ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1702
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ความเชื่อของพุทธมามกะ

[คัดลอกลิงก์]
ฉันปฏิญาณว่า ฉันมีความเชื่ออย่างพุทธมามกะ ซึ่งอาจจะแตกต่าง
จากความเชื่อของชนเหล่าอื่น
ความเชื่อของพุทธมามกะ นั้นคือ


๑) พุทธมามกะ เชื่อโดยตรงต่อเหตุผล และด้วยความเป็นผู้อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผล ข้อนี้ย่อมทำให้ความเชื่อของฉัน มีพอเหมาะพอสม ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และเคียงคู่กันไปกับปัญญา พุทธมามกะ ถือกันเป็นแบบฉบับว่า การเชื่องมงาย เป็นสิ่งที่ น่าอับอายอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นจุดรวมแห่งความนับถือ ของพุทธมามกะนั้น เป็นผู้ที่รู้ และดำเนินไป ตามหลักแห่งการใช้เหตุผล จึงเป็นผู้กำจัดความงมงายของโลก

๒) พุทธมามกะ เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ได้บ่มพระองค์เอง มาเป็นเวลาเพียงพอ จนสามารถลุถึงด้วยพระองค์เอง และทรงชี้ทางให้มนุษย์ มีความสะอาด ความสว่างและความสงบเย็น ได้จริง
เมื่อได้ พิจารณาดูประวัติแห่งคำสอน และการกระทำของพระองค์แล้ว คนทุกคน แม้กระทั่งผู้ที่ไม่นับถือพระองค์ ก็ย่อมเห็นได้ทันทีว่า พระองค์เป็นผู้ที่สมบูรณ์ ด้วยความสะอาด ความสว่าง และความสงบถึงที่สุด จนสามารถสอนผู้อื่นในเรื่องนี้ ธรรมะ ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุนั่นเอง ทำพระองค์ให้ได้นามว่า พระพุทธเจ้า

๓) พุทธมามกะ เชื่อว่า พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุ และนำมาสอนนั้น คือความจริงอันตายตัวของสิ่งทั้งปวง อันมีอำนาจที่จะบันดาลสิ่งทั้งปวงให้เป็นไปตามกฏนั้น และโดยเฉพาะที่มีค่าต่อมนุษย์มากที่สุด ก็คือ กฏความจริง ที่รู้แล้ว สามารถทำผู้นั้น ให้ปฏิบัติถูกในสิ่งทั้งปวง และ พ้นทุกข์สิ้นเชิง พระธรรมนี้มีอยู่
สำหรับให้ มนุษย์เรียนรู้ และทำตาม จนได้รับผลจากการกระทำ เป็น ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง ทั้งทางกาย และ ทางใจ

๔) พุทธมามกะ เชื่อว่า พระสงฆ์ คือบรรดามนุษย์ที่มีโชคดี มีโอกาสก่อนใคร ในการได้รู้ ได้ปฏิบัติ และได้รับผลของการปฏิบัติ ในพระธรรม ถึงขนาดที่พ้นจากทุกข์ ยิ่งกว่าคนธรรมดา ด้วยความแนะนำของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ จึงเป็น ผู้ที่ควรได้รับการนับถือ และถือเอาเป็นตัวอย่าง และเป็นที่บำเพ็ญบุญ ของผู้ที่ประสงค์จะได้บุญ ใครๆ ก็อาจเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริงได้ ไม่ว่า ชายหญิง บรรพชิต หรือฆราวาส เด็ก หรือผู้ใหญ่ มั่งมี หรือ ยากจน คนเป็นพระสงฆ์ ได้ด้วยการประพฤติ และการบรรลุธรรม ที่มีอยู่ในตัวเขา ไม่ใช่เพราะการเข้าพิธี หรือ การเสกเป่า ต่างๆ

๕) พุทธมามกะ เชื่อว่า โลกนี้ไม่มีบุคคลใดสร้าง หรือ คอยบังคับให้เป็นไป หากแต่เป็นสิ่งที่หมุนเวียนไปเอง ตาม กฏของสังขารธรรม คือ กฏธรรมชาติ อันประจำอยู่ในส่วนต่างๆ ที่ประกอบ กันขึ้นเป็นโลก มันเป็น กฏธรรมดา หากแต่ว่า มีบางสิ่งบางอย่าง ลึกลับ ซับซ้อน ประณีต และมหัศจรรย์ พอที่จะทำให้คน บางพวกหลงไปว่า มีผู้วิเศษคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆ เมื่อมนุษย์ เรามีความรู้เท่าทัน ความเป็นไป ของสิ่งเหล่านี้ ได้มากเพียงใด ก็สามารถ ปรับปรุงตนเอง ให้ได้รับ ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น หรืออยู่กันได้
ด้วยความผาสุก มากเพียงนั้น ไม่ต้องมีคัมภีร์ ซึ่ง อ้างว่าส่งมาจากสวรรค์ คงมีแต่คัมภีร์ ที่คนผู้เข้าถึงธรรมะแล้ว รู้เห็นได้อย่างไร ก็บอกไปอย่างนั้น จนผู้อื่นสามารถเข้าถึงธรรมะได้ อย่างเดียวกันก็พอแล้ว เราเรียกคนเหล่านั้นว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

๖) พุทธมามกะ เชื่อว่า มนุษย์แต่ละคนล้วนมีกรรม หรือการกระทำของตนเอง เป็นเครื่องอำนายความสุข และ ความทุกข์ แล้วแต่ว่า เขาได้ทำไว้อย่างไร ในขณะที่แล้วมา ทุกคนมีกรรม เป็นของตนเอง เป็นเครื่องปรุงแต่งตัวเอง บังคับความเป็นไปของตัวเองโดยเด็ดขาด จนกล่าวได้ว่า เรามีกรรมนั่นแหละเป็นตัวเราเอง
ถ้าเขาอยากมีหรืออยากอยู่ในโลกที่งดงาม เขาก็ต้องทำกรรมดีโดยส่วนเดียว ถ้าเขาเบื่อต่อการเป็นอยู่ในโลกทุกๆ แบบ เขาก็มีวิธีทำให้จิตใจของเขาสูงพอที่จะไม่ทำอะไรๆ ให้เป็นกรรม อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมาได้
และอยู่เหนือกรรม โดยประการทั้งปวง ผู้ที่ทำกรรมชั่วไว้ จักต้องได้รับโทษ หรือ มีการทำคืนที่สมควรแก่กันเสียก่อน จึงจะพ้นจากกรรมชั่วนั้น เว้นเสียแต่ เขาได้ทำกรรมดีไว้มากอีกทางหนึ่ง ถึงกับช่วยให้เขามีจิดใจสูง พ้นอำนาจของกรรมไปเสียก่อน ที่มันจะให้ผลได้

๗) พุทธมามกะ เชื่อว่า ตัวแท้ของศาสนานั้น คือ ตัวการกระทำที่ถูกต้อง ตามกฏแห่งความจริง จนได้รับผลของการกระทำ เป็นความสะอาด ความสว่าง และ ความสงบ จริงๆ หาใช่เป็นเพียงคัมภีร์ หรือ คำสั่งสอน หรือการสวดร้องท่องบ่น วิงวอน บวงสรวงไม่
พุทธมามกะ มีศาสนาของตนๆ อยู่ที่ กาย วาจา ใจ อันสะอาด ของตนเอง ความสะอาด ความสว่าง และ ความสงบ นี้ คือ ความหมาย อันแท้จริง ของคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งที่แท้ ทั้งสามองค์ เป็นองค์เดียวกัน พุทธมามกะ จึงทำใจของตน ให้ปักดิ่ง ลงที่ ความสะอาด ความสว่าง และ ความสงบ เท่านั้น
ทั้งหมดนี้ คือ ความเชื่อ ๗ ประการ ของพุทธมามกะ


พุทธทาสภิกขุ
๒๖ สิงหาคม ๒๔๙๘

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้