ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 11044
ตอบกลับ: 37
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงพ่อจง พุทฺธสโร วัดหน้าต่างนอก ~

[คัดลอกลิงก์]

หลวงพ่อจง  พุทฺธสโร เทพเจ้าแห่งคาามเมตตา วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา

ชาติกำเนิด

หลวงพ่อจง พุทฺธสโร ท่านได้ถือกำเนิดที่ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในต้นสมัยรัชการที่ 5 ของราชวงศ์จักรี ท่านเกิดในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 ปีวอก ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2415
นามเดิมของท่านชื่อว่า "จง" ในสมัยนั้นยังไม่มีการใช้นามสกุล เลยยังไม่มีนานสกุลพ่วงท้ายชื่อ เป็นบุตรชายคนโตของ "นายยอด" และ "นางขลิบ" ที่มีอาชีพเป็นชาวนา หลวงพ่อจงท่านมีน้องร่วมอุทรณ์เดียวกันอีก 2 คน คือ "นายนิล" หรือ "พระอธิการนิล" และ "นางปลิก"

         1. เด็กชายจง  ต่อมาคือ  หลวงพ่อจง  พุทฺธสโร  เป็นบุตรคนโต
         2. เด็กชายนิล  เป็นคนรอง  ต่อมาคือพระอธิการนิล  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน
         3.  เด็กหญิงปลิก  เป็นน้องคนเล็ก และเป็นผู้หญิงคนเดียว

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-17 08:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เข้าสู่ร่มกาสาวกพัสตร์

                  จวบจนกระทั่งอายุของหลวงพ่อจงอายุได้ 12 ปี บิดามารดาของท่านเห็นถึงอุปนิสัยของท่านว่ามีความชอบวัด ติดวัด จึงนำเข้าบรรพชาเป็นสามเณรซะเลย ณ วัดหน้าต่างใน และก็ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่าเมื่อท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่รุมเร้ามานานแรมปี ไม่ว่าจะเป็นโรคพยาธิ ที่ทำให้กิดอาการผอมโซ เซื่องซึม หูอื้อ นัยน์ตาฝ้าฟาง ก็ได้หายไปจนหมดสิ้น ท่านกลับกลายเป็นผู้ที่มีสุขภาพพลานามัยดีมาก และท่านก็มีความสุขในสมณเพศนั้น ดุดดั่งเป็นนิมิตรหมายให้รู้ว่า หลวงพ่อจงจะต้องครองเพศอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปจนชีวิตจะหาไม่ สมดังพุทธอุทานที่ว่า....สาธุ โข ปพพฺชชา...การบรรพชายังประโยชน์ให้สำเร็จ

ดังนั้น  เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435  โยมบิดามารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ได้เป็นพระภิกษุต่อไป  ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างในที่พำนักอยู่ โดยมี พระอุปัชฌาย์สุ่น (หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ)  เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารโพธิ์  เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน  เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         จากพิธีอุปสมบทในครั้งนั้น  พระภิกษุจงได้รับสมญานามตามเพศภาวะว่า "พุทฺธสโรภิกขุ"  และพำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย  ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ ที่พระภิกษุพึงจะต้องเรียนรู้เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ณ วัดหน้าต่างในนั่นเอง
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-17 08:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เรียนวิชาอาคม

        ชีวิตของหลวงพ่อจง  หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว ศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมสิกขา พร้อมด้วยฝึกฝนในอักษรสมัยทั้งขอมและไทย จากพระอาจารย์เจ้าอาวาสจนมีความรู้ปราดเปรื่องชำนาญ จนใคร ๆ ก็อดสงสัยมิได้ว่า เอ๊ะ ทำไมหลวงพ่อจง มิยังงมโข่งหรืออุ้ยอ้ายอับปัญญาดุจดั่งที่มีบุคลิกอันอ่อนแอ ส่อสำแดงว่าน่าจะเป็นไปในทางทึบ หรือ อับ
หลวงพ่อจง พลิกความเข้าใจของโยมและวงศ์ญาติให้เป็นการกลับตาลปัตรไปไกลกว่านั้น โดยนอกจากศึกษารู้แจ้งในพระธรรมและภาษาหนังสือจนแตกฉานแล้ว มิช้ามินาน ยังสามารถรับการถ่ายทอดวิทยาการในแขนงว่าด้วยคุณเวทย์วิทยาคมขลัง จากพระอาจารย์โพธิ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ซึ่งท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสไพศาลในยุคนั้น มาได้ขนาดว่าหมดสิ้นพุงความรู้ของพระอาจารย์ และก็มิได้หยุดยั้งแค่นั้น หลวงพ่อจงยังได้พากเพียรแสวงหาความรู้ไม่ขาด รู้ว่าที่ไหนมีพระอาจารย์ดี มีผู้เคารพนับถือมาก ในวิชาหรือเจนบจนในวิทยาการหนึ่งวิทยาการใด ท่านเป็นเสาะแสวงหาหนทางนำตนไปนมัสการน้อมยอมเป็นสานุศิษย์ ศึกษาวิชาอย่างไม่มีท้อถอยไม่มีกลัวความลำบาก ในการต้องบุกป่าฝ่าหนามข้ามทุ่งไกล ๆ ซึ่งสมัยนั้นไปไหนต้องใช้พาหนะเท้าย่ำกันเป็นหลัก

ฝึกกรรมฐาน

ต่อมาจึงได้ไปศึกษาเรียนวิชาปฏิบัติกรรมฐานจากพระอาจารย์หลวงพ่อปั้น เกจิอาจารย์ของวัดพิกุล ซึ่งท่านมีชื่อเสียงกิตติศัพท์โด่งดังมากจนสมญาว่า เป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญญาวาสีผู้ยิ่งใหญ่รูปหนึ่งหมั่นศึกษาและพากเพียรด้วยอิทธิบาทอันแก่กล้าช้านาน จนในที่สุด "ทั่ง" ถูกฝนลงเป็นเข็มสำเร็จ กาลต่อมา หลวงพ่อจงจึงได้รับขนานนามเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเจริญกรรมฐาน ประเภท อสุภปฏิกูล โดยที่ท่านมีบุคลิกภาพเปี่ยมพร้อมสมบูรณ์ สำหรับการปฏิบัติเจริญภาวนา เหมาะสมกับสภาวะนั้นได้ ด้วยปราศจากอารมณ์หวาดหวั่น หวาดไหว เป็นต้น เปี่ยมพร้อมด้วย มีองค์คุณอันเหมาะสมที่เรียกว่า สัปปายะ (สี่) และมี องค์คุณอันเป็นที่ตั้งของความเพียร (ห้า) ที่เรียกว่า ปธานิยังคะ
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-17 08:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมสิกขา และปฏิบัติพระปริยัติธรรมศึกษาพระเวทย์และวิชาการคุณเวทย์วิทยาคม ซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากมีนิสัยส่วนตัวพอใจแล้ว ยังมีเหตุแวดล้อมจากความรู้สึกชมชื่นและศรัทธาของชาวบ้านชาวเมืองสมัยยุคนั้นให้ความนิยมต่อศาสตร์แขนงนี้ ดังจะเห็นจากมีผู้ถวายความเคารพศรัทธาต่อความเป็นพหูสูตร ความยิ่งยงเกรียงไกรในอำนาจฤทธิ์มนต์ขลังของท่านพระครูโพธิ ท่านเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ซึ่งครั้งกระนั้นเป็นต้นสังกัดของหลวงพ่อจงจนล่วงผ่านวันเดือนไปหลายรอบปีนักษัต ตราบจนพระอาจารย์โพธิได้ถึงมรณภาพไปเพราะโรคภัยเบียดเบียนตามอายุขัยของผู้ชราภาพ ประกอบด้วยหลวงพ่อจง เป็นผู้ขึ้นชื่ออยู่ในความรับรู้ของผู้ใกล้ชิด ทั้งใกล้ไกลตลอดมวลหมู่ผู้สนใจเฝ้าสังเกตว่า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการทางเวทย์วิทยาคมมาจากพระอาจารย์โพธิได้อย่างเต็มภาคภูมิ วุฒิที่พระอาจารย์โพธิมีอยู่ แต่นั้นมาบรรดาชาวบ้านก็ให้ความศรัทธาเชื่อมั่นต่อหลวงพ่อจงอย่างท่วมท้น ทำให้ท่านต้องรับภาระหนักในการทำพิธีรดน้ำมนต์ ใช้เวทย์วิทยาคมกระทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ให้ฤกษ์งามยามดี บำบัดเหตุมิดีกาลีร้ายนานาประการ ตามแต่จะมีผู้มาอาราธนานิมนต์ให้โปรดจึงกระทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นเงาตามตัว
ในขบวนการใช้อุบายอันแยบคาย อบรมบ่มจิตให้ได้รับความสงบจนบังเกิดเป็นสมาธิและฌาน (สมถะกัมมัฏฐาน หรือเรียกว่าสมถะกรรมฐาน) กับอาการบอรมจนให้ดวงจิตบังเกิดปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน (กัมมัฏฐาน) หลวงพ่อจงพอใจชอบใช้ฝึกจิตในแนวทางเรียกว่า อศุภะ

อศุภะ ตามความหมายก็คือ หมายความถึง สิ่งอันเป็นซากของวัตถุหรือซากร่างปราศจากชีวิต อันไร้ความน่าดู ปราศจากความสวยงามตงข้ามกลับน่ารังเกียจ น่าเบื่อหน่าย และน่าขยะแขยงสะอิดสะเอียน หลวงพ่อจงพอใจใช้วิธีการ เพ่งอศุภะ เป็นแนวทางอบรมบ่มจิต ก็เพราะได้ความคิดว่า มันเป็นการช่วยให้ตนสามารถมองเห็นชัดด้วยตา และบังเกิดความรู้สึกในใจให้คิดสังเวชอย่างซาบซึ้งถึงความจริงในข้อที่ว่าตนและสรรพสัตว์ เมื่อต้องมีอันต้องตายไปแล้วก็ต้องมีสภาพน่าอเนจอนาถไม่น่าดู ไม่น่ารัก แต่น่าชัง น่ารังเกียจ ทุเรศ อุจาดตา ดังนี้ด้วยกันทั้งนั้นและเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น ซึ่งจากข้อคิดนี้ จะทำให้ดวงจิตแห้งแล้งหดหู่ ปราศจากความร่านยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ปราศจากความหลงงมงาย คิดว่าร่างกายเป็นสิ่งสวยงาม จะได้เป็นเครื่องบรรเทาอัสมิมานะ คือ ความสำคัญผิด เพ้อเห็นไปว่าร่างกายนั้นมันเป็นตัวตนของเขาของเราจริงแท้ ซึ่งความจริงมันมิใช่ ความจริงมันเป็นเพียง อัตตะปราศจากตัวตน เป็นที่รวมอยู่ของธาตุทั้งห้าชั่วครั้งคราว โดยสภาวะปรุงแต่งแวดล้อม ครั้งถึงกาลเวลาก็แตกดับล่วงลับสลายไป ไม่เป็นเขาไม่เป็นเรา ดังนั้น หลงและโลภในรูปรส กลิ่น เสียง
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-17 08:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อจง ชอบเพ่งมองอสุภะ  คือรูปเน่าเปื่อยของศพที่มีผู้เอามามอบให้ และท่านเก็บไว้ในห้องที่จัดไว้พิเศษ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งซ่อนเร้นมิให้ประเจิดประเจ้อต่อความรู้เห็นของผู้อื่น ท่านจะใช้เวลายามปลอดและสงัดผู้คนเข้าห้องพิเศษ  พร้อมด้วยดวงเทียนหรุบหรู่  เข้าไปนั่งเฝ้าเพ่งมองดูรูปศพคนตาย  ไม่เลือกว่าจะเป็นศพขึ้นอืดจนเป็นน้ำเหลืองหยด  จะมีกลิ่นเหม็นหรือเป็นซากศพแห้งเหี่ยวย่น  หน้าตาน่าเกลียดเพียงใด  ท่านก็จะเฝ้าจ้องมองเพ่งดูอย่างจริงจัง  เพ่งมองให้เป็นภาพติดตาจนจำขึ้นใจว่า ศพนั้นท่าทางรูปร่างเป็นอย่งนี้  แห้งเหี่ยวเป็นรอยย่นผิดหน้าตามนุษย์ธรรมดายังงั้นยังงี้  หรือมีน้ำเหลืองหยดเพราะอาการเน่าเปื่อยตรงนั้นตรงนี้ พร้อมกันนั้น  ก็กระทำจิตให้บังเกิดอารมณ์สังเวชว่า รูปกายเกิด เกิดมาแล้วก็ต้องถึงวาระมีอันเป็นเบียดเบียนให้เจ็บป่วย  ถูกทำร้ายหรือบังเกิดอุบัติเหตุเป็นภัยอันตรายถึงตาย  ตายแล้วก็มีอาการน่าอเนจอนาถต่าง ๆ นานา  เป็นเช่นนี้เสมอไป ร่างกายหนอ...ชีวิตหนอ...ต่างล้วนเป็นภาพน่าอนาถ น่าสังเวช น่าชิงชัง น่าเบื่อด้วยกันทั้งนั้น เช่นนี้แล

         เกี่ยวกับการพิจารณาซากอสุภะของหลวงพ่อจงนี้เคยมีผู้สงสัยถามว่า  เมื่อทำดังนี้และปลงอารมณ์ได้ดังนี้แล้ว  จะบังเกิดประโยชน์อะไร หลวงพ่อจงให้คำตอบว่าได้ประโยชน์คือ  ทำให้ไม่หลงไหลรักตัวตนว่าเป็นตัวตนของเขาของเรา  มันเป็นแค่ชีวิตกายที่ก่อสารรูปขึ้นได้ด้วยสภาวะแวดล้อมของธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เข้ารวมตัวกัน  ความคิดเห็นแก่ตนเองเอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่นจะหย่อนหายไปจากสันดานโลภโมโทสัน เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งขัดเกลาสันดานจิตใจให้ผ่องใสสะอาด

         หากมนุษย์อันเป็นตัวสมมุติของกายเกิด ไม่หลงนึกแยกประเภทของกายเกิดว่านั่นเป็นเขา นี่เป็นเรา  ดังนี้แล้ว  การอยู่ร่วมกันในสังคม บ้านเมือง ตลอดทั่วโลกก็จะมีแต่ความสงบสุข ไม่ต้องมีการดิ้นรนจองล้างจองผลาญย่ำยีต่อกัน  นั่นคือคำตอบอันเป็นการไขข้อสงสัยในกรรมฐานที่ท่านพิจารณาอยู่ทุกเมื่อของหลวงพ่อจง
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-17 08:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เป็นเจ้าอาวาส

  
         ในขณะที่พระภิกษุจง ยังคงพำนักอยู่กับผู้เป็นอาจารย์ คือท่านพระอาจารย์โพธิ์ ที่วัดหน้าต่างใน  ซึ่งมีบ้านเป็นครั้งเป็นคราวที่ท่านขออนุญาตจากผู้เป็นพระอาจารย์ ไปเรียนวิชายังสำนักอื่น แต่เมื่อเจนจบหลักสูตร เป็นต้องกลับคืนสู่วัดหน้าต่างในต้นสังกัด ทุกครั้งไป แม้ว่าเวลานั้น ท่นจะยังคงอยู่ในฐานะพระลูกวัดศิษย์เจ้าอาวาสท่านพระอาจารย์โพธิ์  แต่ชีวิตแห่งการบวชเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิตของพระภิกษุจงก็นับได้ว่า เป็นชีวิตที่ได้รับความสำเร็จผลสมความตั้งใจ  เป็นผู้รู้พระปริยัติธรรมตามฐานานุรูป  และการปฏิบัติกรรมฐานทำความเข้าใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อใช้ปฏิบัติจิตให้บังเกิดความสงบสุขและบรรลุเข้าสู่วิถีแห่งความพ้นทุกข์  ตลอดจนเป็นผู้รอบรู้เจนจบในทางเวทย์วิทยาคม  ซึ่งมีพระอาจารย์โพธิ์เป็นปฐมพระอาจารย์ประสาทวิชาให้

         วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา  นอกจากจะยังประโยชน์ให้บังเกิดเป็นความสุขสงบเย็นเฉพาะตนแล้ว  ยังสามารถใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่นตามควรแก่ฐานานุรูป  ตามด้วยความเหมาะควรแก่กาละเทศะต่อปวงชนทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจด้วย

         ด้วยภูมิธรรมความรู้ อันเกิดจากความวิริยะพากเพียรที่หนุนเนื่องด้วยบุญบารมีเดิม  จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมปวงชนทั้งหลาย  ซึ่งนับวันก็แต่จะมีจิตศรัทธาเลื่อมใสมากยิ่ง ๆ ขึ้น  ฉะนั้น ต่อมาเมื่อหลวงพ่ออินทร์สิ้นบุญในอันที่จะครองเพศเป็นภิกษุ  ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกได้ต่อไป  ทำให้หน้าที่การดูแลวัดปกครองสงฆ์ของวัดหน้าต่างนอกว่างลง  ซึ่งจำต้องรีบหาและแต่งตั้งเป็นการด่วน

         ในความคิดความเห็นของบรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย  ต่างเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีการนัดแนะมาก่อนว่า  พระภิกษุจง  พุทธัสสโร ศิษย์ของท่านพระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน  เพราะสมกว่าใครอื่นทั้งหมด ด้วยความเห็นนั้น  จึงได้ชักชวนกันไปหาท่านพระอาจารย์โพธิ์เพื่อขอพระภิกษุจงให้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดหน้าต่างนอก  แทนท่านพระอาจารย์อินทร์  พระอาจารโพธิ์ได้รับรู้แล้ว พิจารณาเห็นถึงความเหมาะสมหลาย ๆ ประการ  เริ่มแต่ความศรัทธาของญาติโยมชาวบ้าน  ความเหมาะสมของผู้เป็นศิษย์  จึงเห็นควรตามที่ญาติโยมเขามาขอ เมื่อศรัทธาเรียกร้อง  พระอาจารย์เห็นชอบ  พระภิกษุจงจึงมาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกนับแต่นั้นมา
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-17 08:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อจง ออกธุดงค์


         การปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อจง  มิใช่จำเพาะอยู่แต่ภายในวัดหน้าต่างนอก ที่ท่านรับหน้าที่มาดูแลในฐานะเจ้าอาวาสเท่านั้น  แม้ยามว่างเว้นจากกิจอันเป็นภาระตามหน้าที่ที่ศรัทธาญาติโยมมอบหมายให้  ท่านจะปลีกตัวออกไปหาความสงบสงัดยังสถานวิเวก  ยังป่าเขาลำเนาถ้ำอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะในช่วงออกพรรษา การเดินทางไปฝึกจิตภาวนาของหลวงพ่อจงนั้น มักจะนิยมไปเพียงลำพัง เพราะท่านว่าเป็นการตัดภาระไม่ต้องพะวักพะวงกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ร่วมเดินทาง  แต่ถ้ามีพระเณรประสงค์จะร่วมเดินทางด้วย  ท่านก็มิขัดข้องแต่อย่างใด  และในทุกสถานที่ทุกถิ่นฐานที่ท่านผ่านไป  หากมีสถานที่สำคัญทางศาสนา  ปูชนียวัตถุ  ปูชนียสถานต่าง ๆ ท่านมักจะต้องแวะเข้าไปกราบนมัสการน้อมรำลึกเป็นพุทธสังเวชเสมอ

         ฉะนั้น  ไม่ว่าสถานที่สำคัญใดในประเทศ  จะเป็นรอยพระพุทธบาทก็ดี  พระเจดีย์ธาตุก็ดี  หลวงพ่อจงท่านไปนมัสการมาจนหมดสิ้นแล้วทั้งสิ้น


ไปพม่า


         ภายหลังจากที่ได้เคยเดินทางบุกดงรกชัฏท่องป่า  ข้ามภูเขาและห้วยละหานเหวไปกระทำนมัสการบูชารอยพระพุทธบาท  และเจดีย์สำคัญทุกแห่งในเมืองไทยแล้ว  หลวงพ่อจงได้ยินเขาเล่าว่า  ประเทศพม่ามีเจดีย์สำคัญสูงใหญ่  คือ พระมหาเจดีย์ชะเวดากอง ท่านก็เกิดความกระตือรือร้นใคร่จะได้ไปนมัสการทันที แต่เมื่อปรารภเรื่องนี้ให้ญาติและเพื่อนภิกษุสงฆ์ผู้ใหญ่ฟังแล้ว  ส่วนมากทักท้วงให้ระงับยับยั้งมิอยากให้ไป  ต่างอ้างเหตุผลว่า  หนทางมันไกลนัก  อีกอย่างเป็นเมืองต่างด้าวพูดกันไม่รู้เรื่อง  ประการสำคัญคือ  ถนนหนทางที่จะไปก็ไม่มีเส้นสายแน่นอน  นอกจากจะต้องเดินวกเวี้ยวเลี้ยวลัดและมุดลอดไปตามดงทึบหรือป่าเถาวัลย์ไม้พุ่มไม้เลื้อย นานาชนิด
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-17 08:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ด่านแรก  สำคัญที่สุดคือจะต้องบุกฝ่าไปในพงพญาเย็น ดงพญาไฟ ซึ่งครั้งกระนั้นรกชัฏ  ยามร้อน ร้อนจัด ยามเย็น เย็นยะเยือกและชื้นแฉะ จนได้รับสมญาขนานนามเป็นดงผีห่า ผู้เดินทางผ่านดงยิ่งใหญ่ทั้งสอง ซึ่งมีระยะยาวนับเป็นร้อย ๆ กิโลเมตร  มีสภาพถูกปกคลุมไปด้วยไม้ใหญ่เป็นดงทึบจนมองไม่เห็นแสงแดด  เต็มไปด้วยไม้เลื้อยพัวพันกันเป็นพืดเหมือนแนวกำแพงชั้นแล้วชั้นเล่าไม่มีที่สิ้นสุด  นอกนี้ก็เต็มไปด้วยหินแหลม  หินคม  โขดเขา หุบเหวใหญ่น้อย  เต็มไปด้วยสรรพสัตว์ร้ายทั้งทวิบาท จตุบาท กับอสรพิษสัตว์เลื้อยคลานร้อยแปดพันอย่าง  ซึ่งหากพลั้งเผลอปราศจากระวังพริบตาเดียว ก็เท่ากับเอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่า

         ยิ่งกว่านั้น  ในเรื่องมดหมอหยูกยา  หลวงพ่อจงก็ขาดปราศจากความรู้ ผู้จะเป็นเพื่อนเดินทางไปด้วยก็เช่นกัน  ฉะนั้น  แม้จะรอดจากเขี้ยวเล็บสัตว์จตุบาท ไหนเลยจะรอดจากโรคภัย  โรคเฉพาะจากดงใหญ่มหากาฬพญาเย็นพญาไฟ ซึ่งขึ้นชื่อลือกะฉ่อนว่า เป็นดงผีห่ามหาประลัยไปพ้น เปล่า...ใครจะชักแม่น้ำทั้งห้ากีดกันขัดคออย่างไรไม่เป็นผล  หลวงพ่อจงไม่เถียง ไม่แม้แต่จะหาเหตุผลใดเข้าหักร้างหักข้อแย้ง  เป็นแต่เพียงหัวเราะ หึ หึ ตีหน้าตายเสมือนมิได้แยแสต่อสรรพสิ่งน่าสยดสยองน่ากลัวตามคำบอกเล่าเหล่านั้นแม้แต่น้อยนิด คำพูดของท่าน พูดสั้น ๆ ห้วน ๆ ตามนิสัย  ซึ่งผู้ฟังฟังแล้วรู้สึกได้ทันทีว่า  ลงพูดอย่างงั้นเอาช้างฉุดไว้ก็ฉุดไม่อยู่  ท่านว่า  “ไม่เป็นไรน่า ทั้งฉันก็ศรัทธาอยากไป จริง ๆ ด้วย”

         เมื่อปณิธานมั่นคงไม่เอนเอียง ไม่ทรุดต่ำต่อเหตุผลของใครในใจท่านแน่วแน่เป็นประการฉะนี้  การทักท้วงทัดทาน  มิว่าด้วยเหตุผลน่าหวั่นไหวอย่างใด  ไม่ทำให้ท่านเอนเอียงย่อท้อถอยหลัง หลวงพ่อจงปักหลักเจตนาของท่านไม่มีแคลนคลอน  ตั้งจิตจะไปนมัสการพุทธเจดีย์ชะเวดากอง  ไม่ว่าอยู่พม่าหรือมุมใดของโลกก็ต้องไปให้ถึงจนได้  เพื่อกระทำไตรสรณาคมน์สักการะให้สมศรัทธาซึ่งจงใจใฝ่ฝันไว้
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-17 08:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กลางป่าพญาไฟ


         ดังนั้น เมื่อได้โอกาสที่กำหนด  หลวงพ่อจงท่านก็แต่งบริขารเท่าที่จำเป็น พร้อมด้วยกลดสำหรับกางนอนแบบธุดงค์  ได้ออกเดินจาริกด้วยเท้าเปล่า  โดยลำพังรูปเดียวโดยเดี่ยวเอกา  เดินท่อม ๆ ออกจากอาวาสวัดหน้าต่างนอก  บุกฝ่าไปตามทางน้อยทางลัดมุ่งสู่สระบุรี ที่วัดพระพุทธบาท  ได้พระภิกษุผู้มีจิตศรัทธาติดตามไปอีกสองรูป  จากนั้นเมื่อไปถึงชายแดนลพบุรี ซึ่งเป็นทางออกสู่ดงพญาเย็นพญาไฟ  ก็ได้ภิกษุอีกสองรูปร่วมเดินทางไปด้วย  รวมเป็นห้ารูปทั้งหลวงพ่อจง  และทั้งห้ารูปไม่มีศิษย์แม้แต่สักคนติดตามไปรับใช้ปฏิบัติวัฏฐาก

         เพราะดงพญาเย็นพญาไฟสมัยยุคนั้น  มีอาณาบริเวณซึ่งรกชัฏกว้างไพศาล เป็นอาณาเขตรกทึบ  มืดครึ้มไปด้วยดงไม้ใหญ่สูงชะลูด  เมฆบดบังแสดงอาทิตย์ไม่ให้ส่องต้องพื้นดินใบหญ้า  พื้นแผ่นดินก็ทึบมืดชื้นแฉะเต็มไปด้วยกลิ่นเน่าของใบไม้และดินโคลน หอยทาก งูเล็ก งูใหญ่ ตะขาบ แมงป่อง บรรดาสรรพสัตว์ร้ายยั้วเยี้ย เพ่นพ่านสลับสลอน สภาพภูมิพื้นที่เป็นเช่นนี้  เป็นธรรมดายากจะหาชาวบ้านคนใดไปทนทรมาน  ยกบ้านสร้างกระท่อมอาศัยอยู่  เพราะจะทำมาหากินทางกสิกรรมหรือป่าไม้และอื่นใดในบริเวณย่านนั้นก็ย่อมไม่เป็นผล  จะทำไร่ไถนาหาใส่ท้องก็ยิ่งจะไม่ได้  โดยสภาพปกติที่เป็นเช่นนั้นแล้ว  ใครเล่าจะนำตัวไปอยู่ในท้องถิ่นเปรียบเสมือนนรกได้ลงคอ

         ด้วยเหตุผลประการฉะนี้  ทุกย่างก้าวของระยะทางที่เดินเป็นวัน ๆ  ในท่ามกลางดงพงพีอันสงบสงัด  แต่วังเวงอย่างน่าสยองขน  ต้องระวังเขี้ยวเล็บสรรพจตุบาท ทวิบาท  โรคร้ายนานาชนิดจากพื้นดินแฉะตลอดกาล  ปราศจากชาวบ้านจะเกื้อกูลถวายกระยาหารบิณฑบาตร ตั้งแต่สระบุรีเข้าดงพญาเย็นพญาไฟ  ต้องใช้เวลาถึงสี่วันกว่าจะผ่านไปได้  เพราะหนทางเดินแน่นอนก็คลำหายาก  มันเต็มไปด้วยดงหญ้ากับเถาวัลย์พันรกทึบเปิดทางเดินเล็กแคบ ยิ่งกว่านั้นบางตอนหนทางมันก็ไปผ่านห้วยและหุบเหว  จนมองหรือสังเกตไม่เห็นได้โดยง่าย  ว่าเป็นเส้นทางใช้เดิน  บางตอนก็ไปออกทางเกวียนและริมทางน้ำ  ซึ่งมีรอยตีนเสือ ช้าง หมี รอยใหญ่ ๆ ก่อให้เกิดความหวั่นไหว แม้จะไม่กริ่งกลัวของภิกษุจอมธุดงค์ทั้งห้าไม่น้อย  ซึ่งในการผจญและเผชิญกับการรุกเงียบอย่างโหดเหี้ยมต่อความรู้สึกทางจิตใจเช่นนี้ของธรรมชาติป่าเขา  การเดินทางจึงเป็นไปไม่สะดวก  เต็มไปด้วยความขลุกขลักเป็นอุปสรรค หลงทางบ่อย บางวันต้องหลงป่าหาทางใหม่ให้เข้าสู่เส้นทางที่ชาวบ้านใช้ถึงสี่ครั้งหน้าครั้ง  และบางวันเดิน ๆ ไปแล้วไม่รู้ว่าเป็นเวลาไหน ถึงไหนแล้ว
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-17 08:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ยิ่งกว่านั้น  มีโชคร้ายเข้ามารุกรานจิตใจ  ในตอนสายของวันที่สี่ ท่ามกลางดงพญาไฟตอนจะออกนครราชสีมา  โดยภิกษุผู้ร่วมทางได้อาพาธเป็นไข้ป่าอย่างรุนแรง  แม้จะช่วยกันถวายยาที่มีติดไปเท่าไรก็ไม่หาย  อาการรุนแรงดุเดือดทรุดเสื่อมอย่างรวดเร็ว คณะทั้งสี่ผู้ไม่อาพาธก็ต้องพักผ่อนเฝ้าดูแลอาการ  เพราะมาด้วยกันจะทิ้งไว้เดียวดายนั้นไม่ได้ ที่สุดก็ต้องเสียเวลาอยู่ในป่า  โดยเลือกเอาริมเหวที่มีพื้นที่ราบสูงกว่าแห่งอื่นได้แห่งหนึ่งพำนักพักรักษาสหายภิกษุผู้อาพาธ   จวบจนวันรุ่งขึ้นตอนสายภิกษุรูปนั้นก็มิอาจทนทานพิษไข้  ก็มรณภาพต่างช่วยกันฝังไว้ตามมีตามเกิดแล้ว  บ่ายวันนั้น จึงเดินทางหลุดรอดจากดงพญาเย็นพญาไฟ  ผ่านเขตลพบุรีย่างเข้าเขตนครสวรรค์


ฝ่าดงอสรพิษ


         ที่นครสวรรค์ ได้ภิกษุร่วมเดินทางไปอึกหนึ่งรูป  รวมเพิ่มจำนวนเป็นห้าอีกตามเดิม  แต่ระหวางนครสวรรค์ถึงพิษณุโลกก็ไม่ใช่ว่าเป็นพื้นที่ราบ  เป็นป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ  ไม่เหมือนในดงพญาเย็นดงพญาไฟก็จริง  แต่บางแหล่งก็เต็มไปด้วยอสรพิษร้าย  โดยเฉพาะตอนที่เป็นบึงบรเพ็ดเวลานี้  มีน้ำท่วมเจิ่งและมีบริเวณกว้าง  ตามทางที่เป็นป่าริมน้ำ ซึ่งต้องผ่าน  มีจระเข้นอนกันอยู่ยั้วเยี้ยอยู่ทั้งสองฟากฝั่ง  เหล่างูเห่าและบ้างจงอางเลื้อยเพ่นพ่านไปมา  เมื่อได้ยินฝีเท้าแม้จะเดินกันไปรวดเร็วแผ่วเบา  สัญชาตญาณระวังภัยและมีสันดานดุโดยกำเนิดของมันตามธรรมชาติ  มันต่างชูหัวสูงแผ่พังพานคุกคามภิกษุทั้งห้ารูปอย่างน่าสยดสยอง และดังนั้น  แม้จะมีการระมัดระวังกันเป็นอย่างดี  โดยพระภิกษุทั้งห้าทุกรูป  ไม่มีรูปใดเกรงกลัวมัน  ต่างพยายามหลบหลีกเดินหนีมัน  ไม่มีเวรกรรมพยาบาทโกรธเกลียดมันด้วยประการใด  เจ้างูจงอางตัวหนึ่งซึ่งอาจเป็นคู่เวรจองผลาญมาแต่ครั้งใด กับภิกษุรูปหนึ่งที่มาจากสระบุรี  มันก็ได้มีโอกาสจู่โจมฉกกัดท่าน  กว่าจะพอกยาหาหมอได้ทันก็หมดเวลา  พิษร้ายกำเริบจนทนไม่ได้  ภิกษุรูปนั้นก็ต้องมรณภาพไปอย่างน่าสลดใจ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้