ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5451
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สรีกัญไชย

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-7-30 05:52

“สรีกัญไชย”





คำนี้ เขียนตามอักษรธรรมล้านนา ออกเสียงว่า “สะ-หลี๋-กั๋น-ไจ” บางแห่งใช้ “สรีกัญชัย” ก็มี หมายถึงดาบวิเศษของพระโพธิสัตว์ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในนามของดาบศักดิ์สิทธิ์ ที่ครูบาอาจารย์พระเถระสังฆเจ้า ได้เมตตาสร้างไว้เป็นเครื่องรางทรงพุทธานุภาพ ปกป้องคุ้มครองบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ได้มีไว้สักการบูชา กล่าวได้ว่าเป็นที่สุดแห่งศาสตร์พระเวทย์ล้านนา เป็นวิชาชั้นสูงของภาคเหนือก็ว่าได้
ดาบชื่อนี้ เป็น ๑ ใน ๕ อย่างของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ล้านนา มีรูปลักษณ์ต่างกันออกไป เช่น เป็นดาบยาววาก็มี เป็นดังมีดน้อยก็มี หรือมีด้ามยาวอย่างง้าว ที่ใช้เป็นเครื่องเทียมยศพระพุทธรูป ปักเรียงกับละแอบังสูรย์ ทั้งหมดต่างเรียกขานว่า ดาบสรีกัญไชย และหากจะเทียบศักดิ์แห่งดาบนี้ คงทำนองเดียวกับพระแสงขรรค์ชัยศรีของภาคกลาง รูปแบบดาบโดยละเอียดเป็นอย่างไร เนื้อเหล็กเป็นอย่างไร ในเอกสารล้านนาไม่ได้พรรณนาไว้ รู้แต่ว่าเป็นของวิเศษคู่บุญพระโพธิสัตว์
หากจะพูดถึงที่มาที่ไปของดาบสรีกัญไชย  คงต้องนับย้อนไปถึงตำนานความเชื่อตามโบราณกาล ที่เล่าสืบทอดกันมาว่าพญาอินทร์ (พระอินทร์) หรือสักกะเทวราช ได้มีบัญชาให้พระเวสสุกรรมเทวบุตร ซึ่งเทพผู้เชี่ยวชาญงานช่างของสวรรค์ ลงมาตีพระขรรค์ถวายพระเกตุมาลา
ตามตำนานเล่าว่า พระเวสสุกรรมเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในงานช่าง ประกอบกับมีฤทธาอภินิหารพอตัว การตีดาบจึงไม่ใช่ธรรมดา ต้องใช้เหล็กถึงสี่หาบ นำมาผ่านพิธีการเผาตีไล่เนื้อเหล็ก และใช้ว่านยาซัด จนเหลือเป็นพระขรรค์เนื้อบริสุทธิ์เพียงเล่มเดียวมาถวายพระเกตุมาลา
ด้วยความไม่รู้ถึงพิธีกรรมที่พระเวสสุกรรมได้ตั้งอกตั้งใจทำพระขรรค์วิเศษเล่มนี้ขึ้น เมื่อพระเกตุมาลาเห็นดาบเล่มเดียวก็พาให้คิดว่าพระเวสสุกรรมมีจิตคิดไม่ซื่อ ฉ้อฉลเอาเนื้อเหล็กไปถึงสี่หาบแต่นำพระขรรค์เล่มเดียวมาถวายก็เลยออกปากต่อว่าพระเวสสุกรรม
แม้พระเวสสุกรรมไม่ได้พูดตอบโต้อย่างไร แต่ก็บังเกิดความน้อยใจลุกขึ้นลากพระขรรค์เล่มนั้นไปบนท้องพระโรง เกิดเป็นอัศจรรย์ คมพระขรรค์นั้นกล้านัก ผ่าท้องพระโรงแยกออกเป็นสองซีกในทันที จากนั้นเวสสุกรรมก็โยนพระขรรค์เล่มนั้นทิ้งลงไปในทะเลสาบ
ดาบสรีกัญไชย จึงจมอยู่ใต้ทะเลสาบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ตำนานต่อจากนี้ค่อนข้างจะสับสนและมีหลายกระแส ตามแต่ว่าผู้รจนาไว้เป็นชนชาติใด บ้างก็ว่าพระอินทร์ใช้อิทธิฤทธิ์เรียกเอาดาบสรีกัญไชยขึ้นมามอบให้กับเจ้าเมืองผู้มีบุญาธิการพระองค์หนึ่ง ซึ่งพระองค์ก็ได้ใช้เป็นอาวุธคู่พระวรกายจนสามารถรวบรวมผู้คนตั้งตนเป็นอาณาจักรขึ้นมา อาณาจักรที่ว่านี้ จะเป็นล้านนา ล้านช้าง จะเป็นชนชาติขอม มอญ พม่า ก็สุดจะเดาได้
บางสำนวนก็ว่า พระเกตุมาลาเห็นปาฏิหาริย์ของดาบสรีกัญไชยจึงได้ไปงมขึ้นมาใช้คู่พระวรกาย และสืบทอดมาจนถึงคนรุ่นหลัง กลายเป็นดาบคู่บ้านคู่เมือง เป็นเครื่องแสดงพระเกียรติยศ หรือที่เรียกว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในที่สุด
ตำนานมักจะเป็นเช่นนี้แล... เมื่อได้ฟังจากหลายแหล่ง จากผู้เล่าแตกต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ กัน ก็มักจะได้เนื้อหาที่แตกต่างหลากหลาย เพราะผู้รจนาตำนานเหล่านี้ในอดีต ต่างปรารถนาจะสรรเสริญชนเผ่าของตนนั่นเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นตำนานฉบับไหนก็ตาม ล้วนมีความเชื่อตรงกันว่า ดาบสรีกัญไชย เป็นดาบวิเศษที่พญาอินทร์ ท่านประธานให้ผู้มีบุญ เป็นของสูง เป็นเครื่องแสดงบุญาธิการ มีอิทธิฤทธิ์ในการปราบเหล่าร้ายศัตรู เป็นต้น

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-30 05:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-8-2 07:56

ตำนานดาบสรีกัญไชยกับพระขรรค์ไชยศรี
ครูบาเจ้าศรีวิชัย  สิริวิชโย
นักบุญแห่งล้านนาไทย
ดาบสรีกัญไชยในส่วนที่เกี่ยวพันในแง่ของประวัติศาสตร์มีเล่าขานสืบทอดกันมานานตั้งแต่ยุคสมัยอยุธยากับแผ่นดินล้านนา เนื้อหารายละเอียดแตกต่างกันไปตามความเชื่อถือศรัทธาของผู้บันทึก แต่เนื้อหาหลักพอจะสรุปเป็นสังเขปได้ว่า

ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการ ทรงแผ่พระราชอำนาจไปทั่วแคว้น พระองค์มีอาวุธวิเศษคู่พระวรกายคือ “พระขรรค์ไชยศรี” ยามเมื่ออกรบทัพจับศึกก็แสดงอานุภาพเอาชนะข้าศึกได้ทุกครั้งไป เป็นพระแสงดาบที่นอกจากจะเป็นอาวุธคู่พระวรกายแล้ว ยังเป็นขวัญกำลังใจให้กับเหล่าแม่ทัพนายกอง ทหารหาญทั้งหลายที่ร่วมทัพอีกด้วย


ในขณะเดียวกันนั้น อาณาจักรทางล้านนาก็มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่งนามว่าพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยเดชานุภาพทั้งในการรบ และการทำนุบำรุงบ้านเมือง พระศาสนาเป็นที่ร่ำลือไปทุกทิศ ยุคนั้นเป็นเสมือนยุคทองของเมืองเชียงใหม่ มีการขยายเขตแดนแสดงอานุภาพออกไปอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับพระบรมไตรโลกนาถของทางอยุธยา

การแย่งชิงหัวเมืองที่เป็นยุทธศาสตร์ทั้งด้านการค้าและการสงคราม ถือเป็นภารกิจหนึ่งของพระมหากษัตริย์ในยุคนั้น ซึ่งหนึ่งในหัวเมืองที่เป็นที่หมายปองของอาณาจักรใหญ่ในย่านอุษาคเณย์ นี้ก็คือเมืองเชลียง ด้วยว่าเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ การแย่งชิงครอบครองเมืองเชลียงจึงเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างกรุงศรีอยุธยากับอาณาจักรล้านนา



สองอาณาจักรยกทัพขึ้นประลองกำลังกันเป็นสามารถ อยุธยามีของวิเศษ คือ พระขรรค์ไชยศรี ส่วนพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาก็ทรงมีดาบวิเศษคู่พระวรกาย คือ ดาบสรีกัญไชย จึงมิได้เกรงกลัวต่อทัพกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด ต่างก็ยกทัพเข้ารบพุ่งกันอยู่เนิ่นนานก็ไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ ทำให้ขุนทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จนสุดท้ายก็ได้เลิกราทัพกลับไป ต่อมาเผ่าไทยทั้งสองหัวเมืองอ่อนแอลงเรื่อยๆ และเสียแก่พม่าทั้งสองอาณาจักรในที่สุด


เรื่องดาบสรีกัญไชยของพระเจ้าติโลกราช มีข้อถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันหลายกระแส บ้างเชื่อว่าพระเจ้าติโลกราชได้รับดาบอาญาสิทธิ์วิเศษนี้ตกทอดมาจากยุคพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ แต่บางตำนานกล่าวว่า ขณะกองทัพอยุธยายกมาถึงนั้น ทางล้านนาทราบถึงความวิเศษของพระขรรค์ไชยศรี จึงประชุมเสนาอำมาตย์ราชครู ผู้มีความรู้มนตราอาถรรพ์ ประกอบพิธีจัดสร้างดาบสรีกัญไชยขึ้น เพื่อรับมือกับพระขรรค์ไชยศรีโดยเฉพาะ


อีกตำนานหนึ่งกล่าวย้อนไปในอดีตกว่ายุคนั้นว่า ในสมัยที่อยุธยาขยายอาณาเขตเข้ามาสู่แผ่นดินล้านนา เมื่อทัพของอยุธยาได้มาตีเมืองต่างๆ ก็ไม่สามารถเอาชนะแย่งชิงได้สะดวก เนื่องว่าเหล่าทหารนักรบของล้านนานั้น มีคาถาอาคมที่แก่กล้า มีสุดยอดของขลัง อีกทั้งสักยันต์รูปรอยตามร่างกาย จึงทำให้ฟันแทงไม่เข้า ยากที่จะเอาชนะได้ เมื่อทองทัพของอยุธยาไม่สามารถที่จะแย่งชิงอาณาจักรล้านนาได้ จึงถอยทัพกลับไปยังเมืองของตน และได้ปรึกษาหารือกันว่า ทำอย่างไรจึงจะทำลายอาคมของเหล่านักรบของล้านนาได้ จึงได้ทำศาสตราวุธวิเศษขึ้น และให้ชื่อว่า “พระขรรค์ไชยศรี” ซึ่งได้ลงคาถาอาคมต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนหล่อหลอมจนถึงกระทั่งตี และทำการลงอักขระปลุกเสกคาถาอาคมอีกมากมาย


เมื่อได้ดาบวิเศษดังนี้แล้ว เมื่อทัพอยุธยายกขึ้นมาตีชิงหัวเมืองฝ่ายเหนือ ก็สามารถเอาชนะคาถาอาคมของเหล่าทหารล้านนาได้โดยง่าย
เมื่อเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เหล่านักรบ ผู้เก่งกล้าทางอาคมและพระเกจิของอาณาจักรล้านนา จึงได้ปรึกษาหารือกันถึงสาเหตุที่พระเวทย์คาถาด้านอยู่ยงคงกระพันถึงได้พ่ายแพ้ต่อคมดาบของอยุธยา เมื่อส่งคนไปสืบก็ได้ทราบถึงอานุภาพของพระขรรค์ไชยศรี เหล่าปราชญ์ล้านนาจึงได้คิดหาทางแก้ โดยการสร้างศาสตราวุธโดยลงย้อนคาถากลับ เหมือนกับเป็นการย้อนเกล็ดปลา หรือเกล็ดชะมด เพราะเกล็ดก็เหมือนเกราะกำบัง เมื่อขูดเกล็ดย้อนกลับก็สามารถถอดเกล็ดปลาหรือเกล็ดชะมดได้ ด้วยเหตุนี้จึงได้สร้างและตั้งชื่อดาบนั้นว่า “ดาบสรีกัญไชย” หรือ “พระศรีขรรค์ไชย” ตามสำเนียงภาคกลาง เป็นการย้อนเกล็ดตั้งชื่อกลับจากพระขรรค์ไชยศรีนั่นเอง


เมื่อกองทัพล้านนายกออกไปรับมือกับทัพอยุธยาด้วยดาบสรีกัญไชย ก็เสมือนคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ มีอาวุธที่ทัดเทียมกัน จึงสามารถป้องกันเขตขันธ์สีมา ไม่ให้ถูกยึดครองได้ ต่างฝ่ายต่างก็รบพุ่งเป็นสามารถแต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนเลิกราทัพกลับไป
นี่คือตำนานอิงประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันไป
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-30 05:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-8-2 08:02

ไม่ว่าจะเชื่อในตำนานใดก็ตาม อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ดาบสรีกัญไชย เป็นดาบที่ทรงอิทธิฤทธิ์ สามารถป้องกันภูมิผีปีศาจ ป้องกันอาถรรพ์ ป้องกันภัย ชนะข้าศึกหมู่มาร หรือทำให้เกิดโชคลาภที่ดีได้ พึงมีไว้กราบไหว้ ให้เกิดเป็นมงคลแก่ผู้สักการบูชา จึงได้มีครูบาอาจารย์ที่ทรงพระเวทย์วิทยาคมของล้านนา หลายรูปหลายองค์ได้จัดสร้างดาบสรีกัญไชย ดาบศักดิ์สิทธิ์ตามตำนานล้านนา ให้ลูกศิษย์ลูกหาผู้เคารพนับถือได้มีไว้สักการะ




ครูบาชุ่ม  โพธิโก
ผู้สืบทอดคาถาสรีกัญไชยจากครูบาเจ้าศรีวิชัย






ซึ่งก็มีแตกต่างกันหลายสำนัก
ดาบสรีกัญไชยของแต่ละท้องถิ่นมีรูปแบบที่แปลกแตกต่างกันไปตามแต่ผู้สร้าง เช่นทางน่านก็จะเป็นแบบหนึ่ง แถบลำพูนจะใกล้เคียงกับทางเชียงใหม่ ส่วนของลำปางบางครูบาอาจารย์ลงแตกต่างจากของเชียงใหม่โดยสิ้นเชิง บางตำราแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่าในอดีตเกิดการคัดลอกถ่ายเทศาสตร์โบราณ ดังนั้นเมื่อได้พบเห็นตำรับที่ได้รับความนิยมในท้องถิ่นที่แตกต่างกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
เมื่อกล่าวถึงดาบสรีกัญไชยในอดีตที่โด่งดังที่สุด ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วประเทศ เห็นจะไม่มีเกินดาบสรีกัญไชยของหลวงปู่ครูบาขันแก้ว วัดสันพระเจ้าแดง จังหวัดลำพูน ด้วยเชื่อว่า ท่านครูบาขันแก้ว และครูบาชุ่ม โพธิโก วัดชัยมงคล (วังมุย) ได้รับสืบทอดวิชาการสร้างดาบสรีกัญไชยจากครูบาเจ้าศีลธรรม (ศรีวิไชย) ซึ่งเป็นที่เล่าลือกันในอดีตว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้รับดาบทองคำจากพระอินทร์ จนเป็นเหตุให้มีผู้กล่าวอ้างว่าครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยมีดาบสรีกัญไชยฝักทองคำ ตกลงมาจากสวรรค์สู่แท่นบูชา ใช้เป็นอุบายเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คน คิดแข็งขืนต่อบ้านเมือง เรื่องนี้เลยกลายเป็นหนึ่งในหลายๆ ข้อกล่าวหา ที่ทำให้ครูบาเจ้าศีลธรรมต้องอธิกรณ์ถูกไต่สวน ซึ่งสุดท้ายครูบาเจ้าศีลธรรมก็สามารถยืนยันในความบริสุทธิ์ของท่านต่อสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ซึ่งในสำนวนการไต่สวน โดยกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ พระญาณวราภรณ์ และ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ที่มีถวายต่อองค์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ได้ยืนยันคำพูดของครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า “ของเช่นนี้ (ดาบสรีกัญไชย) ท่านไม่มี”
ซึ่งข้อมูลนี้ตรงตามบันทึกคำบอกเล่าของครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย ที่ว่าท่านครูบาเจ้าศีลธรรมได้เจอตำรายันต์เล่มหนึ่ง เป็นตำราคาถาอาคม ตลอดจนวิธีการสร้างดาบสรีกัญไชย (มิใช่ดาบ) ที่ถ้ำเชียงดาว จึงได้เก็บรักษาไว้ ต่อมาครูบาชุ่มซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิด ได้คัดลอกตำราเล่มนี้ไว้ และสืบทอดมายังครูบาขันแก้ว วัดสันพระเจ้าแดง ผู้เป็นสหธรรมิกของครูบาชุ่ม และในเวลาต่อมาตำรายันต์เล่มนี้ได้สูญหายไปในที่ใด ไม่เป็นที่ปรากฏ

::: ดาบสรีกัญไชยในรูปของวัตถุมงคล :::
  
หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์
เจ้าตำรับ "มีดหมอปราบไพรีพินาศ"


ในตำนานการสร้างเครื่องรางของขลังในอดีตมีพระเกจิอาจารย์มากมายหลายครูบาอาจารย์ที่ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลังประเภทมีดและประเภทดาบซึ่งเป็นที่นิยมของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก เช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ เจ้าตำรับการสร้างมีดหมอปราบไพรีพินาศอันโด่งดังเลื่องลือชื่อ หลวงพ่อโสก วัดปากคลองบางครก จังหวัดเพชรบุรี เจ้าตำรับการสร้างมีดหมอเขาควายเผือก ส่วนทางภาคใต้ก็มีการสร้างมีดหมอหรือดาบกายสิทธิ์ของสำนักตักศิลาเขาอ้อเช่นกัน

สำหรับภาคเหนือเมืองลานนานั้น ก็มีเกจิอาจารย์ที่โด่งดังมากในอดีต ที่ได้สร้างดาบสรีกัญไชย ด้วยเชื่อว่าเป็นดาบที่ใช้ลบล้างอาถรรพ์ คุณผี คุณคน ได้ฉมังนัก แต่ไม้ได้สร้างเป็นรูปทรงดาบ แต่ใช้การลงอักขระเป็นรูปดาบบนแผ่นทองแดงแทนการลงบนตัวดาบจริงๆ ทั้งนี้อาจเป็นด้วยว่า การหาวัสดุมาทำดาบเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นการลงอักขระบนแผ่นทองแดง หรือแม้กระทั่งผืนผ้ายันต์ ก็มีคุณวิเศษไม่ด้อยไปกว่ากัน ซึ่งตะกรุดยันต์ดาบสรีกัญไชยที่สร้างโดยครูบาขันแก้ว วัดสันพระเจ้าแดง และครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุยนี้ก็โด่งดังและในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่หายากอีกด้วย
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ตำราการสร้างและเสกดาบสรีกัญไชยในแผ่นดินล้านนานั้น มีตำรับวิชาที่แตกต่างกันมากมายหลายวิธี ทั้งที่แตกต่างกันในลักษณะของขนาดและแตกต่างกันที่อักขระยันต์ ตามรูปแบบของสูตรลงยันต์ต่างๆ ของแต่ละสำนัก แต่ทั้งนี้สำหรับพุทธคุณแล้วล้วนมีอิทธิฤทธิ์ไม่แตกต่างกัน ดังตัวอย่างหนึ่งที่หนานบุญ เมืองงาช้างดำ ได้พบข้อความจารึกในตำราโบราณกล่าวว่า ใครก็ตาม ที่ได้ถือเอาคุณแห่ง “พระยันต์ดาบสรีกัญไชย หรือยันต์มีดดาบสรีกัญไชย” นั้น ก็

หลวงพ่อโศก
วัดปางคลองบางครก
“จักสมดั่งกำมักอยู่เย็นเป็นสุข จ๊ะนะผาบแป๊ฝูงผีสางมารแมนทั้งหลาย มีไจยจ๊ะนะต่อข้าศึกสัตถู มีป๋าระมีอำนาจวาสนามากมูลตุ่นเต้านักแล”
ความหมายก็คือ
“ใครก็ตามถ้าได้เคารพบูชาในยันต์ดาบสรีกัญไชย ก็จะประสพตามความปรารถนาทุกประการ จะอยู่เย็นเป็นสุข มีชัยชนะต่อข้าศึกศัตรู ผีร้ายทุกประการ มีบารมี อำนาจวาสนาสูงส่ง มากนักแล”

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่อดีตกาลจวบจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด หากเป็นผู้ที่มีความเคารพนับถือในศาสตร์แห่งคุณพระคุณเจ้าและพระเวทย์อาคมแล้ว ก็มักจะนิยมเสาะหาเครื่องรางของขลังประเภทมีดหมอ มีดครู ดาบครูต่างๆ มาบูชาสักการะ และนำมาเป็นเครื่องช่วยป้องกันตัว ป้องกันครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า
ตำรายันต์มีดดาบสรีกัญไชยหรือมีดดาบกายสิทธิ์ เป็นตำราการสร้างวัสดุอาวุธอาถรรพ์ที่เปรียบเสมือนเป็นอาวุธของพระอินทร์ พระพรหม พระนารายณ์ พระฤาษี และอาวุธของพระพุทธเจ้า มีคุณวิเศษมากนักตามความเชื่อของเกจิอาจารย์มาหลายยุคหลายสมัย ลักษณะของมีดดาบสรีกัญไชยที่ได้มีการบันทึกไว้คือ
ดาบขนาด ๑ กำมือ แทนคุณครูบาอาจารย์
ดาบขนาด ๓ กำมือ แทนคุณพระรัตนตรัยทั้งสามประการ
ดาบขนาด ๕ กำมือ แทนคุณพระพุทธเจ้าห้าพระองค์
ดาบขนาด ๙ กำมือ แทนคุณพระเจ้าทั้งหลาย คุณเทพ คุณอินทร์ คุณพรหมทุกๆ องค์ ทั่วทั้งจักรวาล เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า คนโบราณหรือครูบาอาจารย์ในอดีต ท่านจะมีการสร้างอาวุธเครื่องรางของขลังต่างๆ แต่ละอย่างแต่ละชิ้นขึ้นมานั้น ย่อมมีคุณค่าและมีความหมายเป็นที่สุด กำหนดเอาคุณแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาเป็นตัวเชื่อมกับวัสดุที่ทรงคุณเหล่านั้นเสมอ เพื่อให้ผู้ที่นำเอาไปใช้ไปบูชานั้น ได้รับสิ่งที่มีคุณค่าและทรงคุณที่สุด

ตัวอย่างความพิถีพิถันในการจัดสร้างวัตถุสิ่งมงคลในอดีต อาจจะเห็นได้จากวรรณกรรมเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับ “ขุนแผน” ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เป็นนักรบที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมทั้งความหล่อ ความสง่างาม แล้วยังมีพระเวทย์อาคมที่สูงส่งมาก ขุนแผนมี “ดาบฟ้าฟื้น” เป็นอาวุธประจำกายที่ทรงอานุภาพมากที่สุดในยุคนั้น

การสร้างอาวุธ หรือดาบคู่บารมีนั้น ครูบาอาจารย์แต่ละสำนัก แต่ละคน ท่านก็มีส่วนผสมในการสร้างที่แตกต่างกันออกไป อย่างขุนแผน ก็มีส่วนผสมที่หล่อหลอมเป็นดาบฟ้าฟื้นอันวิเศษมากมาย เช่น เหล็กน้ำพี้อันกล้าแกร่งคงทน เจ้าน้ำเงิน เหล็กสะกดอาถรรพ์ และเหล็กไหลธาตุกายสิทธิ์ เป็นต้น
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-30 05:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-7-30 05:53

คาถาลงดาบสรีกัญไชย :::
ด้วยความเชื่อว่า ดาบสรีกัญไชย เป็นดาบที่ประทานมาจากสวรรค์ เป็นดาบพระอินทร์ การสร้างการเสกจึงต้องมีพระคาถาที่เกี่ยวพันกับพญาอินทร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดาบสรีกัญชัยที่จัดสร้างขึ้นกันในท้องถิ่นล้านนา จะมีการลงด้วยพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นตำราที่หวงแหนกันหนักหนา ซึ่งยันต์แต่ละลูกนับได้ว่าเป็นยันต์ชั้นสูงแทบทั้งสิ้น อาทิเช่น คาถาพญาอินทร์ คาถาจักรพรรดิราช คาถาจักรแก้วพระพุทธองค์ บทชุมนุมพระคาถา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พ่อคาถา แม่คาถา และที่ขาดไม่ได้ก็คือ พระคาถาสรีกัญไชยที่แตกต่างกันไปแต่ละสำนัก เป็นต้น

ดาบสรีกัญไชยของครูบาขันแก้ว เมื่อถอดใจความพระคาถาที่จารลงดาบสรีกัญไชยของท่านได้ความดังนี้
แถวที่หนึ่ง ลงว่า   โย เว โว กะ ถัง ลา ลัง กะ โต๋
แถวที่สอง ลงว่า   ติ มะ หัง ตั๋ง มิ มะ นะ
แถวที่สาม ลงว่า   วะ โน โส ยะ เล ตวา ตะ ยะ เส
วิธีการลงอักขระเป็นแบบค่ายกลบท ใช้สลับกันทั้งสามแถว  
ดาบสรีกัญไชยของครูบาขันแก้ว นับว่าได้รับความนิยมเสาะหากันมากที่สุด





อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นพระคาที่ใช้ลงดาบสรีกัญไชย ของหลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท วัดคันธาวาส (ทุ่งปุย) จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระคาถาที่จารลงบนแผ่นเงิน และแผ่นทองเหลือง แล้วนำไปผนึกติดกับปลอกดาบ โดยที่ส่วนของใบมีดจะลง “นะชาลีติ” เท่านั้น


คาถาดาบสรีกันชัย (ดาบฟ้าหลั่ง)
โอม ปัตโต เภตะสะหะจักกะวะโร พุทธะมังคะละ สักกัสสามิ ทะสะ เอเก จัมหิ ปะวุดฑิฆัง นะมามิหัง สวาหาย
สิโลมัง สะเหเห กาเว ติสสันโต มัทธิญาโณ ยันโต ทัสสะ ธะนะสิทธิ สะวิสปะเร เอเตนะสัจจะ วัชเชนะ
ไชยยะโสตถิ ภะวันตุสัปปะทา สวาหายะฯ



พระคาถานี้ นอกจากจะเป็นคาถาที่จารแผ่นเงิน แผ่นทองแดงติดปลอกมีดแล้ว ยังเป็นพระคาถาที่ใช้อธิษฐานบูชาดาบสรีกัญไชยของหลวงปู่ครูบาอิน ซึ่งหากท่องบ่นบูชาเป็นประจำ ก็จะบังเกิดฤทธิ์ เช่น จะช่วยป้องกันสิ่งเลวร้ายได้ และยังเป็นวัตถุมงคลช่วยคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ ป้องกันภูมิผีปีศาจไม่ให้เข้ามากล้ำกรายราวี (เอาแขวนหันออกหน้าบ้าน) ถ้าเจ็บป่วยก็ให้เอาดาบไปแช่ทำน้ำมนต์ แล้วเอาไปดื่ม-อาบ รักษาโรคได้ โดยการอธิษฐานขอบารมีหลวงปู่ครูบาอิน อินโท ท่านช่วยก่อนใช้ดาบ เป็นต้น

ในส่วนของทางจังหวัดน่าน ก็มีบันทึกพระคาถายันต์สรีกัญไชยตำรับเมืองงาช้างดำ ไว้หลายรูปแบบหลายสำนัก อาทิเช่น ฉบับอารามนาท่อ ฉบับหัวเวียงเหนือ ฉบับฆาราวาสอุ๊ยหนานพญาวงศ์ต๊าวหลวง และ ฉบับสำนักป่าเมี้ยง (ต๋าแหวน) เป็นต้น
ส่วนพระคาถาลงดาบตำรับเมืองงาช้างดำ ลงเป็นกลบทรูปยันต์ อ่านได้ว่า
             ธุ
                        ปะ สิ สะ อิ สวา สุ วุท ธา นัง สวา หะ
         กะ ยะ วะ   สะ นะ                                                    วะ หะ สะ
                        อุ ฆิ ระ เต ว เร หิ สวา หะ
            โส
รอบล้อมด้วยตัวอุณาโลมทั้งสี่ด้าน เป็นพระคาถาสำหรับลงดาบสรีกัญไชยของแถบจังหวัดน่านที่ได้รับความนิยมมากตำรับหนึ่ง ซึ่งจะเห็นว่าแตกต่างจากของเชียงใหม่และลำพูนอย่างสิ้นเชิง

ในส่วนของพระเกจิอาจารย์จังหวัดเชียงใหม่ที่สร้างดาบสรีกัญไชยตามตำราโบราณที่เข้มขลัง เชื่อว่าจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือดาบสรีกัญไชย ของพระครูปัญญาวชิรธรรม (พระอาจารย์สุมินทร์) วัดต้นแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี อาจารย์ ปริญญา ณ เชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง พระคาถาดาบสรีกัญไชย ที่ใช้ลงบทแรกเรียกว่า “คาถาสรีกัญไชยพระเจ้า” อ่านว่า

“ติวิตีธะนุเจต๋า ธะราอาวุธทา จักกาเกปินิกุกุ สังระยะนะจัง นัมปะโยโหนตุเมนิจัง
เมตตัญจะสัพป๊ะ โลกัสสมิงสาพุทธาหับยะ”


คาถาสรีกัญไชยพระเจ้านั้น ใช้ได้ทั้งมหาอำนาจปกครองคน ใช้เสริมชะตาชีวิตให้เป็นใหญ่เหนือผู้อื่น ปราบเหล่าข้าศึกศัตรู เด่นทางอำนาจวาสนา อุดมไปด้วยเดชอำนาจบารมี เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา

อีกบทหนึ่งเป็นพระ “คาถาบอกไฟแตก” ดีทางข่ามคง จากบันทึกของหลวงปู่คำหล้า ท่านเขียนเอาไว้ว่าให้ทดลองดู โดยเขียนคาถาบทนี้ แล้วเอาอุดลงรูบั้งไฟแล้วจุด บั้งไปจะแตก คือ มีฤทธิ์ห้ามดินปืนนั่นเอง หากเป็นปืนก็คงปืนแตก เพราะตามตำราเขียนไว้ดังนี้นั่นเอง


พระคาถาทั้งสองบทมีคุณวิเศษ ตำราบอกว่ามีค่าควรเมือง โบราณจารย์มักหวงแหนพระคาถานี้ พระสังฆราชเจ้าลานนาได้บันทึกเอาไว้ในยุคของพระบรมราชาธิบดีที่หนึ่ง หรือพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์แรกในวงศ์ทิพจักร (ทิพย์ช้าง)
พระคาถาทั้งสองบท ลงเป็นตะกรุดบรรจุลงด้ามดาบสรีกัญไชย ของพระครูปัญญาวชิรธรรม (พระอาจารย์สุมินทร์) วัดต้นแก้ว พร้อมทั้งอุดผงวิเศษต่างๆ อีกมากมาย

ส่วนตัวดาบ ด้านหนึ่งท่านพระครูลงด้วย “คาถาฟ้าฟีก” คือ “ระตะนังปุระโตอาสิ” ซึ่งเป็นพระคาถาที่มีคุณทางกันไฟและสายฟ้า พระเถราจารย์เจ้าของเชียงใหม่และลำพูนหลายรูป ใช้พระคาถานี้บรรจุไว้หลังเหรียญและวัตถุมงคลของท่าน อาทิเช่น ครูบาสิงห์ วัดฟ้าฮ่าม ลงพระคาถาฟ้าฟีกด้านหลังเหรียญรูปเหมือนของท่าน ครูบาอิน อินฺโท วัดฟ้าหลัง ใช้พระคาถานี้ลงหลังพระรอด พระสมเด็จ พระกริ่ง และลงเป็นตะกรุด ยันต์ อีกหลายแบบ
อีกด้านหนึ่งลงด้วย “หัวใจท้าวเวสสุวรรณ” อันเป็นเจ้าแห่งปีศาจทั้งปวง ถอดคาถาออกมาได้ดังนี้ “เวสสะธัมมะราชาสุวัณโณกะระหิติ” ใช้ข่มผีสาง ทั้งปวง เป็นที่เกรงกลัว และกันสิ่งชั่วร้าย
ถือว่าเป็นการรวมสุดยอดพระคาถาทั้งด้านข่ามคง กันฟ้ากันไฟ กันสิ่งชั่วร้าย และเสริมบารมี อุดมด้วยวาสนาบารมีอย่างที่สุดตำรับหนึ่งในปัจจุบัน

จากตัวอย่างที่ยกมา คงจะพอทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพถึงอุปเท่ห์การใช้บทพระคาถาที่แตกต่างกัน แต่มุ่งเน้นสรรพคุณไปในทางการเสริมบารมีและป้องกันสิ่งชั่วร้ายเป็นหลัก

:
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-30 05:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พิธีกรรมการปลุกเสกดาบสรีกัญไชย :::
ในส่วนของกรรมวิธีการปลุกเสกก็คล้ายกับพระคาถาที่ลงดาบ แต่ละสำนักก็ปลุกเสกด้วยพระคาถาที่แตกต่างกันไป ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา
อาจารย์ปริญญา ณ เชียงใหม่ ปราชญ์ล้านนาผู้ศึกษาเรื่องดาบสรีกัญไชยมาเป็นเวลานาน ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคาถาที่ครูบาอาจารย์ล้านนาใช้ปลุกเสกดาบสรีกัญไชย แตกต่างกันว่า

ครูบาคำ สํวโร
วัดศรีดอนตัน จ.ลำพูน
“ในเรื่องคาถาดาบสรีกัญไชยนี้ ผมเคยเห็นครูบาอาจารย์หลายท่านใช้แตกต่างกันไปในบทปลุกเสก เช่น ครูบาคำ สํวโร ท่านจะปลุกเสกขึ้นต้นด้วย ‘อม เทปะสวาหังมัง ดาบสรีกัญไชยกูนี้.....’ ไปจนถึงลงด้วย ‘อมสวาหะเท็ก’ ส่วนครูบาคำหล้าท่านจะเสกด้วยสรีกัญไชยบท ‘อมนะโมนะมาสุภาษิตเทศน์แสนตอนจักรวาฬ....’ และลงด้วย ‘อมธุ ธะ ธา อะ ปิด ธะ ธา อม สังถะ’ เป็นต้น

นอกจากนี้ผมยังเคยเห็นยันต์ชนิดนี้ลงเป็นดาบสี่เล่ม ผมเคยลองถามอาจารย์ณรงค์ชัย ท่านบอกว่าเป็นยันต์ลงดาบสรีกัญไชยสีเถื่อน ตามความเชื่อที่เล่ามาว่า ดาบทั้งสี่นี้เป็นของท้าวโลกบาล หรือที่คนเหนือเรียก ‘ท้าวทั้งสี่’ ส่วนคาถาปลุกเสกเคยเห็นท่านอาจารย์บุญเลิศบันทึกเอาไว้ เป็นบทสรีกัญไชยสีเถื่อนเหมือนกัน ใช้เสกมีดและไม้เท้า ดีทางข่มผีปีศาจ มีอำนาจเหนือคนทั้งปวง”
ย่อมเป็นข้อสรุปได้ว่า พระคาถาที่ใช้ปลุกเสกของแต่ละสำนัก แต่ละพระเกจิอาจารย์ ล้วนแตกต่างกัน ซึ่งรวมไปถึงพิธีการปลุกเสกก็แตกต่างกัน อาทิเช่น บางแห่งต้องมีการตั้งขันครู ชุมนุมเทวดา มีเครื่องเซ่นสังเวย ตำรับเมืองน่านที่บันทึกโดยหนานบุญเมือง ได้ระบุถึงพิธีกรรมที่ต้องเตรียมเครื่องสักการะ ไว้ชัดเจน เช่น ผ้าขาว ผ้าแดง หมาก กล้วย อ้อย ข้าวเปลือก ข้าวสาร อาหารคาวหวาน ทำพิธีในเขตที่ล้อมรอบด้วยราชวัตร ฉัตร ธง มีเครื่องพลีแม่พระธรณี เป็นต้น ในขณะที่พิธีกรรมปลุกเสกของหลวงปู่ครูบาอิน เริ่มต้นที่การเลือกวันที่ฤกษ์ยามดี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ขันข้าวตอกดอกไม้ เครื่องสักการะ แล้วก็ทำพิธีปลุกเสกเดี่ยวได้เลย
บางครั้งก็มีการนำเอาดาบสรีกัญไชยที่จัดสร้าง และลงอักขระเรียบร้อยแล้วเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ร่วมกับวัตถุมงคลอื่นๆ เช่นพิธีพุทธาภิเษกตามวัดวาอารามต่างๆ ที่นิมนต์พระเกจิอาจารย์มาร่วมปลุกเสก หรือเข้าร่วมพิธีเข้านิโรธกรรมเช่น ดาบสรีกัญไชยของครูบาน้อยวัดศรีดอนมูลเป็นต้น
ซึ่งไม่ว่าจะปลุกเสกด้วยพิธีกรรมแบบไหนก็สามารถให้ผลที่ดีตามปรารถนาได้เช่นเดียวกัน

::: วิธีการบูชาดาบสรีกัญไชย:::
อาจารย์ปริญญา ณ เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงวิธีการบูชาดาบสรีกัญไชยของวัดต้นแก้วตามแบบโบราณไว้โดยละเอียดว่า
๑. ให้จัดที่บูชาดาบ ให้มีหิ้งบูชา หรือเก็บเอาไว้สูงเกินศีรษะของผู้เป็นเจ้าของ
๒. ห้ามนำดาบมาเล่น หรือชักดาบออกจากฝัก เว้นแต่ใช้ปราบผี ให้ชักออกจากฝักแล้วทำน้ำมนต์ ภาวนาด้วยคาถา “เวสสะธัมมะ ราชาสุวัณโณ กะระหิติ” ๗ ครั้ง ผีออกแล
๓. ปรารถนาความรุ่งเรือง ให้บูชาด้วยดอกมะลิ ๙ พวงทุกวันพระ
๔. ทุกวันพญาวัน ๑๕ เมษายน ของทุกปี หรือตามกำหนดปฏิทินล้านนา ควรมีน้ำส้มป่อยพรมดาบ ภาวนาคาถานวหรคุณ “อะสังวิสุโลปุสะภุพะ” ๗ ครั้ง ดาบจะมีอานุภาพไม่เสื่อมคลาย
๕. ดาบนี้อยู่ในเคหะหอเรือนใด อธิษฐานป้องกันคุณไสย คุณผี คุณคน ได้ทั้งปวง
๖.  ดาบนี้ใช้ข่มอาถรรพ์ ตลอดจนล้างความข่ามคงของศัตรูผู้คิดร้ายได้
๗. หากปรารถนาพันช่วงเจริญรุ่งเรือง ให้ภาวนาด้วยบทสรีกัญไชยพระเจ้า ๓-๕-๗-๙ ครั้ง ดังนี้ “ติวิตีธะนุเจต๋า ธะราอาวุธทา จักกาเกปินิกุกุ สังระยะนะจัง นัมปะโยโหนตุเมนิจัง”
สำหรับวิธีการอธิษฐานใช้ดาบของหลวงปู่ครูบาอิน ท่านให้แขวนหันออกหน้าบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลชั่วร้ายที่จะมากล้ำกลาย ไม่ว่าจะเป็นคุณไสยที่ถูกส่งมา หรือลมเพลมพัดที่มาตามอากาศก็ดี ถ้าเจ็บป่วยก็ให้เอาดาบไปแช่ทำน้ำมนต์ แล้วเอาไปดื่ม-อาบ พร้อมทั้งอธิษฐานขอบารมีหลวงปู่ครูบาอิน อินโท ท่านช่วยก่อนใช้ดาบ สำหรับผู้ที่ถูกภูตผี ให้อธิษฐานใช้ดาบทำน้ำมนต์ มารดราดผู้ถูกผี ถูกของ ก็จะได้ผล
อธิษฐานเป็นประจำด้วยคาถา “โอม ปัตโต เภตะสะหะจักกะวะโร พุทธะมังคะละ สักกัสสามิ ทะสะ เอเก จัมหิ ปะวุดฑิฆัง นะมามิหัง สวาหาย สิโลมัง สะเหเห กาเว ติสสันโต มัทธิญาโณ ยันโต ทัสสะ ธะนะสิทธิ สะวิสปะเร เอเตนะสัจจะ วัชเชนะ ไชยยะโสตถิ ภะวันตุสัปปะทา สวาหายะฯ” เพื่อเพิ่มพุทธคุณแก่ดาบที่สักการบูชา วันศีลวันพระบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน และประพรมด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ในวันพญาวัน ๑๕ เมษายน ของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นวันมงคลมหาฤกษ์แห่งปี ควรแก่การสระสรงพระเครื่องวัตถุมงคล ให้มีความศักดิ์สิทธิ์คงทน ตลอดไป
เมื่อพูดถึงดาบสรีกัญไชย คนเหนือรู้จักกันดี แต่สำหรับเรื่องราวของดาบสรีกัญไชยที่นำมาเสนอนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงที่มาที่ไปในเชิงลึก อุปเท่ห์การสร้าง เสก และสักการบูชาเพื่อให้เกิดผลต่อผู้ใช้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ทั้งนี้ ขอให้พึงทราบไว้ประการหนึ่งว่า ของดีสิ่งวิเศษตลอดคุณพระต่างๆ จะดีได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ครอบครองมีความเชื่อมั่น และดำรงตนอยู่ในคุณความดีเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติรักษาศีล วัตถุมงคลใดๆ ก็ ไม่อาจจะคุ้มครองรักษาเจ้าของได้ จงหมั่นสักการบูชาด้วยความเชื่อมั่นนับถือ และรักษาตนให้ห่างไกลจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ดาบสรีกัญไชย สิ่งสูงสุดแห่งพระเวทย์ล้านนานี้ก็จะปกปักรักษา เสริมดวงชะตาของผู้ใช้ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างแน่นอน

เรียบเรียงโดย: ธีระยุทธ  ไขยวงศ์, webmaster



เครดิต..http://krubain.awardspace.com/trimas46_srigunchaistory.htm
ยอดเยี่ยมครับ ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้