|
ปัจฉิมวัยของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก
หลวงตาวัชรชัย หรือ พระครูภาวนาพิลาศ เป็นศิษย์ใกล้ชิดอีกท่านของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ
ผู้ได้เคยมีโอกาสใกล้ชิดและอุปัฏฐากหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๘
และได้เขียนหนังสือระลึกถึง “พระสุปฏิปันโน” ทั้งหลาย
ที่เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำไว้ในหนังสือชื่อ “บนเส้นทางพระโยคาวจร”
นามปากกา “สายฟ้า” เป็นหนังสือที่เขียนถึงพระอริยเจ้าหลายท่านได้อย่างซาบซึ้ง
และก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะต่อท่านเหล่านั้นได้ในทันที
วาจาสุดท้าย ณ บ้านวังมุย
พ่อเลื่อน กันธิโน ศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม
เล่าถึงช่วงเวลาก่อนที่ท่านจะมรณภาพว่า ตอนที่ท่านจะตัดสินใจมากรุงเทพฯ นั้น
ชาวบ้านวังมุยหลายคนขอร้องไม่ให้ท่านมา เพราะเห็นว่าท่านอาพาธอยู่
แต่ดูเหมือนหลวงปู่ท่านจะรู้วาระของท่านจึงได้เอ่ยวาจาว่า
“เฮาจะไม่ตายที่นี่ เฮาจะไปตายที่เมืองกรุงบางกอก”
นับได้ว่าเป็นวาจาประโยคสุดท้ายของท่านที่บ้านวังมุย
พ่อเลื่อนเป็นผู้พาหลวงปู่นั่งเครื่องบินเดินทางไปกรุงเทพฯ
โดยท่านเจ้ากรมเสริม (พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)
กับคุณอ๋อย (คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา มารอรับที่สนามบินดอนเมือง
เพื่อพาหลวงปู่ชุ่มไปรักษาที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร
คณะแพทย์ได้ตรวจรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัดบริเวณต่อมลูกหมาก
หลวงปู่ท่านกะว่าจะนอนพักผ่อนแค่ ๒ วันแล้วจะกลับวัดวังมุย
แต่แพทย์ได้ห้ามไว้ เพราะหลวงปู่เพิ่งผ่าตัด
ควรจะนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลต่อสัก ๔-๕ วัน
พร้อมกันนี้ แพทย์ได้ขอร้องหลวงปู่ไม่ให้เดินเพราะเพิ่งจะผ่าตัด
แต่ด้วยความที่หลวงปู่ท่านเปี่ยมไปด้วยความเมตตาสูงส่ง
เมื่อท่านนอนพักฟื้นได้สักระยะหนึ่ง จนพอมีแรงขึ้นมาบ้าง
ท่านก็เมตตาเดินขึ้นไปตามชั้นต่างๆ ของโรงพยาบาลที่มี ๔ ชั้น
เพื่อไปรดน้ำมนต์ให้กับบรรดาผู้ป่วยของโรงพยาบาล
ปรากฏว่าพอหลวงปู่กลับมาพักที่ห้องของท่าน
เลือดได้ไหลออกมาจากตรงบริเวณแผลที่เพิ่งผ่าตัด
พอคณะแพทย์พยาบาลทราบ ต่างตกใจและรีบช่วยกันเยียวยาหลวงปู่อย่างเต็มความสามารถ
แต่เนื่องจากหลวงปู่เสียเลือดมาก ประกอบกับการที่ท่านชราภาพมากแล้ว
จึงไม่สามาถต้านทานความเจ็บปวดเอาไว้ได้
ท่านจึงมรณภาพอย่างสงบในเวลาเย็น ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของศิษยานุศิษย์
พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ ได้นำสังขารของหลวงปู่ชุ่ม
มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านสายลม อันเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานมาสอนกรรมฐาน
เป็นเวลา ๑ วัน จากนั้นชาวบ้านวังมุยจึงพากันเดินทางไปกรุงเทพฯ
เพื่อขอนำสังขารของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มกลับไปสู่บ้านวังมุย
เจ้ากรมเสริมจึงได้สั่งการให้ทหารเอารถจี๊บใหญ่นำสังขารของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม
มาส่งถึงวัดชัยมงคล (วังมุย) โดยมีรถทหารนำขบวนมาด้วย
จากนั้นทางวัดชัยมงคล (วังมุย) ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลตามประเพณีอีก ๗ วัน
หลังจากนั้นจึงปิดโลงเก็บสังขารของท่านไว้เป็นแรมปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๑
จึงมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก
โดยก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายสังขารของท่านไปเผา ณ เมรุปราสาท นั้น
ศิษยานุศิษย์บ้านวังมุยได้เปิดฝาดลงดูสังขารของท่านเป็นครั้งสุดท้าย
จึงเห็นว่า สังขารของหลวงปู่ไม่ได้เน่า เพียงแต่ร่างกายแห้งลงเท่านั้น
ในวันงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก
มีครูบาอาจารย์สายเหนือหลายรูป เช่น ครูบาพรหมา ครูบาธรรมชัย ไปร่วมงานด้วย
เปลวเพลิงได้เผาร่างสมมุติของท่าน
เหลือไว้เพียงนามอันเป็นวิมุตติของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก พระอริยเจ้าแห่งหริภุญชัย
ประมวลกิจในพระศาสนาสำคัญ
ดำเนินตามรอยบาท แผ่บารมีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์
หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ได้เจริญตามรอยบาทของพระอาจารย์ที่เคารพอย่างครูบาเจ้าศรีวิชัย
โดยการแผ่บารมี ช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์ไว้มากมายหลายแห่ง
เท่าที่มีบันทึกไว้เพียงบางแห่ง มีรายละเอียดมากน้อยต่างกัน คือ
- ร่วมสร้างทางขึ้นพระบรมธาตุดอยสุเทพ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘
- ร่วมสร้างสะพานศรีวิชัย สานต่อภารกิจของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑
- สร้างทางขึ้นพระธาตุดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
- สร้างสะพาน แม่น้ำขาน ที่หนองห้า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
- ร่วมสร้างวัดร่มหลวง ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
- สร้างสะพานบ้านเหมืองฟู ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
สะพานยาว ๒๕ วา ๒ ศอก กว้าง ๘ ศอก ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ เดือน
จึงแล้วเสร็จ สิ้นเงิน ๘๐,๖๓๐ บาท
- สร้างสะพานที่ ต.สันทราย อ.สารภี จ.เชียงใหม่
สะพาน กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๒ วา สิ้นเงิน ๔๘,๐๐๐ บาท
- สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ที่ ต.ขัวมุง จ.เชียงใหม่
กว้าง ๘ ศอก ยาว ๕๕ วา ใช้เวลา ๗ เดือน ๑๕ วัน จึงเสร็จ
สิ้นเงินประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ
- สร้างสะพานวัดชัยชนะ ข้ามลำน้ำแม่ปิงที่ ต.ประตูป่า จ.ลำพูน
กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๐ วา ใช้เวลา ๑๐ เดือน สิ้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทเศษ
- ชาวบ้านริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูนได้อาราธนาท่านไปนั่งหนักสร้างสะพานให้อีก
กินเวลา ๔ เดือน กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๕ วา ยังใช้อยู่ถึงทุกวันนี้
- สร้างสะพานหน้าวัดวังมุย มีความกว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๒ ศอก
สิ้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทเศษ ใช้เวลาก่อสร้าง ๒ เดือนจึงเสร็จสิ้นสมบูรณ์
- สร้างสะพานที่ห้องกาศ (ห้องแล้ง) อ.เมือง จ.ลำพูน
- สร้างวัดสถานีรถไปลำปาง (พระอุโบสถ) อฬห้างฉัตร จ.ลำปาง ปี พ.ศ. ๒๕๑๘
- บูรณะพระธาตุจอมกิจจิ ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
และสร้างพระนอนที่วัดพระธาตุจอมกิจจิ (ปัจจุบันเรียกพระธาตุจอมกิตติ)
หลวงปู่เคยเล่าว่า ทุกครั้งที่ไปเป็นประธานการสร้างในที่ต่างๆ
นายห้างบริษัท ธานินท์อุตสาหกรรม จำกัด จะส่งเงินมาร่วมสมทบทำบุญด้วยทุกครั้ง
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... x-page.htm
.....................................................
ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=45065
|
|