ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5914
ตอบกลับ: 17
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

องค์ความรู้ควายไทย

[คัดลอกลิงก์]
1 องค์ความรู้ควายไทยในสายตาปราชญ์ชาวบ้าน
ผลจากการจัดเสวนากลุ่มร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านด้านควายไทย ซึ่งคณะวิจัยได้เชิญเข้าร่วมประเมินเพื่อให้คะแนนลักษณะภายนอกควายที่นำเข้าถ่ายภาพสามมิติตามโครงการวิจัยฯ ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี สุรินทร์ และนครพนม ซึ่งตามขั้นตอนงานวิจัยจะให้ปราชญ์ชาวบ้านและนักวิชาการ ทำการประเมินลักษณะภายนอกของควายทุกตัว โดยกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนไว้ 5 ระดับ และในวันสุดท้ายของการทำงานวิจัยในแต่ละพื้นที่ก็จะจัดเสวนากลุ่มย่อยร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ปราชญ์ชาวบ้านด้านควายและเกษตรกรผู้เลี้ยงควายที่สนใจ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนทัศนะและภูมิปัญญาเกี่ยวกับลักษณะของควายไทย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลในเวทีเสวนาทั้ง 3 แห่ง สามารถนำมาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับควายไทยเป็น 2 ด้านหลัก คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะของควายงามโดยเฉพาะ และองค์ความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับควายไทย ดังนี้
ก. องค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะควายงาม แบ่งเป็น 2 กลุ่มลักษณะคือ ลักษณะเฉพาะความงามประจำพันธุ์ของควายไทย และลักษณะที่เป็นองค์ประกอบปลีกย่อยที่ดีของควายไทยด้านอื่นๆ ดังนี้
1. ลักษณะประจำพันธุ์ของควายไทย เกษตรกรส่วนใหญ่ระบุลักษณะความงามประจำพันธุ์ของควายไทยที่สอดคล้องกัน โดยมีลักษณะสำคัญซึ่งเป็นจุดสังเกต 5 แห่งด้วยกัน คือ ตรงใต้คอต้องเป็นบั้งสีขาว ต้องมีจุดแต้มบนใบหน้า มีข้อเท้าขาว มีอัณฑะและปลายลึงค์ที่ไม่หย่อนยาน หนังและขนมีสีเทา เทาดำหรือเทาแดง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 บั้งคอสีขาว บางแห่งเรียกอ้องคอ หรือบ้องคอ ลักษณะขนและหนังบริเวณใต้คอเป็นสีขาวรูปตัววี (V) เหมือนแถบบั้งนายสิบ (Chevron) ซึ่งพาดขวางบริเวณใต้คอ(ภาพที่1) โดยมีความเชื่อว่า นอกจากเป็นลักษณะที่ส่งเสริมให้ควายดูงามแล้ว ยังถือเป็นลักษณะมงคล โดยปราชญ์ชาวบ้านระบุว่าถ้าเป็นควายไทยต้องปรากฏลักษณะนี้เด่นชัด จากตำแหน่งและจำนวนของบั้งคอยังสามารถจำแนกระดับชั้นความงามได้เป็น 3 ระดับ คือ ควายสามอ้องหรือควายสามบั้ง มีตำแหน่งของบั้งคออยู่ใต้คอหอย 1 บั้ง และต่ำลงไปบริเวณเหนืออก 2 บั้ง รวมเป็น 3 บั้ง ซึ่งถ้าประกอบด้วยลักษณะอื่น เช่น หน้าตา ท่าทาง รูปร่างทั่วไปฯ ที่ได้ลักษณะครบถ้วนก็จะถือว่าเป็นควายงามในระดับมาก รองลงมาคือ ควายสองอ้องหรือควายสองบั้ง ตำแหน่งของบั้งคออยู่ใต้คอหอย 1 บั้ง และบริเวณเหนืออก 1 บั้ง ซึ่งถ้าประกอบด้วยลักษณะอื่นๆ ครบถ้วนก็จัดว่าเป็นควายงามเช่นเดียวกัน ซึ่งลักษณะควายทั้งสองประเภทนี้ค่อนข้างหายาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือเกษตรกรที่นิยมเลี้ยงควายงามซึ่งมักมีราคาสูงกว่าควายที่เลี้ยงทั่วไป และสำหรับควายที่เลี้ยงโดยเกษตรกรรายย่อยอื่นๆ ซึ่งเป็นควายส่วนใหญ่ของประเทศ จะมีลักษณะของบั้งคอไม่ชัดจนและมักจะมีเพียง 1 บั้งที่พอมองเห็น จึงเรียก ควายหนึ่งอ้องหรือควายหนึ่งบั้ง ซึ่งไม่จัดเป็นควายงาม ปราชญ์ชาวบ้านมีความเห็นว่าควายไทย จะต้องปรากฏลักษณะบั้งคอทุกตัว แต่บางตัวอาจมองเห็นไม่ชัดเจนถ้าไม่สังเกตให้ดี ซึ่งทำให้ไม่มีจุดเด่น

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-26 02:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
1.2 จุดขนสีขาวบริเวณใบหน้า ลักษณะเป็นจุดขนสีขาวบนใบหน้าของควาย (ภาพที่ 2) เป็นการส่งเสริมให้หน้าตาของควายไทยดูเด่น มีจุดดึงดูดสายตา โดยปกติจะพบจุดขนสีขาวบนส่วนของใบหน้า รวม 7 จุด คือ
1) บริเวณเหนือหัวตา นิยมเรียกจุดนี้ว่ากะบี้จับตา หรือกะพี้จับตา จะต้องมีขนสีขาวเด่นชัด ขนาดและตำแหน่งเหมือนกันทั้งสองข้าง รวมเป็น 2 จุด
2) บริเวณแก้มด้านซ้ายและขวา รวม 2 จุด ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งประมาณจุดตัดของเส้นตรงที่ลากจากตาของควายลงมาในแนวดิ่งตัดกับสายสะพาย ซึ่งทั้งสองข้างจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน
3) บริเวณกรามล่างด้านซ้ายและขวา รวม 2 จุด และในแนวเดียวกันนี้มีจุดขนสีขาวอีก 1 จุด อยู่ใต้คางในตำแหน่งที่ตรงกัน โดยมีลักษณะเหมือนเม็ดไฝขนาดใหญ่และมีขนยาวเหมือนเคราผู้ชาย ซึ่งเม็ดไฝนี้จะพบในควายไทยทุกตัว รวมทั้งหมดเป็น 3 จุดด้วยกัน
ปราชญ์ชาวบ้าน ระบุว่าถ้าเป็นควายที่ถือว่างาม จะต้องมีจุดขาวนี้ชัดเจนบนใบหน้า มีขนาดเท่ากันและอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน จึงจะทำให้ใบหน้าดูเด่นสะดุดตา ส่วนควายที่งามรองลงมา และควายทั่วๆไป จะมีจุดขาวเฉพาะบางตำแหน่ง ขนาดเล็ก และสีขาวไม่ค่อยเด่นชัด ซึ่งควายที่มีจุดขาวบนใบหน้านี้ คำพูดที่เป็นภาษาปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จะเรียกลักษณะนี้ว่า “ตาแต้ม แก้มจ้ำ”

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-26 02:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
1.3 ข้อเท้าขาว ข้อเท้าหรือแข้งจะปรากฏเป็นขนสีขาวตั้งแต่ช่วงข้อต่อจากเล็บขึ้นมาถึงหัวเข่าทั้งขาหน้า และขาหลัง มองดูเหมือนการสวมถุงเท้าสีขาว (ภาพที่ 3 ) โดยจะมีสีดำขีดขวางตรงตำแหน่งข้อกีบ ควายงามมักจะเห็นถุงเท้าสีขาวชัดเจน ทั้งขาหน้าและขาหลัง และมีขนสีดำตรงข้อต่อกีบชัดเจน ส่วนควายควายทั่วๆ ไป มักพบสีขาวของข้อเท้าไม่ชัดเจน โดยเฉพาะควายลูกผสมที่มีสายเลือดของควายนมหรือควายมูร่าห์ สีขนบริเวณของข้อขานี้จะออกเป็นสีเทาอมดำ แตกต่างกับควายไทยอย่างชัดเจน (ปราชญ์: นครพนม)

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-26 02:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
1.4 ขั้วอัณฑะและปลายลึงค์ของควายเพศผู้ ลักษณะประจำพันธุ์ของควายไทยจะมีขั้วอัณฑะสั้นเกือบติดท้อง ไม่คอดกิ่วมาก และปลายลึงค์จะหย่อนเล็กน้อย (ภาพที่ 4) แตกต่างกับควายมูร่าห์หรือควายลูกผสม ทำให้สามารถจำแนกความแตกต่างควายไทยกับควายลูกผสมได้ซึ่งถ้าเห็นขั้วอัณฑะหย่อนยาน และปลายลึงค์หย่อนยานมากเหมือนลึงค์ของโคพันธุ์บราห์มัน ประกอบกับมีขนยาว สีของขนและหนังสีดำสนิทแล้ว แสดงว่าเป็นควายลูกผสม ที่มีสายเลือดควายมูร่าห์หรือควายแม่น้ำผสมอยู่ไม่มากก็น้อย

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-26 02:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
1.5 สีหนังและขน ลักษณะสีของควายจะเป็นสีผสมของหนังและขน และเนื่องจากควายไทยโดยปกติขนไม่ดกหนามาก เหมือนควายพันธุ์นมหรือควายมูราห์ สีที่เห็นจึงเป็นสีของหนังเป็นส่วนใหญ่ โดยสีของควายอาจแตกต่างกันได้ จากแหล่งน้ำที่เลี้ยง สีของดินที่ควายทำปลัก ความสมบูรณ์ร่างกาย รวมถึงช่วงอายุต่างฯ สีขนของควายไทย ตอนอายุยังน้อยส่วนใหญ่จะเป็นสีเทาขาว หรือเทาทอง และเมื่ออายุมากขึ้นส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มขึ้น สีเทาหรือสีเลา หรือเป็นสีเทาแดง(สีเปลือกเมล็ดมะขาม) สีของควายที่นิยมว่าเป็นควายงาม สำหรับแม่พันธุ์ จะมีสีเทาถึงเทาดำ ไม่ดำเข้มเท่าเพศผู้ ส่วนพ่อพันธุ์ จะมีสีเทาแดง หรือเทาดำ สีขนจะเป็นสีดำ หรือแดงเหมือนสีของเปลือกเมล็ดมะขาม และปราชญ์ให้ความเห็นว่าถ้าพบควายที่มีหนังและขนสีดำเข้ม และขนดกยาวกว่าควายทั่วไป แสดงว่าอาจมีสายเลือดควายมูร่าห์ผสมอยู่

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-26 02:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
2. ลักษณะที่เป็นองค์ประกอบปลีกย่อยที่ดีของควายไทยด้านอื่นๆ เป็นการดูในรายละเอียดลักษณะอวัยวะส่วนต่างๆ ของควาย โดยอันดับแรกจะเป็นการดูลักษณะทั่วไปซึ่งเป็นองค์ประกอบของร่างกายภายนอกที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล และลำดับต่อมาจะดูรายละเอียดของอวัยวะแต่ละส่วน โดยแบ่งเป็นส่วนใบหน้า ร่างกายส่วนหน้า ส่วนลำตัว ส่วนท้าย และอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ เพศเมียตามลำดับ ดังนี้
2.1 ลักษณะทั่วไปๆ เป็นการมององค์ประกอบโครงสร้างร่างกายภายนอกโดยรวม ซึ่งรวมถึงการสังเกตอุปนิสัยและอารมณ์ด้วยได้แก่
1) ลักษณะรูปร่างโดยรวม จะต้องมองดูสมส่วน เรียกว่าเต็มหน้า เต็มหลัง เมื่อมองด้านข้างจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลำตัวมีความลึก มีความจุของท้องมาก สวาบแคบ
2) ขนาดและน้ำหนักตัว ควายเพศผู้ต้องมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ทำเป็นพ่อพันธุ์ เพื่อให้ลูกที่ดี ลูกโตเร็ว ส่วนใหญ่เห็นว่าควายที่จะใช้ทำพ่อพันธุ์ได้ต้องมีน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ไม่ตำกว่า 800 กิโลกรัม ส่วนแม่พันธุ์ น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ควรไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-26 02:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
3) ลักษณะท่าทาง จำแนกเป็น
(1) ท่าทางการเดิน ควายงามจะเดินคล่องแคล่วแต่มี
ความนุ่มนวล ต้องเดินสง่า หน้ายก อกลอย การเดินไม่ก้มหัว เวลาเดินข้อขาหลังไม่ขวิดกัน ขาหลังไม่กระตุกหรือ ไม่เป็นขาทก ช่วงก้าวเดินรอยเท้าหลังเลยรอยเท้าหน้าเล็กน้อยไม่เดินรับรอยเท้าหน้า
(2) ท่าทางการยืน ท่าทางการยืนต้องสง่างาม หน้ายกหรือหัวเชิด อกตั้งส่วนท้ายยกกว่าส่วนหน้าเล็กน้อย (ในควายที่อายุน้อยส่วนท้ายจะสูงกว่าส่วนหัวเสมอ) ยืนขาตรง ขาหน้าชิด ขาหลังไม่เก หรือไม่งอ

4) นิสัยและอารมณ์ ควายงาม ต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่ตื่นตกใจง่าย ต้องมีความเชื่อง แต่ไม่ใช่ลักษณะเชื่องซึม ท่าทางฉลาดเป็นมิตรกับคนและควายตัวอื่นๆ และเชื่อฟังคำสั่งผู้ที่เป็นเจ้าของหรือคนเลี้ยง
5) ขน มีความยาวปานกลาง ไม่ยาวเกินไป ขนเส้นใหญ่พอดี ไม่มากเกินไป ส่วนสีของขนได้กล่าวมาแล้ว โดยถ้าเป็นควายที่ขนยาว เส้นอ่อน จะเป็นควายที่ไม่ทนแดด ร้อนง่าย ไม่อดทน เลี้ยงยาก และยังมีความเชื่อว่าควายขนสั้น ขนห่าง จะโตเร็ว เลี้ยงง่ายกว่า
6) หนัง ควายงามต้องหนังหนา หนังเป็นมันไม่แห้ง ไม่ตึงมาก จะช่วยขยับไล่แมลงได้ ส่วนควายที่มีลักษณะหนังบาง หนังจะแห้งแตกเป็นขุยง่าย จึงไม่เป็นที่นิยม

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-26 02:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
2.2 ส่วนใบหน้า หัว และคอ ส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน ถ้าโครงสร้างร่างกายมีความสมส่วน สมบูรณ์ดี แต่หน้าตา หัวและเขา ไม่เป็นไปตามลักษณะที่ปราชญ์ชาวบ้านเห็นว่างาม ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นควายงาม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) ลักษณะสัณฐานของใบหน้า ควายงามต้องหน้ายาวปานกลาง กลมกลืนกับกรามที่ดูแข็งแรง หนังหน้าต้องบางเห็นเส้นเลือดชัด หน้าผากกว้างปานกลาง สันจมูกเต็มแต่ไม่โด่งมาก ซึ่งถ้าหน้าโหนก กะโหลกหัวโตหนาหรือนูนมาก ประกอบกับมีขนสีดำ เส้นใหญ่หนาและขนมาก มีความเชื่อว่ามีเลือดควายมูร่าห์ผสม
2) จมูก ปลายจมูกหนา สีดำสนิท มองตรงๆ เกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส สันจมูกเต็ม ไม่แอ่น จมูกชุ่มชื้นอยู่เสมอ จมูกไม่บาน รูจมูกไม่ใหญ่มาก
3) ปาก ปากใหญ่กว้าง ปากเสมอ ไม่เป็นปากนกแก้ว กรามล่างแข็งแรง ถ้าขนปากล่างเกลี้ยงเกลา แสดงว่ากินหญ้าเก่งหรือกินหญ้าดี

4) ตา สัณฐานของตาเป็นรูปวงกลม หรือวงรี ดวงตาใหญ่ นูนเด่น แจ่มใส กลมโต นัยน์ตาสดใส แววตามีความเป็นมิตร ลูกตา เรียก”ตาจอมไข่” คือลักษณะเหมือนไข่เป็ดต้มสุกแล้วตัดครึ่ง และเชื่อว่าควายที่ดวงตาสดใส จะเลี้ยงเชื่อง ฝึกหัดง่าย โดยลักษณะของตา มีความเห็นแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละพื้นที่ แต่โดยรวมสัณฐานของตา ที่เรียกว่าตางามนั้น เพื่อให้เห็นภาพ ปราชญ์จึงเปรียบเทียบลักษณะตาควายกับตาของสัตว์ชนิดต่างๆ ดังนี้

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-26 02:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนใหญ่ปราชญ์ชาวบ้านเห็นว่า ลักษณะตาควายที่ถือว่างามน่าจะเป็นตาเหยี่ยว และตานกเป็ดน้ำ ตามด้วยตากิ้งก่าตามลำดับ ส่วนตาที่ไม่นิยมเพราะเชื่อว่าจะเป็นควายที่นิสัยไม่เชื่อง ฝึกหัดยาก คือตาหนู กับตาปลาดุก
5) หู ใบหูมีขนาดกะทัดรัด ดำเป็นมัน ขนาดเท่ากันทั้งสองข้าง เหง้าหูรัดหรือเหง้าหูกำ ใบหูเรียวเล็ก ไม่ใหญ่เกินไป แต่ไม่สั้นมาก ขนด้านในของหูมีสีขาวชัดเจน
6) เขา โคนเขาใหญ่ มองด้านข้างเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียวขึ้นไปด้านปลายเขา เขาเกลี้ยงเกลา ผิวเขาเป็นมัน มีขนาดเท่ากันทั้ง 2 ข้าง เขาต้องรับกับใบหน้า ลักษณะวงเขาที่ถือว่าเป็นควายงาม จำแนกได้หลายแบบ ตามทัศนะของปราชญ์ ดังนี้

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-26 02:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
7) คอ ใหญ่หนาบึกบึน สั้น แต่สมส่วนกับหัวและไหล่ คอด้านใต้ยาวกว่าด้านบน คอต้องอวบใหญ่หนา เรียกคอสองปล้องหรือสองชั้น ไม่นิยมควายคอเล็กบาง
ฟัน ถือว่าเป็นส่วนหน้า นิยมควายฟันสีขาว เรียงกันสวยงาม ฟันที่ห่าง และควายฟันหลอ ถือว่าเป็นลักษณะที่ไม่ดี ส่วนควายที่ฟันสีขาวเชื่อว่าจะเลี้ยงง่าย กินหญ้าเก่ง
2.3 ลักษณะส่วนหน้า
1) ไหล่ ไหล่ต้องเต็มหนา และสูงเล็กน้อย อีสานเรียกไหล่แตก (เต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ)
2) หน้าอก ต้องเต็มใหญ่ เรียกอกลูกมะพร้าว มองดูผึ่งผาย เหมือนอกเป็ด ปราชญ์ภาคอีสานเรียกว่าอกลอย และ ช่วงลำตัวกับขาหน้า (ช่วงอก) และช่วงลำตัวกับขาหลัง (บั้นเอว) ต้องไม่คอดกิ่ว (ไม่รัด)
3) ขาหน้า แข้งขาใหญ่ตรง ขาไม่เก หรือไม่ขาถ่าง กระดูกขาต้องใหญ่ จึงจะโตดีมองจากด้านข้าง และด้านหลัง ต้องตรง
4) เล็บหรือกีบ ต้องใหญ่กลมโต แข็งแรง กางออกได้สัดส่วน ปลายเล็บแนบชิดไม่เกยกัน ลักษณะเล็บกลมมน ถ้าขนาดใหญ่เรียกเล็บกะลามะพร้าว ถ้าเล็กลงมาเรียกกีบม้า เล็บทั้งสองข้างมีขอบเสมอกัน ระยะไม่ห่างมาก เวลายืนเล็บตั้ง (ขึ้นโคน) ควายตีนเป็ด คือข้อกีบพับ จะรับน้ำหนักได้น้อย และมักเจ็บกีบ
5) ตุ่มเท้าหรือนิ้วติ่ง อีสานเรียกเล็บน้อย ตรงงามไม่ คดงอ ชี้เอนเข้าหาเล็บใหญ่เล็กน้อย

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้