ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6647
ตอบกลับ: 23
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม


วัดอุดมรัตนาราม
ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร



๏ อัตโนประวัติ

“พระครูบริบาลสังฆกิจ” หรือ “หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม” มีนามเดิมว่า อุ่น วงศ์วันดี เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2452 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา ณ บ้านอากาศ ต.อากาศ อ.วานรนิวาส (ปัจจุบันเป็น อ.อากาศอำนวย) จ.สกลนคร โยมบิดาชื่อ นายอุปละ วงศ์วันดี โยมมารดาชื่อ นางบุดดี วงศ์วันดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 7 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 5 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 7 มีชื่อตามลำดับดังนี้

(1) นางทองมี แก้วพาดี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(2) นางต่อง ใครบุตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(3) นางอ่อนจ้อย ใครบุตร (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(4) นางไกรษร แง่มสุราช (ถึงแก่กรรมแล้ว)
(5) ด.ญ.ปุ้ม วงศ์วันดี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)
(6) ด.ช.เมือก วงศ์วันดี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก)
(7) หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม (มรณภาพแล้ว)

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-6 19:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ชีวิตปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น

ชีวิตในวัยเด็ก ท่านเป็นคนมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ เลี้ยงยาก มักเจ็บป่วยอยู่เสมอๆ จนกระทั่งโยมบิดา-โยมมารดา กลัวว่าจะเลี้ยงไม่โต (คือไม่รอดชีวิต) พอถึงวันพระจะเอาท่านไปนั่งที่หมอน แล้วให้พี่ๆ ที่เป็นผู้หญิงทั้งหมดพากันมากราบ แล้วเอาเท้าของน้องชายลูบศีรษะ ต่อมาภายหลังเมื่อท่านอาพาธเป็นโรคปวดเท้า ท่านเคยปรารภว่า หรือจะเป็นเพราะบาปที่พวกพี่ๆ เคยเอาเท้าของท่านไปลูบศีรษะ

เมื่ออายุได้ 8-9 ปี ท่านเกิดป่วยหนักนอนซมจนโยมบิดา-โยมมารดาคิดว่าคงจะไม่รอดแล้ว จึงเอานวนผ้าฝ้าย (สำลี) มาวางไว้ที่รูจมูกของท่านเพื่อจะดูว่าสำลียังไหวติงอยู่หรือไม่ หากยังไหวติงแสดงว่ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ และต่อมาได้พากันนำท่านไปฝากไว้กับญาครูทุม (พระอธิการทุม) เจ้าอาวาสวัดกลาง (ปัจจุบันชื่อวัดกลางพระแก้ว) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของท่านมากนัก (คนอีสานสมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ เวลาเจ็บป่วยต้องอาศัยพระทำพิธีให้) หลังจากนั้นปรากฏว่า อาการป่วยของท่านหายวันหายคืนจนร่างกายแข็งแรงดังเดิม และได้เริ่มเรียนหนังสือกับญาครูทุม (พระอธิการทุม) ที่วัดกลาง (วัดกลางพระแก้ว) นั้น


๏ การบรรพชา

เมื่อปี พ.ศ. 2462 อายุ 10 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดกลาง ต.อากาศ อ.วานรนิวาส (ปัจจุบันเป็น อ.อากาศอำนวย) จ.สกลนคร โดยมีพระอธิการทุม เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้หัดเรียนอักษรขอม อักษรธรรม พร้อมกับสามเณรแอ่น ครุฑอุทา (ต่อมาได้เป็นพระครูวิรุฬห์ธรรมานุวัตร นามเดิมคือ พระอธิการแอ่น จนฺทสาโร เจ้าคณะอำเภออากาศอำนวย วัดสระแก้วบ้านโคกไม้ล้ม ต.วาใหญ่ อ.อากาศอำนวย ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ตลอดถึงท่องบทสวดมนต์น้อย สวดมนต์กลาง สวดมนต์หลวง หลักคัมภีร์สัททาสังคหะตลอดถึงพระปาฏิโมกข์ จนมีความชำนาญ
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-6 19:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การอุปสมบท

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดกลาง แห่งเดิม โดยมีพระอธิการมี (ญาครูมี) ปญฺญาณสุโต เป็นพระอุปปัชฌาย์, พระครูวิรุฬห์นวกิจ (ผาง ฐิตสทฺโธ) วัดไตรภูมิ บ้านอากาศ เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระอธิการแก้ว วัดทุ่งบ้านอากาศ เป็นพระกรรมวาจารย์

จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอุปัชฌาย์ (ไม่ทราบว่าที่ไหน) จนสามารถสอบนักธรรมตรีได้ แต่ต่อมาได้ลาสิกขา แล้วไปฝากตัวเป็นศิษย์กับ ท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ที่วัดอิสระธรรม บ้านวาใหญ่ ต.วาใหญ่ อ.วานรนิวาส (ปัจจุบันเป็น อ.อากาศอำนวย) จ.สกลนคร


พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)


พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร


พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-6 19:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

ปี พ.ศ. 2473 เมื่ออายุได้ 21 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ อุกกุกเขปสีมา (สิมน้ำ) ที่ท่าบ้านร้างกลางลำน้ำยาม โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชเวที วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ ท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร วัดอิสระธรรม จ.สกลนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อุตฺตโม”

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านมาพำนักจำพรรษากับท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร เพื่อทำการศึกษาแนวทางการปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามแบบอย่างแนวทางของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นเวลา 4 ปี  ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 ได้กราบนมัสการลาพระอาจารย์สีลา มาอยู่กับศึกษากับ ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ต.สามผง อ.ท่าอุเทน (ปัจจุบันเป็น อ.ศรีสงคราม) จ.นครพนม จำพรรษาติดต่อกันถึง 3 ปี

ขณะที่อยู่ที่บ้านสามผงนี้  ท่านได้ศึกษาบาลีไวยกรณ์และแปลธรรมบทด้วย เมื่อถึงฤดูแล้งก็ออกเที่ยวธุดงค์ไปอยู่ที่ภูค้อ เพื่อฝึกหัดอบรมจิตใจตนเองและได้เคยทดลองฉันเจด้วย วันหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยนั้น มีงูใหญ่มานอนขดชูคออยู่ที่หัวทางเดินจงกรมของท่าน เวลาท่านเดินไปถึงหัวทางเดินจงกรม งูนั้นก็จะโน้มหัวลงคล้ายกับเป็นอาการเคารพคารวะ ต่อมาก็เลื้อยหายไป

คราวหนึ่งที่บ้านโยมคนหนึ่ง ที่บ้านสามผงนั้น ได้เกิดมีน้ำไหลซึมออกมาจากมุมเตาไฟ แล้วครอบครัวนั้นเกิดเจ็บป่วยกันทั้งครอบครัว เวลานั้นที่บ้านสามผงมีพระมหานิกายรูปหนึ่งมีคาถาอาคมแก่กล้า โยมคนนั้นจึงนิมนต์พระมหานิกายรูปนี้มาทำพิธี แต่น้ำก็ยังคงไหลซึมอยู่ จึงได้มานิมนต์หลวงปู่ไปสวดแผ่เมตตาให้ ปรากฏว่าน้ำที่เคยไหลซึมได้แห้งหายไป และทุกคนในครอบครัวนั้นก็หายจากการเจ็บป่วย ทำให้พระมหานิกายรูปนั้นกลัวว่าจะมีคนนับถือหลวงปู่มากกว่า และจะทำให้ลาภสักการะของท่านเสื่อมไป

วันหนึ่งหลวงปู่ได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์ 2 ธรรมาสน์กับพระมหานิกายรูปนี้ ปรากฏว่ามีตะขาบตัวใหญ่ไต่เข้ามากัดหลวงปู่ใต้ธรรมาสน์ที่ท่านนั่งอยู่ ทำให้ท่านเป็นลมล้มลง ต้องช่วยกันปฐมพยาบาลกันอยู่นานกว่าจะฟื้นคืนสติ นับแต่นั้นเป็นต้นมาหลวงปู่ท่านจะมีอาการอาพาธปวดเท้า เท้าบวมขึ้นจนถึงปลีน่อง เป็นๆ หายๆ มาจนตลอดชีวิตของท่าน หลวงปู่บอกว่ามันเป็นกรรมเก่าของท่านที่เคยกระทำต่อกันมาก่อนในชาติก่อนๆ ชาตินี้ท่านจะไม่ถือโทษโกรธเคืองพระมหานิกายรูปนี้ จะได้เป็นอโหสิกรรม สิ้นเวรสิ้นกรรมกันเสียที

หลวงปู่ท่านได้ศึกษาอบรมทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระกับท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง จ.นครพนม เป็นเวลานานถึง 3 พรรษา แล้วจึงกราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์เกิ่ง กลับมาพำนักจำพรรษากับท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ที่วัดอิสระธรรม จ.สกลนคร อีกครั้งหนึ่ง
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-6 19:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม


พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-6 19:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ สร้างวัดอุดมรัตนาราม

ต่อมา พ.ศ. 2480 ท่านอยากจะกลับมาจำพรรษาที่บ้านอากาศ ซึ่งเป็นถิ่นมาตุภูมิของท่าน และมีความประสงค์จะสร้างวัดของพระฝ่ายธรรมยุตขึ้นที่บ้านอากาศ เพราะขณะนั้นวัดฝ่ายธรรมยุติยังไม่มี จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์สีลา มาดูสถานที่สำหรับจะสร้างวัด ได้พบสถานที่เงียบสงัดแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านอากาศ อยู่ใกล้ๆ กับลำน้ำยาม (ปัจจุบันอยู่หลังปศุสัตว์อำเภอ) ซึ่งครั้งหนึ่ง ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เคยมาพำนักจำพรรษาอยู่เมื่อปี พ.ศ. 2469

แต่ท่านพิจารณาเห็นว่าไม่เหมาะสมนักเพราะอยู่ใกล้กับทางใหญ่ เป็นที่สัญจรไปมาของผู้คน จึงทำให้ไม่สงบสงัดเท่าที่ควร ท่านจึงเลือกเอาสถานที่แห่งใหม่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสถานที่แห่งเดิม เพราะเห็นว่าสงบสงัดดี ดังนั้น ท่านจึงได้ปรึกษากับคณะศรัทธาญาติโยมบ้านอากาศหลายคน เช่น นายพุทธวงศ์ แก้วพาดี กำนันตำบลอากาศ, นายจารย์เขียว สติยศ, นายเขียว แง่มสุราช แพทย์ประจำตำบลอากาศ เป็นต้น แล้วได้พากันร่วมสร้างวัดขึ้นมา ในครั้งแรกคณะศรัทธาญาติโยมส่วนมากไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าสถานที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านและรกชัฏมาก อีกทั้งเต็มไปด้วยป่าไม้นานาชนิดและยังมีสัตว์ร้ายต่างๆ อีกด้วย เช่น เสือ ฯลฯ แต่ท่านไม่กลัวในเรื่องสัตว์ร้ายนั้น และได้อธิบายให้คณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลายเข้าใจว่า การอยู่ในที่อันสงบสงัดของพระเณรเหมาะแก่การทำความเพียรเพื่อแผดเผากิเลส และทำความหลุดพ้นให้แก่จิตใจตามหลักของพระพุทธศาสนา

เมื่อญาติโยมเข้าใจและยินยอมแล้ว ท่านและพระเณรอีก 3 รูป คือ พระคำพอง ญาณกิตติ (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว อยู่ที่บ้านอากาศ คือ คุณพ่อคำพอง อินธิสิทธิ์), พระคำภา โสภโณ (ลาสิกขาแล้ว) และสามเณรแถว ครุฑอุทา (ลาสิกขาแล้ว) ได้พากันเริ่มต้นสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น โดยหาไม้มาสร้างกุฏิเป็นอันดับแรก ได้กุฏิเก่าจากวัดศรีโพนเมือง บ้านอากาศ 1 หลัง และต่อมาได้สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้ถึง 10 หลัง พระภิกษุสามเณรก็มีมากขึ้น

จากนั้นได้สร้างศาลาโรงธรรมขึ้น 1 หลัง โดยมีนายป้อง วงศ์วันดี เป็นช่างออกแบบแปลนก่อสร้าง และขณะเดียวกันก็สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นอีก เพราะปรากฏว่ามีลูกหลานชาวบ้านอากาศและบ้านอื่นๆ มีความเลื่อมใสศรัทธามาบวชกับท่านเป็นจำนวนมาก

พ.ศ. 2480 ท่านได้ทำหนังสือถึงกรมการศาสนาเพื่อขออนุญาตสร้างวัด และก็ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดได้ โดยตั้งชื่อวัดว่า “อุดมรัตนาราม” เพื่อให้สอดคล้องกับฉายาของท่าน

หลายปีต่อมาพระภิกษุสามเณรมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และญาติโยมที่สนใจในการปฏิบัติธรรมก็มากขึ้น ประกอบกับท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าการสร้างวัดนั้น ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบต้องมีพัทธสีมา จึงได้ประชุมญาติโยมทำหนังสือขอพระราชทานวิสุงคามสีมาเพื่อสร้างอุโบสถ ในปี พ.ศ. 2502 แล้วเสร็จสมบูรณ์และประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2517 ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่ 38 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือ ยาว 7 เส้น 6 วา 2 ศอก จดทุ่งนา, ทิศใต้ ยาว 7 เส้น จดทุ่งนา, ทิศตะวันออก ยาว 6 เส้น 7 วา จดทางสาธารณะประโยชน์, ทิศตะวันตก ยาว 5 เส้น จดฝายน้ำล้น
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-6 19:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ตั้งสำนักเรียนวัดอุดมรัตนาราม

เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่มีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนมาก ได้ส่งเสริมให้กุลบุตรกุลธิดาศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยในทางพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้นำเอาหลักธรรมวินัยที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น ไปประพฤติปฏิบัติอันจะนำประโยชน์มาสู่ตนเองและสังคมต่อไป ดังนั้นท่านจึงขอตั้งสำนักเรียนขึ้นในปี พ.ศ. 2496

ครั้งแรกท่านเป็นครูสอนเอง ทั้งชั้นนักธรรมตรี-โท-เอก ครั้นต่อมาเมื่อมีพระภิกษุสามเณรสอบได้นักธรรมชั้นเอกแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนแทนท่าน ในปีหนึ่งๆ มีพระภิกษุสามเณรสอบธรรมสนามหลวงได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และหลายปีต่อมาก็มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงได้เลื่อนสำนักเรียนขึ้นเป็นสำนักเรียนชั้นโท


๏ งานด้านการศึกษา

พ.ศ. 2474 ได้รับแต่งตั้งเป็นครูปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดโพธิ์ชัย (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) ต.วาใหญ่ อ.วานรนิวาส (ปัจจุบันเป็น อ.อากาศอำนวย) จ.สกลนคร

พ.ศ. 2477 ได้รับแต่งตั้งเป็นครูปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดโพธิ์ชัย ต.สามผง อ.ท่าอุเทน (ปัจจุบันเป็น อ.ศรีสงคราม) จ.นครพนม

พ.ศ. 2496 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าสำนัก ณ สำนักเรียนวัดอุดมรัตนาราม

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-6 19:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ งานด้านการเผยแผ่

พ.ศ. 2507 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตสายที่ 5 ประจำจังหวัดสกลนคร


๏ งานด้านสาธารณูปการ

พ.ศ. 2480 เริ่มสร้างวัดอุดมรัตนาราม และศาลาการเปรียญหลังเก่า สั้นค่าก่อสร้างประมาณ 200,000 บาท

พ.ศ. 2502 เริ่มสร้างอุโบสถ แล้วเสร็จสมบูรณ์และประกอบพิธีผูกพัทธสีมา ในปี พ.ศ. 2517 สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 2,500,000 บาท

พ.ศ. 2519 เริ่มก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2540 สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 1,800,000 บาท

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-6 19:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ งานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ. 2496 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. 2508 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลอากาศ (ธรรมยุต)


๏ สมณศักดิ์ที่ได้รับ

พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่  “พระครูบริบาลสังฆกิจ”


พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-6 19:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป


๏ ปฏิปทาและข้อวัตรปฏิบัติ

นับตั้งแต่วันที่ท่านอุปสมบทเข้ามาในคณะกรรมฐานแล้ว ก็เพียรตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมให้ความยินดีในอกุศลธรรมฝ่ายต่ำเข้าครอบงำ จนเป็นเหตุให้ล่วงละเมิดสิกขาบทน้อยใหญ่ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติกำจัดกิเลส เพื่อมุ่งหวังความหลุดพ้นอย่างแท้จริง อันเป็นผลมาจากการได้รับการอบรมและฝึกฝนทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จากท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

อีกทั้งต่อมาเมื่อ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต กลับจากการไปปฏิบัติธรรมในเขต จ.เชียงใหม่ ที่ยาวนานถึงกว่า 10 ปี มาจำพรรษาในเขต จ.สกลนครแล้ว ท่านได้หาโอกาสไปนมัสการและศึกษาธรรมปฏิบัติจากท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในระยะที่ท่านพระอาจารย์มั่นมาพำนักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ระหว่าง พ.ศ. 2488-2492 ซึ่งต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไปอย่างลำบาก โดยบางครั้งต้องใช้เกวียนเพราะท่านมักอาพาธด้วยเท้าบวม จึงเดินมากไม่ค่อยได้ (ทั้งนี้ในบางครั้งท่านได้พา หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป แห่งวัดป่าประทีปปุญญาราม บ้านเซือม ต.เซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ไปด้วย ซึ่งเวลานั้นหลวงปู่ผ่านพึ่งบวชใหม่เป็นลูกศิษย์อยู่กับท่าน)

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้