ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน วัดป่ากลางโนนภู่ ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)  



๏ ช่วยพระอาจารย์ฝั้นแก้ปัญหา

ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ปีนั้นพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้จำพรรษาที่วัดบ้านผือ ตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ครั้นพอออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์อ่อน ได้เที่ยวธุดงค์กรรมฐานไปจนถึงหมู่บ้านจีด ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี บังเอิญได้ข่าวว่า โยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนป่วยหนัก พระอาจารย์อ่อนจึงแยกไปรักษาโยมพี่สาว ส่วนพระอาจารย์กู่พำนักอยู่ที่บ้านจีดโดยลำพัง

ที่นั่นพระอาจารย์ฝั้นได้เผชิญศึกหนักเข้าเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ธรรมต่อไก่” ธรรมต่อไก่เป็นวิธีบรรลุธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งชีผ้าขาวคนหนึ่งชื่อ “ไท้สุข” บัญญัติขึ้นมาว่า หากใครนำไก่ตัวผู้และไก่ตัวเมียคู่หนึ่งมามอบให้ชีผ้าขาวแล้ว เพียงแต่กลับไปนอนบ้านก็สามารถบรรลุธรรมได้ มีชาวบ้านหลงเชื่อกันอยู่เป็นจำนวนมาก

พระอาจารย์ฝั้นได้ชี้แจงแสดงธรรมต่อไปทั้งวัน ชีผ้าขาวกับผู้ที่เชื่อถือเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมแพ้

ตอนหนึ่ง ชีผ้าขาว “ไท้สุข” อ้างว่าตนมีคาถาดี คือ ทุ โส โม นะ สา ธุ

พระอาจารย์ฝั้นจึงได้ออกอุบายแก้ว่า ทุ สะ นะ โส เป็นคำของเปรต ๔ พี่น้อง ซึ่งทั้ง ๔ พี่น้องก่อนตายเป็นเศรษฐี มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ตลอดชีวิตไม่เคยทำคุณงามความดี ไม่เคยสร้างบุญกุศลเลย เอาแต่ประพฤติชั่วเสเพลไปตามที่ต่างๆ ครั้นตายแล้วจึงกลายไปเป็นเปรตไปหมด ต่างตกนรกไปถึง ๖ หมื่นปี

พอครบกำหนด คนพี่โผล่ขึ้นมาก็ออกปากพูดได้คำเดียวว่า “ทุ”  พวกน้องๆ โผล่ขึ้นมาก็ออกปากได้คำเดียวเช่นกันว่า “สะ” “นะ” “โส” ตามลำดับ หมายถึงว่า เราทำแต่ความชั่ว เราไม่เคยทำความดีเลย เมื่อไหร่จะพ้นหนอ ฉะนั้น คำเหล่านี้จึงเป็นคำของเปรต ไม่ใช่คาถาหรือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สั่งสอนแก้ไขกันอยู่ถึงอาทิตย์หนึ่ง ก็ยังไม่อาจละทิฏฐิของพวกนั้นลงได้

พอดีโยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนหายป่วย พระอาจารย์อ่อนจึงย้อนกลับมา โดยมีพระอาจารย์กู่มาสมทบด้วยอีกรูปหนึ่ง กำลังใจของพระอาจารย์ฝั้นจึงดีขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางฝ่ายท่านมีท่านเพียงรูปเดียวเท่านั้น อธิบายอะไรออกไปก็ถูกขัดถูกแซงเสียหมด

ในที่สุดชีผ้าขาวกับพรรคพวกก็ยอมแพ้ ยอมเห็นตามและรับว่าเหตุที่เขาบัญญัติ “ธรรมต่อไก่” ขึ้นมาก็เพื่อเป็น “นากิน” (อาชีพหากินด้วยการหลอกลวง) และยอมรับนับถือพระไตรสรณคมน์ตามที่ท่านสั่งสอนไว้แต่ต้น


หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ อธิบายอุบายการภาวนาให้กับหลวงปู่เหรียญ

ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เที่ยวธุดงค์ขึ้นไปทางจังหวัดหนองคาย และได้ไปพักอยู่ที่วัดอรัญบรรพต อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย แต่ในสมัยนั้นยังไม่ได้การก่อสร้างถาวรวัตถุอะไร เป็นแต่ทำกุฏิอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ในระยะเวลาก่อนหน้านั้น คือเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ก็ได้บวชและจำพรรษาแรก ณ วัดศรีสุมัง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในระยะแรกหลวงปู่เหรียญก็ได้ศึกษาการปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์บุญจันทร์ รองเจ้าอาวาส พร้อมๆ กับเรียนนักธรรมไปด้วย พอปลายปีเมื่อสอบนักธรรมเสร็จก็กลับมายังวัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านพักอยู่หลังจากบวชแล้วก่อนที่จะย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีสุมัง

ในครั้งนั้น โยมบิดาของท่านได้ถวายหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสมถะและวิปัสสนา ซึ่ง พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นผู้เรียบเรียง เมื่อหลวงปู่เหรียญได้อ่านดูแล้วรู้สึกเกิดความสนใจขึ้น ในหนังสือเล่มนั้นท่านได้อธิบายเรื่องสติปัฏฐานสี่ โดยเฉพาะเรื่องกายานุปัสสนา ท่านก็ลองปฏิบัติไปตามหนังสือนั้น ก็ได้ผลดีพอสมควร จึงได้ตัดสินใจเข้าป่าไปเพื่อปฏิบัติธรรมกับพระอีกรูปหนึ่ง ในเดือน ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ แต่พระรูปนั้นอยู่ป่าได้ ๗ วันก็กลับวัดเดิม เนื่องจากภาวนาแล้วเจอนิมิตที่น่ากลัว จึงเกิดความกลัวขึ้นอย่างแรง

ส่วนหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ท่านก็อยู่ในป่าต่อเพียงองค์เดียว เพราะตอนนั้นกำลังเกิดปีติในธรรมปฏิบัติ จิตกล้าหาญเต็มที่ไม่ได้กลัวอะไรทั้งหมด กลัวแต่กิเลสมันจะครอบงำเอาเท่านั้น จึงได้เร่งทำความเพียรโดยไม่ย่อท้อ เมื่อท่านได้ความมั่นใจที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปแล้ว จึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ผู้พอจะแนะนำได้ ก็ได้มาพบกับ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน เมื่อได้พบพระอาจารย์กู่ครั้งแรก ก็มีความเลื่อมใสในปฏิปทาและข้อวัตรปฏิบัติของท่าน จึงได้เรียนถามอุบายภาวนาสมาธิกับท่าน พระอาจารย์กู่ท่านก็ได้อธิบายให้ฟังจนเข้าใจได้ดี แต่ก็ไม่ได้ติดตามท่านไปในที่อื่นเมื่อท่านย้ายไปเพราะมีอุปสรรคบางอย่าง

ในปีถัดมา คือ พ.ศ. ๒๔๗๗ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโต เป็นรองเจ้าอาวาส ในปีนี้หลวงปู่เหรียญก็ได้มาจำพรรษาอยู่กับท่านด้วย นับเป็นพรรษาที่ ๒ ของหลวงปู่เหรียญหลังจากที่ได้ญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖

ประวัติในช่วง ๕ ปีนี้ของพระอาจารย์กู่ได้ขาดตอนไป สันนิษฐานว่าท่านคงจะได้ธุดงค์เพื่อตามหาท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นธุดงค์อยู่ตามป่าเขาในแถบจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีประวัติกล่าวว่าพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์กว่า สุมโน ได้เคยมาพำนักที่วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วย

และมาปรากฏในประวัติของหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่เหรียญธุดงค์ขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่เพื่อไปติดตามท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อได้พบท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็ได้ธุดงค์ติดตามท่านไปยังที่ต่างๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงปู่เหรียญได้จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากญาติโยมนิมนต์ให้จำพรรษา หลวงปู่เหรียญได้อยู่เป็นเวลา ๔ ปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน และ พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ด้วย

ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ พระอาจารย์กู่ได้ออกเดินธุดงค์จากภาคเหนือ อำเภอสันกำแพง ลงมาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจึงไปจำพรรษาที่วัดป่าทุ่งสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ณ ที่นี้เอง ที่ทำให้บุคคลผู้หนึ่งได้มีโอกาสได้ฟังธรรมจากท่านจนเกิดความเลื่อมใส ก็คือ พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต ซึ่งขณะนั้นก็คือ นายบุญฤทธิ์ จันทรสมบูรณ์ ศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ถนนสามเสน และบัณฑิตนักเรียนทุน ก.พ. สาขาโบราณคดี จากประเทศเวียดนาม เมื่อจบแล้วกลับมารับราชการในกองการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และได้ถูกส่งมาเป็นล่ามประจำจังหวัดหนองคาย ณ ที่นี้เอง ที่พระอาจารย์บุญฤทธิ์ได้รู้จักกับคุณนายละเมียด สัชฌุกร ได้สนทนากันเรื่องพระพุทธศาสนา ซึ่งพระอาจารย์บุญฤทธิ์กำลังสนใจในเรื่องนี้อยู่ และได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระสูตรที่สำคัญที่สุดในการภาวนา คือ สติปัฏฐานสูตร แต่พระอาจารย์บุญฤทธิ์ไม่รู้จักการภาวนา และการปฏิบัติก็ยังไม่มี

คุณนายละเมียด ท่านนี้เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน วัดป่าทุ่งสว่าง จังหวัดหนองคาย ครั้นเมื่อมีโอกาส คุณนายละเมียดจึงได้พาพระอาจารย์บุญฤทธิ์ ไปกราบนมัสการพระอาจารย์กู่ ณ วัดป่าทุ่งสว่าง วัดเล็กๆ มีศาลาอเนกประสงค์หลังน้อยๆ หลังคามุงสังกะสีผุๆ ไม่มีฝา ขณะนั้นมีชาวบ้านกำลังนั่งฟังเทศน์จากพระอาจารย์กู่ ท่านก็เข้าไปนั่งฟังด้วย พอพระอาจารย์กู่เทศน์จบ พระอาจารย์บุญฤทธิ์ก็ได้สอบถามปัญหาธรรมะต่างๆ อย่างพรั่งพรู โดยพระอาจารย์บุญฤทธิ์บอกว่า เหมือนยิงลูกศรไปในอากาศ มีแต่ความว่าง พระอาจารย์กู่ท่านไม่มีอารมณ์เลย ท่านไม่มีขัดข้องอะไร มีแต่ความเมตตา ใจเย็นสม่ำเสมอ สบาย นี่ถ้าเป็นพระบางรูป คงจะโกรธแล้ว นึกในใจว่าพระรูปนี้ไม่ใช่พระธรรมดาเสียแล้ว ตรงนี้ทำให้พระอาจารย์บุญฤทธิ์มีความประทับใจพระอาจารย์กู่มาก จึงได้ไปสนทนากับท่านบ่อยๆ จนเกิดศรัทธาอยากจะบวชขึ้นมาทันที

ขณะนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านจึงได้ลาราชการมาเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูวิชัยสังฆกิจ เจ้าอาวาสวัดศรีเมือง และเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย (ธ) ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากอุปสมบทแล้ว พระอาจารย์บุญฤทธิ์ซึ่งเป็นพระภิกษุบวชใหม่ ได้ไปอยู่จำพรรษากับพระอาจารย์กู่ ที่วัดป่าอรุณรังษี อยู่หลังเรือนจำนอกเมืองหนองคาย อันเป็นอีกวัดหนึ่งที่พระอาจารย์กู่ปกครองดูแลอยู่ในสมัยนั้น พระอาจารย์บุญฤทธิ์ได้เริ่มปฏิบัติธรรมภาวนาทันที โดยมีพระอาจารย์กู่คอยให้คำแนะนำ และเมื่อปฏิบัติบ่อยๆ เข้าก็เกิดความปีติ มีความรู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมภาวนาทำให้จิตสงบ เป็นความสุขที่หาไม่ได้ง่ายนัก มาถึงตรงนี้ พระอาจารย์บุญฤทธิ์คิดว่าเราสบายแล้ว ไปออกเที่ยวเดินธุดงค์ดีกว่า ไปนานหรือไม่นานก็ไม่เป็นไร

ในช่วงนั้นพระอาจารย์บุญฤทธิ์ มีอายุ ๓๑ ปี ใจก็คิดอยากบวชไปนานๆ เลยทำหนังสือขอลาออกจากงานราชการ และกราบลาพระอาจารย์กู่ออกเที่ยวเดินธุดงค์ไป

ในปีถัดมา พระอาจารย์กู่ก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม


พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร


พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต


หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน-พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต)
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต


๏ แนะอุบายการอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นให้กับหลวงปู่หล้า

สมัยนั้นพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต กำลังเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่น โดยพักอยู่ที่ถ้ำพระเวส ในหุบเขาภูพาน ๒๐ กว่าวัน ก็ออกเดินทางต่อ เช้าวันรุ่งขึ้นก็เดินทางต่อไปถึงวัดป่าบ้านแก้งซึ่งเป็นวัดร้างไม่มีพระอยู่จำพรรษา ชาวบ้านแก้งก็มาร่วมกันใส่บาตร พอหลวงปู่หล้าฉันเสร็จก็ลาชาวบ้านออกเดินทางต่อไป ชาวบ้านเขาก็ไปส่ง

เมื่อไปถึงระยะทางที่พอจะไม่หลงแล้ว ท่านก็ให้ชาวบ้านกลับ ท่านก็เดินต่อมาเพียงองค์เดียว เดินลัดเลาะตามชายเขามาทางทิศตะวันตก มาค่ำเอาที่บ้านค้อพอดี ก็พักที่นั่น ตื่นเช้าบิณฑบาตแถวนั้น แล้วฉันเสร็จเดินทางต่อ มาค่ำเอาที่วัดป่าสุทธาวาสพอดี พักอยู่ที่นั้น ๓ คืน เมื่อไปถึงก็ไปกราบ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ท่านถามข่าวคราวความเป็นมาทุกประการแล้ว ท่านก็ให้ข้อแนะนำว่า “ใครจะไปหาองค์ท่านพระอาจารย์มั่น ต้องยอมตัวเป็นคนโง่ให้องค์ท่านเข่น จึงจะอยู่ได้ แม้ผมบางครั้งองค์ท่านดุด่าเหมือนเณรน้อย”

แล้วพระอาจารย์กู่ท่านย้อนถามคืนมาว่า “คุณมาพักขณะนี้ได้อุบายอะไรบ้าง”

หลวงปู่หล้ากราบเรียนว่า “ได้ คือ การไปมอบกายถวายตัวเพื่ออยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น อย่าสำคัญตัวว่าฉลาด ไม่เหมาะสมส่วนใดยอมให้องค์ท่านว่ากล่าวได้ทุกเมื่อ”

พระอาจารย์กู่จึงพูดตอบว่า “เออ ดีหละ ฟังเทศน์ออกนะ ผมขออนุโมทนาด้วย จงไปโดยเป็นสุขเถิด แต่ขอให้พักถ้ำผาแด่นก่อนสักคืนสองคืน เพราะได้มาใกล้แล้วจะเสียเที่ยว จากนี้ไปถึงถ้ำประมาณสิบสี่กิโลเมตรกว่าๆ”


พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล)  


หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม วัดป่าบ้านวไลย (วัดป่าวิทยาลัย) จ.ประจวบคีรีขันธ์  


หลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม สหธรรมิกคู่บารมีหลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม  

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม และวัดป่ากลางโนนภู่

ก่อนเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ พระอาจารย์ฉลวย หรือหลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม แห่งวัดป่าบ้านวไลย หรือวัดป่าวิทยาลัย ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ได้ออกเดินธุดงค์ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ที่ปากทางก่อนจะเข้าไปถึงวัดคือบ้านของ นายอ่อน โมราราษฎร์ ผู้ที่คอยอุปัฏฐากรับใช้ ให้ที่พัก และคอยรับส่งผู้ที่จะเข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ พระอาจารย์ฉลวยก็ได้ไปอาศัยพักเช่นกัน ในระหว่างที่ได้พูดคุยกัน นายอ่อน โมราราษฎร์ ได้กล่าวถึงสถานที่บริเวณบ้านกุดก้อมว่า

ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เคยกล่าวว่า ที่นั้นมีทำเลอันดีเหมาะสมที่จะสร้างวัด พระอาจารย์ฉลวยจึงขอให้นายอ่อนพาไปดู พบว่าเป็นสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การภาวนาจริง จึงได้บอกกับนายอ่อนว่า จะจำพรรษาที่นี่ ขอให้ช่วยจัดเสนาสนะให้ด้วย หลังจากไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็จะกลับมา นายอ่อนรับคำแล้ว พระอาจารย์ฉลวย หลวงพ่อก้าน พระสายบัว และพระทองม้วนจึงเข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ

หลังจากที่ได้กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว พระอาจารย์กู่ก็ได้พักอยู่ในวัดป่าบ้านหนองผือจนกระทั่งใกล้จะเข้าพรรษา จึงได้กราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อไปพักจำพรรษายังเสนาสนะที่ให้นายอ่อน โมราราษฎร์ จัดการอยู่ ฝ่ายนายอ่อนและชาวบ้านญาติโยมทั้งหลายกำลังลังเลว่า คณะของพระอาจารย์ฉลวยจะกลับมาจำพรรษาจริงหรือไม่ การสร้างเสนาสนะจึงยังค้างอยู่ เมื่อคณะของพระอาจารย์ฉลวยกลับมาถึงแล้ว จึงได้ช่วยจัดแจงจนแล้วเสร็จเรียบร้อยเป็นกุฏิ ๔ หลัง สำหรับพระภิกษุ ๔ รูป ทันเวลาเข้าพรรษาพอดี สถานที่ป่าดงก็กลายเป็นที่พักสงฆ์เล็กๆ ไป และต่อมานายอ่อนก็ได้ถวายที่ดินของตนเพิ่มเติมด้วย จึงได้สร้างเป็น วัดป่าบ้านภู่ หรือ วัดป่ากลางโนนภู่ ในเวลาต่อมา โดยมี พระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ เวลา ๒๐.๔๒ น. พระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม จึงได้เปลี่ยนญัตติจากคณะมหานิกายเป็นคณะธรรมยุติกนิกาย พร้อมกับ หลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “สุธมฺโม” และ “ฐิตธมฺโม” ตามลำดับ ซึ่งในขณะนั้นพระอาจารย์ฉลวยมีอายุ ๔๒ ปีแล้ว ท่านทั้งสองก็ได้พำนักจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่ากลางโนนภู่แห่งนี้ อีก ๑ พรรษา ได้สร้างเสนาสนะและเทศนาธรรมสั่งสอนชาวบ้านญาติโยมให้เกิดศรัทธาความเลื่อมใส ส่วนในการปฏิบัติภาวนานั้น พระอาจารย์ฉลวยจะมีนิมิตภาพเจดีย์ของวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรากฏอยู่เสมอ

ท่านจึงเกิดความสงสัยว่า วัดใหญ่ชัยมงคลกับท่านนั้นมีความสัมพันธ์อะไรกันหนอ เมื่อออกพรรษาแล้วท่านจึงชักชวนหลวงพ่อก้านออกเดินธุดงค์กลับมายังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีสามเณรติดตามมาด้วยองค์หนึ่ง ส่วนวัดป่ากลางโนนภู่นั้นพระอาจารย์ฉลวยได้นิมนต์ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน มาเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา


แถวหน้า จากซ้าย : หลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม, หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม,
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) และหลวงปู่ขาว อนาลโย


พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) กับเหล่าสัทธิวิหาริกในองค์ท่าน
อาทิเช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู,
หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม วัดป่าบ้านวไลย (วัดป่าวิทยาลัย) จ.ประจวบคีรีขันธ์,
หลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม วัดราชายตนบรรพต (วัดเขาต้นเกด) จ.ประจวบคีรีขันธ์

16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

“พิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พ.ศ. ๒๔๙๒”
ณ วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พิจารณาคานหาม เตียง แคร่ไม้ไผ่ มุ้ง ฯลฯ  
ที่เคยใช้ในคราวพระอาจารย์มั่น มาพักอาพาธและจำพรรษา ณ วัดป่ากลางโนนภู่



๏ วัดป่ากลางโนนภู่ ในปัจจุบัน

วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม เป็นวัดเก่าแก่สำคัญสายพระป่ากรรมฐานอีกวัดหนึ่ง อันเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พ.ศ. ๒๔๙๒” อาคารไม้ซึ่งเป็นกุฏิที่ท่านพระอาจารย์มั่นใช้พักในคราวอาพาธระยะสุดท้าย เป็นเวลา ๑๑ วัน ก่อนจะไปมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ในคืนเดียวกับที่ได้อาราธนาองค์ท่านมายังวัดป่าสุทธาวาส ภายในพิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่นฯ มีการจัดแสดงบริขารของท่านพระอาจารย์มั่นที่องค์ท่านเคยใช้ยามมาพักอาพาธอยู่ที่วัดแห่งนี้ อันได้แก่ แคร่คานหามที่ได้ใช้อาราธนาองค์ท่านจากวัดป่าบ้านหนองผือ มาที่วัดป่ากลางโนนภู่แห่งนี้, เตียง, มุ้ง, กลด, ที่นอน, ประทุน ฯลฯ รวมทั้ง ยังได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชีวประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ตลอดจนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป, รูปหล่อเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น, ภาพถ่ายประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าที่หาชมได้ยาก, พระบรมสารีริกธาตุ, อัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น, อัฐิธาตุของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายพระป่ากรรมฐาน, อัฐิธาตุของอดีตเจ้าอาวาส คือ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์กว่า สุมโน เป็นต้น

เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) แห่งวัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ได้เมตตามาเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่นฯ และบรรจุอัฐิธาตุของท่าน พร้อมทั้งมารับผ้าป่าช่วยชาติในคราวเดียวกัน นับแต่นั้นมาพิพิธภัณฑ์ศาลาที่พักอาพาธพระอาจารย์มั่นฯ แห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาสืบต่อมา

เสนาสนะที่สำคัญอื่นๆ ภายในวัดป่ากลางโนนภู่ ได้แก่ เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน, เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กว่า สุมโน รวมทั้ง กุฏิที่พระอาจารย์กว่า สุมโน เคยพักจำพรรษา เป็นต้น

สำหรับสภาพโดยทั่วไป วัดยังคงความสงบสงัด ร่มรื่นร่มเย็น สมกับเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเลือกมาพักในยามอาพาธ ปัจจุบันวัดป่ากลางโนนภู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสกลนคร (ธ) แห่งที่ ๑๓ ตามมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม และมี พระอาจารย์ประจักษ์ ขนฺติโก เป็นเจ้าอาวาส

17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

แผนที่แสดงเส้นทางการอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
จากวัดป่าบ้านหนองผือ ไปยังวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร




๏ ท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพ

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของท่านพระอาจารย์มั่น ในปีนั้นเมื่อใกล้จะออกพรรษาเหลืออีกประมาณ ๑๐ วัน ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้บอกพระที่อยู่ใกล้ชิดว่า

“ชีวิตของเราใกล้จะสิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกล ให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมะเป็นครั้งสุดท้าย”

บรรดาพระที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้จดหมายบ้าง โทรเลขบ้างไปยังที่อยู่ของพระคณาจารย์เหล่านั้น บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายเมื่อได้รับจดหมายบ้าง โทรเลขบ้างแล้ว ต่างก็ได้บอกข่าวแก่กันต่อๆ ไปจนทั่ว เมื่อการปวารณาออกพรรษาแล้ว ต่างองค์ก็รีบเดินทางมุ่งหน้ามาหาท่านพระอาจารย์มั่นยังบ้านหนองผือ อันเป็นจุดหมายเดียวกัน แต่ท่านพระอาจารย์มั่นได้สั่งให้นำองค์ท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์กู่ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อได้ทราบข่าวก็รีบเดินทางเพื่อมาเฝ้าท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) โดยทันที และเมื่อเหล่าศิษยานุศิษย์ตกลงใจที่จะนำองค์ท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส ตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นประสงค์ พระอาจารย์กู่ก็ได้ติดตามนำองค์ท่านพระอาจารย์มั่นไปจังหวัดสกลนครด้วย

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส โดยพาหนะรถยนต์ มาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ซึ่งมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เป็นต้น สิริอายุของท่านพระอาจารย์มั่นรวมได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน พรรษา ๕๖

วันประชุมเพลิงสรีระสังขารท่านพระอาจารย์มั่น ตรงกับวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร คือ ๘๑ วันหลังจากท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ก็ได้ไปร่วมงานด้วย
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

บรรดาศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาร่วมในงานประชุมเพลิง
สรีระสังขารท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓
ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร  
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน นั่งตรงกลางแถวหน้าสุด หมายเลข ๓๘



19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน (ขวา)
และเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุพระอาจารย์กว่า สุมโน พระน้องชาย (ซ้าย)
ณ วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร



๏ การอาพาธและการมรณภาพ

ในช่วงปลายชีวิต พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ท่านได้มาเป็นผู้ริเริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า ตำบลถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ต่อจากพระอาจารย์บุตร โดยได้สร้างกุฏิจำนวน ๑ หลัง และหอฉันอีก ๑ หลังไว้ในถ้ำ (ต่อมาท่านก็ได้มามรณภาพ ณ วัดถ้ำเจ้าผู้ข้าแห่งนี้ โดยมิได้พักจำพรรษา)

กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านได้อาพาธด้วยโรคฝีฝักบัวที่ต้นคอ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของท่าน โรคนี้เคยเป็นแล้วก็หายไป ด้วยการที่ท่านอาศัยการปฏิบัติทางจิตเป็นเครื่องระงับ ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้พิจารณาเห็นอาการป่วยนี้ว่า คงต้องเป็นส่วนของวิบากกรรมอย่างแน่นอน อันที่จะพ้นจากมรณสมัยด้วยโรคนี้ไม่ได้ ท่านเคยแสดงธรรมเทศนาให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายฟังบ่อยๆ ว่า “ถ้าเราทำความดีถึงที่แล้ว เรื่องของการตายเราไม่ต้องหวาดหวั่นเลย” ท่านได้ตักเตือนพระเณรอย่างนี้เสมอ สอนให้รีบร้อนเด็ดเดี่ยวในการทำความเพียรศึกษาในสมาธิภาวนาให้มาก ตลอดพรรษาท่านมิได้ลดละในการปฏิบัติด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา

เมื่อออกพรรษารับกฐินเสร็จแล้ว ท่านก็ได้ลาท่านได้ลาคณะศรัทธาญาติโยมขึ้นไปเจริญจิตตภาวนา บำเพ็ญสมณธรรม ที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า ภูพาน ซึ่งท่านได้เคยมาบูรณะต่อจากที่พระอาจารย์บุตรได้เริ่มเอาไว้ เมื่อท่านจะไปได้สั่งว่า จะไปหาที่พำนักซ่อนตายเสียก่อน และเห็นถ้ำลูกนี้พอที่จะอาศัยได้ คณะศรัทธาญาติโยมจึงพร้อมใจกันไปทำเสนาสนะถวาย จนกาลล่วงมาได้ ๓ เดือนเศษ อาการของโรคฝีฝักบัวกลับกำเริบขึ้นอีก คณะศรัทธาญาติโยมได้อาราธนาให้ท่านกลับวัด เพื่อจัดแพทย์มาทำการรักษาพยาบาลให้เต็มที่ แต่ท่านไม่ยอมกลับ

ครั้นถึงวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง เวลา ๙.๕๑ น. ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริอายุรวมได้ ๕๓ ปี พรรษา ๓๓

บรรดาศรัทธาญาติโยมและสานุศิษย์ทั้งหลายรู้สึกเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้ปรนนิบัติรักษาพยาบาลจนสุดความสามารถ และในขณะที่จะสิ้นลมปราณนั้น คงเหลือแต่พระอาจารย์กว่า สุมโน พระน้องชาย, พระประสาน ขันติกโร และสามเณรหนู เป็นผู้เฝ้าปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ได้เห็นพระอาจารย์กู่นั่งสมาธิทำความสงบแน่นิ่งอยู่ เฉพาะส่วนภายในโดยมิได้หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อมรณภัย และสิ้นลมหายใจในอิริยาบถที่นั่งสมาธิอย่างสงบ ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า นั้นเอง นับว่าสมเกียรติแก่ท่านผู้ได้ปฏิบัติธรรมในบวรพระพุทธศาสนามาโดยแท้

พระอาจารย์กว่า และบรรดาศรัทธาญาติโยมได้อัญเชิญสรีระสังขารของท่านบรรจุหีบ แล้วนำมาไว้ ณ วัดป่ากลางโนนภู่ เพื่อบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานสนองคุณงามความดีของท่านต่อไป

20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และกุฏิของท่าน ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า จ.สกลนคร



.............................................................

♥ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(๑) http://www.dharma-gateway.com/
(๒) http://www.sakoldham.com/
♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง                                                                                        
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=18308

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้