ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1837
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พ่อท่านปาล วัดเขาอ้อ‬

[คัดลอกลิงก์]

ประวัติเกจิเจ้าของตำนานเสื้อยันต์บินได้ พระเกจิอาจารย์ผู้เข้มขลังทางวิทยาคุณ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังต่อจากท่านปรมาจารย์ทองเฒ่า เจ้าสำนักเขาอ้อ นอกจากจะมีพระอาจารย์เอียด ปทุมสโร หรือ พระครูสิทธิยาภิรัตน์ เจ้าอาวาสวัดดอนศาลา แล้ว ก็ยังมีอีกรูปหนึ่งคือ พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม ท่านผู้นี้นอกจากจะเป็นศิษย์เอกรูปหนึ่งของท่านปรมาจารย์ทองเฒ่าแล้ว ยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าสำนักสืบต่อจากท่านด้วย
ความจริงแล้วทราบจากศิษย์สายเข้าอ้อหลายท่านว่า ครั้งแรกท่านปรมาจารย์ทองเฒ่า ได้คัดเลือกศิษย์ที่จะให้เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักไว้เรียบร้อยแล้ว และได้ถ่ายทอดวิทยาคมต่างๆ ที่เจ้าสำนักควรรู้ไปให้หมดแล้ว ศิษย์เอกรูปนั้นคือ พระอาจารย์เอียด ปทุมสโร แต่เพราะความจำเป็นในเรื่องที่วัดดอนศาลา ซึ่งเป็นวัดสาขา เป็นสำนักที่ถือว่าเป็นแขนขาสำคัญแห่งหนึ่งของสำนักเขาอ้อขาดเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านไปขอพระจากท่านปรมาจารย์ทองเฒ่า เพราะเห็นว่าวัดแห่งนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อเนื่องกันมา และที่สำคัญตอนนั้นวัดที่มีพระที่เหมาะสมที่จะเป็นเจ้าอาวาสมากที่สุด คือ วัดเขาอ้อ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสำนักใหญ่ที่คึกคักด้วยคณาศิษย์และผู้คนที่เดินทางไปมาหาสู่ ท่านปรมาจารย์ทองเฒ่าจำเป็นต้องส่งคนที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้น ก็คือพระอาจารย์เอียด ปทุมสโร
เมื่อต้องสละพระอาจารย์เอียดให้กับวัดดอนศาลาไป ท่านปรมาจารย์ทองเฒ่าจำเป็นต้องคัดเลือกศิษย์รูปใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะให้เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักเขาอ้อแทนท่านอาจารย์เอียด พิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ แล้วในที่สุดท่านปรมาจารย์ทองเฒ่าก็ตัดสินใจเลือก พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม ศิษย์อาวุโสรองจากท่านอาจารย์เอียด
เรื่องการคัดเลือกศิษย์ที่จะมาเป็นทายาทในการสืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักนั้น ถือเป็นภารกิจอย่างหนึ่งของเจ้าสำนัก ซึ่งเป็นภารกิจที่หนักหน่วงอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ การที่จะคัดเลือกใครสักคนให้มาทำหน้าที่สำคัญที่สุดในสำนักต้องพิจารณากันหลายๆ ประการ ต้องอาศัยความรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะนำพาสำนักซึ่งโด่งดังและคงความสำคัญมาร่วมพันปีไปสู่ความเสื่อมเสียได้
ผู้รู้ประวัติสำนักเขาอ้อท่านหนึ่งได้กรุณาอธิบายให้ฟังถึงวิธีการคัดเลือกศิษย์ ที่จะมาเป็นทายาทเจ้าสำนักว่า เนื่องจากวัดเขาอ้อเป็นวัดที่วิวัฒนาการมาจากสำนักทิศาปาโมกข์ ซึ่งแต่ก่อนมีพราหมณาจารย์ หรือ ฤาษี เป็นเจ้าสำนัก สืบทอดวิชาตามตำราของพราหมณ์ ซึ่งในตำรานั้นจารึกวิทยาการไว้มากมายหลายประการ มากเสียจนคนๆ เดียวไม่สามารถศึกษาเล่าเรียนได้หมด ต้องแบ่งกันศึกษาเล่าเรียน ฉะนั้นการแบ่งนี้ก็ต้องเลือกคนที่ต้องการจะเรียนตามความเหมาะสม การสอนให้คนที่เรียนตามจริต หรือ ความชอบ เพราะวิชาของสำนักเขาอ้อบางอย่างเหมาะกับบรรพชิต บางอย่างเหมาะกับฆราวาส บางอย่างผู้หญิงห้ามแตะต้อง บางอย่างผู้ชายทำไม่ได้ ทำได้แต่ผู้หญิง บางอย่างฆราวาสทำไม่ได้ทำได้แต่บรรพชิต บางอย่างบรรพชิตทำไม่ได้ทำได้แต่ฆราวาส แต่คนที่จะมาทำหน้าที่เจ้าสำนักต้องเรียนทั้งหมด แม้ตัวเองทำไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้ไว้เพื่อจะถ่ายทอดให้คนที่ทำได้เอาไปทำต่อไป ฉะนั้นคนที่เป็นเจ้าสำนักจะต้องมีความรู้มากที่สุด และต้องอาศัยสติปัญญาสูงสุดจึงจะสามารถรับถ่ายทอดวิชาทั้งหมดนั้นได้
ทีนี้มาว่ากันถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของคนที่จะถูกเลือกเป็นทายาทเจ้าสำนักได้ ผู้รู้ท่านนั้นท่านได้หยิบคุณสมบัติสำคัญอันดับต้นๆมาให้เพียง 3 อย่างนั่นคือ
๑. ต้องมีดวงชะตาดี โดยพิจารณาจากการตรวจดวงชะตาแล้ว
๒. ต้องมีคุณธรรมดี
๓. ต้องมีสติปัญญาเป็นเลิศ
แล้วท่านก็อธิบายถึงความสำคัญของคุณสมบัติเหล่านี้ให้ฟังว่า
ที่ต้องเอาคนดวงชะตาดีนั้น เพราะในอนาคตไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสำนัก คนเราอาจจะดีวันนี้ แต่วันข้างหน้าไม่ดี ตามความเชื่อของพราหมณ์นั้นเชื่อในเรื่องของดวงชะตา ชะตาจะเป็นผู้กำหนดให้มนุษย์เป็นไป ฉะนั้นการตรวจดวงชะตาเป็นการช่วยทำให้ทราบความเป็นไปในอนาคตของมนุษย์ได้
ความมีคุณธรรมเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของบุคคลที่จะถูกเลือกเป็นเจ้าสำนักเขาอ้อ เพราะหากขาดคุณสมบัติข้อนี้แล้วไซร้ ปัญหานานาประการอาจจะเกิดขึ้นได้ คุณธรรมที่ต้องมีนั้นยังระบุชัดเจนลงไปว่า
จะต้องมีเมตตาเป็นเยี่ยม
จะต้องมีความเสียสละเป็นเลิศ
จะต้องรักสันโดษมักน้อยเป็นอุปนิสัย
เพราะว่า หากผู้ถูกเลือกเป็นคนเห็นแก่ตัว ขาดเมตตาธรรม ก็มีโอกาสนำวิชาความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดไป ซึ่งมีมากที่สุด ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง อาจส่งผลเสียต่อส่วนรวม ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเจ้าสำนักเขาอ้อ สำนักเขาอ้อตั้งขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ โดยการเอาการเสียสละของเจ้าสำนักเป็นที่ตั้ง
ความมักน้อยสันโดษเป็นอุปนิสัย ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณธรรมข้ออื่นๆ กล่าวคือ หากบุคคลผู้นั้นเป็นคนฟุ่มเฟือย ละโมบโลภมาก ก็อาจนำวิชาความรู้ และหน้าที่ไปใช้เพื่อรับใช้กิเลสส่วนตนมากกว่าจะส่งผลประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
มีสติปัญญาเป็นเลิศ
คุณสมบัติข้อนี้ก็สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่จะถูกเลือกเป็นเจ้าสำนักวัดเขาอ้อ ก็อย่างที่เรียนไปแล้วแต่ต้นว่าวิชาของสำนักเขาอ้อนั้นมีมากมายหลายประเภทหลายแขนง แต่ส่วนคนทั่วไป เป็นการแยกสอนให้ตามความเหมาะสม ซึ่งแต่ละส่วนก็นับว่าเรียนยาก ต้องอาศัยสติปัญญาระดับหนึ่งจึงจะเข้าถึงวิชานั้นๆได้ แต่สำหรับคนที่จะต้องทำหน้าที่เจ้าสำนักต่อไปจะต้องใช้สติปัญญาอย่างมาก เพื่อจะต้องเรียนวิชาต่างๆหมดสิ้น รู้ให้หมด ทำให้ได้ เพราะนอกจากจะเรียนเพื่อปฏิบัติเองแล้ว ยังต้องเรียนรู้ขนาดที่จะต้องถ่ายทอดให้คนอื่นในฐานะเจ้าสำนักต่อไปได้ด้วย ฉะนั้นเรื่องระดับสติปัญญานับว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาอย่างละเอียด
หลักเกณฑ์การคัดเลือกเจ้าสำนักดังกล่าวนี้เอง ทำให้สำนักวัดเขาอ้อสามารถรักษาวิชาสำคัญๆ และสืบทอดวิทยาการต่างๆต่อกันมาได้ จนถึงพระอาจารย์ปาล ซึ่งถือเป็นเจ้าสำนักที่ได้รับการคัดเลือกจากเจ้าสำนักรูปก่อน และอาศัยคุณสมบัติดังกล่าวเป็นรูปสุดท้าย เพราะหลังจากสิ้นท่านแล้ว สำนักวัดเขาอ้อก็กลายเป็นวัดธรรมดาๆ วัดหนึ่ง มีพระที่มีพรรษาอาวุโสสูงสุดขึ้นเป็นเจ้าอาวาส โดยการแต่งตั้งของคณะสงฆ์ที่ทำหน้าที่ปกครองในเขตนั้น พิจารณาจากคุณสมบัติทางสงฆ์ ซึ่งถือคุณสมบัติทั่วไป ประเพณีการเลือกเจ้าสำนักอันสืบทอดมาแต่เดิมก็จบสิ้นลงแค่สมัยอาจารย์ปาล ปาลธัมโม ซึ่งมีเหตุผลให้จบเช่นนั้น สำนักวัดเขาอ้อซึ่งเคยมีฐานะเป็นสำนักทิศาปาโมกข์ก็เหลือเพียงตำนาน และหลักฐานทางโบราณวัตถุเพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่งก็น่าเสียดายอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อพิจารณาให้ดี ก็เห็นว่าความเป็นไปของสำนักนี้ เป็นไปตามกฎธรรมชาติเพราะสรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่มีอะไรถาวร ทุกอย่างย่อมมีการเกิดเป็นจุดเริ่ม การเจริญเติบโตและตั้งอยู่เป็นท่ามกลาง มีความเสื่อมโทรมและสิ้นสุดเป็นที่สุด สำนักเขาอ้อก็ตกอยู่ในสภาพธรรมนี้ ซึ่งเหมือนกับสำนักใหญ่ๆในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นตักศิลานคร ต้นกำเนิดวิทยาการอันยิ่งใหญ่ในอดีต หรือสำนักใหญ่ๆอื่นๆ



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-2-21 19:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การเสื่อมสลายความสำคัญของสำนักเขาอ้อภายหลังยุคพระอาจารย์ปาล มีเหตุผลอยู่หลายประการ เป็นต้นว่า
๑. สังคมเปลี่ยนค่านิยม
๒. การคมนาคมเปลี่ยนเส้นทาง
๓. วิทยาการสมัยใหม่รุกราน
๔. ขาดผู้นำที่เหมาะสมมาสืบทอดต่อ
และอีกเหตุผลหนึ่งที่คณะศิษย์เขาอ้อลงความเห็นเพิ่มเติม คือ เพราะพระอาจารย์ปาลเป็นเจ้าสำนักรูปแรกและรูปเดียวที่ไม่มีชื่อทองนำหน้าหรือต่อท้าย เหมือนกับเจ้าสำนักรูปอื่นๆที่เคยมี ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย ก็อย่างที่ว่า สำนักเขาอ้อแห่งนี้ตั้งแต่ก่อตั้งมา มีนามว่าทองขึ้นต้นหรือต่อท้ายทุกรูป ตั้งแต่พระอาจารย์ทอง ปฐมาจารย์แห่งสำนักเขาอ้อ จนถึงปรมาจารย์ทองเฒ่า ทองรูปสุดท้าย ข้อสังเกตนี้มีส่วนน่าเชื่อถือแค่ไหน เหตุการณ์ภายหลังการมรณภาพของพระอาจารย์ปาล เป็นส่วนสนับสนุนได้อีกอย่างหนึ่ง
สำหรับประวัติพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม นั้น ไม่ค่อยจะมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรให้อ้างถึงได้มากนัก เนื่องจากพระอาจารย์ปาลท่านเป็นพระที่หนักไปในทางสันโดษ ชอบอยู่เงียบๆ ไม่ค่อยสุงสิงกับสังคมภายนอก ประกอบกับการบันทึกหลักฐานในสมัยท่านยังไม่แพร่หลายมากนัก และที่สำคัญตัวท่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักฐานทางบ้านเมืองมากนัก กล่าวคือไม่เข้าสู่ระบบการปกครองของคณะสงฆ์ เหมือนกับพระอาจารย์เอียด ที่ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรและได้เป็นเจ้าคณะตำบล ทางคณะสงฆ์จึงได้บันทึกประวัติและผลงานของท่านไว้ ทำให้มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรให้ศึกษาค้นคว้าถึงได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับกรณีของพระอาจารย์ปาล จึงจำเป็นต้องอาศัยหลักฐานจากคำบอกเล่าของชาวบ้านไกล้วัดที่เคยได้พบเห็นท่านเป็นสำคัญ
จากคำบอกเล่าของคุณตามงคล ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติใกล้ชิดกับพ่อท่านปาล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติพระอาจารย์ปาลมาว่า บรรพบุรุษของพระอาจารย์ปาลเป็นชาวระโนด จังหวัดสงขลา ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณบ้านเขาอ้อ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าพระอาจารย์ปาลท่านมาเกิดที่เขาอ้อ หรือเกิดที่ระโนดแล้วอพยพตามครอบครัวมา แต่ว่าแม้จะเกิดที่ระโนด ก็คงจะมาตั้งแต่เล็กๆ อย่างน้อยก็ก่อนจะเข้าโรงเรียน
พระอาจารย์ปาลเป็นญาติกับพระอาจารย์ทองเฒ่า ส่วนจะเป็นญาติใกล้ชิดกันแค่ไหนก็ไม่สามารถระบุได้ แต่ก็เข้าใจว่าใกล้ชิดกันพอสมควร เพราะพระอาจารย์ทองเฒ่าก็มีพื้นเพเดิมเป็นชาวระโนดเช่นกัน ครอบครัวของพระอาจารย์ปาลคงจะใกล้ชิดและเคารพนับถือพระอาจารย์ทองเฒ่ามาก ด้วยเหตุนี้เมื่อพระอาจารย์ปาลมีอายุพอที่จะเรียนหนังสือได้ พ่อแม่จึงได้พาไปฝากให้อยู่ศึกษาเล่าเรียนในสำนักวัดเขาอ้อ ซึ่งสมัยนั้นเป็นสำนักใหญ่และสำคัญที่สุดในละแวกนั้น มีลูกศิษย์มากมาย
ผู้เฒ่าท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า พระอาจารย์ปาลเป็นคนเรียนเก่ง แต่ค่อนข้างจะดื้อ มีอุปนิสัยรักสนุก ร่าเริง เป็นนักเสียสละตัวยง เป็นที่รักใคร่ของศิษย์ร่วมสำนักทุกรูปทุกคน ท่านถึงกับเคยรับโทษแทนเพื่อนหลายครั้ง พระอาจารย์ปาลเรียนอยู่ในสำนักวัดเขาอ้อนานจนมีวัยพอที่จะบวชเรียนได้ พระอาจารย์ทองเฒ่าจึงได้จัดการให้บวชเป็นสามเณรแล้วให้อยู่ศึกษาพระธรรมและวิทยาคมต่างๆ อยู่ในสำนักเขาอ้อ
พระอาจารย์ปาลบวชตั้งแต่สามเณรจนกระทั่งได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเขาอ้อ โดยมีพระอาจารย์ทองเฒ่าเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ อุปสมบทแล้วก็ศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมและช่วยพระอาจารย์ทองเฒ่าอยู่ที่สำนักเขาอ้อต่อไป จนกระทั่งพระอาจารย์ทองเฒ่าคัดเลือกให้เป็นทายาทเจ้าสำนักถ่ายทอดวิชาสำคัญๆให้จนหมดสิ้น
ต่อมาเมื่อพระอาจารย์ทองเฒ่ามรณภาพลง ในฐานะทายาทเจ้าสำนัก และเป็นพระที่มีพรรษาอาวุโสที่สุด พระอาจารย์ปาลจึงขึ้นเป็นเจ้าสำนักสืบทอดต่อ ทำหน้าที่ต่างๆต่อจากพระอาจารย์ทองเฒ่า
ภายหลังการมรณภาพของพระอาจารย์ทองเฒ่า จึงมีศิษย์ของสำนักวัดเขาอ้อที่มีชื่อเสียงโด่งดังพร้อมกันสองรูป คือ พระอาจารย์เอียด เจ้าอาวาสวัดดอนศาลา ในฐานะศิษย์เอกคนโต และพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม เจ้าสำนักเขาอ้อ แต่เจ้าสำนักทั้งสองต่างเคารพรักใคร่กันมาก ไปมาหาสู่กันไม่ได้ขาด พระอาจารย์เอียด แม้จะมีภาระใหญ่อยู่ที่วัดดอนศาลา แต่ก็ไม่ทอดทิ้งวัดเขาอ้อ เพราะตระหนักอยู่เสมอว่าเป็นสำนักที่ให้วิชาความรู้ เป็นบ้านที่ท่านเติบโตขึ้นมา ฉะนั้นเมื่อไม่มีพระอาจารย์ทองเฒ่า ก็จะต้องไปดูแลช่วยเหลือพระอาจารย์ปาลทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพราะโดยส่วนตัวพระอาจารย์เอียดรักใคร่เมตตาศิษย์น้องรูปนี้มาก เคยใกล้ชิดสนิทสนมกันเมื่อคราวอยู่ร่วมสำนักที่เขาอ้อ ในสายตาพระอาจารย์เอียด พระอาจารย์ปาลคือศิษย์น้องหัวดื้อ แต่เคารพรักศิษย์พี่อย่างท่านมาก
ในขณะเดียวกัน ในสายตาพระอาจารย์ปาล พระอาจารย์เอียดคือพี่ชาย คือศิษย์พี่ที่จะต้องเคารพเชื่อฟังต่อจากอาจารย์ และโดยส่วนตัวแล้วเมื่อคราวอยู่ร่วมสำนักกัน ศิษย์พี่รูปนี้คอยช่วยเหลือเจือจุนท่านมามาก ด้วยความเคารพนับถือที่มีต่อกัน ท่านทั้งสองจึงถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ต่างระมัดระวังในบทบาทของกันและกัน ด้วยเกรงว่าจะเด่นกว่าอีกฝ่าย
ว่ากันว่าโดยธรรมเนียมแล้ว ผู้เป็นประธานหรือควรจะมีบทบาทเด่นที่สุดในสายเขาอ้อขณะนั้น ก็คือ พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม ในฐานะเจ้าสำนัก แต่เนื่องจากพระอาจารย์เอียดก็เป็นศิษย์ที่ปรมาจารย์ทองเฒ่าคัดเลือกให้เป็นทายาท ถ่ายทอดวิชาไว้ให้เท่าๆกัน และที่สำคัญมีความอาวุโสมากกว่า พระอาจารย์ปาลจึงเคารพและระมัดระวังบทบาทของตัวเองไม่ให้ยิ่งไปกว่าศิษย์พี่ พระอาจารย์เอียดเองก็ตระหนักในข้อนี้ แม้ว่าท่านจะมีความรู้ความเชียวชาญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระอาจารย์ปาล มีพรรษาอาวุโสกว่า แต่ก็ตระหนักดีว่าพระอาจารย์ปาลเป็นเจ้าสำนักใหญ่ ทานจึงให้เกียติมาก ระมัดระวังในบทบาทตัวเองอย่างสูง
ต่อมาดูเหมือนว่าท่านทั้งสองหาทางออกได้ โดนพระอาจารย์ปาลแสดงบทบาทของตัวเองเต็มที่ในสำนัก ส่วนภายนอกมอบให้พระอาจารย์เอียด และตัวพระอาจารย์เอียดเองก็เปลี่ยนไปทำงานให้คณะสงฆ์เสียมากกว่า มอบภาระอันเป็นหน้าที่ของเจ้าสำนักเขาอ้อให้พระอาจารย์ปาลดำเนินการต่อไป ท่านอยู่ในฐานะผู้ช่วยและที่ปรึกษา
ด้วยเหตุนี้ในสำนักเขาอ้อ พระอาจารย์ปาลจึงทำหน้าที่เจ้าสำนักได้เต็มที่






3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-2-21 19:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หน้าที่หลักๆ ของเจ้าสำนักเขาอ้อมีดังนี้
๑. เป็นประธานอำนวยการในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่เคยดำเนินสืบทอดต่อๆกันมา เป็นต้นว่าพิธีอาบว่าน ปลุกเสกพระ กินน้ำมันงา และพิธีอื่นๆ
๒. คัดเลือกศิษย์ ถ่ายทอดวิชา และอบรมศิษย์ในสำนัก
๓. ช่วยสงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากซึ่งเดินทางไปพึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งมีทั้งป่วยทางจิตและทางกาย ท่านก็บำบัดไปตามที่ร่ำเรียนมา ป่วยทางจิตก็ใช้เวทมนต์คาถาเข้าช่วย ป่วยทางกายก็ใช้ยาสมุนไพรเข้าช่วย
๔. เป็นประธานในพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับสำนักเขาอ้อ ในฐานะที่เป็นเจ้าสำนักเขาอ้อ เรียกว่าเป็นประธานโดยตำแหน่ง
๕. คอยดูแลและว่ากล่าวตักเตือนคณะศิษย์ของเขาอ้อที่ออกจากสำนักไปแล้ว หน้าที่นี้คือคอยดูสอดส่องและให้ความร่วมมือ ในกรณีที่ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาจากสำนักเขาอ้อไปสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม อาจจะเป็นผู้ประสานงาน ช่วยเหลือเกลี้ยกล่อม ว่ากล่าวตักเตือน หรือถึงกับให้ความช่วยเหลือในการบำราบปราบปรามเอง เพราะว่าแน่นอนวิชาที่เจ้าสำนักมีอยู่ย่อมมากกว่าคนอื่น ตรงนี้ถือเป็นความรับผิดชอบที่น่าชื่นชมของสำนักแห่งนี้
๖. รักษาของสำคัญของสำนัก อันเปรียบเสมือนเครื่องหมายเจ้าสำนักที่แท้จริง ซึ่งมีอยู่หลายประการ ที่สำคัญก็มี ตำรา ลูกประคำดีควายที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ไม้เท้ากายสิทธิ์ ที่ใช้ในการจี้รักษาโรคและปลุกเสกวัตถุมงคล เพราะภายใต้ปลายไม้เท้าบรรจุธาตุศักดิ์สิทธิ์ไว้จำนวนมาก
โดยสรุปแล้วท่านอาจารย์ปาลก็ทำหน้าที่ต่างๆ อยู่ที่วัดเขาอ้อเสียเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าใหญ่อยู่ที่วัดเขาอ้อ ส่วนข้างนอกให้พระอาจารย์เอียดใหญ่บ้าง ว่ากันโดยวิทยาคุณแล้ว พระอาจารย์ปาลก็เข้มขลังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเจ้าสำนักรูปอื่นๆ ท่านสำเร็จวิชาสำคัญๆ ของสำนักเขาอ้อแทบทุกอย่าง แต่เพราะยุคของท่านเป็นยุคเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม วัดเริ่มถูกลดบทบาทลง โดยเริ่มจากการศึกษา ซึ่งเคยเป็นหน้าที่ของวัดถูกรัฐบาลเอาไปดำเนินการเสียเอง หน้าที่และความสำคัญหลายอย่างของวัดถูกรัฐบาลนำไปทำเสียเอง วัดเลยลดความสำคัญลงไปมาก พระอาจารย์ปาลก็เลยต้องลดบทบาทลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามท่านก็ทำหน้าที่ของเจ้าสำนักวัดเขาอ้อได้สมบูรณ์ตามสถานการณ์จนกระทั่งมรณภาพ
พระอาจารย์ปาลอยู่ที่วัดเขาอ้อจนกระทั่งชราภาพมากเข้า ในวาระบั้นปลายของท่าน วัดเขาอ้อเข้าสู่ภาวะซบเซา พระภิกษุสามเณรในวัดมีน้อย ในขณะเดียวกันวัดดอนศาลากลับคึกคักขึ้นมาแทน เมื่อท่านชราภาพจนช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยสะดวก ศิษย์รูปหนึ่งของท่าน คือพระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร รองเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา ได้นำท่านมาอยู่ที่วัดดอนศาลา เพื่อจะดูแลปรนนิบัติรับใช้ได้สะดวกกว่า
พระอาจารย์ปาลอยู่ที่วัดดอนศาลาหลายปี จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะเกือบจะสุดท้ายแห่งชีวิต ท่านทราบวาระของตัวเอง จึงขอให้ศิษย์นำกลับไปที่วัดเขาอ้ออีกครั้ง เพื่อที่จะกลับไปมรณภาพที่สำนักวัดเขาอ้อ เหมือนกับเจ้าสำนักรูปก่อนๆ คณะศิษย์เห็นใจ สนองตอบความต้องการของท่าน นำท่านกลับไปอยู่ที่วัดเขาอ้อ พระอาจารย์ปาลกลับไปอยู่ที่วัดเขาอ้อในสภาพอาพาธหนักด้วยโรคชราไม่ถึงสองเดือน ก็ถึงแก่มรณภาพ
เรื่องที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับชีวประวัติเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง คือ เรื่องการสำเร็จวิชานิ้วเพชรของท่านอาจารย์ปาล ในกระบวนวิชาสำคัญๆระดับหัวกะทิที่บุคคลระดับเจ้าสำนักถึงจะได้เรียนนั้น มีวิชานิ้วเพชรเป็นวิชาหนึ่งที่น่าสนใจ เล่ากันว่าใครสำเร็จวิชานี้ นิ้วชี้ด้านขวาจะแข็งเป็นหิน มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ใช้ชี้อะไรก็สามารถกำหนดให้เป็นให้ตายได้ ผู้ที่สำเร็จวิชามรณภาพแล้ว แม้สังขารถูกเผาไฟไหม้ส่วนต่างๆได้หมด แต่นิ้วชี้เพชรจะไม่ถูกไฟไหม้ เพราะเหตุนี้ นิ้วของเจ้าสำนักวัดเขาอ้อจึงถูกเก็บไว้ เท่าที่มีผู้คนเคยเห็น ก็มีนิ้วชี้ของท่านพระอาจารย์ทองเฒ่าซึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านสวน วัดสาขาสำคัญอีกวัดหนึ่งของวัดเขาอ้อ สันนิษฐานสาเหตุที่ไปอยู่ที่นั้น ก็เพราะพระอาจารย์คงนำไป คือ เข้าใจว่านิ้วเพชรของท่านอาจารย์ทองเฒ่านั้น ภายหลังจากเผาไม่ไหม้ พระอาจารย์เอียดหรือไม่ก็พระอาจารย์ปาลเก็บรักษาไว้ เมื่อพระอาจารย์มรณภาพ พระอาจารย์คงในฐานะศิษย์ผู้รับมรดกหลายอย่างของพระอาจารย์เอียด ก็ได้รับนิ้วเพชรนั้นไปเก็บรักษาต่อ นิ้วชี้เพชรของปรมาจารย์ทองเฒ่า เคยตั้งให้คนทั่วไปชมอยู่ที่วัดบ้านสวน แต่เมื่อท่านอาจารย์คงมรณภาพก็ถูกเก็บเงียบระยะหนึ่ง แต่ก็มีผู้ยืนยันว่ายังอยู่ที่วัดบ้านสวน แต่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
ส่วนนิ้เพชรของพระอาจารย์ปาลนั้นมีผู้ยืนยันว่าเก็บรักษาไว้ที่วัดเขาอ้อ แต่ในปัจจุบันไม่ทราบว่ายังอยู่หรือเปล่า เพราะข้าวของสำคัญๆ ของวัดหลายอย่างได้สูญหายไปภาพหลังท่านมรณภาพ





ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้