ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2531
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ชาวกูย (Kui)

[คัดลอกลิงก์]


[size=+1]ชาวกูย (Kui)

ชาวกูย กวย โกย เยอ อพยพเข้าประเทศไทย ครั้งใหญ่ในสมัยปลายอยุธยา (พ.ศ. 2245-2326) ชาวกูยมีถิ่นเดิมอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา ชาวกูย เคยเป็นรัฐอิสระ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เคยส่งทูตมาค้าขายกับอยุธยา และเคยช่วยกษัตริย์เขมรปราบขบถ ต่อมาเขมรได้ใช้อำนาจทางทหารปราบชาวกูย และผนวกอาณาจักรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขมร ชาวกูยชอบการอพยพ เพื่อแสวงหาที่ดินอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก ชาวกูยอพยพขึ้นเหนือเข้าสู่เมืองอัตตะบือ-แสนแป จำปาศักดิ์ และสาละวัน ทางตอนใต้ของลาวและอพยพข้ามลำน้ำโขงเข้าสู่ภาคอีสาน ทางด้าน แก่งสะพือ อ.โขงเจียม หลังจากนั้นลูกหลานชาวกูยแยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือน

ชาวกูยที่อพยพมา มีหัวหน้าของตัวเอง คนไทยเรียกชาวกูยว่า "เขมรป่าดง" แต่ "ชาวกูย" เรียกเรียกตัวองว่า กุย หรือ โกย ซึ่งแปลว่า "คน" ส่วนคำว่า "ส่วย" นั้น ชาวกูยเองไม่ค่อยยอมรับชื่อนี้

ปัจจุบันพบชาวกูยในจังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ สุพรรณบุรี ส่วนใหญ่ชาวกูยในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานปนอยู่กับชาวเขมรสูง และชาวลาวทำให้ชาวกูยถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เขมรสูงและลาว บ้านของชาวกูยมีลักษณะใต้ถุนสูง ด้านหน้าเอาไว้เลี้ยงช้าง ใต้ถุนใช้เป็นที่วางหูกทอผ้า วางกระด้งไหม และวัสดุเครื่องใช้สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ ชาวกูยบางบ้านจะแบ่งส่วนหนึ่งที่ติดตัวบ้านเป็นยุ้งข้าว บางบ้านสร้างแยกต่างหาก


ชุมชนกูย เป็นชุมชนที่มีขีดความสามารถพึ่งตัวเองในทางเศรษฐกิจ คือ มีความสามารถในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจที่ได้จากป่า และทำการผลิตเพื่ออยู่เพื่อกินในครัวเรือน ยังมีความสามารถในการพัฒนา เทคโนโลยีทางการผลิตเพี่อการดำรงชีวิตประจำวัน มีการจัดระเบียบทางการปกครองในชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรี ผู้มีอาวุโสที่สุดเป็นผู้มีบทบาทต่อการตัดสินผิดถูกในชุมชน ซึ่งชาวกูย เรียกว่า "โขด"
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 07:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชาวกูยนิยมเลี้ยงช้าง ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ชาวกูยจะออกไปจับช้างในป่าด้วยการคล้องช้าง เรียกว่า "โพนช้าง" เป็นการจับช้างโดยหมอช้าง ใช้บ่วงมาศที่เรียกว่า "เชือกปะกำ" ทำจากหนังควายถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์คล้องเท้าช้างแล้วผูกกับต้นไม้ และนำมาฝึกใช้งาน
ในการคล้องช้างกระทำปีละครั้ง ราวเดือน 11-12 ช้างที่ตายลงจะมีการฝังอย่างดี และจะขุดกระดูกขึ้นมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ และในชาวกูยจับช้าง (กูยตำเหร็ย) มีระบบระเบียบพิธีกรรมก่อนออกไปจับช้างอย่างเคร่งครัด โดยมีการตกลงมอบหมายอำนาจให้แต่ละคนกระทำเหนือกลุ่มหรือคณะดังนี้
  • มะหรือจา มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยควาญ เป็นผู้ถือท้ายหรือผู้ที่ช้างต่อ
  • หมอสะเดียง เป็นผู้ชำนาญในการควบคุมช้าง มีประสบการณ์ในการจับช้างป่า จะขี่ช้างอยู่ตรงคอ
  • หมอสะดำ ทำหน้าที่ควาญ เรียกว่า ควาญเบื้องขวา มีฐานะสูงกว่าสะเดียง สะดำต้องมีประสบการณ์เคยออกจับช้างป่า มาแล้วอย่างน้อย 11 เชือกขึ้นไป บางทีเรียกว่าหมอใหญ่
  • ครูบา เป็นหมอช้างใหญ่ เป็นหัวหน้าในกลุ่มย่อยหรือหมู่ช้างต่อจะออกจับช้างป่าได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากครูบาใหญ่ บางครั้งครูบาออกจับช้างได้ตามลำพัง
  • ครูบาใหญ่ เป็นหมอช้างใหญ่ หรือประกำหลวง หรือ หมอเฒ่า เป็นผู้อำนายการออกจับช้างแต่ละครั้ง เป็นประธานในพิธีเซ่นผีประกำ และประกอบพิธีกรรมทั้งหลายทั้งปวง ในขณะเดินป่าก็จะเป็นผู้ชี้ขาด และตัดสินใจ ขณะกระทำการจับช้างป่ามีกฤตาคมสูง สามารถป้องกันภัยทั้งจากภูตผี และสัตว์ป่าด้วยเวทมนต์ ในการออกจับช้างป่าแต่ละครั้ง ครูบาใหญ่จะต้องแสดงความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่
ชาวกูยมีการนับถือผีและศาสนาพุทธผสมกัน ภายในชุมชนมีทั้งวัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน ผีบรรพบุรุษเรียกว่า "ญะจัวะฮ" บนบ้านจะมีหิ้งบูชา ผีบรรพบุรุษ บางบ้านสร้างศาลไว้ใกล้ศาลเจ้าที่ ในการเซ่นผีกระทำปีละครั้ง เริ่มพิธีโดยมี ข้าวสุก เหล้า เนื้อสัตว์ กรวยใบตอง ผ้า สตางค์ หมากพลู เอามาวางไว้ใต้หิ้งบูชา ทำพิธีเซ่นโดยเอาน้ำตาลโรยบนข้าวสุก จุดเทียนปักลงที่ข้าวแล้วกล่าวขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครอง ขณะที่กล่าวค่อยๆ รินเหล้าลงขัน แล้วหยิบของที่ใช้เซ่นวางบนหิ้งที่เหลือนำมารับประทาน การเซ่นผีอาจจัดขึ้นในวาระอื่น ๆ เช่น เมื่อมีเด็กคลอด หรือ เมื่อมีแขกมาเยือนและพักอาศัยอยู่ที่บ้าน
นอกจากนั้น ชาวกูยยังนับถือวิญญาณได้แก่ ภูติผีปีศาจ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา ผีปอบ และเรื่องขวัญ ในหมู่บ้านจะมีแม่เฒ่าทำหน้าที่ดูแลความเจ็บไข้ ชาวกูยเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของผี จึงมีการอ้อนวอนให้ผีพอใจ โดยมีการรำแกลมอ หรือผีมอ ผู้ที่จะรำผีมอต้องผ่านพิธีไหว้ครู ครอบครูชาวกูยยังมีพิธีไหว้พระแข สันนิษฐานกันว่าเป็นพิธีที่ได้จากเขมร พิธีนี้เป็นพิธีเสี่ยงทายเพื่อดูปริมาณน้ำฝนที่จะตกในเดือนต่างๆ ที่เป็นฤดูทำนาในปี
การแต่งกายของชาวกูย หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัดเงิน นิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหู ชาวกูยนิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกมีสีเดียวเป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่ง ผ้านุ่งสตรีนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาล มีหัวซิ่นพื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดงผ้าจะกวีเป็นผ้าคล้ายอันลูซีม ของเขมรมีลายทางยาวเป็น ผ้าที่สตรีใช้นุ่งในงานสำคัญๆ
ในอดีตอีสานใต้เป็นดินแดนอิสระอย่างเอกราช ส่งผลไห้ชาวกูย หรือ ข่า ในแขวงเมืองอัตตะปือจำปาศักดิ์ และสาละวัน ประเทศลาว เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่ดินแดนแถบอีสานใต้ จนกระทั่งมีชุมชนกูย ได้ปรากฏชัดขึ้นและทำการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในอีสานใต้ (เขมรป่าดง) ซึ่งขณะนั้นอำนาจการปกครองของเมืองพิมายได้เข้าสู่พื้นที่เขตเขมรป่าดง แต่ทำการปกครองหัวเมืองในอีสานได้อย่างหลวมๆ
รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ.2301-2310) และในปี 2302 พระยาช้างเผือกแตกโรงออกจากกรุง ออกไปอยู่ในป่าดงทางตะวันตก แขวงเมืองจำปาศักดิ์ มีผู้นำชาวกูย 5 คน ให้ความช่วยเหลือข้าหลวงจากอยุธยา ในการติดตามเอาตัวช้างเผือกกลับคืนเมืองหลวงได้ จึงได้รับการตอบแทนความดีความชอบจึงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังกล่าว คือให้ ตากะจะ เป็นหลวงสุวรรณ เชียงขัน เป็นหลวงปราบ เชียงฆะ เป็นหลวงเพชร เชียงปุ่ม เป็นหลวงสุรินทรภักดี เชียงลี เป็นหลวงศรีนครเตา
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 07:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้นำชาวกูยได้ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ นำช้าง, ม้า, แก่นสน, ยางสน, ปีกนก, นอรมาด, งาช้าง, ขี้ผึ้ง สิ่งของดังกล่าวเรียกว่า "ส่วย" (ซึ่งคำว่า "ส่วย" นี่อาจเป็นที่มาของชื่อที่คนไทยเรียกชาวกูย) โดยนำไปส่ง ณ กรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในเวลาต่อมาโดยตั้งให้ หลวงสุวรรณ (ตากะจะ) เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็นเมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครวัด เจ้าเมืองบ้านโคกอัดจะ (บ้านดงยาง) เป็นบ้านสังฆะ ให้หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม) เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมือง ตั้งบ้านคูประทายสมัน (คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือ ตาพ่อควาน) เป็นพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (หรือบ้านเมืองเตา) เป็นเมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (พ.ศ.2325-2352) ก่อนนี้เป็นสมัยกรุงธนบุรี คือ พ.ศ.2319 เมืองจำปาศักดิ์ เกิดวิวาทกับพระวอ ซึ่งอยู่ที่ดอนมดแดง (ใน จ.อุบลราชธานี ปัจจุบัน) เจ้ากรุงศรีรัตนาคนหุตเวียงจันทน์ โปรดให้พระยาสุโพ คุมกองทัพมาตี พระวอสู้ไม่ได้ และได้จับพระวอฆ่าเสีย ฝ่ายท้าวก่ำ บุตรพระวอ กับท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง และท้าวทิดพรหม หนีออกมาได้ จึงให้คนถือหนังสือไปกรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพไปสมทบกับกำลังที่เกณฑ์จากเมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ และเมืองสังฆะ ซึ่งเป็นผู้นำชาวกูย ตามตีกองทัพของพระยาสุโพ กองทัพไทยตีเมืองต่างๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด อาณาจักรเวียงจันทร์ และนครจำปาศักด์ จึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่นั้นมา
ในปีเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองสุรินทร์ เจ้าเมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ เป็นตำแหน่ง "พระยา" ทางเมืองเขมรนั้นกองทัพไทย ได้ยกไปตีเมืองเสียมราช กำปงสวาย เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ และเมืองรูงตำแร็ย เมืองเหล่านี้ต้องยอมแพ้ต่อกองทัพไทย จากการชนะสงครามดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้มีกลุ่มชนชาวลาว และชาวเขมรเข้ามาอยู่อาศัย ในชุมชนกูย และมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงกว่าพวกกูย จึงถูกวัฒนธรรมเขมรกลืนไป เช่น เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ ส่วนที่เมืองกุดหวาย (รัตนบุรี) อุบลราชธานี และศรีษะเกษได้มีการปรับเปลี่ยนไปทางวัฒนธรรมลาวไปแทบทั้งสิ้น
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ให้กลุ่มชาวกูย เป็นข้าไพร่แผ่นดินสยาม ได้ถูกเกณฑ์แรงงาน และจัดส่งส่วยให้แก่ทางราชการอยู่โดยตลอด ในสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การเกณฑ์แรงงานกูยในเขตอีสานใต้ (เขมรป่าดง) เริ่มประสบความยุ่งยาก เพราะหนุ่มฉกรรจ์ชาวกูย มักหลบหนีการเกณฑ์ บางครั้งถึงกับซุ่มโจมตีทำร้ายเจ้าพนักงาน แล้วหนีเข้าป่า และมีชาวกูยได้ก่อการกบฏขึ้น
ดังเช่นกบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 ได้เกิดเหตุในแขวงเขตจำปาศักดิ์ และในเขตหัวเมืองต่างๆ ในอุบลราชธานี กบฏสาเกียดโง้ง พ.ศ. 2363 เป็นกบฏของข่า ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลาวใต้ และบริเวณอีสานใต้ ทางกรุงเทพฯ ได้ให้เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเวียงจันทร์ ยกทัพไปปราบ และได้จับสาเกียดโง้ง และชาวข่า (กูย) พร้อมทั้งครอบครัวจำนวนมากส่งมากรุงเทพฯ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จำสาเกียดโง้งไว้ตลอดชีวิต ส่วนครอบครัวกูยโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ตั้งบ้านเรือนที่บางบอนธนบุรี กูยเคยมีจำนวนถึง 300,000 คน ถูกลดจำนวนลงเหลือเพียงไม่กี่พัน เมื่อรัฐไทยได้เข้าไปทำการจัดเก็บภาษีในบริเวณอีสานใต้ โดยมีการพัฒนาจัดเก็บภาษีเป็นควาย ซึ่งนอกเหนือจากภาษีของคนป่า เพื่อนำส่งไปยังกรุงเทพฯ เช่นปี พ.ศ. 2402 ที่เมืองสุรินทร์ ให้จัดส่งควาย 61 ตัว เมืองรัตนบุรี 163 ตัว และกองพระยาภัคดีชุมพลเมืองสุรินทร์ 32 ตัว
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 07:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การจัดเก็บได้ทวีเพิ่มความรุนแรงขึ้น เมื่อชาวกูยไม่มีสิ่งของเป็นส่วยให้กับทางราชการ และพอถึงปลายรัชกาลที่ 4 ก็เข้ารอบวิกฤตอีก คือ กูย ไม่มีส่วยสิ่งของส่ง จึงเอาตัวคน กูย ส่งส่วยแทน ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 5 ได้เกิดกบฏผีบุญขึ้นใน พ.ศ. 2444-2445 มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายกบฏ กับฝ่ายรัฐบาลสะพือ (ปัจจุบันอยู่ใน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี) หัวหน้าฝ่ายกบฏคือ องค์ลูก น้องขององค์แก้ว หัวหน้าพวกข่า (กูย) ในลาว องค์มั่น มีชาวบ้านเข้าด้วยหลายพันคน เมื่อปะทะกับกองกำลังประมาณ 100 คน ของกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงสำเร็จราชการอีสานในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2445 ที่บ้านสะพือ
องค์มั่นก็สั่งให้พรรคพวกนั่งลง ภาวนาเอาบารมีบุญกุศลเป็นที่พึ่ง จะแคล้วคลาดจากกระสุนปืนใหญ่ ปรากฏว่าฝ่ายผู้มีบุญถูกกระสุนปืนใหญ่ตายนับร้อย ที่เหลือถูกจับ หรือแตกหนีไป เมื่อพิจารณา ถึงสาเหุตการเกิดกบฏ ถ้ามองด้านการปกครองรัฐบาลไทย ซึ่งนำเอาอย่างประเทศอาณานิคม คือ อังกฤษ ด้านวัฒนธรรมไม่เอาใจใส่ หรือไม่สนใจกับรากฐานทางวัฒนธรรม ดั้งเดิมที่ตนเข้าไปปกครอง ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะกดดันวัฒนธรรมเดิม ให้อ่อนด้อยลงพร้อมกับการนำเอาวัฒนธรรมใหม่เข้าไปแทน
ในแง่วัฒนธรรมทางการเมือง คือ การล้มเลิกระบบกินเมือง การเก็บภาษี มีการเปลี่ยนเเปลง คือ การเก็บภาษีเป็นตัวเงินที่เห็นได้ชัดคือการเก็บเงินค่าราชการ แต่เดิมรัฐบาลใช้การเกณฑ์เเรงงานและส่วย เมื่อมีการปลดไพร่ รัฐบาลเองก็ต้องการเงินมากกว่าเเรงงาน ในปี พ.ศ. 2439 รัฐบาลให้ทุกคนเสียค่าราชการคนละ 6 บาท เป็นมาตรฐานเดียวกับภาคกลาง ในขณะที่ภาคอีสาน เศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนเเปลงมากนัก ดังนั้นจึงก่อเกิดปัญหาชาวนาในภาคอีสานประสบความยากลำบาก ในการหาเงินเสียค่าราชการ และยังสะท้อนให้เกิดการเคลื่อนย้ายเเรงงานของคนอีสานมายังภาคกลาง
ปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบต่อชาวกูย เพราะสอดคล้องกับผลการสำรวจของ เอเจียน เเอมอนิเย ที่กล่าวว่า ชนเผ่ากูยเป็นเผ่าที่ยากจนที่สุด ไม่มีไร่นาจะเพาะปลูก เขามีเพียงไร่ผืนเล็กๆ กลางป่าเพื่อปลูกข้าว ต่อมาฝรั่งได้ขยายอำนาจสู่บริเวณอินโดจีน รัฐไทยมีนโยบายเพื่อความมั่นคง โดยเฉพาะชายแดนในอีสานตอนใต้ ที่มีชนชาติกูยได้ถูกผนวกเข้ากับรัฐไทย ได้เปลี่ยนสัญชาติกูยเป็นไทย การสำรวจสำมะโนครัว หรือ หากมีราษฎรติดต่อราชการที่จะต้องใช้เเบบพิมพ์ทางราชการให้ปฏิบัติโดย กรอกในช่องสัญชาติว่าไทย บังคับห้ามมิให้ลง หรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ชาติส่วย (กูย) ผู้ไทย ดังที่เคยปฏิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด
อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ชนชาติกูย มีบทบาทสำคัญยิ่งในบริเวณอีสานตอนใต้ ลาวใต้ และกัมพูชาตอนบน (ตะวันออกเฉียงเหนือทะเลสาบเขมร) มีความเป็นมาและได้มีการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผสมกลมกลืนกับชาวกัมพูชา ลาวและไทย ตลอดมาโดยเฉพาะความความสัมพันธ์กับชนชาติไทย
ปัจจุบัน กูย มีถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บางอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ บ้านสะเดาหวาน อ.พยัคฆ์ภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม อ.เกษตวิสัย อ.สวรรรภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และบางอำเภอในเขต จ.อุบลราชธานี
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 07:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
[size=+1]ชาวเยอ
สำหรับ "เยอ" เป็นชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร เรียกตนเองว่า กวย มีความหมายว่า คน เยอจัดอยู่ในกลุ่มของชนชาวกูย มีภาษาพูดเดียวกันมีบางคำเท่านั้นที่แตกต่างกัน ชาวเยอทั่วไปจะสูงประมาณ ๑๖๕ ซม. ผิวดำแดง การตั้งหมู่บ้านส่วนใหญ่ จะตั้งในเขตใกล้ลำน้ำ หรือลำห้วย ชาวเยอในแต่ละหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ ปกติชาวเยอ มีอาชีพทำนา แต่บางส่วนมีความชำนาญด้านการช่าง
ศาสนา เยอ นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในเรื่อภูต ผี ประเพณีคล้ายชาวกูย, ลงแขก รำผีฟ้า ผีแถน การละเล่นพื้นเมือง โหวด, ว่าวสะบู แข่งเรือ ศิลปวัฒนธรรม/ภูมิปัญญาช่างทำบ้าน ผ้าไหมมัดหมี่
ภาษาเยอ ภาษาเยอ (Nyeu) เป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ภาษากลุ่มมอญ-เขมร สาขามอญ-เขมรตะวันออก สาขาย่อยกะตู มีผู้พูดในประเทศไทย 200 คน ในจังหวัดศรีสะเกษ นักภาษาศาสตร์จัดภาษาเยอกับภาษากูยให้เป็นภาษาเดียวกัน เนื่องจากมีการใช้คำศัพท์พื้นฐานร่วมกันมาก มีความแตกต่างกันในเรื่องเสียงของพยัญชนะ และเสียงสระ
ภาษาเป็นภาษาเดียวกับภาษาส่วย แต่สำเนียงแตกต่าง และเพี้ยนกันไปตามสภาพแวดล้อม บางท่านสรุปว่าภาษาเยอคือ ภาษาส่วยที่ใกล้ชิดกับภาษาลาว ภาษากูยคือภาษาเยอที่ใกล้ชิดกับภาษาเขมร
ภาษาเยอเป็นภาษาที่มีความอ่อนไหวมาก จากอิทธิพลของภาษาลาว และภาษาเขมรมาก ในหมู่บ้านของชาวเยอ จะพูดภาษาเยอ ภาษาเขมร และภาษาลาว ทำให้มีโอกาสที่จะทำให้ภาษาเยอเป็นภาษาตายได้ในอนาคต
ภาษาเยอพูดกันใน บ้านกุง บ้านขาม ในกิ่งอำเภอศิลาลาด บ้านกลาง หรือบ้านเชือก บ้านจิก บ้านหลุบโมก บ้านดอนเรือ บ้านบากเรือ บ้านร่องโศก บ้านใหญ่ บ้านกลาง บ้านโนน บ้านหว้าน ในอำเภอราศีไศล บ้านขมิ้น บ้านโพนค้อ ในอำเภอเมืองศรีสะเกษ บ้านปราสาทเยอ และบ้านโพนปลัด ในอำเภอไพรบึง
อาหารชาวเยอ คล้ายกับกูย ในอดีตไม่นิยมกินเนื้อวัว เนื้อควาย
สะไนเครื่องดนตรีของชาวเยอ
สะไน เป็นภาษาเขมรแปลว่า "เขาสัตว์" ถ้าเป็นเขาควายก็จะเรียก "สะไนกะไบ" สะไนที่เป็นเครื่องเป่าของชาวเยอก็ทำจากเขาสัตว์โดยทำจากเขาควายเหมือนกัน เรียกเป็นภาษาเยอว่า "ซั้ง" หรือ "ซั้งไน" การที่ชาวเยอนิยมนำเขาควายมาทำสะไน เนื่องจากเขาควายมีรูลึกตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลายเขา ทำให้เจาะรูจากปลายเขาได้ง่าย ส่วนเขาวัวนั้นรูจากโคนเขาถึงปลายเขาไม่ลึกพอจึงไม่นิยม ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอราษีไศล สะไน เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรม หรือกิจกรรมที่สำคัญเท่านั้น เช่น พิธีกรรมบวงสรวงศาลพญากะตะศิลา การแข่งขันเรือ และเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ (หอยสังข์) ยังไม่นิยมนำมาเป่าเล่นเพื่อผ่อนคลาย หรือความบันเทิงใดๆ ตามที่ครูเฒ่าเผ่าเยอได้เล่าติดต่อกันมาว่า สะไนเป็นของศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญมาก
สะไนเป็นเครื่องเป่าที่สืบชื้อสายมาจากสังข์ (ในภาษาเยอเรียก ซั้ง "ปรงซั้ง" แปลว่า "เป่าสังข์") ลิ้นของสะไนทำจากไม้ไผ่ ใช้ยางไม้ติดเข้ากับตัวเขา ระหว่างปากลำโพงกับปลายเขา การเคารพบูชาสะไนจะเหมือนกับการเคารพบูชาสังข์ เพราะในอดีตชาวเยอเชื่อกันว่า การเป่าสะไนเป็นการเป่าบูชาสังข์ และเมื่อเป่าสะไนแล้ว เงือก นาค ภูตผีปีศาจ จะไม่มาทำร้ายคน พร้อมกันนี้จะทำให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาช่วยดูแลคุ้มครองรักษาชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี มีความปลอดภัย
ในสมัยก่อนเมื่อชาวเยอมีการเดินทางไกลต้องผ่านป่าเขา ถ้าหากเดินทางไปไม่ถึงที่หมายจำเป็นต้องนอนค้างแรมกลางป่าเขา จะต้องเอาสะไนไปด้วย ถ้ายามค่ำคืนก็จะเอาสะไนออกมาเป่า เพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางผีป่าผีเขาให้ช่วยดูแลรักษา ถ้าเป่าสะไนแล้วสัตว์ป่าก็จะไม่กล้ามาทำร้าย ในสังคมวัฒนธรรมที่มีความใกล้เคียงกันเช่น ส่วยและเขมร จะใช้สะไน เป็นเครื่องเป่าให้สัญญาณเวลาออกไปคล้องช้าง โดยเสียงสะไนที่เป่าแต่ละครั้งหรือแต่ละเสียง จะมีความหมายเป็นที่รู้จักกันในหมู่คณะ
ลักษณะดังกล่าวจึงเหมือนกับเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งของชนเผ่า "กะตู" ในเขตพื้นที่แขวงสาละวัน ประเทศลาว เรียก "ตะโล" เป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ แต่ตัดตรงกลางกระบอกไม้ไผ่ เพื่อทำลิ้นเวลาเป่าจะดูดเข้าหรือเป่าออกก็ได้ ใช้เวลาออกจับช้างเพื่อบอกสัญญาณให้เพื่อนรู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นโดยการเป่าแต่ละครั้ง หรือแต่ละแบบก็จะมีความหมายแตกต่างกันไปเช่น เป่าหนึ่งครั้งหมายถึง กำลังเดินหน้า เป่าสองครั้งหมายถึงเรียกมากินข้าว เป่าติดต่อกันหลายๆ ครั้งโดยไม่หยุดหมายถึงกำลังได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
การใช้สะไนของชาวส่วย เขมร และการใช้ตะโล ของชาวกะตู อาจกล่าวได้ว่าเป็นรหัสลับ คนที่จะรู้ความหมายของรหัสนี้ได้ก็ต้องเป็นคนในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น แต่ในสังคมวัฒนธรรมเยอไม่มีความเกี่ยวข้องกับช้างโดยตรงเหมือนชาวส่วยกับชาวเขมร การใช้สะไนของชาวเยอจึงเป็นเครื่องเป่าที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องของการกำเนิด "สังข์" การเป่าสะไนจึงเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ เนื่องจากสะไนเป็นเครื่องเป่าที่มีความศักดิ์สิทธิ์เท่ากับสังข์ และใช้ลิ้นแบบเดียวกับสังข์ ชาวเยอยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องเป่าว่า ในโลกนี้มีเครื่องเป่าอยู่สามแบบตามความเชื่อของชาวเยอคือ หอยสังข์ มีพระนารายณ์เป็นผู้สร้างถือว่าเป็นเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด รองลงมาคือสังข์นัย (สะไน) เป็นเครื่องเป่าของกลุ่มคนเยอมีความศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากหอยสังข์ เนื่องเป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายแต่ใช้ลิ้นสังข์ สุดท้ายคือแตรสังข์ (แตรเขาสัตว์) เป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้ลิ้นสังข์ คือเป่าจากปลายเขามักจะใช้เป็นสัญญาณในการสื่อสาร ในการเดินเรือสินค้า ที่มีน้ำไหลเชี่ยวและสายน้ำมีความคดโค้ง จะมีการเป่าแตรสังข์เพื่อไม่ให้เรือชนกัน ชาวเยอมีนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับการกำเนิดสังข์ และการกำเนิดสะไนคือเรื่อง นิทานเรื่องพระเจ้าสร้างโลกกับความเป็นมาของสังข์และสะไน
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 07:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ความเชื่อเกี่ยวกับสะไน


สะไน เป็นเครื่องดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่เขตพื้นที่อำเภอราษีไศล เนื่องจากมีความเชื่อว่าสะไนมีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงกับ สังข์ ที่เป็นเครื่องเป่าอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู แม้กระทั่งในสังคมไทยก็นับถือว่า สังข์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระราชพิธีที่สำคัญจะมีการเป่าสังข์ก่อน เพื่อเป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหล่าทวยเทวดาทั้งหลาย ถ้าเป็นงานมงคลระดับชาวบ้านประชาชนทั่วไป ก็มีการนำสังข์มาประกอบพิธีเช่น การตั้งศาลพระภูมิ การรดน้ำสังข์คู่แต่งงาน เป็นต้น เมื่อชาวเยอมีความเชื่อว่าสะไนกับสังข์มีความเกี่ยวข้องกัน จึงมีการเป่าสะไนเพื่อเป็นการบูชาสังข์


นอกจากนี้แล้วยังมีการนำสะไนมาเป่าเพื่อบูชาพระแม่ธรณีและพระแม่คงคาในประเพณีการแข่งเรือ (ส่วงเรือ) หรือเมื่อมีการเดินทางไกล ก็จะมีการเป่าสะไนก่อนออกเดินทางเพื่อให้เกิดโชคเดินทางปลอดภัย และได้รับความสำเร็จในการประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะถ้าเดินทางกลางป่าก็จะนำสะไนติดตัวไปด้วย เพราะชาวเยอเชื่อว่าสัตว์ป่าทั้งหลายถ้าได้ยินเสียงสะไนแล้วจะไม่เข้ามาทำร้าย และถ้าเป่าสะไนจะเป็นการบอกกล่าวให้ทวยเทวดาอารักข์ทั้งหลาย มาปกป้องดูแลไม่ให้เกิดอันตรายใด ในสมัยโบราณมีเรื่องจากผู้เฒ่าเผ่าเยอว่า บรรบุรุพของคนเยอถ้าจำเป็นต้องออกรบทำศึกสงครามกับเมืองไหน จะต้องมีการเป่าสะไนก่อนเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย โดยเชื่อว่าเสียงของสะไนจะทำให้ได้รับชัยชนะกลับมา หรือถ้าหากแพ้ก็จะสามารถหนีเอาตัวรอดกลับมาได้





ชาวเยอโบราณมีคำสอนเกี่ยวกับการเป่าสะไน และมีฤดูกาลสำหรับการเป่าสะไนไว้ว่า ถ้าจะเป่าสะไนต้องเป่าตั้งแต่เดือน 8 ค้อย (เดือนกรกฎาคมจะเข้าสิงหาคม) จนถึงเดือนอ้ายค้อย (เดือนธันวาคมจะเข้าเดือนมกราคม) ถ้านอกจากระยะเวลาดังกล่าวห้ามเป่าสะไน เพราะมันจะทำให้ "ฝนตก ฟ้าผ่ากลางวัน" หรือเกิดสิ่งไม่ดีต่างๆ ขึ้นในหมู่บ้าน แต่ถ้าเป่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนจะเป็นการเป่าเพื่อบูชาหอย และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฟ้าผ่าด้ย ความเชื่อดังกล่าวมักจะพบเห็นในสังคมวัฒนธรรมอีสานทั่วๆ ไป เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากนำมาทำเล่นเพื่อความสนุกสนาน โดยไม่รู้จักกาลเทศะย่อมเป็นสิ่งไม่ดี จึงมีกฎข้อห้ามต่างๆ ไว้
ฉะนั้นการเป่าสะไนจึงต้องเป่าเฉพาะโอกาสที่สำคัญ หรือในยามที่จำเป็นเท่านั้น จึงแสดงให้เห็นว่าสะไนคือเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ของเล่นที่จะนำมาเป่าเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อความสนุกสนาน การเป่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนแปดถึงเดือนอ้ายนั้น มีการให้เหตุผลตามความเชื่อว่า เป็นการเป่าเพื่อบูชาหอย (สังข์) เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่หอยกำลังผสมพันธุ์ ถ้าเป่าในช่วงนี้จะทำให้หอยมีการเจริญพันธุ์และขยายพันธุ์ดี และอีกอย่างการเป่าสะไนจะทำให้ฝนตก หากเป่าในช่วงนี้ก็จะเป็นผลดีต่อพืชพันธุ์น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเป่านอกฤดูกาลจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนอ้ายถึงเดือนสาม และช่วงนี้เป็นช่วงที่หอยจำศีลด้วยจึงห้ามเป่าสะไน เสียงของสะไนยังเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ปราบผีได้ หากที่ใดมีคำล่ำลือเกี่ยวกับความดุร้ายหรือความเฮี้ยนของผีสางนางไม้ ถ้าได้เป่าสะไนบริเวณนั้นจะทำให้ผียอมสยบไม่กล้าอาละวาดหลอกใครอีก

การเป่าสะไนถือได้ว่า เป็นการสร้างเสียงเพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์ โดยเสียงที่สร้างขึ้นไม่ได้มีความหมายตามหลักการของทฤษฎีทางดนตรีแต่อย่างใด (ไม่มีระบบโน้ตที่แน่นอน) แต่เป็นเสียงที่สร้างขึ้นตามลักษณะการพูด เป็นทำนองเพลงสนุกๆ เช่น เอาคักคักเอาคนคักคัก เป็นต้น เสียงการเป่าสะไนเป็นเสียงที่มีความดังเกินตัว (เสียงดังขนาดเล็ก) มนุษย์เมื่อได้พบเจอสิ่งใดที่ดูแล้วหน้าเกรงขาม ย่อมยกย่องให้สิ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกว่าดี ปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปรากฏการณ์ที่สำคัญยืนยันว่า มันจะนำมาซึ่งความสงบ ความยินดีของตนจริง เรียกว่า ภูมิปัญญา เสียงสะไนจึงเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ ฟังแล้วดูหน้าเกรงขาม เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ แต่เสียงนั้นใหญ่เกินตัวมาก

ปัจจุบันการเป่าสะไนยังคงมีอยู่ที่ศาลพญากตะศิลา เมืองคงโคก บ้านหลุบโมก ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ (ข้อมูลจากโครงการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ และ นายกิตติ วรรณวงษ์ บ้านร่องอโศก หมู่ 15 ต.เมืองคง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ)


ที่มา..http://www.isangate.com/isan/paothai_kui.html
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้