ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1743
ตอบกลับ: 0

ดอยขะม้อ บ่อน้ำทิพย์ ตำนานน้ำศักดิ์สิทธิ์เมืองลำพูน

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย oustayutt เมื่อ 2015-11-30 14:31



เมื่อถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เหนือ จะมีประเพณีตักน้ำทิพย์จากดอยขะม้อเพื่อนำไปสรงน้ำพระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัยเป็นประจำทุกปี น้ำจากบ่อน้ำทิพย์ดอยขะม้อถือได้ว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองลำพูน

มีตำนานเล่าขานถึงบ่อน้ำทิพย์แห่งดอยขะม้อไว้ว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ เมื่อพระพุทธองค์ทรงห้างบาตรเสร็จจึงออกบิณฑบาตรไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ แล้วไปแวะพักฉันท์อาหารบนยอดดอยขะม้อ เมื่อฉันท์อาหารเสร็จไม่มีน้ำเสวย จึงโปรดให้พระอานนท์ไปตักน้ำยังลำห้วยแห่งหนึ่งทางทิศเหนือของดอยขะม้อ เมื่อพระอานนท์ไปถึงลำห้วยนั้น ก็ตีบตันไปหมดไม่สามารถตักน้ำไปจึงกลับมากราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ภายภาคหน้าคนทั้งหลายจะเรียกลำห้วยแห่งนี้ว่า “แม่ตีบ” พระอานนท์จึงไปยังลำห้วยอีกแห่งหนึ่งทางทิศใต้ของดอยขะม้อ บังเอิญมีเกวียนผ่านไปมาทำให้น้ำในลำห้วยนี้ขุ่น พระอานนท์รอ (ท่า) ในภาษาล้านนา แปลว่า “รอ” อยู่เป็นเวลานานน้ำก็ไม่ใสสักทีจึงกลับไปทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ภายภาคหน้าคนทั้งหลายจะเรียกลำธารนี้ว่า “แม่ท่า” ภายหลังเปลี่ยนเป็น “แม่ทา” พระอานนท์จึงไปยังหนองน้ำแห่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกของดอยนี้ เมื่อไปถึงพญานาคที่รักษาหนองน้ำบันดาลให้น้ำแห้งไปหมดไม่สามารถตัดน้ำได้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่าต่อไปคนจะเรียกหนองน้ำนี้ว่า “หนองแล้ง” เมื่อเป็นดังนั้นพระพุทธองค์จึงอธิษฐานถึงบารมีทานแล้วใช้นิ้วพระหัตถ์กดลงบนแผ่นดิน ฉับพลันก็มีน้ำพุ่งขึ้นมาให้เสวยได้สมพระทัย พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ดูกร อานนท์ เมื่อตถาคตเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ธาตุของตถาคตจะไปตั้งอยู่ใจกลางเมืองหริภุญชัย ในสมัยพระยาอาทิตยราชแล้วคนทั้งหลายจักตักเอาน้ำแห่งนี้ไปสรงพระธาตุของตถาคต”‘


ปัจจุบันดอยขะม้อตั้งอยู่ในเขตตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 16 กิโลเมตร คนสมัยก่อนมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับดอยขะม้อว่า มีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งลักษณะสูงชันมาก รูปร่างเหมือนหม้อคว่ำ ชาวเมืองเรียกกันมาแต่โบราณว่า “ดอยคว่ำหม้อ” ต่อมาเพี้ยนมาเป็น “ดอยขะม้อ บ่อน้ำทิพย์” สาเหตุที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะว่าบนยอดดอยมีบ่อน้ำที่เกิดกลางแผ่นดิน ถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ ที่บริเวณปากบ่อจะมีป้ายปักไว้ว่า “บริเวณบ่อน้ำทิพย์ห้ามผู้หญิงเข้า” เพราะเมื่อผู้หญิงเข้าไปแล้วน้ำในบ่อจะแห้งทันที

บนยอดดอยขะม้อมีความกว้างประมาณ 12 เมตร ยาว 30 เมตรล้อมรอบดอยนี้มีเขาสูงสลับซับซ้อนกันหลายลูกและมีพันธุ์ไม้นานาชนิดขึ้นอย่างหนาแน่น ปัจจุบันป่าไม้ในบริเวณนี้ถูกทำลายและโค่นเกือบไม่มีให้เห็นแล้ว บนดอยขะม้อมีพระวิหารตั้งอยู่หลังหนึ่งกับรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่หน้าวิหารมีแผ่นศิลาจารึกเป็นภาษาไทยล้านนาว่า “ได้สร้างพระวิหารและรอยพระพุทธบาทจำลองเมื่อ พ.ศ.2470 โดยครูบาสิงห์ชัย วัดสะแล่ง พระครูชัยลังกา วัดศรีชุม ขุนจันทนุปาน กำนันตำบลมะเขือแจ้และนายชัย กำนันตำบลบ้านกลางได้ชักชวนประชาชนสร้างสิ้นค่าก่อสร้าง 3,000 รูปี ทำบุญฉลองเมื่อ พ.ศ.2472”

บ่อน้ำทิพย์เป็นลักษณะบ่อที่เกิดกลางแผ่นดิน ไม่ใช่บ่อที่มีคนขุด ถึงขุดก็คงขุดไม่ได้เพราะเป็นหินขนาดใหญ่และแข็งมากปากบ่อกว้างประมาณ 3 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียว ลึกลงไปเป็นรูปกรวย กล่าวกันว่าความลึกของบ่อน้ำทิพย์ดอยขะม้อนั้นไม่สามารถลงไปวัดได้


นอกจากน้ำทิพย์จากดอยขะม้อจะใช้ในการสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัยในเทศกาลแปดเป็งแล้ว ยังมีการใช้น้ำทิพย์แห่งนี้ในงานราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ.2453 ทางราชการจังหวัดลำพูนได้นำน้ำจากบ่อน้ำทิพย์เข้าร่วมพิธีสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ได้ใช้น้ำทิพย์จากดอยขะม้อในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย กระทั่งในรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงสรงน้ำมุรธาภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ.2493 ทำพิธีเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ มหาเจดีย์สถานและพระราชอารามต่าง ๆ ในราชอาณาจักร จำนวน 178 แห่ง
น้ำทิพย์จากดอยขะม้อ ยังถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 7 แห่งที่ได้มาจากแม่น้ำและแหล่งน้ำสำคัญและเป็นสิริมงคลของประเทศ เพื่อนำมาทำน้ำพุทธมนต์ ณ มหาเจดีย์สถานอันเป็นมหานครโบราณ 7 แห่ง ได้แก่ น้ำจากแม่น้ำป่าสัก ตำบลท่าราบ น้ำจากทะเลแก้ว พิษณุโลก น้ำโชคชมภู บ่อแก้ว บ่อทอง สวรรคโลก น้ำจากแม่น้ำนครไชยศรี นครปฐม น้ำจากบ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาชัย บ่อวัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช น้ำจากบ่อวัดพระธาตุพนม นครพนม และน้ำทิพย์จากดอยขะม้อ ลำพูน

ประเพณีการตักน้ำจากบ่อน้ำทิพย์ดอยขะม้อ

ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย มีขึ้นในเดือน 8 เหนือ ขึ้น 14 ค่ำหรือเดือนแปดเป็งของทุกปี ส่วนประเพณีตักน้ำทิพย์จากดอยขะม้อนี้มีในเดือนแปดเหนือขึ้น 12 ค่ำก่อนสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย 3 วัน วันประเพณีตักน้ำจากบ่อน้ำทิพย์ในเวลาเช้ามืดจะต้องนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป ขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์ ณ บริเวณยอดดอยขะม้อ จากนั้นตอนค่ำ เวลา 18.00 น. มีการทำพิธีบวชพราหมณ์ จำนวน 4 ตน ซึ่งจะต้องนอนค้างคืน 1 คืน และประมาณ พราหมณ์ ทั้ง 4 ตน จะได้ลงตักน้ำทิพย์ ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำ และบริเวณลานผาลาด จะมีคณะที่คอยรอรับน้ำทิพย์อยู่เชิงบันไดนาค โดยพราหมณ์ทั้ง 4 ตน จะตักน้ำทิพย์ใส่คันโทยขึ้นเสลี่ยงแบกหามลงมา เพื่ออัญเชิญขึ้นรถบุษบก พอถึงจุดผาลาดมีการใส่บาตรตอนเช้า และจะมีการทำพิธีสมโภชตอนสายตลอดทั้งวัน และช่วงเย็นจะมีการเคลื่อนขบวนไปยังวัดพระธาตุหริภุญชัย โดยจะมีการนำน้ำทิพย์จากดอยขะม้อเข้าร่วมขบวนกับน้ำสรงพระราชทาน


ปัจจุบันการขึ้นดอยขะม้อไม่ยากเข็นเหมือนแต่ก่อน เพราะพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณมหาเจติยารักษ์ ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ท่านเพียรพยายามร่วมกับทางจังหวัดและพ่อค้าประชาชนคณะศรัทธาจัดทำบันไดนาคขึ้นไปสู่ยอดดอย
การเดินทางไปยังดอยขะม้อ

เริ่มจากถนนซุปเปอร์สายเชียงใหม่ – ลำปาง แยกเข้าถนนสายนิคมอุตสาหกรรม ไปถึงดอยขะม้อระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร การจะขึ้นไปบนดอยขะม้อสามารถขึ้นได้ทางบันไดพญานาค เมื่อไปถึงยอดดอยจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองลำพูนได้โดยทั่ว

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
jakrapong@chiangmainews.co.th



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้