ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1403
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ศีลเป็นที่ตั้งของอกุศลธรรมทั้งหลาย โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

[คัดลอกลิงก์]
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ศีลเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย

อนึ่ง ตามที่กล่าวมานี้มิได้กล่าวถึงศีล อาจจะทำให้มีความเข้าใจว่าศีลเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ศีลไม่สำคัญ แต่ว่าอันที่จริงนั้นจะต้องมีศีลประกอบอยู่ด้วย ศีลได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเปรียบไว้ว่า เหมือนอย่างพื้นดินสำหรับเป็นที่ยืน เดิน นั่ง นอน หรือเป็นที่สถิตย์เป็นที่ตั้งของทุกๆ อย่าง ตามข้อเปรียบเทียบนี้จะเห็นได้ว่าศีลสำคัญ ถ้าไม่มีศีลก็ไม่มีพื้นสำหรับที่จะตั้งขึ้นยืนขึ้น ของกุศลธรรมทั้งหลาย รวมทั้งสมาธิและปัญญา หรือสมถะวิปัสสนา อันรวมเรียกว่าจิตตภาวนาหรือกรรมฐานดังที่กล่าวนั้น ต่อเมื่อมีศีล กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงจึงจะเกิดขึ้นต่อไปได้

เพราะฉะนั้นในไตรสิกขาจึงได้แสดงศีลไว้เป็นอันดับที่หนึ่ง คือ สีลสิกขา ต่อขึ้นไปก็เป็น จิตตสิกขา อันหมายถึงสมาธิ และต่อขึ้นไปก็เป็น ปัญญาสิกขา ฉะนั้นหลักปฏิบัติในพุทธศาสนาจึงรวมเข้าในสิกขา  3 นี้ หรือว่าเรียกอย่างสามัญว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

สิกขา

อันคำว่า สิกขา นั้นเป็นภาษาบาลี ตรงกับคำว่าศึกษาที่ไทยเรานำมาใช้จากคำสันสกฤตว่า ศิกษา มาเป็น ศึกษา ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาจารึกพระพุทธวัจนะใช้คำว่าสิกขา ซึ่งเป็นคำเดียวกัน ซึ่งมีความหมายตั้งแต่การเรียนให้รู้ อันเป็นการเล่าเรียนหรือเรียกว่าปริยัติ ตลอดจนถึงปฏิบัติ ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือความที่ตั้งใจสำเหนียกฟังอ่านทรงจำ พิจารณาให้เข้าใจ อันเป็นการเล่าเรียน แล้วก็นำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น รวมทั้งเรียนทั้งปฏิบัติเป็นศึกษาหรือสิกขา ฉะนั้นกิจที่จะพึงทำในพุทธศาสนานั้น จึงต้องศึกษาในศีล เรียนให้รู้จักศีล

และปฏิบัติศีลให้มีขึ้น ดังที่ได้สมาทานศีล 5 ศีล 8 หรือได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุ หรือเพียงบรรพชาเป็นสามเณร ก็มีวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้จะพึงปฏิบัติ ถ้าเป็นศีลห้าศีลแปด ก็  5 ข้อ 8 ข้อ ถ้าเป็นภิกษุสามเณรก็มากขึ้นตามที่ทรงบัญญัติไว้ เป็น 10 ข้อ เป็น 227 ข้อ เป็นต้น การที่มาตั้งใจปฏิบัติวินัยทั้งคฤหัสถ์ทั้งบรรพชิตดังนี้ เรียกว่าเป็นศีล เพราะทำให้กายวาจาใจสงบเป็นปกติ

ศีลในขั้นต้นนั้นก็ปรากฏทางกายทางวาจา ซึ่งเว้นได้จากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม และกระทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ปรากฏทางกายทางวาจา แต่ว่าศีลที่บริสุทธิ์จะต้องถึงจิตใจ คือจิตใจต้องเป็นศีล จิตใจต้องมีความปรกติ มีความสงบ อันเริ่มมาจากการตั้งใจงดเว้นตามพระวินัยบัญญัติ ตั้งใจปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ

แต่ว่าความตั้งใจนี้มีเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่มีกำลังของศรัทธาปัญญาเป็นต้น แรง ความตั้งใจก็แน่วแน่ ทำให้การปฏิบัติทางกายทางวาจาก็ถูกต้อง แต่ว่าเมื่อกำลังของศรัทธาปัญญาอ่อน ความตั้งใจก็รวนเร เมื่อความตั้งใจรวนเร ก็ทำให้การปฏิบัติทางกายทางวาจารวนเร ทำให้เกิดการปฏิบัติผิดพลาดต่างๆ เป็นการละเมิดศีลมากหรือน้อย

เพราะฉะนั้น จิตใจนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และจิตใจนี้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายนั้น ก็คือดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในอารมณ์ คือเรื่องทั้งหลาย ที่ประสบพบผ่านทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจเองอยู่ตลอดเวลา อารมณ์คือเรื่องทั้งหลายที่ประสบพบผ่านเข้ามาสู่จิตใจนี้ บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของราคะ คือความติดใจยินดี บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของโทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของโมหะ คือความหลง

เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติซึ่งเป็นเครื่องรักษาใจ อ่อน อารมณ์เหล่านี้มีกำลังแรง ก็เข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เมื่อเป็นดั่งนี้หากระงับใจไว้ไม่อยู่ ก็ทำให้ละเมิดออกไปทางกายทางวาจา เป็นการผิดศีลน้อยบ้างมากบ้าง ศีลก็ไม่บริสุทธิ์
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้