ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร ภูทอก ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พอรุ่งขึ้น หลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว หมู่พวกได้ออกไปชมสถานที่ต่าง ๆ กันหมด เหลือท่านอาจารย์อยู่ในถ้ำองค์เดียว ขณะนั้นมีสีกาสาว ๆ มาเที่ยวเล่นค้นหาพระบริเวณนั้น เพื่อหลบพวกหญิงเหล่านั้น ท่านก็ปลดมุ้งกลดลงเสีย แต่ก็ยังมีหญิงใจกล้าคนหนึ่งมาเปิดมุ้งกลดออก ยิ้มให้ท่าน แล้วร้องเรียกเพื่อน “ตุ๊เจ้าอยู่นี่...ตุ๊เจ้าอยู่นี่” แล้วเข้ามายืนเพ่งดูท่าน ท่านจึงเห็นว่าหญิงผู้นี้นุ่งผ้านุ่งบาง ๆ เป็นซิ่น สเกิร์ต เห็นหน้าอกของเขาเต็มอก เกิดความรู้สึกวูบขึ้น ท่านจึงคิดถึงโอวาทของท่านเจ้าคุณอุบาลี “อุเปกฺขินทริยํ” พิจารณาอุบายนี้ จิตก็คลายความกำหนัดลง ต่อมาภายหลัง ได้มีพวกหญิงสาวมารบกวนท่านมาก ท่านเห็นว่าไม่สงบ จึงได้หนีออกจากที่นั้นไป

ท่านอาจารย์ได้อยู่จำพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่ ๒ พรรษา โดยวิเวกอยู่ตามดอย ป่าเขาที่สงัดห่างจากหมู่ชุมชนโดยตลอด ออกพรรษาแล้วธุดงค์ไปจังหวัดเชียงราย ตั้งใจจะไปให้ถึงเชียงตุง ได้เดินทางออกทางอำเภอแม่สาย เดินด้วยเท้า ๗ วัน ๗ คืน จึงถึงเชียงตุง ท่านเดินธุดงค์เป็นทางเดินไปตามยอดดอยล้วน ๆ มีเณรและโยมคนหนึ่งเดินทางไปด้วย ได้พักวิเวกบนดอยแห่งหนึ่ง เรียกว่าดอยแตง ซึ่งสงบสงัดดีมาก ท่านพักที่ดอยแตงนี้ ๓ เดือนจึงธุดงค์ต่อไป

ระหว่างธุดงค์อยู่ในจังหวัดภาคเหนือและเชียงตุงนี้ ท่านมักจะประสบภัยร้ายจากมาตุคามเสมอ แต่ท่านก็ได้ใช้ขันติและอุบายหลบหลีกมาได้ทุกระยะ จึงสามารถครองเพศพรหมจรรย์ได้ตลอดมา

ขณะที่อยู่เชียงตุงนั้น ท่านตั้งใจจะธุดงค์ไปให้ถึงอินเดีย ระหว่างเตรียมตัวเดินทาง ท่านได้อธิษฐานจิตดูว่า ถ้าสมควรจะได้ไปอินเดีย ขอให้ได้นิมิตที่ดี ถ้าไม่ควรไป ขอให้ได้นิมิตที่ร้าย

อยู่ต่อมาท่านจึงได้นิมิตว่า

ปรากฏเห็นพระพุทธเจ้า พระอานนท์ พระมหากัสสปะ และช้าง เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จไป พระอานนท์เสด็จตามห่างประมาณ ๑๐ เมตร องค์สุดท้ายคือพระมหากัสสปะ ตามหลังมาเป็นช้างตัวใหญ่ ช้างนั้นพอเดินมาถึงท่านอาจารย์ ก็วิ่งตรงเข้ามาจะทำร้าย ท่านได้วิ่งหนีขึ้นต้นโพธิ์ ช้างจึงทำอะไรไม่ได้ เมื่อช้างไปแล้ว ท่านจึงลงมาจากต้นโพธิ์ ที่ใต้ต้นโพธิ์มีอาสนะพร้อมทั้งหมอนและหนังสือวางอยู่ ท่านจึงลงมานั่งที่อาสนะและอ่านหนังสือ

เมื่อตื่นจากนิมิต ท่านจึงมาพิจารณาเห็นว่า แม้นิมิตตอนต้นที่เห็นพระพุทธเจ้าจะเป็นมงคล แต่ตอนกลางนั้น แสดงถึงอุปสรรค จึงไม่ควรไปอินเดีย จึงตัดสินใจเดินทางกลับจากเชียงตุง นั่งรถไฟกลับจังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อกลับมาถึง ได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร ท่านอาจารย์มั่นได้ถามว่า การภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง

ท่านอาจารย์ได้กราบเรียนท่านว่า “ไม่ดีเหมือนอยู่กับพ่อแม่ครูบาอาจารย์”

ท่านอาจารย์มั่นจึงบอกว่า ต่อไปให้ภาวนาอยู่ทางภาคอีสานนี้แหละ อย่าไปที่อื่นอีกเลย
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๙๒

วัดป่าบ้านเหล่ามันแกว สงเคราะห์โยมมารดา


เมื่อกลับมาอุบลราชธานีแล้ว ได้ไปรับมารดามาบวชเป็นชีที่วัดป่าบ้านเหล่ามันแกว ท่านพระอาจารย์มั่นได้จัดให้ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านเดิมเพื่อสงเคราะห์โยมมารดา และท่านยังได้สั่งกำชับว่า “เมื่อออกพรรษาแล้ว ให้รีบกลับมาหาผมนะ เดี๋ยวจะไม่ทันผม” เพราะท่านอาจารย์มั่นกำหนดอายุของท่านไว้ ๘๐ ปีเท่านั้น และปีนั้นท่านอาจารย์มั่นมีอายุได้ ๘๐ ปีพอดี

ในระหว่างพรรษานั้น โยมน้าซึ่งเป็นน้องสาวโยมมารดา พวกญาติและลูกหลานได้ไปนิมนต์ขอให้ท่านลาสิกขาบท เพราะเกิดความสงสาร เห็นท่านลำบากต้องอยู่ในป่าดงทุกข์ยาก ไม่มีเงินทองใช้สอย ไม่มีลูกมีเมีย ท่านจึงขอความเห็นญาติและลูกหลานที่มาว่า ผู้ใดที่มานี้ฝ่ายไหนอยากให้สึก ฝ่ายไหนอยากให้อยู่ ปรากฏว่าฝ่ายอยากให้สึกมีมากกว่า ท่านจึงว่า เมื่อครั้งบวช ท่านหาเครื่องบวชมาเอง ถ้าอยากให้สึก ต้องหาเครื่องสึกมาให้พร้อมดังนี้

๑. เครื่องแต่งตัวครบชุด    เขาก็ว่า   ได้

๒. การซักรีดเสื้อผ้า         เขาก็ว่า    ได้

๓. รถจักรยานยนต์ ๑ คัน  เขาก็ว่า    ได้

๔. รถยนต์ฟอร์ด ๑ คัน ราคาขณะนั้น ๖๐,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐ บาท เขาก็ชักพูดไม่ออก

๕. เมื่อสึกแล้วต้องมีลูกเมีย น้าคนหนึ่งรับจะยกลูกสาวให้

๖. ให้ปลูกบ้านเป็นปราสาทลอยอยู่ในอากาศ อยากไปไหนก็ลอยไปได้ เขาก็ตอบว่า ไม่ได้หรอก

๗. หายาป้องกันการเจ็บ แก่และตาย ให้ร่างกายเป็นหนุ่มอยู่เสมอ เขาก็ตอบว่า ไม่ได้

เมื่อหาเครื่องสึกได้ไม่ครบ เนื่องจากท่านไม่เต็มใจสึก จึงแกล้งแต่งกองสึกให้พิสดาร ทำให้การนิมนต์ลาสิกขาบทเป็นอันยุติลงโดยปริยาย เพราะไม่มีใครสามารถหาเครื่องสึกได้

หลังจากออกพรรษาแล้ว นึกถึงคำที่ท่านอาจารย์มั่นได้เคยกำชับ เตือนให้ท่านรีบกลับไปหา เดี๋ยวจะไม่ทัน ท่านจึงได้รีบเดินทางมานมัสการท่านอาจารย์มั่น พอมาถึงบ้านดงมะอี่ มีญาติมาส่งข่าวว่าโยมมารดาและพี่ชายเจ็บหนัก จึงต้องเดินทางกลับ อยู่พยาบาลได้ ๑ เดือน พี่ชายได้ถึงแก่กรรม ต่อมาโยมมารดาก็ได้เสียชีวิตลงอีก จึงได้จัดการฌาปนกิจท่านทั้งสอง

สำหรับประวัติโยมมารดาของท่านนี้ ท่านเล่าว่าเดิมเป็นหญิงชาวบ้านธรรมดาไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้เข้าโรงเรียนและเป็นคนถือผีไท้ผีฟ้า ตั้งศาลบูชาไว้ในบ้าน ต่อมา ท่านตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กนักเรียน ได้หาอุบายให้มารดาเลิกนับถือผี โดยทำลายศาลบูชาผีในบ้านเสียและไม่ยอมให้ตั้งศาลในบ้านอีก และท่านได้หาอุบายหาหนังสือ “หลานสอนปู่” ซึ่งสอนให้คนเลิกถือผี เข้าวัดทำบุญ รู้จักบาปบุญคุณโทษ มาอ่านให้มารดาฟัง ท่านอาจารย์ในสมัยยังเป็นเด็กชาย ได้แกล้งอ่านให้ฟังทุกวัน ๆ มารดาจะไม่ฟัง ก็แกล้งอ่านเรื่อยไป จนกระทั่งมารดาเกิดความเลื่อมใส เลิกนับถือผี กลับเข้าวัดฟังเทศน์ถือศีล
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


เมื่อครั้งโยมมารดาบวชเป็นชีแล้ว ท่านได้อยู่สงเคราะห์อบรมสั่งสอนโยมมารดา ตามแนวคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งโยมมารดาก็ได้ตั้งอกตั้งใจนำไปปฏิบัติภาวนา จนกระทั่งสามารถพิจารณากายจนเห็นชัดว่ามันเน่าเปื่อยผุพังลงไป จนในที่สุดโยมมารดาก็อุทานว่า

“คุณลูก โยมรู้แล้ว รู้จักทางแล้ว คุณลูกจะไปไหนก็ไปเถอะ อย่าเป็นห่วงโยมเลย.....มันบ่มีผู้ตายหรอก จิตมันก็ตายไม่เป็นหรอก มันละใสบริสุทธิ์ มีแต่ผู้รู้ ไม่มีผู้ตาย ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรานะ เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ นะคุณลูก”

หลังจากโยมมารดาเจ็บหนัก และท่านได้กลับมาพยาบาลแล้วไม่นาน โยมมารดาได้สิ้นลมด้วยอาการอันสงบที่สุด โดยสามารถบอกกำหนดวันและเวลาที่จะสิ้นลมได้ล่วงหน้าอย่างถูกต้อง

ในภายหลังเมื่อมีโอกาสจำพรรษากับหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้กราบเรียนเรื่องการภาวนาของโยมมารดาถวายให้หลวงปู่ฟัง หลวงปู่ได้พิจารณาอยู่ ๓ วัน แล้วได้เล่าให้ท่านฟังว่า โยมมารดาของท่านไปอยู่สูงแล้ว ไปถึงสุทธาวาสพรหมโลก ได้สำเร็จอนาคามี

เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจศพโยมมารดาและพี่ชายแล้ว ท่านได้รีบเดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น แต่ไม่ทันเห็นใจ เพราะได้มรณภาพเสียก่อนแล้ว ได้แต่ไปช่วยงานฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เป็นเวลาเดือนเศษ



หลังเสร็จงานศพท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านได้ปรึกษากับ ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม (ท่านเจ้าคุณอุดมสังวรวิสุทธิเถระ-ในภายหลัง) แห่งวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ปรึกษากันว่าจะไปเที่ยวภาคใต้ที่ภูเก็ตด้วยกัน เพราะขณะนั้นท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี หรือ พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ แห่งวัดหินหมากเป้งในปัจจุบัน จะไปประกาศศาสนาที่นั่น

ปรากฏว่าหลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล ซึ่งไม่เคยได้พบกับท่านมาก่อน ได้เรียกท่านไปพบ และสนทนาไต่ถามว่า เสร็จงานศพแล้วจะไปไหน ท่านได้กราบเรียนว่า จะไปภาคใต้กับท่านอาจารย์วัน เพื่อติดตามท่านพระอาจารย์เทสก์ไป

หลวงปู่ขาวจึงว่า อย่าไปเลย ให้อยู่กับท่านที่ถ้ำเป็ด ท่านอาจารย์ยืนกรานว่า จะไปปักษ์ใต้กับท่านอาจารย์วัน ผลที่สุด หลวงปู่ขาวจึงเล่าให้ฟังว่า ท่านพระอาจารย์มั่นได้ฝากฝังท่านไว้กับหลวงปู่ขาว ให้ช่วยดูแลรักษาด้วย

เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ท่านจึงได้รับคำด้วยความเคารพ และได้ติดตามไปอยู่กับหลวงปู่ขาวที่ถ้ำเป็ด อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๘ พ.ศ. ๒๔๙๓

จำพรรษาที่ถ้ำพวง อ.ส่องดาว จ.สกลนคร


พอถึงเวลาเข้าพรรษา หลวงปู่ขาวได้ให้ท่านอาจารย์ไปอยู่ที่ถ้ำพวง ซึ่งปัจจุบันคือวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมตอนบน ส่วนหลวงปู่ขาวจำพรรษาอยู่ที่เชิงเขา บริเวณที่เรียกว่าหวายสะนอย ใกล้กับภูเหล็กปัจจุบัน ท่านอาจารย์อยู่บนถ้ำพวงแต่ลำพังองค์เดียว ตั้งแต่เดือน ๑ ถึงเดือน ๗ ตอนเช้าไปบิณฑบาตที่บ้านหนองบัว ห่างจากถ้ำ ๑๓๐ เส้น บางวันก็ฉันอาหารที่ตีนเขาแล้วถึงขึ้นไปถ้ำพวง

ที่ถ้ำพวงนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นเคยเล่าให้ฟังว่า เป็นถ้ำที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เคยมีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อ พระนรสีห์ มานิพพานที่นี่ ใครเข้ามาใกล้ที่นี่ต้องถอดรองเท้า และแต่ก่อนมีช่องลึกลงไปใต้เขา ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้ไปวิเวกและไปพบว่า ข้างล่างนั้นเป็นถ้ำพญานาคอาศัยอยู่ ท่านจึงเอาก้อนหินมาปิดทางช่องนั้นไว้ ขณะนี้เรียบไปหมดไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแล้ว ขณะอยู่ที่ถ้ำพวงนี้ จิตสงบ เวลาภาวนาจิตก็รวมดี บางทีจิตรวมถึงคืนละ ๓ ครั้งก็มี

การภาวนาที่ถ้ำพวงนี้มีปรากฏการแปลกคือ ทุกวันเวลาบ่ายสามโมงท่านอาจารย์ออกเดินจงกรม จะมีกระต่ายน้อยตัวหนึ่งมานั่งนิ่งหลับตาอยู่ข้างทางจงกรม กระต่ายน้อยนี้จะนั่งเช่นนี้ทุกวันน่ารักมาก ทำกิริยาเหมือนมานั่งภาวนาไปด้วย พอท่านเลิกเดินจงกรมเข้าไปนั่งพักในร้านยกแคร่ กระต่ายน้อยก็จะเข้าไปนั่งพักอยู่ใต้ร้านแคร่นี้ด้วย แต่พอได้ยินเสียงคนเดินมาก็จะวิ่งหนีเข้าป่าไปทันที



ต่อมามีญาติโยมของสามเณรที่มาอยู่กับท่านได้ขึ้นมาส่งอาหารถวายพระทุกวัน ญาติคนหนึ่งเป็นหญิงสาว นอกจากส่งอาหารได้ส่งสายตาให้ท่านด้วยทุกวัน เวลาภาวนาจิตของท่านก็ไม่สงบ เห็นแต่ภาพสายตาหวานของหญิงสาว พอดีมีโยมผู้ชายขึ้นมาคุยว่ามีช้างถูกฆ่าตายอยู่ข้างบนนี้ กำลังเผาศพช้าง ท่านจึงขอเอากระดูกช้างมาท่อนหนึ่ง ร้อยเชือกแขวนคอไว้ตลอดเวลา ทั้งเวลาเดินจงกรม นั่งภาวนาเพราะเกิดอุบายว่า ถ้าควายตัวไหนมันดื้อด้าน ไม่เชื่อฟังเจ้าของ เขาก็จะแขวนไม้ไว้ทรมานมัน บางทีท่านก็บ้วนน้ำหมากไปถูกกระดูกช้างนั้นเป็นสีแดงเหมือนสีเลือด ใครเห็นเข้า ก็คิดว่าท่านคงมีสติวิปลาสไปแล้ว แต่หลวงปู่ขาวทราบเรื่องก็ค้านว่า คงไม่ใช่คนบ้าหรือวิปริตหรอก คงมีเหตุจำเป็นจึงต้องใช้อุบายนี้ ให้คอยดูกันไปก่อน.

ต่อมาเมื่อท่านจิตสงบเป็นปกติดี ไม่มีความรู้สึกในสีกาคนนั้นอีกแล้ว ท่านจึงได้เอากระดูกช้างออก ต่อมาเมื่อได้ไปกราบนมัสการท่านหลวงปู่ขาว หลวงปู่จึงถามว่า ทำไม่จึงเอากระดูกช้างไปแขวนคอ ท่านจึงเล่าเรื่องราวถวาย หลวงปู่ชมเชยมากว่า อุบายดีนัก

ขณะจำพรรษาที่ถ้ำพวงนี้ ได้เกิดนิมิตว่า ท่านได้นั่งภาวนาในกุฏิหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่ง และกำลังนั่งเพ่งพิจารณากระดูกอยู่ มีเด็กคนหนึ่ง ถือดาบวิ่งเข้ามาจะแทงทำร้ายท่านอาจารย์ แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ เด็กนั้นจึงไปบอกพี่ชายให้เข้ามาทำร้ายท่านแทน พี่ชายได้เข้ามาจะฆ่าท่านให้ตาย ท่านอาจารย์จึงถามว่า ท่านมีความผิดอะไร จึงจะมาฆ่าให้ตาย เขาก็ไม่ตอบ ตรงเข้ามาดึงผมท่าน (ในนิมิตอยู่ในเพศฆราวาส) เอาดาบมาเถือคอ หมายจะฟันให้ตาย แต่ทำอย่างไร ๆ ก็ฟันไม่เข้า ไม่มีแผลแม้แต่น้อย ท่านจึงบอกว่า ท่านไม่มีความผิด ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย ท่านยึดถือพระรัตนตรัยฆ่าไม่ตาย เขาจึงวางดาบลง แล้วประกาศว่า ต่อไปนี้ ขอเป็นเพื่อน เป็นมิตรกัน จะไม่อิจฉาพยาบาทกันเลย

ต่อมามานาน เช้าวันหนึ่ง ท่านออกไปบิณฑบาต มีสุนัขตัวหนึ่งอยู่หน้าถ้ำพวง ได้เข้ามากัดท่านแต่ไม่เข้า อีก ๓ วันต่อมา ชาวบ้านได้มาบอกว่า สุนัขตัวที่กัดท่านครูบาจวนนั้นตายเสียแล้ว
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้กราบลาหลวงปู่ขาวออกวิเวกไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยท่านและพรรคพวกอีก ๒ องค์ เดินทางจากอำเภอสว่างแดนดิน ไปอำเภอหนองบัว อำเภอผือ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แล้วย้อนมาพักวิเวกอยู่กับท่านพระอาจารย์หล้าฯ ซึ่งอยู่วิเวกองค์เดียวบนหลังภูพานหลายปีมาแล้ว โดยอาศัยชาวป่าชาวไร่ ๒ – ๓ ครอบครัว ท่านเล่าประวัติของท่านพระอาจารย์หล้าว่า เกิดที่เมืองจันทน์ ประเทศลาว มีครอบครัว ต่อมาบุตรภรรยาของท่านเสียชีวิต จึงข้ามมาบวชธรรมยุตในประเทศไทย ได้ติดตามไปอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโลอย่างใกล้ชิดถึง ๙ พรรษา จนท่านพระอาจารย์เสาร์มรณภาพ ขณะท่านพระอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิต ได้ให้โอวาทท่านพระอาจารย์หล้าว่า นิสัยของท่านสมควรอยู่องค์เดียว ไม่ควรอยู่ปะปนกับหมู่นะ ต่อไปให้วิเวกภาวนาอยู่องค์เดียว

ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านพระอาจารย์หล้าเล่าว่า ตัวท่านไม่เคยเรียนหนังสือไทย เพราะอยู่ประเทศลาว ที่อ่านเขียนภาษาไทยได้ เพราะเวลานั่งภาวนาจิตสงบ จะเห็นหนังสือไทยอยู่บนกระดานทุกวัน จึงได้เรียนภาษาไทยจากการภาวนา จนสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้คล่องไม่ติดขัด

ท่านอาจารย์จวนได้อยู่ศึกษาธรรมะและฟังเทศน์ของท่านพระอาจารย์หล้าเป็นเวลา ๑ เดือน ก็กราบลาท่านพระอาจารย์หล้าออกธุดงค์ต่อไป โดยเดินทางผ่านอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ลงเรือล่องแม่น้ำโขงที่อำเภอโพนพิสัย มาขึ้นที่อำเภอบึงกาฬ มากับหมู่พระอีก ๓ องค์ มุ่งหน้าเดินทางมาภูสิงห์และภูวัว เดินทางผ่านไปทางอำเภอเซกา อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าบ่อ ศรีสงคราม ขึ้นรถผ่านนครพนม ไปหยุดพักที่อุบลราชธานี แล้วเดินทางต่อไปที่บ้านนาผือ อำเภออำนาจเจริญ เดินทางผ่านภูเขาไปพักวิเวกที่ถ้ำพู บ้านเชียงเครือ พักที่ถ้ำพู ๗ วัน ได้เกิดป่วยหนัก เมื่อหายป่วยแล้ว พากันออกเดินทาง มุ่งหน้าไปบ้านดงมะอี่ กิ่งอำเภอชานุมาน ใกล้จะเข้าพรรษาจึงไปถึงภูสะโกฏ บ้านหนองเม็กนามน

พรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๔

ภูสะโกฏ บ้านหนองเม็กนามน


เมื่อไปถึงภูสะโกฏนี้ ท่านเห็นว่าชัยภูมิดี น้ำท่าบริบูรณ์ ร่มไม้สงบร่มเย็นดี จึงคิดจะจำพรรษาที่นี้ ได้ขอให้ญาติโยมช่วยปรับปรุงเสนาสนะ ญาติโยมได้ปลูกกุฏิให้ ๒ หลัง เพราะมีพระ ๒ องค์เท่านั้น ภูสะโกฏอยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง ๑ กิโลเมตร การบิณฑบาตจึงได้รับความสะดวกดี

ระหว่างพรรษา ได้ทำความเพียรเต็มความสามารถ จิตรวมเป็นประจำ และมีนิมิตว่า เจ้าภูมิเจ้าฐานมาบอกให้ท่านไปเอาพระพุทธรูปทองคำที่อยู่ในถ้ำสะโกฏ ๗ องค์ คืนแรกที่มาบอก ท่านไม่เชื่อก็ไม่ไป คืนที่ ๒ มาบอกอีกก็ยังไม่ไป คืนที่ ๓ มาบอกซ้ำอีก ท่านจึงถามญาติโยมและพระเณรในวัดบ้านดูว่า แถวนี้มีถ้ำจริงไหม เณรวัดบ้านบอกว่ามีจริง ท่านจึงขอให้เณรพาไป แต่เณรบอกว่า

“ได้ครับ แต่ท่านอาจารย์ไปเอาเองนะ ผมไม่เข้าไปด้วย ผมกลัวผี”

เมื่อไปถึงถ้ำ เห็นหินก้อนใหญ่ปิดปากถ้ำอยู่ มีเถาวัลย์รากไม้คลุมแน่นหนา ท่านจึงเอาก้อนหินออก เข้าไปภายใน เห็นพระพุทธรูปนอนเรียงกันอยู่ ๗ องค์ เป็นทองคำทั้งสิ้นขนาดนิ้วหัวแม่มือ ท่านจึงนิมนต์ออกมาสักการบูชา พอออกพรรษา ท่านได้ให้ญาติโยมนำพระพุทธรูปไปคืนที่เดิม ไม่ได้เอาติดตัวออกไปด้วย ท่านเล่าว่า ไม่ทราบว่า ปัจจุบันจะยังคงอยู่หรือไม่

ขณะจำพรรษาที่ภูสะโกฏนี้ เกิดนิมิตว่า เจ้าภูมิเจ้าฐานผีทางเชียงตุงมาเยี่ยมท่านเป็นขบวน และผีเชียงตุงสั่งฝากฝังผีดงมะอี่ว่า ให้ดูแลรักษาพระองค์นี้ให้ดี อย่าราวีอย่าเบียดเบียนพระองค์นี้ ผีดงมะอี่รับคำและว่าจะรักษาคุ้มครองท่านไม่ให้มีอันตรายเลย

ท่านเล่าว่า ก็แปลกอยู่ เพราะนับแต่นั้นมา ท่านก็สุขสบายดี ไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรจนตลอดพรรษา
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครั้นออกพรรษา ท่านก็ออกเที่ยววิเวกตามวิสัยของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน พอไปถึงอำเภอสว่างแดนดิน ได้ข่าวว่าหลวงปู่ขาวมาจำพรรษาที่ถ้ำค้อ ดงหลุบหวาย หลุบเทียน เลยพากันไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาว ถ้ำค้ออยู่ไกลจากหมู่บ้าน ๓๐๐ เส้น จึงได้อาศัยชาวบ้านช่วยกันทยอยส่งเสบียงอาหารขึ้นไปให้แม่ชีทำอาหารถวาย ท่านอาจารย์ไปพำนักอยู่กับหลวงปู่ขาวประมาณ ๒ เดือน จึงได้กราบลาหลวงปู่ เพราะอยู่กันหลายองค์ ลำบากเรื่องอาหารขบฉัน อยู่ห่างไกลหมู่บ้าน



ท่านได้เดินทางไปพร้อมกับท่านพระอาจารย์คำบุ ธมฺมธโร ผ่านอำเภอวานรนิวาส มุ่งหน้าไปดงหม้อทอง เมื่อไปถึงได้ไปอาศัยหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งมี ๓ ครอบครัว เขาเป็นผู้มีศรัทธาดีมาก เขาช่วยกันปลูกกระต๊อบเป็นเสนาสนะให้อยู่องค์ละหลัง

ดงหม้อทองเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอุดม ทั้งฝูงช้าง เสือ หมี มีอยู่เป็นประจำ คืนหนึ่งในเดือนมิถุนายน เวลาประมาณตี ๓ ปรากฏมีฝูงช้างออกมาหากินใกล้กับกุฏิพระ เฉพาะตัวจ่าฝูงได้เดินมาหยุดยืนหน้ากระต๊อบ ห่างจากท่านอาจารย์ประมาณ ๖ – ๗ เมตร ช้างนั้นทั้งสูงและใหญ่ มาหยุดยืนนิ่งแล้วก็ส่งเสียงร้องแปร๋นโกญจนาท ท่านตกใจตื่น เห็นเป็นช้างก็แทบสิ้นสติ เรื่องนี้ท่านชอบเล่าเป็นอุทธาหรณ์ให้ศิษย์สังวรเรื่องสติเสมอ

ท่านว่าครั้งแรกตั้งสติไม่ทัน เกิดความกลัว ลุกขึ้นจุดโคมไฟมือไม้สั่น ถือออกมาข้างนอกทั้งที่ยังกลัวอยู่ ท่านคิดว่า ถ้าช้างเข้ามาจะกระโดดหนีขึ้นต้นไม้ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า เราเป็นพระกัมมัฏฐานจะกลัวช้างไปทำไม ช้างยังไม่กลัวเราเลย เราเป็นพระธุดงค์ เป็นผู้เสียสละในชีวิตแล้ว แล้วยังจะไปกลัวช้างทำไม เราเป็นพระ เป็นมนุษย์ ช้างมันเป็นสัตว์ ช้างยังไม่กลัวเรา

แล้วก็คิดถึงคำที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ภิกษุที่เกิดความกลัว ไปอยู่ป่าหรือป่าช้าก็ดี เมื่อเกิดความกลัว ขนพองสยองเกล้า ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เมื่อระลึกถึงเราตถาคตอย่างนี้ ความกลัวนั้นจะหายไป

พอท่านเตือนสติตัวเอง ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วความกลัวนั้นก็คลายไป และพิจารณาถึงความตายต่อไปว่า กลัวก็ตาย  ไม่กลัวก็ตาย อยู่ที่ไหนก็ต้องตาย ความตายไม่มีใครผ่านพ้นไปได้ ไม่ว่าจะตายด้วยอะไร พอพิจารณาถึงความตายอย่างนั้นแล้ว จิตก็ค่อยสงบเป็นลำดับ ไม่มีความกลัวตายเหลืออยู่ในจิต ช้างก็ไม่กลัว ความตายก็ไม่กลัว จิตสงบเยือกเย็น เป็นจิตที่กล้าหาญ ไม่สะทกสะท้าน จึงกลับเพ่งจิตที่สงบไปพิจารณาดูช้างว่า มันคิดอะไร กระแสจิตที่สงบแล้วขณะนั้นคงจะรุนแรงมาก ช้างจึงตกใจร้องแปร๋นก้องไปทั้งป่า แล้ววิ่งหนีเข้าป่าไป ตั้งแต่วันนั้นมา ไม่เห็นฝูงช้างหรือช้างตัวใดเข้ามาที่บริเวณนั้นอีกเลย

เมื่อใกล้จะเข้าพรรษา ท่านอาจารย์คำบุ ก็ลาท่านอาจารย์กลับไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย คงเหลือท่านอาจารย์อยู่จำพรรษาที่ดอนสะพุง ชายป่าดงหม้อทองนั้นต่อไปองค์เดียว

ที่มา http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-juan-hist-01.htm
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๙๕

ดอนกระพุง ชายป่าดงหม้อทอง อ. วานรนิวาส




พรรษาที่ ๑๐ นี้ ท่านอยู่จำพรรษาองค์เดียว ที่ดงหม้อทอง อาศัยชาวบ้าน ๓ ครอบครัวบิณฑบาตเลี้ยงชีวิต พวกเขาเป็นคนจน แต่มีศรัทธามาก มีความอดทนแม้จะต้องหาเช้ากินค่ำ

ที่บริเวณนั้น เขาถือกันว่าเป็นที่ไม่ดี มีผีมาก เป็นทุ่งร้างอยู่ห่างจากแม่น้ำ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น เป็นที่แห้งแล้ง เขาเรียกว่าทุ่งหนองอีดอนและทุ่งโซ่ง เพราะเคยเป็นที่อยู่ของคนโซ่ง คนป่ามาก่อน แต่เกิดเจ็บป่วยล้มตายมาก ต้องอพยพหนีไป

เมื่อท่านอาจารย์บอกชาวบ้านว่าจะจำพรรษาอยู่ที่นี่ ชาวบ้านตกใจมาก บอกว่าอยู่ไม่ได้ เพราะผีดุ ผีอาจจะแกล้งให้เจ็บป่วยถึงตายได้ ที่ร้างไปก็เพราะเหตุนี้ พวกเขาตั้งบ้านเรือนกันอยู่ก็แต่บริเวณรอบนอกหรอก ท่านก็ไม่ฟังเสียง คงอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น

พอถึงกลางพรรษา เกิดนิมิตว่า พวกผีโซ่งพากันถืออาวุธจะเข้ามาฆ่าท่านให้ตาย เอาปืนมายิงก็ไม่เข้า เอาดาบมาฟันก็ไม่เข้า เอาอะไรมาทำอันตรายก็ไม่ตาย สุดความสามารถของพวกเขา หัวหน้าผีเลยประกาศกับบริวารผีว่า เมื่อทำอะไรท่านไม่ได้ ก็ต้องยอมท่านเสีย เลยพากันแต่งดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาท่านอาจารย์ แม้จะเป็นนิมิต แต่ก็ประหลาดที่ต่อมา ไม่มีการเจ็บไข้กัน มีคนหลั่งไหลเข้ามาจับจองที่ว่างเหล่านั้น ตั้งบ้านเรือนและทำไร่กลายเป็นไร่นาที่อุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกบ้านเรือน ปลูกข้าวทำนาได้ผลดี

หลังออกพรรษา ท่านอาจารย์ได้ปรารภกับญาติโยมแถวนั้นว่า อยากจะไปอยู่ที่ในดงหม้อทอง เพราะบริเวณนั้นสงบสงัดและได้ข่าวว่ามีถ้ำใหญ่ ๆ อยู่มาก มีพลาญหินสวยงาม ท่านจึงขอให้ญาติโยมช่วยพาไปดูสถานที่

ท่านได้ออกเดินทางไปกับญาติโยม ในตอนเช้าหลังจากฉันอาหารเสร็จ เดินทางตลอดวัน จนค่ำจึงถึงถ้ำที่ตั้งใจจะไป ท่านตรวจดูเห็นว่าชัยภูมิน่าอยู่มาก จึงขอให้ญาติโยมช่วยถางหญ้าและเถาวัลย์ที่ขึ้นปกคลุมอยู่และพักนอนที่นั่น ตอนกลางคืนได้ยินเสียงสัตว์ป่ามาร้องระงม และคืนนั้นมีเสียงเสือมาร้องคราง คำรามอยู่ใกล้ ๆ

เดือนแรกที่ดงหม้อทอง มีญาติโยมตามไปอยู่ด้วย เขาอยากจะตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในดงหม้อทอง ท่านจึงช่วยเขาเลือกสถานที่ปลูกบ้านเรือน เขาก็บอกกันต่อ ๆ ไปว่า ท่านอาจารย์ “เจาะดง” เข้าไปอยู่แล้ว คงไม่มีอาเพทใดอีก ชาวบ้านจากถิ่นต่าง ๆ ก็ทยอยมาตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง เพราะเห็นว่า ดงหม้อทองเป็นที่อุดมสมบูรณ์ ที่ทำเลทำมาหากินสะดวก แต่เดิมที่กลางดงนั้นไม่มีหมู่บ้าน ท่านก็ช่วยตั้งหมู่บ้านให้เรียกว่า “บ้านดงหม้อทอง” ต่อมาภายหลัง บ้านเรือนก็เป็นปึกแผ่นแน่นหนามากขึ้นแล้ว แต่ละคนก็มีไร่นาสาโท มีโรงสี โรงเรือน ไม่ยากจนข้นแค้นกันอีกต่อไป



18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๔๙๘

ดงหม้อทอง อ.วานรนิวาส


ตั้งแต่พรรษาที่ ๑๑ ถึงพรรษาที่ ๑๓ ท่านอาจารย์จำพรรษาที่ดงหม้อทองโดยตลอด เพราะเป็นที่สงบสงัดดี สภาพของป่าดงดิบหนาทึบ เต็มไปด้วยไม้ใหญ่ มีถ้ำ เงื้อมหินผาและพลาญหิน พร้อมทั้งสัตว์ป่าอันดุร้าย เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องช่วยในการภาวนาทั้งสิ้น

พรรษาที่ ๑๑ มีพระ ๒ องค์ เณร ๑ องค์ จำพรรษาอยู่ด้วย ท่านได้ชักชวนญาติโยมช่วยกันตัดถนนจากดงหม้อทอง ออกมาบ้านมายบ้านคู่ โดยใช้เวลา ๓ เดือน พอออกพรรษา หลวงปู่ขาว อนาลโย ให้คนมาส่งข่าวว่า ให้ไปรับหลวงปู่ออกมาวิเวกด้วย พอดีท่านอาจารย์สอน อุตฺตรปญฺโญ ธุดงค์มาถึงจึงชวนให้อยู่เป็นเพื่อน ช่วยกันเตรียมเสนาสนะสำหรับหลวงปู่และพระที่ติดตามท่านมา



หลวงปู่ขาวออกมาวิเวก ท่านพอใจความสงัดเงียบ เงื้อมถ้ำและพลาญหินที่ดงหม้อทองมาก จึงอยู่ต่อไปจนเข้าพรรษา

พรรษาที่ ๑๒ หลวงปู่ขาว พร้อมด้วยพระติดตามมาอีก ๗ – ๘ องค์ ผ้าขาว ๒ คน แม่ชี ๔ – ๕ คน ได้อธิษฐานพรรษาอยู่ที่ดงหม้อทองด้วยกันหมด ต่างองค์ต่างปรารภความเพียรอย่างเต็มความสามารถ และได้ฟังเทศน์จากหลวงปู่ ในพรรษานี้ บางวันกลางวันท่านนั่งอยู่บนกุฏิก้อนหิน เห็นฝูงช้างมากินน้ำที่หนองน้ำโคนก้อนหินในบริเวณวัด แต่ไม่ได้ทำอันตรายใด ๆ และบางคืนมีเสือมาหยอกเล่นกัดกันขณะพระสวดปาฏิโมกข์ก็มี

พอออกพรรษา ท่านอาจารย์ได้ออกเดินวิเวกมาทางภูวัว ส่วนหลวงปู่ขาวได้เดินทางกลับไปอยู่วัดแก้ว บ้านชุมพล

พรรษาที่ ๑๓ จำพรรษาที่ดงหม้อทอง มีหลวงปู่คำอ้าย ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น มาจำพรรษาอยู่ด้วย

ในพรรษานี้ คืนหนึ่งท่านได้นิมิตว่า มีภิกษุณีซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งเข้ามาหา และก้มกราบท่านอาจารย์ และได้เทศน์ให้ท่านฟังอีกด้วย โอวาทที่ภิกษุณีเทศน์ให้ฟังนั้น มีอรรถรสดื่มด่ำ น่าฟังอย่างยิ่ง

พอออกพรรษาได้ร่ำรากันไปหาที่วิเวก ท่านอาจารย์ได้เดินทางไปภูวัว ขณะนั้นหลวงปู่ขาวจำพรรษาอยู่ที่บ้านเลื่อม เมื่อออกพรรษาหลวงปู่ได้ให้คนมาส่งข่าว ขอให้ท่านอาจารย์ไปรับหลวงปู่เพื่อจะไปจำพรรษาที่ภูวัวด้วยกัน ท่านอาจารย์จึงไปรับหลวงปู่ไปจำพรรษาที่ภูวัว
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๔๙๙

ที่ถ้ำแก้ว ตาดปอ บ้านทุ่งทรายจก ภูวัว




ที่ภูวัวนี้ เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน บนหลังเขาเป็นที่ราบ บริเวณกว้าง มีโขดหิน น้ำตก แอ่งน้ำสวยงามมาก และเคยเป็นที่ครูบาอาจารย์เคยมาวิเวกทำความเพียรกันมาแล้ว เช่น พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (ทองสุก สุจิตโต) เป็นอาทิ ในพรรษานี้ มีพระเณรรวมกัน ๑๔ องค์ สมัยนั้น ภูวัวยังมีสัตว์ป่านานาชนิด บางวันมี ช้าง หมี เสือ เข้ามาในเขตวัดจำนวนมาก และบนตาดปอยังมีพวกภูตผีปีศาจมารบกวนพระเณรอยู่เสมอ มีพระเณรเจ็บป่วยกันมาก หลวงปู่ขาวจึงให้ท่านนำเรื่องนี้ไปพิจารณา

ท่านพิจารณาแล้ว จึงได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า “เยสนฺตา” แปลว่า ผู้สงบ ไม่เดือดร้อน ไม่มีความทุกข์ใด ๆ จะเกิดแก่ผู้สงบ

หลวงปู่จึงเห็นว่า จริง ถูกทีเดียว และยังได้กล่าวต่อไปว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํสุขํ” ความสุขใดยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี ผู้มีความสงบแล้ว ไม่มีความทุกข์ ความเดือดร้อนอะไร

ท่านจึงกำชับให้ทุกคนเร่งทำความสงบ และภายหลัง การเจ็บไข้ได้ป่วยของพระเณรก็หมดไป

ในระหว่างพรรษา ท่านอาจารย์ได้เกิดเป็นโรคฝีหัวดำ ที่นิ้วหัวแม่มือ เป็นฝีที่ร้ายแรงและเจ็บปวดมาก ตัวร้อนเป็นไข้สูง ท่านไม่ได้นอนมาตลอด ๓ วัน ๓ คืน เพราะปวดตลอดเวลา พอนั่งภาวนา จิตกำลังจะสงบ ได้มีนิมิตว่า มีโยมแก่คนหนึ่ง มาเป่าที่ฝีหัวแม่มือนั้น และบอกว่า พรุ่งนี้จะเอายามาใส่ให้ พอรุ่งเช้า มีโยมคนหนึ่ง เป็นหมอผีประจำหมู่บ้าน ขึ้นมาถวายจังหันพระ มาเห็นฝีหัวแม่มือของท่าน ก็ได้เข้าป่า ไปหายามาฝนใส่ให้ท่าน หลังจากนั้นก็หายขาด

ในระหว่างพรรษาได้เกิดนิมิตสำคัญ ๒ คราว คราวแรก นิมิตว่า
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มีแม่ชี ๓ องค์ ซึ่งเป็นพรหมมาบอกชาติกำเนิด ที่ท่านเกี่ยวพันกับท่านพระอาจารย์มั่นในชาติก่อน ๆ อีกคราวหนึ่ง ปรากฏขึ้นว่า ท่านกำลังเดินทาง พอออกมาพ้นหมู่บ้าน ก็ถึงแม่น้ำกว้างสายหนึ่งขวางหน้าอยู่ ท่านตั้งใจจะข้ามไปฝั่งตรงข้าม พิจารณาดูเห็นแม่น้ำนั้นกว้างมาก ไหลเชี่ยว และท่าทางคงจะลึกมาก ฝั่งแม่น้ำลาดเหมือนฝั่งทะเล ค่อย ๆ เทลงและชันเข้า ที่ฝั่งเป็นโคลนตมเละ ท่านคิดว่า ถ้าลงไปที่นั่นคงจะจมโคลนมิดตัวเลย ท่านมองเห็นรอยเท้าคนที่เพิ่งเดินข้ามไปใหม่ ๆ ท่านคิดจะเดินข้ามบ้าง เลยนึกอธิษฐานขึ้นว่า

“เออ....นี่ถ้าเราจะข้ามน้ำไปถึงฝั่งโน้นได้ ขอให้เราเดินข้ามโคลนตมนี้ไปให้ได้ อย่าให้จมลงเลย อย่างลึกมากที่สุด ก็ให้จมลงในโคลนตมนี้เพียงแค่เข่าเท่านั้น ถ้าเราจะข้ามแม่น้ำนี้ให้ได้”

อธิษฐานแล้ว ท่านก็เริ่มค่อย ๆ เดินไป ปรากฏว่า โคลนค่อย ๆ ลึกขึ้นทีละน้อย แต่ก็สูงเพียงแค่เข่าพอดี ก็พ้นจากโคลนตม และมีสะพานข้ามน้ำถึงฝั่งโน้น ท่านจึงขึ้นเดินบนสะพาน และได้ข้ามแม่น้ำถึงฝั่งตรงข้ามได้ พอขึ้นฝั่งได้แล้ว ก็เห็นม้าสีขาวบริสุทธิ์ รูปร่างสูงใหญ่ สวยงามมาก กำลังยืนกินหญ้าอยู่ ท่านคิดจะเข้าไปขี่ม้า พอดีมีคนมาบอกว่า พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จไป ให้รีบตาม ท่านจึงไม่สนใจม้า รีบออกเดินทางตามรอยพระพุทธเจ้าไปทันที...

แล้วจิตก็ถอนจากนิมิต

ออกพรรษา พวกญาติโยมได้มานิมนต์หลวงปู่ขาว ให้กลับวัดป่าแก้วบ้านชุมพล ส่วนท่านอาจารย์ได้รับนิมนต์ ให้ไปช่วยงานฌาปนกิจศพท่านอาจารย์อ่อนศรี ที่เวียงจันทน์ เมื่อเสร็จงานศพแล้ว ท่านได้เดินทางกลับมาวิเวกที่ภูวัว และได้กลับไปจำพรรษาที่ดงหม้อทองเช่นเดิม

พรรษาที่ ๑๕ – ๑๖ พ.ศ. ๒๕๐๐ –๒๕๐๑

ดงหม้อทอง


พรรษาที่ ๑๕ กลับมาจำพรรษาที่ดงหม้อทอง ร่วมกับท่านพระอาจารย์สอน อุตฺตรปญฺโญ ได้พากันตั้งอธิษฐานไม่นอนอยู่ ๒ เดือน ทำความเพียรกันอย่างเด็ดเดี่ยว ภาวนาจิตสงบดี

ในพรรษานั้นท่านเกิดอาพาธหนัก เป็นไข้ป่า เอาหมอมาฉีดยารักษา ก็ไม่ถูกโรคกัน ทำให้อาเจียนขนานใหญ่ หมดแรงแทบประดาตาย เกิดธาตุวิปริต ตามืด ตามัว เวียนศีรษะ พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ภาษา เป็นอยู่ ๙ วันจึงสงบ ท่านมีวิธีรักษาโรคของท่าน โดยเอาปี๊บมา ๒ ใบ ตั้งอยู่บนพลาญหิน ใช้กระดานปู ๒ แผ่น วางบนปากปี๊บ ท่านได้นั่งพิจารณาความตายบนกระดานนั้น ท่านอาจารย์สอนและพระเณร ได้คอยผลัดเวรกันมาเฝ้าด้วยความเป็นห่วงอยู่หลายคืน จนโรคของท่านหายขาด

ออกพรรษา ท่านได้กลับไปนมัสการหลวงปู่ขาว ฟังเทศน์และรับการอบรมธรรมจากท่านตามเคย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้