1 องค์ความรู้ควายไทยในสายตาปราชญ์ชาวบ้าน ผลจากการจัดเสวนากลุ่มร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านด้านควายไทย ซึ่งคณะวิจัยได้เชิญเข้าร่วมประเมินเพื่อให้คะแนนลักษณะภายนอกควายที่นำเข้าถ่ายภาพสามมิติตามโครงการวิจัยฯ ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี สุรินทร์ และนครพนม ซึ่งตามขั้นตอนงานวิจัยจะให้ปราชญ์ชาวบ้านและนักวิชาการ ทำการประเมินลักษณะภายนอกของควายทุกตัว โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนไว้ 5 ระดับ และในวันสุดท้ายของการทำงานวิจัยในแต่ละพื้นที่ก็จะจัดเสวนากลุ่มย่อยร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ปราชญ์ชาวบ้านด้านควายและเกษตรกรผู้เลี้ยงควายที่สนใจ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนทัศนะและภูมิปัญญาเกี่ยวกับลักษณะของควายไทย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลในเวทีเสวนาทั้ง 3 แห่ง สามารถนำมาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับควายไทยเป็น 2 ด้านหลัก คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะของควายงามโดยเฉพาะ และองค์ความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับควายไทย ดังนี้ ก. องค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะควายงาม แบ่งเป็น 2 กลุ่มลักษณะคือ ลักษณะเฉพาะความงามประจำพันธุ์ของควายไทย และลักษณะที่เป็นองค์ประกอบปลีกย่อยที่ดีของควายไทยด้านอื่นๆ ดังนี้ 1. ลักษณะประจำพันธุ์ของควายไทย เกษตรกรส่วนใหญ่ระบุลักษณะความงามประจำพันธุ์ของควายไทยที่สอดคล้องกัน โดยมีลักษณะสำคัญซึ่งเป็นจุดสังเกต 5 แห่งด้วยกัน คือ ตรงใต้คอต้องเป็นบั้งสีขาว ต้องมีจุดแต้มบนใบหน้า มีข้อเท้าขาว มีอัณฑะและปลายลึงค์ที่ไม่หย่อนยาน หนังและขนมีสีเทา เทาดำหรือเทาแดง โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.1 บั้งคอสีขาว บางแห่งเรียกอ้องคอ หรือบ้องคอ ลักษณะขนและหนังบริเวณใต้คอเป็นสีขาวรูปตัววี (V) เหมือนแถบบั้งนายสิบ (Chevron) ซึ่งพาดขวางบริเวณใต้คอ(ภาพที่1) โดยมีความเชื่อว่า นอกจากเป็นลักษณะที่ส่งเสริมให้ควายดูงามแล้ว ยังถือเป็นลักษณะมงคล โดยปราชญ์ชาวบ้านระบุว่าถ้าเป็นควายไทยต้องปรากฏลักษณะนี้เด่นชัด จากตำแหน่งและจำนวนของบั้งคอยังสามารถจำแนกระดับชั้นความงามได้เป็น 3 ระดับ คือ ควายสามอ้องหรือควายสามบั้ง มีตำแหน่งของบั้งคออยู่ใต้คอหอย 1 บั้ง และต่ำลงไปบริเวณเหนืออก 2 บั้ง รวมเป็น 3 บั้ง ซึ่งถ้าประกอบด้วยลักษณะอื่น เช่น หน้าตา ท่าทาง รูปร่างทั่วไปฯ ที่ได้ลักษณะครบถ้วนก็จะถือว่าเป็นควายงามในระดับมาก รองลงมาคือ ควายสองอ้องหรือควายสองบั้ง ตำแหน่งของบั้งคออยู่ใต้คอหอย 1 บั้ง และบริเวณเหนืออก 1 บั้ง ซึ่งถ้าประกอบด้วยลักษณะอื่นๆ ครบถ้วนก็จัดว่าเป็นควายงามเช่นเดียวกัน ซึ่งลักษณะควายทั้งสองประเภทนี้ค่อนข้างหายาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือเกษตรกรที่นิยมเลี้ยงควายงามซึ่งมักมีราคาสูงกว่าควายที่เลี้ยงทั่วไป และสำหรับควายที่เลี้ยงโดยเกษตรกรรายย่อยอื่นๆ ซึ่งเป็นควายส่วนใหญ่ของประเทศ จะมีลักษณะของบั้งคอไม่ชัดจนและมักจะมีเพียง 1 บั้งที่พอมองเห็น จึงเรียก ควายหนึ่งอ้องหรือควายหนึ่งบั้ง ซึ่งไม่จัดเป็นควายงาม ปราชญ์ชาวบ้านมีความเห็นว่าควายไทย จะต้องปรากฏลักษณะบั้งคอทุกตัว แต่บางตัวอาจมองเห็นไม่ชัดเจนถ้าไม่สังเกตให้ดี ซึ่งทำให้ไม่มีจุดเด่น
|