|
ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน
วัดป่ากลางโนนภู่
ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
๏ ชาติภูมิและการสืบเชื้อสาย
“พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน” มีนามเดิมว่า กู่ เกิดในตระกูล สุวรรณรงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จึงนับเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดกัน ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ ปีชวด ปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ ณ บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณนา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โยมบิดาชื่อ หลวงพรหม (นายเมฆ สุวรรณรงค์) โยมมารดาชื่อ นางหล้า สุวรรณรงค์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเล็ก ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ โดยท่านมีน้องชายคือ พระอาจารย์กว่า สุมโน แห่งวัดป่ากลางโนนภู่ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเกิดในปีพุทธศักราช ๒๔๔๗ อายุอ่อนกว่าท่าน ๔ ปี และท่านอายุอ่อนกว่าพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้เป็นญาติสนิท ๘ เดือน (พระอาจารย์ฝั้นเกิดในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒)
ตระกูลสุวรรณรงค์ สืบเชื้อสายมาจากชาวภูไทหรือผู้ไท เมืองวังอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว (เชื้อสายของพระเวสสันดร) ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองพรรณานิคม และผู้นำการอพยพได้รับพระราชทานยศเป็นพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณานิคม ซึ่งยศ “พระเสนาณรงค์” นี้เป็นชื่อยศประจำตำแหน่งเจ้าเมืองพรรณานิคม ซึ่งก็มีลูกหลานเจ้าเมืองท่านแรกสืบตำแหน่งกันต่อมาจนถึงพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองท่านที่สี่ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ เมืองพรรณานิคมได้เปลี่ยนเป็นอำเภอพรรณานิคม เจ้าเมืองพรรณานิคมก็เปลี่ยนเป็นนายอำเภอพรรณานิคม พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) จึงเป็นนายอำเภอพรรณานิคมท่านแรก ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เพื่อเป็นการให้คนไทยมีนามสกุลใช้ต่อท้ายชื่อเป็นสกุลวงศ์ของครอบครัว ทั้งเพื่อป้องกันความสับสนในกรณีที่มีชื่อซ้ำกัน เป็นต้น พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) นายอำเภอพรรณานิคม จึงได้เอานามตัว คือ “สุวรรณ์” มารวมกับนามบรรดาศักดิ์ คือ “เสนาณรงค์” แล้วนำมาตั้งเป็นนามสกุลว่า “สุวรรณรงค์”
เป็นที่น่าสังเกตว่า โยมบิดาของพระอาจารย์กู่มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่า “พระ” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง คือ “พระเสนาณรงค์” เพียงระดับเดียว ตำแหน่งพระเสนาณรงค์เป็นตำแหน่งของเจ้าเมือง ระดับหัวเมืองชั้นตรี ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนคร ระดับ “พระ” และในสมัยก่อนนั้นเมืองพรรณานิคมยังใช้การปกครองด้วยระบบอาญาสี่อยู่ ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่แบ่งตำแหน่งสำคัญออกเป็น ๔ ชั้น ประกอบด้วย เจ้าเมือง, อุปฮาด (อุปราช), ราชวงศ์ และราชบุตร หากเทียบตำแหน่งใหม่เมื่อครั้งมีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ โดยยกเลิกการปกครองแบบเก่าที่ใช้ระบบอาญาสี่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ และปี พ.ศ. ๒๔๔๕ อาจเทียบได้ดังนี้ คือ เมืองต่างๆ ให้เรียกว่าอำเภอ, ให้เจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ, ให้อุปฮาด (อุปราช) เป็นปลัดอำเภอ, ให้ราชวงศ์เป็นสมุห์อำเภอ และให้ราชบุตรเป็นเสมียนอำเภอ
ดังนั้น พอจะอนุมานได้ว่า โยมบิดาของพระอาจารย์กู่เป็นข้าราชการเทียบเท่าได้กับระดับ “อุปฮาด (อุปราช)” หรือในระบบใหม่ก็คือ “ปลัดอำเภอ” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างจะมีอำนาจมากในสมัยนั้น
ต่อมาในสมัยที่พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า เจริญวัยเป็นหนุ่มแล้ว เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ผู้เป็นโยมบิดาของพระอาจารย์ฝั้น และหลวงพรหมผู้เป็นโยมบิดาของพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่า ก็ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ออกไปประมาณ ๔ กิโลเมตร ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้นอีกให้ชื่อว่าบ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่ดังกล่าวได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ ก็เพราะเห็นว่าสถานที่แห่งใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ฯลฯ และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหมเพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือลำห้วยอูน อยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) โยมบิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวาง และเยือกเย็น เป็นที่ประจักษ์มาช้านาน
พระอาจารย์กู่เมื่อเจริญวัยขึ้น ท่านเป็นคนมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว มีนิสัยใจคอเยือกเย็น สุขุม สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีกิริยามารยาทสงบสำรวมเรียบร้อย พูดน้อย มีคติจิตใจชอบทางสมณวิสัยมาตั้งแต่เด็ก ครั้นเมื่อเติบใหญ่ได้พอสมควรแล้ว หลวงพรหม (นายเมฆ สุวรรณรงค์) โยมบิดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือในสำนักของพระอาจารย์ต้น จนสามารถอ่านออกเขียนได้ และได้เคยสมัครเข้ารับราชการเป็นเสมียนช่วยกิจการบ้านเมือง
|
ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง
คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน
x
|