ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2039
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

คำสอน ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

[คัดลอกลิงก์]
อย่าส่งจิตออกนอกไปเสวยอารมณ์
คิดเท่าไรๆก็ไม่รู้   ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้   แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้
เกี่ยวกับนิมิต "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง  แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"  
"ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งใน ขันธ์๕,  แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท, หยุดการปรุงแต่ง,  หยุดการแสวงหา,  หยุดกริยาจิต  มันก็จบแค่นี้  เหลือแต่  บริสุทธิ์  สะอาด  สว่าง ว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล"  
"เวทนากับร่างกายนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติของมัน   แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย"   
เมื่อถึงปรมัตถ์แล้วไม่ต้องการ
     .........มีผู้กราบเรียนหลวงปู่ว่า  หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลาได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้  คงจะได้บุญได้กุศลอย่างใหญ่โตทีเดียว ฯ.
     หลวงปู่กล่าวว่า
     "ที่เราสร้างนี่ก็สร้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  ประโยชน์สำหรับโลก  สำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้น
     ถ้าพูดถึงเอาบุญ  เราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้"   
"การฝึกจิต การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดที่สุด"  
มีผู้เรียนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า "ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม?"
    หลวงปู่ตอบสั้นๆว่า "มี  แต่ไม่เอา"   
อีกครั้งหนึ่ง มีผู้เรียนถามหลวงปู่เรื่องการละกิเลส "หลวงปู่ครับทําอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้"
    หลวงปู่ตอบว่า
    "ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก  มีแต่รู้ทัน...
    เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง."   
อย่างที่พูดในหลักวิชาการเรียนทางศาสนาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา  ที่ว่าศีลทําให้เกิดอบรมสมาธิ  สมาธิอบรมปัญญา ฉนั้น พลังจิตที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหลังจากเกิดสมาธินั้น หมายถึงว่า จิตนั้นจะยกสภาวะธรรมขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรองให้เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดปัญญาแล้ว ปัญญานั้นก็จะแจ่มแจ้งดีกว่าจิตที่ไม่เกิดสมาธิ หรือจิตที่ไม่มีสมาธ   
มีผู้กราบเรียนถามหลวงปู่เรื่องการไว้ทุกข์
     หลวงปู่ตอบว่า "ทุกข์ ต้องกําหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย  ไปไว้มันทําไม"  
มีผู้อวดอ้างของวิเศษจากสัตว์ต่างๆนาๆ แล้วเรียนถามหลวงปู่ว่าอันไหนวิเศษกว่ากัน หลวงปู่ตอบว่า
    "ไม่มีดี  ไม่มีวิเศษอะไรหรอก  เป็นของสัตว์เดียรัจฉานเหมือนกัน"   
"เมื่อตาเห็นรูปแล้ว รู้ว่าสวยงาม หรือน่ารังเกียจอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้
    เมื่อหูได้ยินเสียง รู้ว่าไพเราะ หรือน่ารําคาญอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้
    เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส รู้ว่าอร่อย หรือไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้
    เมื่อจมูกได้กลิ่น หอมหรือเหม็นอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้
    เมื่อกายสัมผัสโผฎฐัพพะ รู้ว่าอ่อนแข็งเป็นอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้"   
หลักธรรมที่หลวงปู่ใช้พิจารณาคือ "สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา" ซึ่งมีคําขยายความในหนังสือหน้า๔๔ ดังนี้  "เมื่อสังขารขันธ์ดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป สภาพแห่งการเป็นตัวตนไม่มี ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร"   
มีผู้เรียนถามหลวงปู่  "พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ"
    ท่านตอบว่า "การหลับแล้วเกิดฝัน เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ไม่ใช่หรือ"   
"เรื่องพิธีกรรม หรือบุญกริยาวัตถุต่างๆทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่   หากแต่ว่าสําหรับนักปฏิบัติแล้ว อาจถือ ได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง.  
หลวงปู่อาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีผู้เข้าเยี่ยมแล้วเรียนถามหลวงปู่
    "หลวงปู่ยังมีเวทนาอยู่หรือ" หลวงปู่ตอบว่า "เวทนากับร่างกาย มีอยู่ตามธรรมชาติของมัน แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย"   
  
เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น, อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง, อย่าไปเอออวยเห็นดีเห็นงามให้ จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกันเพียงรู้อารมณ์เท่านี้เอง หยุดกันเพียงเท่านี้"  
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-24 13:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จิตปรุงกิเลส คือ การที่จิตบังคับให้กาย วาจา ใจ กระทําสิ่งภายนอก ให้มี ให้เป็น ให้เลว ให้เกิดวิบากได้ แล้วยึดติดอยู่ว่า นั่นเป็นตัว นั่นเป็นตน ของเรา ของเขา,  กิเลสปรุงจิต คือการที่สิ่งภายนอกเข้ามาทําให้จิตเป็นไปตามอํานาจของมัน แล้วยึดว่ามีตัว มีตนอยู่  สําคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่รํ่าไป     
.......แท้จริงแล้วความทุกข์ร้อนวุ่นวายใจ มักเกิดจากสิ่งภายในใจเราทั้งสิ้น คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน มันก่อขึ้นภายในใจ จนต้องดิ้นรนอย่างน่าเวทนายิ่ง  
มีไฟไหม้ใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์ ผลคือความทุกข์ยากสูญเสีย บางคนเสียใจจนเสียสติ บางรายก็มาลําเลิกให้หลวงปู่ฟังว่า อุตส่าห์ทําบุญเข้าวัด ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ทําไมบุญกุศลจึงไม่ช่วยคุ้มครอง และหลายรายเลิกเข้าวัดทําบุญ เพราะธรรมะไม่ช่วยให้เขาพ้นจากไฟไหม้
หลวงปู่ได้กล่าวว่า"ไฟมันทําตามหน้าที่ของมัน  ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น หมายความว่า ความอันตรธาน ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน สิ่งเหล่านี้มันมีประจําโลกอยู่แล้ว ทีนี้ผู้มีธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะเมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น."   
ส่วนผู้ที่ประสบภัยพิบัติ หรือผู้ที่ตกในสภาวะอับจน ก็ไม่ควรหมดอาลัยตายอยากควรทําจิตใจให้สงบระงับตั้งมั่นอยู่ ก็จะค่อยๆหาทางออกให้แก่ตนได้ เพราะปัญหาทุกอย่างที่ไม่มีทางออกทางแก้ย่อมไม่มีในโลก ดูเอาเถอะว่า แม้แต่ปัญหาเรื่องความทุกข์ อันเกิดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระพุทธองค์ก็ยังหาคําตอบไว้ให้ได้ สําหรับปัญหาอื่นๆ อันเล็กน้อยจะไม่มีคําตอบได้อย่างไร   
ในทางปฏิบัติที่ว่า ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ โดยให้ใจอยู่กับใจนี้ ก็คือให้มีสติกํากับใจให้เป็นสติถาวร ไม่ใช่เป็นสติคล้ายๆ หลอดไฟที่จวนจะขาด เดี๋ยวก็สว่างวาบ เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็สว่าง  แต่ให้มันสว่างติดต่อกันไปตลอดเวลา   เมื่อสติมันติดต่อกันไปอย่างนี้แล้ว   ใจมันก็มีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา"  ตัวรู้ก็คือ "สติ" นั่นเอง หรือจะเรียกว่า "พุทโธ" ก็ได้   พุทโธที่ว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ก็คือตัวสตนั่นแหละ
มีผู้ไปกราบเรียนกับหลวงปู่เรื่องงานที่มีการจัดกันบ่อยๆใกล้วัดว่ารบกวนการปฏิบัติ ท่านได้ตอบดังนี้"มัวสนใจอะไรกับสิ่งเหล่านั้น  ธรรมดาแสงย่อมสว่าง  ธรรมดาเสียงย่อมดัง  หน้าที่ของมันเป็นเช่นนั้นเอง  เราไม่ใส่ใจฟังเสียก็หมดเรื่อง  จงทําตัวเราไม่ให้เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม  เพราะมันมีอยู่อย่างนี้  เป็นอยู่อย่างนี้เอง เพียงแต่ทําความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งเท่านั้นเอง"   
"คําสอนทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั่น  เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง  คําสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลสมีมากมาย  แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว พระนิพพาน  การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก  หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราจักหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้  แล้วเราจะหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน  เพื่อที่จะพบธรรมอันเดียวกันนี้ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้พ้นทุกข์เสีย  มิฉนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป  เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงําปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน"
มีผู้ไปกราบเรียนหลวงปู่เรื่องสมาธิว่าปฏิบัติได้ดีอย่างยิ่ง  เหลือแต่ความสุข สุขอย่างยิ่ง เย็นสบาย แม้จะให้อยู่อย่างนี้นานเท่าไรก็ได้
    หลวงปู่ยิ้มแล้วพูด
    "เออ ก็ดีแล้วที่ได้ผล  พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ  จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบมิได้  แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น  มันก็ได้แค่นั้นแหละยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรค ที่จะตัด ภพ ชาติ ตัณหา อุปาทาน  ให้ละสุขนั้นเสียก่อน  แล้วพิจารณาขันธ์๕ให้แจ่มแจ้งต่อไป"   
มีผู้เรียนถามถึงเรื่องหยุดคิด หยุดนึก
    หลวงปู่บอกว่า
    "ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว  เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก  ก็กลับไปคิดที่จะหยุดคิดนั่นเสียอีกเล่า  แล้วอาการหยุดจักอุบัติขึ้นได้อย่างไร  จงกําจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิดหยุดนึกเสียให้สิ้นเลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง" (น. ๔๘๘)
"พระธรรมทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น  ออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหมด  ทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิต อยากรู้อะไรค้นได้ที่จิต
"การปฏิบัติ  ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสํารวม  เพื่อความละ  เพื่อคลายความกําหนัดยินดี  เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าเพื่อจะเห็นทั้งนั้น  ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆไม่ต้องอยากเห็นอะไร  เพราะนิพพานมันเป็นของว่างไม่มีตัวไม่มีตน  หาที่ตั้งไม่มี  หาที่เปรียบไม่ได้  ปฏิบัติไปจึงรู้เอง"     
"........การฟังจากคนอื่น  การค้นคว้าจากตํารานั้น  ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้  ต้องเพียรปฏิบัติทําวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปโดยสิ้นเชิง"    
มีผู้อยากฟังความคิดความเห็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของหลวงปู่ และยกบุคคลมาอ้างว่าท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้ระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติ
    หลวงปู่ว่า
    "เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้  แค่อุปจารสมาธิก็เป็นไปได้แล้วทุกอย่างมันออกไปจากจิตทั้งหมด  อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลที่ได้ก็คือ ทําให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตํ่า แล้วก็ตั้งใจทําดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตัว,  ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทําลาย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้น อีกอย่างหนึ่งต่างหาก"     (น.๔๙๙)
"ถึงจิตไม่สงบก็ไม่ควรปล่อยให้มันออกไปไกล  ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้  ดูให้เห็น  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา หาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็เกิดความสลดสังเวช เกิดนิพพิทา ความหน่าย คลายกําหนัด ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน"   
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-24 13:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สิ่งที่อยู่เหนือคำพูด
         อุบาสกผู้คงแก่เรียนผู้หนึ่ง  สนทนากับหลวงปู่ว่า  "กระผมเชื่อว่า  แม้ในปัจจุบันพระผู้ปฏิบัติถึงขั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็คงมีอยู่ไม่น้อย  เหตุใดท่านเหล่านั้นจึงไม่แสดงตนให้ปรากฎ  เพื่อให้ผู้สนใจปฏิบัติทราบว่าท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นแล้ว  เขาจะได้มีกำลังใจและความหวัง  เพื่อเป็นพลังเร่งความเพียรในทางปฏิบัติให้เต็มที่" ฯ
         หลวงปู่กล่าวว่า
         "ผู้ที่เขาตรัสรู้แล้ว  เขาไม่พูดว่าเขารู้แล้วซึ่งอะไร  เพราะสิ่งนั้นมันอยู่เหนือคำพูดทั้งหมด"
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-3-24 13:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พุทโธเป็นอย่างไร
         หลวงปู่รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๑  ในช่วงสนทนาธรรม  ญาติโยมสงสัยว่าพุทโธ เป็นอย่างไร หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า
         เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก  ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด  ความรู้ที่เราเรียนกับตำหรับตำรา   หรือจากครูบาอาจารย์  อย่าเอามายุ่งเลย  ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้  รู้จากจิตของเรานั่นแหละ  จิตของเราสงบเราจะรู้เอง  ต้องภาวนาให้มากๆเข้า  เวลามันจะเป็น  จะเป็นของมันเอง  ความรู้อะไรๆให้มันออกมาจากจิตของเรา
         ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกมาจากจิตนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ
         ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว  อย่าส่งจิตออกนอก  ให้จิตอยู่ในจิต  แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง  ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ  พุทโธอยู่นั่นแหละ  แล้วพุทโธ  เราจะได้รู้จักว่า พุทโธ  นั้นเป็นอย่างไร  แล้วรู้เอง...เท่านั้นแหละ  ไม่มีอะไรมากมาย.

http://www.nkgen.com/pudule.htm
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้