http://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=1732
หมายถึง เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังธรรมชั้นสูง คือ อริยสัจ มี ๕ ประการ คือ ๑. ทานกถา กล่าวคือทาน หมายถึง การพรรณนาคุณเรื่องการให้ทานและอานิสงส์ของการให้ทาน ว่าเป็นเหตุให้ได้รับความสุข เพราะผู้รู้จักให้เป็นที่รักใคร่ของคนหมู่มาก เป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งปวง เป็นหลักประกันของชีวิตในเวลาจะสิ้นใจเป็นต้น ๒. สีลกถา กล่าวคือศีล หมายถึง การพรรณนาคุณเรื่องการรักษาศีลและอานิสงส์ของการรักษาศีลว่า ผู้มีศีล ย่อมไม่ประสบความเดือดร้อนเนื้อร้อนใจจากที่ไหนๆ เพราะมีศีลเป็นเหมือนอาภรณ์อย่างประเสริฐ เป็นหลักประกันในการได้สมบัติทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นต้น ๓. สัคคกถา กล่าวคือสวรรค์ หมายถึง การพรรณนาคุณเรื่องสวรรค์ว่า เป็นที่อันเพรียบพร้อมด้วยกามสุขอันเป็นทิพย์มีแต่สิ่งที่น่ารื่นเริงบันเทิงเริงใจ เป็นผลที่ได้รับจากการให้ทาน รักษาศีล เป้นต้น ๔. กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม หมายถึง การพรรณนาโทษเรื่องของกามว่า แม้จะเป็นความสุข แต่ก็มีความทุกข์เจือปน ไม่มีความจีรังยังยืน มีโทษมากแต่คุณน้อย เพราะเป็นเหตุให้เวียนวายอยู่ในสังสารวัฏ เป็นต้น ๕. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์แห่งการออกจากกาม หมายถึง การพรรณนาถึงการออกจากกามและอานิสงส์ว่าเป็นความปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน เพื่อให้เกิดความพอใจที่จะคิดค้นหาวิธีการทำใจไม่ให้หมกมุ่นในกามนั้น วิธีการออกจากกามให้ได้ผลดีก็คือการออกบวชบำเพ็ญเพียร
|