ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องที่พระภิกษุรูปหนึ่งเมื่อมรณภาพลงพระรูปหนึ่งจะนำจีวรไป พระพุทธเจ้าทรงห้ามและรับสั่งเล่าว่า พระภิกษุผู้เป็นเจ้าของจีวรนั้น ได้มาเกิดเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวรที่ท่านซักตากไว้ เพราะจิตของท่านเมื่อจะมรณภาพนั้นผูกพันอยู่กับจีวรผืนนั้น ที่ท่านเพิ่งได้มาและชอบมาก กรรมทางใจหรือมโนกรรมมีโทษหนักเพียงนี้ ทำมนุษย์ในชาติหนึ่ง ให้เป็นสัตว์ในอีกชาติหนึ่งก็ได้ ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือเมื่อเป็นสัตว์แล้ว ก็ยังระลึกถึงครั้งเมื่อเป็นมนุษย์ได้ จะเดือดร้อนใจเพียงไหน พระพุทธเจ้ารับสั่งห้ามไม่ให้นำจีวรไป เพราะเล็นที่เป็นเจ้าของจีวรครั้งยังเป็นพระภิกษุนั้นหวงอยู่ ถ้านำจีวรไปก็จะโกรธแค้นขุ่นเคือง จะทำให้ไม่ได้ไปเสวยผลแห่งกรรมดีที่ได้กระทำไว้แล้วเป็นอันมาก อำนาจกรรมแม้เพียงมโนกรรมทางใจ ไม่ได้ปรากฏเป็น กายกรรม วจีกรรม ถึงเป็นการเบียดเบียนทำร้ายผู้ใด ก็ยังมีอำนาจใหญ่ยิ่งเพียงนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงเตือนให้ระวัง ทุกคนจึงควรระวังให้จงหนัก กรรมส่งผลแน่นอนต่อผู้กระทำ ทุกวันนี้มีข่าวฆ่าฟันกันอย่างทารุณโหดเหี้ยม มิได้เว้นแต่ละวัน พบแล้ว เห็นแล้ว ก็ให้นึกถึงกรรม เคยฆ่าเขามาก็ถูกเขาตามมาฆ่า คนละภพคนละชาติ ข้ามภพข้ามชาติแล้วก็ยังตามกันมาได้ มาส่งผลได้ เรื่องกรรมเป็นเช่นนี้ จึงน่ากลัวกรรมนัก พึงกลัวกรรมนัก ไม่พึงคิดว่าการเชื่อว่าการฆ่าฟันตามล้างตามผลาญกัน เป็นเรื่องกรรมนั้นเป็นความเชื่อที่เหลวไหล ไม่มีเหตุผล ไม่พึงคิดเช่นนี้ เพราะไม่มีคุณอย่างใด จะถูกหรือจะผิด ถ้านึกเชื่อไว้ก่อนว่าเป็นเรื่องการให้ผลของกรรม ก็จะทำให้ไม่กล้าทำกรรมไม่ดีโดยตั้งใจ ก็จะพ้นจากผลของกรรมไม่ดีนั้นแน่นอน อุบัติเหตุในยุคนี้สมัยนี้ ที่รุนแรงก็มีมากมาย บางเรื่องไม่น่าเป็นก็เป็น บางคนไม่น่าประสบอุบัติเหตุเช่นนั้นก็ต้องประสบ ดูไปแล้ว คิดไปแล้ว ก็น่าจะรู้สึกว่าอุบัติเหตุอย่างนั้น ๆ เกิดขึ้นเพื่อให้คนนั้นคนนี้ต้องบาดเจ็บหรือล้มตายไปเท่านั้น เมื่อคิดเช่นนี้ เพราะไม่อาจคิดเป็นอื่นได้ ก็ย่อมจะทำให้คิดว่าต้องเป็นเรื่องที่กรรมจะส่งผลแก่ผู้นั้น ในที่นั้น ในเวลานั้น อุบัติเหตุจึงต้องเกิดขึ้นดังนี้ การถูกฆ่าของเด็กไร้เดียงสาหาความผิดไม่ได้ ซึ่งปรากฏขึ้นบ่อย ๆ ในยุคนี้ น่าจะทำให้ความเชื่อในเรื่องกรรมและการทำให้ผลของกรรมหนักแน่นขึ้น ทำไมต้องเป็นเด็กคนนั้นที่ถูกฆ่าทั้งที่ไม่ได้มีเรื่องขุ่นเคืองโกรธแค้นกัน อยู่ดี ๆ มีความสุข ก็ปุบปับถูกนำไปประหัตประหาร ในฐานะเป็นผู้ดู จงดูด้วยความรู้สึกกลัวกรรม ไม่ควรดูด้วยความรู้สึกอาฆาตขุ่นเคือง เพราะจะไม่เป็นคุณแก่จิตใจตนเอง มีแต่จะเป็นโทษ รู้แล้ว ปลงลง นี่แหละอำนาจของกรรมยิ่งใหญ่นัก พึงกลัวนัก ใจจักร้อนรุ่ม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรมและผลกรรม แม้ในฐานะเป็นผู้ดู มิใช่ผู้พลอยได้รับความเดือนร้อนทนทุกข์ทรมานด้วย ถ้าไม่สามารถทำใจอบรมใจให้เข้าใจในเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรมได้แล้ว เมื่อตนต้องเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในเหตุการณ์อันร้ายแรง ก็ย่อมยากที่จะช่วยใจตนเองให้พ้นจากความร้อนได้ แม้เพียงพอสมควร รับรู้สิ่งใด พึงถือโอกาสอบรมจิตใจเรื่องกรรม เรื่องร้ายแรงที่เราไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เกิดขึ้นอยู่มากมายทุกวัน ทุกคืน แม้จะอยู่ในบ้านเรือนตนสมัยนี้ก็สามารถรับรู้ได้ เห็นได้ ได้ยินได้ พึงถือโอกาสอบรมใจตนเองให้เชื่อในเรื่องของกรรม กรรมน่ากลัวเพียงไร คิดให้ดี เมื่อกรรมมาถึง หนีได้หรือไม่ คนดีในชีวิตนี้มิใช่ว่าจะไม่เคยทำกรรมไม่ดีมาก่อนในอดีตชาติ ดังนั้น จึงปรากฏบ่อย ๆ ว่าคนดีแสนดีกลับต้องได้ความทุกข์หนักหนา ด้วยโรคภัยไข้เจ็บบ้าง ด้วยความไม่สมหวังในเรื่องใหญ่โตสำคัญแก่จิตใจบ้าง เป็นเหตุให้ต้องเศร้าหมองทรมานอย่างยิ่ง ผู้มีปัญญาพึงรับผลของกรรมให้ถูกต้อง เราได้รู้ได้เห็นอย่าพิศวงสงสัย อย่าได้คิดผิดว่าคนทำดีไม่ได้ดี แต่จงวางใจให้ถูก ให้เป็นประโยชน์แก่ตน วางใจลงในกรรมที่สลับซับซ้อนยิ่งนัก ยากที่จักเข้าใจ แต่ก็ไม่ยากที่จะเชื่อไว้ก่อน อะไรที่เชื่อไว้ก่อนแล้วไม่มีโทษมีแต่คุณ ผู้มีปัญญาแม้พอสมควรย่อมไม่ดื้อปฏิเสธ การรับผลของกรรมนั้นสำคัญมาก สำคัญทั้งการรับผลของกรรมชั่วและการรับผลของกรรมดี ไม่สำคัญแต่เพียงการรับผลของกรรมชั่วเท่านั้น การรับผลของกรรมดีก็สำคัญ การรับผลของกรรมดีนั้น ถ้ารับไม่ถูกก็มีโทษร้ายแรงแก่จิตใจน่าจะรุนแรงกว่าการรับผลของกรรมชั่วอย่างไม่ถูกวิธีเสียอีกด้วย ผู้ทำกรรมดีไว้เป็นบารมี ส่งให้ชาตินี้สมบูรณ์พร้อม แม้รับผลแห่งกรรมดีหรือผลของบารมีไม่ถูก ผลเสียที่จะเกิดตามมาคือ ความหลงตน อันความหลงตนนั้นจะพาความหลงอีกมากมายให้ตามมา เป็นโทษมหันต์นัก ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว มีคุณและโทษในตัว ผลของกรรมดีและผลของกรรมชั่ว มีทั้งคุณและมีทั้งโทษอยู่ในตัว คุณหรือโทษจะปรากฏตามการวางใจรับผลนั้น ผลของกรรมดีที่เกิดแก่ผู้ใดก็ตาม แม้ผู้นั้นวางใจรับไม่ถูก ไม่ประกอบด้วยปัญญา ผลดีก็จะไม่สมบูรณ์ ทั้งผลร้ายก็จะต้องตามมา การทำใจให้รับผลของกรรมดีอย่างถูกต้อง ผู้ได้รับผลดีของกรรมดี คือ การได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั่นเอง ต้องรับให้ดี ต้องรับให้ถูก วิธีทำใจให้รับโลกธรรมอย่างถูกต้องที่สุดก็คือให้คิดว่า ลาภก็ตาม ยศก็ตาม สรรเสริญก็ตาม สุขก็ตาม ล้วนอยู่ในลักษณะของไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ ได้รับผลดีของกรรมดี คือ ได้ประสบโลกธรรมฝ่ายดีเมื่อไร เมื่อนั้นให้ถึงคิดไตรลักษณ์ให้ทันที จะรับผลดีของกรรมดีที่ดียิ่งกว่าผลดีทั้งนั้น การคิดถึงไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ คือ การทำความดีทางใจ เป็นมโนกรรมที่ดี จึงย่อมได้รับผลเป็นความดีตรงตามเหตุที่ได้กระทำ ที่จริงมโนกรรม กรรมทางใจ คือ คิดดีนั้น แม้ตั้งใจจริงที่จะทำก็น่าจะง่ายกว่ากรรมทางกาย ทางวาจา เพราะเรื่องของความคิดเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของเราเองอย่างแท้จริง ไม่เกี่ยวกับผู้ใดหรืออะไรเลย ความคิดอยู่กับเราจริง ๆ ไม่มีผู้ใดอาจล่วงล้ำก้ำเกิดไปบังคับบัญชาได้ การทำใจเมื่อได้รับผลของกรรมชั่วอย่างถูกต้อง ได้รับผลของกรรมชั่ว คือ ได้ประสบโลกธรรมฝ่ายไม่ดี ก็ควรต้องทำใจให้รับให้ถูก เช่นเดียวกับการทำใจรับโลกธรรมฝ่ายดีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะปล่อยใจให้ตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์ ความเศร้าเสียใจ หรือความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท รับผลไม่ดีของกรรมไม่ดี ด้วยวิธีคิดเช่นเดียวกับเมื่อได้รับผลดีของกรรมดี คือ คิดถึงไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น ทุกข์แล้วก็สุข เป็นธรรมดา ผลของกรรมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งผลของกรรมดี และผลของกรรมชั่ว ล้วนมีลักษณะสาม คือ ไม่เที่ยง ทนทุกข์อยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการของผู้ใด กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งผลของกรรมดีและกรรมชั่วนั้น เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ ไม่มีที่จะยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป พึงละความยึดมั่นในผลของกรรมทั้งปวง สิ่งทั้งปวงเกิดแล้วต้องดับ คือมีลักษณะสาม มีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ โลกธรรมผ่ายดีคือผลของกรรมดีก็เช่นกัน เกิดแล้วต้องดับ โลกธรรมฝ่ายไม่ดีคือผลของกรรมไม่ดีก็เช่นกัน เกิดแล้วต้องดับ เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อรู้เช่นนี้ตามเป็นจริงแล้ว ก็พึงละความยึดมั่นในผลของกรรมที่ได้ประสบอยู่ ไม่ว่าจะเมื่อประสบผลดีหรือเมื่อได้ประสบผลชั่วก็ตาม ถึงทุ่มเทจิตใจให้กระทำแต่กรรมดี ความยึดมั่นถือมั่น เป็นความไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละ แต่เมื่อยังละความยึดทุกอย่างไม่ได้ ก็พึงทุ่มเทจิตใจให้ยึดมั่นการทำกรรมดี ยึดมั่นความเชื่อในผลของการทำความดี ว่าทำดีจักได้ดีจริง มีความยึดมั่นความเชื่อในผลของการทำความชั่ว ว่าทำชั่วจักได้ชั่วจริง ความยึดมั่นเช่นนี้จักเป็นทางนำไปดี ให้ได้ทำดี ไม่ทำไม่ดี ซึ่งก็ย่อมจักนำให้พ้นทุกข์โทษภัยของกรรมไม่ดี ได้รับแต่คุณประโยชน์สารพัดของกรรมดี
|