ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตฺตโก วัดโพธิ์ชัย ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ


พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร


พระอาจารย์กว่า สุมโน

12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๘. พระอาจารย์มั่นปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก

ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออกของท่านไปมอบให้น้องสาวในเมืองอุบลฯ ท่านพระอาจารย์มั่น และคณะศิษยานุศิษย์พักที่วัดบูรพาราม คณะศิษยานุศิษย์เก่าๆ ทั้งหลายอันมี พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร, พระอาจารย์กว่า สุมโน, พระอาจารย์คูณ, พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร, พระอาจารย์ดี ฉนฺโน, พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์ทอง อโสโก, พระอาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า), พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต, หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) เป็นต้น เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นฯ เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหมดมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคยๆ ปฏิบัติกันมา

ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า

“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้

ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูกๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย

อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่างๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”



พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม


พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 15:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครั้นปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้เรียกคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมีหลวงปู่สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่โยมมารดาของท่าน จนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลาโยมมารดา และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ

จากนั้นออกพรรษาแล้ว ประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เพื่อจำพรรษาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตาม ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายัง จ.เชียงใหม่


พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)  

14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 16:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๙. ติดตามหลวงปู่สิงห์ไปจังหวัดขอนแก่น

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ระหว่างนี้พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น กับพระภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของเจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อ.กุดชุม จ.ยโสธร ซึ่งเป็นบ้านญาติท่าน

ในช่วงที่พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น พักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหัวงัว ท่านก็ได้ทราบข่าวจาก พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติของท่านด้วย ว่าทางขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี ขณะนั้นพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ที่หนองน่อง บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.นครพนม ก็ได้มากราบนมัสการและได้ร่วมปรึกษาหารือกับพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ในเรื่องดังกล่าว และเห็นควรลงไปช่วยพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทาง โดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

เมื่อเป็นดังนั้น ชาวอำเภอยโสธร มีอาจารย์ริน อาจารย์แดง อาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และคณะได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ ไปพักแรมอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านกล่าวกันว่าผีดุ มีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์ฟังธรรมมากมาย จากนั้นเดินทางต่อไปถึงบ้านโนนยาง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตรงกับเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ และได้ไปรวมกันอยู่ที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น


พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 16:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๐. เหตุการณ์ไม่สู้ดีที่ขอนแก่น

ที่เมืองขอนแก่นนั้น คณะพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นได้พบว่าเหตุการณ์ก็ไม่สู้ดีตามที่ พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) ว่าไว้ ดังที่ปรากฏในหนังสืออัตตโนประวัติ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ซึ่งในสมัยนั้นท่านได้ร่วมอยู่ในคณะด้วย ท่านได้เขียนไว้ว่า

“ข้าได้พักอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ฟังเสียงพวกโยมคนเมืองขอนแก่น ไม่เคยเห็นพระกรรมฐาน ตื่นเต้นกล่าวร้ายติเตียนกันไปสารพัดต่างๆ นานา มิใช่เขาตื่นเต้นไปทางกลัวทางเสื่อมใส ดังพวกชาวเมืองราชคฤห์ตื่นเต้นคราวได้เห็นพระพุทธเจ้าออกบรรพชาใหม่ไปเที่ยวบิณฑบาตนั้น

โยมคนเมืองขอนแก่นพากันตื่นเต้นอย่างเห็นพระกรรมฐานเป็นสัตว์ เรียกพวกพระกรรมฐานว่า “พวกบักเหลือง” คำว่า “บักเหลือง” นี้เขาว่าพระกรรมฐานทั้งหลายเป็นงูจงอาง อีหล้าคางเหลือง

ฉะนั้น จึงมีคนเขาออกมาดูพวกพระกรรมฐาน เขาจำต้องมีมือ ถือไม้ค้อนกันมาแทบทุกคน เมื่อมาถึงหมู่พวกข้าแล้ว เขาถือไม้ค้อนเดินไปมาเที่ยวดูพระเณรที่พากันพักอยู่ตามร่มไม้และร้านที่เอากิ่งไม้ แอ้ม และมุงนั้น ไปๆ มาๆ แล้วก็ยืนเอาไม้ค้อนค้ำเอว ยืนดูกันอยู่ก็มีพอควร แล้วก็พากันกลับบ้าน เสียงร้องว่า เห็นแล้วละพวกบักเหลือง พวกอีหล้าคางเหลือง พวกมันมาแห่น (แทะ) หัวผีหล่อน (กะโหลก) อยู่ป่าช้าโคกเหล่างา มันเป็นพวกแม่แล้ง ไปอยู่ที่ไหนฝนฟ้าไม่ตกเลย จงให้มันพากันหนี ถ้าพวกบักเหลืองไม่หนีภายในสามสี่วันนี้ ต้องได้ถูกเหง้าไม้ไผ่ค้อนไม้สะแกไปฟาดหัวมันดังนี้ไปต่างๆ นานา จากนี้ไปก็มีเขียนหนังสือปักฉลากบอกให้หนี ถ้าไม่หนีก็จะเอาลูกทองแดงมายิงบูชาละ ดังนี้เป็นต้น

ไปบิณฑบาตไม่มีใครยินดีใส่บาตรให้ฉัน จนหลวงปู่สิงห์ภาวนาคาถาอุณหัสสวิชัย ว่าแรงๆ ไปเลยว่า ตาบอดๆ หูหนวกๆ ปากกืกๆ (ใบ้) ไปตามทางบิณฑบาตนั้นแหละ ทั้งมีแยกกันไปบิณฑบาตตามตรอกตามบันไดเรือนไปเลย จึงพอได้ฉันบ้าง ทั้งพระอาจารย์ก็มีการประชุมลูกศิษย์วันสองวันต่อครั้งก็มี

ท่านให้โอวาทแก่พวกลูกศิษย์ได้มีความอบอุ่นใจ ไม่ให้มีความหวาดกลัวอยู่เสมอ แต่ตัวข้าก็ได้อาศัยพิจารณากำหนดจิตตั้งอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ นี้อยู่เรื่อยไป”



พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 16:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร


พระอาจารย์ดี ฉนฺโน


พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต

17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 16:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2013-11-13 16:22

๑๑. แยกย้ายกันไปตั้งวัดใหม่

ที่วัดป่าเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) พระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ ได้ประชุมตกลงให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าฝ่ายอรัญวาสีขึ้นหลายแห่งใน จ.ขอนแก่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ โดยได้แยกกันอยู่จำพรรษาตามสำนักสงฆ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม, พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม) ต.โนนทัน อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๒. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านพระคือ อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๓. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านผือ ต.โนนทัน อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๔. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าชัยวัน บ้านสีฐาน อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๕. พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านคำไฮ ต.เมืองเก่า อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๖. พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านทุ่ง อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๗. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านโคกโจด อ.พระลับ จ.ขอนแก่น

๘. พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

๙. พระอาจารย์นิน อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าสุมนามัย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในพิธีอุปสมบทญัตติ “พระจวน กลฺยาณธมฺโม” มาเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ในนามฉายาใหม่ว่า “กุลเชฏฺโฐ” แปลว่า “พี่ชายใหญ่สุดของวงศ์ตระกูลนี้” โดยมี พระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พัทธสีมาวัดป่าสำราญนิเวศน์ ต.บ้านบุ่ง อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ต.บ้านบุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ในปัจจุบัน)


พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 16:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๒. กลับไปอยู่ถิ่นเดิม

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก, พระอาจารย์บุญมา มหายโส (พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ), พระอาจารย์ทอง อโสโก, พระอาจารย์สนธิ์, พระอาจารย์คำ คมฺภีโร และพระอาจารย์จรัส พร้อมด้วยพระภิกษุและสามเณรหมวดละ ๗ องค์ ได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในท้องที่ จ.นครพนม

เมื่อไปถึงจังหวัดนครพนมแล้ว ท่านได้แยกกันอยู่ตามสำนักต่างๆ ดังนี้

๑. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก อยู่สำนักวัดโพธิ์ชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์

๒. พระอาจารย์บุญมา มหายโส อยู่สำนักวัดอรัญญิกาวาส ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ

๓. พระอาจารย์ทอง อโสโก อยู่สำนักสงฆ์วัดเกาะแก้วอัมพวัน ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

๔. พระอาจารย์สนธิ์ อยู่สำนักสงฆ์วัดถ้ำบ้านนาโสก ต.บ้านแก้ง อ.นาแก จ.นครพนม

๕. พระอาจารย์คำ คมฺภีโร อยู่สำนักสงฆ์วัดป่าศิลาวิเวก อ.มุกดาหาร จ.นครพนม (ต.ศรีบุญเรือง อ.เมือง จ.มุกดาหาร ในปัจจุบัน)

๖. พระอาจารย์จรัส อยู่สำนักสงฆ์วัดป่าท่าควาย อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 16:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๓. งานการพัฒนาชุมชนในชนบท

ความคิดและโครงการพัฒนาชุมชนในชนบทของพระอาจารย์เกิ่ง มีมากมายหลายประการ อาจสรุปให้สั้นพอเข้าใจง่ายได้ ๒ ด้าน คือ ด้านพัฒนาคน และด้านพัฒนาวัตถุและสิ่งที่เป็นสารประโยชน์

๑๓.๑ ด้านพัฒนาคน : พิจารณาจากผลงานด้านการพัฒนาคนของท่านแล้ว อาจกล่าวได้ว่าพระอาจารย์เกิ่งมีธรรมจักษุอันแจ่มชัดในเรื่องความเจริญของชุมชน ว่าเกิดจากคนที่มีสติปัญญาและมีฝีมือในเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ หากขาดคนที่มีปัญญาและฝีมือ ชุมชนนั้นๆ ก็จะขาดความเจริญในทุกด้าน

ดังนั้น พระอาจารย์เกิ่งจึงได้ทำงานด้านให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร และประชาชนชาวบ้านสามผงและชาวบ้านอื่นๆ ที่เข้ามาเป็นศิษย์ของท่านอย่างต่อเนื่อง เช่น เป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี ณ วัดโพธิ์ชัย มาโดยตลอดเวลาที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส รวมทั้งในเวลาที่พระภิกษุอื่นเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น  อนึ่ง ไม่เฉพาะแต่เป็นผู้บริหารการศึกษานักธรรมและบาลีเท่านั้น ท่านยังเป็นครูผู้สอนด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพของความเป็นครูสูงมาก จนเป็นที่น่าอัศจรรย์ แม้ลูกศิษย์พระภิกษุสามเณรบางรูปที่ครูคนอื่นสอนเท่าใดก็ไม่มีทางจะทำให้เข้าใจหรือจำได้ ซึ่งคนชนิดนี้เรียกกันว่า “คนปึกหนา” หรือคนสมองทึบ แต่ท่านจะสอนคนปึกหนาให้เสียน้ำใจเลย เรื่องนี้มีตัวอย่างและพยานหลักฐานในหมู่ศิษยานุศิษย์ของพระอาจารย์เกิ่งกล่าวขวัญกันอยู่โดยทั่วไปจนถึงทุกวันนี้  

นอกจากสอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณรแล้ว พระอาจารย์เกิ่งยังสอนความรู้สึกและการฝีมืออย่างอื่น ที่จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตภายหน้าของพระภิกษุสามเณรที่อาจลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสอีกด้วย  เช่นให้ไวยาวัจกรวัดจัดหาจักรเย็บผ้ายี่ห้อพ๊าฟฟ์มาไว้ที่วัด ๑ คัน แล้วสอนพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดให้เย็บจักรเป็นเพื่อเย็บสบง จีวร สังฆาฏิ ตลอดจนเสื้อกางเกงสำหรับเด็ก ท่านสอนวิธีการจัดผ้าอังสะ สบง จีวร สังฆาฏิ และเสื้อกางเกง แก่พระภิกษุสามเณรและเด็กวัดด้วย สอนการฟอกหนังสัตว์ (วัว ควาย และอื่นๆ) เป็นขั้นตอน แล้วฟอกสีด้วยเปลือกไม้จนเป็นหนังฟอกสีน้ำตาลแก่ สำเร็จเป็นผืน แล้วสอนการตัดและเย็บหนังเป็นรองเท้า และของใช้อื่นๆ อีกหลายอย่าง สอนการตีเหล็กและชุบเหล็กเป็นมีด จอบ เสียม สว่าน และเครื่องใช้อื่นๆ ประจำบ้าน  

ที่วัดของท่านมีโรงตีเหล็กและเตาสูบตีเหล็กไว้เพื่อใช้ทำงานเพื่อสอน และเพื่อให้ประชาชนชาวบ้านทั่วไปได้ใช้ด้วย ท่านสอนการทำกระดานดำและชอล์กจากดินสอพองใช้เอง โดยให้พระภิกษุสามเณรและเด็กวัดช่วยกันทำตามแบบพิมพ์ที่ท่านประดิษฐ์ขึ้น, สอนการออกแบบอาคาร เช่น ศาลา กุฏิ ส้วม กระเบื้องมุงหลังคา ฯลฯ สอนการผสมปูนและทำเสาคอนกรีต, การช่างไม้และการก่อสร้าง และอื่นๆ อีกหลายอย่าง มีคนบอกว่า พระอาจารย์เกิ่งพร่ำสอนคณะศิษยานุศิษย์เสมอว่า “คนเรามีสมอง มีมือ มีตีน ต้องรู้จักใช้มันให้ทำงานให้เกิดประโยชน์ อย่าปล่อยทิ้งมันไว้เฉยๆ ธรรมชาติสร้างมันมาให้เราใช้....อย่าหายใจเข้าออกแยๆ ให้รู้จักเสียดายลมหายใจ....เมื่อคิดได้ทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นคนดี ตั้งตัวได้ทั้งในวัดและในบ้าน....”   

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านลงไปทางภาคกลาง คือ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี นำพระภิกษุสามเณร และเด็กวัดลูกศิษย์ไปด้วย คือ พระหนึ่ง เณรสอง และเด็กหนึ่ง ท่านได้ฝากสามเณรและเด็กวัดลูกศิษย์ที่ท่านพาไปด้วยไว้กับพระผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพนับถือ เพื่อให้ช่วยอุปการะให้การศึกษาเล่าเรียน สามเณรและเด็กนั้นๆ ได้รับการศึกษาทั้งทางศาสนาและทางโลก ได้เปรียญธรรมชั้นสูง ได้ศาสนศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก บางคนได้ศึกษาต่อถึงขั้นปริญญาตรี โท และเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นจำนวนหลายคน
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-13 16:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน


อุโบสถวัดป่าสาลวัน ในปัจจุบัน


เมื่อท่านลงไปภาคกลางประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๘ นั้น ปีแรกท่านพักจำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระกรรมวาจาจารย์ของท่าน ต่อมาท่านจาริกไปที่จังหวัดชลบุรี พักจำพรรษาอยู่ที่พัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้สร้างวัดที่พัทยาขึ้น ปัจจุบันชื่อ วัดชัยมงคล โดยมอบหมายให้พระอาจารย์บุญมา มหายโส (พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ) อยู่ที่นั่น ส่วนท่านไปสร้างวัดร้างที่บ้านบางพระ ต.บางพระ อ.ศรีราชา ชื่อ วัดวิเวการาม และพักจำพรรษาอยู่ที่นั่นหลายปี

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระอาจารย์เกิ่งท่านกลับไปบ้านสามผง เพื่อจัดงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์คำดี พระอุปัชฌาย์ของท่าน เมื่อสมัยอุปสมบทเป็นพระในฝ่ายมหานิกาย ท่านจัดพิมพ์หนังสือที่ท่านแต่งเอง ชื่อ “คำกลอนปลุกชาติ” เป็นคำกลอนภาษาไทยอีสาน ไปแจกในงานฌาปนกิจศพด้วย เสร็จงานท่านก็กลับมาอยู่วัดวิเวการาม บ้านบางพระ ตามเดิม ท่านได้นำพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัดติดตามท่านมาหลายคน ฝากให้แยกย้ายกันไปอยู่ตามวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษาเล่าเรียน  

ศิษย์ของพระอาจารย์เกิ่งที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ก็มีหลายท่าน เช่น พระราชเมธากรกวี (สุบิน สุเมโธ ป.ธ. ๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิต ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา, พระเทพสุเมธี (ไพบูลย์ อภิวณฺโณ ป.ธ. ๕) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโพนเมือง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต), พระศรีธรรมวงศาจารย์ (ปาน ป.ธ. ๕) อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี และ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เป็นต้น สำหรับศิษย์ท่านที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานก็มีหลายท่าน เช่น พระอาจารย์แว่น ธนปาโล วัดถ้ำพระสบาย ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เป็นต้น  

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้