ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 8531
ตอบกลับ: 23
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน วัดป่ากลางโนนภู่ ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน

วัดป่ากลางโนนภู่
ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร



๏ ชาติภูมิและการสืบเชื้อสาย

“พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน” มีนามเดิมว่า กู่ เกิดในตระกูล สุวรรณรงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จึงนับเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดกัน ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ ปีชวด ปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ ณ บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณนา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โยมบิดาชื่อ หลวงพรหม (นายเมฆ สุวรรณรงค์) โยมมารดาชื่อ นางหล้า สุวรรณรงค์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเล็ก ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ โดยท่านมีน้องชายคือ พระอาจารย์กว่า สุมโน แห่งวัดป่ากลางโนนภู่ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเกิดในปีพุทธศักราช ๒๔๔๗ อายุอ่อนกว่าท่าน ๔ ปี และท่านอายุอ่อนกว่าพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้เป็นญาติสนิท ๘ เดือน (พระอาจารย์ฝั้นเกิดในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒)

ตระกูลสุวรรณรงค์ สืบเชื้อสายมาจากชาวภูไทหรือผู้ไท เมืองวังอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว (เชื้อสายของพระเวสสันดร) ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองพรรณานิคม และผู้นำการอพยพได้รับพระราชทานยศเป็นพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณานิคม ซึ่งยศ “พระเสนาณรงค์” นี้เป็นชื่อยศประจำตำแหน่งเจ้าเมืองพรรณานิคม ซึ่งก็มีลูกหลานเจ้าเมืองท่านแรกสืบตำแหน่งกันต่อมาจนถึงพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองท่านที่สี่ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ เมืองพรรณานิคมได้เปลี่ยนเป็นอำเภอพรรณานิคม เจ้าเมืองพรรณานิคมก็เปลี่ยนเป็นนายอำเภอพรรณานิคม พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) จึงเป็นนายอำเภอพรรณานิคมท่านแรก ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เพื่อเป็นการให้คนไทยมีนามสกุลใช้ต่อท้ายชื่อเป็นสกุลวงศ์ของครอบครัว ทั้งเพื่อป้องกันความสับสนในกรณีที่มีชื่อซ้ำกัน เป็นต้น พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) นายอำเภอพรรณานิคม จึงได้เอานามตัว คือ “สุวรรณ์” มารวมกับนามบรรดาศักดิ์ คือ “เสนาณรงค์” แล้วนำมาตั้งเป็นนามสกุลว่า “สุวรรณรงค์”

เป็นที่น่าสังเกตว่า โยมบิดาของพระอาจารย์กู่มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า “พระ” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง คือ “พระเสนาณรงค์” เพียงระดับเดียว ตำแหน่งพระเสนาณรงค์เป็นตำแหน่งของเจ้าเมือง ระดับหัวเมืองชั้นตรี ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนคร ระดับ “พระ” และในสมัยก่อนนั้นเมืองพรรณานิคมยังใช้การปกครองด้วยระบบอาญาสี่อยู่ ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่แบ่งตำแหน่งสำคัญออกเป็น ๔ ชั้น ประกอบด้วย เจ้าเมือง, อุปฮาด (อุปราช), ราชวงศ์ และราชบุตร หากเทียบตำแหน่งใหม่เมื่อครั้งมีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ โดยยกเลิกการปกครองแบบเก่าที่ใช้ระบบอาญาสี่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ และปี พ.ศ. ๒๔๔๕ อาจเทียบได้ดังนี้ คือ เมืองต่างๆ ให้เรียกว่าอำเภอ, ให้เจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ, ให้อุปฮาด (อุปราช) เป็นปลัดอำเภอ, ให้ราชวงศ์เป็นสมุห์อำเภอ และให้ราชบุตรเป็นเสมียนอำเภอ

ดังนั้น พอจะอนุมานได้ว่า โยมบิดาของพระอาจารย์กู่เป็นข้าราชการเทียบเท่าได้กับระดับ “อุปฮาด (อุปราช)” หรือในระบบใหม่ก็คือ “ปลัดอำเภอ” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างจะมีอำนาจมากในสมัยนั้น

ต่อมาในสมัยที่พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า เจริญวัยเป็นหนุ่มแล้ว เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ผู้เป็นโยมบิดาของพระอาจารย์ฝั้น และหลวงพรหมผู้เป็นโยมบิดาของพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า ก็ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ออกไปประมาณ ๔ กิโลเมตร ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้นอีกให้ชื่อว่าบ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่ดังกล่าวได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ ก็เพราะเห็นว่าสถานที่แห่งใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ฯลฯ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหมเพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือลำห้วยอูน อยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) โยมบิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวาง และเยือกเย็น เป็นที่ประจักษ์มาช้านาน

พระอาจารย์กู่เมื่อเจริญวัยขึ้น ท่านเป็นคนมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว มีนิสัยใจคอเยือกเย็น สุขุม สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีกิริยามารยาทสงบสำรวมเรียบร้อย พูดน้อย มีคติจิตใจชอบทางสมณวิสัยมาตั้งแต่เด็ก ครั้นเมื่อเติบใหญ่ได้พอสมควรแล้ว หลวงพรหม (นายเมฆ สุวรรณรงค์) โยมบิดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือในสำนักของพระอาจารย์ต้น จนสามารถอ่านออกเขียนได้ และได้เคยสมัครเข้ารับราชการเป็นเสมียนช่วยกิจการบ้านเมือง

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การอุปสมบท

ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ชัย บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณนา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูสกลสมณกิจ (ท่านอาญาครูธรรม) เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นเมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอักษรบาลีและอักษรขอมในสำนักพระอาจารย์ จนมีความชำนิชำนาญสามารถอ่านคัมภีร์ใบลานที่วัดซึ่งมีอยู่หลายผูกได้อย่างไม่ติดขัด ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบความเงียบสงัด ยินดีในเสนาสนะป่าเป็นส่วนมาก เที่ยวหลีกเล้นปฏิบัติเดินจงกรม นั่งปฏิบัติสมาธิภาวนาตามป่าชัฏ หาทางปลีกวิเวกเสมอมา จนกระทั่งได้พบกับ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระบูรพาจารย์สายพระป่ากรรมฐาน


ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระบูรพาจารย์สายพระป่ากรรมฐาน  


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้เป็นญาติสนิทของพระอาจารย์กู่


“พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน” วัดป่ากลางโนนภู่ จ.สกลนคร


พระอาจารย์กว่า สุมโน พระน้องชายของพระอาจารย์กู่
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ท่านอาญาครูดี ได้ปวารณาถวายตัวขอเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น
พร้อมกับพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร



๏ พบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น หลังจากออกพรรษาแล้ว เป็นระยะเวลาที่พระอาจารย์กู่ได้พบ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และได้ปวารณาถวายตัวขอเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สาเหตุที่พบกันมีอยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าวท่านพระอาจารย์มั่น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ได้เที่ยวออกเดินธุดงค์ไปพักที่วัดป่าภูไทสามัคคี บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร คณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ได้พากันไปกราบนมัสการ และขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วย ก็มี ท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ผู้เป็นญาติสนิทของท่าน

เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นแสดงธรรมจบลง คณะศรัทธาญาติโยมน้อยใหญ่ต่างพากันเลื่อมใสเป็นอันมาก  พากันสมาทานรับเอาพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ส่วนท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบลง ก็บังเกิดความปีติยินดีและเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ทุกท่านเกิดกำลังใจมุมานะอยากบังเกิดความรอบรู้เหมือนท่านพระอาจารย์มั่น จึงปรึกษาหารือกันว่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือในชั้นสูง คือ เรียนสนธิ เรียนมูลกัจจายน์ ประถมกัปป์ ประถมมูล จนกระทั่งสำเร็จมาจากเมืองอุบลราชธานี จึงแสดงพระธรรมเทศนาได้ลึกซึ้งและแคล่วคล่องไม่ติดขัด ประดุจสายน้ำไหล พวกเราน่าจะต้องตามรอยท่าน โดยไปร่ำเรียนจากเมืองอุบลราชธานีให้สำเร็จเสียก่อน จึงจะแปลอรรถธรรมได้เหมือนท่าน

เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ได้พากันปวารณาถวายตัวขอเป็นศิษย์ต่อท่านพระอาจารย์มั่น รับเอาข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด กับได้ขอติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์มั่นไปด้วย แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านคอยไม่ได้ เพราะทั้งสามท่านยังไม่พร้อมในเรื่องบริขารสำหรับธุดงค์ จึงออกเดินทางไปก่อน พระอาจารย์ทั้งสามต่างได้รีบจัดเตรียมบริขารสำหรับธุดงค์อย่างรีบด่วน เมื่อพร้อมแล้วจึงออกติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปทั้งสามท่าน


พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในระหว่างนั้น พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล (เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระรัตนากรวิสุทธิ์ เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดสุรินทร์) ซึ่งก็ได้เดินทางเที่ยวตามหาท่านพระอาจารย์มั่นด้วยเหมือนกัน โดยเดินธุดงค์เลียบฝั่งแม่น้ำโขงมาจนถึงบ้านม่วงไข่ แล้วจึงได้ไปพักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย เมื่อท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปพบพระอาจารย์ดูลย์ที่วัดนั้น จึงได้ศึกษาธรรมเบื้องต้นกับท่านอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเนื่องจากต่างก็มีความประสงค์จะตามหาท่านพระอาจารย์มั่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้น พระอาจารย์ทั้ง ๔ ท่านจึงได้ร่วมกันออกเดินธุดงค์ติดตาม โดยพระอาจารย์ดูลย์รับหน้าที่เป็นผู้นำทาง ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๔

เมื่อเดินธุดงค์ติดตามไปถึงตำบลบ้านคำบก อำเภอหนองสูง (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอคำชะอี) จังหวัดนครพนม จึงทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านห้วยทราย และท่านกำลังเดินธุดงค์ต่อไปยังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ทั้ง ๔ ท่านจึงรีบติดตามไปอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งไปทันท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน พระอาจารย์ทั้งสี่ได้ศึกษาธรรมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่บ้านหนองดินดำ แล้วไปหา พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอๆ

ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษยานุศิษย์ทั้งหลายของท่านพระอาจารย์มั่น ต่างก็แยกย้ายกันออกธุดงค์ต่อไป พระอาจารย์ฝั้นก็แยกออกไปกับสามเณรพรหม ผู้เป็นหลาน ไปทางอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์ดูลย์คาดว่าธุดงค์ไปทางจังหวัดสุรินทร์ระยะหนึ่ง แล้วจึงขึ้นไปทางอีสานเหนือ ไปทางอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีสามเณรติดตามไปด้วยองค์หนึ่ง

ส่วนพระอาจารย์กู่นั้นเข้าใจว่าได้อยู่ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไป

   
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล)


พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระอาจารย์กู่ ได้ญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดมหาชัย ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี พระครูอดิศัยคุณาธาร (คำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระครูวินัยธร (ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ในปีนี้ พระอาจารย์กว่า สุมโน ผู้เป็นน้องชาย ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระรัก และพระบุญเย็น เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว พระอาจารย์กว่าก็ได้ตามมากับพระอาจารย์กู่ พระพี่ชาย และร่วมจำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์รูปต่างๆ ที่จำพรรษาในปีเดียวกันนั้น ได้แก่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์สาร, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์กว่า สุมโน และยังมีพระภิกษุสามเณรอื่นๆ อีกรวมถึง ๑๖ รูป

เมื่อใกล้จะออกพรรษา ท่านพระอาจารย์มั่นได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปเป็นพวกๆ เป็นชุดๆ โดยจัดพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นให้ไปเป็นชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่ามีนิสัยต้องกันมาก นอกนั้นก็จัดเป็นชุดๆ อีกหลายชุด

ก่อนออกธุดงค์ ท่านพระอาจารย์มั่นได้สั่งไว้ด้วยว่า แต่ละชุดให้เดินธุดงค์เลียบภูเขา ภาวนาวิเวกไปตามแนวภูเขานั้น และแต่ละชุดก็ไม่จำเป็นต้องเดินธุดงค์ไปด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทางท่านใดอยากไปพักวิเวก ณ ที่ใด เช่นตามถ้าซึ่งมีอยู่ตามทางก็ทำได้ เพียงแต่บอกเล่ากันให้ทราบในระหว่างพระภิกษุชุดเดียวกัน จะได้นัดหมายไปพบกันข้างหน้าเพื่อเดินธุดงค์ต่อไปได้อีก ครั้นออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์อ่อนได้แยกไปทางภูเขาพระพุทธบาทบัวบก ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แล้วได้ออกเดินธุดงค์ต่อไปที่บ้านค้อ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นออกไปทางบ้านนาบง ตำบลสามขา (ปัจจุบันเป็นตำบลกองนาง) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และนัดไปเจอกันที่ พระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ


พระพุทธบาทบัวบก ประดิษฐาน ณ วัดพระพุทธบาทบัวบก
ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์อ่อน เมื่อธุดงค์ไปถึง พระพุทธบาทบัวบก แล้ว พระอาจารย์ฝั้นยังไม่มา ท่านจึงออกธุดงค์ต่อไปทางบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ เพื่อติดตามท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งขณะนั้นได้ออกเดินธุดงค์ไปที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และที่หนองลาดนี้เองที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้พบกับ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระเถระที่มีพรรษามากแล้ว

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ในขณะนั้นพรรษาได้ ๑๙ พรรษาแล้ว ส่วนพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ก็ ๑๗ พรรษา พระอาจารย์เกิ่งเป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพนับถือของญาติโยมประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำสงคราม จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม, ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์, เป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งตำบลสามผง ที่ตั้งอยู่ในวัดโพธิ์ชัยนี้ด้วย

พระอาจารย์เกิ่งเคยได้ยินกิตติศัพท์ในทางธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นมาก่อน ครั้นเมื่อได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์มั่นมาอยู่ท่านตำบลหนองลาด ท่านก็ได้ชวนพระอาจารย์สีลา พร้อมพระเณรถูกวัด เดินทางจากบ้านสามผง จังหวัดนครพนม มาถึงหนองลาด จังหวัดสกลนคร ไปฟังเทศน์และสนทนาไต่ถามปัญหาข้ออรรถธรรมที่สงสัยค้างคาใจต่างๆ พร้อมทั้งสังเกตข้อวัตรของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างใกล้ชิด จนเกิดความอัศจรรย์ใจในข้ออรรถข้อธรรมและจริยาวัตรของท่าน ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส และได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นให้ไปโปรดคณะศรัทธาญาติโยม และพักจำพรรษาอยู่ที่บ้านสามผง ถิ่นที่พำนักของท่าน พร้อมทั้งขอถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ปฏิบัติธรรมใกล้ชิด จนเกิดผลประจักษ์ทางใจอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสรับรู้มาก่อน

เดือน ๗ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ก่อนเข้าพรรษา พระอาจารย์เกิ่ง และพระอาจารย์สีลา พร้อมทั้งพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ ก็ได้ญัตติกรรมเป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย

และประมาณ ๗ วันก่อนเข้าพรรษา กำนันบ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยลูกบ้านอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเลื่อมใสศรัทธาในคณะพระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้เข้ามาพบ และขอร้องให้ท่านพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง แต่ท่านมีเหตุอันจำเป็นต้องขัดข้อง จึงให้พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กว่า ไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้างตามที่ชาวบ้านปรารถนา


พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก


พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล  


ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต  


๏ ตามท่านพระอาจารย์มั่นไปอุบลราชธานี


หลังจากออกพรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว คณะท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป ได้เดินทางมาที่บ้านโนนแดง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม ณ ที่นั้น ได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแผ่ธรรมและไปเทศนาสั่งสอนโปรดชาวบ้านญาติโยมที่เมืองอุบลราชธานี และได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษยานุศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน

จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้ปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (โยมมารดาของท่านซึ่งบวชเป็นแม่ชี) ไปส่งมอบให้นางหวัน จำปาศีล น้องสาวของท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ออกท่านชราภาพมาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถของท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกของท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของท่านพระอาจารย์มั่น แก่มาก หมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลราชธานีได้

การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วยท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนคณะศรัทธาญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกรรมฐานและการถึงพระไตรสรณคมน์ ที่ให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษยานุศิษย์ไปในตัวด้วยว่าองค์ใดจะมีผีมือในการเผยแผ่ธรรม

ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย

การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้านประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกรรมฐานนั้นเป็นอย่างดี และต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกรรมฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกรรมฐาน

สำหรับพระอาจารย์กู่ได้เดินทางออกจากบ้านดอนแดงคอกช้าง กับพระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และพระเณรอีก ๒-๓ รูป เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ผ่านบ้านตาน บ้านนาหว้า บ้านนางัว บ้านโพธิสว่าง

อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีกที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาประจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมายท่านพระอาจารย์มั่นต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านพักจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านญาติโยมจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน

ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้พักอยู่ที่บ้านหนองขอนตามที่ชาวบ้านได้อาราธนาไว้ ส่วนพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และคณะก็จำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ที่บ้านหัวตะพาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์สิงห์ บริเวณใกล้เคียงกัน
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)


พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ญาติใกล้ชิดของพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน


พระอาจารย์ขาว อนาลโย  
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พระกรรมฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่

ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น พระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑล และเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่นฯ เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวงอำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกรรมฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่าในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่

พระอาจารย์สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกรรมฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้ง ท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า เป็นต้น นายอำเภอจนหมดแม้กระทั่งนามโยมบิดา-โยมมารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วม ๑๐๐ คน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็รีบเดินทางไปพบท่านพระอาจารย์มั่น ที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น ท่านพระอาจารย์มั่นทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า “แผ่นดินตรงนั้นขาด” คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่างพระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อน ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง

ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้น พระอาจารย์กู่ก็ไปจำพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง อำเภอเดียวกัน ซึ่งบ้านบ่อชะเนงนี้เป็นบ้านเกิดของ พระอาจารย์ขาว อนาลโย ระยะนั้นปรากฏว่าฝนตกชุกมาก พระภิกษุประสบอุปสรรคไม่อาจไปร่วมทำอุโบสถได้สะดวก โดยเฉพาะที่บ้านบ่อชะเนง ไม่มีพระสวดปาฏิโมกข์ได้ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้สั่งให้พระอาจารย์ฝั้นซึ่งสวดปาฏิโมกข์ได้ ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพระอาจารย์กู่ ที่บ้านบ่อชะเนง

ในระหว่างพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง พระอุปัชฌาย์ลุย เจ้าคณะตำบลบ้านเค็งใหญ่ ได้ทราบว่าพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร มาสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตตำบลของท่าน จึงเดินทางไปขับไล่ เพราะไม่ชอบพระกรรมฐาน พระอุปัชฌาย์ลุยปรารภขึ้นว่า “ผมมาที่นี่เพื่อไล่พวกท่าน และจะไม่ให้มีพระกรรมฐานอยู่ในเขตตำบลนี้ ท่านจะว่าอย่างไร”  

พระอาจารย์ฝั้นตอบไปว่า “ท่านมาขับไล่ก็ดีแล้ว กรรมฐานนั้นได้แก่อะไร ได้แก่ เกศา คือ ผม โลมา คือขน นขา คือ เล็บ ทันตา คือ ฟัน และ ตโจ คือ หนัง ท่านเจ้าคณะก็เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ได้สอนกรรมฐานแก่พวกกุลบุตรที่เข้ามาบวชเรียนเป็นศิษย์ของท่าน ท่านก็คงสอนกรรมฐานอย่างนี้ให้เขาไม่ใช่หรือขอรับ แล้วท่านจะมาขับไล่กรรมฐานด้วยวิธีใดกันล่ะ เกศา-โลมา ท่านจะไล่ด้วยวิธีต้มน้ำร้อนลวก แบบฆ่าเป็ดฆ่าไก่ แล้วเอาคีมเอาแหนบมาถอนเช่นนี้หรือ ? ส่วน นขา-ทันตา-และตโจ ท่านจะไล่ด้วยการเอาค้อนตี ตาปูตีเอากระนั้นหรือไร ? ถ้าจะไล่กรรมฐานแบบนี้กระผมก็ยินดีให้ไล่นะขอรับ”

พระอุปัชฌาย์ลุยได้ฟังก็โกรธมาก พูดอะไรไม่ออก คว้าย่ามลงจากกุฏิไปเลย

ระหว่างพรรษาปีนั้น พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์ฝั้น ได้เทศนาสั่งสอนพวกคณะศรัทธาญาติโยมบ้านบ่อชะเนงและบ้านอื่นๆ ใกล้เคียงมาตลอด ผู้คนต่างก็เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านทั้งสองเป็นอย่างมาก ถึงกับให้ลูกชายลูกสาวบวชเป็นพระเป็นเณรและเป็นแม่ชีกันอย่างมากมาย
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-11-9 18:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม


พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล


๏ ท่านพระอาจารย์มั่นปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก

ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้พาพระภิกษุสามเณรมาที่บ้านบ่อชะเนง แล้วปรึกษาหารือกันในอันที่จะเดินทางเข้าตัวจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดจนญาติโยมที่ศรัทธาต่อไป แล้วท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออก (โยมมารดา) ไปส่งมอบให้นางหวัน จำปาศีล น้องสาวของท่านที่เมืองอุบลราชธานี ท่านและคณะศิษยานุศิษย์พักอยู่ที่วัดบูรพาราม คณะศิษยานุศิษย์เก่าๆ ทั้งหลาย เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหมด มีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคยๆ ปฏิบัติกันมา

ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า

“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้

ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูกๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย

อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่างๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”


ครั้นปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้เรียกคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมีพระอาจารย์สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำ สั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่โยมมารดาของท่าน จนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลาโยมมารดา และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ

จากนั้นออกพรรษาแล้ว ประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เพื่อจำพรรษาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตาม ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้