|
สำหรับพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมามีรูปแบบที่ต่างไปตามสถานที่ อย่างชาวกรีกทำพระศกหรือเส้นผมและพระพักตร์เหมือนคนสามัญชนเหมือนคนยุโรปทั่วไป แต่ชาวอินเดียเห็นว่าไม่งามจึงได้ดัดแปลงพระศกเป็นรูปก้นหอย รูปหน้าเปลี่ยนเป็นหน้าคนอินเดียที่ดูมาทางเหมือนคนเอเชียเสีย บางองค์เหมือนคนจริงที่เชื่อว่ามาจากพระพักตร์ของกษัตริย์ผู้สร้างก็มี
สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ได้รับแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปก็ได้ดัดแปลงแก้ไขไปตามเห็นสมควรทำให้เกิดพระพุทธรูปแบบต่างๆ ขึ้นมากมายในดินแดนที่พระพุทธศาสนาไปถึงและได้รับการยอมรับมีการสร้างกันมากมายทั้งในลังกา ในจีน ทิเบต ประเทศในดินแดนสุวรรณภูมิ ที่มีเมืองไทยรวมอยู่ด้วยจวบจนมาถึงทุกวันนี้ และในเมืองไทยต้องบอกว่า เป็นดินแดนในยุคปัจจุบันที่เป็นเสาหลักแห่งพระพุทธศาสนาของโลกในยุคนี้
สำหรับคำว่า “พระเครื่อง” เป็นที่เข้าใจกันดีว่าเป็นพระขนาดเล็กที่ใช้ห้อยคอติดตัวนั้น ท่านผู้รู้กล่าวว่ามาจากคำว่า “พระเครื่องราง” หมายถึง พระพุทธรูปองค์เล็กๆ ที่เชื่อกันว่าสามารถครองป้องกันภัยอันตรายและบันดาลโชคลาภ โดยในสมัยเริ่มแรกนั้น พระพุทธรูปนั้นถูกสร้างขึ้นในลักษณะของพระพิมพ์ที่สร้างไว้เพื่อสืบอายุพระศาสนา
ต่อมาในภายหลัง ได้มีการนำอักขระและศาสตร์บางอย่างของทางพราหมณ์เข้ามาร่วมพิธี เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่มาจากการสวดพระพุทธมนต์นี้ ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศลังกา ราวปีพ.ศ. 500
ด้วยที่ว่าชาวลังกาที่นับถือพุทธศาสนาในขณะนั้น มีความเดือดร้อนหลายประการและต้องการที่พึ่งทางด้านจิตใจเป็นอย่างมากจึงมานิมนต์พระสงฆ์ให้โปรดเมตตาช่วยเหลือตนให้เกิดสิริมงคลและป้องกันภยันตรายต่างๆ ด้วยการสวดมนต์และคาถาตามแบบอย่างพราหมณ์
ซึ่งคนเหล่านั้นมีความเชื่อว่า ด้วยมนตราของผู้ทรงเวทจะทำให้เกิดสิริมงคล และป้องกันภยันตรายแก่มหาชนได้ ที่สำคัญคนเหล่านั้น เชื่อว่าพระสงฆ์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่ยิ่งใหญ่ต้องช่วยเหลือพวกตนได้แน่นอน และอาจจะมากกว่าพวกพราหมณ์ด้วยซ้ำไป
มาถึงตอนนี้เชื่อว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทุกรูปท่านก็มีเมตตาสูงอยู่แล้ว และก็อยากช่วยเหลือคนเหล่านี้ที่พบกับความลำบากอีกทั้งไม่อยากขัดศรัทธา จึงค้นหาวิธีการที่จะช่วยเหลือ แต่ต้องไม่ผิดพระธรรมวินัยด้วย ท่านจึงไปเอาคำสอนของพระศาสดาที่มีการบันทึกไว้มาเรียงร้อยขึ้นมาเป็นพุทธมนต์มาใช้ในการสวด และภายหลังได้นำมาใช้สวดเมื่อมีการสร้างพระขึ้นมาด้วย และทางพราหมณ์ก็เข้ามาร่วมด้วย จนแยกกันไม่ออกและแพร่หลายออกไปในทุกดินแดนที่พระพุทธศาสนาไปถึงจนกลายเป็นที่นิยมตราบจนทุกวันนี้
คำว่า”พุทธมนต์” นั้นหมายถึง พระพุทธพจน์อันเป็นพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกบ้าง เป็นคำที่แต่งขึ้นมาภายหลังบ้าง โดยถือกันว่าพระพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดป้องอันตรายต่างๆได้ จึงเรียกอีกอย่างว่า “พระปริตร”
คำว่า”ปริตร” มีความหมายว่า คุ้มครองรักษา หรือเครื่องคุ้มครองป้องกัน ซึ่งบทพระพุทธมนต์ที่นิยมว่าศักดิ์สิทธิ์เท่าที่ปรากฏรวบรวมไว้มี 7 บท จึงเรียกว่า “เจ็ดตำนาน”
ตามปกติ คำว่าตำนาน จะหมายถึงเรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบๆ มา แต่ในที่นี้เป็นการเรียกพระปริตรบทๆ หนึ่งว่า “ตำนาน” ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะแผลงมาจากคำว่า “ตาณ” ในภาษาบาลีที่แปลว่า ต้านทานหรือป้องกันเช่นเดียวกับคำว่า ปริตร หรืออาจจะหมายถึงตำนานอันเป็นที่มาของแต่ละพระสูตรก็เป็นได้
สำหรับเรื่องคำว่า” คาถา”นั้นแปลว่า ถ้อยคำที่ร้อยกรอง ถ้อยคำที่ผูกไว้ ถ้อยคำที่ขับร้อง ท่อง สวด และมักจะหมายถึงคำประพันธ์ภาษาบาลีประเภทฉันทลักษณ์ที่แต่งครบ 4 บาทหรือ 4 วรรค 1 คาถามี 4บาท แต่ละบาทมีจำนวนคำต่างกัน และเชื่อกันว่าคาถาจะขลังและเกิดผลนั้นมาจากการผูกตัวอักษรที่เป็นมงคลเช่น คาถาชินบัญชร คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า คาถาบูชาพระสิวลี เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามนอกจากการสร้างที่พระสงฆ์ท่านได้อัญเชิญพระพุทธมนต์แล้ว ต่อมายังได้มีการจารตัวอักขระที่ย่นย่อมาจากบทพระพุทธมนต์ เพราะเชื่อกันว่าด้วยพลานุภาพของพุทธมนต์ทั้งที่สวดและจารลงไปนั้นจะสถิตอยู่ในพระองค์นั้น และช่วยคุ้มครองและอวยพรให้กับคนที่สวมใส่
ความเชื่อนี้ดำรงต่อมาเป็นเวลานับพันปี และเชื่อกันว่าพระเครื่อง หรือ “พระพิมพ์” นั้นจริงๆ แล้วเกิด ขึ้นมาประมาณ 1,000 กว่าปี ร่วม 2,000 ปีหรืออาจจะก่อนหน้านั้นแล้ว
สำหรับเมืองไทยยังไม่สามารถระบุจนแน่ชัดลงไปแบบฟันธงว่า เริ่มมีคติความเชื่อในการนำพระพิมพ์ต่างๆไปปลุกเสกสร้างเป็นพระเครื่องกันตั้งแต่สมัยใด แต่หากศึกษาจากการพบพระเครื่องสมัยโบราณทั่วประเทศไทย ทำให้เชื่อได้ว่าในบ้านเราก็มีการสร้างพระเครื่องมายาวนานนับพันปีแล้ว
โดยไทยคงได้อิทธิพลในการสร้างมาจากการผสมผสานแนวคิดในพระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน ร่วมกับแนวคิดในลัทธิบูชาบรรพบุรุษ ลัทธิวิญญาณนิยม ลัทธิบอน ที่เชื่อในเรื่องผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆในธรรมชาติ รวมทั้งแนวคิดความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะจากขอมที่มีอำนาจมากมาก่อนในดินแดนสุวรรณภูมินี้
การสร้างพระเครื่อง ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมก็คงไม่มีความประสงค์ จะสร้างเพื่อจำหน่ายเป็นพุทธพาณิชย์มากมายเหมือนในปัจจุบัน ในสมัยโบราณนั้นเกจิอาจารย์สร้างพระพิมพ์ขึ้น เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ให้ถาวร จึงมีการสร้างพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก ฝังไว้ในพระเจดีย์หรือในพุทธสถานต่างๆ
โดยถือว่าแม้พระเจดีย์หรือสิ่งก่อสร้างใดก็ตามเมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้จะได้ล่มสลาย หรือผุพังต้องบูรณปฏิสังขรณ์ หากมีใครไปขุดพบพระพิมพ์ ที่สร้างไว้ ก็จะได้รู้ว่า พระพุทธศาสนา เคยได้ประดิษฐานในที่นั้น เป็นเหตุให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณและช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไป
|
|