ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 11314
ตอบกลับ: 34
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

บูชาพระให้ขลัง ให้ดีมีโชคลาภ

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2016-5-9 07:04

“ห้อยพระให้ขลัง ให้ดี ให้มีโชคลาภ”





บูชาพระเป็น ใจมีฤทธิ์ หนุนให้โชคดีตลอดกาล ทำอะไรก็รวย “ นั้นต้องกราบเรียนว่าเป็นเรื่องจริงไม่ใช่เพื่อโฆษณาอวดอ้าง เพราะถ้าท่านผู้อ่านทุกท่านได้รู้เคล็ดวิธีโบราณที่นำมาเสนออย่างครบถ้วน และลองปฏิบัติดูแล้ว รับรองว่าใจของท่านจะมีกำลัง ท่านสามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่ต้องขึ้นอยู่กับบุญและกรรมของท่านด้วย


ถ้าท่านเป็นผู้มีบุญอยู่แล้วและถึงเวลาส่งผล และได้รับการเพิ่มบุญ ได้รับเมตตาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรื่องความรวยนั้นมันน้อยเกินไปสำหรับท่าน ไม่ว่าท่านจะทำอะไรก็ต้องสำเร็จทุกประการทั้งทางโลกและทางธรรมไม่ว่าจะรวยกัลยาณมิตร รวยทรัพย์ รวยบุญ ท่านเลือกเอาได้เลย  เรามาเริ่มเรื่องกันเลยดีกว่าเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาอันมีค่าของท่าน


รอฟังเคล็ดลับอยู่ครับ....
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-9-16 08:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2016-5-9 07:04

สำหรับเรื่องการบูชาพระพุทธรูปประจำบ้าน

  และการห้อยพระกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธนั้นถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุดเรื่องหนึ่ง หลายคนลืมตามาดูโลกก็อาจได้ของขวัญชิ้นแรกเป็นพระเครื่ององค์เล็ก ที่พ่อแม่ ปู่ย่าตายายหรือญาติสนิทคล้องรับขวัญเพื่อให้ชีวิตนับต่อนี้ไปมีแต่เรื่องมงคล เรื่องดีๆ เข้ามาในชีวิต และปกป้องคุ้มครองให้รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง
หลายครอบครัวใหม่ เมื่อสร้างบ้านหรือทำบุญฉลองบ้านใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลนั้น มักจะได้ของขวัญเป็นพระพุทธรูป องค์เทพต่างๆ หรือพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ต่างๆ ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น




ทำไมคนในทุกยุคถึงเชื่อว่าพระพุทธรูป  พระเครื่องที่ทำจากดิน จากปูน จากโลหะชิ้นเล็กๆ ถึงจะมีพลานุภาพขนาดนั้น


เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาของวัตถุประสงค์ของการสร้างพระนั้นให้เข้าใจ เราจึงจะทราบว่าพระที่เราบูชาและที่ห้อยคออยู่นั้น ท่านมีพลานุภาพและจำเป็นต้องชีวิตเพียงใด

การสร้างพระนั้นเชื่อว่า เริ่มจากการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ เพื่อเตือนสติน้อมรำลึกถึงพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ พระมหาปัญญา เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตในทิศทางที่ถูกต้องตามรอยพระพุทธองค์
ซึ่งต่อมาก็ได้มีการสร้างที่ลดขนาดลงเพื่อให้สะดวกในการพกพา ซึ่งต่อมานิยมเรียกกันว่า “พระเครื่อง”   ตามประวัติศาสตร์ที่มาการบันทึกนั้นมีการสร้างกันครั้งแรก หลังจากที่พระพุทธเจ้านั้นเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว


เพราะในสมัยต่อมานั้น เป็นยุคของศาสนาอื่นในอินเดียมีอำนาจและต้องการลบล้างพระพุทธศาสนาเพราะมีความเชื่อที่ขัดแย้งกัน เพราะพระพุทธเจ้านั้นสอนให้คนทราบว่า อันชะตาชีวิตของคนเรานั้น จะชั่วหรือดี จะทุกข์หรือสุข จะรวยหรือจนนั้นมาจากรรมหรือการกระทำของคนทั้งสิ้น ไม่ได้มาจากพระเจ้า เทพเจ้า ดวงดาวหรืออำนาจอื่นใด


ในขณะที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เหล่านักบวชในศาสนา พยายามที่พร่ำบอกว่า อันชีวิตของคนทุกคน ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้มาจากพระบัญชาของพระเจ้า และมีการแบ่งวรรณะคนอย่างชัดเจน คนในสมัยนั้นที่อยู่ในการปกครองของเขาจึงไม่สามารถเลื่อนขั้นหรือเพิ่มศักยภาพในชีวิตได้
วันๆ ต้องนั่งรอ นอนรอพระเจ้าอย่างเดียว แบบไม่ต้องทำอะไรอีกแล้วในชีวิตเดียว แค่เชื่อฟังสวดบูชาพระเจ้าเป็นอันเท่านี้พอ เพราะพระเจ้าหรือพระพรหม ท่านจะจัดการให้เอง กลายเป็นคนไร้สมรรถภาพสิ้นดี



ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ปัจจุบัน ได้ประกาศศาสนาพุทธเพื่อปลดแอกคน ปลดแอกความเชื่อเหล่านี้ด้วยกฎแห่งกรรมว่า คนเรานั้นจะชั่วหรือดี จะประณีตหรือทราม จะรวยจะจน จะสวยจะหล่อจะพิการนั้นมาจากกรรมที่ตนทำมาทั้งสิ้น ไม่ใช่พระเจ้านั้นจัดการ ชีวิตของคนนั้นขึ้นอยู่กับกรรมลิขิต เป็นการกระทำของตน มีที่มามีที่ไป มีเหตุมีผล ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพ้อพก หรือใครหน้าไหนมาช่วยแต่อย่างใด


แต่ในความเป็นจริงแล้วศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์นั้นใกล้ชิดกันมาก นับตั้งแต่เริ่มประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว  คนทั่วไปในชมพูทวีปก่อนหน้านั้นก็นับถือศาสนาพราหมณ์ และปวงเทพทั้งหลาย


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-9-16 08:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2016-5-9 07:03

ในศาสนาพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการมีอยู่ของเทพเทวดา และวิญญาณอื่นๆ ที่เป็นอมนุษย์ แต่ทว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ทางที่จะดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง


เมื่อมีการกวาดล้าง ทำลายพระพุทธศาสนากันอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีพระสงฆ์คณะหนึ่ง ได้สร้างตัวแทนของพระพุทธเจ้าเพื่อใช้ในการยึดเหนี่ยวจิตใจในการสืบทอดพระศาสนาที่กำลังโดนคุกคาม และอีกวัตถุประสงค์หนึ่งในการ การสร้างขึ้นมานั้นก็เพื่อระลึกถึงพระเมตตา พระกรุณา พระบารมีและคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ โดยในชั้นแรกนั้น เชื่อว่าการสร้างพระพุทธรูปมิได้มีจุดประสงค์ในการสร้างเพื่ออิทธิปาฏิหาริย์หรือการอื่นใด
การสร้างพระในสมัยนั้นคงต้องคอยระวัง ต้องคอยหลบซ่อนคนที่มีอำนาจในตอนนั้นเพราะเกรงถึงภัยอันตรายอันใหญ่หลวง จึงคาดว่าน่าจะเป็นที่มาของการลดขนาดพระที่สร้างขึ้นมานั้นให้เล็กลง เพื่อให้สามารถพกพาหรือสามารถซ่อนตาได้ เมื่อยามต้องถูกตรวจค้น ถูกกวาดล้าง รวมถึงการสร้างพระเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกันได้โดยนิยมสร้าง 84,000 องค์ตามพระธรรมขันธ์ของพระพุทธองค์
และในขณะที่สร้างพระนั้น ก็ยังได้นำพระพุทธมนต์หรือคำที่มาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เคยได้ยินและสืบทอดต่อกันมาตลอดเวลา มาเรียงร้อยเป็นบทสวดมนต์เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล และในตอนแรกคงเป็นการสร้างแบบง่าย ๆ โดยการใช้ดิน โลหะ ไม้หรือวัสดุอื่นที่พอหาได้ในยุคนั้น





ตำนานการสร้างพระ


ที่เชื่อว่ามีการสร้างพระมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล คือ ตำนานพระแก่นจันทร์  ที่ครูบาอาจารย์หลายท่านเชื่อว่าเป็นการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยที่เรื่องในตำนานพระแก่จันทร์นั้นมีอยู่ว่า

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดา บนดาวดึงส์สวรรค์พรรษาหนึ่งนั้น พระเจ้าประเสนทิโกศล แห่งแคว้นโกศล มีความรำลึกถึงพระพุทธองค์ ด้วยมิได้ทรงเห็นเป็นช้านาน จึงตรัสให้นายช่างทำ พระพุทธรูปขึ้นด้วยไม้แก่นจันทน์แดง(พระแก่นจันทร์) ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธองค์เคยประทับ


ครั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับลงมาจากดาวดึงส์ถึงที่ประทับ ด้วยพระบรมพุทธานุภาพ ก็บันดาลให้พระพุทธรูปแก่นจันทน์ เลื่อนหลีกจากพระพุทธอาสน์ จึงตรัสสั่งให้รักษา พระพุทธรูปพระแก่นจันทร์นั้นไว้ (เป็นที่มาของ”พระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทร์”) เพื่อสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่าง สร้างพระพุทธรูปสืบไป จึงเชื่อกันว่าเป็นการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกและ พระแก่นจันทร์ ต้องถือว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกของโลกเช่นกัน


แต่ตำนานพระแก่นจันทร์นี้ บางท่านกล่าวว่าเป็นเพียงตำนาน ที่ยังไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้อย่างชัดเจน ถ้าไม่นับพระแก่นจันทร์ก็ยังมีข้อสันนิษฐานกันว่า พระพุทธรูปนั้น เริ่มสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 7  ตั้งแต่สมัยคันธารราฐ ซึ่งเป็นแคว้นที่อยู่ทางตอนเหนือ ของอินเดียโบราณ (ปัจจุบันอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานและตะวันออกของอัฟกานิสถาน)


ผู้ริเริ่มสร้างไม่ใช่ชาวอินเดียแต่เป็นพวกกรีกหรือโยนก สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์หรือพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีกแห่งแคว้นคันธาระหรือคันธาราฐ พระองค์นั้นเป็นต้นกำเนิดของหนังสือหรือคัมภีร์ “มิลินทปัญหา” อันมีคุณค่ามากทางพุทธศาสนา
ขอแทรกสักเล็กน้อย เดิมทีนั้นพระเจ้ามิลินท์ มิได้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนานอกจาไม่นับถือแล้ว   ยังได้ทรงขัดขวางการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาด้วยซํ้าไป   เนื่องจากทรงแตกฉานวิชาไตรเพท ซึ่งเป็นคัมภีร์ของพวกพราหมณ์ที่สำคัญมากคล้ายๆ พระไตรปิฎกในศาสนาพุทธ
นอกจากจะเก่งเรื่องไตรเวทแล้วยังเก่งในเรื่องของศาสนาปรัชญาต่างๆ   รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย    จึงประกาศโต้วาทีกับนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ ในเรื่องศาสนาและปรัชญา    ปรากฏว่าไม่มีใครสู้พระองค์ได้เลยแม้แต่คนเดียว และท้าทายมาถึงพระพุทธศาสนาด้วย


จนกระทั่งคณะสงฆ์ต้องเลือกพระเถระผู้สามารถรูปหนึ่งมายังเมืองสาคละ เพื่อสนทนาเรื่องศาสนาและปรัชญากับพระเจ้ามิลินท์   พระเถระผู้นั้นมีชื่อว่า “พระนาคเสน “   เมื่อพระเจ้ามิลินท์ทรงทราบข่าวจึงรีบเสด็จไปสนทนาเป็นเชิงปุจฉาวิสัชนา ได้อภิปรายโต้เถียงกันขึ้นเป็นเวลาหลายวัน

ผลปรากฏว่า พระเจ้ามิลินท์ยอมแพ้พระนาคเสน    ข้อสนทนาระหว่างทั้งสองท่านนี้ ได้รวบรวมไว้เป็นคัมภีร์ เรียกว่า “มิลินทปัญหา” ถือว่าเป็นอีกสุดยอดในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา สรุปในเรื่องนี้ก็คือ พระเจ้ามิลินท์  เป็นผู้ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมา เพื่อแสดงถึงความศรัทธาสูงสุดต่อองค์พระบรมศาสดา และกลายเป็นธรรมเนียมต่อมา




ขอกลับมาพูดกันถึงตำนานพระแก่นจันทร์ที่พูดถึงกันไปแล้ว ซึ่งได้อ้างถึงการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรกตาม แต่ทว่าเรื่องนี้ยังขัดต่อหลักฐานทางศิลปกรรมในพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้มีการค้นพบทางโบราณคดี


เพราะมีการค้นพบว่าตั้งแต่ก่อนและในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ยังไม่พบว่ามีการสร้างพระพุทธรูปแต่อย่างใด  มีแต่รูปสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น รอยพระพุทธบาท ธรรมจักร เป็นต้น เป็นสิ่งสมมติแทนพระพุทธองค์และพระพุทธศาสนาทุกแห่งไป
ข้อนี้อาจจะพิสูจน์ให้เห็นว่าประเพณีในการสร้างพระพุทธรูปยังไม่มีในสมัยพุทธกาล หรือยังเป็นข้อห้ามอยู่ในมัชฌิมประเทศจนถึง  พ.ศ. 400  จากหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าตำนานเรื่องพระแก่นจันทร์นั้น น่าจะเกิดขึ้นในยุคต่อมาที่มีคตินิยมในการสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ หรือพระพุทธรูปแพร่หลายแล้วในภายหลังมากกว่า



5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-9-16 08:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สำหรับพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมามีรูปแบบที่ต่างไปตามสถานที่ อย่างชาวกรีกทำพระศกหรือเส้นผมและพระพักตร์เหมือนคนสามัญชนเหมือนคนยุโรปทั่วไป แต่ชาวอินเดียเห็นว่าไม่งามจึงได้ดัดแปลงพระศกเป็นรูปก้นหอย รูปหน้าเปลี่ยนเป็นหน้าคนอินเดียที่ดูมาทางเหมือนคนเอเชียเสีย บางองค์เหมือนคนจริงที่เชื่อว่ามาจากพระพักตร์ของกษัตริย์ผู้สร้างก็มี


สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ได้รับแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปก็ได้ดัดแปลงแก้ไขไปตามเห็นสมควรทำให้เกิดพระพุทธรูปแบบต่างๆ ขึ้นมากมายในดินแดนที่พระพุทธศาสนาไปถึงและได้รับการยอมรับมีการสร้างกันมากมายทั้งในลังกา ในจีน ทิเบต ประเทศในดินแดนสุวรรณภูมิ ที่มีเมืองไทยรวมอยู่ด้วยจวบจนมาถึงทุกวันนี้ และในเมืองไทยต้องบอกว่า เป็นดินแดนในยุคปัจจุบันที่เป็นเสาหลักแห่งพระพุทธศาสนาของโลกในยุคนี้
สำหรับคำว่า พระเครื่อง เป็นที่เข้าใจกันดีว่าเป็นพระขนาดเล็กที่ใช้ห้อยคอติดตัวนั้น  ท่านผู้รู้กล่าวว่ามาจากคำว่าพระเครื่องราง หมายถึง พระพุทธรูปองค์เล็กๆ ที่เชื่อกันว่าสามารถครองป้องกันภัยอันตรายและบันดาลโชคลาภ โดยในสมัยเริ่มแรกนั้น พระพุทธรูปนั้นถูกสร้างขึ้นในลักษณะของพระพิมพ์ที่สร้างไว้เพื่อสืบอายุพระศาสนา


ต่อมาในภายหลัง ได้มีการนำอักขระและศาสตร์บางอย่างของทางพราหมณ์เข้ามาร่วมพิธี เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่มาจากการสวดพระพุทธมนต์นี้ ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศลังกา ราวปีพ.ศ. 500


ด้วยที่ว่าชาวลังกาที่นับถือพุทธศาสนาในขณะนั้น มีความเดือดร้อนหลายประการและต้องการที่พึ่งทางด้านจิตใจเป็นอย่างมากจึงมานิมนต์พระสงฆ์ให้โปรดเมตตาช่วยเหลือตนให้เกิดสิริมงคลและป้องกันภยันตรายต่างๆ ด้วยการสวดมนต์และคาถาตามแบบอย่างพราหมณ์
ซึ่งคนเหล่านั้นมีความเชื่อว่า ด้วยมนตราของผู้ทรงเวทจะทำให้เกิดสิริมงคล และป้องกันภยันตรายแก่มหาชนได้ ที่สำคัญคนเหล่านั้น เชื่อว่าพระสงฆ์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่ยิ่งใหญ่ต้องช่วยเหลือพวกตนได้แน่นอน และอาจจะมากกว่าพวกพราหมณ์ด้วยซ้ำไป
มาถึงตอนนี้เชื่อว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทุกรูปท่านก็มีเมตตาสูงอยู่แล้ว และก็อยากช่วยเหลือคนเหล่านี้ที่พบกับความลำบากอีกทั้งไม่อยากขัดศรัทธา จึงค้นหาวิธีการที่จะช่วยเหลือ แต่ต้องไม่ผิดพระธรรมวินัยด้วย ท่านจึงไปเอาคำสอนของพระศาสดาที่มีการบันทึกไว้มาเรียงร้อยขึ้นมาเป็นพุทธมนต์มาใช้ในการสวด และภายหลังได้นำมาใช้สวดเมื่อมีการสร้างพระขึ้นมาด้วย และทางพราหมณ์ก็เข้ามาร่วมด้วย จนแยกกันไม่ออกและแพร่หลายออกไปในทุกดินแดนที่พระพุทธศาสนาไปถึงจนกลายเป็นที่นิยมตราบจนทุกวันนี้

คำว่าพุทธมนต์ นั้นหมายถึง พระพุทธพจน์อันเป็นพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกบ้าง เป็นคำที่แต่งขึ้นมาภายหลังบ้าง โดยถือกันว่าพระพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดป้องอันตรายต่างๆได้ จึงเรียกอีกอย่างว่า พระปริตร
คำว่าปริตร มีความหมายว่า คุ้มครองรักษา หรือเครื่องคุ้มครองป้องกัน ซึ่งบทพระพุทธมนต์ที่นิยมว่าศักดิ์สิทธิ์เท่าที่ปรากฏรวบรวมไว้มี 7 บท จึงเรียกว่า “เจ็ดตำนาน”

ตามปกติ คำว่าตำนาน จะหมายถึงเรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบๆ มา แต่ในที่นี้เป็นการเรียกพระปริตรบทๆ หนึ่งว่า “ตำนาน” ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะแผลงมาจากคำว่าตาณ ในภาษาบาลีที่แปลว่า ต้านทานหรือป้องกันเช่นเดียวกับคำว่า ปริตร หรืออาจจะหมายถึงตำนานอันเป็นที่มาของแต่ละพระสูตรก็เป็นได้


สำหรับเรื่องคำว่า” คาถา”นั้นแปลว่า ถ้อยคำที่ร้อยกรอง ถ้อยคำที่ผูกไว้ ถ้อยคำที่ขับร้อง ท่อง สวด และมักจะหมายถึงคำประพันธ์ภาษาบาลีประเภทฉันทลักษณ์ที่แต่งครบ 4  บาทหรือ 4  วรรค 1  คาถามี 4บาท แต่ละบาทมีจำนวนคำต่างกัน และเชื่อกันว่าคาถาจะขลังและเกิดผลนั้นมาจากการผูกตัวอักษรที่เป็นมงคลเช่น คาถาชินบัญชร คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า คาถาบูชาพระสิวลี เป็นต้น


แต่อย่างไรก็ตามนอกจากการสร้างที่พระสงฆ์ท่านได้อัญเชิญพระพุทธมนต์แล้ว ต่อมายังได้มีการจารตัวอักขระที่ย่นย่อมาจากบทพระพุทธมนต์ เพราะเชื่อกันว่าด้วยพลานุภาพของพุทธมนต์ทั้งที่สวดและจารลงไปนั้นจะสถิตอยู่ในพระองค์นั้น และช่วยคุ้มครองและอวยพรให้กับคนที่สวมใส่
ความเชื่อนี้ดำรงต่อมาเป็นเวลานับพันปี และเชื่อกันว่าพระเครื่อง หรือ พระพิมพ์ นั้นจริงๆ แล้วเกิด ขึ้นมาประมาณ 1,000 กว่าปี ร่วม 2,000 ปีหรืออาจจะก่อนหน้านั้นแล้ว


สำหรับเมืองไทยยังไม่สามารถระบุจนแน่ชัดลงไปแบบฟันธงว่า เริ่มมีคติความเชื่อในการนำพระพิมพ์ต่างๆไปปลุกเสกสร้างเป็นพระเครื่องกันตั้งแต่สมัยใด แต่หากศึกษาจากการพบพระเครื่องสมัยโบราณทั่วประเทศไทย ทำให้เชื่อได้ว่าในบ้านเราก็มีการสร้างพระเครื่องมายาวนานนับพันปีแล้ว
โดยไทยคงได้อิทธิพลในการสร้างมาจากการผสมผสานแนวคิดในพระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน ร่วมกับแนวคิดในลัทธิบูชาบรรพบุรุษ ลัทธิวิญญาณนิยม ลัทธิบอน ที่เชื่อในเรื่องผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆในธรรมชาติ รวมทั้งแนวคิดความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะจากขอมที่มีอำนาจมากมาก่อนในดินแดนสุวรรณภูมินี้
การสร้างพระเครื่อง ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมก็คงไม่มีความประสงค์ จะสร้างเพื่อจำหน่ายเป็นพุทธพาณิชย์มากมายเหมือนในปัจจุบัน  ในสมัยโบราณนั้นเกจิอาจารย์สร้างพระพิมพ์ขึ้น เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ให้ถาวร จึงมีการสร้างพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก ฝังไว้ในพระเจดีย์หรือในพุทธสถานต่างๆ

โดยถือว่าแม้พระเจดีย์หรือสิ่งก่อสร้างใดก็ตามเมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้จะได้ล่มสลาย หรือผุพังต้องบูรณปฏิสังขรณ์ หากมีใครไปขุดพบพระพิมพ์ ที่สร้างไว้ ก็จะได้รู้ว่า พระพุทธศาสนา เคยได้ประดิษฐานในที่นั้น เป็นเหตุให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณและช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ต่อไป



6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-9-16 08:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในยุคนี้มีการค้นพบหรือกรุแตกมากมายในเมืองไทย


    ที่พอจะยืนยันเป็นหลักฐานว่า การสร้างพระในเมืองไทยนั้นมีมานับพันปีขึ้นไป อาทิเช่น กรุพระธาตุนาดูน จ.มหาสารคาม ที่มีการพบพระพิมพ์ดินเผากรุพระนาดูนที่ขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2522 นั้น เป็นพระพิมพ์ดินเผาฝีมือช่างประจำราชสำนัก สร้างไว้เพื่อเป็นพุทธบูชาสืบต่อพระพุทธศาสนา พระพิมพ์ดินเผากรุพระนาดูน มีพุทธศิลป์ ลวดลายลีลาอ่อนช้อยสวยงามและเป็นศิลปะสมัยทวาราวดีมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12–16 หรือประมาณ 1,300 ปี


เนื้อพระพิมพ์แข็งแกร่งมาก พระพิมพ์บางองค์กลายเป็น เนื้อหิน สีเนื้อพระพิมพ์มี 5 สี คือสีหิน(น้ำตาลแก่) สีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองมันปู สี ชมพู สีแดงหินทราย และสีขาวนวล (สีเท่าอ่อน) ในพระพิมพ์เกือบทุกพิมพ์จะมี รูปเจดีย์ และสถูปจำลองปรากฏอยู่เสมอ และเป็นพระพิมพ์เล่าเรื่องพุทธประวัติที่มีความ หมายอยู่ในตัว พระพิมพ์ดินเผากรุพระนาดูนที่ขุดพบได้นำตัวอย่างไปวิเคราะห์หาส่วนผสม


จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีปรากฏว่า ส่วนผสมหลัก ได้แก่ ศิลาแลง ดินเหนียว แกลบข้าว ทราย กรวด ในตัวอย่างบางชิ้นนั้นมีเมล็ดข้าวผสมอยู่ ด้วยส่วนผสมที่ใช้มากได้แก่ ทราย ซึ่งเมื่อเผาแล้วจะทำให้เนื้อดินมีความแกร่งมาก ลักษณะการเผาจะเผาแบบกลางแจ้งอุณหภูมิไม่คงที่ จึงทำให้สีของพระพิมพ์ดินเผาแตกต่างกัน ส่วนประกอบเหล่านี้คงทำให้พระเครื่องนั้นมีอายุยืนนานและคงสภาพเป็นรูปได้ดีจนถึงปัจจุบัน
การขุดพบกรุพระที่ จ.ลพบุรี ทั้งในเขตโบราณสถานของขอมที่มีอยู่ทั่วไปในจังหวัดนี้ การขุดพบกรุพระที่ จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงที่ต่างๆ ทั่วไปทางภาคเหนือ คงจะพอยืนยันว่า ต้องมีการสร้างพระในเมืองไทยเป็นเวลาพันปีขึ้นไปอย่างแน่นอนในทุกภูมิภาคด้วย
แต่ยุคที่เชื่อกันว่า คนไทยนั้นเริ่มนิยมสะสมพระเครื่องกันเพื่อใช้ในการป้องกันศาสตราภัยและความคงกระพันชาตรีมาก คงจะเริ่มมีความนิยมกันมากตั้งแต่ในสมัยอยุธยา เพราะในสมัยนั้นมีการศึกสงครามมากและมีสงครามตลอดเวลาด้วย จึงเชื่อว่า ครูบาอาจารย์ท่านคงมีการสร้างพระเครื่องเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับทหารที่จะไปสู้รบในศึกสงคราม  เพราะโอกาสรอดกลับมานั้นน้อยมาก เป็นเพราะการรบในสมัยก่อนนั้นใช้การประชิดตัว ดาบประดาบ ทวนต่อทวน ไม่เหมือนในสมัยนี้ที่รบกันทีห่างกันเป็นกิโลเมตร


ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และการแคล้วคลาด อาวุธทั้งหลายยิงและแทงไม่เข้านั้น ส่วนหนึ่งเชื่อกันว่านอกจากพุทธคุณในองค์พระแล้ว ก็น่าจะเป็นการที่พระเครื่องบางองค์นั้นมีส่วนผสมในองค์พระที่มาจากว่านสมุนไพร และโลหะบางชนิดที่มีสรรพคุณวิเศษในการทำให้เกิดปาฏิหาริย์บางอย่างได้ เรื่องเหล่านี้เป็นความเชื่อ ที่อยากจะขอแนะนำว่า ถ้าท่านใดที่ไม่เชื่อก็ไม่ควรที่จะลบหลู่เป็นอย่างยิ่ง



เพราะในบางเรื่องที่เรายังไม่รู้ ยังพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาการสมัยใหม่นั้น มิได้หมายความไม่ได้มีอยู่จริง..

โลกของวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้ที่เราเล่าเรียนมาจากชาติตะวันตกนั้น เพิ่งจะตอบเรื่องเหนือธรรมชาติได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของพลังจิตที่ยิ่งใหญ่นั้น นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะมายอมรับกันว่ามีอยู่จริงเมื่อร้อยกว่าปีนี้เอง และยังรู้เรื่องพลังจิตนี้แค่ปลายหางอึ่งเท่านั้น
อีกทั้งการสร้างพระเครื่องให้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ในแต่ละครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ใครที่ไหนก็ได้จะลุกขึ้นมาทำได้แล้วดีจริง เพราะถ้าทำกันตามหลักที่ครูบาอาจารย์ตั้งแต่ครั้งโบราณได้วางหลักเอาไว้นั้น มีกระบวนการในการสร้างที่ละเอียดซับซ้อนหลายขั้นตอนและต้องมีความรู้ที่สูงมาก
เช่น การเตรียมมวลสารต่างๆในการผสมสร้างพระเครื่อง การลงอักขระเลขยันต์ในแผ่นทอง การรวบรวมว่านศักดิ์สิทธิ์ 108 ชนิด การที่จะต้องบวงสรวงไหว้พรหมเทพเทวดา ครูบาอาจารย์เพื่อขอเมตตาขอพระบารมีให้มาช่วยในการสร้างพระเครื่อง การปลุกเสกพระเครื่องด้วยการทำสมาธิภาวนาท่องบ่นมนต์คาถาต่างๆ ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ตามที่ต้องการ

และเชื่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้วว่า ในพระพุทธรูป พระเครื่องต่างๆ ที่สร้างกันนั้นเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ แม้เพียงยังไม่ได้ทำการบูชาก็ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ครูบาอาจารย์ท่านจึงสอนไว้เสมอว่า เมื่อเวลามีภัยให้นึกถึงพระพุทธเจ้า คนผู้นั้นจะรอดปลอดภัย
  

ในตัวแทนของพระพุทธองค์ที่สร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป พระเครื่อง พุทธสถานใดก็ตาม เมื่อสร้างเสร็จจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ๋ปกป้องดูแลวัตถุนั้นๆ สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นอาจจะเป็นเทวดาในระดับชั้นต่างๆ  หรือ พวกดวงวิญญาณผู้มีคุณธรรมสูง หรือดวงวิญญาณในภพภูมิต่างๆ ซึ่งแล้วแต่ครูบาอาจารย์ท่านอธิษฐานจิตอัญเชิญ หรือแล้วแต่ ลักษณะของเครื่องรางของขลังที่ทำมาว่าเด่นในด้านไหน



ยิ่งถ้าผ่านการการพุทธาภิเษก อธิษฐานจิต หรือพิธีนั่งปรกที่ถูกต้องจากพระอริยสงฆ์ ผู้มีคุณธรรมชั้นสูงที่สร้างหรือร่วมในการพุทธาภิเษกแล้วไซร้ เชื่อว่าอาจจะมีผู้ดูแลวัตถุนั้นแน่นอน คำว่า “ผู้ดูแล”  ย่อมหมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ที่มีความเกี่ยวพันธ์กับวัตถุนั้น อาจจะอยู่ในวัตถุนั้น หรืออยู่ตามภูมิปรกติของตนแต่ได้ซึ่งทำหน้าที่ดูแลพระหรือวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมา



จะขอยกตัวอย่างให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง..


ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อโสธร ที่เป็นพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองไทยและของคนฉะเชิงเทราทั้งหลายนั้น มีเทวดาระดับสูงดูแลอยู่หลายองค์ ใครบูชาท่านได้ถูกต้อง ถูกธรรมจะเกิดผลดีต่อคนนั้นทุกคน แต่ใครขืนไปทำอะไรไม่ดี หรือไปลบหลู่ท่านจะเจอดีแน่ ซึ่งในอดีตโดนกันมานักต่อนักแล้ว


หลวงพ่อใหญ่ หรือพระพุทธชินราช ที่ประดิษฐานอยู่ที่ จ.พิษณุโลกนั้น เชื่อว่าสร้างโดยเทวดา และยังคงดูแลรักษาอยู่ ยิ่งมีคนกราบไหว้มาก ด้วยบุญของผู้ที่มาไหว้ ที่มาอุทิศบุญให้ท่านอยู่ตลอดเวลานั้น ทำให้ยิ่งมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น เหล่าเทวดาที่มารักษา มาดูแลก็จะยิ่งมีบุญเพิ่มระดับสูงมากขึ้น มีพลังบุญจำนวนมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ขอให้พิจารณากันเอาเองตามบุญของท่านเองว่า ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ



สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านสถิตอยู่ภายในหรือปกป้องดูแลพระพุทธรูปหรือพระเครื่องเหล่านี้อยู่ ท่านจะช่วยดลบันดาลให้เกิดผลดีต่อผู้ที่บูชาอย่างถูกต้องแตกต่างกันไป เช่น บางองค์อาจจะไปในทาง เมตตา แคล้วคลาด คงกระพัน และบางทีก็มีผลต่ออารมณ์ผู้ใช้ บางองค์พกแล้วเกิดความฮึกเหิมไม่กลัวใคร บางองค์ห้อยแล้ว เกิดความเชื่อมั่น บางองค์แค่เมื่อกราบท่านก็ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง



เรื่องเหล่านี้เราต้องรู้หลักในการบูชาที่ถูกต้อง


เหมือนอย่างกับที่เราไม่สบายไปหาหมอ เราต้องรู้ว่าหมอท่านไหนเก่งเรื่องอะไร หมอบางคนเก่งเรื่องตา เราเจ็บตาก็ต้องไปหาหมอตา ไม่ใช่เจ็บตาแต่ไปหาหมอทางหู แล้วจะเกิดผลดีต่อตัวเราไหม คิดกันง่ายๆ แค่นี้คงจะพอเข้าใจ


ฉะนั้นการเลือกและบูชาพระ เราก็ต้องเลือกให้เหมาะกับตัวและเหมาะบุญของตน



ซึ่งจะอธิบายให้ละเอียดในตอนต่อไปแบบที่เอาไปใช้ได้ผลดีกับชีวิต ขอให้อ่านไปเรื่อยๆ ทุกท่านจะได้ทราบในเรื่องของพระที่สร้างจากทุกมิติทางปัญญาที่ผู้เขียนมีอยู่ ที่จะบอกทุกสิ่งเท่าที่รู้ เท่าที่บุญของผู้เขียนที่มี


http://torthammarak.wordpress.com
ขอบคุณคร้าบ
เยี่ยม
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้