเก่งกล้าขนาดไหน
ก็ไม่อาจเป็น "คู่ปรับ" เปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้บรรลุถึงมรรคผลอันควรได้
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 10:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สายสัมพันธ์ศิษย์-อาจารย์

ลูกศิษย์สายตรงของครูบาชุ่ม ในปัจจุบันพอจะกล่าวถึงได้ดังนี้

๑. หลวงพ่อทองใบ โชติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดพรหมวนารา
มหรืออดีต ครูทองใบ สายพรหมมา เป็นศิษย์ผู้ได้รับอนุญาต
ให้สร้างเหรียญครูบาเจ้าชุ่มรุ่นแรกปี พ.ศ. ๒๕๑๗

๒. พระอาจารย์หมื่น ญาณเมธี วัดพรหมวนาราม
นอกจากเป็นศิษย์แล้วท่านยังเป็นหลานแท้ๆ ของครูบาเจ้าชุ่ม คือ ตุ๊ลุงหมื่น
เป็นบุตรของแม่อุ้ยแก้ว พี่สาวร่วมอุทรของครูบาเจ้าชุ่ม
ตุ๊หมื่นได้เก็บรักษาเครื่องระลึกถึงครูบาเจ้าชุ่มไว้หลายอย่าง
เช่น ภาพถ่ายเก่าๆ, ดาบ, เล็บ และอัฐิ

๓.  พ่อหนานปัน จินา เป็นศิษย์ที่มีความสนใจในด้านวิชาอาคมขลังและพิธีกรรมต่างๆ
โดยเฉพาะศาสตร์ในเรื่องตะกรุด ซึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดจากครูบาเจ้าชุ่มมาพอสมควร
ปัจจุบันท่านเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้าน

๔.  พ่ออุ้ยตุ่น หน่อใจ เป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่สองอย่าง
คือปลงเกศาให้ครูบาเจ้าชุ่ม และช่วยสร้างพระผงให้ท่าน

๕.  พ่อหนานทอง ปัญญารักษา อายุ ๖๘ ปี
เป็นศิษย์อีกท่านที่ปัจจุบันทำหน้าที่ "ปู่จารย์" เจ้าพิธีประจำวัดชัยมงคล (วังมุย)
พ่อหนานทองเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีพุทธาภิเษกรูปเหมือนหลวงปู่ชุ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐

๖.  พ่อหนานบาล อินโม่ง เป็นศิษย์ที่เคยติดตามครูบาเจ้าชุ่ม
ไปธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง

๗.  คุณลุงเสมอ บรรจง ชมรมพระตลาดบุญอยู่
เป็นผู้มีส่วนร่วมสร้างวัตถุมงคลของครูบาเจ้าชุ่ม

๘.  พ่อเลื่อน กันธิโน เป็นศิษย์ที่ติดตามอุปัฏฐากครูบาเจ้าชุ่มไปในที่ต่างๆ
จนถึงนาทีสุดท้ายที่ท่านไปมรณภาพที่กรุงเทพฯ

๙.  อุ๊ยหมื่น สุมณะ (เพิ่งเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ด้วยวัย ๑๐๑ปี)
เป็นศิษย์อาวุโส ซึ่งมีวัยวุฒิน้อยกว่าครูบาเจ้าชุ่ม ๑๐ ปี
เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัดใหม่

๑๐.  อุ๊ยหนานทอง (เสียชีวิตแล้ว) เป็นลูกศิษย์ของครูบาเจ้าชุ่ม
แล้วยังเป็นประติมากรผู้รังสรรค์พระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย
ในขณะที่ท่านรักษาตัวอยู่ ณ วัดจามเทวี ก่อนที่ท่านจะไปมรณภาพที่วัดบ้านปาง

อุ้ยหนานทองเป็นคนบ้านริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน
ท่านได้พบกับครูบาชุ่มตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ตอนนั้นหลวงครูบาชุ่มจาริกไปถึงบ้านริมปิง
บ้านเดิมของอุ้ยหนานทอง หนุ่มน้อยได้บังเกิดความเคารพศรัทธาครูบาชุ่ม
จนขอติดตามกลับมาที่วัดวังมุยด้วย ครูบาชุ่มก็เมตตาพามา
และจัดการบวชให้เป็นสามเณรที่วัดเก่า (วัดศรีสองเมือง)
ต่อมาเมื่ออายุหนานทองอายุครบ ๒๐ ปี
หลวงปู่ครูบาชุ่มก็ได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุที่วัดใหม่ คือวัดชัยมงคล (วังมุย)

ช่วงที่บวชเป็นสามเณร สามเณรทองได้เป็นลูกมือช่วยสร้างพระที่วัดมหาวัน
จึงได้นำประสบการณ์และวิชาความรู้ครั้งนั้น มาใช้ในงานปั้นพระประธานไว้ในโบสถ์วัดเก่า
จำนวน ๓ องค์ ขนาดเท่าคนจริง แต่หลังจากวัดเก่าได้ถูกทิ้งร้าง
พระประธานทั้ง ๓ องค์ ที่สามเณรทองปั้นไว้ ก็หายสาบสูญไป

พอครูบาชุ่มได้มาดำเนินการสร้างวัดใหม่ คือวัดชัยมงคล (วังมุย)
ท่านก็ได้มอบหมายให้อุ้ยหนานทองรับหน้าที่ปั้นพระประธาน
และพระขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมาก

๑๑.  หลวงพ่อบุญรัตน์ กนฺตจาโร เจ้าอาวาสวัดโขงขาว จ.เชียงใหม่
หลวงพ่อบุญรัตน์ ได้พบหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มครั้งแรก
ในระหว่างที่ทั้งคู่ต่างอยู่ในระหว่างธุดงค์หลีกเร้นเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมตามป่าเขา


ผลของการปฏิบัติ

ครูบาชุ่มท่านเป็นพระผู้ทรงศีลาจารวัตร และมุ่งมั่นในการปฏิบัติอย่างแรงกล้า
ครั้งหนึ่งท่านนั่งสมาธิอยู่ในพระวิหารที่วัดวังมุย
ได้เกิดมีเปลวไฟฉายโชนออกจากร่างกายของท่าน แลดูสว่างไสว
มีผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นเห็นเหตุการณ์หลายคน "พ่อหนานปัน" ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ได้เห็นไฟลุกโพลนขึ้นท่วมร่างของครูบาชุ่ม จากนั้นเปลวไปได้เคลื่อนออกจากกาย
ตรงขึ้นไปที่ปล่องด้านข้างของพระวิหาร พอครูบาชุ่มคลายออกจากสมาธิ
ลูกศิษย์ที่เป็นห่วงได้รีบเข้าไปถามว่า "ครูบาเจ้าเป็นอะไรไปหรือเปล่า ทำไมไฟลุกขึ้นมา"
ท่านได้เมตตาบอกว่า "เป็นเพราะผลของการปฏิบัติ"


โดนลองของ

ครั้งหนึ่ง ครูบาชุ่มโดน "ลองของ" โดยพระรูปหนึ่งในจังหวัดลำพูนนั่นเอง
พระผู้นั้นได้ปล่อยของทางไสยศาสตร์มายังกุฏิของท่าน
ขณะนั้นครูบาชุ่มกำลังจำวัดอยู่ และทราบเหตุร้ายด้วยญาณ ท่านจึงลุกขึ้น
และได้เรียกบอกพระเณรให้มานั่งอยู่ในกุฏิท่าน พร้องทั้งสั่งให้ทุกรูปสวดมนต์
ของที่ส่งมานั้นปรากฏเป็นตัวแมลงขนาดใหญ่ พวกมันได้แต่บินวนเวียนอยู่ด้านนอกกุฏิ
เสียงชนฝาผนังดังปึงปังอยู่ตลอดเวลา และแล้วครูบาชุ่มก็ได้หยิบหมากขึ้นมาเคี้ยว
พร้อมทั้งบริกรรมคาถา จากนั้นก็คายชานหมากลงในกระโถน
สักพักต่อมา เหล่าแมลงได้บินฝ่าเข้ามาถึงด้านในกุฏิ พุ่งตรงเข้ามาหาท่านทันที

ท่านจึงบริกรรมคาถาจนหมู่แมลงอ่อนกำลังลง
จากนั้นได้นำกระโถนที่คายชานหมากไว้มาครอบแมลงเหล่านั้น
เมื่อเปิดกระโถนออกดู ปรากฏว่าแมลงได้กลับกลายเป็นตะปูไปจนหมด


บุญญาภินิหาร

ครูบาชุ่มมีเมตตาธรรมประจำใจ ไม่ค่อยขัดต่อผู้ใดที่มาขอร้องให้ท่านช่วยเหลือ
ถ้าไม่เกินขอบเขตแห่งพระธรรมวินัย โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยด้วยคุณไสยแล้ว
เชือกและน้ำมนต์ของท่านขลังยิ่งนัก

มีอยู่ครั้งหนึ่งครูบาชุ่มได้ธุดงค์ไปถึงอำเภอฮอด เข้าพักแรมในป่าช้าบ้านบ่ง
ชาวบ้านเหล่านั้นมีด้วยกันหลายเผ่าหลายภาษา เช่น ลั๊วะ, ยาง (กระเหรี่ยง)
ได้เอาเนื้อสดๆ มาถวายโดยบอกว่า เป็นส่วนของวัดหนึ่งหุ้นที่ล่าสัตว์มาได้
ครูบาชุ่มไม่ยอมรับและบอกว่า หากจะนำมาถวายพระหรือสามเณร
ควรจัดทำให้สุกเป็นอาหารมา จึงจะรับได้

และขอบิณฑบาตว่า อย่าได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเขาเลย
พอตกค่ำ ครูบาชุ่มได้ทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตาจิตให้สรรพสัตว์ทั้งปวง
จนใกล้สว่างจึงออกไปบิณฑบาต พวกชาวบ้านมาใส่บาตร
แต่ได้ขอร้องครูบาชุ่มไม่ให้สวดมนต์อีกต่อไป
โดยกล่าวหาว่าเป็นเพราะท่านสวดมนต์
พวกตนจึงเข้าป่าล่าสัตว์ไม่ได้สัตว์มาหลายวันแล้ว


ไม้เท้าของครูบาศรีวิชัย

คราวหนึ่ง ครูบาชุ่มจาริกหลีกเร้นไปแสวงหาที่วิเวกเจริญพระกรรมฐาน
และนั่งภาวนาอยู่ที่กระท่อมในบริเวณป่าช้า พอเริ่มมืดลง มีคนเมาสุราคนหนึ่ง
เห็นท่านนั่งอยู่ในกระท่อมเพียงผู้เดียวในระยะไกล จึงได้เดินตรงเข้ามาหาด้วยเจตนาที่ไม่ดี
ครูบาชุ่มท่านรู้ ท่านจึงหยิบไม้เท้าของครูบาศรีวิชัยขึ้นมาบริกรรมคาถา
พร้อมกับขีดเป็นวงรอบตัว เมื่อชายผู้นั้นเดินเข้ามาใกล้กระท่อม
ก็ต้องพบกับความแปลกใจ เพราะมองไม่เห็นใครอยู่ในกระท่อมเลย

ลูกศิษย์ทั่วไปต่างเชื่อว่าท่านเป็นพระที่ทรงอภิญญา สามารถแสดงฤทธิ์ได้
แต่ครูบาชุ่มท่านไม่เคยอวดตัว ยังคงทำตนเหมือนพระธรรมดาๆ ทั่วไปรูปหนึ่ง
เสมือนช้างเผือกที่หลีกเร้นอยู่ในป่าลึก
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 10:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธุดงควัตร

ทางภาคเหนือนั้น มักนิยมเรียกพระภิกษุที่ตนเองเคารพนับถือว่า "ครูบาเจ้า"
พระภิกษุชุ่ม โพธิโก ก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านทั่วไป และชาวบ้านวังมุย
นิยมเรียกท่านด้วยความเคารพอย่างสูงว่า "ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก"

ต่อมา ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ได้เกิดเบื่อหน่ายในการคลุกคลีของหมู่คณะ
ท่านปรารภถึงความสงบวิเวก การปฏิบัติภาวนาอันจักเป็นหนทางนำไปสู่การหลุดพ้น
และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดในสมณเพศ
จึงได้ตัดสินใจที่จะออกธุดงค์จาริกไปเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม
ท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ เพื่อขออนุญาตออกเดินธุดงค์
พระอุปัชฌาย์ คือ ครูบาอินตา ก็ได้อนุโมทนา ในความตั้งใจครั้งนี้
จากนั้นท่านก็ได้เดินทางไปล่ำลาบิตามารดาและญาติโยม
เพื่ออกเดินทางสู่ราวป่าอันเงียบสงบ วิเวก เหมาะแก่การเจริญสมณธรรมต่อไป


เทศน์โปรดชาวลัวะ ชาวยาง (กะเหรี่ยง)

ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปยังอำเภอลี้ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวลัวะ ชาวยาง (กะเหรี่ยง)
ท่านได้อยู่อบรมธรรมเทศนาสั่งสอน โปรดพวกเขาเหล่านั้นจนมีผู้ศรัทธามากมาย
ศิษยานุศิษย์ได้ร่วมใจกันปลูกกุฏิให้ครูบาเจ้าชุ่มอยู่ประจำ
และจัดจังหัน (ภัตตาหาร) ถวายทุกวันมิได้ขาด ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า
พวกเขาจึงจัดเวรยามอยู่ปรนนิบัติครูบาชุ่ม ด้วยความเกรงกลัวว่าท่านจะหนีไปที่อื่น
บางครั้ง ครูบาเจ้าชุ่มมีกิจธุระ ต้องกลับวัดวังมุย พวกเขาจะพากันมาส่งถึงวัด
และรอรับครูบาเจ้าชุ่มกลับไปด้วย เมื่อเสร็จธุระแล้ว ท่านจึงต้องกลับไปกับพวกเขา
เป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ๓ ครา โดยศรัทธาชาวเขาอ้างว่า
หากครูบาเจ้าชุ่มไม่กลับไปกับพวกเขา จะพากันเผากุฏิครูบาให้ไหม้หมด เลิกกันเสียที

ครูบาเจ้าชุ่มต้องปลอบใจพวกเขา
และต่อมาท่านจึงได้บวชชาวลัวะ และชาวกะเหรี่ยงผู้เป็นลูกศิษย์รวม ๒ รูป ให้อยู่กับพวกเขา
ในขณะที่ท่านต้องเดินทางไปยังสถานที่แห่งอื่นๆ เหตุการณ์ที่จะเผาที่พักจึงล่วงพ้นไปได้


บูรณะพระบรมธาตุดอยเกิ้ง




พระบรมธาตุดอยเกิ้ง


ต่อมาครูบาเจ้าชุ่มได้เดินธุดงค์จาก ต.บ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน
ตัดป่าเขาลำเนาไพรขึ้นไปทางทิศตะวันตก มุ่งหน้าสู่ อ.ฮอด
ล่วงจนถึงพระบรมธาตุดอยเกิ้ง ปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือของไทย
พระบรมธาตุดอยเกิ้งนั้น มีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์
เป็นเจดีย์ขนาดพอๆ กับพระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
ในขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มได้ธุดงค์ไปพบนั้น
พระบรมธาตุมีสภาพแตกร้าวและชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก
ท่านรู้สึกสลดใจที่ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ขาดการบูรณปฏิสังขรณ์
แต่ท่านก็ได้น้อมนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาพิจารณา
คือกฎไตรลักษณ์ ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุสิ่งของใดในโลก ต่างก็หลีกไม่พ้นกฎ ๓ ข้อนี้
อันได้แก่ "อนิจจัง" ความไม่เที่ยง "ทุกขัง" เมื่อทรงตัวอยู่ก็เป็นทุกข์
และ "อนัตตา" มีความเสื่อมสลายสิ้นไปเป็นธรรมดา

ครูบาเจ้าชุ่มตั้งใจว่า จะพักอยู่ ณ ที่แห่งนี้
และคิดหาวิธีการที่บูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์
เพื่อธำรงรักษาพุทธสถานแห่งนี้ไว้ให้เป็นที่สักการบูชาสืบต่อไป

เมื่อท่านได้สำรวจรอบบริเวณองค์พระบรมธาตุ
คำนวณวางแผนการบูรณะได้อย่างละเอียดแน่ชัดแล้ว จึงได้ไปพบนายอำเภอ
แจ้งความประสงค์ว่า ท่านปรารถนาจะบูรณะองค์พระบรมธาตุ
และจะสร้างทางขึ้นพระบรมธาตุ นายอำเภอตอบตกลงและยินดีให้ความร่วมมือ

ครั้งนี้ ครูบาชุ่มได้พำนักอยู่ที่ป่าช้าวัดหนองบัวคำ ขณะที่พำนักอยู่ในป่าช้า
ท่านก็ได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์ตามปกติ คือการทำวัตร สวดมนต์
เจริญพระกรรมฐานเป็นปฏิบัติบูชา เสร็จแล้วจึงแผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งปวง
ให้แก่สัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด

คืนหนึ่งมีชาวบ้านในละแวกนั้น ได้เห็นองค์พระบรมธาตุสำแดงปาฏิหาริย์
โดยปรากฏรัศมีเรืองรองสว่างไสวไปทั่วบริเวณ ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นต่างปลื้มปีติยินดียิ่งนัก
ด้วยว่าไม่เคยพบเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนในชีวิต


ชีปะขาวปรากฏในนิมิต นำมงกุฎใส่พานมาถวาย

ค่ำคืนหนึ่ง ในบรรยากาศอันวิเวกของป่าช้าวัดหนองบัวคำ
ลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย หลังจากที่ครูบาเจ้าชุ่มได้ทำกิจวัตรส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ท่านก็ได้เข้าสู่กลด เพื่อนั่งสวดมนต์ไหว้พระทำจิตเข้าถึงพระไตรสรณคมน์
รำลึกถึงแก้วสามดวงอันประเสริฐเป็นสรณะ
และจากนั้นจึงได้เจริญสมาธิภาวนาตามแนวที่ได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์
ท่านรู้สึกจิตสงบดิ่งดีมาก ขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มกำลังนั่งสมาธิ
ฉับพลันนั้น ก็ได้ปรากฏนิมิตเห็นชีปะขาว ๕ ตน นำมงกุฎใส่พานมาถวายท่าน
ในนิมิตท่านก็ได้ให้ศีลให้พร และแผ่เมตตาให้
หลังจากนั้น ชีปะขาวทั้ง ๕ ตน ก็ได้กราบลาจากไป
เมื่อครูบาเจ้าชุ่มถอนจิตออกจากสมาธิ รู้สึกจิตชุ่มชื่นดี สังเกตว่าเป็นเวลาตี ๔ พอดี

ท่านครุ่นคิดถึงนิมิตเมื่อคืน รู้สึกว่าจะเป็นนิมิตที่มีความหมายดี
ในคืนต่อมา ครูบาเจ้าชุ่มก็ได้เข้าสมาธิเจริญพระกรรมฐานอีกตามปกติ
ก็เห็นนิมิตเช่นเดียวกับคืนก่อน โดยมีชีปะขาวนำมงกุฎใส่พานมาถวายท่านอีก
แต่คราวนี้มาเพียง ๔ ตนเท่านั้น ครูบาเจ้าชุ่มท่านก็ได้ให้ศีลให้พรไปเช่นเดิม
และถอนจิตออกจากสมาธิ เป็นเวลาตี ๔ เช่นคืนก่อน

ในคืนที่ ๓ อันเป็นคืนวันเพ็ญ พระจันทร์ส่องแสงนวล
ทำให้ป่าช้าที่เคยทึบทึมมืดมิด แลดูสว่างขึ้น ครูบาเจ้าชุ่มได้เข้าสมาธิอีก
ปรากฏว่าในคืนนี้ ท่านเกิดนิมิตไม่เหมือน ๒ คืนแรก
โดยคืนนี้ได้นิมิตเห็นต้นมะม่วงใหญ่ มีลูกดกมากและมีกลิ่นหอมหวานยิ่งนัก
บนต้นมะม่วงมีฝูงลิง และชะนีมาเก็บกินกันมากมาย
ต่อมาปรากฏมีลิงแก่รูปร่างสูงใหญ่ตัวหนึ่ง ออกมาไล่ฝูงลิงและชะนีที่มาเก็บผลมะม่วงกิน
หลังจากถอนออกจากสมาธิ ก็เป็นเวลาตี ๔ เช่นคืนก่อนๆ

ตอนสาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยชาวบ้าน
ได้พากันมาหาครูบาเจ้าชุ่มยังสถานที่ที่ท่านปักกลดอยู่
ท่านจึงได้บอกเล่าให้ชาวบ้านทราบว่า
ท่านปรารถนาจะบูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้งนี้
และถาวรวัตถุที่จำเป็นบางอย่างในอาณาบริเวณพระบรมธาตุ
จึงขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปบอกกับทางอำเภอด้วย ต่อมาเมื่อได้ร่วมประชุมกัน
จึงทำให้เห็นอุปสรรคใหญ่ คือการบูรณะพระบรมธาตุเห็นจะทำได้ยาก
เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำ ในสระน้ำก็ไม่มีน้ำเลย
การที่จะทดน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเก็บไว้ในสระน้ำ ก็ลำบากยากยิ่ง
โดยลำห้วยที่จะทดน้ำได้นั้นก็อยู่ไกลออกไปถึงขนาดต้องข้ามภูเขาถึง ๔ ลูก
แต่ครูบาเจ้าชุ่มท่านยังยืนยันที่จะบูรณะองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้ง
ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมให้จงได้

ครูบาเจ้าชุ่มจึงได้ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน
ร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้การดำเนินงานนี้จงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ขออย่าให้มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางได้เลย
ปรากฏว่าการทดน้ำจากลำห้วยที่ต้องผ่านภูเขาถึง ๔ ลูกนั้น
สามารถกระทำได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย สามารถทดน้ำมาเก็บไว้ในสระได้ราวปาฏิหาริย์
ครูบาเจ้าชุ่มได้นั่งหนัก (เป็นประธาน) อยู่บูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้ง
จนสำเร็จเรียบร้อย ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวเขา ชาวบ้านใกล้ไกล
การบูรณะพระบรมธาตุในครั้งนี้กินเวลา ๔๕ วันจึงแล้วเสร็จ

ส่วนการสร้างถนนขึ้นสู่พระบรมธาตุนั้น ได้รับการขัดขวางจากเจ้าคณะตำบล
โดยอ้างเหตุผลว่า แม้แต่ท่านครูบาศรีวิชัยก็ยังไม่สร้างถนนขึ้นพระบรมธาตุ
ฉะนั้น จึงยังไม่สมควรสร้าง เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น
ทางฝ่ายกรรมการอำเภอเห็นว่าครูบาเจ้าชุ่มเป็นผู้มีบุญบารมีมาโปรด
ก็ควรให้ท่านอยู่เป็นประธานสร้างต่อไป และได้ขอร้องท่าน
โดยบอกว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกับท่าน แต่ครูบาชุ่มได้พิจารณาแล้วเห็นว่า
หากทำการสร้างถนนต่อไป ก็จะเกิดปัญหาขัดแย้งกับเจ้าคณะตำบลเป็นแน่
จึงได้ประกาศให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองทราบว่า
จะระงับการก่อสร้างถนนขึ้นสู่พระบรมธาตุไว้ก่อน จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร                                                                                       

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 10:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


อธิษฐานเรียกน้ำ สร้างบูรณะวัดที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

ต่อมาครูบาเจ้าชุ่มท่านได้พิจารณาถึงหลักการปฏิบัติธุดงค์ว่า
"เป็นธรรมดาของการธุดงค์ การอยู่ในสถานที่ใดนานๆ นั้น
จะทำให้พระธุดงค์ติดถิ่นที่อยู่ อันอาจส่งผลให้เกิดการย่อหย่อนในการปฏิบัติธุดงควัตร
และส่งผลให้การปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลสไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร"

ดังนั้น ท่านจึงลาศรัทธาญาติโยมออกธุดงค์ต่อไป
ในครั้งนี้มีพระขอติดตามท่านออกธุดงค์ด้วย

สองข้างทางที่ธุดงค์ไป ทั้งผ่านป่าดงดิบ มีต้นไม้ยืนต้นสูงใหญ่
ใบไม้ปกคลุมหนาทึบ แสงแดดแทบไม่มีเล็ดลอดลงมาให้เห็น
ทั้งมีลำต้นใหญ่โต ขนาดหลายคนโอบ บางครั้งก็ผ่านป่าโปร่ง
มีต้นไม้ขึ้นแซมไม่ทึบนัก สลับกับทุ่งหญ้าบ้างในบางครั้ง
ป่าทางภาคเหนือสมัยครูบาชุ่มเดินธุดงค์นั้น
บางแห่งแทบจะไม่เคยมีพระธุดงค์รูปใดย่างกรายเข้ามาเลย
สัตว์ป่าต่างๆ ยังคงมีอยู่อย่างชุกชุม โดยเฉพาะ เก้ง กวาง กระจง
รวมไปถึง นกยูง ไก่ฟ้า ไก่ป่า รวมถึงสัตว์ประเภทอื่นๆ ล้วนมีอยู่อย่างดาษดื่น
ซึ่งการเดินธุดงค์ในป่าดงพงไพรที่สัปปายะเช่นนี้
จิตของครูบาชุ่มรู้สึกแช่มชื่น และสุขใจเป็นอันมาก
ท่านได้เดินธุดงค์ พร้อมเจริญพรหมวิหารสี่
พร้อมคำภาวนา "พุทโธ" ไปตลอดการเดินทาง

จนล่วงเข้าสู่เขต อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
ได้พบสถานที่แห่งหนึ่งดูเหมือนเคยเป็นวัดเก่ามาก่อน
เมื่อพิจารณาแล้ว สามารถที่จะบูรณะให้เป็นวัดที่ดีดังเดิมได้
ครูบาเจ้าชุ่มและพระผู้ติดตาม ได้พิจารณาสถานที่เหมาะสมในการปักกลด
อยู่ไม่ไกลจากวัดร้างเท่าใดนัก เมื่อปักกลด จัดสถานที่จนเรียบร้อยดี  
ท่านนึกอยากจะสรงน้ำ เพราะเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย

พระผู้ติดตามจึงได้ลองเดินหาแหล่งน้ำ และได้พบบ่อน้ำ
จึงได้กลับมาบอกครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มว่า "พบบ่อน้ำ แต่ไม่มีน้ำ มีแต่โคลน"
ครูบาเจ้าชุ่มเดินไปดูก็เห็นจริงตามที่พระรูปนั้นกล่าว จึงได้ตั้งจิตอธิษฐาน
นึกถึงคุณพระรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์
พร้อมกล่าวอัญเชิญเทพเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
ขอได้โปรดเมตตาให้บังเกิดน้ำขึ้นในบ่อด้วย
เพื่อจักได้นำน้ำมาใช้ในการบูรณะให้เกิดเป็นวัดขึ้น ณ ที่นี้
จากนั้นท่านจึงกลับไปนั่งพักยังโคนต้นไม้ที่อาศัย
สักครู่หนึ่ง พระผู้ติดตามได้รีบเข้ามาบอกระคนดีใจว่า

"น้ำได้ขึ้นมาครึ่งบ่อแล้วขอรับ ครูบาเจ้า !"

กาลต่อมา ครูบาเจ้าชุ่มได้นั่งหนัก นำศรัทธาชาวบ้าน
บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นสมตามความจำนง จึงได้อาศัยน้ำบ่อนั้น
ก่อสร้างโบสถ์ เจดีย์ กุฏิ ศาลา และถาวรวัตถุต่างๆ ที่จำเป็นจนสำเร็จเรียบร้อย
ชาวบ้านในพื้นที่ต่างช่วยกันคนสละแรงงาน สละทรัพย์ตามกำลัง
ช่วยกันดำเนินการสร้างวัดตามที่พระธุดงค์ท่านมาโปรด
ครูบาเจ้าชุ่มนั่งหนักบูรณะวัดเป็นเวลาถึง ๓ พรรษา จึงแล้วเสร็จ

ท่านเคยกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า
"ขณะนั้นที่ อ.ห้างฉัตร มีหมู่บ้านอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน
อาศัยบุญบารมี แรงงานจากทั่วสารทิศมาช่วย จึงสำเร็จเป็นวัดอยู่จนทุกวันนี้"


แรงบุญหนุนนำจากทุกสารทิศ

การที่ครูบาเจ้าชุ่มมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลประตูป่าอยู่ด้วย
ทำให้ท่านมีภารกิจการปกครองคณะสงฆ์ในความรับผิดชอบ
อีกประการหนึ่ง ท่านได้รับการแต่งตั้งจากทางการคณะสงฆ์จังหวัดลำพูน
ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในการบรรพชาพระภิกษุ-สามเณรด้วย

ด้วยภาระหน้าที่ที่มีมาก ท่านจึงต้องกลับวัดวังมุย
เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย และการงานของวัดเป็นระยะๆ
การกลับวัดวังมุยครั้งหนึ่งๆ ท่านจะพักอยู่ประมาณเดือนเศษ
หลังจากนั้นท่านก็จะนำภิกษุสามเณรศิษยานุศิษย์ของท่านออกธุดงค์
เพื่อสอนธรรมะภาคปฏิบัติ และบำเพ็ญบารมีต่อไป

ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก นับได้ว่า เป็นพระภิกษุที่มีเมตตาธรรมสูงส่ง
ท่านเสียสละโดยประการต่างๆ เพื่อเกื้อกูลเหล่าชาวบ้านให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แล้วยังบำเพ็ญประโยชน์ให้บังเกิดแก่สาธารณะชนส่วนรวมอย่างแท้จริง
เมื่อท่านจาริกไปถึงที่ใด จะปรากฏมีชาวบ้านมากราบสักการะน้อมรับธรรมะ
และร่วมบริจาคทรัพย์ ทำบุญกับท่านเป็นจำนวนมาก ด้วยศรัทธาในปฏิปทาของครูบาเจ้าองค์นี้

ทุกครั้งครูบาเจ้าชุ่มก็ได้มอบทรัพย์เหล่านั้นกลับคืน
เพื่อสร้างสิ่งอันเป็นสาธารณะประโยชน์ในชุมชน
บางแห่งท่านก็เป็นประธานในการสร้างเหล่านั้นด้วยตนเอง
ท่านปฏิบัติอยู่เช่นนั้นตลอดมาตั้งแต่ยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม
จนล่วงเลยเข้าสู่ความเป็นพระมหาเถระผู้มีอายุ

ช่วงปัจฉิมวัย ครูบาเจ้าชุ่มไดกลับมายังวัดวังมุย
และได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ทุกตำแหน่ง เหลือเพียงตำแหน่งเจ้าอาวาส
คล้ายเป็นการปลดระวางภารกิจบางประการลงบ้าง
ครั้นทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว ท่านก็ได้ธุดงค์ต่อไป
โดยตั้งใจว่าจะขึ้นไปเหนือสุดของประเทศ
โดยเริ่มออกเดินธุดงค์เข้าปักกลดในป่าช้าบ้านแม่ยิ่ง ต.หนองหล่ม อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
อีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ ท่านได้เห็นซากพระเจดีย์ปรักหักพัง
ท่านรู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พักอยู่
และดำริจะบูรณะซ่อมแซมพระเจดีย์ให้กลับมาดีดังเดิมให้จงได้
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 11:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พบพระบรมสารีริกธาตุ
และสมบัติของพระนางเจ้าจามเทวี วีรกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย


เมื่อครูบาเจ้าชุ่ม ได้จัดที่พำนักเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มงานบูรณะองค์พระเจดีย์ทันที
โดยมีศรัทธาชาวบ้านมาร่วมด้วยเต็มกำลัง
ในขณะที่ดำเนินการขุดวางฐานรากขององค์พระเจดีย์ใหม่
ท่านได้พบศิลาจารึกมีใจความว่า
"องค์พระเจดีย์นี้พระนางจามเทวีเป็นผู้สร้าง
และจะมีพระสงฆ์ ๓ รูป มาบูรณะต่อเติม"

ครูบาเจ้าชุ่มได้สอบถามชาวบ้านดูได้ความว่า
ในอดีตได้มีพระมาบูรณะพระเจดีย์นี้แล้ว ๒ องค์
ท่านครูบาเจ้าชุ่มเป็นองค์ที่ ๓


พระธาตุแม่ยิ่ง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

หลังจากนั้น ชาวบ้านจึงได้ทำการขุดลงไปใต้ฐานพระเจดีย์
ได้พบไหซองใบใหญ่หนึ่งใบ ปิดปากอย่างแน่นหนา
ครูบาเจ้าชุ่มจึงสั่งให้ชาวบ้านนำขึ้นมาเก็บไว้ก่อน
แล้วจึงเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านหนองหล่มมาร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดออกดู
ปรากฏว่าภายในมีแต่เบี้ย (เงินโบราณ) ทั้งนั้น ครูบาชุ่มจึงได้สั่งให้ปิดปากไหตามเดิม

เมื่อทำการขุดต่อไปอีก ได้พบผอบทองคำ
ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระพุทธรูป และของมีค่า
แก้วแหวนเงินทองต่างๆ อีกมากมาย เมื่อก่อฐานพระเจดีย์เสร็จแล้ว
ท่านครูบาเจ้าชุ่มได้บอกชาวบ้านให้เทปูนซีเมนต์ปิดทับฝังทุกอย่างไว้ตามเดิมให้แน่นหนา
การบูรณะครั้งนี้ใช้เวลา ๓ เดือนเศษจึงแล้วเสร็จ
จากนั้นท่านได้ให้ชาวบ้านสร้างศาลาขึ้น ๑ หลังในบริเวณเดียวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้วย

อาจจะด้วยวิสัยแห่งความเป็นพุทธภูมิมาแต่ดั้งเดิม
ครูบาเจ้าชุ่มจึงทำประโยชน์ไว้ในร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด
แม้จะละวางภารกิจบางประการแล้ว แต่ภารกิจเพื่อพระพุทธศาสนา ท่านมิอาจวางเฉยได้
แม้ตั้งใจเดินธุดงค์ไปยังจุดหมายหนึ่ง แต่ก็อดมิได้ที่จะแผ่บารมี
สร้าง-บูรณะศาสนสถานในระหว่างทาง ซึ่งเมื่อท่านดำเนินการสำเร็จลง
ท่านก็ได้ละวาง โดยมอบหมายงานดูแลองค์พระบรมธาตุไว้แก่คณะกรรมการชาวบ้านต่อไป

การเดินทางในครั้งนี้ ท่านตั้งใจจะไปนมัสการพระบรมธาตุดอยตุง
โดยเดินทางไปตามเส้นทางอำเภอเวียงป่าเป้า
จึงได้เดินทางตัดเข้าสู่แนวป่าใหญ่อย่างเร่งรีบ หวังเดินทางให้ไกลที่สุดในวันนี้
ได้เท่าไหนก็เอา ทางใดผ่านหน้าผาใหญ่สูงชัน ไม่สามารถผ่านไปได้
ก็เดินตัดออกด้านข้างยึดแนวลำธารเป็นเส้นทางในการเดิน

ครั้งนี้มีสามเณรขอเดินทางไปด้วย ๒ รูป และศรัทธาผ้าขาวอีก ๑ คน
โดยครูบาเจ้าชุ่มอนุญาตให้ติดตามไปด้วย แต่ขอให้ติดตามท่าน อย่าให้คลาดสายตา
และสั่งสอนให้ผู้ติดตามเจริญพรหมวิหารสี่ แผ่เมตตาไปไม่มีประมาณ ไม่มีสิ้นสุด
ให้แก่สัตว์โลกผู้เวียนว่ายตายเกิดด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
การเดินธุดงค์ในป่านั้น นอกจากต้องทำจิตใจสงบและเยือกเย็นแล้ว
การภาวนาและสติก็สำคัญ ต้องมีสติสำรวมระวังอย่างรอบคอบ
มิเช่นนั้นอาจพลั้งพลาดบาดเจ็บล้มตายได้
แต่ท่านเองได้มอบกายถวายชีวิตแด่องค์พระบรมครูแล้ว จึงไม่เสียดายในชีวิตนี้
ยอมตายในการทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาทุกเมื่อ
ถือว่าได้แสดงความกตัญญูแด่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์อย่างแท้จริง


พบรอยเท้าเสือใหญ่ และผจญช้างตกมัน

ตะวันสีหมากสุกได้ลับหายไปจากแนวไม้แล้ว
อากาศในแนวป่ากลางดงลึก เย็นลงอีก สรรพสำเนียงไพรยามค่ำเริ่มต้นแล้ว
เสียงเสือคำราม สลับกับเสียงเก้งร้องเรียกหากันให้ระวังภัย ดังแว่วมาแต่ไกล
นี่เพียงโพล้เพล้แต่เสียงเสือใหญ่ก็คำรามข่มขวัญสัตว์ป่าในพงไพรเสียแล้ว

ขณะที่ธุดงค์ผ่านป่าทึบในอำเภอเวียงป่าเป้า
ตะวันเริ่มจะลับทิวไม้แล้ว ขณะที่ผ่านดอยนางแก้ว
ได้พบรอยเท้าเสือขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือกางออก
เป็นรอยเท้าที่เพิ่งเหยียบย่ำผ่านไปใหม่ๆ น้ำที่ขังในรอยเท้ายังขุ่นอยู่
ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มหาได้เกรงกลัวไม่ ได้เจริญพรหมวิหารสี่ แล้วแผ่เมตตาให้ โดยอธิษฐานว่า

"หากมีกรรมเก่าติดค้างกันมา ก็ขอยอมสละชีวิตเพื่อเป็นพุทธบูชา
หากไม่มีกรรมเก่าต่อกันแล้วไซร้  
ขออย่าได้ทำร้ายกันเลย จะเกิดกรรมติดตัวไปไม่รู้จบไม่รู้สิ้น"


แล้วท่านและผู้ติดตามจึงเดินทางเข้าป่าใหญ่ ในทิศทางเดียวกับที่เสือใหญ่เดินผ่าน
ไม่กี่อึดใจก็ทะลุออกป่าโปร่ง แต่ก็ไม่พบเสือใหญ่ตัวนั้นเลย


เข้านิโรธสมาบัติใน "ถ้ำปุ่มถ้ำปลา"
(หมายเหตุ : คำว่า ปุ่ม ภาษาเหนือแปลว่า ปู)

ในการเดินธุดงค์รอนแรมไปตามที่ต่างๆ นั้น
ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มได้สั่งสอนให้พระภิกษุ-สามเณรที่ติดตามท่าน
ปฏิบัติตามหลักธุดงควัตร ๑๓ ข้อ อย่างเคร่งครัด
ต้องสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น และเจริญพระกรรมฐานอย่างสม่ำเสมอ
เจริญมรณานุสติ ไม่ยึดติดในร่างกาย ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้
อีกไม่นานก็แตกดับสลายไปเป็นอนัตตา
มีความมักน้อยสันโดษ เช่น ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร, ถือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร,
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฯลฯ

บางครั้งครูบาและสามเณรได้รับความลำบากในเรื่องอาหารขบฉันบ้าง
การจาริกไปในป่าเขา นานๆ จึงจะพบปะบ้านคนสักครั้งหนึ่ง
บางครั้งออกเดินทางไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งมีเพียง ๒-๓ หลัง
ได้ข้าวนึ่งมา ๒-๓ ก้อน จากนั้นไม่พบผู้ใส่บาตรอีกเลย
เมื่อกลับมายังกลด เปิดฝาบาตรขึ้นเพื่อพิจารณาอาหารตามปัจจเวกขณะวิธี
ได้พิจารณาถึงเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคราวเสด็จออกทรงผนวช
แล้วเสด็จออกโปรดสัตว์ คือบิณฑบาตในวันแรก

"โอ้หนอ นี่นับว่าเป็นความโชคดีของเรา
ที่ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธองค์"


ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มพลันรู้สึกปีติท่วมท้น ลงมือฉันข้าวเปล่าๆ เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดเท่านั้น

เมื่อเข้าสู่เขตจังหวัดเชียงราย คณะของครูบาเจ้าชุ่มได้หยุดพักที่ป่าช้าโดยมุ่งหมายว่าจะธุดงค์ไปยัง
"ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา" ต่อไป ขณะที่พักอยู่นั้น มีชาวบ้านนำอาหารมาถวาย
และสอบถามครูบาเจ้าชุ่มว่า จะไปที่ใดต่อ ครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มได้บอกตามเจตนาว่า
จะไปกราบนมัสการพระพุทธรูปบน "ถ้ำปุ่ม ถ้ำปลา"

ได้ยินดังนั้น ชาวบ้านจึงพากันขอร้องมิให้ครูบาเจ้าชุ่มไป
เพราะระหว่างทางที่จะขึ้นสู่ถ้ำ ขณะนี้มีช้างตกมันตัวใหญ่อาละวาดอยู่
ช้างตัวนี้มันทำร้ายคนบาดเจ็บและตายมาหลายคนแล้ว
มันดุร้ายจนไม่มีใครกล้าย่างกรายผ่านบริเวณนี้เลย ขอครูบาเจ้าโปรดยับยั้งอยู่ที่นี้ก่อน

ครูบาเจ้าชุ่มนิ่งอยู่สักครู่ จึงได้กล่าวว่า

"อาตมาตกลงใจแล้วว่าจะต้องขึ้นไปบนถ้ำ เพื่อกราบนมัสการพระพุทธรูปให้จงได้
ตามวันเวลาที่กำหนด ไม่สามารถหยุดยั้งอยู่ได้ และอาตมาขอบใจมากที่ได้แจ้งข่าวให้ทราบ"


จากนั้นคณะของครูบาเจ้าชุ่ม ก็ได้ออกเดินทางเข้าป่า
มุ่งหน้าสู่ถ้ำในทันที ขณะที่เดินเข้าป่า ท่านได้กำหนดจิต
แผ่เมตตาให้แก่ช้างตกมันเชือกนั้น และทุกคนก็ได้พบช้างตัวนั้นกำลังอาละวาด
พุ่งชนต้นไม้ใหญ่อยู่ข้างหน้าอย่างดุร้าย ครูบาเจ้าชุ่มยังคงเดินมุ่งหน้าไปเรื่อยๆ อย่างสงบ

ในขณะที่คณะของท่านเดินเข้าไปใกล้ช้างตกมันเชือกนั้น
มันได้หยุดมองดูครูบาเจ้าชุ่ม และคณะก่อนที่จะหันหน้าหลบเข้าสู่กอไผ่
พร้อมกับยืนสงบนิ่ง ปัดใบหูไปมาราวกับเป็นสัตว์เชื่องตัวหนึ่ง
ไม่เหลือความดุร้ายอยู่เลย ครูบาเจ้าชุ่มและคณะได้เดินผ่านไปอย่างปกติ
โดยไม่มีเหตุการณ์ร้ายใดๆ เกิดขึ้น ท่านเร่งเดินทางอย่างเร็ว
ไม่ได้แวะพักระหว่างทาง เพราะจวนจะค่ำมืดเต็มทีแล้ว
ทุกคนต่างมุ่งหน้าไปสู่ถ้ำที่อยู่เบื้องหน้าด้วยจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก


พบฤๅษี ๔ ตนหน้าถ้ำ

เมื่อขึ้นถึงบริเวณหน้าถ้ำ ได้พบฤๅษี ๔ ตน
เมื่อพวกฤๅษีเห็นคณะของครูบาเจ้าชุ่มผ่านป่าขึ้นมาได้
จึงไต่ถามระคนแปลกใจว่า

"ท่านพระภิกษุผู้เจริญ ขณะเดินผ่านป่ามาพบช้างตกมันอยู่หรือไม่"

ครูบาเจ้าชุ่มตอบคำถามของท่านฤๅษีไปตามตรงว่า

"พบ...แต่ไม่เห็นเขาทำอะไรอาตมาและคณะเลย"

เหล่าฤๅษีต่างยกมืออนุโมทนาท่วมหัว พร้อมกับอุทานออกมาว่า

"ช้างหนุ่มตัวนี้ตกมัน ดุร้ายมาก
เมื่อเช้านี้มันยังไล่พวกกลุ่มของผมที่ออกไปหาผลหมากรากไม้อยู่เลย
เป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่มันไม่ทำร้ายท่าน
พวกผมที่อยู่บนถ้ำนี้ ไม่สามารถออกไปสู่ภายนอก
เพื่อขอข้าวสารจากชาวบ้านได้ เป็นเวลาเกือบอาทิตย์มาแล้ว
นับว่าเป็นบุญบารมีของท่านโดยแท้ ที่ช้างตกมันตัวนี้ไม่ทำอันตรายท่านเลย"


ครูบาเจ้าชุ่มได้แต่รับฟังด้วยอาการวางเฉย

ในบริเวณใกล้ถ้ำ มีสำนักสงฆ์เล็กๆ และมีพระภิกษุชราพำนักอยู่
ครูบาเจ้าชุ่มได้พาสามเณรทั้ง ๒ รูปพร้อมศรัทธาผู้ติดตาม ไปพบพระภิกษุชรานั้น
พร้อมเอ่ยปากฝากศิษย์ไว้สักอาทิตย์ จากนั้นครูบาเจ้าชุ่มได้บอกแก่ลูกศิษย์ว่า

"หลวงพ่อจะเข้าไปปฏิบัติธรรมในถ้ำสัก ๗ วัน
หากหลวงพ่อไม่กลับออกมา ให้พวกเธอกลับวัดกันได้เลย
ในย่ามของหลวงพ่อพอมีปัจจัยอยู่บ้าง ให้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ
แล้วหากกลับไปก็ไม่ต้องบอกกล่าวสิ่งใดกับญาติโยมทั้งสิ้น"


ท่านบอกศิษย์เพียงเท่านั้น แล้วจัดแจงครองผ้าให้เป็นปริมณฑล
พร้อมเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และตักน้ำใส่ในบาตรเดินทางเข้าสู่ถ้ำ

บรรยากาศภายในถ้ำค่อนข้างอับชื้น กลิ่นมูลค้างคาวโชยมาเป็นระยะ
ท่านเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ แสงสว่างภายในถ้ำมีไม่มากนัก สลัวๆ เท่านั้นเอง
เมื่อไปถึงบริเวณก้นถ้ำ
ท่านจึงพิจารณาสถานที่ที่เหมาะสมในการเจริญสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ

เมื่อได้สถานที่เหมาะสมแล้ว ท่านจึงปัดกวาดบริเวณพื้นถ้ำให้สะอาด
จุดธูปเทียน พร้อมดอกไม้ นบนอบไหว้ ตั้งจิตอธิษฐาน
รำลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระอริยสงฆ์เจ้า
คุณบิดรมารดา ครูอาจารย์ เทพเทวดาอารักษ์ที่สถิตอยู่ในถ้ำแห่งนี้
อาตมาเข้ามาปฏิบัติธรรม ขอให้ช่วยดูแลให้ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติธรรมพอสมควรด้วย

จากนั้นจึงเริ่มต้นนั่งสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืนติดต่อกัน
โดยมิได้ฉันอาหารใดๆ เลย นอกจากน้ำในบาตรที่นำเข้าไปเท่านั้น
เมื่อครบกำหนด ๗ วัน ครูบาเจ้าชุ่มได้กำหนดจิตถอนสมาธิออกจากนิโรธสมาบัติ
ท่านพบว่าจีวรและสังฆาฏิที่ครองอยู่เปียกชื้นไปหมด
จากนั้นท่านจึงได้ลุกเดินออกมาสู่บริเวณใกล้ๆ ปากถ้ำ
และได้พักนิ่งอยู่ เพื่อเตรียมจะเข้านิโรธสมาบัติต่อไปอีกเป็นวันที่ ๘
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 11:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หนูท้องขาวกระทำทักษิณาวัตร

ขณะนั้นเอง ท่านแลเห็นหนูท้องขาวตัวหนึ่ง
วิ่งมาวนกระทำทักษิณาวัตรรอบองค์ของท่าน แล้วหยุดยืนยกสองขาหน้าขึ้น
ต่อหน้าครูบาเจ้าชุ่มถึงสามครั้ง ในลักษณะนบไหว้
จากนั้นมันจึงวิ่งหนีหายเข้าไปภายในถ้ำ
แล้วครูบาเจ้าชุ่มก็เข้านิโรธสมาบัติต่อไปเป็นวันที่ ๘ ตามความตั้งใจ
จนรุ่งสาง ท่านจึงถอนจิตออกจากนิโรธสมาบัติ
ตรวจตราความเรียบร้อยแล้วจึงสะพายบาตรเดินออกสู่ปากถ้ำ
เพื่อจะไปพบลูกศิษย์ของท่านที่รออยู่ ณ สำนักสงฆ์เบื้องล่าง

เมื่อถึงปากถ้ำ ปรากฏว่าพระภิกษุผู้ชรา
พร้อมลูกศิษย์ของท่านได้พากันมายืนคอยท่านอยู่แล้ว
ทุกคนต่างตรงเข้าประคองครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มลงไปที่สำนักสงฆ์เบื้องล่าง
และต้มข้าวถวายครูบาเจ้าชุ่ม พร้อมกับเอ่ยคำว่า
"ท่านครูบาจะเข้านิโรธสมาบัติก็ไม่บอกผมด้วย จะได้บอกชาวบ้านเขามาเอาส่วนบุญ"

ครูบาเจ้าชุ่มก็ได้แต่ยิ้ม มิได้กล่าวประการใด
จากนั้นท่านจึงนำคณะผู้ติดตามออกธุดงค์ต่อไป
เพื่อจะไปนมัสการพระธาตุดอยตุง ขณะที่เดินลึกเข้าไปในป่าเขาเรื่อยๆ
ยิ่งไม่พบพานบ้านคนเลย ขณะนี้เป็นเวลาใกล้จะเพลแล้ว
ท่านเกรงว่าลูกศิษย์จะทนความหิวไม่ได้ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า

"ด้วยกุศลผลบุญที่ได้เพียรปฏิบัติมาในการออกธุดงค์ครั้งนี้
ขอให้ได้พบบ้านผู้คนเพื่อบิณฑบาตด้วย"



จากซ้าย : พระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี
หลวงปู่คำแสน คุณาลงฺกาโร (หลวงปู่ครูบาคำแสนน้อย)
วัดดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ (ศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต)
หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย (วัดชัยมงคล) อ.เมือง จ.ลำพูน
ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน
พระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน บุญ-หลง อาภรโณ)
วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
ครูบาธรรมชัย ธมฺมชโย วัดทุ่งหลวง อ.แม่แต่ง จ.เชียงใหม่

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 11:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พบชายชราผู้วิเศษ

ครูบาเจ้าชุ่ม นำคณะเดินต่อมาอีกไม่นาน ก็ได้พบกับบ้านหลังหนึ่ง
มีชายชราสูงอายุคนหนึ่งกำลังนั่งเหลาไม้อยู่ที่ชานเรือน
เมื่อได้เห็นครูบาเจ้าชุ่มและลูกศิษย์ ก็รีบเข้ามานิมนต์ให้แวะมาฉันน้ำเสียก่อน
จากนั้นก็รีบขึ้นบนเรือนไปจัดภัตตาหาร แล้วนิมนต์ครูบาเจ้าชุ่ม และสามเณร
ให้ขึ้นไปฉันเพลบนเรือนทันที เมื่อครูบาเจ้าชุ่มรับนิมนต์และฉันเพลเรียบร้อยแล้ว
ท่านก็ให้ศีลให้พรแก่ชายชราผู้นั้นตามลำดับ จู่ๆ ชายชราก็สอบถามครูบาเจ้าชุ่ม
ถึงรายละเอียดในการปฏิบัติธรรมขึ้นมา แล้วยังพูดว่า

“การเข้านิโรธสมาบัติได้ถึง ๗-๘ วัน โดยไม่อ่อนเพลียเช่นนี้
นับว่าท่านเข้าถึงธรรมชั้นสูง มีบุญบารมีมาก ขอให้รักษาไว้ให้ดี
เพื่อจักได้เมตตาโปรดสัตว์โลกและมวลมนุษย์ต่อไป”


จากการตั้งปัญหาถามเองและตอบเองนี้ ยังความแปลกใจให้กับครูบาเจ้าชุ่มมาก
เพราะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน อีกทั้งท่านก็ยังไม่ได้เอ่ยอ้างหรือสนทนาธรรมใดๆ กับชายผู้นี้เลย
นอกจากนั้น ชายชราผู้นี้ยังได้อาสาเป็นผู้นำทางพาครูบาเจ้าชุ่มออกสู่ถนนหลวง
และเมื่อถึงชายป่าและชี้ทางสู่ถนนหลวงแล้วจึงได้รีบอำลากลับทันที
โดยครูบาเจ้าชุ่มมิได้หันกลับไปมองชายชราผู้นั้นอีกเช่นกัน

ครูบาเจ้าชุ่มเคยกล่าวถึงการอดอาหารนานๆ ว่า

“ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรืออ่อนเพลียหิวโหยเท่าใดนักเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยความสมัครใจ
เป็นการฝึกความอดทน ความเพียรพยายาม ให้บรรลุซึ่งมรรคผลทางธรรมต่อไป”



ศิษย์ผู้ได้รับมอบไม้เท้าและพัดหางนกยูง จากครูบาเจ้าศรีวิชัย

ครูบาเจ้าศรีวิชัย-ตนบุญแห่งล้านนา
ได้ริเริ่มดำเนินการก่อสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘
จึงได้เรียกหาครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ผู้เป็นศิษย์ให้เข้ามาช่วยเหลือ​การก่อสร้างด้วย
ตอนนั้นครูบาเจ้าชุ่มมีอายุเพียง ๓๗ ปี ท่านได้มาอยู่รับใช้ช่วยเหลือ
งานของครูบาเจ้าชุ่มเจ้าชุ่มเจ้าศรีวิชัยอย่างใกล้ชิด
โดยครูบาเจ้าชุ่มทำงานในแผนก “สูทกรรม” เวลาต่อมา
พระภิกษุหนุ่มวัยยี่สิบเศษนาม “ตุ๊วงศ์” หรือ หลวงปู่ครูบาวงศ์
ก็มาปวารณาตัวช่วยงานครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยเช่นกัน
โดยตุ๊วงศ์ทำงานในแผนก “ดินระเบิด” ท่านครูบาศรีวิชัยได้แบ่งหน้าที่การงานต่างๆ
มอบหมายให้พระลูกศิษย์แต่ละท่านอย่างชัดเจน

จากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดช่วยเหลือกิจการงานดังกล่าว
ครูบาเจ้าชุ่มจึงมีโอกาสได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างเต็มที่
ท่านได้นำไปฝึกฝนปฏิบัติต่อหลังจากเสร็จงานทุกวัน
จนเกิดความชำนาญแตกฉานขึ้นตามลำดับ

ในยามค่ำ ครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านจะอบรมสั่งสอนธรรมะ
และการเจริญพระกรรมฐานแก่พระเณรและประชาชนทั่วไป
โดยท่านจะเริ่มวัตรปฏิบัติในเวลาตี ๔ ของทุกวัน
ครั้นฟ้าสว่างแล้วก็ให้พระเณรออกบิณฑบาต
โดยข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลายที่ท่านสอนนั้น ท่านยังได้บอกว่า

“หากปฏิบัติถูกต้องแล้ว จะมีอายุยืนยาว”

ครูบาเจ้าชุ่ม ได้อยู่ศึกษาปฏิบัติ และช่วยเหลืองานของครูบาศรีวิชัยหลายด้าน
จนท่านเป็นที่รักและเมตตาของครูบาศรีวิชัยเป็นอย่างยิ่ง
บางครั้งท่านได้รับความไว้วางใจให้อยู่ดูแลรักษาวัด
ทำหน้าที่เหมือนเจ้าอาวาสแทนเวลาที่ครูบาศรีวิชัยไม่อยู่
เพราะตอนนั้นครูบาศรีวิชัยถูกเรียกตัวเข้าพระนคร (กรุงเทพฯ) บ่อยๆ
จากกรณีต้องอธิกรณ์ต่างๆ  ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ฝากให้ครูบาเจ้าชุ่มทำหน้าที่แทนท่าน
ตั้งแต่การรับประเคนเครื่องไทยธรรม จนถึงการนั่งรับแขกที่มาหาครูบาเจ้าศรีวิชัย
โดยระบุว่า “หากพวกชาวบ้านมาหาให้ต้อนรับ ให้ศีลให้พรแทนด้วย
บอกเขาด้วยว่า ไม่กี่วันเฮาจะกลับมา”

แม้ในขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มกลับไปประจำที่วัดวังมุย
เมื่อครูบาศรีวิชัยมีกิจธุระ ก็จะส่งคนไปตามท่านถึงวัดวังมุย
และทุกครั้งครูบาเจ้าชุ่มก็เต็มใจเดินทางมาสนองงานอาจารย์ของท่าน
ด้วยความผูกพันและกตัญญู

ช่วงที่การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพใกล้จะแล้วเสร็จนั้น
ในวันหนึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เรียกครูบาเจ้าชุ่มเข้าไปพบ
เพื่อทบทวนธรรมะพระสูตรต่างๆ ทั้งหมดที่เล่าเรียนกันมา
จากนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มอบพัดหางนกยูงพร้อมกับไม้เท้าประจำองค์ท่านให้ครูบาเจ้าชุ่ม
โดยสั่งไว้ด้วยว่า “เอาไว้เดินทางเทศนา”

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัย
ท่านอาพาธและรักษาตัวอยู่ที่วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน
ศิษย์ใกล้ชิดที่คอยพยาบาลอุปัฏฐากท่านในตอนนั้น  
คือ ครูบาเจ้าชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) จ.ลำพูน,
ครูบาบุญทืม พรหมเสโน วัดจามเทวี จ.ลำพูน
และครูบาธรรมชัย ธมฺมชโย วัดทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่

ตอนนั้นครูบาเจ้าชุ่มได้ให้ช่างมีฝีมือคนหนึ่ง คือ “หนานทอง”
ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านเอง มาปั้นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยขนาดเท่าองค์จริงในท่านั่งสมาธิ
หนานทองได้ใช้เวลาทำงานอยู่หลายวัน ด้วยความที่ครูบาศรีวิชัยอาพาธอยู่
หนานทองจึงต้องเทียวเดินเข้า-ออกจากห้องที่ท่านครูบาเจ้าพักอยู่
วันหนึ่งหลายครั้ง โดยเข้ามาดูหน้าท่าน แล้วก็เดินกลับไปปั้นรูป
หากติดขัด ไม่แน่ใจบริเวณส่วนไหน ก็เดินมาดูหน้าองค์ท่านอีก
ทำแบบนี้อยู่หลายครั้ง จนในที่สุดก็ปั้นเสร็จ จึงได้ตกแต่งทาสีเรียบร้อยสมบูรณ์

จากนั้น ครูบาเจ้าชุ่มได้ให้ยกพระรูปเหมือนนั้นมาตั้งไว้ตรงปลายเท้าครูบาเจ้าศรีวิชัย
ในขณะที่ท่านยังหลับอยู่ รอจนท่านตื่นขึ้น
ครูบาเจ้าชุ่ม กับครูบาธรรมชัยได้ช่วยกันประคองท่านให้ลุกขึ้นนั่ง
พอท่านได้เห็นพระรูปเหมือนขนาดเท่าจริงของตน ก็ตื้นตันจนหลั่งน้ำตาออกมา
ท่านได้ใช้มือลูบคลำรูปเหมือนของตน จากนั้นได้ละมือจากรูปเหมือน
มาถอดประคำที่ท่านคล้องคออยู่ เพื่อนำประคำไปคล้องที่คอของรูปเหมือนแทน
และยังได้มอบไม้เท้าพร้อมทั้งพัดหางนกยูงให้อีก ๑ คู่
จากนั้นท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กล่าวขึ้นว่า

“รูปเหมือนนี้จะเป็นตัวแทนเราต่อไปในภายภาคหน้า”

และได้สั่งเสียให้เก็บรักษาไว้ ถือปฏิบัติแทนตัวท่าน
ต่อมาอีกไม่นาน ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้มรณภาพลง
เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ วัดบ้านปาง
ขณะอายุได้ ๖๐ ปี ๘ เดือน ๑๐ วัน

ในภายหลัง ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ได้อัญเชิญพระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย จากวัดจามเทวี
มาประดิษฐานยังวัดชัยมงคล (วังมุย) จึงนับเป็นพระรูปเหมือนเพียงองค์เดียว
ที่ได้ปั้นขึ้นในสมัยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย-ตนบุญแห่งล้านนายังมีชีวิตอยู่
ซึ่งพระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยนี้ขึ้นชื่อลือเลื่องในความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
ชาวบ้านวังมุยและประชาชนทั่วไปได้ยึดเป็นที่พึ่งที่ระลึกมาจนปัจจุบัน

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้