ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 9689
ตอบกลับ: 38
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร ภูทอก ~

[คัดลอกลิงก์]
ประวัติย่อหลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคิรีวิหาร ภูทอก
กิ่งอำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย


   

    นามเดิม จวน นรมาส

    บิดา นายสา นรมาส

    มารดา นางแหวะ นรมาส (วงศ์จันทร์)

    เกิด เป็นบุตรคนที่ ๖ ในจำนวนพี่น้อง ๗ คน ณ บ้านเหล่ามันแกว เลขที่ ๒๘ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก

    บรรพชาและอุปสมบท เมื่ออายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทฝ่ายมหานิกาย ณ วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ฉายาว่า "พระจวน กลฺยาณธมฺโม" และได้ญัตติมาฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ วัดป่าสำราญนิเวศน์ ตำบลบ้านบุ่ง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า "กุลเชฏฺโฐ"

    การปฏิบัติ เป็นศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ได้รับอุบายธรรมต่าง ๆ จากศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่นมีหลวงปู่ขาว เป็นต้น ท่านชอบธุดงค์ไปตามป่าเขา ในวาระสุดท้ายก่อนที่จะมรณภาพได้สร้างวัดภูทอกที่จังหวัดหนองคาย หลังพระราชทานเพลิงศพไม่นานอัฐิท่านก็กลายเป็นพระธาตุ

    มรณภาพ เมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓ เนื่องจากเครื่องบินตก ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ที่มา http://www24.brinkster.com/thaniyo/archan0445_1.html



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

จากหนังสือ "กุลเชฏโฐอนุสรณ์"

คณะศิษยานุศิษย์พิมพ์ถวายเป็นธรรมบูชา เนื่องในงานเสด็จพระราชทานเพลิงศพ

ณ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ. หนองคาย

วันเสาร์ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔




พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ มีชาติกำเนิดในสกุล “นรมาส” เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ณ บ้านเหล่ามันแกว บ้านเลขที่ ๒๘ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี

บิดาท่านชื่อ ลา มารดาชื่อ แหวะ สกุลเดิม วงศ์จันทร์ บรรพบุรุษของท่านอพยพมาจากเวียงจันทน์ เป็นอุปฮาดของเมืองเวียงจันทน์ เมื่อมีภัยสงครามเกิดขึ้น เวียงจันทน์แตก อุปฮาดผู้เป็นต้นตระกูลก็พาครอบครัวอพยพมา ครั้งแรกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองวัวลำภู ต่อมาย้ายถิ่นฐานบ้านช่อง กระทั่งท้ายที่สุดมาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี

บิดามีอาชีพทำนา และมีความรู้ทางด้านสมุนไพรมาก เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงได้อาศัยเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คือเป็นหมอประจำหมู่บ้าน เป็นที่รักใคร่นับถือ และได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งบิดาของท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้มาตลอดจนถึงแก่กรรม ขณะนั้นท่านอายุได้ 16 ปี

ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คนด้วยกัน มีชื่อตามลำดับดังนี้

๑. นายเหีย นรมาส ถึงแก่กรรม

๒. นายแดง นรมาส

๓. นายโลน นรมาส ถึงแก่กรรม

๔. นางน้อยแสง หมายสิน

๕. นายอ่อนจันทร์ นรมาส.

๖. พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

๗. นายนวล นรมาส

ตามชนบทในสมัยนั้นโรงเรียนมีน้อยมาก ตั้งอยู่ห่างไกลกัน ในตำบลหนึ่ง ๆ มิได้มีโรงเรียนครบทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านใดไม่มีโรงเรียน เด็กก็ต้องมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนในหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งต้องเดินนับเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร ผู้ปกครองจะยอมให้บุตรหลานไปเรียนหนังสือจึงต้องให้โตพอประมาณ คือ อายุ ๙-๑๐ ปี

ท่านอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน เริ่มเข้าเรียนหนังสือเมื่ออายุครบ ๙ ขวบเต็ม ต้องเดินไปโรงเรียนที่อีกหมู่บ้าน คือที่บ้านดงมะยาง จนขึ้นชั้นประถมปีที่ ๓ โรงเรียนจึงย้ายมาอยู่ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ติดกับบ้านเหล่ามันแกว อันเป็นบ้านเกิด ท่านได้เรียนรู้ที่โรงเรียนนี้ จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของตำบลชนบทละแวกนั้น ระหว่างเรียน เป็นผู้เรียนดี ฉลาดและขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่ง สอบไล่ได้ที่ ๑ โดยตลอด ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ จนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ได้รับคำชมเชยยกย่องจากครูบาอาจารย์ ทั้งในด้านการเรียน และในด้านความประพฤติ จนครูเชื่อถือรักใคร่ ให้ช่วยสอนเพื่อนนักเรียนแทนครูตลอด เป็นประจำทุกชั้นเรียน

หลังจากจบการศึกษาแล้ว อายุย่างเข้า ๑๘ ปี ท่านได้เข้าทำราชการกรมทางหลวงแผ่นดิน อยู่เป็นเวลา ๔ ปี จึงได้ลาออกเพื่อเตรียมอุปสมบท

กล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้มีนิสัยฝักใฝ่ในทางธรรมะมาแต่เด็ก นอกจากการวิ่งเล่นซุกซน สนุกสนานตามวิสัยเด็กน้อยแล้ว สำหรับนิสัยทางสร้างบาปสร้างกรรมไม่มีเลย ท่านเล่าเสมอว่า ท่านไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ส่วนการหยิบฉวยลักขโมยนั้น แม้แต่เข็มสักเล่มเดียว ก็ไม่เคยหยิบฉวยของใครเลย
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อท่านอายุได้ ๑๔-๑๕ ปี ได้พบพระธุดงค์ มาปักกลดอยู่ใกล้บ้านก็บังเกิดความเลื่อมใสตั้งปณิธานว่าต่อไปจะบวชอย่างท่านบ้าง พระธุดงค์ได้มอบหนังสือ “ไตรสรณาคมน์” ของ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แห่งวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา มาให้ หนังสือนี้นอกจากสอนให้พุทธศาสนิกชน รู้จักการเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริงแล้ว ได้สอนวิธีปฏิบัติภาวนาด้วย

ท่านบังเกิดความคิดเลื่อมใสศรัทธา จึงจะลองปฏิบัติตามหนังสือนั้น เริ่มสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรต่อ แล้วนั่งสมาธิหัดบริกรรม “พุทโธ ...พุทโธ...พุทโธ” จนกระทั่งปรากฏว่าจิตรวม จิตกับกายแยกกัน ไม่เหมือนกัน จิตอยู่เฉพาะจิต กายอยู่เฉพาะกาย เวทนาใดก็ไม่มีปรากฏเลย

ท่านเล่าว่า เวลานั้นก็ไม่รู้จักอะไรลึกซึ้ง ด้วยหัดเอง ทำเอง ทำตามลำพังคนเดียว ไม่มีผู้รู้มาสอนให้ก้าวหน้าขึ้น ได้แต่รู้สึกว่า นั่งสมาธิแล้วก็สบายดี กายเบา จิตขาวนิ่มนวลผ่องใส เหมือนนั่งนอนอยู่อากาศอันนิ่มนวล ทำให้จิตใจดูดดื่มมาก นึกอยากจะภาวนาเสมอ ๆ ถ้าวันไหนใจไม่สบาย ก็ต้องเข้าที่นั่งภาวนา สงบใจเสมอ

ภายหลังระหว่างทำงานได้รับหนังสือ “จตุราลักษณ์” ของ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล มาอ่านเพิ่มเติมสติปัญญาอีก เมื่อท่านอ่านไปถึง มรณานุสติ จิตก็สลดสังเวชว่า เราก็ต้องมีตายอยู่นั่นเอง และในหนังสือนั้น ท่านพระอาจารย์เสาร์ฯ ก็ได้ย้ำถึงเรื่องกรรมว่า

คนเราต่างมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เมื่อยังมีชีวิตอยู่ กรรมนั้นจักเป็นทายาทให้เราได้รับผลกรรมนั้นต่อ ๆ ไป คือ หมายความว่า กรรมต่างจำแนกสัตว์ให้เป็นไปต่างๆ นานา ให้เลว ให้ดี ให้ชั่ว ให้ประเสริฐ

เมื่ออ่านกันถึงตอนนี้ ท่านก็บังเกิดความสลดสังเวชใจอย่างยิ่ง นึกว่า คนเราที่เกิดมา ถ้าไม่ประกอบคุณงามความดี ก็ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตของตน และไม่มีโอกาส ที่จะได้รับความสุขต่อไปในชาติหน้าอีก ศรัทธาในพระศาสนาก็เพิ่มพูนขึ้น

เมื่ออายุเพียง ๒๐ ปีถึงกับสละเงินที่เก็บหอมรอมริบระหว่างทำงานอยู่กรมทางหลวงทั้งหมด เป็นเจ้าภาพสร้างมหากฐินคนเดียว สร้างพระประธาน สร้างส้วม ในวัดจนหมดเงิน

เมื่อท่านอาจารย์อายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี พระอุปัชฌายะชื่อ บุ พระกรรมวาจาจารย์ชื่อ พระมหาแจ้ง ได้ฉายาว่า “จวน กลฺยาณธมฺโม” ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรม และสอบได้นักธรรมตรีในพรรษานั้น

ระหว่างที่บวชเป็นพระบ้านอยู่นั้น ท่านปรารถนาจะออกธุดงค์ เจริญรอยตามพระธุดงคกัมมัฏฐาน ที่เคยกราบคารวะเมื่อยังเด็ก จึงคิดจะญัตติเป็นธรรมยุตเพื่อออกธุดงค์ เมื่อไปขอลาอุปัชฌาย์ ท่านไม่ให้ญัตติ ให้สึกเสียก่อน ท่านจึงตัดสินใจลาสิกขาบทออกมาเป็นฆราวาสก่อนชั่วคราว
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๖

วัดบ้านพอก อำเภออำนาจเจริญ


หลังจากสึกมาเป็นฆราวาสแล้ว ท่านได้เดินทางไปแสวงหาอาจารย์ฝ่ายธรรมยุตกัมมัฏฐาน ได้มาพบที่สำนักวัดป่าสำราญนิเวศน์ อำเภออำนาจเจริญ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ณ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ท่านพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌายะ ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปัชฌาย์เพิ่งได้รับแต่งตั้งและมาบวชท่านเป็นองค์แรก จึงตั้งฉายาให้ท่านว่า “กุลเชฏโฐ” แปลว่า พี่ชายใหญ่ที่สุดของวงศ์ตระกูลนี้ องค์ที่สองที่อุปัชฌาย์บวชต่อมา คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมมวโร แห่งวัดป่าแก้ว บ้านชุมพล ซึ่งท่านอาจารย์จวนได้มานั่งหัตถบาถอยู่ด้วย



เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้รับคำสั่งให้ท่องปาฏิโมกข์ และเจ็ดตำนานให้ได้หมดภายในหนึ่งเดือน ท่านก็พยายามท่องจำทั้งกลางวันกลางคืน จนสามารถท่องได้ตามที่อาจารย์ของท่านกำหนดไว้ จึงได้รับคำชมเชยจากอาจารย์เป็นอันมาก

ท่านได้เร่งทำความเพียรอย่างขะมักเขม้น เดินมาก นั่งมาก ฉันน้อย บางวันก็ไม่ฉันสลับกันไป ท่านพระอาจารย์เกิ่ง เห็นว่าท่านรู้สึกจะซูบผอมลงไปมาก จึงตักเตือนให้ฉันอาหารเสียบ้าง

เมื่อจะเริ่มเข้าพรรษา ปรากฏว่าที่วัดป่าบ้านพอก หนองคอน ทั้ง อำเภอเลิงนกทา ไม่มีพระสวดปาฏิโมกข์ได้ พระอาจารย์บัง จึงได้ขอตัวท่านอาจารย์ไปอยู่ที่วัด ในพรรษานั้นโยมมารดาได้มาบวชเป็นชีอยู่ด้วย ท่านได้อธิษฐานฉันเจ ไม่ฉันเนื้อสัตว์ อดอาหาร ๔ วันสลับกับอดนอน ๔ คืนบ้าง อดอาหาร ๘ วัน สลับกับอดนอน ๘ คืนบ้าง และได้ออกบิณฑบาตมาเลี้ยงโยมมารดาเพื่อสนองคุณ

ในระหว่างพรรษาขณะนั่งฟังเทศน์ จิตของท่านสงบลง เกิดภาพนิมิตขึ้นในจิต ปรากฏร่างของท่านเน่าเปื่อยเป็นอสุภ เห็นขาของตัวเองเน่าเปื่อย มีน้ำเหลืองไหล เหมือนมองดูด้วยตาเนื้อ ท่านอาจารย์จึงได้พิจารณาอสุภะต่อไปเป็นประจำ

ในพรรษานี้เกิดภาพนิมิตแปลก ๆ ขณะกำลังทำความเพียรเสมอ วันหนึ่งก่อนจิตจะรวม ได้เกิดภาพนิมิตขึ้นว่า มีแม่ไก่ลายมาจิกกินอุจจาระอยู่ตรงหน้า

ท่านจึงได้กำหนดจิตถามว่า จิกกินอะไร

แม่ไก่ตอบว่า จิกกินอุจจาระ

แล้วถามว่า แม่ไก่เป็นใคร

ก็ตอบว่า เป็นเทวดา

ท่านจึงกำหนดจิตถามต่อไปว่า เทวดาทำไมกินอุจจาระ

แม่ไก่ตอบว่า มนุษย์เราทุกชาติทุกภาษาต้องกินอุจจาระกันทั้งนั้น

ท่านจึงน้อมเอานิมิตนั้นมาพิจารณา ก็เห็นว่า มนุษย์เรานี้ก็ต้องกินขี้กันทั้งสิ้น จึงทำให้เกิดความสลดสังเวชอย่างยิ่งในพรรษานั้น

อยู่มาวันหนึ่งหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว ก่อนจะขึ้นไปบนกุฏิเพื่อเก็บเครื่องบริขาร ท่านมองไปบนหน้าจั่ว ได้เห็นหญิงสาวคนหนึ่งนุ่งห่มแต่งกายด้วยเสื้อผ้าลาย ๆ เหมือนแม่ไก่ที่เคยปรากฏในนิมิต ยืนถือตะกร้าหมากอยู่บนหน้าจั่ว มองดูเป็นหญิงที่มีรูปร่างสวยงามมาก ใจหนึ่งก็บอกว่าเป็นเทวดา ท่านก็ไม่สนใจเก็บเครื่องบริขารต่อไปเรื่อย ๆ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ครั้งที่สองหันไปมอง ก็ยังเห็นยืนอยู่ที่เก่า ท่านก็เก็บเครื่องบริขารของตนให้เรียบร้อย

ครั้งที่สามมองดูใหม่รูปที่ปรากฏนั้นหายไปแล้ว ขณะนั้นจิตของท่านก็นึกขึ้นมาได้ว่า นี่ละหนอ...พวกที่ภาวนาแล้วเห็นภาพนิมิตต่าง ๆ มาปรากฏก็เข้าใจว่าตนได้ญาณ บรรลุมรรคผลทำให้เกิดหลงงมงาย ผลที่สุดก็เสื่อมไปไม่ได้ประโยชน์อะไรจากธรรมะ

ออกพรรษาแล้ว โยมมารดาซึ่งบวชเป็นชีได้ลาสิกขา กลับไปอยู่บ้านกับลูกหลาน เสร็จกิจแล้วท่านปรารถนาจะออกเดินธุดงค์ จึงหาเพื่อนไปด้วย เป็นสามเณรองค์หนึ่ง ออกเดินจากวัด จากอำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี จะเดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม เดินทางผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ใช้เวลาธุดงค์ถึง ๗ วัน ๗ คืน จึงถึงพระธาตุพนม หลังจากนมัสการพระธาตุพนมแล้ว ได้เดินทางต่อไปเมืองเว หรือเมืองเรณูนคร พักอยู่ประมาณ ๒ เดือน จึงเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี

ขณะเดินทางกลับ ท่านกลับองค์เดียว เณรไม่ได้กลับด้วย ได้เดินจากเรณูนคร ผ่านพ้นดงมะอี่ เขตอำเภอเลิงนกทา ระหว่างบ้านไร่กับบ้านหนองยางต่อกัน ก็ได้กลิ่นเหม็นที่กลางดง ท่านจึงได้เดินสำรวจดู ได้พบซากศพคนตายอยู่ข้างทาง ท่านมีความยินดีเป็นอันมาก และคิดว่าควรจะเพ่งอสุภะให้ได้ ร่างนั้นเน่าเปื่อย ตับไต ไส้พุง มีหนอนชอนไช

ท่านยืนเพ่งแล้วน้อมเข้ามาดูตัวว่า อีกหน่อยตัวเราก็ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ต่อมาก็เกิดความคิดขึ้นว่า ควรจะเผาซากศพนี้เสียให้หายอุจาดตา จึงได้ไปหากิ่งไม้เล็ก ๆ มาเตรียมจะเผา แล้วท่านจึงเกิดคิดขึ้นมาได้ว่า ตัวท่านเป็นพระ จะเผาศพนี้ได้อย่างไร เพราะดินและหญ้ายังเขียวสด และในศพก็ยังมีสัตว์มีชีวิตอยู่มากมาย ถ้าเผาก็จะต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทำบุญจะได้บาป คิดแล้วก็ตกลงไม่เผา

ท่านได้กลับมายืนพิจารณาศพ โดยถือเป็นอสุภะต่อไป นับเวลาตั้งแต่เดินทางมาถึงเป็นเวลาเที่ยง จนกระทั่งเวลาบ่าย ๓ โมง ไม่มีความกลัวเลย และตั้งใจจะค้างคืนพิจารณาอสุภะนั้นอีกด้วย แต่ได้มีชาวบ้าน ๒ คนเดินมา ท่านจึงได้สอบถามดูได้ความว่า เจ้านายใช้ให้ชายทั้ง ๒ มาดูแลศพไว้ เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองยังไม่ได้มาชันสูตรศพ ท่านจึงขอค้างคืนเพื่อพิจารณาศพ และขอชักบังสุกุลสิ่งของที่อยู่กับศพ ชายทั้งสองก็ไม่เห็นด้วย กลับนิมนต์ให้ท่านหลีกไป มิจะนั้นอาจสงสัยว่าท่านฆ่าคนตาย เมื่อชาวบ้านยืนยันปฏิเสธเช่นนั้น ท่านจึงได้ออกเดินทางต่อไป

ตกเย็น ท่านได้เดินทางถึงบ้านโพนหนามแท่ง อำเภออำนาจเจริญ ได้หยุดพักปักกลดอาบน้ำชำระร่างกาย เวลาพลบค่ำ ไหว้พระสวดมนต์ พิจารณาซากอสุภะที่เห็นเมื่อกลางวันแล้วน้อมเข้าหาตัว ปรากฏว่าจิตใจสงบ สบาย เยือกเย็นมีความสุขมาก นั่งภาวนาอยู่ตั้งแต่ปฐมยามจนถึงตี ๒ ต่อจากนั้นได้เกิดลมพายุฝนตกหนัก ท่านจึงปลดมุ้งออกพับเก็บพร้อมทั้งสังฆาฏิไว้ในบาตรปิดฝา และนั่งภาวนาต่อไปเรื่อย ๆ รู้สึกว่าฝนเย็น ลมเย็น จิตใจก็เย็นสบายดี ฝนตกประมาณ ๑ ชั่วโมงก็หายไป

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๗

วัดทุ่ง บ้านชาติหนองอีนิน อำเภอเลิงนกทา


ในพรรษาที่ ๒ ท่านอาจารย์จำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่ง บ้านชาติหนองอีนิน ซึ่งท่านพระอาจารย์เกิ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านได้ทำความเพียรพอสมควร ในพรรษานี้ได้มีเหตุการณ์แปลกเกิดขึ้นคือ มีหญิงคนหนึ่ง ซึ่งในสมัยที่ท่านยังทำราชการอยู่กรมทางหลวง ได้เคยเห็นหญิงคนนี้เดินทางไปมาระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี กับอำเภออำนาจเจริญอยู่บ่อย แต่ไม่ทราบว่าเป็นคนบ้านไหน

เมื่อท่านมาจำพรรษาที่วัดนี้ ได้เห็นหญิงผู้นี้อีก แต่ตอนนี้มีร่างกายทรุดโทรมผอมลงมาก ถือหม้อยามาอาศัยต้มยาและนอนที่ลานวัด ใต้ร่มไม้ฉำฉา อยู่มาไม่นานหญิงคนนี้ก็นอนตายใต้ร่มไม้นั้นเอง

ตอนเช้า ท่านมองเห็นศพ ก็จะเข้าไปพิจารณาอสุภะใกล้ๆ แต่ญาติโยมมาเล่าให้ท่านฟังว่า ศพของหญิงนั้นมีหนอนมาเจาะไชเจาะกินทั่วทั้งตัวโดยเฉพาะที่ทวารเบา เป็นที่น่าสลดสังเวชมาก เพราะเป็นคนเจ้าชู้ เป็นโรคบุรุษ ประพฤติผิดมิจฉากาม เมื่อตายจึงถูกลงโทษทันตาเห็น มีหนอนขึ้นชอนไชเต็มไปหมด

เมื่อท่านได้ยินเช่นนี้ ท่านจึงเกิดความสลดสังเวชเบื่อหน่ายมาก นับเป็นซากศพที่ ๒ ที่ท่านเคยเห็น

พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘

วัดบ้านนาจิก ดอนเมย บ้านหนองปลิง ต.นาจิก


ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดป่าบ้านนาจิก ซึ่งเป็นสถานที่ท่านอาจารย์ได้เข้าไปบ่รับปรุงและสร้างเป็นวัด อันเป็นวัดแรกที่ท่านสร้างขึ้น ในพรรษานั้น ได้อธิษฐานทำความเพียรจะไม่นอนและฉันเลยตลอดพรรษา การอธิษฐานไม่นอนนี้ นอกจากจะไม่ยอมให้หลังแตะพื้นแล้ว จิตต้องทำความรู้ตัวตลอดเวลา ไม่ให้ตกภวังค์แม้แต่ขณะจิตเดียว ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถ เดิน ยืน หรือนั่ง ในระยะนั้นยังใช้คำบริกรรม “พุทโธ” เป็นพื้น มีการพิจารณาร่วมไปด้วย

พอกลางพรรษาเกิดวิปริตทางธาตุ คือ มีน้ำมันสมองไหลออกทางจมูกเป็นน้ำเหลือง ท่านเจ้าอาวาสจึงขอร้อง ให้ท่านนอนพักผ่อนเสียบ้าง และต่อมาถึงกับบังคับให้ท่านนอนพัก มิจะนั้นต่อไปตาอาจจะบอดได้ ท่านอาจารย์จึงได้ยอมพักผ่อนหลับนอนบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังทำความเพียรอยู่
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ในระหว่างพรรษานี้ ท่านได้เกิดปฏิพัทธ์รักใคร่หญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเคยเอาจังหันมาถวายปอย ๆ แต่ยังทำความเพียรตลอดไม่หยุด และไม่บอกให้ใครทราบ ต่อมาจึงคิดอุบายขึ้นมาได้ โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้ายังมีบุญวาสนาอยู่ในพรหมจรรย์แล้ว ขอให้ได้นิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านเคยได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณมานานแล้ว ขอให้ได้ไปกราบไหว้ท่าน สนทนาได้ฟังธรรมจากท่าน แต่ถ้าไม่มีบุญวาสนาแล้ว ขออย่าให้บรรลุธรรม หรืออย่าได้พบเห็นท่านพระอาจารย์มั่นเลย และให้เห็นนิมิตแต่สิ่งที่ลามกน่ารังเกียจเถิด

หลังจากนั้น ๓ วัน ท่านได้นิมิตว่า ได้เดินทางไปสู่สำนักท่านพระอาจารย์มั่น เห็นท่านกำลังกวาดลานวัดอยู่ พอเห็นก็รู้ว่านี่คือท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเหลือบมาเห็นเข้าก็ทักท่านอาจารย์จวนอย่างดีใจว่า

“อ้อ...ท่านจวนมาแล้ว ท่านจวนมาแล้ว”

มีความรู้สึกคล้ายกับพ่อเห็นลูก ลูกเห็นพ่อ พอท่านตรงเข้าไปจะกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่นก็โก่งหลัง บอกให้ท่านขึ้นขี่หลังท่านอาจารย์มั่นเหมือนขี่ม้า แล้วท่านจึงพาเหาะขึ้นบนอากาศจนลิบเมฆ แล้วพามาลงที่กลางภูเขาลูกหนึ่งแล้วบอกว่า

“เอาละ ลงนี่แหละ พอดีพอควรแล้ว”



เมื่อตื่นจากนิมิต ท่านมาพิจารณาดูก็เกิดปีติยินดีว่า คงจะมีวาสนาบารมีอยู่ในพรหมจรรย์ จึงเร่งทำความเพียรต่อไป

หลังออกพรรษาได้ ๕ วัน ท่านเจ้าคุณ พระอริยคุณาธาร (มหาเส็ง ปุสโส) ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะภาค มาตรวจงานคณะสงฆ์ทางภาคอีสาน ได้มาแวะเยี่ยมที่วัดป่าบ้านนาจิก นัยว่าท่านพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) อุปัชฌาย์ของท่าน ได้ฝากท่านไว้กับท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ขอให้ช่วยนำไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นด้วย ท่านอาจารย์จึงได้ติดตามท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารไป เมื่อได้กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านก็ประหลาดใจอย่างยิ่งที่เมื่อได้เห็นตัวจริงของท่าน ลักษณะรูปร่าง กิริยาท่าทางต่าง ๆ มิได้แตกต่างจากในนิมิตเลย
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๔

อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ


ท่านอาจารย์จวนได้มีโอกาสศึกษาอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ตั้งแต่ออกพรรษาที่ ๓ ได้เพียง ๓ วัน และอยู่ตลอดมาจนตลอดฤดูแล้ง และได้อธิษฐานพรรษาอยู่กับท่านจนตลอดพรรษาที่ ๔

โอวาทของท่าน จะแนะนำให้ประพฤติปฏิบัติทางพระวินัยให้เคร่งครัด รวมทั้งการธุดงค์

การภาวนา ให้พิจารณากายเป็นส่วนมาก พิจารณากายส่วนใดส่วนหนึ่งให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเอง ถ้าจิตไม่สงบ มีความฟุ้งซ่าน ให้น้อมนึกเข้ามาด้วยความมีสติ นึกภาวนาแต่ พุทโธ เมื่อจิตสงบแล้วให้พักพุทโธไว้ ให้อยู่ในความสงบ แต่มีสติ ฝึกให้ชำนิชำนาญ แล้วให้นึกน้อมเข้ามาพิจารณากายของตนเองด้วยความมีสติ มิให้พลั้งเผลอ เมื่อจิตรวมก็ให้มีสติ รู้ว่าจิตรวม อย่าบังคับให้จิตรวม ให้มีสติอยู่ว่าจิตรวม อย่าถอนจิตที่รวมอยู่ ให้จิตถอนออกเอง พอจิตถอน ให้น้อมเข้ามาพิจารณากายที่เคยพิจารณาอยู่ ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา ส่วนนิมิตที่เกิดขึ้น แสดงเป็นภาพภายนอก หรือนิมิตภายใน ก็ให้น้อมเข้ามาพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งใดมีเกิดก็ต้องมีดับ อย่าพลั้งเผลอลุ่มหลงไปตามนิมิตที่เกิดขึ้น แล้วน้อมเข้ามาพิจารณากายให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ว่ามิใช่ของตน ให้พิจารณาอย่างมีสติ เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วก็ให้พักอย่างสงบเมื่อสงบพอสมควรแล้วก็ให้พิจารณาต่อ

ท่านเล่าให้ฟังว่า คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นจะเป็นในหลักนี้เสมอ

ท่านอาจารย์ได้เล่าถึงความน่าขายหน้าของตัวท่านเอาไว้ ในเรื่องเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์มั่นดังนี้

เวลานั้นท่านยังเป็นพระผู้น้อยไปอยู่วัดป่าบ้านหนองผือใหม่ ๆ ใจก็อดคิดตามประสาปุถุชนไม่ได้ว่า

“เขาเล่าลือกันว่า ท่านพระอาจารย์ใหญ่เป็นพระอรหันต์ เราก็ไม่ทราบว่าจริงไม่หรือ ถ้าเป็นอรหันต์จริง คืนนี้ก็ให้มีปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏด้วย”

ในคืนวันนั้นเอง พอท่านภาวนา ก็ปรากฏนิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่นเดินจงกรมอยู่บนอากาศ และแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา และเวลานอนหลับก็ยังฝันเห็นท่านเดินอยู่บนอากาศเช่นเดียวกัน

ท่านจึงยกมือไหว้ และว่าเชื่อแล้ว.....

อย่างไรก็ดี หลังจากวันนั้น ท่านก็เกิดคิดขึ้นมาอีกว่า

“เอ...เขาว่าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของลูกศิษย์ทุกคน จริงไหมหนอ ? เราน่าจะทดลองดู ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของเรา ขอให้ท่านอาจารย์ใหญ่มาหาเราที่กุฏิคืนวันนี้เถอะ”

พอท่านคิดได้ประเดี๋ยวเดียว ก็ได้ยินเสียงไม้เท้าเคาะใกล้เข้ามา และกระแทกเปรี้ยงเข้าที่ฝากุฏิของท่าน พร้อมกับเสียงของท่านพระอาจารย์มั่นเอ็ดลั่นว่า

“ท่านจวน...ทำไม่จึงไปคิดอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ รำคาญเรานี่”

ท่านเล่าว่าคืนนั้น แม้จะตัวสั่น กลัวแสนกลัว แต่ต่อมา ก็ยังดื้อไม่หาย คืนหลังเกิดความคิดขึ้นอีก

“ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่ เป็นผู้รู้วาระจิตของเรา เราบิณฑบาตได้อาหารมา ขอให้ท่านรอเราทุกวัน ๆ ขออย่าเพิ่งฉัน จนกว่าเราจะหย่อนบาตรท่านก่อน”

เป็นธรรมดาที่พระทั้งหลาย พอบิณฑบาตได้ ก็จะเลือกสรรอาหารอย่างเลิศอย่างดีที่สุดที่บิณฑบาตได้มา สำหรับไปใส่บาตรพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เคารพ วันนั้นท่านอาจารย์จวนก็พยายามประวิงเวลา กว่าจะนำอาหารไปใส่บาตรก่อน ก็ออกจะล่าช้ากว่าเคย จนกระทั่งหมู่เพื่อนใส่บาตรกันหมดแล้ว จึงค่อย ๆ ไปใส่บาตรต่อภายหลังท่าน

พระอาจารย์มั่นก็มักจะมีเหตุช้าไปด้วย จนท่านอาจารย์จวนหย่อนบาตรแล้ว ท่านจึงเริ่มฉัน เป็นเช่นนี้อยู่หลายวัน

ท่านอาจารย์จวนเล่าว่า ท่านยิ่งได้ใจ มักอ้อยอิ่งอยู่ทุกวัน จนเช้าวันหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่นคงเหลืออดเหลือทนเต็มที จึงออกปาก

“ท่านจวน อย่าทำอย่างนั้น ผมรำคาญ ให้ผมรอทุกวัน ๆ ทีนี้ผมไม่รออีกแล้วนะ”


คืนหนึ่งขณะที่ท่านอาจารย์จวนตั้งใจภาวนาทำความเพียรอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ปฐมยาม อธิษฐานนั่งในกลด ตั้งใจภาวนา ไม่นอนตลอดคืน พอจิตค่อยสงบลง ก็เกิดนิมิตผุดขึ้นว่า “ปททฺทา ปททฺโท”
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านได้กำหนดจิตแปลอยู่ ๓ ครั้ง จึงแปลได้ความว่า “อย่าท้อถอยไปในทางอื่น” แล้วปรากฏว่ากายของท่านไหวไปเลย จากนั้นจิตก็เริ่มรวมลงสู่ภวังค์ คือจิตเดิมทีเดียว ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าจิตสู่ภวังค์ และจิตเดิมเป็นอย่างไร รู้แต่ว่า ขณะจิตรวมนั้น จิตใสบริสุทธิ์ หมดจด หาที่เปรียบได้ยาก แสนที่จะสบายมากที่สุด เป็นจิตปราศจากอารมณ์ใด ๆ จิตรวมอยู่อย่างนั้นตลอดคืน จนรุ่งเช้า จิตจึงถอนออก และได้รับความเบิกบานทั้งกายและใจ มีความปีติเหมือนลอยอยู่ในอากาศ กายและใจเบาที่สุด

วันต่อมาขณะที่พระเณรได้ไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น เมื่อมีโอกาสท่านอาจารย์จวนจึงได้กราบเรียน เล่าเรื่องที่เป็นมาให้ท่านฟัง ท่านพระอาจารย์มั่นได้พิจารณาดูจิตของท่านว่าเป็นจริงหรือไม่แล้วจึงบอกว่า

“อ้อ...จิตท่านจวนนี่รวมทีเดียวถึงฐีติจิต คือจิตเดิมเลยทีเดียว”

ท่านพระอาจารย์มั่นชมเชยว่า ดีนัก จะได้กำลังใหญ่ แต่ถ้าสติอ่อน กำลังจะไม่มี

ท่านจึงกราบเรียนถามต่อว่า ก่อนจิตรวมได้เกิดนิมิตว่า “ปททฺทา ปททฺโท” ขอกราบเรียนให้ท่านอาจารย์มั่นแปลให้ฟัง

ซึ่งท่านตอบว่า แปลให้กันไม่ได้หรอก สมบัติใคร สมบัติมัน คนอื่นแปลให้ไม่ได้ ต้องแปลเอาเอง นับว่าท่านอาจารย์มั่นได้ใช้อุบายฉลาดหลักแหลมมากนัก ต้องการให้ศิษย์ฝึกหัดใช้สติปัญญาแปลให้ได้เอง ต่อไปจะได้เป็น สันทิฏฐิโก คือเป็น ผู้รู้เอง เห็นเอง

เมื่อท่านได้รับโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่นเช่นนั้น ก็ได้เร่งทำความเพียรตามสติปัญญา เข้าใจว่าท่านพระอาจารย์มั่นคงเฝ้าดูการปฏิบัติและจิตของท่านอาจารย์จวนอยู่ตลอด อยู่มาวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นจึงกล่าวว่า

ได้กำหนดจิตดูท่านจวนแล้ว ได้ความเป็นธรรมว่า “กาเยนะ วาจายะ วะเจตวิสุทธิยา” ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม

เมื่อออกพรรษา เสร็จกิจทุกอย่าง ก็กราบลาท่านพระอาจารย์มั่น ออกวิเวกธุดงค์ ท่านพระอาจารย์มั่นแนะนำให้ท่านไปอยู่ถ้ำยาง บ้านลาดกะเฌอ จังหวัดสกลนคร บ้านลาดกะเฌอเป็นหมู่บ้านชาวป่าชาวเขา ตัวถ้ำยางซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านราว ๒ กิโลเมตร

ท่านได้ทำความเพียรอยู่ที่นี้ ๗ วัน ๗ คืน ไม่ได้หลับนอนเลย จิตรวมโดยง่าย เกิดภาพนิมิตต่าง ๆ ทั้งนิมิตภายในและนิมิตภายนอก เกิดขึ้นเสมอ พิจารณาดูก็รู้ว่า นิมิตนี้เกิดจากจิตที่สอดส่ายไป ผู้ไม่มีสติก็จะทำให้ลุ่มหลงไปตามสภาพนิมิต สำคัญผิดว่าตัวเองได้ญาณ เกิดทิฏฐิมานะว่าได้หูทิพย์ ตาทิพย์ ซึ่งอาจจะทำให้ธรรมะแตกได้



ต่อจากนั้นท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปแถวภูพาน จังหวัดสกลนคร ได้พบท่านพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส สมัยนั้น ได้ชวนกันไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ซึ่งกำลังอยู่ที่บ้านห้วยหีบ

เมื่อได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์กงมาแล้ว ท่านได้แยกทางกับท่านมหาทองสุก เดินทางผ่านภูพานไปจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาท่านตั้งใจจะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยขึ้นรถไฟที่สถานีอำเภอวารินชำราบ มาต่อรถที่บ้านภาชี ไปถึงจังหวัดเชียงใหม่
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-28 17:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๕-๖ พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๑

วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงโหม่


ท่านมาถึงเชียงใหม่ ได้เข้าพักที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่ พักผ่อนวิเวกที่วัดนี้ประมาณ ๓ เดือน คืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาในโบสถ์มีนิมิตเกิดขึ้นว่ามีพระเถระรูปหนึ่งได้มาให้โอวาทตักเตือนว่า

“ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ”

ท่านได้มาพิจารณาดู แผ่นดิน แปลว่า ให้มีความหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากอารมณ์ก็อย่างวอกแวก ตั้งใจให้เป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่าน

ท่านจึงได้กราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นว่า

“กราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง เกล้ากระผมได้นั่งภาวนาแล้วเกิดนิมิต ปรากฏพระเถระผู้ใหญ่มาตักเตือนว่า – ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ... ดังนี้ เกล้ากระผมเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย ไม่สามารถจะรู้ว่าอะไรเป็นแผ่นดิน ขอนิมนต์พ่อแม่ครูอาจารย์โปรดประทานให้โอวามตักเตือนด้วย”

ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตอบจดหมายมาว่า

“ถึงท่านจวนที่อาลัยยิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้แนะนำให้ท่านนั้น ขอให้ท่านจงตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามคำที่ผมแนะนำ อย่าได้ประมาทเพื่อจะได้เป็นเกียรติยศแก่พระพุทธศาสนาต่อไป”




หลังจากนั้นท่านได้ออกวิเวกนอกเมืองเชียงใหม่ ท่านได้ธุดงค์ไปอยู่ที่วัดอุโมงค์ ใกล้สนามบินเชียงใหม่ ท่านและพรรคพวกพากันไปพักวิเวกที่นั้น ตกกลางคืนนิมิตว่า ท่านและท่านพระอาจารย์มั่นได้กำลังทำหีบศพอยู่บนเจดีย์ ขณะนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)  ท่านเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้เหาะลอยมาในอากาศ แล้วมาหยุดที่ข้างหน้าท่าน และได้ให้โอวาทว่า “ท่านจวน อุเปกฺขินทริยํ”

ท่านจึงกำหนดจิตแปลดูได้ความว่า ให้วางตัวเป็นอุเบกขาต่ออินทรีย์ทั้ง ๖ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ อย่าเอาใจใส่ลุ่มหลงในอารมณ์ที่มากระทบ ท่านกำหนดจิตคิดตามนิมิตก็รู้ว่า พรุ่งนี้อาจมีอันตรายหรือเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแน่
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้