ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ลพ.โต. บางกระทิง

[คัดลอกลิงก์]
ครั้งล่าสุดที่ทำให้ Jorawis ประจักษ์แจ้งถึงพุทธคุณของพระเครื่องนั้น เกิดเมื่อประมาณ7-8 ปีที่ผ่านมานี้เองจ้า  จำได้ว่าเป็นช่วงใกล้สิ้นปีเต็มที ตอนนั้นน้องชายคนนึงที่รักกันมาก เกิดอยากจะได้พระหลวงพ่อโตกรุบางกระทิงไว้อาราธนาติดตัวซักองค์  หลังจากที่พยายามหาพระแท้ดูง่าย สภาพพอสวยราคาไม่สูงนักตามใบสั่ง ก็เดินหาไปเรื่อยจนไปพบเข้าองค์นึง  เมื่อได้มาแล้วจึงแจ้งให้เจ้าน้องคนนั้นทราบ แล้วก็เลยนัดกันว่าจะไปส่งให้ถึงบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากกันมากนัก และเคยไปมาหาสู่กันบ่อยๆ ทีนี้ไอ้ช่วงเวลานั้นใครๆ ก็วิ่งส่งของเพื่อให้ได้รับทันก่อนวันปีใหม่  ช่วงระยะทางจากบ้านของ Jorawis ไปยังบ้านน้องที่ต้องไปส่งพระ ก็ต้องผ่านบ้านญาติของ Jorawis อีกคนที่คิดไว้ว่าจะไปส่งของขวัญปีใหม่ให้ทัน เมื่อคิดได้ดังนี้ งั้นอย่าให้เสียเที่ยวเลย ออกจากบ้านครั้งเดียวแวะไปส่งของได้ 2 บ้านก็น่าจะดี ว่าแล้วก็รีบกระหืดกระหอบออกจากบ้านเพราะเวลามีจำกัด จนลีมคล้องสร้อยพระที่อาราธนาอยู่เป็นประจำออกไปด้วย  คนเราเวลามีเคราะห์มักจะมองข้ามความปลอดภัยหรือประมาทเลินเล่อเสมอ
หลังจากจอดรถที่หน้าบ้านของญาติคนนี้ Jorawis จึงสอดมือเข้าไปล้วงกลอนเพื่อเปิดประตูตามความเคยชิน เนื่องจากบ้านนี้ไม่เคยมีหมา  ทั้งๆ ที่เจ้าของรักน้องหมาเป็นชีวิตจิตใจ แต่มีอาชีพการงานที่ต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลาจนไม่อาจมีสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้านให้เป็นภาระได้ เมื่อแง้มประตูบ้านขณะที่กำลังจะเปิดประตูก้าวเข้าบ้าน พลันหูก็ได้ยินเสียงคำราม ด้วยสัญชาตญาณJorawis จึงยกแขนขึ้นกั้นระหว่างหน้ากับคอ  ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าก็คือ หมาร็อตไวเลอร์ ตัวดำมะเมี่อมไซส์ยักษ์ พุ่งหัวโตขนาดบาตรพระเพื่อขย้ำคอหอยตามสัญชาติญาณ เคราะห์ยังดีที่ Jorawis ยกแขนกั้นไว้ จึงโดนขย้ำแค่ช่วงท้องแขน  ขณะกำลังชุลมุนวุ่นวายกันอยู่นั้น  มีเสียงคุ้นหูตะโกนเรียกชื่อน้องหมาตัวขนาดลูกควายอยู่เป็นระยะ  ๆ ปล้ำกันอยู่พักใหญ่ น้องลูกควายจึงยอมเปิดปากปล่อยแขน Jorawis ให้เป็นอิสระ ญาติจึงพาไปล้างแผลที่มีแต่คราบน้ำลายเป็นฟองฟ่อดไปหมด น่าแปลกที่เมื่อล้างคราบน้ำลายจึงพบว่าที่ท้องแขนมีแต่รอยเขี้ยวเป็นหลุม แต่หนังไม่ขาดไม่มีเลือดออกซักหยด ซึ่งทั้งเนื้อทั้งตัวของ Jorawis มีเพียงพระหลวงพ่อโต กรุบางกระทิงในกระเป๋าเสื้อที่จะต้องไปส่งให้น้องเพียงองค์เดียวเท่านั้น  เมื่อสอบถามญาติถึงที่มาของน้องมาขนาดยักษืที่จู่ ๆ ก็โผล่ขึ้นมาจึงได้ถึงบางอ้อ ว่าเป็นหมาของข้างบ้านที่เจ้าของบ้านและครอบครัวบินไปฉลองปีใหม่กันในต่างประเทศ เลยฝากเลี้ยงไว้ชั่วคราวเพราะเห็นว่าคุ้นเคยกันดี  ความซวยต้อนรับปีใหม่ ส่งท้ายปีเก่าจึงตกมาอยู่กับJorawis ผู้มาส่งของขวัญ หลังจากล้างแขน ต่อจากนั้นหลายวันต่อมาจึงพึ่งสังเกตเห็นว่า ท้องแขนช่วงที่โดนขย้ำ เป็นรอยช้ำเป็นปื้น ๆ ใต้ผิวจนกลายเป็นสีม่วงช้ำไปซีกนึง ประมาณ 2-3 เดิอนจึงจางลง ที่น่าตกใจก็คือ หลังจากโดนขย้ำจนแขนเขียวช้ำ ซักอาทิตย์ กว่า ๆ Jorawis ต้องไปโรงพยาบาลเพราะหมอนัด

เมื่อหมอเห็นรอยช้ำจึงจับไปตรวจ และเข้าห้องเพื่อ X-Ray หลังการตรวจเสร็จสิ้นกระบวนการ จึงพบว่าบริเวณท้องแขนกล้ามเนื้อฉีกขาดจากแรงกัดและกระชากโดยไม่มีบาดแผลฉีกขาดเลยแม้แต่น้อย  งอมพระรามไปหลายเดือนกว่าจะหาย

          สาธุ!!!!! เชื่อสนิทใจแล้วจ้า ว่าพุทธานุภาพแห่งหลวงพ่อโต กรุบางกระทิง ท่านเด่นดังทางคงกระพันสมคำร่ำลือเลยจริงๆ

เชื่อว่าเพื่อน ๆ พี่ ๆ หลายต่อหลายคนได้ประสบพบพานมากันตนเอง  แบบเดียวกันกับที่ Jorawis เขียนมาจนยืดยาวและเล่าสู่กันฟังจากความทรงจำล้วนๆ หากมีข้อผิดพลาด ใด ๆ ก็ตาม ขออภัยมาไว้ ณ ที่นี้ด้วยจ้า
ขอเชิญทุกท่านที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับพุทธคุณของพระเครื่องต่างๆ ลองมาเล่าสู่กันฟัง อย่างน้อยก็เป็นการเผยแพร่ข่าวสารให้คนทั่วไปได้รับรู้ ว่าชาววงการพระฯนั้นไม่ได้มีความเชื่อแบบงมงาย  ไร้สาระ แต่เป็นความเชื่อที่มีพื้นฐานของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งยังมีหลักฐานสามารถสืบค้นเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ เช่นเดียวกับกระบวนการสรรหาและคัดกรองข้อมูลจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ และทุตติยภูมิ เพื่อบันทึกไว้ ตามหลักวิชาการทางสถิติ ไม่วาจะเป็นตัวบุคคล หรือ บางเรื่องมีการบันทึกไว้ลายลักษณ์อักษร มีลงพาดหัวหนังสือพิมพ์รายวันก็มี  ไว้เป็นการเผื่อแผ่ประสบการณ์สำหรับหลายคนที่ยังสงสัยใคร่รู้ หรือเพิ่งจะเริ่มต้นสะสม ให้ทราบว่าพุทธคุณของพระเครื่องที่เป็นที่นิยมเล่นหากันนั้นมีจริง อย่างน้อยก็อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ยอมเสียเวลากันเข้ามาอ่านกระทู้นี้จ้า



http://www.web-pra.com/Forum/Topic/Show/94260/Page/1
พระประวัติพระหลวงพ่อโต กรุบางกระทิง จ.พระนครศรีอยุธยา



เมืองกรุงเก่า หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น เด่นดังด้วยพระเครื่องกรุต่างๆที่สร้างสรรค์โดยฝีมือช่างอยุธยา มาตลอดเวลากว่า 400 ปีที่อยุธยาเป็นราชธานี พระกรุเก่าที่แฝงด้วยความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ และเปี่ยมด้วยคุณค่าความงามทางพุทธศิลป์ของอยุธยานั้น ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงเลื่องลือในหมู่นักนิยมสะสมพระเครื่องตลอดมาและในบรรดาพระเครื่องยอดนิยมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง จัดเป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับแนวหน้าอีกพิมพ์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับ กันมานาน เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของพระเครื่องเมืองอยุธยาเลยทีเดียว

ความจริงนั้น พระหลวงพ่อโต ได้พบกระจัดกระจายอยู่ทั่วตามกรุต่างๆ ทั้งในอยุธยา เช่น กรุวัดใหญ่ชัยมงคลกรุวัดมเหยงค์ กรุวัดมหาธาตุ กรุวัดราชบูรณะ กรุบึงพระราม และจังหวัดอื่นๆ เช่น ใน กทม.ได้พบที่กรุวัดหนัง วัดระฆัง วัดสระเกศ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังได้พบที่ นนทบุรี ปทุมธานี รวมไปถึงที่กรุวัดเหนือ จ.กาญจนบุรีก็ยังได้พบพระหลวงพ่อโตขึ้นกรุมาพร้อมกับพระท่ากระดานอีกด้วย ซึ่งเมื่อมีการเปิดกรุครั้งใดก็มักจะพบพระหลวงพ่อโตที่เป็นทั้งพระเนื้อดิน และพระเนื้อชินปะปนอยู่ในกรุเหล่านี้ด้วยเสมอ

ในจำนวนพระหลวงพ่อโตกรุต่างๆเหล่านี้ กรุพระหลวงพ่อโตที่ขุดพบ และมีความยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดนั้นได้แก่ "พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง" ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งที่นี่ได้พบพระหลวงพ่อโตจำนวนมากที่สุด อีกทั้งยังได้พบแม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์พระหลวงพ่อโตจำนวนมากบรรจุรวมอยู่ในกรุนี้ด้วย หลักฐานสำคัญดังกล่าวจึงทำให้เชื่อว่า ที่กรุบางกระทิงนี้ น่าจะเป็นแหล่งต้นกำเนิดของพระหลวงพ่อโต ส่วนพระที่พบในกรุอื่นนั้น น่าจะเป็นลักษณะของพระที่นำไปฝากกรุในภายหลัง

พระหลวงพ่อโต วัดบางกระทิง จะมีการแตกกรุออกมาเมื่อไรนั้นคงไม่มีใครทราบช่วงเวลาที่แน่ชัดนักเพราะเดิมทีนั้นได้มีผู้พบเห็นพระหลวงพ่อโตตกหล่นอยู่ตามบริเวณพื้นที่รอบๆวัดบางกระทิงมานานแล้วแต่ที่แตกกรุอย่างเป็นทางการและมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแน่นอน ก็คือเมื่อปี 2481 เนื่องจากวัดได้รื้อพระอุโบสถหลังเดิมเพื่อสร้างใหม่ จึงได้พบกรุพระหลวงพ่อโตเป็นจำนวนมากมายหลายหมื่นองค์ ซึ่งในครั้งนั้นทางวัดได้แจกจ่ายไปยังผู้ร่วมกุศลทีร่วมกันสร้างโบสถ์ จนเหลือพระอยู่ในราว 10 ปี๊ป ซึ่งพระที่เหลือจำนวนนี้ทางวัดได้นำไปบรรจุที่ฐานชุกชีพระประธานของพระอุโบสถหลังใหม่

ต่อมาในปี 2510 ได้มีมิจฉาชีพมาลักลอบขุดพระที่บรรจุไว้ที่ฐานชุกชีไปบางส่วน ทางวัดจึงได้นำพระจากใต้ฐานชุกชีที่เหลือขึ้นมาเพื่อป้องกันคนร้ายมาลักลอบขุดอีก และในครั้งนี้ก็ยังได้พบพระหลวงพ่อโตที่ฐานชุกชีอีกกรุหนึ่งโดยบังเอิญ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ทางวัดบรรจุไว้เมื่อคราวสร้างโบสถ์ พระหลวงพ่อโตที่พบใหม่นี้ มีจำนวนถึง 84000 องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ตามคติการสรางพระพิมพ์ในสมัยโบราณ และทางวัดได้ให้กรมศิลปากรมาตรวจพิสูจน์พระดังกล่าว กรมศิลปากรได้ลงความเห็นว่า พระหลวงพ่อโตที่พบใหม่โดยบังเอิญนี้ เป็นพระที่สร้างยุคหลังกว่าพระหลวงพ่อโตที่พบครั้งแรก นั่นคือ พระหลวงพ่อโตที่พบในครั้งแรกเป็นพระที่สร้างในสมัยอยุธยา ส่วนที่พบใหม่โดยบังเอิญนี้เป็นพระที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์

แม้ว่าจะเป็นพระที่สร้างต่างยุคต่างเวลากันก็จริงอยู่ แต่สำหรับวงการนักสะสมแล้ว พระหลวงพ่อโตกรุบางกระทิงทั้งสองยุค จะมีการสะสมรวมกันไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นพระยุคแรกหรือยุคหลัง เพราะเห็นว่าพุทธคุณที่ปรากฏก็เน้นหนักไปทางด้านคงกระพันเช่นเดียวกัน

พุทธลักษณะของพระหลวงพ่อโต เป็นพระประดิษฐานอยู่ในกรอบรูปสามเหลี่ยม ประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีทั้งปางสมาธิและปางมารวิชัย องค์พระนูนเด่นล่ำสัน พระพักตร์ใหญ่ด้วยลักษณะเด่นเช่นนี้ นักสะสมจึงถวายพระนามท่านว่า "พระหลวงพ่อโต" ส่วนมากแล้วรายระเอียดของเส้นสายลวดลายต่างๆทั้ง ปาก คอ คิ้ว คาง เส้นสังฆาฏิ มักติดพิมพ์คมชัดแทบทุกองค์ ส่วนขนาดนั้นก็แตกต่างลดหลั่นกันเล็กน้อย

พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง เท่าที่พบ จะเป็นพระเนื้อดินเผาทั้งสิ้น มีทั้งประเภทเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด พระที่แตกกรุเมื่อปี พ.ศ. 2481 ตามผิวพระจะไม่ปรากฏคราบกรุ หากแต่มีฝ้ากรุสีขาวหม่นเกาะจับประปราย โดยเฉพาะในองค์ที่ไม่ผ่านการสัมผัสจับต้องมากนักจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพกรุที่อัดแน่นไปด้วยทรายจึงเป็นตัวป้องกันความชื้นได้เป็นอย่างดี คราบกรุและราดำจึงไม่ปรากฏให้เห็นในพระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง

เนื้อหาของพระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิงนั้นมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสภาพของกรุที่พบ เช่น ในพระหลวงพ่อโตที่แตกกรุเมื่อปี 2481 ซึ่งเป็นพระในสมัยอยุธยานั้น ก็จะมีทั้งประเภทเนื้อที่ค่อนข้างแกร่ง และประเภทเนื้อที่ค่อนข้างฟ่าม แต่โดยรวมแล้วเนื้อของพระหลวงพ่อโตจะต้องไม่แกร่งจนกระด้างและเนื้อต้องแห้งอย่างมีน้ำมีนวล ลักษณะของเนื้อพระหลวงพ่อโต กรุบางกระทิงที่สร้างในสมัยอยุธยา จะมีส่วนของเม็ดทรายเม็ดกรวดเล็กๆ ตลอดจนเกล็ดทรายเงินทรายทองปะปนอยู่ในเนื้อ ลักษณะผิวพระจะไม่เรียบปรากฏเป็นรอยพรุนเป็นแอ่งคลื่นอยู่โดยทั่วไป

ส่วนเนื้อพระสมัยรัตนโกสินทร์ จะมีเนื้อละเอียด เม็ดกรวดเม็ดทรายน้อย และผิวพระค่อนข้างเรียบ มีฝ้ากรุหรือคราบละอองทรายสีขาวเกาะอยู่
ด้านหลังของพระหลวงพ่อโต ส่วนใหญ่มักมีรอยปาด ที่เรียกกันว่า "รอยกาบหมาก" รอยดังกล่าวนี้คือรอยอันเกิดจากการตกแต่งองค์พระด้านหลังด้วยการปาดเอาเนื้อส่วนที่นูนออกไป โดยที่เนื้อพระหลวงพ่อโตมีส่วนรอยดังกล่าวขึ้นมาผสมของเม็ดกรวดทรายอยู่ด้วย เมื่อถูกปาด เม็ดกรวดเม็ดทรายเหล่านี้ก็จะครูดดันไปกับเนื้อพระ ทำให้เกิดเป็นรอยดังกล่าวขึ้นมา

การพิจารณาพระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิงนั้น ผู้ชำนาญการหลายๆท่านแนะนำให้ พิจารณาจากเนื้อหาเป็นหลัก อย่าพยายามให้ความสำคัญกับจุดตำหนิพิมพ์ทรงมากนัก ที่เน้นให้ดูเนื้อหาของพระก็เพราะว่าเมื่อคราวเปิดกรุพระหลวงพ่อโตในปี 2481 นั้นได้พบแม่พิมพ์พระหลายชิ้นรวมอยู่ด้วย และแม่พิมพ์ส่วนหนึ่งก็ได้ออกไปอยู่กับพวกมือดีบางพวก ซึ่งได้ใช้แม่พิมพ์ดังกล่าวพิมพ์พระหลวงพ่อโตออกมาด้วย แน่นอนว่าพระปลอมอันที่เกิดจากแม่พิมพ์ชิ้นเดียวกันนี้ ก็ย่อมมีตำหนิและพิมพ์ทรงเหมือนกันกับพระแท้ทุกประการ แต่ส่วนที่พระปลอมยังทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีนักก็คือเนื้อหา และธรรมชาติความเก่าในเนื้อพระนั่นเอง เมื่อดูเนื้อหาความเก่าผ่านแล้วจึงค่อยมาดูตำหนิต่างๆดูอีกที อย่าลืมว่าพระหลวงพ่อโตนี้มีของปลอมระบาดมานานแล้ว มีทั้งปลอมจากแม่พิมพ์แท้ และปลอมจากการแกะแม่พิมพ์ออกมาใหม่ หรือไม่ก็ใช้วิธีการถอดพิมพ์ ซึ่งหากเป็น 2 วิธีหลังนี้การพิจารณาจุดตำหนิก็คงง่ายขึ้น


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้