ประวัติ องค์พระปฐมเจดีย์
องค์พระปฐมเจดีย์ไม่เคยมีนักโบราณคดีมาขุดค้นทำการศึกษา เป็นหลักฐาน คงมีแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ทำการขุดลงไปภายในซากเจดีย์พบอิฐหลายขนาด หลายรุ่น จึงทรงพิเคราะห์ว่าเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์เก่าแก่ ที่มีการสร้างเสริมต่อเติมมาหลายครั้ง สมัยที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรครั้งแรกนั้น พระเจดีย์เป็นฐานกลม แต่มียอดเป็นปรางค์ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำขึ้นใหม่ ยอดเจดีย์เดิมหักไป จึงให้ทำการบูรณะให้งดงามสูงใหญ่แล้วให้ชื่อว่า "พระปฐมเจดีย์" จากการศึกษารูปแบบขององค์พระปฐมเจดีย์ในอดีตจากข้อมูลด้านต่างๆแล้ว อาจสันนิษฐานได้ว่าพระเจดีย์องค์นี้คงจะมีรูปลักษณะที่แตกต่างกันไปตามยุค สมัยดังนี้
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป เผยแพร่พุทธศาสนามายังดินแดนสุวรรณภูมิโดยพระโสณะเถระ และพระอุตรเถระ เป็นสมณฑูต ทำ ให้เกิดการสร้างสถูปสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าขึ้น ณ เมืองโบราณของจังหวัดนครปฐมในอดีตรูปร่างของสถูปคงเป็นลักษณะเดียวกับสถูป ที่เมืองสาญจิ ในรัฐมัธยมประเทศ ภาคกลางของอินเดียในอดีต เป็นศิลปะสมัยคุปตะมีความสูงประมาณ 37 เมตร (18 วา 2 ศอก) มีอายุล่วงมาแล้ว 2,245 ปี
องค์พระปฐมเจดีย์รูปแบบที่ 1 น่าจะเกิดขึ้น ระหว่าง พ.ศ. 300 - 1000 ซึ่งมีข้อมูลประกอบ ดังนี้ *** ระยะนี้อินเดียกำลังนิยมศิลปะแบบคุปตะ สถูปที่เมืองสาญจิ มีชื่อเสียงมาก เมื่อพระพุทธศาสนาจากอินเดียเผยแผ่เข้ามาในสุวรรณภูมิ มีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้น แบบสถูปก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกับของอินเดียสมัยนั้นด้วย
*** หินและอิฐเป็นวัสดุที่นิยมนำมาก่อสร้างกัน แต่ที่นครปฐมเป็นภูมิประเทศที่ไม่มีภูเขาหิน วัสดุที่สร้างเป็นองค์เจดีย์ส่วนใหญ่จึงเป็นอิฐดินเผา
*** การเคารพสถูปหรือพระธาตุ นิยมกระทำการเดินเวียนรอบ หรือ ทักษิณาวัตร สถูปแบบสาญจิจึงมีที่เดินเวียนรอบได้ทั้งตอนล่างและตอนบน รูปร่างจึงง่ายๆไม่ซับซ้อน เป็นทรงฟองน้ำรูปครึ่งวงกลมเป็นหลัก พระเจดีย์องค์แรกที่นครปฐมจึงควรมีลักษณะเดียวกันกับสถูปที่เมืองสา ญจิ ในอินเดีย เมื่อมีอายุประมาณ 500 ปี ก็พังลง
|