|
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2014-5-7 11:24
พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร รูปที่ ๖
ได้บันทึกความเห็นในเรื่องการสถาปนาพระอารามนี้ มีใจความตอนหนึ่งว่า
การสร้างวัดในภูมิลำเนาเดิมนอกจากเป็นการกุศลแล้ว
ยังเป็นเกียรติแก่สกุลวงศ์ด้วย ธรรมดาของสัญชาตญาณของบุคคล
เมื่อได้บรรลุอิทธิพลในถิ่นอื่น ย่อมจะคำนึงถึงถิ่นเดิมของตน
เมื่อเป็นโอกาสมักจะประกอบกิจการเป็นพิเศษอะไรขึ้นสักอย่างหนึ่ง
ในภูมิลำเนาเดิมของตนหรือของบรรพบุรุษเพื่อเป็นอนุสรณ์
หรือเป็นที่ชื่นชมแก่มวลญาติมิตรชาวถิ่นนั้น
การสถาปนาพระอารามในครั้งนั้น
ได้ทำการรื้อถอนเสนาสนะและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ดั่งเดิม
ที่อยู่ภายในเขตออกไปทั้งหมด ทดแทนด้วยถาวรวัตถุของใหม่ขึ้นมาแทนที่
มีเพียง พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาในพระวิหารตอนหลัง
และ ระฆังอีกหนึ่งใบ เท่านั้น ที่เป็นของดั่งเดิมมีมาแต่โบราณ
ถาวรวัตถุและเสนาสนะต่างๆ ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ครั้งนั้นประกอบไปด้วย
แนวกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออก ความยาวประมาณ ๗๗.๗๐ เมตร
ด้านทิศตะวันตกความยาวประมาณ ๔๗.๒๘ เมตร
และทิศใต้ความยาวประมาณ ๔๗.๒๘ เมตร
แนวกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก มีศาลาซุ้มประตู
มีเฉลียงโดยรอบเหนือประตูเดิมเขียนลายรูปพระพุทธบาท
ประกอบด้วยลายลักษณ์ อัตถุตรสตมหามลคล เรียกว่า ศาลาพุทธบาท
ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จประพาสไม่ทรงโปรดลายรูปพระพุทธบาทนี้
ทางวัดจึงใช้ผ้าทายางผลึกเอาไว้ แล้วฉาบปูนเคลือบอีกชั้นหนึ่ง
ซึ่งศาลาดังกล่าวนี้ ต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง
เช่น ในสมัยหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร เป็นเจ้าอาวาส ๑ ครั้ง
สมัยพระวิเชียรกวี (ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาส ๒ ครั้ง
นอกกำแพงแก้วด้านนี้มี พระเจดีย์คู่
ชั้นประทักษิณสัญฐานแปดเหลี่ยม มีบันไดขึ้นลงเฉพาะด้านหน้า
นอกจากนี้แล้ว แนวกำแพงแก้วด้านอื่นๆ
จะประกอบด้วยศาลาซุ้มประตูมากน้อยแตกต่างกันไปตามขนาด
ถาวรวัตถุภายในเขตกำแพงแก้ว
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนตามลักษณะศิลปะของยุคนั้นโดยแท้
ด้วยฝีมือของช่างหลวง ประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามอลังการ
สมดังเป็นพระอารามหลวง โดยเป็นชนิดมุขอัด ๕ ห้อง เฉลียงรอบมีเสาหารรับ
พนักระวาง เสากรุกระเบื้อง ปรุหลังคามุขลดชั้นหนึ่ง ปีกลดชั้นคอสอง
และชั้นเฉลียง รวม ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ (เปลี่ยนตอนหลัง) ช่อฟ้าหน้าบัน
ประดับกระจก พื้นปูหินอ่อน ประตูด้านหน้า ๒ ด้านหลัง ๒ หน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง
กรอบประตูหน้าต่างปั้นลวดลายประกอบ กรอบเช็ดหน้าปิดทองทึบ
ในบานด้านนอก เขียนลายรดน้ำ รูปทรงกระทิน ด้านในลงพื้นฝุ่นน้ำมัน
เขียนลายทองประเภทช่อพะเนียง ผนังด้านในเขียนลายทองประเภทดอกไม้ร่วง
มีลายคอสอง โดยรอบเพดานลงชาดโรยดาวทอง ขื่อเขียนลายตาสมุก
ปลายขื่อ ๒ ข้างเขียนลายกรวยเชิงทับ หลังประตูหน้าต่างประกอบกรอบกระจก
ไม้จำหลัก ลายปิดทองหมู่ ๓ เขียนลายห้อนักโก้ บันไดขึ้นลงต่อกับชาลา
ด้านข้างด้านละ ๒ บันได ซุ้มสีมารอบพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน
ประดิษฐานในสีมาสิลาจำหลักซุ้มละ ๑ คู่
ด้านกว้าง ๑๓.๑๕ เมตร ยาว ๒๐.๔๐ เมตร สูง ๑๖ เมตรเศษ
ชุกชีที่ประดิษฐาน พระประธาน เป็นฐานแว่นฟ้า ๒ ชั้น ฐานพระ ๑ ชั้น
แบบชุกชีในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนฯ
แต่ย่อส่วนให้เล็กลงพอเหมาะแก่ขนาดพระอุโบสถ
ก่อย่อไม้ ๑๒ ปั้นลายปิดทองประดับกระจก
ชั้นต้นประดิษฐานพระสาวก ๓ องค์ ชั้นสอง ๒ องค์
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโบราณฝีมือช่างยุคสุโขทัย
หล่อด้วยโลหะประเภทสัมฤทธิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัย
ส่วนสูงจากทับเกษตรถึงปลายพระเกศ ๙๘.๔๒ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๗๐.๘๖ นิ้ว
ทำจารึกอักษรไทยโบราณที่ฐาน อ่านโดย นายฉ่ำ ทองคำวรรณ
ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณ กรมศิลปากร ได้ความดังนี้
“แต่แรกตั้งพระเจ้าองค์นี้ ศาสนาได้ ๑,๙๖๖ ปี
ในปีเถาะ สามเดือน ในเดือนแก้ว ยี่สิบสี่วัน ในวันอาทิตย์
พ่อพระยาเจ้าไทย พ่อขุนเมดทาเจ้า
(นายฉ่ำ ทองคำวรรณ ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็น เมธาเจ้า)
และไว้ให้นายลก คงลำเรอ เป็นข้าพระเจ้านี้
ชั่วลูก ชั่วหลาน แต่สิ้นศาสนาพระเป็นเจ้าแล”
เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า พระประธานในพระอุโบสถ
ซึ่งเป็นปัจจุบันถวายพระนามว่า “พระพุทธปฏิมากร”
สร้างโดย เจ้านายราชวงศ์พระร่วง ในราวปี พ.ศ. ๑๙๖๖ ยุคสุโขทัยตอนปลาย
ได้มีการจัดผู้ดูแลรักษาคือ นายลก คงลำเรอ
และระยะเวลาดังกล่าว อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้สถาปนาขึ้นมาแล้ว ๗๓ ปี
ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช (พ.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๖๗)
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเดิมองค์พระประธานประดิษฐานที่ใด
ก่อนจะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังพระอารามแห่งนี้
แต่มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปในจำนวน ๑,๒๔๘ องค์
ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
โปรดให้อัญเชิญลงมาจากวัดร้างในเมืองสุโขทัย และได้บูรณะสมบูรณ์งดงามดีแล้ว
จึงได้โปรดพระราชทานมาประดิษฐานยังวัดหนัง แต่เมื่อครั้งยังเป็นวัดราษฎร์
พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ
ก่อสร้างด้วยศิลปะตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีขนาดทรงจิตรกรรมอย่างเดียวกับพระอุโบสถ ที่ต่างกันคือมีประตูด้านละ ๑ ประตู
กับภายในก่อเป็นสายบัวกระเบื้องปรุกั้นกลางเป็น ๒ ห้อง เดินถึงกันไม่ได้
ห้องหน้าก่อชุกชียาวเต็มส่วนกว้าง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเรียงเป็นแถว ๕ องค์
ส่วนห้องหลังประดิษฐาน “พระพุทธรูปศิลา” พอกปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัย
สูงสุดพระรัศมี ๒.๖๔ เมตร ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๑๐ เมตร
พระพุทธรูปศิลา พระประธานองค์นี้สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระประธานของวัด
และพระวิหารก็สันนิษฐานว่าเป็นพระอุโบสถเก่า ก่อนที่จะถูกบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระปรางค์ ประดิษฐานอยู่ระหว่างกลางพระอุโบสถกับพระวิหาร
มีความสูง ๒๒.๓๐ เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๓.๖๐ เมตร
มีลานประทักษิณ ๓ ชั้นเป็นรูปแปดเหลี่ยม
ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ สามารถมากราบสักการะกันได้
โดยบริเวณหน้าพระปรางค์นั้นมีแท่นหินประกอบเป็นรูปเก้าอี้จีนอยู่ ๑ แท่น
เรือนไฟหิน ๑ คู่ ตุ๊กตาหินนักรบจีนโบราณ ๑ คู่
โดยของเหล่านี้เป็นของพระราชทานจาก รัชกาลที่ ๓ นั่นเอง
พระเจดีย์คู่ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหาร
เป็นทรงย่อไม้สิบสองประดับด้วยกระจกสีทอง
พระเจดีย์สี่มุม บริเวณมุมกำแพงของพระอุโบสถ
และพระวิหารมาบรรจบกันทั้ง ๔ มุม ก่อเป็นฐานประทักษิณสูง
ขั้นถัดไปจึงเป็นองค์พระเจดีย์ทรงย่อไม้สิบสอง
ศาลาราย ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้ว ด้านทิศเหนือและทิศใต้
มีด้านละ ๒ หลัง ส่วนด้านทิศตะวันออกมี ๔ หลัง
|
|