ฝ่ายโทณพราหมณ์เมื่อคลำหาพระเขี้ยวแก้วไม่พบ จึงได้ขอตุมพะทะนานทองที่ใช้สำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุไปก่อสถูปบรรจุไว้สักการะ มีนามว่า “ตุมพสถูป”ต่อมากษัตริย์โมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว จึงส่งราชทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง แต่เมื่อทราบว่าพระบรมสารีริกธาตุได้ถูกแบ่งไปยังนครต่าง ๆ หมดแล้ว จึงได้นำพระอังคาร (เถ้า) กลับสู่พระนคร สร้างสถูปบรรจุเป็นสถานที่สักการะบูชา มีนามว่า "พระอังคารสถูป"เมื่อต้นปฐมกาล จึงมีพระสถูปเจดีย์สถานเป็น 10 ตำบลด้วยกัน ด้วยประการฉะนี้
เกี่ยวกับพระเขี้ยวแก้วทั้ง 4 ของพระพุทธเจ้า ตำนานกล่าวว่า
องค์บนเบื้องขวา ประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์จุฬามณีบนดาวดึงสเทวโลก
องค์ล่างเบื้องขวา ไปอยู่ ณ แคว้นกาลิงคะ แล้วต่อไปยังลังกาทวีป (เชื่อกันว่า เป็นพระเขี้ยวแก้วองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีดาลาดามาลิกาวา [Sri Dalada Maligawa, Temple of the Tooth Relic] เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)
องค์บนเบื้องซ้าย ไปอยู่ ณ แคว้นคันธาระ
องค์ล่างเบื้องซ้าย ไปอยู่ในพิภพของพญานาค
พระทนต์ พระเกศา พระโลมาทั่วพระวรกาย และพระนขา เทพยดาในหมื่นจักรวาลนำไปบูชาจักรวาลละองค์
กล่าวถึง “ทุสสเจดีย์” บนพรหมโลก ในไตรภูมิพระร่วง และในปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวไว้ตรงกันว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกทรงผนวช “ฆฏิการมหาพรหม”ผู้เป็นสหายกับพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นโชติปาลมาณพ ในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า นำบริขาร 8 จากพรหมโลกมาถวายพระโพธิสัตว์ และรับพระภูษาคฤหัสถ์ทั้งคู่ขึ้นไปบรรจุไว้ใน “ทุสสเจดีย์”
พรหมโลก อยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นที่ 6 อีกมาก มีอยู่มากชั้นซ้อน ๆ กันขึ้นไป แบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ รูปพรหม และ อรูปพรหม คำว่า พรหม ท่านแปลว่า เจริญ รุ่งเรือง หมายความว่า เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณวิเศษ มีฌาน เป็นต้น
ตามคติทางพระพุทธศาสนาอธิบายว่า ผู้ที่ทำสมาธิจนบรรลุถึงรูปฌานคือ ฌานที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ รูปฌานนั้นย่อมมีวิบากให้ไปเกิดเป็นรูปพรหม ส่วนผู้ที่ทำสมาธิสูงขึ้นไปกว่ารูปฌานคือ ทิ้งรูปนิมิต กำหนดอรูปนิมิตคือนิมิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จนได้บรรลุอรูปฌานคือฌานที่มีอรูปนิมิตเป็นอารมณ์ ฌานนั้นก็มีวิบากให้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม
ทุสสเจดีย์ประดิษฐานอยู่บนพรหมโลกชั้นอกนิฏฐา ซึ่งเป็นภูมิสุทธาวาสชั้นห้า เป็นนิวาสภูมิของท่านผู้บริสุทธิ์คือพระอนาคามีและพระอรหันต์พระอริยบุคคลชั้นอนาคามีในโลกนี้สิ้นชีวิตแล้ว ท่านว่าไปเกิดอยู่ในชั้นสุทธาวาส และจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่มีกลับลงมาอีก
คำว่า ทุสสเจดีย์ แปลว่า เจดีย์ผ้า คงหมายถึงเป็นที่บรรจุผ้าคือพระภูษาของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งทรงผนวชดังกล่าวมาข้างต้น
| กษัตริย์ เทพยดา และพรหม ในโลกทั้งสาม
ได้อัญเชิญสิ่งอันเป็นสัญญลักษณ์แทนความเป็นพระพุทธเจ้า
ไปประดิษฐานในภพของตน เพื่อถวายความเคารพสักการบูชาสูงสุด | ต่อมาในคราวปรินิพพานก็ได้มีเรื่องเกี่ยวกับ “ทุสสเจดีย์” อีก ในปฐมสมโพธิกถากล่าวว่า พระเขี้ยวแก้วองค์บนเบื้องขวากับพระรากขวัญเบื้องขวาขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในจุฬามณีเจดีย์ ส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิส ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์
แล้วเรื่องทั้งหลายก็มาจบลงด้วยสัจจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอว่า
"... สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะมีเหตุ สิ่งนั้นย่อมดับไปเมื่อเหตุดับ
สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด..."
บัดนี้ พระพุทธองค์ดับแล้ว ดับอย่างหมดเชื้อ ทิ้งวิบากขันธ์และกิเลสานุสัยทั้งปวง
ประดุจกองไฟดับลงแล้ว เพราะหมดเชื้อฉะนั้น ฯ
|