ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1900
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ไม้มะเดื่อกับประเพณีไทย

[คัดลอกลิงก์]

ต้นมะเดื่อ
ไม้มะเดื่อเป็นไม้ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีไทยมาแต่โบราณ ในพระราชพิธีราชาภิเษกในสมัยกรุงศรีอยุธยา และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีกล่าวถึงพระที่นั่งที่ทำด้วยไม้มะเดื่อไว้ด้วย เช่นกล่าวว่า “พราหมณ์ถวายนํ้าพระกลศ นํ้าพระสังข์ เสดาะพระเคราะห์ แล้วทรงพระภูษาลายพื้นแดง ฉลองพระองค์กรองทองเสด็จขึ้นบนพระที่นง เสด็จขึ้นนั่งบนตั่งไม้มะเดื่อ กว้างจตุรัสศอกคืบ ปูผ้าขาว โรยแป้ง วางหญ้าคา ผ้าขาวปกบน” และอีกตอนหนึ่งว่า “ริมพระแท่นพิธีแว่นฟ้า ตั้งพระที่นั่งอัฐทิศทำด้วยไม้อุทุมพร” ในหนังสือราชาธิราชก็มีกล่าวถึงในตอนพระยาเกียรราชบุตรขึ้นเสวยราชสมบัติ ในพระราชพิธีราชาภิเษก “ให้ตั้งพระมหามณฑปแล้วไปด้วยไม้มะเดื่อ ทำที่พระสหัสสธาราเสร็จแล้ว ครั้นได้พิชัยฤกษ์อันเป็นศุภมงคลก็อัญเชิญพระยาเกียรราชบุตรเสด็จขึ้น ทรงพระสหัสสธารา ในมหามณฑปเสร็จแล้ว ก็เสด็จขึ้นทรงนั่งบนพระที่นั่งอุทุมพรภัทรบิฐ” ดังนี้จะเห็นว่าไม้มะเดื่อเป็นที่นับถือทั้งไทย พม่า มอญ มาแต่โบราณ
ตามข้อความที่ยกมากล่าวข้างต้นนั้น ชวนให้คิดว่าทำไมจึงต้องใช้ไม้มะเดื่อจะใช้ไม้อย่างอื่นไม่ได้หรือ ไม้มะเดื่อมีความสำคัญอย่างไรจึงต้องนำมาสร้างเป็นพระที่นั่งอัฐทิศ หรือตั่งสำหรับนั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก เรื่องนี้ได้ค้นตามจดหมายเหตุโบราณดูแล้วยังไม่พบที่มาอย่างแจ่มแจ้ง แต่มีเรื่องปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าเรื่องหนึ่ง และในชาดกอีกเรื่องหนึ่ง จะขอยกข้อความในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า มาพิจารณาก่อนดังนี้
“ข้าราชการทั้งปวงจึ่งเชิญเจ้าฟ้าเอกทัศขึ้นครองราชสมบัติ ก่อนที่เจ้าฟ้าเอกทัศจะขึ้นครองราชสมบัตินั้น เกิดนิมิตอัศจรรย์ลมพายุพัดต้นมะเดื่อซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งพระราชวังหัก ยอดมะเดื่อที่หักนั้นหันมาทางพระราชมณเฑียร ข้าราชการทั้งปวงเห็นอัศจรรย์ดังนั้น ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูล เจ้าฟ้าเอกทัศจึงรับสั่งว่า นิมิตซึ่งเกิดขึ้นนี้เป็นมงคล พวกเจ้าทั้งหลายจงนำไม้มะเดื่อนั้นมาทำแท่นเถิด ข้าราชการทั้งปวงก็ไปตั้งพิธีบวงสรวงมีมหรสพสมโภช แล้วตัดไม้มะเดื่อนั้นมาทำเป็นพระแท่น เมื่อสำเร็จแล้วจึ่งจัดการราชาภิเษก ให้เจ้าฟ้าเอกทัศทรงเครื่องสำหรับกษัตริย์ เสร็จแล้วเชิญขึ้นประทับเหนือแท่นไม้มะเดื่อ”
ตามเรื่องราวที่กล่าวมานี้ มิได้กล่าวไว้ชัด ว่าการเอาไม้มะเดื่อมาทำเป็นแท่นในพระราชพิธีราชาภิเษกนั้น ได้เริ่มมีในรัชกาลนี้ แต่การที่กิ่งมะเดื่อหักและเอามาทำเป็นแท่นนั้น ส่อให้เห็นว่า มีความเชื่อถือเกี่ยวกับต้นมะเดื่ออยู่แล้ว ครั้นกิ่งมะเดื่อหักหันมาทางพระราชมณเฑียรก็สรุปเอาว่าเป็นมงคล จึงเอามาทำเป็นแท่น คิดดูก็น่าจะมีแบบธรรมเนียมใช้แท่นไม้มะเดื่อมาก่อนแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปอีก
ต้นเหตุที่จะใช้ตั่งไม้มะเดื่อ ยังไม่พบคำอธิบายที่ไหนชัดเจน มีแต่ในเรื่องชาดกเรื่องหนึ่งซึ่งจะเล่าให้ฟัง

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-6-7 17:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ในสมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสีนั้น มีช่างไม้ในเมืองพาราณสีคนหนึ่งเข้าไปตัดต้นไม้ในป่า และได้ไปพบลูกสุกรตัวหนึ่งตกอยู่ในบ่อ ช่างไม้คนนั้นจึงช่วยเอาขึ้นมาแล้วพาไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน เมื่อลูกสุกรโตขึ้นก็ได้ช่วยเหลือช่างไม้ต่างๆ นานา เช่นช่วยคาบเครื่องมือมาให้ เวลาช่างไม้จะตีเส้นบรรทัด สุกรตัวนั้นก็คาบเอาปลายด้ายข้างหนึ่งไปที่เครื่องหมายแล้วดึงไว้ นายช่างก็ตีเส้นบรรทัดได้ หรือเวลาที่ช่างไม้กำลังถากไม้อยู่ สุกรก็ช่วยพลิกไม้ด้วยจงอยปากด้วยจมูก ความสามารถของสุกรมีเช่นนี้ จึงทำให้ช่างไม้รักและเมตตาสุกรเป็นอันมาก สุกรตัวนั้นต่อมาได้ชื่อว่าวัฑฒกีสุกร เพราะ เป็นสุกรที่ช่างไม้เลี้ยงไว้
ต่อมาช่างไม้คิดสงสารว่าเมื่อสิ้นบุญตนแล้ว คนอื่นก็จะฆ่าสุกรกินเสีย เพื่อป้องกันเหตุร้ายจึงได้นำสุกรไปปล่อยไว้ในป่าวัฑฒกี ก็ท่องเที่ยวไปจนถึงที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีฝูงสุกรอาศัยอยู่ก่อนแล้ว แต่สุกรเหล่านั้นกำลังถูกเสือโคร่งคุกคามอยู่ วัฑฒกีจึงแนะนำให้สู้ เพราะถ้าขืนปล่อยให้เสือมาจับไปกินวันละตัว ไม่ช้าก็หมด พวกสุกรเห็นชอบด้วยยกให้วัฑฒกีสุกรเป็นหัวหน้าฝ่ายปราบปราม วัฑฒกีจึงวางกำลังแบบกองทัพไว้สู้เสือโคร่ง คือให้ลูกสุกรอยู่ข้างใน ถัดออกมาชั้นที่สองจัดพวกนางสุกรที่มีอายุปานกลางยืนล้อมลูกสุกรไว้ ถัดออกมาชั้นที่สามจัดพวกสุกรหนุ่มยืนล้อมนางสุกรไว้ ถัดออกมาชั้นที่สี่ จัดพวกสุกรแก่ยืนล้อมพวกสุกรหนุ่มไว้ ถัดออกมาชั้นที่ห้า จัดพวกสุกรที่มีเขี้ยวยาวและเขียวกางให้ยืน ล้อมพวกสุกรแก่ ส่วนรอบนอกให้พวกสุกรหนุ่มฉกรรจ์ที่เคยต่อสู้ ยืนล้อมพวกสุกรเขี้ยวยาว เมื่อวางกำลังไว้ตามแผนเรียบร้อยแล้วก็ให้ขุดหลุมไว้ข้างหน้าที่ตนจะยืนอยู่หลุมหนึ่ง ข้างหลังหลุมหนึ่งพอ จัดการทุกสิ่งเรียบร้อยก็พอดีรุ่งสว่าง
ฝ่ายเสือโคร่งพอรุ่งเช้าได้เวลาที่จะมาจับสุกร ก็ออกจากที่อยู่มายืนถลึงตาดูพวกสุกรอย่างที่เคยทำมา วัฑฒก็สุกรก็ให้พวกสุกร แลดูตอบเสือไปบ้าง เมื่อเห็นเสืออ้าปากหายใจ ก็ให้พวกสุกรอ้าปากหายใจล้อเลียน เมื่อเห็นเสือโคร่งถ่ายปัสสาวะ ก็ให้พวกสุกรถ่ายปัสสาวะบ้าง ไม่ว่าเสือโคร่งจะทำอะไร พวกสุกรก็ทำเลียนทุกอย่าง เสือโคร่งเห็นพวกสุกรไม่หวาดกลัวเหมือนแต่ก่อนก็แปลกใจ และเมื่อแลเห็นวัฑฒกีสุกรยืนเป็นสง่าอยู่ในที่อันเป็นชัยภูมิก็ชักลังเลใจ นึกว่าพวกสุกรคงจะเล่นงานตนแน่ เสือโคร่งชักใจไม่ดีก็หันหลังกลับไปที่อยู่
ในครั้งนั้นมีดาบสโกงผู้หนึ่ง เคยได้กินเนื้อสุกรที่เสือโคร่งเอามาแบ่งให้เสมอๆ เมื่อเห็นเสือโคร่งกลับมาไม่มีสุกรเหมือนเช่นเคยก็สงสัย จึงซักถามเรื่องราวดูพอทราบว่าเสือโคร่งชักจะเกรงพวกสุกรก็ปลุกปลอบใจว่า อย่ากลัวเลยกลับไปเถอะคราวนี้ส่งเสียงคำรามแล้วเผ่นเข้าไป พวกสุกรก็จะตกใจหนีไปเอง เสือโคร่งได้รับคำปลุกปลอบใจให้กล้าหาญเช่นนั้นก็กลับไปอีก พวกสุกรเห็นเสือโคร่งกลับมาก็ร้องบอกวัฑฒกีสุกร ขณะนั้นวัฑฒกีสุกรยืนอยู่ระหว่างหลุมทั้งสอง จึงร้องปลุกใจไม่ให้พวกสุกรตกใจกลัวและว่าคราวนี้แหละจะจับเสือโคร่งให้ได้
เสือโคร่งส่งเสียงคำรามตามคำแนะนำของดาบสโกง แล้วก็กระโดดเข้าไปหมายจะตะครุบวัฑฒกี แต่วัฑฒกีสุกรระวังตัวอยู่แล้วจึงถอยหลังหลบลงหลุมที่ขุดไว้เบื้องหลัง เสือโคร่งกระโดดมาด้วยกำลังแรงยั้งไม่ทันก็พลัดตกลงไปในหลุมที่พวกสุกรขุดขวางหน้าไว้ วัฑฒกีเห็นเช่นนั้นก็ไม่รอช้าขึ้นจากหลุมที่หลบซ่อนอยู่ วิ่งปราดเข้าใส่เสือโคร่งราวกับสายฟ้าแลบ ใช้เขี้ยวอันแหลมคมขวิดเสือโคร่งเสียไส้ทะลักขาดใจตาย แล้วจึงเรียกพวกสุกรให้มากินเนื้อเสือโคร่ง ต่อจากนั้นก็ยกพวกไปตามจับดาบสโกงมาลงโทษ ดาบสแลเห็นพวกสุกรยกพวกมาเช่นนั้นก็ตกใจวิ่งหนี พวกสุกรก็ไล่ตาม ดาบสเห็นจวนตัวก็หนีขึ้นไปบนต้นมะเดื่อชุมพร(คำนี้ใช้ตามต้นฉบับ เพื่อแสดงให้เห็นว่า มะเดื่ออุทุมพรนั้นบางทีก็เรียกว่า มะเดื่อชุมพร ท่านผู้รู้อธิบายว่า ภาษาอินเดียพูดว่า ทุมพรไม่มีอุ ต่อมาจึงเพี้ยนจากทุมพรเป็นชุมพร) วัฑฒกีจึงให้พวกนางสุกรไปอมนํ้ามาพ่นลงที่โคนต้นมะเดื่อ แล้วให้พวกลูกสุกรช่วยกันขุดคุ้ยดินที่โคนต้น กัดรากเหง้ามะเดื่อให้ ขาด ส่วนพวกสุกรทั้งหลายก็ล้อมต้นมะเดื่อไว้อย่างแน่นหนา เพื่อไม่ให้ดาบสหนีไปได้ พอต้นมะเดื่อล้มลง พวกสุกรก็ตรูกัน ไปกัดกินเนื้อดาบสที่พลัดตกลงมา เมื่อปราบดาบสโกงได้แล้ว “พวกสุกรทั้งหลายจึงอัญเชิญวัฑฒกีสุกรให้ขึ้นยืนบนลำต้นมะเดื่อชุมพรที่โค่นลงนั้น แล้วไปเอาสังข์ที่ชฎิลโกงใส่ตักนํ้ามาทำเป็นสังข์ สำหรับรดนํ้า จึงไปตักนํ้ามาด้วยสังข์นั้น แล้วรดอภิเษกวัฑฒกีสุกร ให้เป็นพระราชา และอภิเษกนางสุกรตัวหนึ่งให้เป็นอัครมเหสีของวัฑฒกีสุกรผู้พระราชานั้น”
จำเดิมแต่ครั้งนั้นมา หมู่อำมาตย์ราชเสวกทั้งหลายจึงอัญเชิญ พระราชาให้เสด็จประทับเหนือภัทรบิฐที่ทำด้วยไม้มะเดื่อชุมพร แล้วรดนํ้าด้วยสังข์ทั้ง ๓ ตามวิธีในครั้งนั้น เป็นประเพณีขัติยราชสืบต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้”
เรื่องวัฑฒกีสุกรชาดก ที่เล่ามาข้างต้นนี้แสดงถึงตำนานที่จะใช้ไม้มะเดื่อทำเป็นตั่งหรือพระที่นั่งอัฐทิศดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น แต่จะเริ่มทำกันมาตั้งแต่เมื่อไรนั้น เป็นการยากที่จะค้นไปถึง

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-6-7 17:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีตำนานทางฝ่ายฮินดู,กล่าวไว้อักว่า ไม้มะเดื่อนั้นเป็นที่ประทับของเทพตรีมูรติ ตามรูปทำเป็นเทวดามีสามหน้า ว่าหมายถึงพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ธรรมเนียมที่ให้พระเจ้าแผ่นดิน ประทับบนตั่งไม้มะเดื่ออาจจะเนื่องมาจากนี้ก็ได้ เพราะไม้มะเดื่อเคยเป็นที่ประทับของเทพเจ้ามาแล้ว ไม้มะเดื่อตามความเชื่อของพวกฮินดูเขาว่าพวกผู้หญิงที่ปรารถนาจะได้บุตร เขาให้ไปเดินเวียนรอบต้นมะเดื่อหนึ่งพันรอบ ทุกๆ เช้า กิ่งแห้งใช้บูชาไฟ ต้นเหตุก็เห็นจะเป็นเพราะต้นมะเดื่อ มีผลดกมากนั่นเองคิดว่าถ้าบูชาแล้วคงจะมีลูกบ้าง
ในคำอธิบายเรื่องพระศุนหเศป (หน้า ๘๖) พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกล่าวไว้ว่า
“๕๘ ผลอุทุมพรถือว่าเป็นผลไม้สำคัญ เพราะตัวต้นไม้เป็นที่นับถือ เป็นของสำหรับกันกับกษัตริย์ นอกจากตั่งภัทรบิฐ ยังมีของอื่นๆ ที่ทำด้วยไม้อุทุมพรเป็นเครื่องใช้ในงานราชาภิเษก คือกระบวยที่ใช้ตักนํ้ามันเจิมถวาย ก็ทำด้วยไม้อุทุมพร และในโบราณกาล หม้อน้ำที่พวกกษัตริย์ใช้ถวายน้ำก็ทำด้วยไม้อุทุมพร”
ในตำนานอดีตพุทธเจ้ากล่าวว่า พระผู้มีพระภาคโกนาคมนะ ซึ่งเป็นบุตรของนางพราหมณีชื่ออุตตรา ภรรยาของพราหมณ์ยัญญทัต ในนครโสภวดี ต่อมาโกนาคมนะได้ขี่ช้างออกมหาภิเนษกรมณ์ กระทำความเพียรอยู่ ๖ เดือน ก็ตรัสรู้ที่โคนต้นมะเดื่อ นี่แสดงว่า ต้นมะเดื่อก็เคยเป็น “ต้นไพธิ์” ที่ตรัสรู้มาแล้วเหมือนกัน
ความจริงนั้น ต้นมะเดื่อก็มีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่ในพุทธประวัติเหมือนกัน ตามเรื่องกล่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงใช้เป็นที่ประทับหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จหนีออกจากพระบรมมหาราชวังเพื่อหาทางดับทุกข์สละกิเลส พระองค์ได้เสด็จไปถึงหน้าถํ้าแห่งหนึ่งบนเขารัตนะบุรี กรุงราชคฤห์ ที่หน้าถํ้านี้มีต้นมะเดื่อใบดกหนา ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นมะเดื่ออุทุมพร พระองค์ได้ประทับอยู่ในที่นี้ ตามพุทธประวัติ ได้บรรยายถึงสถานที่นี้ไว้ว่า
“ท่านทั้งหลายที่ได้ผ่านมา ณ สถานที่นี้ควรจะได้แสดงคารวะโน้มเศียรอภิวาท เพราะจะหาที่ใดบริสุทธิ์ควรแก่การเคารพมากไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้วเนื่องจากเป็นสถานที่เดียวที่กษัตริย์ทรงสละราชบัลลังก์ ลงเกลือกกลั้วบนพื้นหญ้าแทนพระแท่นที่บรรทม’’
มะเดื่อมีหลายชนิด เช่นมะเดื่อฝรั่ง มะเดอปล้องหิน มะเดื่อกวาง มะเดื่อเถา มะเดื่อหว้า แต่ในที่นี้จะพูดถึงมะเดื่อชุมพรหรืออุทุมพรโดยเฉพาะ ลักษณะของมะเดื่อชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นเกลี้ยง ใบโตยาว โดยมากมีรังหนอน มีเม็ดกลมโต ปรากฏอยู่ที่ใบ ตามปกติชอบขึ้นตามริมแม่นํ้าลำธาร มีทั้งภาคเหนือและภาคกลาง เปลือกต้นมะเดื่อมีรสฝาดกินแก้ท้องร่วง และชะล้างบาดแผลเป็นยาสมานได้ดี รากใช้เป็นยาแก้ไขพิษทุกชนิด
ผลมะเดื่อมักออกเป็นกระจุกอยู่ตามกิ่งและลำต้น ผลอ่อนใช้รับประทานได้ เคยเห็นบางคนเอามาจิ้มนํ้าพริกกิน ภายในผลมีเกสร เล็กๆ เมื่อสุกจัดจะมีสีแดง เวลาบิออกมักจะมีแมลงหวี่เข้าใจว่าแมลงหวี่จะเข้าไปฟักไข่ พอตัวแก่ก็พากันเจาะออกมา ด้วยเหตุนี้กวีจึงชอบนำเอามากล่าวเปรียบเทียบเสมอ อย่างเช่นสุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองตอนหนึ่งว่า
“ถงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด
บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน
อุประไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา”

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-6-7 17:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ไม้มะเดื่อมีชื่อตามภาษาพฤกษศาสตร์ว่า Ficus glomerata ตามชื่อพื้นเมืองเรียกกันหลายอย่างเช่น มะเดื่อชุมพร มะเดื่ออุทุมพร ทางพายัพเรียกว่า เดื่อเกี้ยง ภาคใต้เรียกว่า เดื่อนํ้า พวกกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า กูแซ ในภาษาบาลีเรียกว่า ยัญญังค์ก็มี คนไทยเราจะรู้จักหรือเรียกชื่อมะเดื่อมาตั้งแต่ครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่คนไทยเคยใช้เป็นชื่อคนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เช่นพระเจ้าอุทุมพร (เดิมมีพระนามว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ เพราะเมื่อพระชนนีแรกจะมีพระครรภ์ พระราชบิดาทรงพระสุบินนิมิตฝันว่าพระองค์ได้ดอกมะเดื่อ พระองค์จึงทรงทำนายฝันของพระองค์เองว่า ดอกมะเดื่อนี้ไม่มีหายากนัก เมื่อมาได้ดอกมะเดื่อจึงเป็นลาภใหญ่ คิดจะให้ราชโอรสครองราชสมบัติสืบไป จึ่งตั้งเจ้าฟ้าดอกเดื่อ ให้เป็นที่มหาอุปราช แลสมมุตินามเรียกพระอุทุมพร) พระเจ้าเสือก็มีพระนาม
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้