|
๘. พระอาจารย์มั่นปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก
ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออกของท่านไปมอบให้น้องสาวในเมืองอุบลฯ ท่านพระอาจารย์มั่น และคณะศิษยานุศิษย์พักที่วัดบูรพาราม คณะศิษยานุศิษย์เก่าๆ ทั้งหลายอันมี พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร, พระอาจารย์กว่า สุมโน, พระอาจารย์คูณ, พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร, พระอาจารย์ดี ฉนฺโน, พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์ทอง อโสโก, พระอาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า), พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต, หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) เป็นต้น เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นฯ เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหมดมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคยๆ ปฏิบัติกันมา
ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า
“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้
ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูกๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย
อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่างๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”
พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม
พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต
|
|