ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6608
ตอบกลับ: 37
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๙ : สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)

[คัดลอกลิงก์]


พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
พุทธศักราช ๒๔๓๖-๒๔๔๒


วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
แขวงสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ

•        พระประวัติในเบื้องต้น
•        สามเณร ๙ ประโยครูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
•        ทรงอุปสมบทครั้งแรก
•        กำเนิดวัดธรรมยุตแห่งแรกของไทย
•        ทรงอุปสมบทครั้งที่ ๒
•        พระสาสนโสภณรูปแรก
•        เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ รูปแรก
•        พระคุณลักษณะพิเศษ
•        เหตุการณ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ สวรรคต
•        การเลื่อนสมณศักดิ์
•        นามจารึกในหิรัญบัตร
•        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช
•        สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณรูปที่ ๒
•        การสังคายนาและพิมพ์พระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๕
•        โปรดเกล้าฯ สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ
•        สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
•        งานพระนิพนธ์
•        พระกรณียกิจพิเศษ
•        พระอัธยาศัย
•        พระอวสานกาล
•        การพระศพ
• ประวัติและความสำคัญของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
o        ประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ฯ ให้ถูก
o        ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณมาเป็นเจ้าอาวาส
o        การปฏิสังขรณ์พระอารามในสมัยรัชกาลที่ ๕
o        การสร้างปราสาทยอดปรางค์แบบขอม
o        ปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถานของวัดราชประดิษฐฯ
o        ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)  
มีพระนามเดิมว่า “สา” พระนามฉายาว่า “ปุสฺสเทโว”
ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๗๕
(พ.ศ. ๒๓๕๖) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
โยมบิดามีนามว่า “จันท์” โยมมารดามีนามว่า “สุข”
เป็นชาวตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

มีพี่น้องชายหญิงร่วมมารดาบิดาเดียวกันรวมทั้งหมด ๕ คน คือ
๑. หญิงชื่อ อวบ
๒. ชายชื่อ ช้าง ภายหลังได้รับพระทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระสุภรัตกาสายานุรักษ์
๓. ชายชื่อ สา คือเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
๔. ชายชื่อ สัง ได้อุปสมบทอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร และได้รับพระราชทาน
สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระสมุทรมุนี ต่อมาภายหลังได้ลาสิกขา
๕. หญิงชื่อ อิ่ม

กล่าวกันว่าโยมบิดาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
เป็นชาวตำบลบางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี ได้เคยบวชเรียน
จนเป็นผู้ชำนาญในการเทศน์มิลินท์และมาลัย
แม้เมื่อลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสแล้ว
ก็ยังเรียกกันติดปากว่า “จันท์มิลินท์มาลัย”

ส่วนโยมมารดาเป็นชาวตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี
สำหรับโยมบิดานั้น นอกจากจะได้เคยบวชเรียนเป็นนักเทศน์มีชื่อแล้ว
คงจักได้เล่าเรียนมีความรู้ในทางพระปริยัติธรรมมาเป็นอย่างดีด้วย
ถึงได้เป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ในพระราชวังบวรด้วยท่านหนึ่ง

เนื่องจากโยมบิดาเป็นผู้มีความรู้ดีในด้านอักษรสมัยและในทางพระปริยัติธรรม
ถึงขั้นเป็นอาจารย์บอกหนังสือ (คือสอนหนังสือ) ในพระราชวังบวร
การศึกษาในเบื้องต้นของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงเข้าใจว่าคงศึกษากับโยมบิดานั่นเอง
และเรื่องที่ศึกษาเล่าเรียนก็คงจะหนักไปทางด้านพระศาสนา
อันเป็นวิชาที่โยมบิดาถนัดนี้ ก็อาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง
ที่นำให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอุปนิสัยน้อมไปในทางบรรพชา
จนเป็นเหตุให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรแต่ยังเยาว์ในเวลาต่อมา

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้บรรพชาเป็นสามเณรแต่ยังเยาว์ ในรัชกาลที่ ๓
เดิมอยู่ที่วัดใหม่บางขุนเทียน ต่อมาได้ย้ายมาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม
เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ส่วนการเรียนพระปริยัติธรรมนั้น
เข้าไปเรียนในพระราชวังบวรกับ อาจารย์อ่อน (ฆราวาส)
และกับโยมบิดาของพระองค์ท่านเอง
ซึ่งเป็นอาจารย์บอกหนังสืออยู่ในพระราชวังบวรนั้นด้วยกัน

ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ พระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา
ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก แปลได้เพียง ๒ ประโยค
จึงยังไม่ได้เป็นเปรียญ แต่เรียกกันว่า “เปรียญวังหน้า”
ที่เรียกกันว่าเปรียญวังหน้านั้น ก็ด้วยเหตุที่ว่า

ประเพณีการแปลพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น
ผู้เข้าแปลทีแรกต้องแปลพระธรรมบทให้ได้ครบ ๓ ประโยคในคราวเดียว
จึงนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าไม่ได้ครบทั้ง ๓ ประโยค
เข้ามาแปลคราวหน้าก็ต้องแปลแต่ประโยค ๑ ไปใหม่

ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
มีพระประสงค์จะทรงอุปการะแก่พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียน
มิให้ท้อถอยจากความเพียรไปเสีย
ถ้ารูปใดแปลได้ ๒ ประโยคก็ทรงรับอุปการะไป
จนกว่าจะเข้าแปลใหม่ได้เป็นเปรียญ
พระภิกษุสามเณรที่ได้รับพระราชทานอุปการะเหล่านั้น
จึงพากันเรียกว่า “เปรียญวังหน้า”
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สามเณร ๙ ประโยครูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ครั้งยังเป็นสามเณร
ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะเมื่อทรงผนวชประทับอยู่ ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย)
เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ และได้ทรงศึกษาเล่าเรียนสืบมา
ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น

กระทั่งพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา จึงได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง
และครั้งนี้ทรงแปลในคราวเดียวได้หมดทั้ง ๙ ประโยค
ได้เป็นเปรียญเอกแต่ยังทรงเป็นสามเณร
นับเป็นสามเณรเปรียญ ๙ ประโยครูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เป็นที่น่าสังเกตว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ถวายตัวศึกษาพระปริยัติธรรม
อยู่ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วัดราชาธิวาส
เพียง ๔ พรรษาเท่านั้น ก็มีความรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรม
จนสามารถแปลพระปริยัติธรรมได้ในคราวเดียวหมดทั้ง ๙ ประโยค
อันแสดงให้เห็นว่า เพราะทรงได้พระอาจารย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง
ในทางพระปริยัติธรรม คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประกอบกับพระวิริยะอุตสาหะ
และพระสติปัญญาอันเฉียบแหลมส่วนพระองค์ด้วยนั่นเอง
จึงทรงมีความรู้แตกฉานในสิ่งที่ทรงศึกษาเล่าเรียน
เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น ซึ่งน้อยคนนักที่จะทำได้
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทรงอุปสมบทครั้งแรก

ครั้นถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ มีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา
ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชาธิวาส มีพระนามฉายาว่า “ปุสฺโส”
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์คือใคร
แต่ตามทางสันนิษฐานว่า ในเวลาที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
มีพระชนมายุครบอุปสมบทนั้น
เป็นเวลาที่พระสงฆ์ธรรมยุตนิยมพระอุปัชฌาย์รามัญ
ซึ่งมี พระสุเมธาจารย์ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์อยู่ด้วยรูปหนึ่ง
และเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์อยู่

ฉะนั้น จึงน่าเป็นไปได้ว่า พระอุปัชฌาย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ในการอุปสมบทครั้งนั้น คือ พระสุเมธาจารย์ (เกิด)
พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะทรงผนวชอยู่ ให้เสด็จมาครอง วัดบวรนิเวศวิหาร
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นพระเปรียญเอก พรรษา ๔
ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารด้วย

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ  


กำเนิดวัดธรรมยุตแห่งแรกของไทย

ครั้น พ.ศ. ๒๓๘๒ พรรษา ๖ ทรงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น
พระราชาคณะที่ พระอมรโมลี (ไม่พบประกาศทรงแต่งตั้ง)
จะเห็นได้ว่าทรงได้รับยกย่องให้ดำรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่
ตั้งแต่ทรงมีอายุพรรษา ๖ (คือพระชนมายุ ๒๖ พรรษา) เท่านั้น
ทั้งนี้ก็คงเนื่องด้วยทรงมีพระปรีชาแตกฉาน
ในพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยเป็นมูลนั่นเอง

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จจากวัดราชาธิวาส มาครองวัดบวรนิเวศวิหารนั้น
นับเป็นครั้งแรกที่พระสงฆ์ธรรมยุตได้มีวัดเป็นสำนักของตนเองเป็นเอกเทศ
เพราะก่อนแต่นั้นพระสงฆ์ธรรมยุตก็ยังคงอยู่รวมในวัดเดียวกันกับพระสงฆ์เดิม

เมื่อมีสำนักเป็นเอกเทศขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ได้ทรงปรับปรุงระเบียบปฏิบัติด้านต่างๆ ของพระสงฆ์ในปกครองของพระองค์
ได้อย่างเต็มที่ เช่น ทรงตั้งธรรมเนียมนมัสการพระเช้าค่ำ
ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ”  เป็นประจำวันขึ้น
พร้อมทั้งทรงพระราชนิพนธ์คำนมัสการพระรัตนตรัย
เป็นภาษามคธ (ภาษาบาลี) ขึ้นใหม่ ที่เรียกกันว่า บททำวัตรเช้าค่ำ
ดังที่ใช้สวดกันทั่วไปในบัดนี้ ในวันธรรมสวนะ (วันพระ)
มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธศาสนิกชนเป็นต้น

ในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ทรงส่งเสริมการเรียนพระปริยัติธรรมให้รุ่งเรือง
โดยพระองค์ทรงบอกพระปริยัติธรรม (คือสอน) ด้วยพระองค์เอง
มีพระภิกษุสามเณรเป็นศิษย์เข้าแปล (คือสอบในสนามหลวง)
ได้เป็นเปรียญประโยคสูงถึงประโยค ๙ หลายรูป

การเรียนพระปริยัติธรรมของสำนักวัดบวรนิเวศวิหารในยุคนั้นรุ่งเรืองมาก
พระเปรียญพูดภาษามคธได้คล่อง
และคงเนื่องด้วยเหตุนี้เอง วัดบวรนิเวศวิหารในครั้งนั้น
จึงต้องทำหน้าที่รับรองพระสงฆ์ลังกาที่เข้ามาเจริญศาสนไมตรีกับไทย
ถึงกับต้องมีเสนาสนะหมู่หนึ่งไว้รับรองที่วัดบวรนิเวศวิหาร
เรียกว่า “คณะลังกา” (ปัจจุบันรื้อไปแล้ว)
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด)


ในส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
พระองค์ก็ทรงศึกษาภาษาละตินและภาษาอังกฤษกับชาวต่างประเทศ
จนทรงสามารถตรัส เขียน อ่าน ได้อย่างคล่องแคล่ว
แม้พระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์ในพระองค์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ก็เข้าใจว่าคงได้รับการส่งเสริมให้เรียนภาษาต่างประเทศ
ที่นอกเหนือไปจากภาษามคธด้วยเช่นกัน

ดังปรากฏในประวัติของ พระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด)
ซึ่งเป็นศิษย์หลวงเดิมท่านหนึ่ง และได้เป็นสมณทูตไปลังกาถึง ๒ ครั้ง ว่า
สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว
จนชาวลังกายกย่องเป็นอันมากเป็นตัวอย่าง


พระเถระต้นวงศ์แห่งธรรมยุต

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชก็คงจะเช่นเดียวกัน
นอกจากจะทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
จนมีความแตกฉานคล่องแคล่วในภาษามคธแล้ว
ก็คงจักได้ศึกษาภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วย
ตามความนิยมของสำนักวัดบวรนิเวศวิหารในครั้งนั้น
ดังปรากฏในคำประกาศทรงสถาปนาเป็น
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ตอนหนึ่งว่า

“มีสุตาคมปัญญารอบรู้ในอักษรแลภาษาซึ่งเปนสกะไสมยปะระไสมย
คือ ขอม ไทย แลสิงหฬ รามัญ สังสกฤตพากย์ เป็นต้นโดยพิศดาร”


เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่
ผู้เป็นต้นวงศ์แห่งคณะธรรมยุตรูปหนึ่งในจำนวน ๑๐ รูป
ดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์สมณศาส์นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อยังทรงผนวชอยู่ พระราชทานไปยังพระสงฆ์ในประเทศลังกา ว่า

ทส คณิสฺสรา เถรา                ธมฺมยุตฺติกวํสิกา
ตนฺนิกายิกสงฺเฆน                 สพฺพกิจฺเจสุ สมฺมตา
อเนกภิกฺขุสตานํ                     ปิตโร ปริณายกา
ตสฺเสว ภูปตินฺทสฺส                 ปิโย กนิฏฺภาตุโก
เถโร วชิรญาโณ จ                   ปาโมกฺโข คณเชฏฺโก
เถโร พฺรหฺมสโร เจว                  เถโร ธมฺมสิริวฺหโย
เถโร พุทฺธสิริ เจว                      เถโร ปญฺญาคฺคนามโก
เถโร ธมฺมรกฺขิโต จ                   เถโร จ โสภิตวฺหโย
เถโร พุทฺธิสณฺหนาโม               เถโร ปุสฺสาภิธานโก
เถโร สุวฑฺฒโน จาปิ                 สพฺเพ สมานฉนฺทกา ฯลฯ


พระเถระเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตติกวงศ์ อันพระสงฆ์นิกายนั้นสมมติ
(แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหาร) ในกิจทั้งปวง เป็นบิดา เป็นปริณายกแห่งภิกษุหลายร้อยรูป
พระเถระทรงพระนามว่า วชิรญาณะ
ผู้เป็นพระกนิฐภาดาที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น

เป็นผู้ใหญ่ในคณะ เป็นประธาน ๑ พระเถระนามว่า พรหมสระ ๑
พระเถระนามว่า ธัมมสิริ ๑ พระเถระนามว่า พุทธสิริ ๑
พระเถระนามว่า ปัญญาอัคคะ ๑ พระเถระนามว่า ธัมมรักขิตะ ๑
พระเถระนามว่า โสภิตะ ๑ พระเถระนามว่า พุทธิสัณหะ ๑
พระเถระนามว่า ปุสสะ ๑ พระเถระนามว่า สุวัฑฒนะ ๑
ทุกรูปเป็นผู้มีฉันทะเสมอกัน ฯลฯ

พระเถระที่ปรากฏพระนามและนามในพระราชนิพนธ์ข้างต้นนี้
พระวชิรญาณะ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ทรงประดิษฐานคณะธรรมยุต

พระพรหมสระ คือ พระญาณรักขิต (สุข) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสรูปแรก
ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระธรรมการบดี

พระธัมมสิริ คือ พระเทพโมลี (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ รูปที่ ๒
พระพุทธสิริ คือ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร รูปที่ ๑
พระปัญญาอัคคะ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เป็นพระองค์แรก
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระธัมมรักขิตะ คือ พระครูปลัดทัด วัดบวรนิเวศวิหาร
ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระศรีภูริปรีชา
พระโสภิตะ คือ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก) วัดบวรนิเวศวิหาร
ภายหลังลาสิกขาและได้เป็นที่พระยาศรีสุนทรโวหาร
พระพุทธิสัณหะ คือ พระอมรโมลี (นพ) เจ้าอาวาสวัดบุปผาราม
พระปุสสะ คือ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา)
เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม รูปที่ ๑

พระสุวัฑฒนะ คือ พระปลัดเรือง วัดบวรนิเวศวิหาร

พระเถระ ๑๐ รูปนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงยกย่องในฐานะพระเถระผู้ใหญ่และเป็นที่ทรงปรึกษากิจแห่งคณะ
ขณะเมื่อยังทรงผนวชอยู่

เมื่อสำนักวัดบวรนิเวศวิหารเจริญขึ้นแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งพระศิษย์หลวงเดิม
ออกไปตั้งสำนักสาขาขึ้นที่วัดอื่นอีกหลายวัด กล่าวคือ

โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
แต่ครั้งยังเป็นพระราชาคณะที่พระอริยมุนี เป็นเจ้าสำนักวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย)

โปรดเกล้าฯ ให้ พระญาณรักขิต (สุข)
เป็นเจ้าสำนักวัดบรมนิวาส (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัดนอก)

โปรดเกล้าฯ ให้ พระเทพโมลี (เอี่ยม ธมฺมสิริ) แต่ครั้งยังเป็นที่พระรัตนมุนี
เป็นเจ้าสำนักวัดเครือวัลย์

โปรดเกล้าฯ ให้ พระเมธาธรรมรส (ถิน) แต่ครั้งยังเป็นพระครูใบฎีกา
เป็นเจ้าสำนักวัดพิชยญาติการาม

โปรดเกล้าฯ ให้ พระอมรโมลี (นพ) แต่ครั้งยังเป็นพระครูวินัยธร
เป็นเจ้าสำนักวัดบุปผาราม


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค)



ส่วนที่วัดบวรนิเวศวิหารจึงยังคงเหลือพระศิษย์หลวงเดิม
ที่เป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค)
แต่ครั้งยังมิได้ทรงกรม
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) แต่ครั้งยังเป็น พระอมรโมลี
พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต) พระปลัดเรือง และพระปลัดทัด

จะเห็นได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงเป็นพระเถระที่เป็นกำลังสำคัญในคณะธรรมยุต
มาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มสถาปนาคณะและตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ หลังจากที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง
เป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลี แล้ว
ได้ลาสิกขาออกไปครองชีวิตฆราวาสอยู่ระยะหนึ่ง
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงลาสิกขาในปีใด
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)


ทรงอุปสมบทครั้งที่ ๒

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทใหม่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อเดือน ๑๐ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๙๔
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์  
พระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก โสภิโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
(ภายหลังลาสิกขา และได้เป็นที่พระยาศรีสุนทรโวหาร)

ในการอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ ทรงมีพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา
และมีพระนามฉายาว่า “ปุสฺสเทโว”
นัยว่าเมื่อทรงอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ก็ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง
และก็ทรงแปลได้หมดทั้ง ๙ ประโยคอีก
ด้วยเหตุนี้เองจึงมักมีผู้กล่าวขวัญถึงพระองค์ด้วยสมญานาม
อันแสดงถึงพระคุณลักษณะพิเศษนี้ว่า “สังฆราช ๑๘ ประโยค” ในเวลาต่อมา


9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระสาสนโสภณรูปแรก

ในคราวอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ครั้งที่ ๒ นี้
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นพระอันดับอยู่ ๗ พรรษา
ครั้นถึงปีมะแม ปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ในรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้ง
เป็นพระราชาคณะที่ “พระสาสนโสภณ” ดังมีสำเนาประกาศทรงตั้งดังนี้

“ให้พระอาจารย์สา วัดบวรนิเวศ เป็นพระสาสนโสภณ
ที่พระราชาคณะในวัดบวรนิเวศ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๒ บาท
ขอพระคุณจงเอาธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอนแลอนุเคราะห์
พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในพระอารามโดยสมควร
จงมีศุขสวัสดิ์เจริญในพระพุทธศาสนาเทอญฯ
ตั้งแต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก
พุทธศักราช ๒๔๐๑ เป็นวันที่ ๒๘๖๕ ในรัชกาลปัจจุบันนี้”


ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนิตยภัตรเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ
แต่ถือตาลปัตรแฉกเสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ
สำหรับราชทินนามที่ พระสาสนโสภณ นั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยเฉพาะ
เพื่อให้ได้กับนามเดิมของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือ “สา”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรัสเล่าไว้ ความว่า

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นที่พระสาสนโสภณนั้น
คนทั่วไปเรียกกันว่า อาจารย์สา เมื่อถึงคราวที่จะทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประดิษฐ์ราชทินนาม
โดยเอานามเดิมของพระองค์ท่านขึ้นต้น แล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลก นาม ๑
พระสาสนโสภณ นาม ๑ แล้วโปรดฯ เกล้าให้พระสารสาสตร์พลขันธ์ (สมบุญ)
ไปทูลถามพระองค์ท่านว่าจะชอบนามไหน

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า นาม สาสนดิลก นั้นสูงนัก
ขอรับพระราชทานเพียงนาม สาสนโสภณ
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่พระสาสนโสภณดังกล่าวมา
แล้วคนทั้งหลายก็เรียกกันโดยย่อว่า “เจ้าคุณสา” สืบมา


ดูทีว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะทรงโปรดราชทินนามนี้มาก
ภายหลังแม้จะได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นถึงชั้นธรรม ชั้นเจ้าคณะรอง
ก็ยังคงรับพระราชทานในราชทินนามว่า พระสาสนโสภณ ตลอดมา

การกลับเข้ามาอุปสมบทใหม่ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ครั้งนี้
นับว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อคณะธรรมยุตและคณะสงฆ์เป็นส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเป็นสำนักหลักในคณะธรรมยุต

ดังที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้ทรงอธิบายไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า

“พระเถระที่เป็นกำลังในการวัด
ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวัด
ร่วงโรยไป พระปลัดเรืองถึงมรณภาพเสียแต่ในครั้งยังเสด็จอยู่
พระศรีวิสุทธิวงศ์ (โสภิโต ฟัก) แลพระปลัดทัด ลาสิกขาเสียในครั้งนี้
(หมายถึงครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงครองวัด)
คงมีแต่ พระสาสนโสภณ คือพระอมรโมลี (สา ปุสฺสเทโว)
ผู้กลับเข้ามาอุปสมบทอีก ได้เป็นกำลังใหญ่ในการพระศาสนา
พระผู้สามารถในการเทศนาโดยฝีปากมีน้อยลง

ท่านจึงแต่งหนังสือเทศน์ขึ้นไว้สำหรับใช้อ่านในวันธัมมัสสวนะปกติและในวันบูชา
ได้แต่งเรื่องปฐมสมโพธิย่อ ๓ กัณฑ์จบ
สำหรับถวายเทศนาในวันวิสาขบูชา ๓ วันๆ ละกัณฑ์
และเรื่องจาตุรงคสันนิบาตกับโอวาทปาติโมกข์
สำหรับถวายในวันมาฆบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เป็นอันได้รับพระบรมราชานุมัติ ยังได้รจนาเรื่องปฐมสมโพธิพิสดาร
สำหรับใช้เทศนาในวัด ๒ คืนจบอีก”


พระนิพนธ์ต่างๆ ที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงรจนาขึ้น
แต่ครั้งยังเป็นที่ พระสาสนโสภณ ดังกล่าวมาข้างต้นนี้
ได้เป็นหนังสือสำคัญในการเทศนาและศึกษาเล่าเรียน
ของพระภิกษุสามเณรสืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ภาพถ่าย ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖
จากซ้ายไปขวา ๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช
๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ
๓. พระสุคุณคณาภรณ์ (นิ่ม) วัดเครือวัลย์
๔. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระราชอุปัธยาจารย์
๕. พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
๖. พระพิมลธรรม (สมเด็จพระวันรัต ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร
๗. พระอริยมุนี (พระพรหมมุนี เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาส
๘. พระพรหมมุนี (สมเด็จพระพุฒาจารย์ ศรี) วัดปทุมคงคา
๙. พระสาสนโสภณ (สมเด็จพระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์ พระราชกรรมวาจาจารย์



เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ รูปแรก

ครั้น พ.ศ. ๒๔๐๘ เมื่อการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ เสร็จแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้อาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แต่ครั้งยังเป็นที่ พระสาสนโสภณ
จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาครองวัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
พร้อมด้วยพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารอีก ๒๐ รูป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แห่จากวัดบวรนิเวศวิหารมาวัดราชประดิษฐ์ฯ
เมื่อเดือน ๘ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗
ตรงกับเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๐๘
และได้รับพระราชทานเปลี่ยนตาลปัตรเป็นตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรม
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้