ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก
เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด
เข้าสู่ระบบ
บ้านหลวงปู่
คศช.
ข่าวสารล่าสุด
ประสบการณ์
โชว์วัตถุมงคล
สอบถาม
นานาสาระ
นครนาคราช
ร่วมประมูล
บูชาวัตถุมงคล
เพื่อน
กระทู้แนะนำ
บุ๊คมาร์ก
ไอเท็ม
เหรียญ
ภารกิจ
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
Site Link
ดูบริการทั้งหมด
เว็บบอร์ด
BBS
บูชาวัตถุมงคลหลวงปู่ชื่น
ศรีสุทธรรมนาคราช
ร้านจอมพระ
ศูนย์พระเครื่องจอมพระ
ค้นหา
ค้นหา
HOT TAG:
พระศรีราม
ขุนแผนแสนตรีเวทย์
พระเจ้าชัยวรมัน
บอร์ดนี้
บทความ
เนื้อหา
สมาชิก
Baan Jompra
›
นานาสาระ
›
ตำนานพระเกจิอาจารย์แห่งแดนสยาม
»
~ หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก วัดโพธิ์ชัย ~
1
2
3
4
/ 4 หน้า
ถัดไป
กลับไป
ตั้งกระทู้ใหม่
เจ้าของ: kit007
~ หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก วัดโพธิ์ชัย ~
[คัดลอกลิงก์]
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
21
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:43
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙)
พระอาจารย์แว่น ธนปาโล
พระอาจารย์บุญมา มหายโส (พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ)
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ พระอาจารย์เกิ่งซึ่งขณะอยู่ที่วัดวิเวการาม บ้านบางพระ ได้ร่วมกับ
พระอาจารย์บุญมา มหายโส (พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ)
ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง สมัยนั้นท่านทั้งสองได้วางโครงการศึกษาเพื่อฟื้นฟูการเรียนนักธรรมและบาลี ณ วัดโพธิ์ชัย ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรที่ไม่มีโอกาสเข้ามาศึกษาในเมือง โดยขอให้ศิษยานุศิษย์ของพระอาจารย์เกิ่งที่ได้รับการศึกษานักธรรมและบาลีขั้นสูงได้แล้วกลับมาเป็นครูสอนคนละ ๑ ปี และได้ส่งพระมหาสุวิทย์ สุวิตฺโท (ติยะบุตร) ป.ธ. ๕ น.ธ. เอก ต่อมารับราชการอยู่แผนกศึกษาธิการ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว ไปเป็นครูสอนนักธรรมและบาลีรูปแรกตามโครงการ มีพระภิกษุสามเณรสมัครเรียนกันมาก สอนอยู่ ๑ ปีก็กลับสำนักเดิม
ปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอาจารย์เกิ่งได้ส่งพระมหาอาบ อาภัสสโร (นคะจัด) ป.ธ. ๖ น.ธ. เอก แห่งวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน (ต่อมาพระมหาอาบได้เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว) ไปเป็นครูสอนนักธรรมและบาลีอยู่ ๑ พรรษา แล้วก็ลากลับสำนักเดิม ต่อจากนั้นก็หาครูสอนไม่ได้ กิจการโรงเรียนนักธรรมและบาลีวัดโพธิ์ชัย จึงจำต้องเลิกไป
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
22
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:44
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พระอาจารย์เกิ่งกลับไปพักจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผงอีก ท่านได้ปรับปรุงการศึกษานักธรรมและบาลีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และพัฒนาชุมชนชนบทกลุ่มน้อยที่ยังด้อยพัฒนา ทั้งทางวัตถุและจิตใจให้เจริญก้าวหน้าขึ้นตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่อำนวยให้
ท่านเอาใจใส่ในการศึกษาของกุลบุตรมาก บำเพ็ญตนเป็นครูอุทิศชีวิตเพื่อการศึกษาและฝึกอบรมให้แก่พระภิกษุสามเณร และศิษย์วัด ตลอดประชาชนทั่วไปอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ท่านสอนหนังสือนักธรรมและบาลี และเทศนาเผยแผ่ศีลธรรมในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งล้มป่วยจนลุกไม่ไหวจึงหยุดสอน
ท่านเคยพูดเสมอว่า
“การศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้คนมีความฉลาด คนฉลาดย่อมรู้จักปรับปรุงฐานะของตนให้สูงขึ้น”
พระอาจารย์เกิ่งไม่เฉพาะแต่สนใจเรื่องการสร้างสติปัญญาของคนดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านยังสนใจมากเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและความไม่มีโรคของชาวชนบทแถบนั้น ตามปกติชาวบ้านในถิ่นนั้นป่วยด้วยโรคภัยกันปีละมากๆ แต่ขาดแคลนยารักษาโรค ทั้งหมอรักษาก็หายาก เมื่อมีผู้ป่วยไข้ต้องเดินทางด้วยเกวียนหรือลงเรือจากบ้านสามผงไปซื้อยาที่ตัวอำเภอเป็นระยะทางไกลและกันดารมาก เสียทั้งค่าพาหนะและเวลา ไม่ทันกาลต่อความป่วยไข้ ท่านจึงคิดตั้งโครงการตู้ยาประจำบ้านขึ้น โดยให้ไวยาวัจกรติดต่อซื้อยาประจำบ้านต่างๆ มาไว้เป็นจำนวนมาก โดยขายในราคาพอสมควรเพื่อรักษาต้นทุนไว้หมุนเวียนซื้อยาต่อไป เป็นการช่วยเหลือชาวบ้านชาวชนบท ท่านได้บอกบุญขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านญาติโยมที่มีฐานะดี ก็รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนทางวัดของท่านก็ได้ออกเงินวัดสมทบด้วย ดำเนินโครงการนี้อยู่หลายปีได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ต่อมามีอุปสรรคด้วยชาวบ้านเข้าใจเจตนารมณ์ของท่านผิดไป ท่านจึงสั่งให้เลิกกิจการเสีย เมื่อเลิกโครงการตู้ยาประจำบ้านแล้ว ท่านก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและป้องกันรักษาความป่วยไข้ของประชาชน ได้พยายามหาช่องทางอื่นต่อไปใหม่อีก คือได้คิดตั้งสถานีอนามัยถาวรขึ้นในหมู่บ้าน เป็นสถานีอนามัยระดับตำบล โดยท่านได้ชักชวนและนำชาวบ้านให้สร้างอาคารสุขศาลาขึ้น จากการใช้เงินของวัดไปก่อนแล้วให้ชาวบ้านผ่อนคืนวัดในภายหลัง เมื่อสร้างอาคารสุขศาลาเสร็จแล้ว ทางราชการได้คัดเลือกเด็กรุ่นสาวในบ้านสามผงให้รับทุนมาศึกษาการอนามัยและผดุงครรภ์ที่โรงพยาบาล “วชิรพยาบาล” กรุงเทพฯ หลังจากอาคารสุขศาลาสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นเวลา ๒ ปีกว่า จึงได้นางผดุงครรภ์ที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งต่อมาได้รับการบรรจุและแต่งตั้งจากทางราชการให้มาประจำ ณ สถานีอนามัยนั้นมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ในการให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไปนั้น พระอาจารย์เกิ่งก็ให้การศึกษาอบรมด้วยตัวท่านเองไม่ขาดเลย ตามปกติท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงสะสมหนังสือไว้มาก ท่านไปที่ไหนจะนำหนังสือติดตัวไปอ่านด้วยเสมอ การสั่งสอนให้การศึกษาแก่คนนั้น ท่านเห็นว่าทำด้วยสื่อตัวต่อตัวนั้นไม่พอเพราะอยู่ในวงแคบ ท่านจึงแต่งหนังสือและพิมพ์เผยแผ่ไว้ช่วยสอนและให้ความคิดแก่คนอื่นด้วย หนังสือที่ท่านแต่งมีหลายเรื่อง ส่วนมากเป็นคำกลอนภาษาไทยอีสาน เท่าที่ทราบคือ
๑. คำกลอนพุทธประวัติ
๒. คำกลอนปลุกชาติ
๓. คำกลอนกตัญญูกตเวที
๔. คำกลอนสอนบาลีไวยากรณ์ (ต้นฉบับหายไป)
ลักษณะนิสัยดีเด่นของพระอาจารย์เกิ่งอีกประการหนึ่งในการพัฒนาคน ที่สมควรนำมาเล่าไว้ คือ นิสัยประหยัด นิสัยประหยัดที่ท่านประพฤติเองและสอนคนอื่นให้ประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่นิสัยหนืดเหนียวประเภทมีของไม่ยอมใช้ของนั้นๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นเลย เก็บไว้จนเก่าเก็บ ชำรุด หรือเสื่อมคุณภาพ แต่ท่านจะสอนให้รู้จักใช้ของโดยประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย เช่น ท่านได้แจกน้ำมันก๊าดแก่พระภิกษุสามเณร และเด็กวัดใช้จุดให้แสงสว่างอ่านหนังสือในเวลากลางคืน ใส่ตะเกียงรั้วบ้าง ตะเกียงลานบ้าง ตะเกียงทำด้วยกระป๋องนมเปล่า มีไส้เป็นด้ายหรือเศษผ้าสบงและจีวรเก่าเป็นต้นบ้าง กลางคืนตอนดึกประมาณ ๔-๕ ทุ่ม ท่านจะเดินตรวจตราเป็นครั้งคราว ดูว่าผู้ใดนอนหลับแล้วจุดตะเกียงทิ้งไว้บ้าง ท่านจะทำเช่นนี้เสมอ
ท่านใช้นกหวีดเป่าเป็นรหัสเฉพาะตัวเรียกสามเณรและเด็กวัดไปหัดเขียนภาษาไทย คัดลายมือ หรือเรียนเลขคณิต ท่านแจกสมุดฝึกหัดให้คนละเล่ม ท่านให้ใช้เขียนทุกแผ่นตั้งแต่หน้าปกด้านในที่ว่างของสมุดไปจนถึงหน้าหลังของปกหลัง ดินสอดำและดินสอเขียนกระดานที่ใช้จนสั้น จับเขียนยากแล้ว ท่านก็ไม่ให้ทิ้งทันที ท่านสอนให้หาไม้ไผ่ลำเล็กๆ ที่มีรูพอดีกับดินสอ มาต่อดินสอให้ด้ามยามจับเขียนสะดวก ใช้ไปอย่างนั้นจนดินสอหมดไส้ บางครั้งท่านก็ให้ใช้กระดาษแข็งมาหุ้มดินสอที่สั้นแล้วมัดด้วยด้ายเป็นด้ามดินสอ เขียนต่อไปจนดินสอหมด
เมื่อผู้เขียนประวัตินี้จบการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และทำราชการเป็นหลักฐานแล้ว เดินทางขึ้นไปบ้านเกิดและไปกราบนมัสการพระอาจารย์เกิ่งที่วัดโพธิ์ชัย เห็นท่านกำลังนั่งสอนเด็กวัดและสามเณรให้เขียนภาษาไทย คัดลายมือ และหัดทำเลขคณิตอยู่หลายคน พร้อมกันนั้นท่านก็ปะหนังสือเรียนนักธรรมและบาลีและหนังสือสวดมนต์ ที่ขาดและชำรุดพร้อมกันไปด้วย โดยตัดกระดาษเปล่ามาปะหนังสือส่วนที่ขาด แล้วท่านก็คัดข้อความที่หายไปลงไว้บนกระดาษที่ปะไว้ให้ตรงบรรทัดของข้อความนั้นเพื่อไม่ให้ลบเลือนง่าย เมื่อผู้เขียนสังเกตุเห็นท่านใช้ดินสอก๊อปปี้ที่ต่อด้วยด้ามไม้ไผ่แล้วก็เงียบไว้ วันรุ่งขึ้นจึงซื้อดินสอก๊อปปี้ไปถวายท่านครึ่งโหลหรือหนึ่งโหล ท่านบ่นว่าถวายมากไป ใช้ไม่ทัน จะเก่าเก็บหรือหายไปได้
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
23
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:44
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์เกิ่งมักเย็บปะสบง จีวร สังฆาฏิ และของใช้ของท่านเอง ทั้งๆ ที่ท่านอาจใช้วานผู้อื่นได้ รวมทั้งซ่อมแซมบูรณะของเก่าให้คงสภาพใช้สอยได้อีก เช่น ซ่อมเสนาสนะ จอบเสียม มีดพร้า บริขารประจำของพระภิกษุสามเณร เป็นต้น ท่านถือว่าเป็นการประหยัดอย่างหนึ่ง บางครั้งดูเหมือนว่าท่านจะถือเป็นการประหยัดอย่างหนึ่ง บางครั้งดูเหมือนว่าท่านจะถือเป็นการฝึกหัดจิตอย่างหนึ่ง บางครั้งดูเหมือนว่าท่าน (โพชฌงค์) ในเรื่องหรืองานนั้นๆ ทีเดียว เพราะเห็นท่านชอบแก้นาฬิกา จักรเย็บผ้า ตีเหล็กเป็นมีดพร้า เป็นต้น อยู่เสมอ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความประหยัดของท่านก็คือ ของใช้ประจำตัวท่านที่เรียกว่า อัฐบริขาร ท่านจะมีไว้เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ นอกเหนือจากนั้นที่ท่านได้รับถวายมาท่านจะรวมเป็นกองกลางของวัด เพื่อให้ภิกษุสามเณรและศิษย์วัดเบิกไปใช้ตามที่จำเป็น
๑๓.๒ ด้านพัฒนาวัตถุและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์ :
พระอาจารย์เกิ่งได้คิดริเริ่มและทำการพัฒนาวัตถุและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์แก่ชีวิตของชาวชนบท โดยเฉพาะชาวบ้านสามผงและหมู่บ้านใกล้เคียงในบริเวณนั้นนานัปการ ขอหยิบยกมาบอกเล่าบางประการดังต่อไปนี้
(๑) สร้างอ่างเก็บน้ำ
: พระอาจารย์เกิ่งบอกผู้เขียนถึงสาเหตุที่ท่านสร้างทำนบและอ่างเก็บน้ำหนองข่า บ้านสามผง (ผู้เขียนจดหมายมานมัสการถามท่านเมื่อผู้เขียนศึกษาปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร อยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา) ว่าท่านท่องเที่ยวไปทั่วในภาคอีสานของประเทศ เห็นว่าความทุกข์ยากของคนและของสัตว์ที่เกิดมีอย่างกว้างขวางตลอดมา เท่าที่เห็นในชีวิตของท่านนั้นเกิดจากความแห้งแล้งขาดน้ำเป็นสำคัญ ในฤดูฝนนั้น เกิดความแห้งแล้งในภาคอีสานในการการดำรงชีวิตจะมีน้อย จะลำบากอยู่แต่การเดินทางเท้าติดต่อกันระหว่างหมู่บ้านไม่ค่อยสะดวกเพราะน้ำท่วมบ้างเท่านั้น
แต่ในฤดูแล้งจะลำบากอดอยาก ดังนั้น ท่านจึงคิดและชักชวนชาวบ้านสามผงสร้างทำนบขังน้ำไว้หลายแห่ง ที่สำคัญคือสร้างทำนบอ่างเก็บน้ำหนองข่า ท่านทำคันดินมีความกว้างประมาณ ๔ เมตร ความสูงประมาณ ๑ ครึ่งถึง ๒ เมตร ในบางแห่งมีความกว้างประมาณ ๔๐๐ ถึง ๕๐๐ เมตร เชื่อมระหว่างเขตบ้านสามผงและเขตบ้านศรีเวินชัย กั้นร่องน้ำหนองข่าที่ไหลไปลงแม่น้ำสงคราม ตรงกลางคันดินที่ร่องน้ำไหล ท่านทำท่อด้วยท่อนไม้ใหญ่ใส่ไว้ในระดับที่พอเหมาะ ใช้ไม้กระดานเปิดปิดได้ เพื่อกักและระบายน้ำตามต้องการ และทำทางน้ำล้นไว้ตรงปลายคันดินด้านเขตบ้านศรีเวินชัย ได้สร้างศาลามุงไม้กระดานหลังใหญ่ไว้ให้เป็นที่พักคนเดินทาง และชาวบ้านที่ไปธุระไร่นาหรืองเลี้ยงสัตว์แถบนั้น หนองข่าจึงเป็นอ่างเก็บน้ำเต็มอยู่ตลอดปี
ชาวบ้านได้อาศัยทำนาปรังในที่ดินบริเวณริมหนอง เลี้ยงวัวควาย แม้กระทั่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและที่หากินของประชาชนถิ่นนั้น ทำนบและอ่างเก็บน้ำหนองข่านี้พระอาจารย์เกิ่งได้พาชาวบ้านสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๓ คันทำนบ นอกจากใช้กั้นกักเก็บน้ำแล้ว ยังใช้เป็นถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านได้ตลอดทุกฤดูกาลด้วย ต่อมาทางราชการเห็นความสำคัญของทำนบนี้ จึงได้ให้เงินช่วยเหลือเพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงเสมอมา
นอกจากทำนบกั้นน้ำหน่องข่า พระอาจารย์เกิ่งยังได้ออกแนวคิดและชักชวนชาวบ้านสามผงสร้างทำนบหนองสิม ทำนบหนองสามผง เป็นต้น อีกด้วย
หลังจากพระอาจารย์เกิ่งถึงแก่มรณภาพแล้ว ก็ยังได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โนนสาวเอ้ ซึ่งเก็บน้ำได้เป็นบริเวณกว้างประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ไร่ น้ำลึกเฉลี่ยประมาณหนึ่งเมตรถึงสองเมตรกว่า มีน้ำขังตลอดปี อ่างน้ำนี้อยู่ใต้ทำนบหนองข่าลงมา โดยผู้เขียนประวัตินี้ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านด้วยการสำรวจและสร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของชาวบ้านสามผงและญาติมิตร ทั้งนี้จากคำแนะนำของพระอาจารย์เกิ่งสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่ผู้เขียนสำเร็จปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์การเกษตร จากมหาวิทยาลัยออรีกอนสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา กลับมาเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วขึ้นไปกราบนมัสการท่าน อย่างไรก็ดี อ่างเก็บน้ำโนนสามเอ้ได้สร้างขึ้นหลังจากพระอาจารย์เกิ่งถึงแก่มรณภาพแล้วประมาณ ๓ ปี คือประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๐ และได้นำเงินที่มีผู้บริจาคในงานศพพระอาจารย์เกิ่งบางส่วนมาร่วมเป็นทุนในการก่อสร้างด้วย
(๒) สร้างถนนและบ่อน้ำ
: พระอาจารย์เกิ่งยังได้เป็นผู้นำชาวบ้านสร้างถนนในหมู่บ้านสามผงเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้านหลายสาย และสร้างบ่อในหมู่บ้านหลายบ่อ
(๓) สร้างสิ่งก่อสร้าง
: ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๐๔ พระอาจารย์เกิ่งได้สร้างกุฏิขึ้นไว้ในวัดโพธิ์ชัย (ใหม่) จำนวน ๑๗ หลัง เป็นกุฏิเดี่ยวสองชั้น ชั้นล่างโล่ง ใช้เป็นที่รับแขก ชั้นบนเป็นห้องพักที่พักนอน ตีฝากระดานสี่ด้าน หลังคามุงไม้กระดาน มีอ่างปูนขังน้ำไว้ข้างบันไดขึ้นกุฏิเพื่อล้างเท้า ใต้ถุนกุฏินั้นก่ออิฐถือปูนเป็นรูปโค้ง ๔ ด้าน อากาศผ่านได้ ใช้เป็นที่เก็บของใช้ เช่น ไม้กวาด (ตาด) จอบเสียม เป็นต้น กุฏิที่ท่านอยู่เองท่านสร้างระเบียงมุงหลังคายาว ๑๔-๑๕ เมตร ไว้เป็น ๒ ชั้น ชั้นล่างมีระดับเท่าพื้นกุฏิชั้นล่าง ปลายสุดระเบียงขั้นล่างเป็นห้องน้ำ ห้องส้วม ส่วนระเบียงชั้นบนมีระดับเท่าพื้นกุฏิชั้นบนที่เป็นห้องนอนใช้เป็นที่เดินจงกรม กุฏิทั้ง ๑๗ หลัง ท่านได้ออกแบบสร้างไว้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยของพระภิกษุสามเณร และเป็นรูปแบบที่สถาปนิกรุ่นใหม่พิศวงในความคิดทางสถาปัตยกรรมของท่านเป็นอันมาก
อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๕ ท่านได้สร้างอุโบสถไว้หนึ่งหลัง ผนังอุโบสถก่ออิฐโบกปูน หลังคามุงกระเบื้องไม้ภายนอกของผนังอุโบสถทุกด้าน ท่านให้ช่างเขียนรูปชาดกทางพระพุทธศาสนาไว้พร้อมกับระบายสีต่างๆ ให้เห็นชัดเจน ผู้ใหญ่และเด็กที่ไปทำบุญที่วัดจะเดินชมรูปชาดกรอบอุโบสถได้หลายรอบโดยไม่เบื่อ ระเบียงรอบอุโบสถปูด้วยไม้กระดานอยู่ระหว่างผนังอุโบสถกับกำแพงแก้ว เมื่อสร้างอุโบสถเสร็จแล้ว พระอาจารย์เกิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกายอีกด้วย
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้สร้างศาลาโรงธรรมโดยใช้เป็นศาลาการเปรียญด้วยที่วัดโพธิ์ชัย นับเป็นผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นสุดท้ายของท่านก่อนมรณภาพ ครั้นต่อมา พระอาจารย์เกิ่งได้ดำริจะสร้างอาคารให้โรงเรียนประถมบ้านสามผง ๑ หลัง เพื่อเป็นห้องประชุมสวดมนต์ไหว้พระของเด็กนักเรียน โดยจัดอนุมัติเงินจำนวนหนึ่งไว้เป็นทุน สมัยที่ทางราชการได้ขยายการศึกษาชั้นประถมจากประถม ๔ เป็นประถม ๕-๗ แต่ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพเสียก่อน อาคารดังกล่าวจึงยังไม่ได้ก่อเป็นรูปร่างขึ้น ต่อมาภายหลังหลายปีคณะศิษยานุศิษย์จึงสร้าง
“อาคารหอประชุมเกิ่ง อธิมุตฺตโก”
ขึ้นเป็นอนุสรณ์ไว้ที่บริเวณ
โรงเรียนบ้านสามผง
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
24
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:45
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ต
๑๔. ธุดงควัตรที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เมื่อพระอาจารย์เกิ่งได้ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย และเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้ว
ท่านได้ถือธุดงควัตรดังต่อไปนี้โดยเคร่งครัด
คือ
(๑) ปิณฑปาติกังคธุดงค์
คือถือไปเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้พระอาจารย์เกิ่งท่านอาพาธ หากพอเดินได้ท่านก็ออกบิณฑบาต ไม่เคยขาดกิจวัตรข้อนี้เลย เมื่ออาพาธหนักลุกไม่ไหวจวนถึงแก่มรณภาพแล้ว ท่านจึงเลิกออกบิณฑบาต
(๒) เอกปัตติกังคธุดงค์
คือถือฉันในบาตรใช้ภาชนะเดียวเป็นนิตย์
(๓) เอกาสนิกังคธุดงค์
คือถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ ลุกจากที่นั่งฉันแล้ว แม้จะยังไม่อิ่มท่านก็จะไม่ยอมฉันอีก
ส่วนธุดงควัตรอย่างอื่น พระอาจารย์เกิ่งท่านถือเป็นครั้งคราว เช่น
บังสุกุลิกังคธุดงค์
คือถือการใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร,
อรัญญิกธุดงค์
คือถือการอยู่ในเสนาสนะป่าอันสงัดเป็นวัตร เป็นต้น ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ นั้นพระอาจารย์เกิ่งปฏิบัติตามปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อย่างเคร่งครัดและเสมอต้นเสมอปลาย ผู้ที่เคยอยู่ใกล้ชิดและเคยพอเห็นท่าน คงพอจะทราบข้อวัตรปฏิบัติของท่านได้เป็นอย่างดี
ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ต
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
25
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:46
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๕. กิจวัตรประจำวัน
พระอาจารย์เกิ่งเป็นพระนักปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง เวลาเช้า ๐๔.๐๐ น. ท่านจะตื่นนอน ล้างหน้าบ้วนปาก เดินจงกรม นั่งสมาธิ พอสว่างได้เวลาอรุณ ครองผ้าจีวรนำบริขารลงสู่ศาลาโรงธรรม นำพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดไหว้พระสวดมนต์ เวลาเช้า ๐๖.๓๐ น. ออกบิณฑบาต กลับมาวัดฉันร่วมกันทั้งพระภิกษุสามเณรที่ศาลาโรงธรรม เสร็จแล้วกลับกุฏิ เวลา ๐๙.๐๐ น. เข้าสอนหนังสือนักธรรมหรือบาลี ซ้อมสวดมนต์ให้แก่พระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัด โดยผลัดเปลี่ยนวาระกันตามกำหนดไว้ ๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ น. หยุดพักผ่อน
๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป เริ่มสอนนักธรรม-บาลี หรือซ้อมสวดมนต์พระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัดอีกรอบหนึ่ง ตามวาระของแต่ละคนที่กำหนดไว้ เวลา ๑๖.๐๐ น. นำพระภิกษุสามเณรทำความสะอาดลานวัด เวลา ๑๖.๐๐ น. สรงน้ำชำระร่างกาย เวลา ๑๘.๓๐-๑๙.๐๐ น. ลงศาลารวมกัน นำไหว้พระสวดมนต์ให้แก่พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัด บางครั้งก็ซ้อมสวดมนต์ให้แก่พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดแล้วแต่โอกาสมี
เวลา ๒๑.๐๐ น. กลับกุฏิแล้วสอนหนังสือหรือซ้อมสวดมนต์พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัด โดยผลัดเปลี่ยนกันตามวาระ เวลา ๒๓.๐๐ น. เข้าห้องและพักผ่อน แล้วจำวัตร
๑๖. การปฏิบัติศาสนกิจของคณะสงฆ์
๑๖.๑ ประโยชน์ส่วนตน :
เมื่อพระอาจารย์เกิ่งท่านยังเป็นพระภิกษุรุ่นหนุ่ม ท่านได้ขวนขวายแสวงหาวิชาความรู้ทางพระปริยัติธรรม (คันถธุระ) เรียนทั้งนักธรรมและบาลีจากสำนักต่างๆ ซึ่งห่างไกลจากหมู่บ้านที่ท่านเกิด จนถึงกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศ มีความรู้พระธรรมวินัยแตกฉานสามารถเป็นครูสอนได้ถึงนักธรรมเอก และมีความรู้ภาษาบาลีจนสามารถเป็นครูสอนชั้นประโยค เปรียญธรรม ๓ ประโยคได้
ส่วนทางด้านปฏิบัติ (วิปัสสนาธุระ) ท่านเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดในสิกขาบทวินัยมาก
เมื่อเห็นว่าปฏิบัติผิดทาง ท่านจะแก้ไขและเดินทางที่ถูกอย่างอาจหาญ เช่น การมอบตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น โดยขอญัตติกรรมทำทัฬหิกรรมซ้ำให้ถูกต้องเสียใหม่ การบำเพ็ญเพียรทางจิตใจหรือวิปัสสนาท่านก็ไม่เคยทอดทิ้ง ความรู้และความประพฤติของท่านจะดำเนินไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง
แม้จะมีงานทำเพื่อคนอื่นมาก เช่น งานสอนหนังสือและการก่อสร้าง ท่านก็ไม่เคยงดเว้นการเดินจงกรมและนั่งสมาธิเลย นับเป็นนักปริยัติและนักปฏิบัติธรรมเพื่อตนเอง ที่สร้างสรรค์ความมีประโยชน์และความเจริญให้แก่ผู้อื่นหรือสังคม ทั้งในด้านจิตใจและวัตถุไปพร้อมกัน ให้แลเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาในด้านปริยัติและปฏิบัติเท่าเทียมกัน ท่านเคยกล่าว่า “พุทธศาสนาจะเจริญมั่นคงได้ ต้องอาศัยทั้งการศึกษา (คันถธุระ) และปฏิบัติ (วิปัสสนาธุระ) เท่าเทียมกัน ถ้าขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งพระพุทธศาสนาก็จะขาดความสมบูรณ์ไป”
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
26
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:46
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ รูปที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร (วัดสัมพันธวงศ์) รูปที่ ๑๑
๑๖.๒ ประโยชน์ส่วนรวมของสังคม :
ประโยชน์ส่วนรวมของชุมชนหรือสังคม ที่พระอาจารย์เกิ่งได้เพียรบำเพ็ญมีมากมาย
แต่พอสรุปได้เป็นสำคัญ ๒ ประการ คือ การพัฒนาคน และการพัฒนาด้านวัตถุและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์
ดังได้กล่าวมาแล้ว
การสร้างคนรุ่นหนุ่มสาวไว้สืบทอดงานทางคดีธรรมและคดีโลกของพระอาจารย์เกิ่ง นับว่าประสบความสำเร็จมาก โดยเปรียบ
พระธรรมบัณฑิต (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙)
[เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์]
กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.), ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๑ (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร (วัดสัมพันธวงศ์) เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
บอกผู้เขียนประวัตินี้ว่า
“ถ้าไม่มีพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ท่านคงไม่ได้เป็นเปรียญสูงสุด และเป็นพระมหาเถระ และเป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์อย่างปัจจุบันนี้ดอก”
ในการสั่งสอนประชาชนชาวชนบทที่หลงผิด เชื่องมงาย นับถือผีไท้ ผีปู่ตา มาตั้งแต่บรรพบุรุษ พระอาจารย์เกิ่งก็ใช้ความเพียรและกุศโลบายให้ละเลิกแล้วหันมานับถือพระรัตนตรัยอย่างมั่นคงได้ นับว่าเป็นการสร้างคนไว้เป็นพื้นฐานของยุคสมัยวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า และยุคของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา
โดยการสร้างคนในชนบทให้มีความรู้สูงขึ้น ทั้งทางฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรตามแบบที่พระอาจารย์เกิ่งขวนขวาย นำพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดจากชนบทมาฝากตามวัดและที่ต่างๆ ให้ได้โอกาสเข้ามาศึกษาในเมือง และในเมืองหลวงของประเทศ นับว่าเป็นการสร้างสะพานแห่งสังคมเพื่อเชื่อมโยงชนบทและเมือง ให้พลเมืองอพยพโยกย้ายแสวงอาชีพและเปลี่ยนแปลงฐานะทางสังคมได้ส่วนหนึ่ง
นับได้ว่าพระอาจารย์เกิ่งได้พัฒนาคน ทั้งตัวท่านเองและคณะศิษยานุศิษย์ ตลอดจนประชาชนที่เคารพนับถือท่านได้อย่างน่าอัศจรรย์ อาจเป็นเพราะเหตุที่ท่านมุ่งมั่นในพุทธภูมิดังที่ได้กล่าวแล้วก็ได้
ส่วนการพัฒนาหรือสร้างวัตถุสิ่งอันมีสารประโยชน์ขึ้นใช้นานัปการ ทั้งเพื่อวัดและเพื่อชุมชนส่วนรวมของพระอาจารย์เกิ่ง ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เป็นที่น่าชื่นชมและทึ่งว่าอะไรทำให้ท่านมีสติปัญญาและฝีมือทำการสร้างวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้มากมายและใหญ่โตปานนั้น ทั้งที่ท่านไม่ได้รับการศึกษาทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมแบบสมัยใหม่เป็นล่ำสันอะไรเลย
จะเป็นเพราะบุญบารมีในจิตใจที่ท่านสั่งสมมาแต่ปางก่อนได้หรือเปล่า ? เพราะว่าท่านกำลังท่องเที่ยวอยู่ในเส้นทางพุทธภูมิที่ท่านมีปณิธาน
จดหมายของพระอาจารย์เกิ่ง
เขียนกล่าวฝากสามเณรกงมาและสามเณรทองทิพย์
ไว้กับพระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
27
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:47
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก)
พระอาจารย์เกิ่งในฐานะที่นอกจากจะเป็นพระกรรมฐานแล้ว ยังเป็นเป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งตำบลสามผง นี่เองที่เป็นผู้ที่ชักนำและชี้ช่องทางให้ สามเณรกงมา ก่อบุญ (ครั้นเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้เปลี่ยนชื่อจาก กงมา เป็น มานิต) ในปัจจุบันก็คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙) ซึ่งขณะนั้นกำลังเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม และพระอาจารย์เกิ่งน่าจะเห็นแววการเรียนเก่งเรียนดีของสามเณรกงมา ในช่วงที่ได้รับใช้ใกล้ชิดท่านอยู่ที่วัดอรัญญิกาวาส จ.นครพนม ได้ก้าวเข้าสู่โลกของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีอย่างจริงจัง
กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ได้พบกับ พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระรัชชมงคลมุนี เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ (ในสมัยนั้น) ขณะท่านเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่ จ.ระยอง พระอาจารย์เกิ่งได้กล่าวฝาก สามเณรกงมา และสามเณรทองทิพย์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไพบูลย์ ภายหลังได้กลับไปอยู่สกลนคร สุดท้ายได้ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสุเมธี (ไพบูลย์ อภิวณฺโณ ป.ธ. ๕) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโพนเมือง และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร ฝ่ายธรรมยุต) กับท่านเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งท่านก็เมตตารับไว้ เมื่อฝากเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์เกิ่งก็ส่งข่าวไปบอกสามเณรทั้งสอง ว่าได้ฝากให้อยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ขอให้เดินทางลงมาจากนครพนมเพื่อมาอยู่วัดสัมพันธวงศ์ โดยกำชับให้พระช่วยอธิบายเส้นทางการเดินทางและซักซ้อมจนเข้าใจดี สามเณรกงมาพร้อมกับสามเณรทองทิพย์จึงออกเดินทางจาก จ.นครพนม ไปพัก จ.สกลนคร แล้วเดินทางไปขึ้นรถไฟที่ จ.อุดรธานี ในสมัยนั้นรถไฟไม่ได้แล่นรวดเดียวถึงกรุงเทพฯ ต้องแวะพักที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา
เมื่อลงรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพงแล้ว ก็เข้าไปถามตำรวจว่าวัดสัมพันธวงศ์ไปทางไหน เมื่อทราบแล้วสามเณรทั้งสองก็เดินเท้ามาและแวะถามมาเรื่อยๆ จนถึงกำแพงวัดก็จวนพลบค่ำ เมื่อเข้ามาในวัด ทราบว่าท่านเจ้าอาวาสไม่อยู่ไปประชุม วันนั้นกว่าท่านจะกลับก็ประมาณสี่ทุ่ม พระจึงจัดให้พักที่กุฏิสนธิ์ประสาท
เช้าวันรุ่งขึ้นหลังฉันเช้าแล้ว สามเณรทั้งสองก็เข้าไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส เขียนใบรับรอง ท่านเจ้าอาวาสก็เมตตาให้ไปอยู่ที่กุฏินิตยเกษม โดยอยู่ในความกำกับดูแลของ ท่านเจ้าคุณพระเนกขัมมมุนี (เฉย ยโส) ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพปัญญามุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ รูปที่ ๑๐ จากนั้นสามเณรทั้งสองก็อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์ตามที่ได้ตั้งใจไว้
๑๖.๓ ประโยชน์ในฐานะเป็นตัวอย่างของบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง ที่ผู้ใฝ่ดีควรจะถือเป็นเยี่ยงอย่าง :
ในการดำเนินชีวิตประจำวัน นับว่าพระอาจารย์เกิ่งได้เดินตามรอยพุทธปฏิปทาอย่างแท้จริง คือท่านไม่ปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปโดยไร้ประโยชน์ นับว่าเข้ากับคุณสมบัติหลักของผู้เป็นพระพุทธเจ้าประการหนึ่ง คือ สุคโต ดำเนินชีวิตให้ดีเป็นประโยชน์ไปได้ทุกวันเวลา ผู้ที่เคยไปหาท่าน จะเห็นท่านทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งตลอดวัน เวลาที่ท่านไม่ได้สอนหนังสือหรือสอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณร หรือหาหนังสือ-สิ่งของที่ชำรุดมาซ่อมแซม บางทีขณะสอนหนังสือหรือซ้อมสวดมนต์ให้พระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัด มือท่านก็จะเย็บจีวรหรือเย็บปะหนังสือไปด้วย หากมีผู้ถามท่านว่า ไม่เบื่อหรือ ไม่เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานบ้างหรือ พระอาจารย์เกิ่งก็จะตอบว่า
“เสียดายลมหายใจจะเสียไปเปล่า เราจึงต้องทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น”
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
28
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:48
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๗. วาระสุดท้าย
ครั้นพระอาจารย์เกิ่งท่านชราภาพลง สังขารร่างกายก็เสื่อมทรุดโทรมไปตามสภาพ ท่านอาพาธเป็นโรคกระเพาะและลำไส้เรื้อรังมานาน แม้จะพยายามเยียวยารักษาพยาบาลอย่างไร ก็ไม่มีอาการดีขึ้น มีแต่ทรุดลง หมดความสามารถของคณะแพทย์ที่จะเยียวยาช่วยเหลือได้
กระทั่งในที่สุด พระอาจารย์เกิ่งท่านจึงได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ ศาลาโรงธรรมและการเปรียญ วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ด้วยโรคกระเพาะและลำไส้เรื้อรัง สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี ๖ เดือน ๘ วัน พรรษาในฝ่ายมหานิกาย ๑๘ พรรษา และพรรษาในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๓๘ พรรษา
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ภาพเมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่ม มีอายุพรรษาไม่มากนัก
๑๘. หลวงตามหาบัวกล่าวถึงพระอาจารย์เกิ่ง
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
กล่าวถึง
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก
ไว้ว่า
“ท่านอาจารย์เกิ่ง นี่ก็เป็นคนสามผง ลูกศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ท่านเป็นพระที่จริงจังมากนะ เด็ดเดี่ยว ท่านอาจารย์เกิ่งเราก็คุ้นเคยกับท่านอยู่แล้ว อันนี้เราไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ได้ทราบว่าอัฐิธาตุของท่านเป็นพระธาตุ เราเชื่อไว้ก่อนแล้วแหล่ะ เรายังไม่ไปเห็นแต่เราก็เชื่อไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วเพราะเชื่อปฏิปทาการดำเนิน ความสัตย์ ความจริงของท่าน เคร่งครัดในธรรมวินัยมาก เพราะเชื่อปฏิปทาของท่านเป็นความเด็ดเดี่ยวจริงจังมากทุกอย่าง คล้ายคลึงกับนิสัยพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรา นิสัยเด็ดเดี่ยวจริงๆ ว่าอะไรเป็นอันนั้นเลยเทียว
นี่แหละหลวงปู่มั่นเราเป็นอย่างนั้น เด็ดเดี่ยว ว่าอะไรเป็นอันนั้น ท่านอาจารย์เกิ่งก็เหมือนกัน นิสัยแบบเดียวกัน”
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
29
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:50
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านอาจารย์เกิ่ง
ส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๓
เทศน์อบรม ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
ท่านอาจารย์เกิ่ง นี่ก็เป็นคนสามผง ลูกศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ท่านอาจารย์เกิ่งนี้แต่ก่อนท่านเป็นอุปัชฌาย์ ท่านอาจารย์เกิ่ง ท่านอาจารย์สีลา นี้ล้วนแล้วแต่เคยเป็นอุปัชฌาย์มาก่อนในฝ่ายมหานิกาย แล้วเกิดความเคารพเลื่อมใสเมื่อได้ยินได้ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเราแล้ว เลยยกวัดญัตติใหม่หมดเลย
อุปัชฌาย์ท่านอาจารย์เกิ่งนี้องค์หนึ่ง ท่านอาจารย์สีลา บ้านวา อากาศอำนวยนี้องค์หนึ่ง ท่านอาจารย์เกิ่งนี้อยู่บ้านสามผง ยกขบวนไปญัตติเลย ญัตติทั้งวัด วัดอุปัชฌาย์เกิ่งหมดทั้งวัด
อุปัชฌาย์สีลาก็ยกหมดทั้งวัด ญัตติใหม่ นี่เป็นลูกศิษย์องค์สำคัญของท่านองค์หนึ่ง ก็คงเป็นนิสัยวาสนาจะเกี่ยวโยงอะไรกันมากับท่านนั่นแหละ นี่ละสายบุญสายกรรม หากเป็นมาเองนะ ท่านได้รับการอบรมกับหลวงปู่มั่นมาเต็มที่แล้ว จากนี้ท่านก็แยกออกไปนู่น ลงชลฯ ไปทางชลฯ เลยท่านไปตั้งวัดอะไร
บางพระ
นั่นท่านอาจารย์เกิ่งนะนั่น เหตุที่ท่านเหล่านั้นจะเข้าอกเข้าใจทางด้านธรรมปฏิบัติ ก็ท่านอาจารย์เกิ่งไปพักที่นั่นตั้งที่นั่น ไปอยู่หลายปีนะ บางพระ ท่านไปพักที่นั่นหลายปีแล้วแถวนั้น ท่านตั้งสำนักไว้ในที่ต่างๆ ตามประชาชนเขาขอร้องให้สร้างวัด
ท่านเป็นพระที่จริงจังมากนะ เด็ดเดี่ยว ท่านอาจารย์เกิ่งเราก็คุ้นกับท่านอยู่แล้ว อันนี้เราไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ได้ทราบว่าอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุนะ เราเชื่อไว้ก่อนแล้วแหละ เพราะท่านจริงจังมาก ข้อวัตรปฏิบัติเคร่งครัดทางธรรมวินัย แต่เรายังไม่ได้ไปเห็นจริงๆ ที่ว่าเป็นพระธาตุแล้วนะ เรายังไม่ไปเห็น แต่เราก็เชื่อไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะเชื่อปฏิปทาการดำเนิน ความสัตย์ความจริงของท่าน เคร่งครัดในธรรมวินัยมาก ลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทางจังหวัดชลบุรีน้อยเมื่อไร ลูกศิษย์ลูกหาท่านอาจารย์เกิ่งนี่ ทั้งพระทั้งอะไรนะ ประชาชนก็เยอะ พระก็เยอะ แล้วจากนั้นก็ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ
พระกรรมฐานเราเกี่ยวโยงกันตั้งแต่โน้นละ ตั้งแต่ท่านอาจารย์เกิ่งไป เป็นรู้สึกจะเป็นครั้งแรกเลย ทางฝ่ายกรรมฐานสายหลวงปู่มั่นลงไปทางเมืองชลฯ นะ มีท่านอาจารย์เกิ่ง จากนี้ก็องค์นั้นไป องค์นี้ไป ท่านอาจารย์เกิ่งเป็นหลักอยู่นั้นนาน โอ๊ย หลายปีนะ เราไปพบกันอยู่ที่สกลนคร ที่ท่านมาเยี่ยมหลวงปู่มั่น พบกันกับเราที่สกลนคร
ตอนนั้นท่านอยู่จังหวัดชลฯ อยู่นะ ท่านยังไม่มา ท่านมาเยี่ยมบ้านของท่านด้วยความจำเป็น แล้วก็มากราบพ่อแม่ครูจารย์มั่นเรา ก็ได้พบกันกับเราที่สกลนคร จากนั้นท่านก็กลับไปเมืองชลฯ คือตอนนั้นท่านยังอยู่โน้น ท่านยังไม่มา ตอนแก่นี่ท่านถึงได้ย้ายมาทางสามผง ก็มามรณภาพทางนี้ โห ท่านเป็นพระเด็ดเดี่ยวมากนะ แต่เรายังไม่ได้เข้าไปดูที่สำนักของท่าน บางพระ ว่าอยู่บางพระว่างั้นนะ จังหวัดชลฯ ผ่านไปผ่านมาหากไม่ได้เข้า ท่านอยู่จริงๆ สำนักนั้นอยู่ที่ตรงไหน บอกแต่ว่าบางพระเท่านั้นแหละ ท่านอยู่นาน แล้วแถวรอบๆ นั้นยังมีนะ แตกสาขาออกไป
พวกพระพวกอะไรที่มารับการศึกษาจากท่าน เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่าน กระจายออกไปตามเกาะตามอะไรก็มีอยู่ทางนั้นนะ เราไปอะไร เขาเลยบอก นี่สำนักนี้เราลืมแล้วแหละ เราไปเห็นสำนักนี้ก็ท่านอาจารย์เกิ่งท่านมาสร้าง พาลูกศิษย์มาสร้างที่นี่ ไม่ใช่บางพระนะ แถวนั้นแหละเป็นเกาะอะไรไม่รู้ เราก็ไปซอกแซก มันก็ดื้อเหมือนกันนั่นแหละ ไปที่นั่นที่นี่เห็นหมด
ท่านเป็นพระที่น่าเคารพมาก
พูดถึงเรื่องท่านอาจารย์เกิ่ง ท่านไปทำประโยชน์ทางเขตเมืองชลฯ นี้มากที่สุด ดูว่าไม่ได้ไปทางระยองนะ ทราบว่าอยู่เขตเมืองชลฯ กว้างขวาง สำนักต่างๆ ออกจากท่านองค์เดียว มีลูกศิษย์ลูกหาไปตั้งสำนักมีความเคารพเลื่อมใสบวชอยู่กับท่าน แล้วก็แยกออกไปตั้งหลายแห่งจนกระทั่งทุกวันนี้
นี่ท่านอาจารย์เกิ่ง ทราบว่าอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุแล้ว แต่เรายังไม่ได้ไปเห็น แต่เราค่อนข้างจะเชื่อไว้แล้ว ถึงยังไม่เห็นก็ตาม เพราะเชื่อปฏิปทาของท่าน เป็นคนเด็ดเดี่ยวจริงจังมาก ทุกอย่างคล้ายคลึงกับนิสัยพ่อแม่ครูจารย์มั่นเรา นิสัยเด็ดเดี่ยวจริงๆ ว่าอะไรเป็นอันนั้นเลยเทียว นี่ละหลวงปู่มั่นเราเป็นอย่างนั้น เด็ดเดี่ยว ว่าอะไรเป็นอันนั้น ท่านอาจารย์เกิ่งก็เหมือนกัน นิสัยแบบเดียวกัน มาพบก็คุยสนิทสนมกันอยู่กับท่านนะ
ตอนที่ได้คุยกันพอสมควร ก็คือตอนที่ท่านมากราบเยี่ยมพ่อแม่ครูจารย์มั่น อยู่สกลนคร ท่านมาจากเมืองชลฯ มีลูกศิษย์ตาผ้าขาวมาคนหนึ่ง แล้วมีพระติดตามมาองค์เดียว เพราะท่านบอก ท่านมาชั่วคราวแล้วท่านจะกลับ ท่านว่างั้น กลับเมืองชลฯ ก็ได้คุยกันตรงนั้นแหละ
ดูลักษณะท่าทางของท่านสำคัญอยู่ จากนั้นก็ได้พบกันทางสามผงอีกทีนึงนะตอนท่านย้ายมาแล้ว ท่านแก่แล้ว ได้พบกันทีนึง ท่านอยู่สามผงเป็นอุปัชฌาย์ญัตติมาอยู่นั้น ท่านอาจารย์สีลาก็เสียแล้ว ท่านก็เสียแล้วแหละ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
.............................................................
• รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑)
http://www.sakoldham.com
- รวบรวมและเรียบเรียงโดย...
• อาบ นคะจัด (อดีตพระมหาอาบ อาภัสสโร)
- ตรวจแก้ไขโดย...
• สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙)
วัดสัมพันธวงศ์ แขวง/เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
• พระราชเมธากรกวี (สุบิน สุเมโธ ป.ธ. ๙)
วัดเทพนิมิต ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
ณ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒
(๒)
http://www.dharma-gateway.com
(๓)
http://www.luangta.com
• ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง
.....................................................
ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20021
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
kit007
kit007
ออฟไลน์
เครดิต
32163
30
#
เจ้าของ
|
โพสต์ 2013-11-13 16:51
|
ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• จากหนังสือไม่มาเกิดมาตายเรียกว่า ชาติสุดท้าย •
ตอบกลับ
สนับสนุน
คัดค้าน
ใช้ไอเท็ม
รายงาน
หน้าถัดไป »
1
2
3
4
/ 4 หน้า
ถัดไป
กลับไป
ตั้งกระทู้ใหม่
โหมดขั้นสูง
B
Color
Image
Link
Quote
Code
Smilies
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ลงชื่อเข้าใช้
|
ลงทะเบียน
รายละเอียดเครดิต
ตอบกระทู้
ข้ามไปยังโพสต์ล่าสุด
ตอบกระทู้
ขึ้นไปด้านบน
ไปที่หน้ารายการกระทู้
Share To Facebook
Share To Twitter
Share To Google+
Share To ...