ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข(วัดบ้านนาเมือง) ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-30 14:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• ทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช

มีเหตุการณ์ปาฏิหาริย์อีกเรื่องหนึ่งที่โจษขานกันไปทั่ว คือ เมื่อครั้งที่มีงานมหาพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งคชวัตร และพระรูปเหมือนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา (ภายหลังจากที่ทรงหายจากอาการพระประชวรหนักจนจวนเจียนจะสิ้นพระชนม์ แต่ทรงเจริญอิทธิบาท ๔ จนสามารถเจริญพระชนมายุต่อมาได้โดยสวัสดิภาพอย่างน่าอัศจรรย์ไม่นาน) ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖ โดยครั้งนั้น พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) พระอริยเจ้าผู้เข้มงวดเข้มขลังยิ่งแห่งวัดสระประสานสุข จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอาราธนามานั่งปรกอธิษฐานจิตในพิธีพุทธาภิเษกด้วย

เมื่อพิธีพุทธาภิเษกเสร็จสิ้น หลวงปู่บุญมีได้ลุกจากอาสนะสงฆ์ที่นั่งอยู่ แล้วเดินตรงเข้ามาหา ยืนต่อเบื้องพระพักตร์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ โดยมิได้ทรุดกายลงกราบ พร้อมกับเอาผ้าขนหนูผืนน้อยที่ไว้สำหรับเช็ดหน้าเช็ดปากลูบไล้เช็ดตามพระวรกาย ตั้งแต่พระเศียร (หัว) พระพักตร์ (หน้า) วนไปวนมาอยู่หลายรอบ เสร็จแล้วลงมาที่พระพาหา (ไหล่) พระกร (แขน) และพระอุระ (หน้าอก) อย่างที่ไม่มีใครนึกฝันหรือคาดคิดมาก่อน สร้างความตกตะลึงพรึงเพริดให้บังเกิดขึ้นแก่ศิษย์อุปัฏฐากของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ และทุกๆ คนที่ไม่ทราบความนัยเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อเห็นทุกๆ คน (ยกเว้นแต่องค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ) บังเกิดความสงสัยแปลกใจอย่างเต็มที่ ศิษย์ติดตามหลวงปู่บุญมีจึงกราบทูลชี้แจงในอริยาการดังนั้นมาทีเดียวว่า “หลวงปู่กำลังทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่ฝ่าพระบาทอยู่ขอรับกระหม่อม”

เมื่อถึงที่สุดแห่งการพิธี หลวงปู่บุญมีได้ก้มลงกราบที่่พระอุระ (หน้าอก) โดยมิได้พูดอะไรออกมาแม้แต่คำเดียว ขณะที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เองก็มิได้ออกพระวาจา หรือแสดงอาการหลบเลี่ยงอย่างไม่สบพระทัยแต่อย่างใดทั้งสิ้น จากนั้นหลวงปู่บุญมีก็ได้กุมพระหัตถ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ขึ้นอธิษฐานเหมือนหนึ่งจะถวายพระพรให้ทรงพระเจริญด้วยพระชนมายุยิ่งยืนนานกว่า ๑๐๐ พระวัสสา ค้ำชูบูชาคุณบวรพระพุทธศาสนาให้สถาพรสืบต่อไปตราบชั่วจิรกาลเป็นปัจฉิมวาระ

แม้จะมีพรรษายุกาลมากกว่า แต่หลวงปู่บุญมีก็ก้มลงกราบแทบองค์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ อย่างนอบน้อมในพระคุณธรรมอันประเสริฐสุด เป็นที่ประทับตาประทับใจแก่พุทธศาสนิกชนทุกผู้ทุกนามที่มีบุญได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ลูกศิษย์ของหลวงปู่บุญมีระบุว่า เป็นการทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ก่อนที่หลวงปู่บุญมีจะละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ หลังจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวเพียง ๘ เดือนเท่านั้น

หมายเหตุ : เรื่องการทำพิธีต่อพระชนมายุฯ นี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสืออิทธิฤทธิ์


• การอาพาธและการมรณภาพ

พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ท่านเป็นทั้งพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง และพระอาจารย์ผู้มีวิทยาอาคมขลังศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุบลราชธานี ได้อาพาธด้วยโรคปอดอักเสบ เกิดโรคแทรกซ้อนมาตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ ประกอบกับสังขารอันชราภาพมากแล้ว คณะแพทย์ตรวจอาการแล้วลงความเห็นว่า ควรให้หลวงปู่กลับมาพักรักษาตัวที่กุฏิวัดสระประสานสุขต่อไป โดยมีการส่งแพทย์และพยาบาลไปดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลาที่หลวงปู่จำวัดรักษาตัวอยู่ภายในกุฏิ จะมีลูกศิษย์ลูกหาทุกระดับชั้น อาทิเช่น นายจิรศักดิ์ เกษณียบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, พล.ต.ต.เดชาวัตร รามสมภพ ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี, นายทหารระดับนายพล ข้าราชการในจังหวัด และสาธุชนโดยทั่วไป ฯลฯ เข้ากราบนมัสการเยี่ยมอาการอาพาธโดยไม่ขาดสาย

ต่อมา เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เข้ากราบนมัสการเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่บุญมีภายในกุฏิ วัดสระประสานสุข ท่ามกลางความปลื้มปีติในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อหลวงปู่ และคณะศิษยานุศิษย์ที่เฝ้าดูแลอาการอาพาธด้วยความห่วงใย ทั้งนี้ โดยมีนายจิรศักดิ์ เกษณียบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, พล.ต.ต.เดชาวัตร รามสมภพ ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมทั้งข้าราชการระดับสูง ฯลฯ คอยเฝ้ารับเสด็จ พระองค์ได้ทรงเฝ้าดูอาการของหลวงปู่อย่างใกล้ชิดโดยไม่ถือพระองค์นานกว่า ๒ ชั่วโมง ระหว่างนั้นได้ทรงมีพระปฏิสันถารสอบถามถึงอาการอาพาธกับหลวงปู่เป็นระยะๆ ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะพูดตอบไม่ได้ แต่ได้แสดงออกถึงซึ่งความปีติ กับโต้ตอบทางสีหน้า พร้อมกับยกแขนแสดงถึงการรับรู้ถึงเรื่องที่พูด

จากนั้นเวลา ๑๑.๕๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้เสด็จไปทรงประกอบภารกิจเป็นการส่วนพระองศ์ แต่พอคล้อยหลังได้เพียง ๕ นาที คือ เมื่อเวลา ๑๑.๕๕ น. หลวงปู่ได้ถึงแก่มรณภาพ ปิดตาลงด้วยอาการอันสงบ พร้อมกับได้ถอดดวงจิตออกจากร่าง ท่ามกลางความโทมนัสของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เป็นอย่างยิ่ง รวมถึงคณะศิษยานุศิษย์ที่่เข้ามาเยี่ยมอาการอาพาธทุกคน สิริอายุของหลวงปู่รวมได้ ๙๕ ปี ๓ เดือน ๘ วัน พรรษา ๗๔ ปัจจุบันทางวัดได้บรรจุสรีระสังขารของหลวงปู่บุญมีไว้ในโลงแก้ว ณ ศาลาการเปรียญ วัดสระประสานสุข เพื่อให้พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าไปกราบไหว้สักการะสืบไป

เนื่องด้วยข้อวัตรปฏิปทาศีลาจาริยวัตรอันงดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของญาติโยมพุทธบริษัททุกระดับชั้น หลวงปู่บุญมีสมควรได้รับการยกย่องเป็น “ปราชญ์” ชาวอุบลราชธานี อย่างแท้จริง

ขอนอบน้อมบูชา บูรพาจารย์ นาม
หลวงปู่บุญมี โชติปาโล
ศิษย์ปู่มั่น อาจาริโย
เปี่ยมด้วยธรรม เปี่ยมเมตตา น่าสรรเสริญ
วัตรปฏิบัติ ตามแนวครูอาจารย์ มิเคยพร่อง
เชิดเคารพบูชาครูยิ่งอื่นใด
แม้นเจ็บป่วย ไม่กังวล เพราะต้องสิ้น
สติปัญญาเตือนระลึกเสมอมา
แม้นถึงคราต้องสิ้น ดับชีพขันธ์
สิ้นท่านแล้ว ไม่สิ้นธรรม ลำเลิอค่า
ขอวิญญาณปู่ท่านช่วยรักษา
เป็นร่มโพธิ์ ร่มฉัตร ให้ศิษย์ด้อย
หลักธรรม...คุณความดีนี้...ศิษย์น้อมรับ...ตลอดไป

ประพันธ์โดย ศิษย์ มมร. กาฬสินธุ์


12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-30 14:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


หลวงปู่บุญมี โชติปาโล กับ หลวงปู่ญาท่านสวน ฉันทโร



หลวงพ่ออุตตมะ กับ หลวงปู่บุญมี โชติปาโล
บันทึกภาพ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)






อุโบสถบนเรือสุพรรณหงส์ ณ วัดสระประสานสุข
ด้านหน้าอุโบสถประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่บุญมี โชติปาโล




วิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช ณ วัดสระประสานสุข





ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าวัดสระประสานสุข (ประตูโขง)
เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียรขนาดใหญ่
สามารถมองเห็นตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่ามาแต่ไกล


“ซุ้มประตูรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียร”
เป็นการให้ความหมายของคําว่า “มงคล”

เพราะหลวงปู่บุญมี โชติปาโล ท่านถือตามประวัติของท่านว่า
โยมบิดาเอาผ้าห่อพันตัวแล้วนําไปลอดท้องช้าง
และความเชื่อพื้นฐานของสังคมในสมัยนั้นที่่เชื่อว่า
การลอดท้องช้างเป็นมงคล
การเข้ามาภายในวัดสระประสานสุขนั้น
ทุกคนจะต้องได้ลอดซุ้มประตูรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ท่านถือว่าทุกคนที่เข้ามาวัดเป็นมงคลอันแรก
ต่อมาคือการได้มารับฟังพระธรรมเทศนาเป็นมงคลอันดับต่อมา
และหากได้น้อมนําเอาพระธรรมคําสอนไปปฏิบัติก็จะเป็นมงคลต่อมา



.............................................................

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(๑) หนังสือที่ระลึกฉลอง ๑๕๐ ปี วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง)
(๒) หนังสือพระดีศรีอุบล ประวัติและพระธรรมเทศนา
พระภาวนาวิศาลเถร (บุญมี โชติปาโล) วัดสระประสานสุข
http://www.lib.ubu.ac.th/monkubon/file/MO49.pdf
http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/255 ... pl_ch3.pdf
(๓) http://www.gmwebsite.com/webboard/Topic ... o=2&Other=

                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44953

13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-30 14:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ถึงกาลของผู้มีแสงสว่างในธรรม
เขียนโดย...อำพล เจน


มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่ง “หมอตำแย ทำงานส่งสัปเหร่อ”

นั่นหมายถึง เกิดแล้วต้องตาย ถ้าไม่อยากตายต้องไม่อยากเกิด

ในทางโลกการเกิดเป็นเรื่องน่ายินดี การตายเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ในทางธรรมการเกิดเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ การตายเป็นการสิ้นทุกข์ไปคราวหนึ่ง เว้นแต่ผู้ถึงซึ่งพระนิพพาน การตายครั้งสุดท้ายจะปรากฏ แต่ใครจะรู้นอกจากตัวเอง

หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข อุบลราชธานี ได้ถึงกาลมรณภาพแล้วเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน 2547 มีอายุรวม 95 ปี 3 เดือน 4 วัน

เพิ่งรู้ว่าตัวเองยังไปไม่ถึงไหน ยังอยู่ในโลกอันตระการดุจราชรถที่คนเขลามัวข้องอยู่ เพราะว่าเศร้าเหลือพรรณนา

ในรอบ 50 ปีหลังนี้ เมืองอุบลฯ มีครูบาอาจารย์ 2 องค์เป็นหลัก คือ หลวงพ่อชา สุภัทโท กับ หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล ที่อาจกล่าวได้ว่ามีคุณธรรมเสมอกัน เป็นหลักยึด 2 หลักให้คนกำลังค้นหาแสงสว่างในธรรมได้ยึด แต่แล้วธรรมชาติก็ทำงานของมันไปอย่างไม่ปรานี มันทำลายอายุขัย และสังขารของหลักยึดทั้งสองให้สิ้นไปในที่สุด ธรรมชาติอีกเหมือนกันที่ยังให้คุณแก่ผู้ยังอยู่ได้มีความทรงจำที่ดีต่อไป

ความทรงจำแจ่มชัดในวัยเด็กอันเกี่ยวข้องกับ หลวงพ่อบุญมี โชติปาโล มีแม่ของผมรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง แม่ผู้ซึ่งมีหลวงพ่อเป็นพระในใจอยู่ตลอดเวลา กับการแสดงออกด้วยการเดินทางไปกราบนมัสการ ถวายอาหาร และข้าวของทุกวันหยุดประจำสัปดาห์ นั่นจึงเป็นเหตุให้มีผมได้ร่วมเดินทางทุกครั้ง

วันเสาร์เมื่อไหร่จะบอกตนเองเตรียมพร้อมไว้ ถ้าวันนี้แม่ไม่ไป ก็จะเป็นวันพรุ่งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

สมัยนั้น (ราวๆ ปี 2505) สนามบินนานาชาติทุกวันนี้ ยังมีสภาพไปทุ่งโล่ง มีลานบินคอนกรีตอยู่แค่ให้เครื่องบินขนาดเล็กขึ้นลงได้ เราใช้สนามบินเป็นทางเดินเท้าที่ลัดที่สุดเพื่อไปวัดหลวงพ่อ โดยการเดินผ่านสนามบินทุกสัปดาห์ และมีเพื่อนร่วมทางบ่อยที่สุดของแม่คือ น้าชัยฮวดซิ้ม กับอีกคนที่ไม่ถึงกับบ่อยนักคือ อาเหรียญฟ้ากู๊ ซึ่งมีลูกสาวรุ่นราวคราวเดียวกับผมคือ ปอเตียง ทั้งยังเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน ห้องเดียวกันอีกด้วย

ปอเตียง เป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง ส่วนผมที่เป็นทั้งเพื่อนสนิทในตอนนั้น ทั้งเป็นญาติกันอีกต่างหาก ยังแค่ปานกลาง คือสอบได้ลำดับประมาณ 10 จะอ่อนแก่ก็แล้วแต่จังหวะของข้อสอบ

ครั้งหนึ่งผมสอบได้ที่ 2 ส่วนปอเตียงยังคงได้ที่ 1 เหมือนเดิม เกิดเหตุอัศจรรย์ไปทั้งวงศ์สกุล แต่เบื้องหลังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง นอกจากปอเตียงกับผม 2 คน

ปอเตียงให้ผมลอกข้อสอบ ไม่ใช่ย่อย รู้จักทุจริตข้อสอบตั้งแต่อายุแค่ 7 ขวบ

นั่นแหละครับ ผมจึงมีเพื่อนคนเดียวที่ได้ร่วมเดินทางไปวัดหลวงพ่อในขณะที่แม่มีเพื่อน 2 คน

ระหว่างเดินลัดสนามบิน หน้าฝนมีน้ำเจิ่ง และทุ่งดอกหญ้าสารพัดชนิด เด็กๆ 2 คน ไม่เบื่อเลยที่จะวิ่งเก็บดอกไม้ และเอาเท้าทั้ง 2 ข้างวิ่งลุยน้ำ กลิ่นอายของต้นหญ้า ดอกไม้ และน้ำฝน ยังคงจำได้ทุกวันนี้

หลวงพ่อในสมัยนั้นกับสมัยปลายชีวิตของท่านยังอยู่ ในอิริยาบถและบรรยากาศเก่าๆ ยังนั่งอยู่บนศาลาพื้นเตี้ย ทำได้ด้วยไม้ มุงสังกะสี คล้ายๆ เพิงหมาแหงน แม้ว่าวัดจะใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน ศาลาไม้เก่าๆ ยังอยู่

จำไม่ลืมคือการเหยียบหัว

ผมถูกเหยียบหัวทุกครั้งที่พบท่านในวัยเด็กทั้งชอบและเกลียด สถานการณ์แบบนี้ คือชอบเพราะรู้สึกอบอุ่นใกล้ชิด เกลียดเพราะท่านรู้ความลับที่ผมมีอยู่ในใจคนเดียวได้อย่างไร

คำสอนพรั่งพรูออกจากปาก คำเดียวที่จำแม่นคือ ให้ปรนนิบัตกราบไหว้พระแก้ว 2 องค์ที่บ้าน คือ พ่อ กับ แม่ สอนอยู่เช่นนี้จนแม้ปลายชีวิตของท่านยังสอนไม่เสร็จ

ใช่แต่ผม ท่านสอนทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ให้รู้จักกตัญญูกตเวทิตาแก่พระแก้วที่บ้าน


เหมือนว่าเป็นคุณธรรมแห่งอนาคต ที่ทำนายว่าวันหนึ่งพระจะลงนรกกันหมด ทำบุญกับพ่อแม่ในตอนนั้นจะมีอานิสงส์มากที่สุด ไม่มีทางรู้ว่าสมัยอันนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

แต่ท่านสอนให้ระลึกถึงพระแก้ว 2 องค์อยู่เป็นนิตย์ เป็นเหตุให้การกราบพระก่อนเข้านอนของผมมี 6 ครั้ง จนถึงวันที่กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, หลวงพ่อบุญมี, พ่อ, แม่

แปลกที่ความทรงจำของผมจะมีอยู่แค่ช่วงสั้นๆ แต่เพียงครั้งยังเด็ก นึกถึงหลวงพ่อเมื่อใด วัยเด็กแจ่มชัดทุกคราว แม้เห็นผ้าเช็ดหน้าที่ท่านลงอักขระด้วยปลายนิ้วชี้ ที่ทำให้ผมแต่คราวโน้น ความทรงจำก็มีอยู่แค่คราวนั้น

ผ้าเช็ดหน้าสีขาวกลายเป็นเหลืองหม่น เป็นของมงคลอันเดียวที่ผมมีไว้ระลึกถึงท่าน

วันที่แม่ใกล้จะสิ้นอายุขัย หลวงพ่อบุญมีอุ้มบาตรมาเยี่ยมไข้ที่แสนหนักถึงบ้าน เพื่อให้แม่ได้ใส่บาตร ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ไม่ลืม

ยังพอมีความทรงจำที่แจ่มใสอีกอันหนึ่ง เกิดขึ้นในคราวที่ทุกสิ่งทุกอย่างหายไปจากชีวิต หรือว่าชีวิตของผมหายไปจากทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ทราบ พ่อแม่ตาย อาเหรียญฟ้าตาย ปอเตียงหายสาบสูญ ไปไหนไม่รู้

ผมกลับมาหาหลวงพ่ออีกครั้ง หลังจากไม่พบท่านเกือบ 30 ปี

เดินเข้าไปในวัดอย่างคุ้นเคยเช่นเดิม ไม่พบหลวงพ่อ แต่คนวัดบอกว่าท่านอยู่อีกด้านหนึ่งของวัด ผมมุ่งหน้าไป เห็นพระแก่ๆ นั่งยองเอาผ้าคลุมหัวอยู่ใต้ร่มไม้ เข้าไปกราบด้วยแน่ใจว่าเป็นท่าน

“มาหาใคร”

“มาหาหลวงพ่อ”

“นี่ไม่ใช่หลวงพ่อ หลวงพ่ออยู่โน่น” ท่านชี้ไปทางศาลาการเปรียญ

ผมถอยกลับออกมาพอดีพี่สาวตามมาถึง ผมบอกว่าหลวงพ่ออยู่ที่ศาลา

“ใครบอก”

“หลวงพ่อองค์ที่นั่งอยู่นั่นแหละบอก”

“นั่นแหละหลวงพ่อ”

กลับเข้าไปใหม่ กราบท่านพร้อมๆ กับพี่สาว ท่านไม่พูดอะไร จนกระทั่งพี่สาวกราบเรียนท่านว่า

“น้องชายหล่า (สุดท้อง) มาแต่กรุงเทพฯ พามากราบหลวงพ่อ หลวงพ่อจำได้ไหมเจ้าคะ”

“นี่ไม่ใช่น้องชายหล่า” ท่านตอบ

ผมไม่รู้ปริศนาธรรมอันนี้ แต่ผมจำได้แม่นไม่เคยลืม

ไม่มีอะไรใช่ทุกอย่าง

ไม่ใช่ไปหมดทุกอย่าง

จนถึงวันนี้ วันที่หลวงพ่อจากไปแล้ว และขณะที่กำลังรำลึกถึงท่านตามแบบของผม ก็ยังไม่รู้ว่าใช่หรือไม่

บางทีจะค้นพบแสงสว่างแห่งธรรม แล้วเข้าใจว่านั่นไม่ใช่แสงสว่างแห่งธรรม จึงจะเป็นวันที่เข้าใจปริศนาของคำว่าไม่ใช่ ก็ได้ใครจะรู้


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับที่ 516 วันที่ 1 กรกฎาคม 2547
http://www.ampoljane.com/index.php?opti ... &Itemid=81
ดีครับ
กราบระลึกถึงหลวงปู่ครับสาธุ
ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้