|
• ผลงานด้านการพัฒนาวัด
วัดสระประสานสุข เดิมชื่อ วัดบ้านนาเมือง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ ๕ กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ โดยการนำพาของ พระเดชพระคุณพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานก่อสร้างมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งหลวงปู่บุญมีได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ ท่านจึงได้เริ่มวางแผนและดำเนินการพัฒนาวัดโดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านญาติโยมผู้เลื่อมใสศรัทธา จนมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ วัดมีเนื้อที่ประมาณ ๗๕ ไร่
ผลงานด้านการพัฒนาวัดสระประสานสุข ที่หลวงปู่บุญมีได้ริเริ่มและดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด เพื่อให้วัดเป็นศาสนสถานที่เป็นแหล่งรวมใจของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป มีดังนี้
ปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ หลวงปู่บุญมี ได้เป็นผู้นำศรัทธาชาวบ้านก่อสร้าง ศาลาการเปรียญ ขนาดใหญ่ ในลักษณะทรงปั้นหยา ภายในประดิษฐานพระประธานปางนาคปรกขนาดใหญ่ และรูปหล่อเหมือนพระเถราจารย์ชื่อดังอีกหลายองค์ ที่หลวงปู่เป็นผู้นำศรัทธาชาวบ้านหล่อไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้บูชาสักการะ
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ หลวงปู่บุญมี ได้ออกแบบและเป็นประธานในการก่อสร้าง อุโบสถบนเรือสุพรรณหงส์ อันมีความหมายว่า จะเป็นพาหนะที่จะพาบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีใจเป็นกุศลข้ามห้วงมหาสมุทรแห่งวัฏฏสงสารสู่ดินแดนมหานิพพานในที่สุด ซึ่งอุโบสถที่หลวงปู่บุญมีได้สร้างขึ้นนี้ มีความสวยงาม ตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่า แปลกกว่าที่วัดอื่นๆ เพราะเป็นอุโบสถอยู่บนเรือสุพรรณหงส์ประดับด้วยเซรามิคสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่ ส่วนด้านหน้าอุโบสถประดิษฐาน รูปหล่อหลวงปู่บุญมี โชติปาโล หากเข้าประตูวัดมาจะเป็นด้านหลังอุโบสถ ก่อให้เกิดความศรัทธาปสาทะแก่ญาติโยมที่ได้เข้ามาทำบุญ ณ วัดสระประสานสุข เป็นอย่างยิ่ง
ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ หลวงปู่บุญมี ได้นำคณะศิษยานุศิษย์สร้าง หอระฆัง ๕ ชั้น ประดับด้วยเซรามิคสีน้ำตาลแดง โดยมีนายชุ่นเลี้ยง แซ่ล้อ และนางโชจิร แซ่เตียว (เสี่ยบุญชัย) รับเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้าง
วันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ ทำพิธีเพื่อสร้าง วิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช เวลาเที่ยงตรง และเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙ ทำพิธีตอกเสาเข็มเวลาเที่ยงตรง วิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช เป็นวิหารกลางน้ำบนนาคราชรูปร่างคล้ายเรือ ส่วนหัวเป็นนาคราช ๕ เศียร โดยทางเดินเข้าวิหารกลางน้ำเป็นทางเดินด้านหางของนาคราช ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดและมีปลาอาศัยอยู่ในสระน้ำใหญ่เป็นจำนวนมาก โดยพุทธศาสนิกชนได้นำมาปล่อยไว้ ซึ่งหลวงปู่บอกว่าไม่อยากให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จึงไม่มีใครนำปลาที่สระน้ำใหญ่ไปกิน ทำให้ปลามีปริมาณมาก อีกทั้งทางวัดได้จัดบริการให้อาหารปลาแล้วแต่ผู้มาทำบุญจะบริจาค
นอกจากนี้แล้วหลวงปู่บุญมียังได้สร้างศาสนสถานต่างๆ ภายในวัดสระประสานสุข คือ วิหารโชติปาโล, กุฏิโชติปาโลนุสรณ์ ในลักษณะทรงไทย, กุฏิโชติธรรม ในลักษณะทรงไทย, หอสวดมนต์ ในลักษณะทรงไทย และที่สร้างความประทับใจเป็นพิเศษให้แก่ชาวบ้านญาติโยมที่เดินทางมายังวัดสระประสานสุข ก็คือ ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าวัด (ประตูโขง) ที่หลวงปู่บุญมีได้สร้างเป็น รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียร ที่ใหญ่โตมาก สามารถมองเห็นตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่ามาแต่ไกล นอกจากนี้ท่านยังได้ตัดถนนเข้าหน้าวัด, สร้างและปรับปรุงห้องน้ำห้องสุขาให้เพียงพอกับชาวบ้านญาติโยมที่มาร่วมทำบุญในงานเทศกาลต่างๆ รวมถึง การสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งมีรูปสัตว์นานาชาติล้อมรอบบริเวณวัด ตลอดจนปรับปรุงสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ และพื้นที่ภายในวัดทั้งหมดให้เหมาะสม เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน สวยงาม ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด สมกับเป็นวัดสายปฏิบัติและสถานที่บำเพ็ญบุญ เป็นที่พึงพิงด้านจิตใจแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
อนึ่ง เนื่องจากทางวัดมีอาณาเขตติดต่อกับเขตทหารอากาศ กองบินที่ ๒๑ ข้าราชการทหารอากาศจึงมีศรัทธามาร่วมอุปสมบทและจำพรรษา ณ วัดสระประสานสุข ตลอดมา
ด้านการปกครอง หลวงปู่บุญมีท่านมีระเบียบการปกครองพระสงฆ์ในวัดให้สอดคล้องกับกฎของมหาเถรสมาคม (มส.) อย่างเคร่งครัด โดยมีกฎกติกาของวัดตามมติของคณะสงฆ์ภายในวัดเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง และที่เป็นกิจวัตรสำคัญที่หลวงปู่ได้ริเริ่มและให้ปฏิบัติเป็นประจำ คือ การจัดให้มีการปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาทุกวัน โดยเฉพาะวันพฤหัสบดี ณ ศาลาการเปรียญวัดสระประสานสุข ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นต้นไป
• ผลงานด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา
หลวงปู่บุญมี ไม่เพียงพัฒนาและก่อสร้างศาสนสถานในบริเวณวัดสระประสานสุข ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหลวงปู่เท่านั้น ท่านยังได้มีจิตเมตตาในการมอบทุนทรัพย์ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ สนับสนุนการก่อสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ และวิหารภายในวัดต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เช่น
๑. สร้างพระพุทธรูปใหญ่ ณ วัดเขาพระงาม (วัดสิริจันทรนิมิต วรวิหาร) อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ร่วมกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) โดยใช้ไหกระเทียมในสมัยนั้นเป็นมวยผม (พระเกศ)
๒. สร้างพระนาคปรก ร่วมกับท่านพ่อลี ธัมมธโร เจ้าอาวาสวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะที่ท่านเป็นสหธรรมิกกัน อีกทั้งท่านพ่อลียังเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีด้วย
๓. บูรณะมณฑปรอยพระพุทธบาท
๔. บูรณะศาลารัชมังคลาภิเษก ณ วัดสังกัสรัตนคีรี บนยอดเขาสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
๕. สร้างพระพุทธรูปเนื้อโลหะ หน้าตักกว้าง ๓ เมตร ประดิษฐาน ณ ศาลารัชมังคลาภิเษก
๖. ปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ หลวงปู่บุญมี ได้นำคณะศิษยานุศิษย์ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร สูง ๗ เมตร ๗๙ เซนติเมตร เนื้อโลหะทองเหลือง ถวายนามว่า “พระพุทธโชติปาละชนะมาร”, สร้างพระสังกัจจายน์เป็นปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ เมตร ถวายนามว่า “พระสังกัจจายน์โชติปาโล” และสร้างพระสิวลี ถวายนามว่า “พระสิวลีโชติปาโล” เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดสังกัสรัตนคีรี บนยอดเขาสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
๗. ให้อุปกรณ์ในการก่อสร้างอุโบสถ วัดบ้านกุดมะฮง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
๘. สร้างพระเจ้าใหญ่ และบูรณะหอระฆัง ณ วัดบ้านบ่อ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ
๙. สร้างพระพุทธรูปสูง ๓ เมตร ณ วัดถ้ำกองเพล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
๑๐. สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ สูง ๓ เมตร จำนวน ๒ องค์ ณ เมืองเชียงรุ้ง ประเทศจีน
๑๑. ให้อุปกรณ์ในการก่อสร้างวัดป่าภูถ้ำพระ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
๑๒. ให้อุปกรณ์ในการก่อสร้างวัดคอนสวรรค์ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
๑๓. ให้การอุปถัมภ์และช่วยเหลือวัดต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ วัดบ้านก้านเหลือง, วัดบ้าน
ตำแย, วัดบ้านหนองหว้า, วัดบ้านหนองมุก, วัดสำราญนิเวศน์, วัดบ้านระเว, วัดบ้านนาจาน, วัดบ้านดอนจืด, วัดบ้านด้ามพร้า, วัดบ้านปลาดุกน้อย, วัดบ้านยางลุ่ม, วัดป่าอำเภอม่วงสามสิบ, วัดบ้านกุดลาด, วัดบ้านกระโสบ และวัดบ้านหมากมี่ (วัดบ้านขนุน) เป็นต้น
นอกจากนั้นหลวงปู่บุญมียังรับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมเทศนาตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติ เป็นกิจวัตรที่ท่านได้ปฏิบัติเป็นประจำจนทำให้ญาติโยมเลื่อมใสศรัทธา และมาร่วมทำบุญจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ
|
|