|
หลักการสำคัญที่จะทำให้การเชื่อมบุญกับเทวดานั้นสำเร็จ ตามที่เราปรารถนานั้น คือ ตัวเราเองต้องมีบุญเสียก่อน ถึงจะเชื่อมบุญได้ การที่จะมีบุญได้มีอยู่วิธีทางเดียว คือการที่เราต้องสร้างบุญขึ้นมา
การสร้างบุญใหญ่ๆ ในทางพระพุทธศาสนามีหลักสำคัญก็คือการบำเพ็ญบุญ 3 อย่างที่กล่าวไปแล้ว คือ ให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา
จากวิธีการสร้างบุญดังกล่าวทั้ง 3 วิถีทางตามแนวทางหลักของพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะทำอะไรก็ได้บุญที่ยิ่งใหญ่แตกต่างกันไป ลองทบทวนดูครับว่าตอนนี้เราได้ประกอบคุณงามความดีพร้อมที่จะเป็นผู้มีความดี มีบุญในตัวแล้วหรือยัง
หลังจากที่ได้ทำบุญคือเป็นทั้งผู้ที่เกือบมีความดีเสมอท่านแล้ว รู้จักหน้าค่าตากันแล้วอย่างสุดท้ายที่ต้องทำก็คือเอาส่งไปให้ท่านเทวดาทั้งหลายครับ เหมือนกับเวลาที่เรารู้จักคนหนึ่งคนที่คิดว่าเขาจะให้ความช่วยเหลือเราได้ เขาต้องมีอะไรดีๆ มากกว่า, รู้จักหน้าค่าตารู้หัวนอนปลายเท้าแล้วว่าเราเป็นใคร สุดท้ายก็ต้อง หยิบยื่นน้ำใจไมตรีให้เขาก่อนเขาถึงจะช่วย ดังคำกล่าวที่ว่า
“ผู้ที่ให้จึงจะเป็นผู้ที่ได้รับ”
การเชื่อมบุญหัวใจสำคัญก็ตรงนี้แหละครับยื่นส่งบุญให้เทวดาอย่างไร ก็คือการ “อุทิศ”ส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ท่าน การอุทิศบุญกุศลนี้จะว่าไปก็เป็นหนึ่งบุญและคุณงามความดีอีกอย่างหนึ่งตามหลักบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการข้อที่ว่าด้วย “ปัตติทานมัย” เป็นการบอกให้ทราบและรับเอาบุญนั้นไปใช้ได้ทันที
คุณผู้อ่านเคยได้ยินพระท่านบอกใช่หรือเปล่าครับว่าทำบุญเสร็จแล้วให้รีบอุทิศบุญให้คนอื่นไปด้วยทั้งคนทำทั้งคนรับได้เหมือนกันหมด เหมือนจุดเทียนไว้เล่มหนึ่งแล้วต่อเทียนกันไปคนให้บุญก็ไม่หมดและเป็นแสงสว่างให้คนอื่นใช้ประโยชน์ได้ด้วย
ผู้ที่เราควรจะส่งบุญไปให้ได้ก็ได้แก่ พ่อแม่,ญาติพี่น้อง, ครูบาอาจารย์, เหล่าเทพเทวดาและเทวดาประจำตัว เหล่าเปรตและภูตผีปิศาจ เจ้ากรรมนายเวร และสุดท้ายคือสัตว์โลกทั้งหลายอีกมากมายที่ไม่อาจกล่าวถึงได้หมดให้ได้รับบุญไปด้วย
“อิทัง สัพพะเทวานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา”
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข
ประโยคนี้แหละครับเป็นจุดสำคัญและจุดสิ้นสุดของการเชื่อมบุญให้เทวดาได้รับบุญนั้นไป ทีนี้ทั้งฐานะ ทั้งรูปร่างหน้าตาหัวนอนปลายเท้า และคุณงามความดีที่มอบส่งให้แก่กันเราก็ได้ทำไปหมดแล้ว ท่านเหล่าเทวดาได้รู้จักเราแล้ว เวลาที่เราเกิดเรื่องราวเดือดร้อนอะไรก็ตาม ท่านก็จะมาช่วยเราได้อย่างแน่นอน
เสริมตรงนี้ทิ้งท้ายไว้อีกหน่อยครับ เรื่องการส่งบุญให้เทวดาท่านนั้นหากคุณไม่แน่ใจว่าจิตของตนเองจะมีกำลังไม่กล้าแข็งพอ ก็มีอุปกรณ์เสริมในการส่งบุญไปให้ ซึ่งไม่ใช่ของหายากอะไรเลยนั่นคือ “น้ำ” ครับ
การหลั่งน้ำหรือกรวดน้ำมีความหมายว่า ผลบุญที่เราส่งไปให้ท่านเทวดานี้จะได้ไหลติดต่อกันแบบไม่ขาดสายผู้รับก็จะรับบุญได้อย่างไม่ขาดระยะเป็นไปได้ด้วยความราบรื่นเปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทรที่ไม่มีวันขาดสายครับ ทีนี้ผลบุญก็จะส่งไปถึงเหล่าเทวดาได้เต็มๆ ไม่มีการขาดห้วง
การกรวดน้ำที่ต้องใช้น้ำกรวด เพราะถือกันตามประเพณีนิยมที่ได้ปฏิบัติสืบๆ กันมาเวลา
ที่เราทำบุญสร้างบุญแล้ว พระภิกษุท่านก็จะโมทนาบุญว่า
“ยะถา วาริวหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง ห้วงน้ำที่เต็ม, ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด
เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ ทานที่ท่านได้อุทิศให้แล้วแก่โลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ละโลกนี้ไปแล้วฉันนั้น
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สมิชฌะตุ ขออิฐผลที่ท่านได้ปรารถนาแล้วตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยพลัน
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา ขอให้ความดำริทั้งปวงจงเต็มที่ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ
มะณี โชติระโส ยะถา เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสว ควรยินดี”
พิจารณาจากคำที่พระท่านกล่าวทุกทีที่เราทำบุญใส่บาตรหรือถวานสังฆทานหรือทำบุญใดๆ แล้วความหมายตรงกันเลยใช่หรือไม่ครับ
คาถานี้เรียกว่า อนุโมทนารัมภะคาถาหรือว่า “บทกรวดน้ำ” นั่นเอง
ถ้าเราเองไม่แน่ใจว่าจิตเราจะมีพลังกล้าแข็งพอจะส่งบุญให้ท่านเทวดาทั้งหลายถึงหรือไม่ก็ใช้การอธิษฐานจิตพร้อมกับการกรวดน้ำไปให้ท่านครับรับรองว่า บุญกุศลนั้นได้ไปถึงแน่นอน
|
|