ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงพ่อใช่ สุชีโว วัดปาลิไลยวัน(วัดเขาฉลาก) ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอุโบสถวัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)


วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 วางศิลาฤกษ์พระอุโบสถเมื่อเวลา 09.39 นาฬิกา

พ.ศ. 2512 จัดงานยกช่อฟ้าพระอุโบสถ

วันที่ 15 ถึง 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ได้จัดงานผูกพัทธสีมา โดยตัดลูกนิมิตเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2515 เวลา 20.09 นาฬิกา ในงานนี้ได้มีการเททองหล่อระฆัง 9 ลูก หล่อรอยพระพุทธบาทจำลอง 1 รอย ขนาด 39 นิ้ว และปลูกต้นโพธิ์ที่หลวงพ่ออัญเชิญหน่อมาจากเกาะสีชังตรงบริเวณลานโพธิ์

ในงานผูกพัทธสีมาพระอุโบสถนี้ ไม่มีการโฆษณาและไม่มีมหรสพ มีแต่รายการบุญล้วนๆ เช่น มีการแสดงธรรมทุกวัน มีภาพยนตร์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น เช่น ภาพยนตร์เกี่ยวกับสังเวชนียสถานหรือพุทธประวัติ เป็นต้น ในวันแรกของงานมีการจุดดอกไม้เพลิงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาด้วย

จากสถานที่ปฏิบัติธรรมในหุบเขาที่เต็มไปด้วยความยากลำบากในระยะแรก ได้เจริญเติบโตเป็นวัดฝ่ายกรรมฐานที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ผ่านอุปสรรคนานัปการด้วยดี ทั้งนี้เป็นเพราะคุณานุภาพแห่งพระรัตนตรัย และบารมีของหลวงพ่อผู้เป็นพระบูรพาจารย์ที่สถาปนาสร้างอารามแห่งนี้ จนเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ใคร่ธรรม และเป็นดั่งอนุสรณ์ที่ประกาศเกียรติคุณหลวงพ่อสืบไปในอนาคต


พระพุทธบาทจำลอง ณ วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)


ลานโพธิ์ วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)

12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

กุฏิหลวงพ่อใช่ สุชีโว ณ วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)


๏ ความเป็นอยู่ในยุคแรก

สภาพโดยทั่วไปของเขาฉลากในอดีตนั้นเป็นป่าใหญ่ เชื่อมติดถึงป่าเขาเขียว ความสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ยังมีอยู่มาก ฤดูหนาว อากาศหนาวจัด ฤดูฝน ฝนตกชุก และรู้สึกจะเป็นฤดูที่ยาวนานที่สุด เวลาออกไปบิณฑบาตก็เปียกปอนแทบทุกวัน ทางที่ใช้เดินนั้นเป็นทางเล็กๆ พอเดินได้คนเดียว เวลาฝนตกน้ำจะไหลชะไปตามทางทำให้การเดินทางลำบากยิ่งขึ้น บ่อยครั้งที่พระต้องเดินลุยโคลนทำให้บริขารจีวรเปรอเปื้อนไปด้วย นับเป็นฤดูที่สาหัสเอาการ ทั้งงูก็ชุกชุมในฤดูนี้

ความเป็นอยู่ที่เขาฉลากในยุคแรกลำบากมาก ขาดแคลนปัจจัยสี่ และน้ำสรงน้ำใช้ หลวงพ่อและคณะต้องเดินไปสรงน้ำไกลถึง 2 กิโลเมตรเศษ ขากลับก็ช่วยกันหิ้วน้ำกลับมาคนละถัง พอกลับมาถึงวัดก็เหงื่อโทรมกายเลยทีเดียว จำเป็นต้องอาศัยผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ซึ่งก็พอคลายร้อนได้บ้าง ด้วยความที่เขาฉลากเป็นป่าใหญ่ จึงมีสัตว์ป่ามากมาย เช่น เสือในถ้ำยอดเขา เก้ง กระจง เม่น เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ทำอันตรายหลวงพ่อ ทั้งนี้เป็นไปตามพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

หลวงพ่อเคยเล่าว่า เมื่อท่านมาปลูกกระต๊อบหลังเล็กๆ อยู่ที่เชิงดอยสวรรค์ (ด้านหน้าเขาฉลาก) วันหนึ่งขณะนั่งฉันอาหารอยู่ มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยผ่านมาใกล้ๆ หลวงพ่อจึงโบกมือไล่ไป มันก็ไปโดยดี แต่วันหลังมันก็มาอีก ทำท่าจะขบกัดหลวงพ่อให้ได้ แต่ก็ทำอะไรท่านไม่ได้สักที จนมันเลิกและหายไป หลวงพ่อจึงบอกว่า นี่แหละความโกรธของงูเห่า แค่โบกมือไล่ มันก็โกรธแล้ว ดังนั้นถ้าเห็นงูเห่าให้ทำเฉยๆ อย่าเอะอะหรือทำท่าอะไร

สำหรับเสือนั้น ที่เขาฉลากมีเสืออยู่ตัวหนึ่ง พอเวลาพลบค่ำ เสือตัวนี้จะร้องกระหึ่มไปทั่วเขา และจะเดินไปหากินถึงเขาเขียว สมัยก่อนบริเวณนี้มีบ่อน้ำพุร้อน (ปัจจุบันจมใต้อ่างเก็บน้ำบางพระ) ชาวบ้านจะมาอาบน้ำพุร้อนกันเป็นประจำ ถ้าเกิดกลับออกมาไม่ทันมืด ก็ต้องค้างคืนที่ศาลาซึ่งมีเสาสูงมากเพื่อให้พ้นระยะเสือกระโดด

วันหนึ่ง ขณะที่หลวงพ่อปักกลดบริเวณใกล้กับกุฏิหลวงพ่อในปัจจุบัน ท่านทำสมาธิได้ดีตลอดวัน เมื่อค่ำลงสวดมนต์ก็เป็นสมาธิดีมากผิดจากวันก่อนๆ พอสมควรแก่เวลา หลวงพ่อก็จำวัดในกลด จนรุ่งเช้า ออกจากกลดก็เห็นรอยตะกุยดินของเสือเข้าใส่กลดหลวงพ่อ ท่านบอกว่านั้นแสดงว่ามันพยายามจะกินท่านให้ได้ เมื่อมันเอาไม่ได้ มันจึงตะกุยดินเข้าใส่ แล้วผละไปในที่สุด ต่อมา ชาวบ้านที่ปลูกแตงบริเวณเขาฉลาก ได้มาดูแลสวนตามปกติ เผอิญขณะที่เดินมาตามทางแคบๆ นั้น ก็ได้ประจันหน้ากับเสือ ไม่สามารถจะหลบหนีไปไหนได้ จึงยกปืนขึ้นยิงทันที ตำนานเจ้าป่าที่อยู่คู่เขาฉลากจึงจบลงไป
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


๏ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลังออกพรรษา เข้าฤดูแล้วในปี พ.ศ. 2492 เนื่องจากหลวงพ่อได้ยินกิตติศัพท์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มานานแล้ว ท่านจึงตั้งใจจะเดินทางไปฝากตัวศึกษาปฏิบัติธรรมด้วย ในระหว่างที่จัดแจงเตรียมตัวจะเดินทางพร้อมญาติโยม ท่านก็ได้ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่มั่นเสียก่อน จึงเป็นอันไม่ได้เดินทางไป

ภายหลังท่านได้รับหนังสือมุตโตทัย บันทึกพระธรรมเทศนาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยท่านเจ้าคุณวิริยังค์ เมื่อท่านอ่านจบลงก็เกิดปิติเป็นอย่างมาก ที่หลักธรรมขององค์หลวงปู่ตรงกับหลักธรรมที่ท่านรู้จากการปฏิบัติ ท่านได้ห่มจีวรและก้มลงกราบหนังสืออันเป็นสมมุติแทนองค์หลวงปู่ พร้อมกับขอมอบถวายตัวเป็นลูกศิษย์อีกด้วย

ในคืนนั้นเองท่านได้ฝันว่า หลวงปู่มั่นกำลังเดินบิณฑบาตบริเวณหมู่บ้านชายเขาฉลาก มีอุบาสกตามหลังมาหนึ่งคน พร้อมกับอีกเส้นทางที่ขนานกัน ก็เป็นหลวงพ่อสาลี วัดเขาวัง จ.ราชบุรี กำลังบิณฑบาตและมีอุบาสกตามหลังหนึ่งคนด้วยเช่นกัน ในระหว่างที่บิณฑบาตอยู่ หลวงปู่มั่นได้บอกโยมที่ใส่บาตรว่า พรรษานี้ท่านจะมาจำพรรษาที่เขาฉลาก  


หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ติดความว่าง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อทำความเพียรภาวนา แล้วไปติดอยู่กับความว่าง ท่านว่าจะพิจารณาภายในส่วนไหนก็ไม่ได้ มีแต่ความว่าง ท่านติดอยู่เป็นแรมเดือน จะหาอุบายแก้ไขอย่างไรก็ไม่ตก เป็นจังหวะพอดีกับที่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ได้เดินธุดงค์ผ่านมาและแวะที่เขาฉลาก

พอหลวงพ่อทราบข่าว ท่านก็ต้อนรับบริเวณที่เป็นศาลาฉันบิณฑบาตหลังเดิม จากนั้นได้อาราธนาหลวงปู่กงมาแสดงธรรม เนื่องจากตอนนั้นท่านเข้าใจว่าหลวงปู่กงมามีพรรษามากกว่า แต่หลวงปู่กงมาท่านชี้ไปที่หลวงปู่ฝั้น

หลวงพ่อจึงหันกลับไปเรียนถามหลวงปู่ฝั้นให้ท่านช่วยแสดงธรรมแก้ปัญหาที่หลวงพ่อท่านติดอยู่ หลวงปู่ฝั้นได้แสดงธรรมอยู่ 2-3 กัณฑ์ ให้หลวงพ่อลองกำหนดพิจารณาดู หลวงพ่อว่ายังไม่ถูกจุด คือ แก้ปัญหาไม่ตก และในกัณฑ์ที่ 5 หลวงปู่ฝั้นให้อุบายธรรมว่า “ถามหาผู้รู้ดู” พอหลวงพ่อนำมากำหนดก็สามารถแก้ปัญหาหลุดได้ ในขณะที่หลวงปู่ฝั้นกับหลวงพ่อสนทนาธรรมกันอยู่นั้น หลวงปู่กงมาได้เข้าที่ภาวนา (บริเวณฝาปิดถังน้ำซีเมนต์ในปัจจุบัน) อยู่ครู่หนึ่งไปพร้อมๆ กันด้วย

ภายหลังหลวงพ่อทราบข่าวจากญาติโยมที่มากราบคารวะท่านว่า หลวงปู่กงมาได้แนะนำให้มา และพูดว่าเขาฉลากสถานที่ดี มีความสัปปายะ ในกาลต่อมา ท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ  จ.สกลนคร ได้แวะพักที่เขาฉลาก พร้อมทั้งกราบเรียนหลวงพ่อว่า รู้จักที่นี่เพราะหลวงปู่กงมาซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่าน ได้เคยสั่งไว้ว่า ถ้าลงมาธุระแถวภาคกลาง ตะวันออก ก็ให้มาพักที่นี่ได้


ท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระครูพรหมสมาจารย์ (สาลี ธมฺมสโร)  


๏ ศึกษาธรรมกับหลวงพ่อสาลี

ในช่วงแรกๆ ของการตั้งวัดเขาฉลาก หลวงพ่อได้ศึกษาข้อปฏิบัติเพิ่มเติมจาก พระครูพรหมสมาจาร (หลวงพ่อสาลี ธมฺมสโร) วัดเขาวัง จ.ราชบุรี   ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เภา วัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี  หลวงพ่อได้เล่าถึงการเจอกับหลวงพ่อสาลีครั้งแรกไว้ว่า

“ที่อ่างศิลา ท่านเที่ยวธุดงค์มา ผมไปพบท่านที่อ่างศิลา (บริเวณวัดโกมุทรัตนารามในปัจจุบัน) เรื่องราวยาวยืด ผมปรารถนากับท่านองค์นี้ว่าผมจะขอเป็นลูกศิษย์ท่าน พบท่านตั้งแต่สมัยผมอยู่ในเมือง นั่งรถจะไปกรุงเทพฯ ท่านมาจากอ่างศิลา จะกลับเขาวัง พอดีท่านนั่งรถคันเดียวกับผม ผมก็จับตามองเรื่อย ท่านนั่งข้างๆ ผมก็นั่งข้างๆ จับตาดู แหม น่าเลื่อมใส บุคลิกก็ดี อัธยาศัยความสำรวมระวังของท่านเงียบ

ผมก็เลื่อมใสท่าน ตั้งปณิธานปรารถนาไว้ว่า ผมจะหาโอกาสมาค้นดูที่กรุงเทพฯ ท่านลงที่ราชประสงค์ ลงรถก็จะจอดฝั่งซ้ายใช่ไหมท่าน ผมไปหาก็เถอะไม่มีทางเจอหรอก ท่านอยู่วัดมะกอกนั้น วัดอภัยทายาราม โรงพยาบาลพระมงกุฎนั้น

ท่านลงตรงสี่แยกราชประสงค์ นั่งรถจากสี่แยกราชประสงค์ไปพญาไท ผมก็กะจะหาแถวนี้ แถวราชประสงค์วัดต่างๆ ถ้าเจอ ผมจะยอมมอบตัวเป็นศิษย์ ถ้าหากเป็นธรรมยุต ขอมอบตัวเป็นศิษย์ ถ้าหากไม่ยอมจะให้ญัตติ ผมก็จะญัตติถึงขนาดนั้น จิตใจมันเลื่อมใสแล้ว...”

หลวงพ่อสาลีนั้น นอกจากท่านจะเคร่งครัดในพระวินัยอย่างหาที่ติไม่ได้แล้ว ปฏิปทาในด้านต่างๆ  เช่น การต้อนรับแขก การแสดงธรรม การตัดสินปัญหา และการบริหารหมู่คณะของท่าน ก็ดูงดงามเปี่ยมด้วยลักษณะของบัณฑิต ทั้งท่านเป็นพระที่พูดน้อย พูดเฉพาะถ้อยคำที่เป็นอรรถเป็นธรรมจริงๆ

การอยู่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อสาลี ทำให้หลวงพ่อได้รับความรู้ความเห็น ทั้งในด้านพระธรรมวินัยและสติปัญญาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับหลวงพ่อเป็นผู้มีความอ่อนน้อมและมุ่งมั่นต่อการประพฤติปฏิบัติอย่างแท้จริง ทำให้ท่านได้รับความรักใคร่และสนับสนุนจากจากหลวงพ่อสาลีอย่างเต็มที่

ขณะที่อยู่เขาวัง ท่านได้มีโอกาสติดตามหลวงพ่อสาลีไปในที่ต่างๆ อยู่เสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้ติดตามหลวงพ่อสาลีไปที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีบ่อน้ำลึกมากที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้

วันหนึ่ง เด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นน้องชายของพระในวัด ได้วิ่งพลาดตกลงไปในบ่อร้างนั้น พวกเด็กๆ จึงไปบอกพระพี่ชายของเด็กนั้น พอพระพี่ชายมาเห็นน้องชายชักดิ้นชักงออยู่ก้นบ่อ ท่านก็กระโดดลงไปในบ่อ หวังช่วยน้องชาย แต่กว่าพระเณรและชาวบ้านจะช่วยกันนำร่างขึ้นจากบ่อได้ ทั้งสองก็ได้สิ้นชีวิตเสียแล้ว

“ก็บ่อลึกอย่างนั้น จะเอาอากาศที่ไหนเล่ามาหายใจ” หลวงพ่อสาลีเล่าเรื่องจบพร้อมกับหันมาพูดกับหลวงพ่อว่า “นี่แหละ คนโง่เขารักกันอย่างนี้”

นอกจากนี้ ในบางครั้ง หลวงพ่อสาลีได้เดินทางมาพักที่เขาฉลากเป็นเวลาหลายวัน และหลวงพ่อก็ได้ไปมาหาสู่หลวงพ่อสาลีมิได้ขาด แม้ภายหลังหลวงพ่อสาลีท่านได้มรณภาพไปแล้ว แต่ท่านก็จะไปกราบทำวัตรอยู่เป็นประจำทุกปี หลวงพ่อเรียกขานนามหลวงพ่อสาลีด้วยความเคารพว่า “หลวงพ่อใหญ่เขาวัง”
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ อุบายธรรมจากส้วมหลุม

ในสมัยก่อนห้องน้ำยังเป็นส้วมหลุมอยู่ ท่านได้จำภาพในส้วมนั้น และค่อยประคองกำหนดนั่งภาวนาในกุฏิ โดยกำหนดให้ตัวหนอนที่จำมาวางไว้บนมือ แล้วให้ค่อยๆ กินขาทีละข้าง พอกินไปหมดข้างหนึ่งเหลือแต่กระดูก ก็ย้ายตัวหนอนให้มากินขาอีกข้างหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็กำหนดจิตขาข้างที่เหลือแต่กระดูกไว้ควบคู่กันไปด้วย

พอกินได้สักครึ่งแข้ง จิตก็รวมตัวเกิดเป็นภาวะทัสสนะทางใจ ทีนี้ทั้งได้เห็นและได้ยินเสียง จากหนอนตัวเล็กที่ท่านได้กำหนดไว้เดิม ปรากฏในนิมิตตัวใหญ่ขึ้น กำลังกินตับไตไส้พุง เสียงดุบซุบๆ  ซิบๆ และกำลังคลานขึ้นมากินหัวใจซึ่งกำลังเต้นตุบๆ ท่านว่าในขณะนั้นรู้สึกขยะแขยงเป็นที่สุด ถึงขนาดต้องเอามือกดขาที่นั่ง คล้ายกับจะผละออกวิ่งหนีเสียให้ได้ จนแล้วจนรอด ท่านต้องถอนออกจากสมาธิ เพราะทนไม่ได้ ในภายหลังท่านได้บอกเป็นที่เฉพาะว่า ถ้าขณะนั้นสามารถทนพิจารณาและผ่านไปได้ ก็สามารถบรรลุขั้นพระอนาคามี เพราะคุณธรรมในขั้นนี้สามารถละตัวราคะและปฏิฆะได้เด็ดขาด


ท่านพุทธทาสภิกขุ


17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ณ เกาะสีชัง

หลวงพ่อได้ธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานปฏิบัติอย่างเข้มงวดเป็นเวลาหนึ่งเดือน แต่พอล่วงไปได้ยี่สิบกว่าวัน ก็เกิดความฟุ้งซ่านในจิตเป็นอันมากในขณะเดินจงกรมอยู่ จนเกือบจะยอมเสียสัจจอธิษฐาน เลิกล้มความตั้งใจในการปฏิบัติขณะนั้น ท่านได้ออกมาจากที่จงกรม มานั่งห้อยเท้าที่แคร่ แม้ร่างกายท่านจะเลิกปฏิบัติแล้ว แต่จิตใจของท่านที่ได้ผ่านการฝึกฝนมานาน ก็ยังคงทำงานภายในต่อไป

“เมื่อมันฟุ้งจนถึงที่สุด จิตก็มาคิดว่า หลักการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอะไร จิตตอบว่า สอนให้รู้ตัว พลันก็เกิดปัญญาขึ้นว่า งั้นฟุ้งก็ฟุ้งซิ เมื่อกำหนดรู้เช่นนั้น ที่เคยฟุ้งๆ นั้นดับเลย”

ในที่สุดหลวงพ่อก็จับหลักการปฏิบัติได้ว่า เมื่อฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง คือเอาตัวความคิดฟุ้งซ่านนั้นมาเป็นอารมณ์ เป็นที่ระลึกของสติต่อ ท่านสามารถกลับมาเดินจงกรมต่อ

จากประสบการณ์นี้ หลวงพ่อจะสอนเสมอว่า “ฉะนั้น นักปฏิบัติ อย่าทิ้งตัวรู้ อะไรเกิดขึ้นก็กำหนดรู้เรื่อยไป ชอบก็รู้ว่าชอบ ไม่ชอบก็รู้ว่าไม่ชอบ ฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง อะไรมาก็ให้กำหนดรู้...” และท่านยังกล่าวอีกว่า นักปฏิบัติเวลาฟุ้งซ่านแล้ว รุนแรงกว่าคนปกติเสียอีก ยิ่งสงบมาก เวลาฟุ้งซ่านก็มากเช่นกัน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เขาก็ไม่มาเกินกำลังของเราไปได้ คือพอสู้ได้

หลังจากเอาชนะความฟุ้งซ่านในครั้งนั้นได้แล้ว หลวงพ่อได้รับความเย็นใจขึ้นมาก การกระทำความเพียรก็ติดต่อ ผลการปฏิบัติก็ก้าวหน้า ภายหลังท่านได้เล่าผลการปฏิบัติให้หลวงพ่อสาลีทราบ หลวงพ่อสาลีได้กล่าวยกย่องว่า “ที่ท่านใช่พิจารณานั้นเป็นอุบายที่แยบคายดี” ทั้งได้แนะนำข้อปฏิบัติต่างๆ อีกพอสมควร

อีกครั้งที่เกาะสีชัง ท่านได้หาอุบายในการภาวนา โดยการส่งจิตออกลงไปใต้ท้องทะเล แล้วยกขึ้น วางลง แล้วดึงจิตกลับมา พร้อมกับทำในใจว่า ไม่เอา (อารมณ์) ใดๆ ทั้งนั้น ไม่ให้มีสิ่งใดติดอยู่ในใจ จนจิตสงบรวมตัว แล้วมีคำถามผุดขึ้นมาว่า “อะไรๆ ก็ไม่เอา อย่างนี้จะถูกหรือ” สักพักนึงก็ปรากฏเป็นภาษาบาลีว่า อุปาทานํ ทุกฺขํ โลเก ท่านแปลว่า ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วไม่มีทุกข์ ไม่มีในโลก

และในครั้งนั้น ท่านว่าความเพียรกำลังดำเนินไปด้วยดี สามารถเกิดความรู้ความเห็นต่างๆ และสามารถแต่งเป็นคำกลอน ดังเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ อุบาสิกา ก. เขาสวนหลวง เป็นต้น ท่านได้เก็บบันทึกไว้ บางส่วนก็เขียนเป็นจดหมาย เรื่องราวต่างๆ แต่หลังจากนั้นไม่นาน จิตเกิดเสื่อม ท่านว่า นักปฏิบัติที่ยังไม่มีความแน่นอนมั่นคงในใจ และหลงไปในอารมณ์นั้นๆ จิตจะเสื่อมได้ และเมื่อเสื่อมแล้วจะให้ดีดังเดิมนั้นยาก

จากเรื่องนี้ เป็นเหตุให้ภายหลังเมื่อท่านไปทอดกฐินวัดสาขาของหลวงพ่อชา สุภทฺโท ซึ่งมีการเทศน์ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่างเป็นประเพณี และบางครั้งก็เทศน์เพียงรูปเดียว ท่านได้ถวายคำแนะนำหลวงพ่อชาว่า พระที่จะเทศน์อย่างนี้ได้ควรมีธรรมะในใจตนก่อน มิฉะนั้น ผู้ที่เทศน์เก่ง พูดเก่งเท่าไหร่ ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากเท่านั้น ในงานนั้นพระอาจารย์ที่เทศน์พรรษากว่าสามสิบแล้ว และเทศน์อยู่รูปเดียวยันรุ่ง ปรากฏว่าภายหลังไม่นานมีข่าวว่าสึกเสียแล้ว


อุบาสิกา ก. เขาสวนหลวง

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงพ่อใช่ สุชีโว  


๏ กลางดงจงอาง

เมื่อทำความเพียรอยู่ที่เกาะสีชังเป็นเวลาพอสมควรแล้ว หลวงพ่อได้ข้ามมาพักอยู่ที่แหลมฉบัง (บริเวณท่าเรือน้ำลึกในปัจจุบัน) สมัยนั้นเป็นป่าใหญ่ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทยันชายทะเล โดยอยู่กับโยมจวน  บริเวณนั้นมีงูจงอางชุกชุมมาก เคยมีพระและฆราวาสซุ่มแอบดูงูจงอางผสมพันธ์กัน แต่หลวงพ่อก็ไม่ได้รับอันตรายใดๆ ท่านถือคติว่า ถ้าไม่เคยมีเวรกรรมกันมา ก็จะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

ในการอยู่ที่แหลมฉบังนั้น ท่านมักปลีกตัวทำความเพียร แล้วให้โยมจวนเป็นคนต้อนรับแขกแทน เวลากลางคืน ท่านเดินจงกรมไปตามชายทะเลตั้งแต่แหลมฉบังไปยังบางละมุง เกือบถึงพัทยา ด้านซ้ายมือเป็นดงป่าทึบ ด้านขวามือเป็นทะเล ตลอดทางไม่มีบ้านคน หลวงพ่อออกเดินตั้งแต่เริ่มค่ำ จนถึงบางละมุง แล้วเดินกลับมาถึงสำนักที่แหลมฉบัง ก็สว่างพอดี ท่านเดินจงกรมอยู่อย่างนี้ประมาณหนึ่งเดือน จึงเอาชนะความง่วงได้ในที่สุด ท่านว่าอยากจะให้นอนหลับก็ไม่ยอมหลับแล้ว

แต่เดิมหลวงพ่อท่านได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติในหลายสำนักครูบาอาจารย์ วันหนึ่ง หลังจากที่ท่านได้พักกลางวันแล้ว ก็ลุกขึ้นมาเพื่อจะนั่งทำกิจดังเช่นทุกวัน ก่อนปฏิบัติท่านก็อธิษฐานจิตว่า เราปฏิบัติครั้งนี้เพื่ออะไร เพื่อรู้ธรรมอะไร เห็นธรรมอะไร และเนื่องจากท่านได้ศึกษามาหลายอาจารย์ ทำให้เกิดความลังเลในการปฏิบัติทุกคราวว่า วันนี้เราจะปฏิบัติตามครูอาจารย์ท่านใด เมื่อเลือกเป็นที่พอใจแล้วก็ลงมือปฏิบัติ บางครั้งปฏิบัติแล้วยังไม่ทันเกิดอะไรก็คิดจะเปลี่ยนอาจารย์อีก

ในคราวนี้ ท่านคิดว่า ข้อปฏิบัติสำหรับรวมอาจารย์จะต้องมี เพราะอย่างน้อยก็เพื่อความพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ท่านก็อธิษฐานจิตว่า ขณะนี้ข้าพระองค์มีความลังเลสงสัยในข้อปฏิบัติจากหลายสำนักครูบาอาจารย์ ยังไม่รู้เจตนาจุดมุ่งหมายที่ว่าตรงกัน นั้นได้แก่องค์ธรรมข้อไหน แล้วท่านได้ขอพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ มาเป็นที่พึ่ง

หลังจากนั้น ท่านก็เข้าที่ภาวนากำหนดจิตจนสงบตั้งมั่น เกิดเป็นภาวะทัสสนะทางใจ จิตไปสัมผัสกับความทุกข์ พอมีอารมณ์ทุกข์เกิดที่จิต จิตก็เอามาเป็นอารมณ์เฉพาะหน้า เป็นปัจจุบัน ยิ่งกำหนดทุกข์เข้าไปมากเข้า ทุกข์ก็มาปรากฏกว้างขวางออกไปจนไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ

เมื่อตัวจิตตกอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์แล้ว ก็เกิดความกลัวขึ้น คิดจะหาทางออกจากทุกข์ จิตก็ตั้งคำถามว่า “เราต้องการทุกข์หรือ ก็เปล่า ในเมื่อเราไม่ต้องการความทุกข์แล้ว เหตุใดจึงตกอยู่ในท่ามกลางกระแสแห่งความทุกข์นี้ได้”

จิตก็ค้นหาต้นเหตุ ก็เริ่มพบว่า เพราะจิตไปคบกับชาติคือความเกิดเข้า จิตก็เข้าไปต่อว่าชาติว่า “นี่แนะ ชาติ เสียแรงที่เราคบกับท่าน ทำไมถึงส่งให้เราได้รับความทุกข์มากมายอย่างนี้”

ชาติก็ตอบว่า “เราคือชาติ เราทำตามหน้าที่ หน้าที่ของเราคือให้ไปเกิด ใครมาคบกับเราก็ต้องไปเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องตกไปในกระแสความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งสิ้น ถ้าจะโทษเรา ต้องไปโทษภพ เพราะภพเขาส่งท่านมา”

พอจิตรู้ก็หันไปโทษภพ จิตก็ถามว่า “ภพ เสียแรงที่คบกันมา ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากมายอย่างนี้เล่า ”ภพก็ตอบว่า“ เราชื่อว่า ภพ เราทำตามหน้าที่ ถ้าใครมาคบเรา เราก็ต้องส่งให้เขาไปสู่ชาติ ถ้าจะโทษเรา ท่านต้องไปโทษอุปาทาน ที่ส่งท่านมา”

จิตก็หันไปโทษอุปาทานว่า “เพราะเหตุใดเมื่อคบกันแล้ว จึงส่งให้เราไปรับทุกข์ขนาดนั้น” อุปาทานตอบว่า “เราชื่อว่า อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น เราทำตามหน้าที่ ใครมาคบเราก็ต้องมีความยึดมั่นถือมั่น (ในกาม ทิฏฐิ ศีลพรต ตน) เมื่อยึดมั่นถือมั่นก็ต้องมีภพ ถ้าจะโทษเรา ท่านต้องไปโทษตัณหา เพราะเขาส่งท่านมา”

พอจิตรู้ดังนั้นก็ไปต่อว่าตัณหาว่า “นี่ ตัณหา เสียแรงที่เราคบกับท่านมา ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากมายเช่นนี้” ตัณหาก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าตัณหา คือความทะยานอยาก เมื่อใครคบเราก็ต้องมีความอยาก (ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์) เมื่อมีความอยากก็เป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน ดังนั้นถ้าท่านจะโทษ ก็ต้องโทษเวทนา เพราะเวทนาส่งท่านมา”

จิตฟังดังนั้นก็หันไปโทษเวทนาว่า “นี่แนะ เวทนา เสียแรงที่เราคบกับท่านแล้ว เหตุใดจึงส่งให้เราไปรับทุกข์มากมายอย่างนั้น” เวทนาก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าเวทนา คือความเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ อัพยากฤต เมื่อเสวยอารมณ์แล้วก็ต้องเกิดความอยาก ฉะนั้น ถ้าหากจะโทษเรา ท่านต้องโทษผัสสะที่ส่งท่านมา”

จิตก็หันไปโทษผัสสะว่า “ผัสสะ แหม เสียแรงที่เราคบกันมา ทำไมถึงส่งให้เราไปได้รับทุกข์มากขนาดนั้น” ผัสสะก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าผัสสะ คือการกระทบ (ระหว่างอายตนะภายในหก อายตนะภายนอกหก) เมื่อใครมาคบกับเรา ก็ต้องเกิดความกระทบ แล้วก็ต้องเกิดเวทนา ถ้าท่านจะโทษ ต้องโทษสฬายตนะ (อายตนะหก) ที่ส่งท่านมา”

จิตก็ไปต่อว่าสฬายตนะว่า “เสียแรงที่คบกันมา ทำไมถึงส่งให้ไปรับทุกข์มากมายขนาดนั้น” สฬายตนะก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าสฬายตนะ คืออายตนะภายในหก ใครมาคบกับเรา แล้วก็ต้องมีการกระทบหรือผัสสะ ฉะนั้น ถ้าหากจะโทษเราก็ต้องไปโทษนามรูปที่ส่งท่านมา”

จิตได้ยินดังนั้นก็ไปโทษนามรูปว่า “แหมนี่ นามรูป เสียแรงที่คบมา ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากขนาดนี้” นามรูปก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่านามรูป เมื่อใครมาคบเรา ก็ต้องมีนาม มีรูป (นามได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ รูปได้แก่ มหาภูตรูปสี่ อุปาทายรูป 24 รวมเรียกรูป 28) เมื่อมีนามรูป แล้วก็ต้องมีอายตนะภายในหกขึ้น ถ้าหากจะโทษเรา ก็ต้องโทษวิญญาณที่ส่งท่านมา”

จิตก็เข้าไปต่อว่าวิญญาณ “นี่แนะ วิญญาณ เสียแรงที่เราคบท่านมา ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากมายอย่างนี้” วิญญาณก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าวิญญาณ คือความรู้แจ้งอารมณ์ทางทวารทั้งหก เมื่อใครมาคบกับเรา ก็ต้องมีความรู้ทางอารมณ์ แล้วก็เกิดนามรูป ถ้าจะโทษต้องโทษสังขารที่ส่งจิตมา”

จิตก็ต่อว่าสังขาร “นี่สังขาร เสียแรงที่เราคบกัน ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากขนาดนั้น” สังขารก็ตอบว่า “เราทำตามหน้าที่ เราชื่อว่าสังขาร คือ ความคิดนึกปรุงแต่ง (ปุญญาภิสังขาร คิดทางบุญ อปุญญาภิสังขาร คิดทางบาป อเนญชาภิสังขาร กลางๆ) ใครคบเราก็ต้องคิดนึกปรุงแต่งไป เมื่อคิดนึกปรุงแต่งแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้มีวิญญาณ ถ้าจะโทษก็ให้โทษอวิชชา เพราะอวิชชาเขาส่งท่านมา”

ทีนี้จิตก็ไปต่อว่าอวิชชาว่า “อวิชชา เสียแรงเราคบกัน ทำไมถึงส่งให้เราได้รับทุกข์มากอย่างนั้น” คราวนี้อวิชชาตอบไม่เหมือนตัวอื่น อวิชชาตอบว่า “คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ท่านคบกับเราแล้วท่านก็มาโทษเรา เราชื่อว่าอวิชชา แปลว่าความไม่รู้ เมื่อใครมาคบกับเราก็ต้องเป็นผู้ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็เกิดสังขารคิดนึกปรุงแต่ง ส่งต่อไปจนถึงชาติ ให้ได้รับทุกข์มากมายขนาดนั้น ถ้าหากว่าเรามีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใดแล้วหละก็ พระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันตสาวกก็ดี จะมีได้อย่างไร ท่านเหล่านั้นไม่คบเรา ท่านไปคบกับวิชชา”

อวิชชาสั่งสอนจิตอย่างนี้ พอจิตได้ฟังดังนั้นแล้วก็รู้ตัวเองว่า เป็นผู้ผิด ตนไปคบกับเขาเอง แล้วไปโทษคนอื่นเขา เพราะว่าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ท่านเหล่านั้นไม่ไปคบกับอวิชชา แต่ท่านไปคบกับวิชชา คือความรู้ ท่านจึงไม่ต้องมารับทุกข์ทรมานอย่างรา ท่านจึงไปพระนิพพานดับทุกข์ทั้งหลายได้

จิตฟังอวิชชาสั่งสอนก็รู้ชัดว่า ทางใดถูก ทางใดผิด จิตก็มองเห็นวิชชา ความรู้เครื่องดำเนินไปถึงความดับแห่งทุกข์ จิตก็จับหลักได้ ต่อนั้นมาจิตก็ตั้งมั่นกำหนดตัวรู้เป็นครูเฉพาะหน้าเรื่อยไป ก็อาศัยตัวรู้ คือรู้ตัวไว้นั่นเอง ดั่งคำที่หลวงพ่อท่านพูดย้ำบ่อยๆ ว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้สึกตัว ทางโลกว่า รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา แต่วิชาที่นี้หมายเอาความรู้ตัวชนิดที่ไม่มีความปรุงแต่งนั่นเอง”

หลวงพ่อตั้งใจจะตั้งสำนักสาขาที่แหลมฉบังแห่งนี้ แต่เมื่ออยู่มาระยะหนึ่ง ได้มีนักธุรกิจเข้าไปถางพื้นที่บริเวณใกล้สำนัก หลวงพ่อไปสอบถาม ได้ความว่า เขาจะมาตั้งรีสอร์ท ท่านพิจารณาว่า ถ้ามาตั้งรีสอร์ทจริง ก็จะเกิดความไม่สงบอีกต่อไป คนจะมากันมากขึ้น ท่านจึงทิ้งแหลมฉบังกลับเขาฉลากทันที
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ อยู่กระท่อมผี

ต่อมาหลวงพ่อได้ออกจากเขาฉลาก ธุดงค์ไปทางจังหวัดจันทบุรี หาความวิเวกอยู่ที่นั่นพอสมควรแล้ว จึงมุ่งหน้าสู่จังหวัดตราด หาที่บำเพ็ญสมณธรรม ตามถ้ำ ภูเขา ป่า และป่าช้า เมืองตราดในสมัยนั้นยังเป็นป่าใหญ่ประกอบด้วยสัตว์ป่า

บ่ายวันหนึ่ง ท่านเข้าไปปักกลดในป่าช้า ขณะนั้นชาวบ้านเขากำลังเผาศพลูกสาวของเจ้านายคนหนึ่ง เป็นเด็กหญิงอายุประมาณสิบกว่าขวบ ตายเพราะไข้ป่า เขาเอามาเก็บไว้ที่กระท่อมเป็นเวลาหลายเดือนเนื่องจากเป็นฤดูฝน ครั้นตกแล้งจึงมาช่วยกันเผา ครั้นเขาเห็นพระธุดงค์ จึงได้นิมนต์ให้มาพัก ณ ที่นั้น ท่านจึงขอให้เขาทำความสะอาดกระท่อมที่เคยเก็บศพนั้น ในตอนแรกเขาจะรื้อกระท่อมเผาเสียด้วย แต่หลวงพ่อขอร้องให้เขาซ่อมแซมเพื่อให้เป็นที่พัก

คืนนั้น หลังจากทำกิจเสร็จ ขณะที่ท่านนอนตะแคงข้างขวา กำหนดสติเพื่อจำวัดอยู่นั้น จู่ๆ ได้มีเสียงคล้ายสัตว์ตัวใหญ่ๆ กระโดดลงมาที่พื้น จนกระท่อมนั้นสั่นสะเทือน มันวิ่งกึกๆ มาที่ตัวท่าน พอถึงกระโดดข้าม แล้วตะกายขึ้นข้างผนังกระท่อม ท่านเกิดความสงสัยว่ามันเป็นตัวอะไร เพราะกระท่อมปิดมิดชิด ไม่มีทางที่สัตว์ตัวใหญ่ขนาดนั้นจะเข้ามาได้

ท่านจึงเอามือตะปบจับสัตว์ที่กำลังไต่ข้างผนังอยู่นั้น ความรู้สึกบอกว่า มันต้องเป็นแมวแน่นอน แต่พอเอื้อมมือหยิบไฟฉาย เจ้าสิ่งนั้นก็ดิ้นหลุดแล้ววิ่งขึ้นเพดาน ท่านรีบฉายไฟตาม แต่นอกจากเพดานกระท่อมที่ตีปิดสนิทแล้ว ก็หามีสิ่งมีชีวิตอื่นไม่ ท่านจึงมาคิดว่า สิ่งที่ไม่คิดว่าจะมี จะเป็น มันก็มีได้ เพราะอุปาทานความยึดมั่นในสังขารนี่เอง ที่ทำให้สัตว์ต้องเวียนว่ายอยู่ในภพ ท่านได้แผ่เมตตาให้กับดวงจิตนั้น แล้วจึงจำวัดต่อไป


หลวงพ่อใช่ สุชีโว

20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ถอนอารมณ์

ประมาณปี พ.ศ. 2500 หลวงพ่อได้ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมที่เขาเจดีย์กลางน้ำ (สวนสัตว์เปิดเขาเขียวในปัจจุบัน) มีโยมจวนเป็นผู้ติดตาม ในการธุดงค์ที่เขาเจดีย์กลางน้ำ ท่านได้อาพาธเป็นมาลาเรีย ท่านได้พยายามใช้ขันติเข้าต่อสู้กับอาการไข้ แต่ก็ไม่สามารถข่มเวทนานั้นลงได้ ท่านจึงไปขอความช่วยเหลือจากโยมจวน เพราะในครั้งที่แล้วๆ มา พลังจิตของโยมจวนนั้นถือว่าใช้ได้ผลชะงัดนัก แต่ครั้งนี้ อาการป่วยของท่านหนักเกินกว่าจะใช้พลังจิตแก้ไขได้

โยมจวนจึงแนะนำให้หลวงพ่อเข้าโรงพยาบาล นอกจากอาการที่หนักแล้ว ท่านยังได้รับยาที่แพ้มาอีกด้วย ท่านว่าธาตุขันธ์ทำท่าจะทรงอยู่ไม่ไหว ท่านจึงให้พระอุปัฏฐากห่มจีวรให้ท่านในขณะที่นอนอยู่ และปลงอาบัติ ซึ่งเป็นไปอย่างทุลักทุเล ใช้เวลาร่วมชั่วโมงจึงเสร็จ

ท่านได้ขอให้พระอุปัฏฐากจับตัวท่านให้นอนในท่าตะแคงขวา และไม่ให้ผู้ใดแตะกายท่าน ท่านได้กำหนดจิตตภาวนาอย่างเต็มที่ ปรากฏว่าขณะนั้นจิตท่านไปจับเอาอาการในการถอนบริขารต่างๆเป็นอารมณ์ (ในพระวินัย ผ้าที่ใช้ต่างๆ รวมทั้งบาตร ภิกษุต้องนำมาอธิษฐานใช้เสียก่อน เวลาเลิกใช้ก็ถอนอธิษฐาน หรือเรียกว่าปัจจุทธรณ์) ซึ่งจิตก็ทำงานของเขาเอง

ในขั้นแรกที่ยังเป็นสัญญา ท่านก็เริ่มถอนบริขารใกล้ตัวก่อน โดยถอนบาตรเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ถอนไตรจีวร แล้วส่งจิตไปถอนบริขารเล็กน้อยที่เขาฉลาก หลังจากถอนบริขารของใช้ทุกชิ้นที่ท่านนึกได้แล้ว จิตก็คอยจ้องว่าจะถอนอะไรอีก ทีนี้ก็เกิดอารมณ์ขึ้น จิตก็ถอนอารมณ์ “อิมํ อารมฺณํ ปจฺจุทฺธรามิ” แรกๆ อารมณ์ก็ยังมีมาก ต่อไปก็ค่อยๆ น้อยลงตามลำดับ จนจิตรวมตัวเกิดเป็นภาวะทัสสนะทางใจ

ต่อมาจิตก็เข้ามาถอนธรรมะ คือสติปัฏฐานสี่ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยถอนทีละตัว จากนั้นจิตก็เข้ามาถอนญาณทัสสนะนี้เองว่า “ญาณทัสสนะนี้ก็สักว่าเป็นญาณทัสสนะ เครื่องรู้ มิใช่สัตว์ บุรุษ บุคคล ตัวตน เรา เขา สมมุติบัญญัติทั้งหมด” ในขณะที่จิตกำลังทำงานภายในนี้เอง ก็เป็นเวลาเดียวกับแพทย์นำยาแก้แพ้มาฉีดถวายท่าน จากนั้นจึงค่อยๆ รู้สึกฟื้นตัวรอดตายมาได้  เมื่อท่านหายดีแล้ว ก็ได้กราบเรียนถึงธรรมะที่เกิดขึ้นถวายหลวงพ่อสาลี ท่านได้รับคำชมว่า ได้อุบายแยบคายดีมาก


หลวงพ่อใช่ สุชีโว

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้