สุริยุปราคาเต็มดวง 9 มีนาคม 2559
วันพุธที่ 9 มีนาคม 2559 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มิดหมดดวง แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย อินโดนีเซีย และตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วน ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก ส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย ส่วนใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งบางส่วนของอะแลสกา ประเทศไทยเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนได้ทั่วประเทศ โดยภาคใต้เห็นดวงอาทิตย์แหว่งลึกที่สุด
สุริยุปราคาเริ่มขึ้นเมื่อเงามัวของดวงจันทร์แตะผิวโลกเวลา 06:19 น. จากนั้นเงามืดเริ่มแตะผิวโลกเวลา 07:16 น. ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างชายฝั่งสุมาตราของอินโดนีเซียไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1,400 กิโลเมตร เงามืดเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก แล้ววกขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านทางใต้ของเกาะสุมาตรา เมืองปาเล็มบังเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนาน 1 นาที 52 วินาที ดวงอาทิตย์มีมุมเงย 18°
เงาคราสเต็มดวงผ่านเกาะกาลีมันตัน (บอร์เนียว) และสุลาเวสี เมืองปาลูเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนาน 2 นาที 6 วินาที ดวงอาทิตย์มีมุมเงย 37° จากนั้นผ่านเกาะโมลุกกะเหนือ เมืองเตอร์นาตีเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนาน 2 นาที 40 วินาที ดวงอาทิตย์มีมุมเงย 48°
กึ่งกลางคราส ซึ่งเป็นเวลาที่ศูนย์กลางเงาดวงจันทร์ผ่านใกล้ศูนย์กลางโลกมากที่สุด เกิดขึ้นเวลา 08:57 น. ในมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่กึ่งกลางนาน 4 นาที 9.5 วินาที เงามืดยังคงเคลื่อนต่อไปในทิศทางเดิม ออกจากผิวโลกเวลา 10:38 น. ทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยไม่ผ่านแผ่นดินที่ใดอีก จากนั้นสุริยุปราคาสิ้นสุดลงเมื่อเงามัวของดวงจันทร์ออกจากผิวโลกเวลา 11:35 น.
สุริยุปราคาครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเห็นได้จากประเทศไทยใน พ.ศ. 2613 ตามวัฏจักรของการเกิดอุปราคาซ้ำที่เรียกว่าซารอส ซึ่งยาวนาน 18 ปี กับ 10-11 วัน ครั้งนี้อยู่ในซารอสที่ 130 ซึ่งครั้งถัดไปอีก 3 รอบ เงามืดของดวงจันทร์จะมาผ่านภาคใต้ อ่าวไทย และภาคตะวันออกของประเทศไทยให้เห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงในเช้าวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2613
|