ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2469
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

การทำสมาธิ

[คัดลอกลิงก์]

1.การทำสมาธิ
การทำสมาธิ ทำเพื่อให้จิตสงบ หลีกเร้นจากความฟุ้งซ่าน และเป็นการเตรียมพลัง เหมือนเราชาร์ตแบตตอรี่ในเวลากลางคืนแล้วพอตอนเช้าก็เอาไปใส่โทรศัพท์มือถือ ทำให้ใช้งานได้ไปตลอดวัน
การทำสมาธิ ไม่ได้นั่งเพื่อจะเห็นอะไร ไม่ได้นั่งเพื่อถอดจิตไปไหน แต่นั่งเพื่อให้ใจสงบ ให้สติกินข้าว สติจะได้มีแรง
หลวงพ่อชาบอกว่า "นั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง จะเย็นไปได้ 3 วัน" เพราะฉะนั้น ถ้าเรานั่งทุกวันติดต่อกัน ก็จะเย็นไปเป็นปี ถ้าใครนั่งไม่ได้ ก็นั่ง 10 นาที จะเย็นไปได้ 1 วัน
ตอนนั่งสมาธิ เราจะรู้สึกว่ามีเรื่องหลายเรื่องมากกว่าตอนไม่ได้นั่ง เรื่องอะไรไม่รู้เข้ามาตีกันเต็มในหัว แต่แม้กระนั้นก็ให้ลองสังเกตดูว่า ในท่ามกลางความยุ่งเหยิงในสมองเป็นเวลา 10 นาทีนั้น ถ้าทำทุกวัน ยังจะปรากฏความเย็นได้ 1 วัน นอกเวลานั่งสมาธิได้ คือ มันยังให้ผลอยู่ได้เหมือนกัน ก็แปลกดี แต่จริง
2. ทำสมาธิโดยการนั่งสมาธิ
การนั่งสมาธิ มี 2 จุดประสงค์
1. นั่งสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ได้พักจิตใจ นั่งโดยการดูลมหายใจ ตั้งจิตอยู่ที่รูจมูก สังเกตลมที่กระทบตอนเข้าและออก บางคนบริกรรมด้วย เมื่อจิตสงบ บางทีคำบริกรรมจะหายไป ก็ให้หายไป บางทีสงบจนลมหายใจละเอียดแผ่วเบา เหมือนไม่ได้หายใจ
การนั่งให้จิตสงบอย่างนี้ เรียกสมถะภาวนา
2. วิปัสสนา เป็นการดูจิตเพื่อเจริญปัญญา จิตจะเจริญของเขาเอง แล้วแต่เขาจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาพิจารณา โดยก่อนหน้านั้นผู้ปฏิบัติเพียงแต่เจริญสติสัมปชัญญะเท่านั้น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงวิธีปฏิบัติที่ละเอียดมาก จึงจะถึงขั้นนี้ได้ หลักการดูจิตขอแนะนำให้ท่านผู้อ่าน ศึกษาจากหนังสือของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลักของท่านว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"
มักมีผู้เล่าให้ฟังว่า คนนั้นนั่งสมาธิแล้วเห็นอะไรต่ออะไร บางทีก็เล่าด้วยความชื่นชม บางคนเลยไปถึงว่าบรรลุแล้ว ความจริงการได้เห็นไม่ใช่จุดประสงค์ของสมถะภาวนา เพราะสมถะภาวนาต้องการความสงบ และไม่ใช่จุดประสงค์ของวิปัสสนา เพราะวิปัสสนาต้องการรู้ไตรลักษณ์ เพื่อให้จิตหลุดพ้น แต่การเห็นอะไร ๆ นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ได้มาตามทาง
เหมือนกับเราจะเรียนทำกับข้าว กว่าจะไปถึงเคล็ดลับการปรุงอันเป็นสูตรสุดยอด ก็ต้องผ่านการเป็นลูกมือ รู้ว่าหั่นหัวหอมยังไงไม่ให้น้ำตาไหล คั้นกะทิเป็น คือได้ความรู้ตามเส้นทางที่ผ่านติดตัวมาบ้าง การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน
สิ่งที่จะได้ติดไม้ติดมือไปก่อนจะถึงจิตขั้นสูงก็มี เช่น รู้วาระจิตของคนอื่นได้ เป็นต้น แต่การเห็นอะไรที่ตื่นเต้นกันั้น กลับเป็นตัวหลอกให้หยุดการเดินทาง ให้มัวเพลินอยู่กับมัน เหมือนกับจะไปดอนเมืองขึ้นเครื่องบิน พอผ่านแดนเนรมิตก็แวะดูปราสาทเจ้าหญิงนิทราเพลิน เลยเลิกเดินทางไปดอนเมืองเสียแล้ว เป็นตัว
หลอกให้หลงเอาไว้เพื่อไม่ให้เราไปต่อ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล สอนว่า
"เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่าย ๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง "
"ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"
ฉะนั้น ใครที่อยากเห็นอะไร หรือเห็นแล้วดีใจเข้าไปเห็นอยู่เรื่อย ก็ควรรู้ว่ามันไม่ประโยชน์แก่ตัวเรา เพราะการเห็นนั้น ไม่ได้พาตัวเราพ้นทุกข์ไปไหนเลย
ขอสรุปช่วงนี้ ด้วยคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ดังนี้
"เวลาภาวนา อย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด ความรู้ที่เราเรียนกับตำรับตำรา อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ จิตของเราสงบ เราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มาก ๆ เข้าเวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไร ๆ ให้มันออกจากจิตของเรา
ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละ เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกจากจิตเองนั่นแหละดี คือ จิตมันสงบ
ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา เราจะได้รู้จักว่า พุทโธนั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง……..เท่านั้นแหละไม่มีอะไรมากมาย"


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-4-16 09:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
3. ทำสมาธิโดยสวดมนต์
สำหรับคนที่ยังไม่เคยทำสมาธิ และมีความเครียดอยู่มาก  จะผ่อนคลายความเกร็งต่อการนั่งสมาธิ หันไปเป็นการสวดมนต์แทนก็อาจจะช่วยได้  ทำให้จิตใจเกิดสมาธิได้อีกแบบหนึ่ง
คุณหมอชินโอสถ  หัสบำเรอ ได้แนะนำให้ผู้ป่วยที่ไม่เคยทำสมาธิมาก่อน ให้ทำสมาธิด้วยการแผ่เมตตา  วิธีนี้นอกจากจะทำให้จิตใจสงบแล้ว ยังเป็นการแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์อีกด้วย
วิธีทำที่คุณหมอสอนคือ ให้ว่านะโม 3 จบ  ต่อด้วยคำสวดระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย 3 จบแล้วจึงต่อด้วยการสวดแผ่เมตตา  ต่อด้วยแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขา
วิธีสวดช้า ๆ  และให้หายใจเข้า – ออกตามที่กำหนดไว้ การสวดดังกล่าวถ้าสวดแบบท่องจำจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที ถ้าสวดช้า ๆ แบบกำหนดลมหายใจอาจใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่ง 15 นาที - 1 ชั่วโมงเป็นเวลานานพอที่จะทำให้จิตใจสงบ
การปฏิบัติ

เวลาและสถานที่ : ตามความเหมาะสมในยามอยู่ว่าง ๆ และก่อนนอน
ก่อนสวด : ให้ไหว้พระสวดมนต์ตามปกติ แล้วว่า นะโม 3 จบ ต่อด้วย
พุทธัง สะระณัง  คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง  คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง  คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง  สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง  สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง  สะระณัง คัจฉามิ
ตติยัมปิ พุทธัง  สะระณัง คัจฉามิ
ตติยัมปิ ธัมมัง  สะระณัง คัจฉามิ

สวดคำเมตตาตนก่อน
อหัง สุขิโต โหมิ ขอข้าพเจ้าจงมีความสุข
นิททุก โข โหมิ ขอข้าพเจ้าจงไม่มีทุกข์
อเวโร โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีเวร
อัพพะยาปัชโฌ โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียน
อะนีโฆ โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีทุกข์
สุขี  อัตตานัง ปริหะรามิ ขอข้าพเจ้าจงทำตนให้มีความสุข
สัพเพ สัตตา  อะเวรา ขอสัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีเวรต่อกัน
อัพพะยาปัชฌา อะนีฆา ไม่เบียดเบียดกัน  ไม่มีทุกข์
สุขี  อัตตานัง ปะริหะรันตุ ทำตนไห้มีความสุข
1. สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนต
ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขเถิด ( แผ่เมตตา )
2. สัพเพ สัตตา ทุกขา ปมุจจันตุ
ขอสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากความทุกข์เถิด ( แผ่กรุณา )
3. สัพเพ สัตตา มา ลัทธสัมปัตติโต วิคัจฉันตุ
ขอสัตว์ทั้งหลาย อย่าได้ปราศจากสมบัติที่ตนได้แล้วเลย ( แผ่มุทิตา )
4. สัพเพ สัตตา กัมมัสสกา
สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน  ผู้ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ( แผ่อุเบกขา )
เนื่องจากภาษาที่สวดเป็นคำยาก การสวดได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นที่ตั้ง  จึงเหมาะกับผู้ต้องการเริ่มต้น ก็คือเป็นอุบายให้เราอาศัยไปสู่การมีสมาธิ

4. ทำสมาธิโดยฟังธรรม
สำหรับใครที่รู้สึกว่ายังยากอยู่ แต่ก็อยากทำสมาธิด้วย  ก็ให้หาเทปธรรมะมาฟัง ลงนั่งสงบฟังครั้งละม้วน โดยไม่ทำอะไรควบคู่ไปด้วย  ใจจดจ่อฟังให้รู้เรื่อง ก็จะมีสมาธิได้เหมือนกัน ถ้าฟังแล้ว เผลอหลับไป  ก็จะรู้สึกว่าหลับลึก และหลับสงบ ไปจนเช้าไม่ใช่ฝันสับสน หนีผี  หรือเจองูให้วุ่นวายไป
เทปธรรมะนี่มีเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ ฟังซ้ำได้  และเวลาฟังซ้ำมันจะได้ข้อคิดอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ เพราะเวลาฟังบางช่วงเราก็เผลอไป  หรือวันนี้เรามีเรื่องมากระบทใจใหม่ ๆ มาฟังก็ได้คำที่มาช่วยให้คิด  ซึ่งเป็นคำที่วันก่อนเราอาจไม่สนใจ ดังนั้น เวลาเรามีเทป 1 ม้วน อย่าเพิ่งคิดว่า  อ๋อ ม้วนนี้ฟังแล้ว ไม่ต้องฟังอีก ทำให้เป็นภาระหาม้วนใหม่ไม่รู้จบ  บางทีฟังแล้วก็ยังฟังใหม่ได้เรื่อย ๆ นี่เป็นเคล็ดลับที่ต้องบอกกัน เป็นของแถม
แต่ละคนมีวิธีทำสมาธิแตกต่างกันไปแล้วแต่ใจชอบ  มีหนังสือเกี่ยวกับการสอนทำสมาธิมากมายให้หาอ่าน ทำบ้างเล็กน้อยก็ยังดี  จะรู้สึกสดชื่น สมองปลอดโปร่ง และความจำดีแล ฯ

สรุป
ฉันพบว่าเมื่อเข้าใจและเห็นภาพของหลักธรรมตามหัวข้อทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว  ก็ดูจะเป็นการตั้งหลักที่ดี ในอันที่จะมีศาสนาอยู่ในตัวเรา  หลังจากนี้ไปก็อ่านหรือศึกษารายละเอียดอย่างอื่นเสริมต่อให้จิตใจประณีตยิ่งขึ้น  แต่เมื่อมีหลักแล้ว ก็เหมือนเดินอยู่ในบ้านของตนเอง คือรู้ว่าห้องใดเดินไปทางไหน  อยู่ชั้นไหน เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าไปในห้องนั้นแล้ว  การจะดูรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์ในห้อง ก็ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร
คนที่ศึกษาธรรมะใหม่ ๆ  จะรู้สึกเหมือนว่ากำลังจะได้พบอะไรที่ยากและมากมหาศาล คงจะทำไม่ได้หรือกลัว  เพราะศาสนาพุทธค่อนข้างจะเป็นเรื่องสวนกระแสชีวิต จะรักก็บอกไม่ให้รัก  รักแล้วเป็นทุกข์ ทุกข์แล้วอยากร้องไห้ ก็บอกว่าให้มองเป็นธรรมดาอย่าร้องไห้เลยลูก  พอทุกข์หนัก อยากจะหันมาหาที่พึ่ง ก็บอกว่า ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน แหม ! ใหม่  ๆ ก็รู้สึกว้าเหว่เหลือเกิน ทำอย่างนี้มันก็รู้สึกทำยาก  แต่ถ้าศึกษาไปแล้วกลับรู้สึกสนุก และมีอะไรเล่าให้เราฟังเยอะเลย  ทั้งมีนิทานชาดกมากมายที่ให้คติสอนธรรมหลากหลาย
เมื่อเราปฏิบัติธรรม ทำความเห็นให้ถูกตรง เห็นดีเป็นดี  เห็นชั่วเป็นชั่ว เห็นบุญเป็นบุญ เห็นบาปเป็นบาป ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  เห็นแค่นี้ก็เป็นบุญแล้ว และเมื่อเรามีความเห็นถูก ความคิดก็ถูกไปด้วย  ทำให้เราพูดดี ทำดี ทำอาชีพสุจริต มีความเพียรพยายามในทางที่ดี มีสติ มีสมาธิ คือ  มรรคมีองค์ 8 จะขยับตามไปทุกขั้นตอน
แล้วส่งผลให้เรา ทำดี เว้นชั่ว ทำใจให้ผ่องแผ้ว ตามไปด้วย  เพราะเมื่อเห็นบาปเป็นบาปได้แล้ว เราคงไม่อยากไปทำบาปอยู่แล้ว เมื่อทำดี  ก็มีจิตใจดี ทำให้ใจก็ผ่องแผ้ว
เรารู้หลักปฏิจจสมุปบาทว่าทำให้เป็นทุกข์ มีตัว ตัณหาความอยากได้  เป็นตัวตั้งตัวตี เราก็คอยปลง คอยวาง อย่าให้มันอยากได้มากนัก ตัด ๆมันเสียบ้าง  ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์
เรามองให้เห็นความทุกข์อันเกิดจากความ ไม่เที่ยง  เราก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ไปพยายามยื้อให้อะไร ๆมันเที่ยง ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์
คิดถึง ความไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูแลรักษาไปตามหน้าที่ของโลก  แต่ใจให้เห็นตามสัจธรรม ก็คลายความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางลงได้ เมื่อใด  ก็ไม่เป็นทุกข์
ทุกอย่างนี้เมื่อเราปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา เราก็จะไม่เป็นทุกข์
จะเห็นได้ว่า ทุกข้อ สรุปลงที่ " ไม่เป็นทุกข์ " เพราะนั่นคือจุดหมายของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า " เราสอนเรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์เท่านั้น "
อาจารย์วศิน อินทระ อธิบายว่าการปฏิบัติธรรม  อย่างไรจึงจะถูกต้อง ดังนี้
1. ทำดี ไม่เอาดี ไม่หวัง ไม่รอ ไม่อยาก ให้ใครชม
2. ทำความดีเพื่อความดี ให้ผลหรือไม่ เป็นหน้าที่ของกรรม ไม่ใช้หน้าที่ของเรา  เหมือนปลูกต้นไม้ เรามีหน้าที่รดน้ำต้นไม้ส่วนการจะให้ดอกผลหรือไม่  เป็นหน้าที่ของต้นไม้ เราต้องไม่เป็นทุกข์เพราะการทำดี ถ้าทำดีแล้วผิดพลาด  เราก็ไม่ทุกข์ แต่เอามาเป็นบทเรียน
3.ทำดีเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดี
http://www.meemodo.com/samati9.html
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-4-16 09:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถาม ตอบ เรื่องนั่งสมาธิ

ผมขออนุญาต ตอบคำถาม ตามความเห็นของผมเอง    คำถามต่างๆ ที่หลายๆท่านได้ถามผมในวาระต่างๆ (๑)  ทำไมต้องนั่งขัดสมาธิ ? :   ผมเชื่อว่า เป็นการ "บีบบังคับ" ในเบื้องต้น  ไม่ให้เรา ขยับระยางค์ (แขนขา)ของเราได้ถนัด  จิตกับความคิดจะได้ ไม่ออกไปนอกกาย  ยิ่งนั่งขัดสมาธิเพชรจะล็อคขาเอาไว้ทำให้ต้องเตือนตนเอง หากคิดจะขี้เกียจ เลิกฝึกก่อนกำหนด  นอกจากนี้   การนั่งสมาธินั้น เป็นรูป ๓ เหลี่ยนด้านเท่า   หากเราเหยียดแข้งเหยียดขา เหยียดแขนออกไป จะเพิ่มโอกาสในการส่งจิตออกนอกได้ง่ายขึ้น    และ ลักษณะของ ๓ เหลี่ยนด้านเท่าในการนั่งขัดสมาธินั้น ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพสมดุลมาก  รวมไปถึง การที่ใครๆมองมา ก็ รู้ว่า คนๆนี้กำลังนั่งสมาธิ  จะได้หลีกเลี่ยงการรบกวน  อย่างไรก็ตาม หากผู้ฝึก อายุมากแล้ว  นั่งท่าไหนก็ได้   แต่ ทุกครั้งที่ขยับตัว ก็ให้มีสติกำกับ คือ รู้เท่าทัน  รู้ทันเวทนาที่เปลี่ยนไป จาก เหน็บชาเป็นสบาย  ผู้ที่กำลังสติมากแล้ว แยก "จิตกับความคิด" ได้แล้ว  ไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้  เพราะ เดิน ยืน นั่งนอน ทุกอิริยาบท สามารถมีสติ  ใจสบายๆ มีสติควบคุมความคิดได้แล้ว ทุกข์มาพร้อมความคิด  ดังนั้น ถ้าเราดีดความคิดจรออกไปได้   ดับความคิดเฉโก ( เฉโก คือ ความคิดที่เจือกิเลส เต็มไปด้วยอัตตาตัวตน ตัวกู ของกู  คำว่า เฉโก นี้ เป็นของท่านพระอาจารย์พุทธทาส) ได้   จากเดิมจิตทำงานร่วมกับความคิด  เมื่อเราฝึกสติมากๆ อุปมาเป็นมีดหั่นจิตออกจากความคืด  จากเดิม จิตบงการความคิด  แต่ เมื่อสติมากๆ เป็นมหาสติ จิตจะว่าง  ว่างจากความคิด เพราะ เรา  เอาสติไปควบคุมความคิดแทนจิตได้แล้ว   เมื่อเป็นมหาสติ  เราจะได้ "สติออโต้"  รู้ทันกิเลส หรือ รู้ทันความคิดจร  ดับความคิดเฉโกได้   นี่แหละ ดับทุกข์ได้แล้ว  ใจโล่งๆ ๒๔ ชั่วโมง   อยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็มีความสุขแบบทางธรรม  ไม่มีทุกข์ และ รับผิดชอบการงาน ทำตามหน้าที่ ไม่ขี้เกียจ ไม่เอาเปรียบสังคม     

(๒) ทำไมต้องปิดตา ?  : เพื่อลดอายตนะ "ตา" ลงไป   เพราะ ถ้าเห็น ก็มักจะอดคิดไม่ได้   การนั่งสมาธิ ก็เพื่อ หัดสร้างกำลังสติที่ "ฐานกาย" (ดูลมหายใจ รู้ตัว  รู้กายด้วยกาย )และ เฝ้าระวังความคิด  โดยเฉพาะ ความคิดจร (ความคิดที่ไม่ได้เชื้อเชิญ ความคิดที่มาชวนเปลี่ยนอารมณ์ )  คำว่า " การสร้างตัวรู้ๆๆๆ"  คือ การสร้างสติ นั่นเอง    รู้กาย หรือ จะใช้คำว่า "สังเกตุกาย" ก็ได้  แต่ อย่าไปคิดแทนกาย ให้กายเขารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกาย   การที่เราปิดตา ก็เพื่อลดการแทรกแซงของความคิด ผู้มีสติมากๆ แยก "จิต กับ ความคิด" ได้แล้ว    ก็ไม่ต้องปิดตาก็ได้  ทุกอิริยาบท สามารถมีสติ ควบคุมอารมณ์ได้ ควบคุมความคิดได้  ใจสบายๆได้แล้ว        (๓) ทำไมต้องบริกรรมพุทธโธ ? :  ที่ให้บริกรรมพุทธโธ เพราะ ต้องการให้ ความคิดมีหลักในการเกาะ  สำหรับมือใหม่หัดฝึก "จิตกับความคิด"ยังเกาะไปด้วยกันเป็นสังขยาเละไปด้วยกัน    หากไม่บริกรรม  ก็จะวุ่นวายคิดโน้นคิดนี่  โดยเฉพาะ คนที่มาจากระบบการศึกษายุคนี้ คือเอาแต่คิด  ยิ่งคิดก็ยิ่งหาจิตหาใจของตนเองไม่เจอ   จึงต้องเอาคำบริกรรมเป็นตัวล่อ ตัวเกาะ เป็นวิหารให้อยู่ไปก่อน   นอกจากนี้ การบริกรรมพุทธโธ ก็เหมือนการท่องบทคาถา ยิ่งบริกรรมมากๆ จะกลายเป็นพุทธานุสติ  คำว่าพุทธโธจะฝังลงในจิตในสำนึก  ว่ากันว่า ฝังในระดับจำข้ามภพชาติได้เลย


   อย่างไรก็ตาม เมื่อฝึกมากๆ  ชั่วโมงฝึกมาก  ผิวหนังที่บริเวณรูจมูกรู้ว่ามีลมเข้าออก เย็นร้อน ถี่ช้า ฯลฯ โดยไม่ได้เอาความคิดไปแทรกแซงการรู้    กำลังสติจะมากขึ้น   คำบริกรรมพุทธโธนี้จะหายไปเองโดยอัตโนมัติ  คนที่ชอบ บริกรรมยุบหนอ พองหนอ โดยกำหนดตาม การยุบพองของพุง  ก็ทำได้  แต่ เผอิญ ไม่ได้ฝึกมาแนวนี้  เลยไม่สามารถอธิบายได้ (๔) ควรทำวันละกี่นาที ? :  ถ้านั่งสมาธิ ๓๐ นาที ผมแนะนำว่า ควรเดินจงกรมก่อน ๓๐ นาทีเช่นกัน  แล้ว ยืนนิ่ง สัก ๕  นาที  ยืนบริกรรมพุทธโธ พร้อมกับดูลมหายใจเข้าออก  ทำใจสบายๆ หลักการเดียวกันกับการนั่งสมาธิ    แล้วจึงค่อย นั่งสมาธิ ๓๐ นาที


เนื่องจาก ผมเรียนเรื่องกรรมฐานนี้มาจาก พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่จันทา ถาวโร (วัดป่าเขาน้อย) ซึ่งเป็นท่านเล่าให้ผมฟังว่า อาจารย์ของท่าน คือ  หลวงปู่ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกลองเพล) ท่านจะให้ เดินจงกรม ๑ ชั่วโมง ยืน ๑๕ นาที  นั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมง และ ต่อด้วย เดินจงกรม ๑ ชั่วโมงครึ่ง ยิน ๑๕ นาที นั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมงครึ่ง  และ  เดินจงกรม ๒ ชั่วโมง ยืน ๑๕ นาที นั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง

    จากประสบการณ์ ผมเชื่อว่า ถ้าเดินและยืนก่อนจะมานั่ง จะนั่งได้ดี ทน และสงบเร็วมาก  ปกติ ผมจะฝึก สร้างสติ ให้ฝ่าเท้ารู้ๆๆๆ ทุกก้าวที่เดิน  โดยทำทั้งวัน  ทุกเวลาที่มีโอกาส   ไม่ว่าจะเดินไปทำงาน เดินไปห้องน้ำ นั่งรอ ยืนรอ  ก็ดูลมหายใจ สร้างสติกำกับทุกอิริยบท   นั่นคือ ทำทั้งวัน  แม้นแต่ในฝัน ก็ระลึกว่า ต้องฝึกสติ   ฝึกดูลมหายใจว่าหลับที่พุทธ หรือ ที่โธ  และ ตื่นที่พุทธ หรือที่โธ     การฝึกสตินั้น ยิ่งมากย่ิงดี   ฝึกในขณะทำงานก็ได้  มือทำไป ก็สร้างตัวรู้ ที่มือ ที่กาย ที่เท้า ทำใจสบายๆ ระวังความคิดจร  คิดอยู่แต่กับเรื่องงาน ไม่อคติ ไม่ลำเอีบง ไม่เฉโก (๕) ควรไหว้พระ สวดมนต์ แผ่เมตตาไหม ?
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-4-16 09:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
:  ผมคิดว่า จำเป็นนะ   ทั้งนี้ ก็แล้วแต่โอกาส  สถานที่ด้วย   ทำได้ก็ทำ ไม่เสียหายอะไร     หรือ คิดแบบ มวยไทย ก็คือ ไหว้ครูก่อนขึ้นชก  ดูแล้วกตัญญู  คล้ยๆกับวอร์มอัพ (warm up) เตรียมความพร้อม หรือ อุ่นเครื่อง


(๖)  ว่ากันว่า ถ้าไม่มีครูอาจารย์ นั่งสมาธิแล้วจะเพี้ยน เป็นบ้าได้ จริงหรือไม่ ? :  ผมเชื่อว่า การฝึกกีฬา ฝึกดนตรี  ก็เหมือนฝึก "สติ"  ควรมีโค้ช (coach) เป็นโค้ชที่ยังไม่ตายนะ  เพราะ เราจะได้สอบถามท่าน  หากผิดพลาดจะได้มีการแก้ไข   หลวงปู่หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ ท่านถนอดสังขาร ไม่ละสังขาร ก็เพื่อรอเราเข้าไปถามเรื่องการฝึกนี่แหละ    หลายคนนั่งสมาธิแล้ว หลงไปนิมิต หลงนิมิต เห็นโน้นเห็นนี่ นี่แหละ อาจจเพี้ยนได้ มั่วได้ คิดไปเองก็มี  มั่วก็มี ฯลฯ ซึ่งถ้าพวกเขามีครูอาจารย์ และ เชื่อฟังครูอาจารย์ ทำตาม ไม่ดื้อ  ก็ไม่มีทางเพี้ยน มีแต่จะสุขมากขึ้น  เข้าใจโลกมากขึ้น ดูแลคนใกล้ชิด ดูแลสังคม  ทำงานได้ดีขึ้น  น่ารักมากขึ้น ฯลฯ หลายคนไปวัด เอาแต่ถามเรื่องส่วนตัว เรื่องทำงาน เรื่องโลกๆ   ผมคิดว่าน่าจะฝึกๆๆๆๆ  และ ถามท่าน เช่น ฝึกแบบนี้ใช่ไหม  ผมทำผิดหรือเปล่า  ขอกำลังใจมนการฝึก  ขอเทคนิคในการฝึก ฯลฯ  เอาสิ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์สอนนี้ ไปทำต่อ  แล้ว มีโอกาส ก็กลับมาถามอีก


(๗) จะวัดผลการฝึก อย่างไร ? :   สติมากขึ้น   มากขึ้น มากขึ้น  ทั้งกาย ทั่วกาย ทุกอิริยาบท  ได้สติต่อเนื่อง  ลดการทะเลาะกับผู้คน ไม่โกรธใคร  ดับความโกรธได้เร็ว  ไม่โลภ ไม่หลง  นิสัยดีขึ้น  ศีลครบ  น่ารักขึ้น มีน้ำใจมากขึ้น มีเมตตามากขึ้น ไม่โหด  ไม่งก ไม่เค็ม  รู้จักฟัง  เป็นคนดี ไม่ยกตนข่มท่าน  ไม่พูดมาก ไม่ขี้โม้  ฯลฯ   หมดคำว่า "ขี้" ทั้งหลาย ขี้เกียจ ขี้คุย ขี้งก ขี้โอ่ ขี้เบ่ง ขี้ไถ ขี้หลี ฯลฯ  บางคนฝึกมาก ไปวัดบ่อยมาก แต่ นิสัยยังเต็มไปด้วย "ขี้" ดังกล่าว ก็ถือว่า สอบตก ไม่ผ่าน ไม่มีประสิทธิภาพในการฝึก  หลายคนเข้าวัด ฝึกสติ  แต่ ขาดเมตตา  ยังโหดเหี้ยม เอาเปรียบคนอื่น  ไม่ให้อภัยใคร  ฯลฯ นี่ ก็สอบตก  ไม่ผ่าน ไม่ก้าวหน้า


(๘) ทำไมต้องมือขวาทับมือซ้าย เท้าขวาทับเท้าซ้าย ? :  ตอนฝึกใหม่ ผมไม่สงสัย ไม่วิจิกิจฉา (สงสัยมาก คิดมาก)  หลวงปู่จันทา  หลวงพ่อกล้วย (วัดป่าธรรมอุทยาน) ท่านสั่งให้ทำอะไร ก็ทำไป   ต้องไว้ใจท่าน เราเลือกท่านเป็นโค้ช  ผมไม่ถามจนกว่าจะฝึกๆๆๆๆๆ ตามที่ท่านสอนแล้ว     มาระยะหลังหลังนี้ มีคนถามเยอะ  พวกนักคิดเยอะ  พวกที่มาวัดจากการอ่านหนังสือ อ่านเว็ป เป็นผู้ชำนาญการคิด เต็มไปด้วยความคิด ทั้ง สงสัย วิจารณ์ วิเคราะห์ จับผิด คิดเทคนิคใหม่เอง อ้างอิงตำรา  เปรียบเทียบคำสอนแต่ละสำนัก  ฯลฯ คนคิดมากแบบนี้ ฝึก "สติ" ได้ยาก  เพราะ เราต้องฝึก ให้กายได้รู้ๆๆๆ โดยไม่เอาความคิดไปแทรกแซงการรู้ของกาย  กายรู้กาย จิตรู้จิต ไม่ใช่ เอาความคิดไปรู้กาย  ไม่ใช่เอาความคิดไปรู้จิตนะ   เวลานั่งสมาธิ ผมจะให้กายเป็นผู้สังเกต กายเป็นผู้รู้ ผมมั่วเอาเองว่า มือซ้ายใกล้หัวใจ ดังนั้น ให้กาย (หลังมือขวา) รับรู้ ความร้อนที่เกิดขึ้นจาก กาย (อุ้งมือซ้าย)  กายจะสังเกตความร้อนที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ


(๙) ทำไมต้องนิ้วโป้งซ้ายชนขวา หรือ นิ้วโป้งซ้ายใต้ขวา ? :  เป็นการสร้างตัวรู้  กายรู้กาย  นิ้วโป้งซ้ายและขวาจะชนกัน หรือทับกันก็ได้  ทั้งนี้ ก็เพื่อ ให้ กายรู้กาย     หากนั่งไปแล้วลืมตัว จะขาดสติที่กายรู้กาย  นั่นคือ ตกภวังค์ไปแล้ว  อาจจะหลับและฝันก็ได้    ดังนั้น ถ้าเราง่วง หรือดิ่งสงบ จนความรู้สึก (sensing) หายไป หรือ บางท่านบอก "กายหายไป"    ผมจะไม่ดิ่ง ไม่หลับ ไม่ให้กายหายไป  ไม่ยอมให้เสีย sensing แน่นอน   เพราะ ผมยังรู้สึกที่ นิ้วโป้งชนนิ้วโป้งอยู่ ความร้อนจากมือซ้ายยังขึ้นมายังมือขวาอยู่   ความร้อนที่ก้นแตะพื้น  ความร้อนที่ขึ้นมากระทบขา แข้ง ยังมีอยู่    ความรู้สึกของลมผ่านเข้าออกรูจมูกยังมีอยู่    รู้แม้นกระทั่ง ขนในรูจมูกลู่ไปตามลม  ลมพัดโดนเส้นผม  ลมพัดโดนลำตัว ก็รู้ๆๆๆๆ

(๑๐)  ทำไม มีพระท่านบอกว่า ฝึกในที่อากาศหนาว จะดีกว่าที่ร้อน ดีกว่าริมทะเล ? :  เนื่องจากการฝึกสติ เริ่มต้นที่ กายรู็กาย  การฝึกในที่หนาวๆ เราจะคิดฟุ้งซ่านน้อยลง  เราจะกลับมาที่ผิวกายได้ง่าย    และ การฝึกริมทะเลผมเชื่อว่า ว่อกแว่กง่าย เสียงคลื่นไม่แน่นอน แม่ค้าส้มตำ คนเปิดเพลงดังลั่น  ห่วงกิน ห่วงนอน ตื่นตาตืนใจมากไป    ผมเชื่อคำสอนที่ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ ฝึกในที่ สงัด โคนต้นไม้ บ้านร้าง ป่าช้า และ ทุ่งกว้าง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ไม่มีริมทะเล ไม่มีทะเลทราย

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-4-16 09:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2016-4-16 09:18

(๑๑) ทำไมต้องนั่งสมาธิ ?  :   สำหรับมือใหม่  ลองนั่งไปดูก่อนนะ  ชำนาญแล้ว ฝึกได้ทุกอิริยาบท  ตามดู ตามรู้  ซึ่งพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงพ่อกัณหาสอนว่า "หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย"   พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงพ่อกล้วย ก็สอนว่า "อยู่ที่ไหน ก็เอาสติไปเป็นเพื่อนด้วย"   คำว่า นั่งสมาธิ จริงๆแล้ว ผมว่าน่าจะใช้คำว่า ฝึกสติโดยการนั่ง เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ  คำว่า จิตเป็นสมาธิ คือ จิตปราศจากกิเลสได้อย่างยั่งยืน    คำว่า สมาธิ คือ ต่อเนื่อง ยั่งยืน ถาวร ไม่ว่อกแว่ก ไม่เปลี่ยนแปลง ไปเพี้ยนไป

(๑๒) บางคนฝึกสมาธิมานาน ทำไม ดูแล้ว ยัง จี๊ดง่าย วีนง่าย โกรธง่าย นิสัยยังไม่ดีอยู่เลย ? :  

ผมเชื่อว่า การฝึกสติ นั่น ฝึกแล้ว ต้อง ละ "ขี้" ทั้งหลายออกไปได้  พวกเขาอาจจะฝึกผิดก็ได้นะ   จากประสบการณ์ของผม ผมเชื่อว่า ต้อง กตัญญูกตเวที คือ ดูแลพ่อแม่ให้ดี  ต่อให้ฝึกสติทั้งวัน แต่ ไม่ดูแลพ่อแม่ให้ดี  ก็ไม่น่าจะฝึกสำเร็จ ถึงขั้นได้ "มหาสติ"  นอกจากนี้ ควรถือทำทาน ทำแบบไม่หวังผลนะ และ ควรถือศีลให้ครบ  อย่างน้อยศีล๕ ต้องทำได้   การถือศีล ๕ เป็นการฝึกสติ ฝึกจิตด้วยนะ    หลายคน ศีลบกพร่อง ฝึกหนักแค่ไหน ก็ยากจะพัฒนา  ผมเชื่อว่า การฝึกนั้น ต้องละนิสัยไม่ดีออกไปด้วย  ผมเชื่อว่า  "ปฏิบัติธรรม ก็คือ ดัดสันดาน"


(๑๓)  การฝึกสตินั้นเอามาดัดสันดาน ยังไง ? :



ถ้าเราเข้าใจเรื่อง "จิต สติ ความคิด"   เราจะเห็นได้ว่า  ก่อนที่จะ จี๊ดๆ ปรี๊ดๆๆ โกรธใคร ออกอาการของขึ้นนั้น   จะมีความคิดจรแทรกเข้ามา  คนที่ฝึกสติดีแล้ว จะรู้ทันความคิดจร และ ดับความคิดจรนั้นได้ทัน หรือ รักษาสภาพความคิดปัจจุบัน เอาไว้ได้      ความคิดจรต่างๆ เช่น ตัดสินว่าคนนั้นดีเลว เก่งกว่าโง่กว่าฉลาดกว่า  รังเกียจ อคติ เพ่งโทษ วิจารณ์เชิงลบ วิจารณ์เชิงบวก ติดใจ เกลียด รัก กลัว อยากได้ ไม่อยากได้ ฯลฯ  


(๑๔) ทำไมต้อง ไปฝึกที่ป่าช้า ?  : ที่ป่าช้านั้น เราจะฝึกดูความคิดจร ดูจิตได้ดีนะ  เพราะ ในป่าช้ามันช้าพอที่จะเห็นความคิดจร  สมมติเรากำลังเดินหรือนั่งในป่าช้า หายใจสบาย เดินจงกรม ความคิดปัจจุบัน คือ กำหนดพุทธโธ    พอมีเสียงอะไรประหลาด ความคิดจร จะ ตีความ จะปรุงแต่ง  จนจิตเกิดอาการกลัว    เมื่อจิตไม่ว่าง  ความคิดเฉโกจะไหลออกมาเพียบเลย  ถ้าเราฝึกในเมือง ในบ้านของเรา มันเป็นป่าเร็ว คือ มีความคิดจรรัวเข้ามาเยอะและเร็วมาก  ราวกับปืนกล  เราจึงดูไม่ค่อยจะทัน   อุปมา การฝึกในป่าช้า คือ ฝึกว่ายน้ำในสระตื้นๆ ง่ายๆ เมื่อว่ายได้ดีแล้ว ค่อยไปว่ายในทะเล ในน้ำลึก ลื่นลมแรงๆได้ นั่นคือ อยู่ในสังคม ในโลกๆได้


(๑๕) เอาแต่ไปฝึกสมาธิ  ไม่สนใจทางโลก ไม่รับผิดชอบ ? :  เป็นความเข้าใจผิดนะ  เป็นความคิดเฉโกของผู้ที่มีกำลังสติน้อย ฝึกมาน้อย   ยังติดคิดๆๆๆๆๆอยู่   เป็นคำวิจารณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ด้านคิดๆๆ ที่ยังไม่ได้ฝึก   คนที่ฝึกสติดีแล้ว จะสมดุลทางโลกและทางธรรมได้ เมื่อจิตว่าง สติต่อเนื่อง  จะดีดความคิดจร พวกขี้เกียจ อิจฉา ขี้ๆทั้งหลายออกไปได้ ดังนั้น จะ รับผิดชอบงานได้ดี ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ไม่โกง ไม่งกๆเค็มๆ   ตรงกันข้ามกับคนที่สติน้อย แม้นจะขยันมาก ดูแล้วว่าทำเพื่อโลกมาก แต่ อาจจะทำร้ายโลกอยู่ก็ได้  หาเงินบนน้ำตาผู้คน  ร่ำรวยโดยทำลายแม่ธรณี แม่คงคาอยู่ก็ได้นะ  คนพวกนี้ ไม่สมดุลทางโลกและทางธรรม   อย่างไรก็ตาม ผมก็แนะนำว่า ในเบื้องต้นควรปลีกตัวมาฝึก มาเข้าใจ มารู้เทคนิค  มากราบโค้ช ฯลฯ อุปมา ฝึกกอล์ฟ ฝึกงาน เขายังต้องปลีกเวลาออกมาฝึกก่อนเลยนะ   ใครจะโง่ทะเล่อทะล่าเข้าไปทำงานได้เลย  ยิ่งทำก็ยิ่งผิดน่ะสิ


(๑๖) ทำงานหนักมาก ไปไหนลำบาก ดูแลพ่อแม่แก่เฒ่า  งานยุ่งมาก ? :   งั้นก็รอตายแล้ว ชาติหน้าฝึกก็แล้วกันนะ   หากยังมีลมหายใจ ก็ดูลมหายใจ   ก็มีเวลาฝึก    มีเวลาหายใจก็มีเวลาฝึก    หากมีเท้าก้าวเดิน ก็กำหนดรู้ทุกก้าว  หากมีการพบปะผู้คน ก็ฝึกละความคิดจร อย่าจี๊ดๆๆ    หากมีเงิน ก็ฝึกการให้ทาน   หากมีพ่อแม่ลูกเมีย  ก็ฝึก อดทน ให้อภัย ยอมเสียเปรียบบ้าง  หากมีเวลายกช้อน จับตะเกยบ ก็ฝึกกายรู้กายที่จับช้อน จับตะเกียบ    หากมีฟันมีลิ้น ก็ฝึกรู้ๆๆๆทุกคำที่เคี้ยว   หากอาบน้ำ ก็ให้กายรู้กาย รู้ทั่วตัว โดนน้ำตรงไหน เย็น อุ่น สบาย    หากเข้าห้องสุขา  ก็สร้างตัวรู้  รู้ขี้ในลำไส้  รู้กล้ามเนื้อหูรูกขมิบตูด  หากยังอ้าง ยังคิดว่าไม่มีเวลา ก็ถือว่า ปัญญาอ่อนได้ถึงขนาดนี้เลยหรือนี่    ผมว่า คนพวกนี้  ขี้เกียจ และ ขาดศรัทธาจริงๆ  ยังไม่มุ่งมั่นพอมากกว่า  ทีหัดกินเหล้า ขมๆ ขมจนหมายังไม่กินเลย ก็ยังหาเวลาฝึกจนกินได้   ทีหัดตีกอล์ฟ เล่นคอมพิวเตอร์ ตีแบด  ใช้ไอโฟน ยังฝึกได้เลยเนอะ

http://woraphat555.blogspot.com


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้