พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงปู่ทอง จันทสิริ) เจ้าอาวาสวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ละสังขารเมื่อเช้าวันนี้ ตรงกับวันพุธที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เวลาประมาณ ๐๔.๑๐ น. สิริอายุรวม ๘๓ ปี ๑๐ เดือน ๑๖ วัน ๖๒ พรรษา
"..สังขารวิบากมันยังมีอยู่ ก้อต้องประคองกันไป มันเป็นธรรมชาติของมัน จะไปเอาอะไรกับมัน ถึงเวลามันก้อหยุด ก้อแตกดับไปเอง.." โอวาทธรรมคำสอนพระญาณวิศิษฏ์ (หลวงปู่ทอง จันทสิริ)
◎ กราบขอขมาหลวงปู่ทอง จันทสิริ
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต
ลูกหลานกราบขอขมาหลวงปู่ทอง จันทสิริ ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี หากเคยประมาทพลาดพลั้ง ด้วยความขาดสติรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งต่อหน้าหรือลับหลัง ทั้งอดีตหรือปัจจุบัน ลูกหลานกราบขอขมา ขอหลวงปู่ทอง จันทสิริ โปรดอโหสิกรรม และงดโทษล่วงเกินอันนั้น เพื่อความสำรวมระวังในการณ์ต่อไป และธรรมอันใดที่ท่านได้รู้แจ้งแล้ว ขอลูกหลานได้รู้ธรรม เห็นธรรมอันนั้นด้วยเทอญ...สาธุ
หลวงปู่ทอง จันทสิริ ท่านมีศีลาจารวัตรอันงดงาม เรียบร้อยโดยจริตธรรม ฉันภัตตาหารมื้อเดียวเป็นอาจิณ กิริยาสงบนิ่งเยือกเย็น วาจาชัดถ้อยคำเปี่ยมด้วยเมตตา พูดน้อยแต่หนักแน่น เทศนาปาฐกถาธรรมจับใจบรรดาคณะญาติโยมผู้ศรัทธา เป็นที่เลื่องลือของสาธุชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง
๏ ชาติภูมิ
ภูมิหลังของท่านก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ หลวงปู่ทอง จันทสิริ มีนามเดิมว่า ทอง นารีวงษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก พื้นเพเดิมครอบครัวเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกันทั้งหมด ๙ คน เป็นชาย ๔ คน หญิง ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖ ต่อมาครอบครัวอพยพย้ายถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ ณ ต.วังใหญ่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์
ชีวิตในวัยเด็กของ ด.ช.ทอง นารีวงษ์ ค่อนข้างมีชีวิตยากลำบาก ด้วยความเป็นอยู่ของทางบ้านที่มีฐานะยากจน ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ท่านเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ต้องเลิกเรียนกลางคันเพื่อมาช่วยเหลือทางบ้านทำนาหาเลี้ยงปากท้อง
◎ การบรรพชาและอุปสมบท
แต่ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้ แสวงหาหลักยึดเหนี่ยวชีวิต มีใจเอนเอียงทางพุทธะ ประกอบกับโยมบิดามีความปรารถนาอันแรงกล้าให้บุตรชายได้บวชเรียนศึกษาตามธรรมเนียมชีวิตลูกผู้ชาย ทั้งนี้ ผู้ที่คอยชี้ทางส่งเสริมให้ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน คือ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) หรือท่านพ่อลี ธมฺมธโร เทพธรรมแห่งจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาแท้ๆ นั่นเอง
จากการได้ออกติดตามท่านพ่อลี ธมฺมธโร ผู้มีศักดิ์เป็นหลวงอา ไปทุกหนแห่งเวลาออกธุดงค์และพำนักจำพรรษาตามวัดต่างๆ ท่านต้องคอยปรนนิบัติรับใช้หลวงอาและต้องนอนอยู่หน้าโบสถ์ ความยากลำบากแทนที่จะกัดกร่อนจิตใจให้ท่านย่อท้อ แต่กลายเป็นความศรัทธาเลื่อมใสต่อวัตรปฏิบัติของหลวงอา ที่ดำรงตนด้วยความเรียบง่าย มักน้อย สันโดษ แต่เพียบพร้อมด้วยความวิริยะอุตสาหะ ดังนั้น ท่านจึงตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณร ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ เมื่ออายุครบ ๑๙ ปี ณ วัดป่าคลองกุ้ง ต.ตลาด อ.เมือง จ.จันทบุรี
เวลาผ่านไป ๒ ปี เมื่อมีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก่อนย้ายไปพักจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาแก้ว ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
๏ การศึกษาพระปริยัติธรรม
หลังจากนั้น ได้หวนกลับมาอยู่วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก
ความตั้งใจเดิมที่ต้องการบวชเรียนก็เพื่ออุทิศผลบุญส่วนกุศลให้แก่โยมบิดา เพียง ๑-๒ พรรษาเท่านั้น แล้วจะลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป ได้พลันแปรเปลี่ยนเมื่อท่านได้ลงลึกในรายละเอียด ศึกษาค้นคว้าหลักธรรมแห่งพระพุทธองค์จนถึงแก่น ความเลื่อมใสศรัทธาจึงเพิ่มทวีคูณ
พ.ศ.๒๔๙๙ พระอาจารย์ทองได้มาจำพรรษาที่วัดอโศการามกับท่านพ่อลี ธมฺมธโร ในพรรษาที่ ๖ ท่านได้ไปเรียนวิชาภาษาบาลีที่วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ แม้จะเคยเรียนบาลีมาบ้างแล้ว แต่ท่านมิได้อวดรู้วิชา ยังฟังคำชี้แนะจากครูบาอาจารย์ให้ไปเรียนเพิ่มเติมอีก
จนมาถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ ไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์บ้านสันกอเก็ด ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา ๓ ปี กระทั่งท่านพ่อลีได้มรณภาพลง ท่านจึงได้กลับมาอยู่ที่วัดอโศการาม
◎ ตำแหน่งงานปกครองและสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๑๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี
ล่วงเข้าปี พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอโศการาม
รุ่งขึ้นอีกปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เวียนมาบรรจบครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ “พระญาณวิศิษฏ์”
๏ แนวทางการปฏิบัติธรรม
ด้านหลักธรรม พระอาจารย์ทอง จนฺทสิริ ท่านเน้นหนักด้านวิปัสสนากรรมฐาน ศึกษาพระปริยัติธรรมแต่พอประมาณ เน้นหนักการปฏิบัติเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องจิตตามหลักสากลทั่วไป สมถะอุบายให้สงบใจ วิปัสสนาอุบายให้เกิดปัญญา ถือเป็นหลักกรรมฐาน เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่สำคัญอย่างยิ่ง พระอาจารย์ทองเคยปรารภว่า พระกัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านสอนเจริญบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือยึดพุทโธเป็นหลัก ต่อมาท่านพ่อลี ธมฺมธโร ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เกิดความรู้ความชำนาญ ท่านมีปัญญาแตกฉานในนามานุสติด้วยการมาใช้ลมหายใจ กำหนดลมหายใจเป็นหลักควบคู่กับพุทโธ หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” นี่คือหลักปฏิบัติ
“จริงๆ แล้วตามหลักของการเจริญธรรมะ การสงบใจ ไม่มีอะไรมาก คนเรามันโลภมาก มันหิวกระหาย เพราะฉะนั้นพอไปเห็นอาหารการกินเข้า อำนาจความอยากมันล้น เพราะเรื่องของจิตใจจริงๆ”
“ขอให้เราผูกจิตผูกใจไว้อะไรจริงๆ ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นมงคล ขอให้ใจมันยึดแน่ๆ ให้ถึงเถอะมันสำเร็จทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรอก พุทโธ ธัมโม สังโฆ มันเป็นหลักเท่านั้น ผูกจิตใจอันฟุ้งซ่านด้วยอำนาจของกิเลส ให้มันเป็นใจที่มีหลักปักปักเพื่อจะไปสังหารกิเลส”
“มนุษย์โลกที่ไม่มีหลักเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่มีจุดยืน จะไปใช้สติปัญญาสังหารกิเลสของตน การบำเพ็ญวิปัสสนาเพื่อให้รู้แจ้งชำระกิเลสได้ กว่าจะไปถึงขั้นนั้นต้องทำให้จิตสงบลงก่อน ให้จิตสว่าง มันยังไม่ถึงวิปัสสนา เป็นสมถะ วิปัสสนามันมาคิดก็จริงอยู่ คิดไปคิดมาจิตหยุดความคิด เมื่อสมาธิเป็นสมถะจิตจะบังเกิดความสงบ อย่างบางคนบอกอะไรอนิจจัง อะไรไม่เที่ยง อะไรก็อยู่ไม่ได้ อะไรแตกดับ ทำไมไม่ถึงวิปัสสนา เพราะใจมันยังไม่มีสมถะ ใจมันไม่นิ่ง ใจมันส่ายไปมา พอใจหยุดนิ่ง สิ่งที่เห็นคือพระ สิ่งที่เห็นด้วยใจ ไม่ได้เห็นจากดวงตา สิ่งที่มันเกิดคือผู้รู้แท้ ถ้ารู้ใจเจ้าของคือผู้รู้ตน ใจก็อยู่ที่ใจ ไม่ใช่เอาใจไปไว้ที่หัวหรือบนผม รู้จักที่มาที่ไป ไม่ใช่ไปรู้ตามหนังสือที่เขียน แล้วก็หอบสังขารไป”
ที่มา : ท้องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน
เพจ พระอริยเจ้า