ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2670
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วานร 18 มงกุฎ เสนาวานรแห่งกองทัพพระราม

[คัดลอกลิงก์]

วานร 18 มงกุฎ เสนาวานรแห่งกองทัพพระราม




https://www.youtube.com/watch?v=4OBSxM9pfEE


ปัจจุบันพอเอ่ยคำว่า “ 18 มงกุฏ” คนมักจะคิดว่าเป็นพวกมิจฉาชีพ นักต้มตุ๋นมนุษย์หรือพวกหลอกลวงคน ทั้งที่จริงแล้ว “18มงกุฏ” เป็นคำที่เรียก เสนาวานร 18 ตน หนึ่งในกลุ่มทหารเอกของพระราม ในเรื่อง “รามเกียรติ์” ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายธรรมะ และก็มิใช่เป็นวานรหรือลิงธรรมดา แต่ล้วนเป็นเทวดาอาสาแบ่งภาคมาช่วยพระรามหรือพระนารายณ์ที่อวตารลงมาปราบยักษ์ คือ ทศกัณฐ์ทั้งสิ้น ซึ่งเทวดาแปลงเป็นลิง 18 มงกุฏนี้มีใครบ้าง ผมก็จะเล่าให้ฟังเป็นรายตนไปเลยละกันนะ

ตามปกติ เราจะคุ้นเรื่อง “รามเกียรติ์” จากการแสดงโขน อันเป็นการแสดงที่ผู้แสดงจะต้องสวม “หัวโขน” ซึ่งว่ากันว่าเดิมทีเดียว คงจะยังไม่มีหัวโขนสวมเช่นปัจจุบัน แต่ใช้การแต่งหน้าระบายสีลงบนหน้าตัวแสดงตามลักษณะที่ปรากฏในเรื่อง ครั้นต่อมาเมื่อตัวละครมีมากเข้า ไม่สะดวกในการแต่งหน้าตัวละครเช่นเดิม จึงได้มีการคิดทำเป็นหน้ากากจำลองเป็นรูปใบหน้าต่างๆ สวมครอบศีรษะและหน้าซึ่งยังสวมเทริด (อ่านว่า เซิด หมายถึง เครื่องประดับศีรษะ) อยู่ แล้วต่อมาจึงได้พัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
จนกลายมาเป็น “หัวโขน” ดังที่เห็นทุกวันนี้ ในการแสดงโขนเรื่อง “รามเกียรติ์” นี้ แม้จะมีตัวละครอยู่มากมาย แต่ทางนาฏศิลป์จะมีคำเรียกเพื่อแบ่งคู่สงครามออกเป็น ๒ พวกใหญ่ คือ ฝ่ายพลับพลา หมายถึงฝ่ายธรรมะ ได้แก่ พระราม พระลักษณ์และบรรดาวานรที่เป็นพันธมิตรกับพระราม ส่วนทศกัณฐ์กับบรรดาอสูรและพวกประยูรญาติเรียกว่า “ฝ่ายกรุงลงกา” ถือว่าเป็นฝ่ายอธรรมะ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะสวมหัวโขนที่มีลักษณะหน้า เครื่องประดับ และสีที่แตกต่างกันตามฐานะเพื่อให้จำแนกออก เช่น หัวโขนหน้าวานร 18 มงกุฏที่จะกล่าวถึงต่อไป แม้จะทำเป็นหน้าลิงหัวโล้น สวมมาลัยรักร้อยเหมือนกัน แต่ก็จะมีสีที่หน้าต่างกัน รวมถึงปากที่บางตัวก็อ้าปาก บางตัวก็หุบปากด้วย ส่วนหน้ายักษ์มักจะทำตาให้ต่างกัน เช่น ทศกัณฐ์ อินทรชิต จะทำตาเบิกโพลง ถ้าตาหลบต่ำที่เรียกว่าตาจระเข้ จะเป็น ตรีเศียร พิราพ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ชมสามารถแยกออกว่าตัวไหนเป็นใคร ตำแหน่งอะไร


สำหรับวานร 18 มงกุฏ ที่เป็นฝ่ายพันธมิตรกับพระรามหรือที่เรียกว่า ฝ่ายพลับพลา นั้นเป็นวานรที่มาจากสองเมือง คือ เมืองขีดขินของสุครีพ และเมืองชมพู ซึ่งแต่เดิมก็คือเทวดา 18 องค์ที่อาสามาช่วยพระนารายณ์ตอนอวตารมาเป็นพระรามนั่นเอง ดังบทละครรามเกียรติ์ที่กล่าวถึงตอนนี้ว่า....
                      “ เมื่อนั้น               ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่   
               ต่างทูลอาสาพระภูวไนย    จะขอไปเป็นพลพระอวตาร
               มาล้างเหล่าอสูรพาลา       ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน”
ซึ่งเทวดาทั้ง 18 องค์นี้ประกอบไปด้วย

1. เกยูร คือ ท้าววิรุฬหก ผู้เป็นใหญ่ในยักษ์ทั้งหลายและเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศใต้ ได้แบ่งภาคมาเป็นเกยูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงแก่ มักปรากฏชื่อในกองทัพตอนรบกับเหล่าอสูรหลายตอน ซึ่งตอนหนึ่งปรากฏขึ้นในการจัดทัพรวมพลเมืองขีดขินและเมืองขมพู เพื่อยกไปลงกา สุครีพจัดกองทหารประกอบด้วยเสนาวานรสิบแปดมงกุฎ

2. มายูร คือท้าววิรูปักษ์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาค เป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศตะวันตก แบ่งภาคมาเป็นมายูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงอ่อน ได้รับการกล่าวถึงในกระบวนทัพเช่นเดียวกับเกยูร

3. โกมุทหรือโคมุท คือพระหิมพานต์ ผู้ดูแลรักษาป่าหิมพานต์ มีฤทธิ์เดชเก่งกล้ามาก รบชนะพวกยักษ์เสมอ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีดอกบัวโรย (บ้างก็ว่าหุบปาก) อยู่ในกองทัพที่รบกับอสูรเช่นกัน และเมื่อเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายซ้ายเมืองขีดขิน คู่กับไชยามพวาน

4. ไชยามพวาน คือ พระอีศาณหรือพระวิศาลเทวบุตร แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปรบ เพราะมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเทา หรือสีมอหมึกอ่อน เมื่อเสร็จศึกได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาฝ่ายขวาเมืองขีดขิน

5. ไวยบุตร คือ พระพิรุณ เทพแห่งฝน แบ่งภาคเป็นวานรเมืองขีดขินมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีเมฆคครึ้มฝน หรือสีมอครามแก่

6. สุรกานต์ คือ พระมหาชัยแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน คุมกำลัง ๓๐ สมุทรมาช่วยรบ เมื่อเสร็จศึกได้ครองเมืองโรมคัลซึ่งเป็นเมืองของยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเหลืองจำปา

7. นิลเอก คือ พระพินายแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีทองแดงแก่ (บางแห่งก็ว่าหุบปาก) มีบทบาทในการรบไม่น้อย เช่น ไปช่วยพระลักษณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต

ไทยแท้:
8. นิลขัน คือ พระพิเนกหรือพระพิฆเนศแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ช่วยพระรามรบกับพวกยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีหงดินแก่ หรือสีอิฐแก่ (หงคือสีแดงเจือขาว)

9. กุมิตัน คือ พระเกตุ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ มาแบ่งภาคมา ไม่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายใด บ้างก็ว่าอยู่เมืองชมพู ปรากฏในคราวกระบวนทัพครั้งพระมงกุฎพระลบรบกับท้าวคนธรรพ์นุราช หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ (บางทีก็ว่าปากอ้า) สีทอง หรือ สีเหลืองรง (รง คือ ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มียางสีเหลือง)

10. นิลราช คือ พระสมุทร แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู นอกจากมีบทบาทสำคัญในการรบแล้ว ยังมีหน้าที่เอาก้อนหินไปถมทะเลในตอนจองถนน เพราะต้องคำสาปของฤาษี
คาวิน ว่าเมื่อเอาสิ่งใดทิ้งน้ำให้จมอยู่กับที่ จึงต้องเป็นผู้อาสาเอาศิลาไปทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจึงจะพ้นคำสาป หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า(บ้างก็ว่าปากหุบ) สีน้ำไหลหรือสีฟ้าอ่อนเจือเขียว

11. สัตพลี คือ พระจันทร์ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน นอกจากมีหน้าที่จดความดีความชอบของเหล่าทหารแล้ว ยังมีบทบาทเด่นเป็นผู้เขียนสารส่งไปยังกรุงลงกา ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาลักษณ์แห่งเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ สีขาวผ่อง

12. วิสันตราวี คือ พระอังคาร เทพแห่งสงคราม หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในตอนพระพระพรตพระสัตรุดทำศึกกับท้าวทศพิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแดงลิ้นจี่

13. สุรเสน คือ พระพุธ เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ความเก่งกาจเกือบเทียบได้กับหนุมาน เมื่อเสร็จศึกได้ไปครองเมืองอัสดงค์ของสัทธาสูร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแสด หรือสีเขียว

14. นิลปานัน คือ พระราหู เทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพูมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีสำริด

15. มาลุนทเกสร คือ พระพฤหัสบดี เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในคราวพระรามรบกับมังกรกัณฐ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า (บ้างก็ว่าปากหุบ) สีเมฆ หรือสีม่วงครามอ่อน

16. นิลปาสัน คือ พระศุกร์ เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในการรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเลื่อมเหลือง หรือสีหมากสุก

17. นิลพานร หรือ วิมล คือ พระเสาร์ เทวดานพเคราะห์ที่แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในการรบตอนหกรถรบหกวานร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบสีดำหมึก

18. เกสรทมาลา คือ พระไพศรพณ์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน (บางแห่งว่าไม่ปรากฏเป็นฝ่ายใด) ปรากฏในตอนรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรอ้าปากสีเหลืองอ่อน หรือเลื่อมเหลือง

ทั้งหมดคือที่มาของ 18 มงกุฏ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ล้วนเป็นเทวดาที่มีความเก่งกล้าสามารถและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยปราบยักษ์หรือเหล่าอธรรมะให้สิ้นไป จึงได้อาสาแบ่งภาคมาจุติเป็นเสนาวานร ทหารเอกของพระรามเพื่อการนี้ ไม่ได้มีนัยการใช้ความเก่งกล้าไปในทางร้ายกาจหรือเจ้าเล่ห์แสนกลดังที่เราใช้ในความหมายปัจจุบันเลย ดังนั้น ถ้าจะใช้คำว่า “18 มงกุฏ” คราวต่อไป เราคงต้องเปลี่ยนความหมายใหม่ว่าหมายถึง “ผู้ปราบมารหรือเหล่าร้าย” น่าจะถูกต้องกว่าเนอะ
ป.ล. ขอขอบคุณเนื้อหาจากกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-9-28 06:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-3-17 07:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้