ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1902
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

อดีต แห่ง ปัจจุบัน คำสั่ง ยึดทรัพย์ "สฤษดิ์" อุทยาน ราชภักดิ์

[คัดลอกลิงก์]
มติชนรายวัน 16 พฤศจิกายน 2558

อดีต แห่ง ปัจจุบัน คำสั่ง ยึดทรัพย์ "สฤษดิ์" อุทยาน ราชภักดิ์



พลันที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล  ประธานคณะที่ปรึกษา กองทัพบก เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการก่อสร้าง "อุทยานราชภักดิ์"

หลายคนบังเกิด "นัยประหวัด" ไปถึงการที่รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร มีคำสั่งตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ณ  วันที่ 20 พฤศจิกายน 2507 ให้ทรัพย์สินในกองมรดกของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทรัพย์สินของ  ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐ

และวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกัน ได้ออกคำสั่งเป็นฉบับที่ 2

"โดยปรากฏแจ้งชัดปราศจากข้อสงสัยว่า  จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะยังมีชีวิตอยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการมิชอบ  กระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สินของรัฐไปหลายครั้งหลายหน มีจำนวนมากมายถึง 604,551,276 บาท 62 สตางค์

"และโดยที่  ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภรรยาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ร่วมรับประโยชน์ในการนี้ด้วย

"การกระทำดังกล่าวนี้มีผลเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร"

เป็นคำสั่งยึดทรัพย์ในห้วงเวลา 1 ปี  ภายหลังอสัญกรรมของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506

ทำไม



คําถาม "ทำไม" เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยมากมายอันสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง จอมพลถนอม  กิตติขจร กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

1 เป็นความสัมพันธ์ที่จบจากโรงเรียนนายทหารบก

1 เป็นความสัมพันธ์ที่ร่วมในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 อันเท่ากับเป็นการตัดวงจรแห่งอำนาจของ "คณะราษฎร" ลงไป

1 เป็นความสัมพันธ์ที่ร่วมในการรัฐประหารโค่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม  เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500

อันส่งผลให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร ได้เป็น "นายกรัฐมนตรี"

1 เป็นความสัมพันธ์ที่ พล.อ.ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี  เปิดทางและร่วมมือให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2501

และร่วมกันครองอำนาจจน จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม

เพราะสายสัมพันธ์อันยาวนานตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 กระทั่งรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 นั้นเอง ที่เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม พล.อ.ถนอม  กิตติขจร จึงได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

แล้วก็ใช้อำนาจตามมาตรา 17 ยึดทรัพย์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์



เป็นไปได้อย่างไรที่  จอมพลถนอม กิตติขจร จะสนองคุณ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยการออกคำสั่งตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร

ยึดทรัพย์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และภรรยา

เป็นไปได้ และเป็นไปแล้ว

แม้ จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่อาจอธิบายได้ แต่ใครที่ร่วมอยู่ใน "สถานการณ์" ซึ่งรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร เผชิญ

ก็จะ "เข้าใจ" และตระหนักใน "ความจำเป็น"

ทรัพย์สินอันประเมินออกมาเป็นจำนวน 604,551,276 ล้านบาทเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2507 นั้นดำรงอยู่บนพื้นฐานอันปรากฏตามเหตุผลในคำสั่งว่า

1 เป็นการได้มาโดยการเบียดบังและยักยอก

1 เป็นการเบียดบังและยักยอกผ่านกระบวนการใช้อำนาจหน้าที่ในราชการโดยมิชอบ  และปรากฏแจ้งชัด ปราศจากข้อสงสัย

เป็นเรื่องที่ "อึกทึก" และ "ครึกโครม"

ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการฟ้องร้องแย่งทรัพย์สินอันเป็นมรดก  ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการนำเสนอข่าวโดยสื่อสารมวลชนกระแสหลัก

อึกทึกทั้ง "ในประเทศ" ครึกโครมทั้ง "ต่างประเทศ"

หากรัฐบาลไม่ตัดสินใจ  ก็ยากที่จะได้รับความเชื่อถือในทางการเมือง



กรณีของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่กระทำต่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  จึงเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง

สภาพความเป็นจริงที่ "สังคม" เริ่มเข้ามาตรวจสอบ กำกับและควบคุม "รัฐบาล" แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการ ไม่มีการเลือกตั้ง มีแต่สภาแต่งตั้ง ชูมือสลอนในแบบ "ฝักถั่ว" ก็ตาม

เมื่อปี 2507 เป็นเช่นนี้ ในปี 2558 จะเป็นเช่นไร

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1447674799

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้