ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 8449
ตอบกลับ: 30
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก วัดโพธิ์ชัย ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก


วัดโพธิ์ชัย   
ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม



“พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก” มีนามเดิมว่า เกิ่ง ทันธรรม เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม  พุทธศักราช ๒๔๓๐ ตรงกับแผ่นดินในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ณ บ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โยมบิดาชื่อ นายทัน ทันธรรม มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านหนองขอนขวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี  มีอาชีพค้าขาย ส่วนโยมมารดาชื่อ นางหนูมั่น ทันธรรม มีอาชีพทำไร่ทำนาสืบต่อครอบครัวของตน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕  คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓
            

๑. ชาติกำเนิดและอุปนิสัย  
           
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เป็นบุคคลรูปร่างสันทัด ไม่อ้วนไม่ผอม สูงประมาณ ๑๖๖ เซนติเมตร ผิวดำแดง มีนิสัยขยัน อดทน ประหยัด ตรงไปตรงมา เฉลียวฉลาด ชอบศึกษาหาความรู้ ชอบคิดริเริ่มทำการงานที่เป็นประโยชน์แก่หมู่คณะ  แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไป  มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความมุ่งมั่นในการงาน เมื่อลงมือทำกิจการงานใด ก็ตั้งใจทำให้เกิดผลจริงจัง เอาใจใส่เร่งรัดให้งานนั้นสำเร็จโดยเร็ว  และจะไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจทำงานนั้นๆ โดยง่าย  แม้จะยากลำบากปานใดก็ตาม และอุปนิสัยเด่นของท่านอีกประการหนึ่ง คือความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีอุปการคุณ เช่น บิดามารดา  อุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ ตลอดจนต่อชาติภูมิถิ่นกำเนิดของท่าน เป็นต้น นิสัยกตัญญูกตเวทีนั้น ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่วัยรุ่นจนตลอดชีวิตของท่าน มีตัวอย่างแสดงหลายประการ เช่น ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง เพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่โยมบิดา-โยมมารดา  

ตอนทำศพของท่านพระอาจารย์คำดี พระอุปัชฌาย์ของท่านสมัยอุปสมบทเป็นพระในฝ่ายมหานิกายนั้น แม้พระอาจารย์เกิ่งจะได้ญัตติใหม่เป็นพระในฝ่ายธรรมยุติกนิกายสายกรรมฐานแล้ว ท่านก็ยังให้ความเคารพนับถือท่านพระอาจารย์คำดีอยู่เสมอ เช่น ถวายดอกไม้ธูปเทียนและสิ่งของแด่ท่านพระอาจารย์คำดีเป็นครั้งคราว  

ครั้นถึงเวลาที่ท่านพระอาจารย์คำดีถึงแก่มรณภาพ ขณะนั้นพระอาจารย์เกิ่งจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดวิเวการาม บ้านอางพระ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พระอาจารย์เกิ่งได้ติดต่อญาติโยมทางบ้านสามผง ให้เก็บศพท่านพระอาจารย์คำดีไว้ระยะหนึ่งก่อน เพื่อท่านเองจะได้ร่วมเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เตรียมการฌาปนกิจศพพระอุปัชฌาย์เดิมของท่านให้ปรากฏเป็นเกียรติยศ พระอาจารย์เกิ่งได้พิมพ์หนังสือที่ท่านแต่งขึ้นเอง  คือหนังสือคำกลอนปลุกชาติ นำไปแจกเป็นของชำร่วยพร้อมกับเครื่องไทยทานอื่นๆ ที่ท่านนำไปร่วมทำบุญ  

ส่วนความกตัญญูต่อชาติภูมิถิ่นกำเนิดของท่านนั้น ผู้อ่านประวัติของพระอาจารย์เกิ่งในตอนต่อไป ก็จะเห็นได้ชัดแจ้งเองว่าท่านทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ได้ผลอย่างใด แก่ชุมชนชนบทที่ให้กำเนิดแก่ท่าน  อาทิ พระธรรมวินัยแห่งพระพุทธศาสนาอันถูกต้อง, การศึกษาทั้งพุทธศึกษา จริยศึกษา  และหัตถศึกษา, สิ่งก่อสร้างและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์อื่นที่ท่านทำ และนำพาสานุศิษย์ทั้งพระภิกษุสามเณรและประชาชนชาวบ้านทำ ที่พระอาจารย์เกิ่งได้นำมาและทำให้เกิดมีขึ้นในชุมชนถิ่นกำเนิดของท่าน รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงนั้น มีมากเกินกว่าที่ผู้รวบรวมและเรียบเรียงประวัตินี้ผู้เดียวจะจดจำและบันทึกได้อีกมากหลายนัก

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร


๒. การบรรพชาและอุปสมบท  

เมื่อสมัยเยาว์วัย ท่านเรียนหนังสือจากท่านผู้ใดที่ไหนบ้าง ไม่ปรากฏ แต่ท่านอ่านหนังสือไทย  หนังสือธรรม และหนังสือขอมได้แตกฉาน และสามารถสอนคนอื่นได้ ท่านเคยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๗ วันตามประเพณี ก็ลาสิกขา เพราะบวชในงานศพให้แก่โยมมารดาหรือโยมบิดาเท่านั้น

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ อายุได้ ๒๒ ปีบริบูรณ์ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง โดยมี ท่านพระอาจารย์คำดี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอาจารย์สอน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ ๒ พรรษา  

พรรษาที่ ๓ (พ.ศ. ๒๔๕๕ อายุ ๒๕ ปี) ได้พบ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร บ้านวาใหญ่ ต.วาใหญ่ อ.อากาศอำนวย  จ.สกลนคร  ซึ่งมีพรรษา ๓ เท่ากัน  เมื่อรู้จักกันก็รักใคร่นับถือกันมาก ไปไหนก็ไปด้วยกันเสมอ  เมื่อพรรษา ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๘  อายุ ๒๘ ปี) ไปเรียนในสำนักอาจารย์จัทร์แดง บ้านกุดกุ่ม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เมื่อเรียนจบก็กลับมาอยู่วัดโพธิชัย บ้านสามผง ตามเดิม เป็นครูสอนพระธรรมวินัยและภาษาไทยแก่ภิกษุสามเณรในวัด และสอนภาษาไทยแก่คฤหัสถ์หรือฆราวาสโดยตั้งเป็นโรงเรียนผู้ใหญ่ในวัดขึ้น

ในพรรษา ๙ (พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุ ๓๑ ปี) ท่านไปเรียนบาลีที่กรุงเทพฯ พร้อมกับพระอาจารย์สีลา ในสมัยนั้นการเดินทางมากรุงเทพฯ ยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน รถไฟมีไปถึงโคราชเท่านั้น ผู้ที่จะมากรุงเทพฯ โดยรถไฟต้องเดินทางมาขึ้นรถไฟที่โคราช  พระอาจารย์เกิ่งกับพระอาจารย์สีลา  ต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าจากบ้านสามผง ใช้เวลาเกือบสองเดือนจึงถึงโคราช  แล้วขึ้นรถไฟจากโคราชมากรุงเทพฯ  

ครั้งแรกพากันพักอยู่ที่วัดสระเกษ อยู่ไม่นานก็ย้ายไปอยู่วัดปรินายก จำพรรษาอยู่ ๒ พรรษา ท่านเดินไปเรียนหนังสือบาลีที่วัดมหาธาตุฯ พระอาจารย์สีลาเรียนบาลีไม่นานก็อาพาธเป็นโรคเหน็บชา จึงออกจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่บ้านดงนาดี อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เพื่อรักษาตัวรอพระอาจารย์เกิ่ง ซึ่งยังเรียนบาลีและนักธรรมไปพร้อมกันจนจบหลักสูตร แต่ยังไม่ได้สอบไล่ (การสอบสมัยนั้นใช้วิธีสอบปากเปล่า ไม่ได้สอบข้อเขียนเหมือนปัจจุบัน) ท่านก็อาพาธเป็นโรคเหน็บชา จึงออกจากกรุงเทพฯ เดินทางไปหาพระอาจารย์สีลา ที่บ้านดงนาดี ท่านพักรักษาตัวอยู่ประมาณ ๒ เดือน ก็พากันกลับบ้านสามผงทั้งสองรูป ท่านรักษาตัวอยู่ไม่นานก็หายเป็นปกติ
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล


๓. เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในพิธีบวชพระอาจารย์ทองรัตน์  


ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ พระอาจารย์เกิ่งท่านได้เข้าร่วมในพิธีอุปสมบทพระภิกษุรูปหนึ่งในฐานะพระกรรมวาจาจารย์ ในขณะนั้นท่านมีอายุ ๒๗ ปี พรรษา ๗ พรรษา พระภิกษุรูปนั้นคือ พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล ซึ่งตามประวัติที่เล่าไว้ในหนังสือ “มณีรัตน์ อัญมณีแห่งไพรสณฑ์” ว่า พระอาจารย์ทองรัตน์ในตอนนั้นอายุได้ ๒๖ ปี สาเหตุที่ออกบวชก็เนื่องจากท่านได้ไปจีบสาวต่างบ้าน สาวนั้นได้เกิดความชอบพอใจขึ้นมา  และหลายครั้งได้คะยั้นคะยอให้ท่านนำญาติผู้ใหญ่ไปสู่ขอตามประเพณี ถ้าไม่ไปสู่ขอ สาวเจ้าได้ยื่นคำขาดว่าจะขอหนีตาม

หนุ่มทองรัตน์ได้คิดอยู่หลายวัน ถ้าจะปล่อยให้สาวหนีตามก็ไม่อยู่ในวิสัยของลูกผู้ชายอย่างหนุ่มทองรัตน์จะทำ ถ้าบอกปฏิเสธก็กลัวว่าสาวเจ้าจะเสียใจ และได้ตัดสินใจว่าจะยังไม่ขอแต่งงาน ถ้าขืนอยู่ต่อไปก็คงจะไม่พ้นอยู่ดี จึงบอกกับบิดาว่า ให้พาไปฝากกับพระอุปัชฌาย์เพื่อบวช บิดาก็ไม่อยากให้บวช เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญในบ้าน จึงอยากให้มีครอบครัวมากกว่าให้ออกบวช แต่ก็ต้องยอมตามคำอ้อนวอน และเหตุผลที่ได้อ้างต่อบิดาว่า “ยังไม่อยากมีเมีย” บิดาของท่านจึงได้นำท่านไปบวชกับ พระอุปัชฌาย์คาร คนฺธิโย วัดโพธิชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โดยมี พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ทองรัตน์นี้ต่อมาก็ได้เป็นศิษย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


๔. ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์  

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๓ พระอาจารย์เกิ่งยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง และท่านได้เป็นสมภารหรือเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง สืบต่อจากพระอาจารย์สอน ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน นอกจากเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านยังได้รับตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย เพราะมีพรรษาเกินสิบพรรษา มีความยึดมั่นในพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ประกอบด้วยคุณสมบัติมีความรู้แตกฉานด้านพระปริยัติธรรม

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระอาจารย์เกิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนประถม ต.สามผง ได้รับเงินเดือน ๑๒ บาท ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น โรงเรียนประถมตั้งอยู่ในวัด ใช้ศาลาโรงธรรมเป็นอาคารเรียน

ในขณะเดียวกัน พระอาจารย์เกิ่งก็ได้ปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ด้วยการตั้งโรงเรียนนักธรรมและบาลีขึ้น ท่านเป็นครูผู้สอนเองทั้งนักธรรมและบาลี มีพระภิกษุสามเณรจากบ้านสามผงและบ้านอื่นๆ แม้จากต่างจังหวัดไกลๆ ก็มีมาเรียนกันมาก กุฏิที่อยู่ ที่ฉันอาหาร ที่ขับถ่ายของวัดจึงคับแคบ ไม่เพียงพอกับจำนวนพระภิกษุสามเณรผู้มาเรียน ท่านต้องสร้างกุฏิขึ้นใหม่ บริเวณเนื้อที่กุฏิคลุมประมาณ ๑ ไร่ หรือ ๔๐๐ ตารางวา กุฏิยกพื้นสูงประมาณ ๒ เมตรครึ่ง เป็นใต้ถุนสูง ตรงกลางสร้างเป็นกุฏิสมภารและรองสมภารเป็นรูปตัวยู กุฏิแถวนั้นแบ่งเป็นห้องๆ เรียงติดต่อกันมีจำนวนมากกว่า ๓๐ ห้อง แต่ละห้องกว้างประมาณ ๓ คูณ ๔ เมตร  

หน้าห้องกุฏิแถวเป็นระเบียงกว้างประมาณ ๒ เมตรครึ่ง ระเบียงใต้ชายคากุฏิแถวนี้โล่งยาว เดินถึงกันได้ตลอด ด้านหน้ากุฏิแถวเป็นรูปตัวยู ระหว่างเสาชายคาระเบียงกุฏิแถวทั้งหมดมีลูกกรงออกแบบสวยงาม และทำประตูลูกกรงนี้เปิดปิดได้กันไม่ให้สุนัขเข้าได้ ที่ระเบียงหน้าห้องกุฏิแถวใช้เป็นที่ฉันอาหารของพระภิกษุสามเณรเจ้าของห้องได้ด้วย ระหว่างกุฏิแถวกับกุฏิสมภารที่สร้างไว้ตรงกลางกุฏิแถวรูปตัวยูนั้น มีชานต่อเชื่อมกันโดยรอบ ชานกว้างประมาณ ๓ เมตร กุฏิสมภารที่อยู่ตรงกลางนั้น ทำเป็นอาคารมีหลังคาสูงกว่าหลังคากุฏิแถว  ขนาดอาคารมีความกว้างประมาณ ๘ เมตร ความยาวประมาณ ๑๘ เมตร ตัวอาคารด้านหน้าทิศตะวันออก เป็นห้องโถงใหญ่หนึ่งห้อง สำหรับประชุมสงฆ์และสวดมนต์ มีความยาวประมาณ ๙ เมตร ด้านหลังห้องโถงถัดไปตามลำดับมีห้องใหญ่ ๒ ห้อง ใช้เป็นที่พักของสมภารหนึ่งห้อง และของรองสมภารอยู่ติดกับห้องประชุม มีประตูเข้าออกหนึ่งประตูเชื่อมห้องประชุม และมีประตูเข้าห้องด้านขวาทางทิศเหนืออีกหนึ่งประตู  

ส่วนห้องรองสมภารก็มีประตูเข้าออกต่างหากทางด้านเหนือเช่นกัน อาคารหลังกลางทั้งหลังที่เป็นห้องประชุม ห้องสมภาร และห้องรองสมภารนี้ มีระเบียงใต้หลังคาโดยรอบมีความกว้างประมาณ ๒ เมตร มีลูกกรงรอบทุกด้าน มีประตูลูกกรงปิดเปิดทำไว้ ๕ ประตู คือ ด้านข้างด้านละ ๒ ประตู และตรงด้านหน้าห้องประชุมอีกหนึ่งประตู บันไดขึ้นอาคารกุฏิใหญ่ทั้งหลังมี ๓ บันได คือ ด้านหน้า ๒ บันได ตรงพื้นชานเชื่อมกุฏิแถวกับกุฏิใหญ่ทั้งด้านซ้ายและขวา อีกบันไดหนึ่งอยู่ด้านหลัง ตรงชานเชื่อมกุฏิแถวกับกุฏิสมภารลอดใต้ถุนกุฏิแถวลงไป ทั้งนี้ ทางขึ้นบันไดทั้ง ๓ แห่งมีลูกกรงและประตูเปิดปิดได้ทุกแห่ง
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กุฏิใหญ่ทั้งหลังสร้างด้วยไม้ตะเคียน วงกบประตูหน้าต่าง ลูกกรงระเบียง เข้าลิ้น และใช้สลักไม้แทนตะปูทั้งนั้น หลังคากุฏิแถวและกุฏิสมภารมุงด้วยไม้กระดานทั้งหมด รูปแบบกุฏิใหญ่ทั้งหลังนี้  ตั้งแต่ส่วนที่กำหนดไว้เป็นประโยชน์ใช้สอยเป็นห้องพัก ระเบียงฉันอาหาร ชานเชื่อมกุฏิแถวและกุฏิสมภาร รวมทั้ง   การเขียนรูปชาดก เช่น รูปพระมโหสถ รูปพระเตมีย์ใบ้ เป็นต้น ไว้ที่เพดานและฝาที่ต่อลงมาจากเพดาน โดยรอบห้องประชุมซึ่งทำฝาลงมาไว้แค่ประมาณ ๑ เมตรนั้น ทำให้ผู้เข้าไปชมต้องเพ่งดูและแหงนดูตลอด ด้วยความทึ่งและชื่นชมในความคิดอันละเอียดลึกซึ้งและรอบคอบของพระอาจารย์เกิ่ง นอกจากนี้ ยังมีอุโบสถขนาดเล็กอยู่หนึ่งหลัง ตั้งอยู่ด้านขวาของกุฏิหลังใหญ่เมื่อหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

รอบวัดทั้งหมดทำเสารั้วไม้เนื้อแข็งหกเหลี่ยม ตีไม้กระดานพาดเชื่อมรั้วโดยรอบ ประตูเข้าวัด ๔ ด้านเป็นประตูซึ่งทำเป็นขั้นบันไดเดินข้ามรั้วทั้งสิ้นโดยไม่มีประตูเปิดปิด ในบริเวณวัดมีต้นไม้นานาพันธุ์จำนวนมากมาย เช่น มะม่วง มะพร้าว กระท้อน มะไฟ เป็นต้น มีป้ายสลักบนแผ่นกระดานใหญ่ไว้ว่า ต้นไม้ที่เป็นไม้ผลทั้งหมดนี้ ชาวบ้านมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นหัวหน้า ได้ชำระเงินต่อวัดบูชาเป็นค่าต้นไม้ไว้แล้ว เด็กและผู้ใหญ่กินผลไม้ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นไม้ผลไม้ของสงฆ์ ที่จะเป็นบาปกรรมให้เป็นเปรตมาเฝ้าต้นไม้เมื่อตายไป

กุฏิที่พระอาจารย์เกิ่งสร้างหลังนี้ นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบและก่อสร้างด้วยฝีมือเป็นเอกชิ้นหนึ่งในยุคนั้น เสียดายที่ได้รื้อถอนไปหมดแล้ว โดยเอาไม้รื้อไปสร้างศาลาโรงธรรมและกุฏิที่วัดโพธิ์ชัยในปัจจุบันนี้ ซึ่งไม่มีรูปถ่ายไว้เป็นอนุสรณ์เลย อนึ่ง สถานที่ขับถ่ายที่เรียกว่าฐานหรือ “ส้วม” นั้นท่านได้สร้างไว้ใหญ่และสูงมาก ก่อด้วยอิฐถือปูน แบ่งเป็นหลายห้อง เพื่อให้เพียงพอแก่พระภิกษุสามเณรจำนวนมาก

เมื่อพระอาจารย์เกิ่งได้ญัตติใหม่จากเดิมซึ่งเป็นพระในฝ่ายมหานิกาย มาเป็นพระในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สาย ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้วประมาณ ๑๐ พรรษา ท่านได้ย้ายที่ตั้งของวัดโพธิ์ชัยออกมาตั้ง ณ ที่ป่าห่างจากหมู่บ้านสามผงประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปสร้างใหม่ตามสภาพที่เห็นในปัจจุบัน ตลอดจนได้ถือธุดงควัตรตามแบบท่านพระอาจารย์มั่นโดยเคร่งครัด อาทิเช่น ฉันอาหารมื้อเดียว ฉันในบาตร ขณะที่ฉันหากต้องลุกจากที่ฉันแม้จะยังไม่อิ่ม ก็ไม่ฉันต่ออีกเลยในวันนั้น เป็นต้น

ณ ที่ตั้งของวัดโพธิ์ชัยแห่งใหม่นี้ พระอาจารย์เกิ่งยังคงดำเนินกิจการสำนักเรียนนักธรรมและบาลี เพื่อสอนพระภิกษุสามเณรอยู่ตามเดิม นอกจากนี้ท่านยังได้รับเด็กๆ ลูกชาวบ้านมาเป็นเด็กวัด สอนให้มีจริยธรรม สอนเสริมภาษาไทย และเลขคณิตให้แก่เด็กที่ไปโรงเรียนประถม เด็กที่อยู่วัดกับพระอาจารย์เกิ่งต้องรักษาความสะอาดร่างกาย และเครื่องแต่งตัว ฝึกหัดระเบียบการกินการอยู่หลับนอน ท่านจะมีนกหวัดเป่าเรียกโดยจะมีรหัสเสียงเฉพาะตัวเด็กทุกคนไว้ ให้มาหัดคัดลายมือภาษาไทยและทำเลขคณิตในวันโรงเรียนหยุด พร้อมกับสอนวิธีประหยัดดินสอและสมุดที่ใช้เขียนด้วย เด็กแต่ละคนพระอาจารย์เกิ่งจะมอบหมายให้อยู่กับพระภิกษุหรือสามเณรตามที่ท่านเห็นสมควร เพื่อเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลเด็กอย่างทั่วถึง

พระอาจารย์เกิ่งได้รวบรวมหนังสือเรียนนักธรรมและบาลี ถึงขั้นนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๓ ประโยคไว้มาก ท่านจัดทำเป็นห้องสมุด มีหมวดหนังสือประเภทต่างๆ ไว้ดีมาก โดยมีพระภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฝึกหัดอบรมจากท่านแล้ว ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลหรือทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ ต่อมาท่านได้สร้างอาคารหอสมุดในสระน้ำที่ขุดขึ้นโดยเฉพาะ  เพื่อกันปลวกและสัตว์บางชนิดขึ้นไปทำลายหนังสือ ท่านสร้างสะพานลอยมีหลังคาไม้กระดาน มีความยาวประมาณ ๔๐-๕๐ เมตร ลงไปหาอาคารหอสมุด แต่เว้นว่างไม่ให้สะพานเชื่อมกับอาคารหอสมุดโดยตรง แต่จะเว้นไว้ห่างประมาณ ๒ ฟุต ใช้ไม้กระดานทอดเฉพาะเวลาจะเข้าออกหอสมุด เพื่อไม่ให้สัตว์ เช่น ปลวก หนู จิ้งจก เป็นต้น เข้าไปหาตัวอาคารหอสมุดได้  

ท่านตั้งชื่ออาคารหอสมุดซึ่งสร้างเป็นศาลา ๖ เหลี่ยมสวยงามหลังนี้ว่า “หอไตร” ซึ่งมีน้ำในสระที่ล้อมรอบหอไตรใสสะอาด มีบัวหลวงและบัวอื่นๆ หลายชนิดหลายสีบานสะพรั่ง มีฝูงปลามากมายแหวกว่ายอยู่ไปมา ท่านติดป้ายห้ามจับสัตว์ทุกชนิดในบริเวณโดยรอบ สถานที่บริเวณหอไตรนั้น ด้านหนึ่งเป็นป่าซึ่งเป็นบริเวณวัด ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้างใหญ่ ฤดูน้ำมีน้ำท่วมลึกขังอยู่ประมาณ ๑ เดือน เป็นสถานที่เงียบสงบ ลมพัดเย็นสบายเหมาะแก่การค้นคว้าตำรา และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ พระอาจารย์เกิ่งเป็นพระนักการศึกษา เป็นผู้รักการอ่านหนังสืออย่างยิ่ง จึงเห็นคุณค่าของการศึกษา หนังสือ และห้องสมุดมาก นับว่าเป็นพระภิกษุที่มีความคิดเห็นก้าวหน้าทันสมัยและมองเห็นการณ์ไกลได้เยี่ยมยอดมากองค์หนึ่งในยุคสมัยของท่าน
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
   
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)


๕. ญัตติเป็นธรรมยุต

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พระอาจารย์เกิ่งได้จาริกไปยังท้องที่ถิ่นต่างๆ เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ผู้แนะนำแนวทางปฏิบัติกรรมฐาน ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมาก มาพักผ่อนเพื่อหาความวิเวก และเผยแผ่ศีลธรรมแก่ประชาชน พักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองลาด ต.หนองลาด อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร พระอาจารย์เกิ่งจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นที่นั้น ได้ฟังพระธรรมเทศนา และเฝ้าดูข้อวัตรปฏิบัติของท่านอย่างใกล้ชิด ก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าที่บ้านสามผง (บริเวณใกล้กับบริเวณวัดโพธิ์ชัย ในปัจจุบัน)

พระอาจารย์เกิ่งใช้เวลาพิจารณาศึกษาจริยาวัตรและคำสอนทางปฏิบัติกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างใกล้ชิด และจริงจังตลอดพรรษา หลังเวลาออกพรรษาแล้ว ท่านได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างแก่กล้า จึงได้แจ้งการที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางชีวิตของท่านให้บรรดาพระภิกษุสามเณร และคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านได้ทราบว่า ท่านจะสละตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ และตำแหน่งเจ้าอาวาส เพื่อขอญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุติกนิกาย เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเท่ากับเป็นการอุปสมบทใหม่ นับพรรษาแห่งความเป็นพระภิกษุใหม่ในสายปฏิบัติแบบท่านพระอาจารย์มั่น มีคณะศรัทธาญาติโยมและศิษยานุศิษย์บางกลุ่มไม่เห็นชอบให้ท่านสละลาภยศที่พระอาจารย์เกิ่งมีอยู่แล้ว เพื่อเข้าสู่ภาวะเหมือนพระบวชใหม่โดยสิ้นเชิง  

พระอาจารย์เกิ่งได้ใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ จึงตัดสินใจเปลี่ยนฐานะในชีวิตของท่านอย่างอาจหาญ ในที่สุด พระอาจารย์เกิ่งก็ได้ขอญัตติใหม่เป็นพระธรรมยุติกนิกายกับท่านพระอาจารย์มั่น และได้ติดต่อนิมนต์ พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูชิโนวาทธำรง วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี มาเป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยมี ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั่งหัตถบาสรวมอยู่ในองค์สงฆ์นั้นด้วย  เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ เวลา ๑๓.๒๔ น. ณ อุทกุเขปสีมา หนองสามผง (อาคารพิเศษเหมือนอุโบสถกลางหนองน้ำ สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะขอญัตติใหม่ของพระอาจารย์เกิ่งครั้งนี้) บ้านสามผง ต.สามผง อ.ท่าอุเทน ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเขต อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

เมื่อได้ญัตติใหม่เป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกายแล้ว ในปีนั้นพระอาจารย์เกิ่งได้เดินทางออกจากวัดโพธิ์ชัย ไปพักจำพรรษาอยู่ ณ เสนาสนะป่า บ้านสามผง (ห่างจากวัดโพธิ์ชัยประมาณ ๑ กิโลเมตร) กับท่านพระอาจารย์มั่น โดยได้ฟังธรรมเทศนาและโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่น และได้ปฏิบัติรับใช้ท่านพระอาจารย์มั่นในฐานะลูกศิษย์ตลอดพรรษา รวมเวลาที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักจำพรรษาอยู่บ้านสามผง ๒ พรรษา คือก่อนพระอาจารย์เกิ่งญัตติใหม่หนึ่งพรรษา และหลังพระอาจารย์เกิ่งญัตติใหม่อีกหนึ่งพรรษา

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้เดินธุดงค์จาริกไปยังถิ่นต่างๆ เพื่อเผยแผ่ศีลธรรมแก่ประชาชน พร้อมกับพระภิกษุสามเณรจำนวนมาก โดยมีพระอาจารย์เกิ่งกับพระอาจารย์สีลาร่วมคณะไปด้วย เมื่อถึงจังหวัดอุบลราชธานี ท่านพระอาจารย์มั่นได้พักจำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองขอน อ.อำนาจเจริญ ส่วนพระอาจารย์เกิ่งกับพระอาจารย์สีลา ได้พากันไปพักจำพรรษาอยู่ที่บ้านน้ำปีก อ.อำนาจเจริญ เป็นเวลา ๒ พรรษา ได้สร้างวัด (สำนักสงฆ์) ไว้ที่นั้นด้วย ต่อจากนั้นท่านก็เที่ยวธุดงค์ไปท้องที่จังหวัดต่างๆ กับพระอาจารย์สีลา ได้มาถึงเมืองขอนแก่นแล้วไปพักอยู่ที่บ้านศรีฐาน ได้สร้างวัด (สำนักสงฆ์) ไว้ที่นั้นอีก ปัจจุบันชื่อว่า วัดป่าชัยวัน พระอาจารย์เกิ่งพักจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้นานเท่าใดไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่ทราบว่าที่บ้านศรีฐานนี้มีคนเคารพนับถือท่านมาก

เมื่อพระอาจารย์เกิ่งได้เที่ยวธุดงค์ไปทาง จ.นครราชสีมาและขอนแก่นพอควร จนได้แนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมั่นคงแล้ว  ก็กลับมาอยู่เสนาสนะป่าบ้านสามผงอีก ได้สร้างวัดป่า (วัดโพธิ์ชัย ในปัจจุบัน) ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่นเคยจำพรรษาอยู่บริเวณนั้น ขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ถาวรดังได้กล่าวถึงแล้ว

ครั้งนั้น ประชาชนชาวบ้านสามผง และหมู่บ้านเครือญาติใกล้เคียงกัน เช่น บ้านศรีเวินชัย และบ้านดงน้อย เป็นต้น นับถือพระพุทธศาสนาก็จริง แต่ยังมีความเคารพนับถือภูตผีปีศาจ ผีไท้ ผีปู่ตา และไสยศาสตร์ สืบต่อมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ พระอาจารย์เกิ่งเห็นว่าเป็นการเชื่ออย่างงมงาย ไร้เหตุผล ผิดหลักธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เท่ากับว่ายังไม่เคารพนับถืออย่างมั่นคงในพระรัตนตรัย พระอาจารย์เกิ่งท่านจึงตั้งปณิธานในการที่จะแนะนำสั่งสอนให้ประชาชนชาวบ้านแถบนั้น ให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ แล้วหันมาให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอย่างแท้จริง ด้วยอุบายต่างๆ ที่เหมาะสม โดยใช้บารมีของท่านเป็นกุศโลบาย เช่น ครอบครัวใดนับถือผีไท้ ผีปู่ตา อย่างงมงายมาก ท่านจะไม่รับนิมนต์และไม่ให้พระภิกษุสามเณรในปกครองของท่านไปสวดมนต์ทำบุญแก่ครอบครัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานศพหรืองานมงคล ท่านจะบอกว่าให้เขาไปนิมนต์ผีไท้ ผีปู่ตา ที่เขานับถือนั้นไปสวดมนต์ทำบุญให้เถิด ดังนี้เป็นต้น แต่นั้นมาความเชื่อในภูตผีปีศาจของประชาชนชาวบ้านก็ค่อยๆ หมดไป นับว่าพระอาจารย์เกิ่งได้ปฏิวัติฟื้นฟูจิตใจของประชาชนชาวบ้านในถิ่นนั้น ให้ตื่นจากมิจฉาทิฏฐิความหลงงมงายได้อย่างน่าสรรเสริญ


พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัดของพระอาจารย์เกิ่ง รวมทั้ง การปฏิบัติตามปณิธานอย่างมั่นคงในการเผยแผ่พระธรรมวินัยให้แก่พระภิกษุสามเณร และประชาชนชาวบ้านร่วมญาติ ร่วมชาติของท่าน ตลอดเวลาในชีวิตของท่าน ด้วยความอุตสาหะวิริยะอย่างยิ่ง เป็นที่ประจักษ์แก่คณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนที่เคารพนับถือท่านโดยทั่วไป เหตุเนื่องจากพระอาจารย์เกิ่งได้ตั้งปณิธานพุทธภูมิไว้ในใจของท่านนั่นเอง เพราะกลางคืนวันหนึ่ง พระอาจารย์เกิ่งได้เคยปรารถกับ พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม ณ วัดป่า (สำนักสงฆ์) แม่ริม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ขณะท่านไปพักเยี่ยมท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านป่าเปอะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้ ๓-๔ คืน พระอาจารย์ตื้อซึ่งพักอยู่ที่วัดป่าบ้านป่าเปอะกับท่านพระอาจารย์มั่น ได้กล่าวชวนพระอาจารย์เกิ่งให้ไปพักที่วัดป่าแม่ริมซึ่งพระอาจารย์ตื้อได้สร้างไว้ ปีนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๘๒ เห็นจะได้ คืนนั้นพระอาจารย์ทั้งสองนั่งสนทนาธรรมกัน  โดยมีสามเณรเล็กๆ รูปหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์เกิ่งนั่งอยู่ด้วย

พระอาจารย์เกิ่งได้พูดกับพระอาจารย์ตื้อ ตอนหนึ่งในคืนนั้นมีใจความว่า “...พุทธภูมิเป็นภาระที่หนักมาก ไม่เหมือนกับปัจเจกภูมิ บางครั้งก็อ่อนใจ เบื่อหน่าย อยากสละความปรารถนานั้น...” พระอาจารย์เกิ่งกับพระอาจารย์ตื้อเกิดที่หมู่บ้านชนบทใกล้กัน คือบ้านสามผงและบ้านข่า ตามลำดับ ซึ่งหมู่บ้านทั้งสองห่างกันประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ท่านทั้งสองจัดว่าเป็นสหธรรมิกที่สนิทต่อกันเป็นอย่างยิ่ง


พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม


พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๖. ตามพระอาจารย์มั่นไปอุบลราชธานี

หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว พระอาจารย์เกิ่งก็ได้ติดตามคณะท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป เดินทางมาที่บ้านโนนแดง อ.ท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่ง อ.นาหว้า) จ.นครพนม และที่นั้นได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแผ่ธรรมและไปเทศนาสั่งสอนโปรดชาวบ้านญาติโยมที่เมืองอุบลราชธานี และได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษยานุศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน

จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้ปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (โยมมารดาของท่านซึ่งบวชเป็นแม่ชี) ไปส่งมอบให้นางหวัน จำปาศีล น้องสาวของท่านที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อให้ช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ออกท่านชราภาพมาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถของท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกของท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของท่านพระอาจารย์มั่น แก่มาก หมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลราชธานีได้

การเดินทางไป จ.อุบลราชธานี อันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วยท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนคณะศรัทธาญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกรรมฐานและการถึงพระไตรสรณคมน์ ที่ให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษยานุศิษย์ไปในตัวด้วยว่าองค์ใดจะมีผีมือในการเผยแผ่ธรรม

ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย

การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้านประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกรรมฐานนั้นเป็นอย่างดี และต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกรรมฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกรรมฐาน

อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีกที่ จ.สกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาประจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยัง จ.อุบลราชธานี

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมายท่านพระอาจารย์มั่นต้องการจะเดินทางกลับไปที่ จ.อุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ในเขต อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านพักจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน

ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้พักอยู่ที่บ้านหนองขอนตามที่ชาวบ้านได้อาราธนาไว้ ส่วนพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น พักจำพรรษาอยู่ที่บ้านหัวตะพาน บริเวณใกล้เคียงกัน
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


๗. พระกรรมฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่

ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น พระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวงอำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกรรมฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่าในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกรรมฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้ง ท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า เป็นต้น นายอำเภอจนหมดแม้กระทั่งนามโยมบิดา-โยมมารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วม ๑๐๐ คน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็รีบเดินทางไปพบท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น ท่านพระอาจารย์มั่นทราบเรื่อง จึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า “แผ่นดินตรงนั้นขาด” คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่างพระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อนได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้