|
ผู้นำชาวกูยได้ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ นำช้าง, ม้า, แก่นสน, ยางสน, ปีกนก, นอรมาด, งาช้าง, ขี้ผึ้ง สิ่งของดังกล่าวเรียกว่า "ส่วย" (ซึ่งคำว่า "ส่วย" นี่อาจเป็นที่มาของชื่อที่คนไทยเรียกชาวกูย) โดยนำไปส่ง ณ กรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในเวลาต่อมาโดยตั้งให้ หลวงสุวรรณ (ตากะจะ) เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็นเมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครวัด เจ้าเมืองบ้านโคกอัดจะ (บ้านดงยาง) เป็นบ้านสังฆะ ให้หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม) เป็นพระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง เจ้าเมือง ตั้งบ้านคูประทายสมัน (คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือ ตาพ่อควาน) เป็นพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (หรือบ้านเมืองเตา) เป็นเมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (พ.ศ.2325-2352) ก่อนนี้เป็นสมัยกรุงธนบุรี คือ พ.ศ.2319 เมืองจำปาศักดิ์ เกิดวิวาทกับพระวอ ซึ่งอยู่ที่ดอนมดแดง (ใน จ.อุบลราชธานี ปัจจุบัน) เจ้ากรุงศรีรัตนาคนหุตเวียงจันทน์ โปรดให้พระยาสุโพ คุมกองทัพมาตี พระวอสู้ไม่ได้ และได้จับพระวอฆ่าเสีย ฝ่ายท้าวก่ำ บุตรพระวอ กับท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง และท้าวทิดพรหม หนีออกมาได้ จึงให้คนถือหนังสือไปกรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพไปสมทบกับกำลังที่เกณฑ์จากเมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ และเมืองสังฆะ ซึ่งเป็นผู้นำชาวกูย ตามตีกองทัพของพระยาสุโพ กองทัพไทยตีเมืองต่างๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด อาณาจักรเวียงจันทร์ และนครจำปาศักด์ จึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่นั้นมา
ในปีเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองสุรินทร์ เจ้าเมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะ เป็นตำแหน่ง "พระยา" ทางเมืองเขมรนั้นกองทัพไทย ได้ยกไปตีเมืองเสียมราช กำปงสวาย เมืองบรรทายเพชร เมืองบรรทายมาศ และเมืองรูงตำแร็ย เมืองเหล่านี้ต้องยอมแพ้ต่อกองทัพไทย จากการชนะสงครามดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้มีกลุ่มชนชาวลาว และชาวเขมรเข้ามาอยู่อาศัย ในชุมชนกูย และมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงกว่าพวกกูย จึงถูกวัฒนธรรมเขมรกลืนไป เช่น เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ ส่วนที่เมืองกุดหวาย (รัตนบุรี) อุบลราชธานี และศรีษะเกษได้มีการปรับเปลี่ยนไปทางวัฒนธรรมลาวไปแทบทั้งสิ้น
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ให้กลุ่มชาวกูย เป็นข้าไพร่แผ่นดินสยาม ได้ถูกเกณฑ์แรงงาน และจัดส่งส่วยให้แก่ทางราชการอยู่โดยตลอด ในสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การเกณฑ์แรงงานกูยในเขตอีสานใต้ (เขมรป่าดง) เริ่มประสบความยุ่งยาก เพราะหนุ่มฉกรรจ์ชาวกูย มักหลบหนีการเกณฑ์ บางครั้งถึงกับซุ่มโจมตีทำร้ายเจ้าพนักงาน แล้วหนีเข้าป่า และมีชาวกูยได้ก่อการกบฏขึ้น
ดังเช่นกบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 ได้เกิดเหตุในแขวงเขตจำปาศักดิ์ และในเขตหัวเมืองต่างๆ ในอุบลราชธานี กบฏสาเกียดโง้ง พ.ศ. 2363 เป็นกบฏของข่า ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลาวใต้ และบริเวณอีสานใต้ ทางกรุงเทพฯ ได้ให้เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเวียงจันทร์ ยกทัพไปปราบ และได้จับสาเกียดโง้ง และชาวข่า (กูย) พร้อมทั้งครอบครัวจำนวนมากส่งมากรุงเทพฯ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จำสาเกียดโง้งไว้ตลอดชีวิต ส่วนครอบครัวกูยโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ตั้งบ้านเรือนที่บางบอนธนบุรี กูยเคยมีจำนวนถึง 300,000 คน ถูกลดจำนวนลงเหลือเพียงไม่กี่พัน เมื่อรัฐไทยได้เข้าไปทำการจัดเก็บภาษีในบริเวณอีสานใต้ โดยมีการพัฒนาจัดเก็บภาษีเป็นควาย ซึ่งนอกเหนือจากภาษีของคนป่า เพื่อนำส่งไปยังกรุงเทพฯ เช่นปี พ.ศ. 2402 ที่เมืองสุรินทร์ ให้จัดส่งควาย 61 ตัว เมืองรัตนบุรี 163 ตัว และกองพระยาภัคดีชุมพลเมืองสุรินทร์ 32 ตัว
|
|