|
๏ สร้างวัดเขาฉลาก
พ.ศ. 2491 ได้มีการบูรณะถนนสุขุมวิท ทำให้มีเสียงดังรบกวนความสงบ หลวงพ่อใช่จึงปรารภที่จะหาสถานที่ปฏิบัติใหม่ ระหว่างที่ซ่อมถนน ได้มีญาติโยมชวนหลวงพ่อไปดูสถานที่บริเวณหุบเขาฉลาก หลวงพ่อพร้อมด้วยพระอาจารย์เช้า จนฺทสีโล (ภายหลังลาสิกขาบทไป), พระอาจารย์ชอบ สตฺตธโน (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแตน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี) และญาติโยมอีก 5-6 คน ได้ไปดูสถานที่ ท่านมีความพอใจในความวิเวกเหมาะแก่การภาวนาของหุบเขาฉลากเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2492 หลวงพ่อพร้อมด้วยพระอาจารย์เช้า และพระอาจารย์ชอบ ได้อาศัยอยู่บริเวณสวนของนายเปรม (โป๊) นางกิมซัว สถิตย์เสถียร ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ช่วยเหลือจัดสถานที่พักให้ในระยะแรก และนางพยุง แสงสว่าง น.ส.ชั้นยอด พยนต์ จัดเครื่องบริขารถวายประจำ
นอกจากนี้คณะญาติโยมประกอบด้วย น.ส.สำรอง สถิตเสถียร, นางฮื้อ น.ส.สำเนา บุรีเทศน์, นางตั้ง พยนต์, นางจิว ธาราศักดิ์, น.ส.บุญนารถ พยนต์, นายแดง นายจวน นายพยอม แสงสว่าง, นายละออง นางจำเนียร สุภาโอษฐ์ ร่วมกันปลูกกระต๊อบพื้นไม้หมากหลังคามุงจากขึ้น 3 หลัง และทำทางสำหรับให้พระเดินจงกรมได้ ใช้เวลาก่อสร้าง 1 วัน
หลังจากอยู่ได้นานพอสมควร นางศรีชุน นายศิริ จำปีรัตน์, นางพยุง แสงสว่าง ได้ช่วยกันสร้างศาลาชั่วคราวหลังเล็กขึ้น 1 หลัง ถังเก็บน้ำฝนขนาดเล็กก่ออิฐโบกปูน 1 ลูก ต่อมาได้ปลูกกระต๊อบมุงจากขึ้นอีก 2 หลังที่เชิงเขา เพื่อเป็นที่พักปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกา
หลวงพ่อจำพรรษาปีแรกที่เขาฉลากเมื่อปี พ.ศ. 2493 ปรากฏว่า เจ้าคณะอำเภอไม่ยอมอนุญาตให้จำพรรษาที่เขาฉลาก เพราะถือว่าเป็นสำนักปฏิบัติที่ยังไม่ได้ขออนุญาตโดยถูกต้อง นอกเสียจากจะเข้าสังกัดวัดใดวัดหนึ่งในอำเภอศรีราชา ต่อมาท่านอาจารย์นิด วัดรังสีสุทธาวาส (ไร่กล้วย) ได้เมตตารับสำนักหุบเขาฉลากไว้ในปกครอง ในพรรษาแรกนี้ มีพระอยู่จำพรรษา 4 รูป อุบาสก 1 คน อุบาสิกา 5 คน อุบาสิกาชั้นยอด พยนต์ เป็นผู้ทอดผ้ากฐินในพรรษานี้
ในปีถัดมา ได้เกิดอุปสรรคขึ้นอีก คราวนี้ท่านได้ขอความช่วยเหลือจากวัดวิเวการาม, ท่านพระครูพิภัทรธรรมคุณ วัดประชุมคงคา (โรงโป๊ะ), ท่านพระครูปรีชานุศาสน์ วัดบึงบวรสถิต และท่านพระครูไพศาลสารคุณ วัดโพธิ์ จ.ชลบุรี ท่านทั้งสามได้ช่วยเจรจากับท่านพระครูพรหมจริยธิมุต วัดบางเป้ง เจ้าคณะอำเภอ จนหลวงพ่อสามารถอยู่จำพรรษาที่เขาฉลากต่อไปได้ ภายใต้สังกัดวัดรังสีสุทธาวาส (ไร่กล้วย) เช่นเดิม
พรรษาที่ 5 พ.ศ. 2497 อุบาสิกาแฉล้ม แสงสว่าง และอุบาสิกาชั้นยอด พยนต์ มีความศรัทธาถวายที่ดินจำนวน 4 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ให้สร้างเป็นวัดถาวร พร้อมกับถวายเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างกุฎิ หลวงพ่อจึงย้ายสถานที่ปฏิบัติธรรมจากที่ของนายเปรม นางกิมซัว ซึ่งให้อาศัยชั่วคราว มาเริ่มก่อสร้างในที่ดินของอุบาสิกาแฉล้ม และอุบาสิกาชั้นยอด ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) ในปัจจุบัน
พรรษาที่ 13 พ.ศ. 2505 ในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์จากคณะสังฆมนตรี เป็นเถรสมาคม คณะวัดเขาฉลากจึงเริ่มขออนุญาตทางราชการเพื่อสร้างวัดอย่างถูกต้อง โดยมีนายวิชัย อุนากูล เป็นผู้ประสานงาน และนางพยุง แสงสว่าง ถวายที่ดินเพิ่มอีก รวมเป็นที่ดินขณะนั้นประมาณ 9 ไร่ 3 งานเศษ ในการขออนุญาตนี้ได้อาศัยเมตตาบารมีของพระครูสุนทรธรรมรส จนทุกอย่างสำเร็จด้วยดี
ในการทอดกฐินสามัคคีเมื่อปี พ.ศ. 2507 หลวงพ่อและคณะศรัทธาอันประกอบด้วย นายวิชัย อุนากูล, อุบาสิกาทองเย็น อุนากูล, อุบาสิกาชั้นยอด พยนต์, นายทองใบ บุรีเทศน์, นายประสิทธิ์ ปัทมดิลก, อดีตพระอาจารย์ยอด ได้ปรึกษาหารือถึงวิธีการขออนุญาตสร้างอุโบสถ คณะผู้ริเริ่มก่อสร้างได้มอบหมายให้นายวิชัย อุนากูล เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาต และในการนี้ ผู้ที่มอบที่ดินให้เป็นที่ตั้งพระอุโบสถ คือ นายทองใบ-นางน้อม บุรีเทศน์, นายบุญรอด-นางศรีเชิญ ผลชีวิน
วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2508 ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร
|
|