3. ดงหลวงคือเขตปลดปล่อย : ผู้เขียนนึกขึ้นได้ว่าเคยซื้อหนังสือรวมเล่มของมติชนเรื่องหนึ่งคือ “สู่สมรภูมิภูพาน” เขียนโดย พ. เมืองชมพู หรือ “อุดม สีสุวรรณ” หรือบรรจง บรรเจิดศิลป์อดีตคณะกรมการกลาง พคท. เนื้อหาสาระเป็นการบันทึกความทรงจำของคุณอุดม สีสุวรรณสมัยเป็นผู้นำ พคท. และอาศัยอยู่ในพื้นที่ดงหลวงโดยมีพี่น้องไทโซ่ปกป้องชีวิตและดำเนินการการเมืองภายใต้กลุ่มพี่น้องไทโซ่ เป็นประวัติศาสตร์ดงหลวงช่วงสมัยที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่ง ใครที่ทำงานดงหลวงควรที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเข้าใจ “สำนึกของคนดงหลวง” ได้พอสมควร เพราะโลกทัศน์ และชีวทัศน์ของผู้นำในปัจจุบันยังคงเป็นผลมาจากการอยู่ภายใต้การปกครองของ พคท. ประมาณ 10-15 ปีก่อนที่นโยบาย 66/25 จะออกมาให้ทุกคนมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากคนนอกบอกกล่าวเรื่องราวของไทโซ่ เพราะการดิ้นรนต่อสู่ในป่านั้นมันสร้างระบบคิดและวิธีคิดจากไทโซ่ที่เป็นคนป่าคนดงมาสู่ไทโซ่ที่รู้สิทธิอันพึงมีพึงได้จากหน่วยงานราชการ 4. ความเชื่อเรื่องผี เจ้าที่ สมัยอยู่ป่า: พคท.ไม่อนุญาตให้ใครก็ตามพูดคุยหรือแสดงความเชื่อเรื่อง “ผี” หรือ เจ้าที่” ออกมาเพราะเป็นเรื่องงมงาย ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ และจะทำให้พลังมวลชนไขว้เขว กรณีตัวอย่างสตรีนางหนึ่งที่บ้านพังแดง ผู้เล่ากล่าวว่าเป็นคนหน้าตาดี มีสามีมาหลายคน แต่เป็นคนที่สนใจการเป็น “นางเทียม” หรือเป็นคนทรง เป็นสื่อให้วิญญาณต่างๆเข้ามาสถิต แล้วทำนายทายทักต่างๆ นางนี้ได้อยู่ภายใต้การปกครองของพคท.เหมือนกับพี่น้องบ้านพังแดงทั้งหมด แต่ยังเข้านางเทียมอยู่ ซึ่งมีพี่น้องไทโซ่จำนวนมากสนใจและมาพึ่งพาการทำนายทายทักของทางเทียมผู้นี้ พคท. ส่งคนมาเจรจาตักเตือนถึง 3 ครั้ง ในที่สุดนางก็ถูกยิงตายคาบ้านพักที่บ้านพังแดง ปัจจุบันลูกสาวนางเทียมผู้นี้ชื่อ “ดาว” แต่งงานกับ อบต.คนหนึ่งในปัจจุบัน เมื่อพฤติกรรมความเชื่อถูกกดด้วยกติกาของ พคท. เช่นนี้จึงไม่มีใครแสดงออก แต่ลึกๆแล้วชาวไทโซ่ก็ยังเชื่ออยู่ เพราะความเชื่อไม่ได้ถูกล้างด้วยกฎ กติกาใดๆได้ จะเห็นได้จาก เมื่อสิ้นยุค พคท. การแสดงออกของความเชื่อคืนมาทันที เช่นพิธี ก๊วบ, พิธีไหว้เจ้าปู่องค์ดำที่บ้านมะนาว, พิธี 3 ค่ำเดือน 3, พิธีไหว้เจ้าปู่ตาก่อนดำนาและเกี่ยวข้าว, พิธีเหยา และการเข้านางเทียม เป็นต้น
|