แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย AUD เมื่อ 2013-8-6 22:27
ลูกหนี้เฮลั่น!! ครม.ไฟเขียว โดยผู้ทวงหนี้ห้ามคุกคามเกินกว่าเหตุ
ครม. ไฟเขียวร่างกฎหมายทวงถามหนี้ ให้ยกหูทวงหนี้ในวันธรรมดา 08.00-20.00 น. -โดยผู้ทวงหนี้จะต้องไม่คุกคามต่อลูกหนี้ -มีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี
วันนี้ ( 6 ส.ค.) นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจรายละเอียด พร้อมเปลี่ยนชื่อจากร่างเดิม คือ ร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม เพื่อให้สอดคล้องและครอบคลุมกับสาระสำคัญที่เป็นเรื่องการควบคุมและการกำกับดูแลการทวงถามหนี้
สำหรับรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้อง พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ที่ผู้ประกอบกิจการทวงหนี้ต้องปฏิบัติตาม รวมถึงข้อห้ามในการทวงถามหนี้
ทั้งนี้ โดยวิธีปฏิบัติ ผู้ทวงถามหนี้จะต้องแจ้งชื่อนามสกุล หน่วยงาน และต้องแสดงหลักฐานการมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อของลูกหนี้ โดยผู้ทวงหนี้จะต้องไม่คุกคามต่อลูกหนี้ ห้ามทวงหนี้เกินกว่าเหตุ ก่อให้เกิดความรำคาญ ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น เสียดสี ถากถาง กับผู้ที่เป็นลูกหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ สาระสำคัญตามรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังห้ามไม่ให้ทวงถามหนี้ โดยวิธีติดต่อทางไปรษณีย์ และกำหนดช่วงเวลาในการติดตามทวงถามหนี้ทางโทรศัพท์ โดยในวันธรรมดาให้ดำเนินการทวงถามได้ระหว่าง 08.00-20.00 น. และตั้งแต่ 08.00-18.00 น. สำหรับวันหยุดราชการ
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือข้อห้ามตามที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษทางอาญา ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
นายธีรัตถ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ยังกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และให้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการทวงถามหนี้ของผู้ทวงถามหนี้ ขณะเดียวกันได้กำหนดนิยามของผู้ทวงถามหนี้ โดยให้หมายถึง ผู้ให้สินเชื่อหรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้และให้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบการทวงถามหนี้
***ธ.พาณิชย์ยันทวงหนี้ตามกฎแบงก์ชาติ***
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารทหารไทย เปิดเผย “ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ตามปกติการทวงหนี้ของธนาคารทั่วไปจะปฏิบัติตามกฎที่ ธปท. กำหนด แต่ร่างกฎหมายที่กำลังจะออกมานี้จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องบังคับใช้กับใคร เพราะปัญหาการทวงหนี้โหด มักเกิดขึ้นกับธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank มากกว่าธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ
ด้านนายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานธุรกิจรายย่อย และเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หลักการดำเนินงานของธนาคารโดยทั่วไปนั้นต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายอยู่แล้ว ส่วน ร่าง พ.ร.บ.การทวงหนี้ ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่คิดว่าน่าจะใช้บังคับกับบริษัทรับจ้างทวงหนี้มากกว่า แต่สำหรับธนาคารกรุงไทย ปัจจุบันการติดตามทวงหนี้ทางธนาคารจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด
***หนี้ครัวเรือนพุ่ง แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ***
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ที่ปฏิเสธการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 25 -30% เป็น 30-35% และพิจารณาคุณสมบัติของลูกค้าที่ขอสินเชื่ออย่างเข้มงวด
“ธนาคารดูแลการปล่อยสินเชื่อรายย่อย เน้นกลุ่มมีผู้รายได้ 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียน้อยกว่า เพราะจากการศึกษาพบว่ากลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มราคาสินค้าอย่างมาก”นายปกรณ์ กล่าว
ปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท เพียง 17% และมีเอ็นพีแอลกลุ่มนี้ประมาณ 1% เทียบกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อรวมของระบบธนาคารอยู่ที่ 2.2% ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์
ทั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อรายย่อยขยายตัว 10-13% โดยเน้นรายได้ค่าธรรมเนียมโต 26-29% หรือมีรายได้ค่าธรรมเนียม 23,000 ล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีแรกธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมสูงกว่าเป้าหมาย โดยโต 32% หรือมีรายได้ค่าธรรมเนียม 11,500 ล้านบาท.
โดย TnewsOnline
|