ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วันสำคัญ

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันพระเจ้าตากสินมหาราช


โดยทั่วไป ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษ” นั้น นอกเหนือไปจากความเก่งกล้า สามารถในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการรบแล้ว บุคคลผู้นั้นยังต้องเปี่ยมไปด้วยคุณงามความดี และมีคุณธรรมประจำใจ พูดง่ายๆว่าต้องเป็นคน “เก่งและดี” จึงจะได้รับการเคารพยกย่อง และเป็นผู้ที่ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้คนอย่างมิรู้ลืมเลือน

               ในบรรดาพระมหากษัตริย์ของไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบัน พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ได้รับการเทิดทูน และเคารพบูชาจากประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด ไม่เพียงเพราะพระปรีชาสามารถในการรบที่กอบกู้ชาติไทยให้เป็นเอกราช และสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมืองของเราเท่านั้น แต่พระองค์ยังเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีความกตัญญูและเสียสละต่อผืนแผ่นดินไทยอย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมือนเหมือน อีกด้วย

               ตามพระราชประวัติ เราจะทราบได้ว่าทรงมีกำเนิดเป็นเพียงสามัญชน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน กล่าวคือบิดาเป็นจีนชื่อ นายไหฮอง ส่วนมารดาเป็นไทยชื่อ นางนกเอี้ยง ทรงเข้ารับราชการมาแต่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อเนื่องมาจนรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ อันเป็นเวลาที่กรุงศรีอยุธยาได้เสียทีแก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ และพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ รักษาการเจ้าเมืองกำแพงเพชรในขณะนั้น ได้ใช้เวลาเพียง ๗ เดือนกอบกู้เอกราชเป็นผลสำเร็จ และปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔” แต่ประชาชนยังนิยมเรียกพระองค์ในตำแหน่งเดิมว่า“พระเจ้าตากสิน”

                การที่พระเจ้าตากสินมารับราชการงานเมือง ทั้งๆที่บิดาของท่านเป็นพ่อค้า หากจะคิดว่าเป็นเพราะพระองค์หวังให้เป็นเกียรติยศ ชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลแล้ว อย่างน้อยพระองค์ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะทรงสามารถทำความดีความชอบได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมาโดยตลอด แต่หลังจากเสียกรุงแล้ว แม้จะมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่พระองค์ก็ยังคงเป็นสามัญชนคนธรรมดา มิได้มีเชื้อพระวงศ์หรือเกี่ยวข้องอันใดกับพระมหากษัตริย์ เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย เหตุใดพระองค์จึงต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการเพื่อกอบกู้แผ่นดินไทย คงมิใช่เพราะทรงมักใหญ่ใฝ่สูงหรือคิดจะตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์แต่แรก แต่เชื่อว่าด้วยบุคลิก ตลอดจนพระปรีชาสามารถที่โดดเด่น กอปรกับน้ำพระทัยอันห้าวหาญ และความรัก ความกตัญญูต่อแผ่นดินบ้านเกิด จึงทำให้พระองค์ท่านได้รับการยอมรับจากเหล่าอาณาประชาราษฎร์ จนสามารถรวบรวมอาณาจักรได้เป็นปึกแผ่นภายในระยะเวลาเพียง ๓ ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ ๑๕ ปี มิได้ทรงสุขสบายเลย ทรงต้องตรากตรำทำศึกสงครามเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินไทยมาโดยตลอด หากมิได้มีน้ำพระทัยยิ่งใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยความเสียสละแล้ว คงยากที่คนธรรมดาสามัญคนหนึ่งจะทำได้ เพราะไหนจะต้องทำศึกกับคนไทยด้วยกันเอง ไหนจะต้องรบกับพม่า ข้อสำคัญ ยังต้องเหนื่อยยากในการหาเงินทองมาบริหารจัดการฟื้นฟูบ้านเมืองให้คืนสภาพ ด้วย อันที่จริง หากจะศึกษาบุคลิกลักษณะของพระองค์จากพระราชประวัติแล้ว จะเห็นได้ว่าทรงมีคุณลักษณะที่โดดเด่นหลายประการ อาทิ

                ด้านพระปรีชาสามารถ ทรงศึกษาภาษาจีน ญวนและแขก จนสามารถตรัสทั้งสามภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว นอกจากนี้ยังทรงฉลาด รอบรู้ด้านขนบธรรมเนียม และภารกิจต่างๆเป็นอย่างดี จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้ทำงานต่าง พระเนตรพระกรรณ โดยโปรดเกล้าฯให้เป็นมหาดเล็กรายงานราชการทั้งหลายในกระทรวงมหาดไทย กรมวัง และศาลหลวง ครั้นมาสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ยังได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัว เมืองฝ่ายเหนือ ทำความดีความชอบได้เลื่อนเป็นหลวงยกบัตรเมืองตาก ช่วยราชการพระยาตาก และเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ได้เลื่อนเป็นพระยาตากแทน และต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเสียกรุง
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
  ด้านการรบทัพจับศึก เมื่อมังมหานรธา แม่ทัพพม่ายกมาตีปักษ์ใต้ และตีเรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี กรุงศรีอยุธยาก็ได้ส่งพระยาโกษาธิบดีและพระองค์คือพระยาตากในขณะนั้น ไปรักษาเมืองและสามารถตีพม่าจนถอยร่นไปได้ และต่อมาเมื่อพม่ายกมาตีไทยอีก พระยาตากก็ได้มาช่วยรักษาพระนครไว้ได้ (จึงได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ) ครั้นต่อมา เมื่อเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาต้องเสียทีแก่พม่าแน่แล้ว เพราะผู้นำอ่อนแอ ไม่นำพาต่อราชการบ้านเมือง พระองค์จึงตัดสินใจรวบรวบสมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปเพื่อ เตรียมกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ซึ่งพระองค์ก็ได้ใช้เวลาเพียง ๗ เดือนเท่านั้น ก็สามารถประกาศอิสรภาพได้สำเร็จ จากนั้นยังต้องยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ เพื่อรวบรวมอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่น และตลอดรัชสมัยของพระองค์ยังต้องต่อสู้กับพม่าที่จะมาช่วงชิงอาณาจักรคืนอีก ถึง ๙ ครั้งใหญ่ นอกจากนี้ยังได้ทำการรบเพื่อขยายอาณาจักรอีกหลายครั้ง เป็นผลให้ไทยได้ประเทศราชคืนมาหลายแห่งเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น กัมพูชา หลวงพระบาง จำปาศักดิ์และเวียงจันทร์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระองค์เก่งด้านการรบเพียงไร และต้องเป็นนักวางแผนยุทธวิธีที่ดีด้วย จึงสามารถเอาชนะข้าศึกศัตรูได้ตลอดมา

               ด้านความเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด จะเห็นได้จากตอนที่จะบุกตีเมืองจันทบุรี ได้ให้ทหารหุงหาอาหารรับประทานแล้ว มีรับสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงเสีย และมีบัญชาว่าหากเข้าเมืองไม่ได้วันนี้ ก็ต้องอดตายกันหมด ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงช้างนำเข้าชนประตูเมืองจนพังทลาย และบุกเข้ายึดจันทบุรีได้สำเร็จในคืนนั้น หรือแม้แต่ตอนตัดสินพระทัยฝ่าวงล้อมออกมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงฯก็เช่นกัน หากมัวละล้าละลัง ไม่คิดให้เด็ดขาดแล้ว ก็อาจถูกจับเป็นเชลยหรือสิ้นชีพไปแต่ครั้งนั้นแล้ว

               ด้านความกตัญญู แม้พระเจ้าเอกทัศน์จะเป็นผู้นำที่อ่อนแอและเป็นต้นเหตุให้เสียกรุง แต่พระเจ้าตากสินก็เคยรับราชการกับพระเจ้าเอกทัศน์มาก่อน เมื่อพระองค์สามารถขับไล่พม่าและประกาศอิสรภาพได้แล้ว ก็ได้โปรดให้ขุดพระศพสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์หรือพระเจ้าเอกทัศน์มาแห่แหนและทำการถวายพระเพลิงให้

ด้านน้ำพระทัยที่กว้างขวางและเมตตา กล่าวกันว่าพระเจ้าตากสินนั้น แม้จะยกทัพไปปราบปรามหรือตีเมืองใด หากเจ้าเมืองมาสวามิภักดิ์ ก็มักจะแต่งตั้งให้ครองเมืองหรือให้การสนับสนุนส่งเสริม มิได้ทำร้ายหรือเข่นฆ่าให้ตาย ยกเว้นจะแข็งข้อหรือตั้งต้นเป็นศัตรู แต่กระนั้นก็มิได้ทำร้ายไปถึงลูกเมียหรือญาติพี่น้องของผู้นั้น และเมื่อครั้นอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าได้ทำนายทายทักว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือเจ้าพระยาจักรีในขณะนั้นจะได้เป็นพระ มหากษัตริย์ต่อไปในอนาคต หากพระเจ้าตากสินจะไม่เปี่ยมไปด้วยน้ำพระทัยที่หนักแน่นมั่นคงแล้ว ก็อาจจะคิดระแวง หาทางกลั่นแกล้ง หรือกำจัดเจ้าพระยาจักรีเสียตอนนั้นก็ได้ แต่พระองค์ก็มิได้กระทำเช่นนั้น

                ที่กล่าวมาข้างต้น ดูจะเป็นภาคบู๊ของพระองค์ท่าน แต่จริงๆแล้ว ในภาคบุ๋นพระองค์ก็มีพระปรีชาสามารถไม่น้อย ทรงรักกวีนิพนธ์ และแม้จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่แทบจะทรงไม่ว่างเว้นจากการรบ แต่ก็ปรากฏว่าได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ที่ เรียกว่า รามเกียรติ์ ฉบับกรุงธนบุรี ไว้ด้วย ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในการเล่นละครหลวงในงานฉลองต่างๆ

               จากบุคลิกลักษณะบางส่วนของพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยกมานี้ เราคงจะได้เห็นและซาบซึ้งถึงพระปรีชาสามารถ และพระคุณงามความดีต่างๆของพระองค์ท่านชัดเจนยิ่งขึ้น หากไม่มีพระองค์ที่ทรงเสียสละเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินแม่แล้ว เราลูกหลานไทยคงจะไม่มีบ้านเมืองที่สุขสบายดังเช่นทุกวันนี้

               ดังนั้น เนื่องในวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระองค์ท่าน ในวันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปี ที่เรียกว่า “วันพระเจ้าตากสิน” สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ด้วยการไปร่วมวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ หรือจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในวันนี้

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันพระเจ้าตากสินมหาราช-2?category_id=351
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันรัฐธรรมนูญ : วันประวัติศาสตร์ของไทย
คอลัมน์ร้อยเรื่องวันสำคัญฉบับเดือนธันวาคมนี้ นอกจากวันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อปวงชนชาวไทยแล้ว วันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปี ก็นับว่าเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งโปรดกล้าฯ ให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ นับเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับแรก” ให้แก่ปวงชนชาวไทย และพระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เหตุการณ์นั้นนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการปกครองของไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมายาวนานถึง ๗๐๐ กว่าปี (คือ การปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นการปกครองแบบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย คือ เป็นทั้งผู้ออกกฎหมายบริหารบ้านเมือง และตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง ส่วนพวกขุนนาง ข้าราชการ เป็นเพียงกลไกที่ปฏิบัติไปตามพระบรมราชโองการเท่านั้น) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
สาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องมาจาก
๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย
๒. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบด้วยพระองค์ทรง ปลดข้าราชการออกเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ
๓. อิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
๔. รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี ได้แก่ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินจากราษฎร
จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหารและราษฎรทั่วไป จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการปฏิวัติจากคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ประกอบด้วยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ
นอกจากนี้ ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ดังนี้ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล
แม้ว่าลักษณะการปกครองจะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์ยังเป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อกันไปในราชวงศ์ ดังนั้น การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันที่เกิดใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติในการออกกฎหมายต่างๆ เมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงจะมีผลบังคับใช้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม



14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 15:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จนกระทั่งวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการที่ต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นการปกครองแบบระบอบรัฐสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุข ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ หากเห็นว่ามีการดำเนินการที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

และนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ นับเฉพาะฉบับที่สำคัญมี ๑๘ ฉบับด้วยกัน คือ

๑. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐

๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ประกาศและบังคับใช้วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

๗. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒

๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑

๙. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

๑๐. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

๑๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

๑๒. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐

๑๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

๑๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

๑๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

๑๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐

๑๗. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙

๑๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

จากการที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึง ๑๘ ฉบับด้วยกัน ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยมีความอ่อนแอในเรื่องของประชาธิปไตยอย่างมาก เห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เหตุการณ์ในช่วงนั้นประชาชนไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดเรื่องการเมือง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบที่มีความรุนแรงถึงขั้นก่อการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง ทำให้ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นสยามเมืองยิ้มในสายตาชาวต่างประเทศ กลายเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องระมัดระวังตัวเมื่อเดินทางมาประเทศไทย เนื่องจากถูกลดอันดับความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นคงไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอีก

ดังนั้น เนื่องในวันรัฐธรรมนูญที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยด้วยการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เป็นวิถีชีวิต โดยปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองตามที่กฎหมายกำหนด ยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย มีความสามัคคีและประนีประนอม ตลอดจนมีจิตสำนึกสาธารณะและยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หากสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตย ปัญหาความแตกแยกในสังคมก็จะไม่เกิดขึ้น สังคมไทยก็จะเข้มแข็งเป็นสังคมแห่งสันติสุขอย่างแน่นอน

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันรัฐธรรมนูญ-วันประวัติศาสตร์ของไทย?category_id=351
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันพ่อแห่งชาติ
พระราชประวัติโดยสังเขป ของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระโอรสองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” และ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”
..........เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาซูเซสท์ สหรัฐอเมริกา (เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ที่นั่น) เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ พระนามในชั้นเดิม “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” พระองค์มีพระโสทรเชษฐภคินี ๑ พระองค์ และพระโสทรบรมเชษฐาธิราช ๑ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
๒. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
..........เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้เสด็จนิวัติประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อเสด็จมาครั้งนั้นได้ประทับที่วังสระปทุม ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกประชวร และสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเจริญพระชนมพรรษาได้ ๑ พรรษา ๙ เดือน
..........พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษาได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้าทรงศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จฯ ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเนื่องจากสมเด็จพระโสทรบรมเชษฐาธิราชไม่ทรงแข็งแรง ควรจะต้องประทับอยู่ประเทศที่มีอากาศดี พลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พระปิตุลา) ทรงแนะนำให้ไปประทับในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ ที่นั่นพระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาต่อตามหลักสูตรชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ (ECOLE MIREMONT) เมืองโลซานน์ พร้อมด้วยพระเชษฐาธิราช ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นู เวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโสทรบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งก็ยังคงประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เมืองพุยยี่ ติดกับเมืองโลซานน์และทรงตั้งชื่อพระตำหนักที่ประทับว่า “วิลล่า วัฒนา”
..........พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาเยือนประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ได้ประทับอยู่ประมาณ ๒ เดือน โดยประทับรวมกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต แล้วเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ
พุทธศักราช ๒๔๘๘ ทรงไรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ (Bachelier es Lettres) จากโรงเรียนยิมนาสคลาซีค กังโตนาล (Gymnase Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์
วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
..........จนกระทั่งวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคตโดยกระทันหันที่พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงได้รับการอัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในวันเดียวกัน ครั้งนี้ได้ประทับอยู่ประเทศไทยเพียง ๙ เดือน เนื่องจากยังมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งในเดือนสิงหาคมปีนั้นเอง เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยเดิม แต่ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม
..........ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
..........ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงศพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนัก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม ในการพระราชพิธีราชาภิเษก สมรสนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
..........วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฎว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และในโอกาสนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี"



16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
..........หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรักษาพระองค์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ณ โรงพยาบาลมองซัวชีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔

..........เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เองสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์คือ

..........สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ เสด็จพระราชมภพเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ต่อมาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิดลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฏราชกุมาร เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

..........สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐

..........สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สมภพเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐

..........พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาด้วยทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติที่ประชาชนของพระองค์เลื่อมใสกันอยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งทรงมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนในะหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ก็มีพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะได้ประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยเหตุผลและสัจธรรม แม้ผู้ใดจะวิจารณ์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ก็จะไม่เสื่อมถอยในความนิยมเชื่อถือ ทั้งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระบรมราชบูรพการีตามคตินิยมอีกโสตหนึ่งด้วย จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เสร็จการพระราชพิธีทรงผนวชแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร

..........ครั้งนั้นมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ในปีเดียวกันนั้นเอง และในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตจนปัจจุบัน

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันพ่อแห่งชาติ?category_id=351
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันสมเด็จพระมหาธีราชเจ้า
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ของทุกปี คือ วันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งนับเป็นวันที่สำคัญยิ่งของพสกนิกรชาวไทยอีกวันหนึ่ง เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยและประเทศไทยของเรา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงพระราชสมภพตรงกับวันเสาร์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ และทรงมีพระกนิษฐา พระอนุชา และพระขนิษฐา รวม ๘ พระองค์
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระองค์ได้ทรงศึกษาทางอักษรศาสตร์และศิลปะศาสตร์อื่นๆ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระบรมชนกนาถ) และพระอาจารย์ รวมทั้งนักกวีหลายท่าน เช่น พระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว.หนู อิศรางกูร) และหม่อมเจ้าประภากร
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ขณะมีพระชันษาได้ ๙ พรรษา ครั้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เจ้าฟ้าชายมหาวชิรุณหิศ พระบรมเชษฐาธิราช ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตำแหน่งรัชทายาท ได้สิ้นพระชนม์ลง พระองค์จึงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งรัชทายาทแทน
ต่อมาพระองค์ได้เสด็จไปศึกษา ณ ทวีปยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๔๕ พระองค์ทรงรอบรู้ทั้งวิชาการฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการฝ่ายทหาร มียศเป็นนายพลเอกตำแหน่งจเรทหารบก และเป็นผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กด้วย พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในพระอักษรศาสตร์เป็นอย่างดี เป็นจินตกวีและปาฐกชั้นเยี่ยม ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือดีๆ ไว้มากมายทั้งบทประพันธ์และร้อยแก้ว เป็นที่เลื่องลือปรากฏแก่ประชาชน และได้รับพระนามเฉลิมพระเกียรติว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมทั้งข้าราชการทั้งหลายได้พร้อมกันอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาได้ ๓๐ พรรษา
สำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญรุ่งเรือง ได้แก่ การวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย พระองค์ได้ทรงสร้างดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองขึ้นแห่งแรกในพระราชวังดุสิต เพื่อฝึกอบรมเสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารเสนาบดีให้ซาบซึ้งในพระบรมราโชบายและวิธีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยอย่างจริงจังที่จะทรงนำการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในประเทศไทย ทรงเห็นการณ์ไกลว่า ในภายหน้าเมื่อนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศสำเร็จกลับมาแล้วจะสามารถเริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศได้ โดยพระองค์มิได้ทรงหวงพระราชอำนาจไว้เลย



18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การจัดตั้งกองเสือป่า พระองค์ทรงตั้งกองลูกเสือขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ เสือป่า เพื่อเป็นการฝึกอบรมคนไทยให้ฉลาดรอบรู้วิชาการทหารและวิธีการช่วยรบทำให้มีใจกล้าหาญ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นับว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมาก

การปกครองประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยมีสมรภูมิอยู่ในทวีปยุโรป ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมัน โดยเข้าร่วมกับสัมพันธมิตร ส่งทหารไทยไปร่วมรบ ณ ประเทศฝรั่งเศส ผลที่สุดได้เป็นฝ่ายชนะสงคราม ทำให้ประเทศไทยได้รับการแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบต่างประเทศได้เป็นอันมาก

ด้านการศึกษา ในสมัยของพระองค์ทรงแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ สาย คือ สายสามัญ ศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาที่เปลี่ยนความรู้พื้นฐานทั่วไป และสายวิสามัญ ศึกษาเกี่ยวกับวิชาชีพโดยเฉพาะ โดยได้ทำการขยายการศึกษาออกไปในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อีกทั้งพระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตามแบบอังกฤษแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

ด้านเศรษฐกิจและการคลัง ทรงจัดตั้งคลังออมสิน ซึ่งปัจจุบันก็คือ ธนาคารออมสิน เพื่อฝึกให้ราษฎรรู้จักประหยัดเก็บสะสมทรัพย์ และเป็นที่ให้ราษฎรนำเงินมาฝากเพื่อความปลอดภัย

ด้านการสาธารณสุขและสาธารณูปโภค ทรงขยายกิจการสาธารณสุขไปทั่วประเทศและทรงส่งเสริมการแพทย์สมัยปัจจุบันให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ และทรงให้จัดการประปา การไฟฟ้าให้กว้างขวางแพร่หลาย

ด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระอรรถกถาพระสุตตันตปิฎกจนจบ และพระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับธรรมะ รวมทั้งมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นเป็นจำนวนมาก

ด้านศิลปวิทยาและวรรณกรรมต่างๆ พระองค์ทรงมีพระทัยรักวิชาการด้านศิลปวิทยาและวรรณกรรมอย่างมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาและบำรุงรักษาโบราณวัตถุของชาติ ทรงส่งเสริมนาฏศิลป์และดุริยางค์ไทย ทรงตั้งกรมโขนหลวงขึ้น นอกจากนี้ พระองค์เป็นนักปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์และวรรณคดี ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยไครซเชิช ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “สงครามราชสมบัติโปลันด์” เป็นภาษาอังกฤษ เป็นบทประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องเป็นอันมาก นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวต่างๆ ไว้มากมาย ที่สำคัญๆ เช่น ปลุกใจเสือป่า เสียสละ พระร่วง ท้าวแสนปม มัทนะพาธา ธรรมาธรรมะสงคราม และเวนิสวาณิช เป็นต้น พระองค์ยังทรงดำเนินการปลุกใจประชาชนชาวไทยให้รักชาติและกล้าหาญด้วยการทรงแสดงปาฐกาและพระราชทานพระบรมราโชวาทอยู่เสมอๆ

ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร แพทย์ชาวอเมริกัน นายแพทย์เมนเดลสัน ผู้ถวายการผ่าตัด รายงานว่า ทรงพระประชวรพระอันตะ (ลำไส้) พับพระกระยาหารผ่านไปไม่ได้ ทำให้พระอาการกำเริบในวันต่อมาจนเกิดเป็นพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร มีพระอาการซึม และขณะเดียวกันในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีก็มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้า ลูกเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี และรุ่งขึ้นเวลา ๗ นาฬิกา พระอาการประชวรหนักมากจนคณะแพทย์ไม่สามารถทำการรักษาได้แล้ว ตอนดึกของคืนวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จสวรรคต สิริรวมพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา ท่ามกลางความอาลัยรักของพสกนิกรของพระองค์

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ด้วยการวางพานพุ่มถวายบังคมพระบรมรูปของพระองค์ ณ ลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๖ สวนลุมพินี ที่พระองค์ทรงวางรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน เพื่อพัฒนาประเทศไทยของเราให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศจวบจนปัจจุบันนี้

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันสมเด็จพระมหาธีราชเจ้า?category_id=351
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วันลอยกระทง
“ ลอยกระทง ” เป็นพิธีอย่างหนึ่งที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน ๑๒ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ และความเชื่อต่างๆกัน สำหรับในปีนี้ วันลอยกระทงตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ประเพณีลอยกระทง มิได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่าก็มีการลอยกระทงคล้ายๆกับบ้านเรา จะต่างกันบ้างก็คงเป็นเรื่องรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ในบ้านเราเอง การลอยกระทงก็มาจากความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้รวบรวมมาบอกเล่าให้ทราบกันดังต่อไปนี้
ทำไมถึงลอยกระทง
การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ ท้องถิ่นแต่ละแห่งก็จะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย หรือต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา นอกจากนี้ ก็ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล บางแห่งก็ลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน บางแห่งก็เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์/ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย
พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทงอาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหลเพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้วจึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำ ว่าได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว ท่านว่าการที่ชาวบ้านบอกว่าการลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษและขอบคุณต่อแม่คงคา ก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ แต่ดึกดำบรรพ์ได้แสดงความยินดีที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ จึงได้นำผลผลิตแรกที่ได้ไปบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือเพื่อขอบคุณที่บันดาลให้การเพาะปลูกของตนได้ผลดี รวมทั้งเลี้ยงดูผีที่อดอยาก และการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เสร็จแล้วก็มีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอง ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อนเรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการบวงสรวงตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ที่สุด ก็คงเหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การลอยกระทงจึงมีอยู่ในชาติต่างๆทั่วไป และการที่ไปลอยน้ำ ก็คงเป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ที่มนุษย์โดยธรรมดา มักจะเอาอะไรทิ้งไปในน้ำให้มันลอยไป
ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว
ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่าเป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียนนำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ พระสนมเอกก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “ แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน ” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน
ตำนานและความเชื่อ
จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า การลอยกระทง ในแต่ละท้องที่ก็มาจากความเชื่อ ความศรัทธาที่แตกต่างกัน บางแห่งก็มีตำนานเล่าขานกันต่อๆมา ซึ่งจะยกตัวอย่างบางเรื่องมาให้ทราบ ดังนี้
เรื่องแรก ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวน/หุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆมาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลายจึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป



20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-23 16:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา ๓ เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัทพากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทงเพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า

สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีปเพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาดลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรามักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย

เรื่องที่สอง ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ ทีปาวลี ” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่าเมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทและการรับเสด็จพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน ๑๒ หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของพม่า เล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือ พระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปากและปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราชจึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทงเพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้ บางแห่งก็ว่า พระยานาคก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้เป็นที่นับถือของชาวพม่าและชาวพายัพของไทยมาก

เรื่องที่สี่ เกิดจากความเชื่อแต่ครั้งโบราณในล้านนาว่า เกิดอหิวาต์ระบาดที่อาณาจักรหริภุญชัย ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่ไม่ตายจึงอพยพไปอยู่เมืองสะเทิมและหงสาวดีเป็นเวลา ๖ ปี บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครั้นเมื่ออหิวาต์ได้สงบลงแล้ว บางส่วนจึงอพยพกลับ และเมื่อถึงวันครบรอบที่ได้อพยพไป ก็ได้จัดธูปเทียนสักการะพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวใส่ สะเพา ( อ่านว่า “ สะ - เปา หมายถึง สำเภาหรือกระทง ) ล่องตามลำน้ำเพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี ซึ่งการลอยกระทงดังกล่าวจะทำในวันยี่เพง คือ เพ็ญเดือนสิบสอง เรียกกันว่า การลอยโขมด แต่มิได้ทำทั่วไปในล้านนา ส่วนใหญ่เทศกาลยี่เพงนี้ ชาวล้านนาจะมีพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือการเทศน์คัมภีร์ขนาดยาวอย่างเทศน์มหาชาติ และมีการจุดประทีปโคมไฟอย่างกว้างขวางมากกว่า(การลอยกระทง ที่ทางโบราณล้านนาเรียกว่า ลอยโขมดนี้ คำว่า “ โขมด อ่านว่า ขะ-โหฺมด เป็นชื่อผีป่า ชอบออกหากินกลางคืนและมีไฟพะเหนียงเห็นเป็นระยะๆคล้ายผีกระสือ ดังนั้น จึงเรียกเอาตามลักษณะกระทงที่จุดเทียนลอยในน้ำ เห็นเงาสะท้อนวับๆแวมๆคล้ายผีโขมดว่า ลอยโขมด ดังกล่าว)

เรื่องที่ห้า กล่าวกันว่าในประเทศจีนสมัยก่อน ทางตอนเหนือเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมจนชาวบ้านตายนับเป็นแสนๆ และหาศพไม่ได้ก็มี ราษฎรจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นงานประจำปี ส่วนที่ลอยในตอนกลางคืน ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะต้องการความขรึมและขมุกขมัวให้เห็นขลังเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีๆสางๆ และผีก็ไม่ชอบปรากฏตัวในตอนกลางวัน การจุด เทียนก็เพราะหนทางไปเมืองผีมันมืด จึงต้องจุดให้แสงสว่างเพื่อให้ผีกลับไปสะดวก ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงว่า ปล่อยโคมน้ำ ( ปั่งจุ๊ยเต็ง ) ซึ่งตรงกับของไทยว่า ลอยโคม

จากเรื่องข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การลอยกระทง ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความกตัญญูระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้า เทพเจ้า พระแม่คงคา และบรรพชน เป็นต้น และแสดงความกตเวที (ตอบแทนคุณ) ด้วยการเคารพบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้าหรือรอยพระพุทธบาท ถือได้ว่าเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกเป็นนัยให้พุทธศาสนิกชนได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง

ประเพณีลอยกระทง นอกจากจะเป็นประเพณีที่มีคุณค่าในเรื่องการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณดังที่กล่าวมาแล้ว ประเพณีนี้ยังมีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสานาด้วย เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงาน หรือในบางท้องที่ที่มีการทำบุญก็ถือว่ามีส่วนช่วยสืบทอดพระศาสนา และในหลายๆแห่งก็ถือเป็นโอกาสดีในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลองไปด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมาคงจะทำให้ท่านได้รู้จักคุณค่า สาระและเรื่องราวเกี่ยวกับ “ ประเพณีลอยกระทง ” มากขึ้น และหวังว่า “ ลอยกระทง ” ปีนี้ นอกจากความสนุกสนานแล้ว คงจะมีความหมายแก่ท่านทั้งหลายเพิ่มขึ้นด้วย

ที่มา http://www.m-culture.go.th/ilove ... 8-07-06-43-42/item/วันลอยกระทง-2?category_id=351
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้