ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4303
ตอบกลับ: 11
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]

หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (บางเหี้ย)
อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติและปฏิปทา

หลวงพ่อปานเป็นชาวบางบ่อ ท่านเกิดที่ คลองนางโหง ตำบลบางเหี้ย  (ตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ตาเป็นคนจีนชื่อ เขียว ยายเป็นคนไทยชื่อ ปิ่น บิดามีเชื้อจีน ชื่อ "ปลื้ม" มารดาเป็นคนไทย เป็นลูกสาวคนโตของยายปิ่น ชื่อ ตาล อาชีพทำป่าจาก ครอบครัวของท่านอยู่ที่หมู่บ้านโคกเศรษฐี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓

คนที่ ๑ ชื่อ นายเทพย์

คนที่ ๒ ชื่อ นายทัต

คนที่ ๓ ชื่อ นายปาน (หลวงพ่อปาน)

คนที่ ๔ ชื่อนายจันทร์

คนที่ ๕ ชื่อนางแจ่ม

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ ลูกหลานของหลวงพ่อปาน ได้ใช้ชื่อของบรรพบุรุษมาตั้งเป็นนามสกุลว่า "หนูเทพย์"

เมื่อตอนเป็นเด็ก บิดามารดาได้นำไปฝากไว้กับท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนี เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) เพื่อให้เรียนหนังสือไทย ต่อมาไม่นานเจ้าคุณได้ให้บรรพชาเป็นสามเณร  ต่อมาท่านได้สึกจากเณร มาช่วยพ่อแม่ ประกอบอาชีพ ทำจาก และตัดฟืนไปขายเป็นอาชีพประจำ ท่านเป็นผู้มีนิสัยอดทนหนักเอาเบาสู้ ทำให้พ่อแม่เบาใจมาก

เมื่อยังเยาว์ ท่านได้ใช้ชีวิตแบบชาวชนบทคนธรรมดา ครั้นเมื่อเติบโตสู่วัยหนุ่ม เริ่มมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันในเพศตรงข้ามตามวิสัยปุถุชน วันหนึ่งท่านได้ดั้นด้นไปบ้านสาวคนรัก แต่พอล้างเท้าก้าวขึ้นบันได เกิดอัศจรรย์ขึ้นบันไดไม้ตะเคียนอันแข็งแรงพลันหลุดออกจากกัน ทำให้ท่านพลัดตกจากบันได ท่านจึงคิดได้ว่าเป็นลางสังหรณ์บอกถึงการสิ้นวาสนาในทางโลกเสียแล้ว เมื่อกลับถึงบ้านจึงครุ่นคิดตัดสินใจอยู่หลายวัน ผลที่สุดจึงตัดสินใจออกบวช

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อุปสมบท

เมื่ออายุครบบวชจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามนั่นเอง โดยมีท่านเจ้าคุณศรีศากยมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐาน รวมถึงไสยศาสตร์ ท่านได้รับการถ่ายทอดจากคณาจารย์หลายองค์จนเชี่ยวชาญ ภายหลังได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบางเหี้ยนอก ปัจจุบัน เรียกว่าวัดมงคลโคธาวาส โดยมีพระที่เป็นสหายสนิทตามมาด้วยองค์หนึ่งชื่อ หลวงพ่อเรือน หลังออกพรรษาท่านและพระเรือนเริ่มออกธุดงค์ไปสถานที่ต่างๆ

หลวงพ่อปานและหลวงพ่อเรือนได้ดั้นด้นไปจนถึง"วัดอ่างศิลา" อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี และได้ฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของ"หลวงพ่อแตง" เจ้าอาวาสวัดอ่างศิลา โดยศึกษาด้านวิปัสนาธุระ ไสยเวทย์มนต์ต่าง ๆ จนเชี่ยวชาญและสร้างชื่อเสียงให้หลวงพ่อปานเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะ " เขี้ยวเสือโคร่ง ซึ่งแกะเป็นรูปเสือนั่ง " เมื่อมีความเชี่ยวชาญแล้วจึงได้อำลาพระอาจารย์ "หลวงพ่อแตง" มาพำนักอยู่ที่วัดบ้านเกิดตนเองพร้อมด้วยพระอาจารย์เรือน เพื่อนสหาย ณ วัดบางเหี้ย (ปัจจุบันคือวัดมงคลโคธาวาส) และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสโดยมีหลวงพ่อเรือนเป็นรองเจ้าอาวาส ซึ่งทั้งสองรูปได้ปกครองพระลูกวัดทั้งด้านการศึกษาและการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดมาตลอด

จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ประตูน้ำที่กั้นแม่น้ำบางเหี้ย หรือประตูน้ำชลหารพิจิตรในปัจจุบัน ได้เกิดรั่วไม่สามารถปิดกั้นน้ำให้อยู่ได้ไม่ว่าช่างจะซ่อมอย่างไร จนกระทั่งข้าราชการในท้องถิ่นได้นำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ให้ทรงทราบเพื่อขอพึ่งพระบารมีพระองค์ท่าน

ระหว่างที่ประทับอยู่ที่ประตูน้ำบางเหี้ยเป็นเวลา ๓ วันนั้น พระองค์ได้รับสั่งให้นิมนต์หลวงพ่อปานเข้าเฝ้าฯ เพื่อไต่ถามเรื่องต่างๆ โดยขณะที่หลวงพ่อปานเดินทางเข้าเฝ้าฯ นั้นได้ให้เด็กชายป๊อด ถือพานใส่เขี้ยวเสือที่แกะเป็นรูปเสือไปด้วยซึ่งสมัยนั้นแกะจากเขี้ยวเสือจริงๆ เมื่อไปถึงที่ประทับ หลวงพ่อได้เรียกเอาพานใส่เขี้ยวเสือจากเด็กชายป๊อดที่ถืออยู่ แต่พบว่าไม่มีเขี้ยวเสืออยู่ในพานแล้วโดยเด็กชายป๊อดบอกว่าเสือกระโดดลงน้ำระหว่างทางจนหมดแล้ว

หลังจากหลวงพ่อปานทราบจึงได้ให้นำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปหมู แล้วเสียบไม้แกว่งล่อเสือขึ้นมาจากน้ำต่อหน้าพระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งประทับทอดพระเนตรอยู่ตลอด จนถึงกับตรัสกับหลวงพ่อปานว่า "พอแล้วหลวงตา"

สำหรับเขี้ยวเสือหลวงพ่อปานนั้นได้จัดทำด้วยช่างแกะถึง ๖ คน จึงมีรูปร่างไม่เหมือนกันมีทั้ง อ้าปาก หุบปาก โดยช่างทั้งหมดจะเอาแมวมาเป็นต้นแบบในการแกะ
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง”เสด็จประพาส มณฑลปราจิณ” ได้เล่าถึงพระปานไว้ว่า

“พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้นิยมกันในทางวิปัสสนา และธุดงควัตร มีพระสงฆ์วัดต่างๆ ไปธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมที่วัดบางเหี้ย มีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้น ลงไปบางปลาสร้อย แล้วจึงเวียนกลับขึ้นไปปราจิณ นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ถ้ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นแต่พระที่เมื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯกลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินทางอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในราวเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว

คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากคือ เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสก ต้องใช้หมู ปลุกเสกเป่าไปข้อไร เสือนั้นกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบาก เหน็ดเหนื่อยในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ในป่าช้า ที่พระบาทฯ (สระบุรี) ก็หนีไปอยู่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ ในการทำอะไรๆ ขาย เวลาแย่งชิงก็ขึ้นไปถึง ๓ บาท ว่า ๖ บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัธยาศัยเป็นคนแก่ใจดีมีกิริยาเรียบร้อย อายุ ๗๐ แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย มีคนมาช่วยพูด"

จะเห็นว่า ในพระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสเมืองปราจิณ” ได้เล่าถึง “พระปาน” อย่างละเอียด สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ เครื่องรางเขี้ยวเสือที่ทำเป็นรูปเสือ ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ราคาเช่าตัวละ ๑ บาทบ้าง ๓ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากในสมัยนั้น

ต่อมาท่านได้ไปเรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์ที่วัดสมถะ จังหวัดชลบุรีด้วย

หลวงพ่อปาน เป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรมวินัยเคร่งครัด กิจของสงฆ์หลวงพ่อปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน อีกประการหนึ่งคือนำ พระสงฆ์ออกบิณฑบาตทุก ๆ เช้า นอกจากเจ็บป่วยไป ไม่แล้วท่านปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน อีกประการหนึ่ง คือนำพระสงฆ์สวดมนต์เช้าเย็นที่หอสวดมนต์เป็นประจำทุกวัน และสวดมนต์เป็นคัมภีร์หรือผูกเป็นเล่มเป็นวัน ๆ ไป กระทั่งสวดปาฏิโมกข์ เหตุดังนี้ในสมัยนั้น พระลูกวัดของท่านจึงสวดมนต์เก่งมาก
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ด้านสาธารณประโยชน์

ด้านสาธารณประโยชน์ หลวงพ่อเป็นผู้นำในการสร้างถนนจากคลองด่านไปบางเพรียง ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสไปวัดสว่างอารมณ์ ถนนจากวัดมงคลโคธาวาสจรดคลองนางหงษ์ ถนนแต่ละสายปัจจุบันได้พัฒนาเป็นถนนถาวรและใช้สัญจร ไปมาจนถึงทุกวันนี้

ด้านความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป เป็นพระอาจารย์ ที่มีญาณแก่กล้าชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ ๕ เครื่องรางของขลัง ของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธามากและสืบ เสาะหากันจนทุกวันนี้ ท่านคร่ำเคร่งทางวิปัสสนามากและ ธุดงค์อยู่เสมอ ด้วยคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อที่ได้ประกอบขึ้นไว้ แต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ราษฎรในตำบลใกล้เคียง กระทั่งต่างอำเภอและต่างจังหวัดพากันเคารพนับถือและรำลึก ถึงหลวงพ่ออย่างไม่ เสื่อมคลาย

ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้น ประชาชนที่มีความเคารพบูชาหลวงพ่อ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปท่านขึ้นมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชา เพราะหลวงพ่อไม่ค่อยได้อยู่วัด ท่านมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ จะได้กราบรูปหล่อแทนตัวท่าน แต่เมื่อหล่อรูปแล้วท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด ท่านมักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ การที่ท่านไม่อยากเข้าวัดของท่านนั้น อาจเป็นเพราะท่านรู้ล่วงหน้าว่าถึงคราวจะหมดอายุขัยแล้ว ท่านจึงต้องการความสงบในการพิจารณาธรรม แต่ท่านก็ไม่ได้บอกกับใครๆ เมื่อญาติโยมอ้อนวอนมากๆ เข้า ท่านก็บ่ายเบี่ยงไปว่า “เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไปอ้ายดำมันจะเอาตาย” คำว่า “อ้ายดำ” หมายถึงรูปหล่อของท่านนั่นเอง ปัจจุบันนี้รูปหล่อของท่านก็ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส (วัดคลองด่าน หรือวัดบางเหี้ย) คืออยู่ที่กุฏิของหลวงพ่อซึ่งได้จัดสร้างขึ้นใหม่ และปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มากมาย น้ำมนต์ที่หน้ารูปหล่อของท่านก็มีคนนำไปดื่ม และทองคำเปลวที่รูปหล่อก็มีคนนำไปปิดที่หน้าผาก เพื่อรักษาโรคได้ผลมาแล้วมากมาย

ด้านสมณศักดิ์ หลวงพ่อปาน ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ"

มรณภาพ

ท่านมรณภาพเมื่อ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๕๓ เวลา ๔ ทุ่ม ๔๕ นาที พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๔

ที่มา http://www.dharma-gateway.com/mo ... t-bang-hea-hist.htm
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย
เสือที่อยู่ในบาตรกระโดดกัดหมู

เมืองสมุทรปราการ เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่ง มีวัดพุทธศาสนาอยู่ ๑๐๐ กว่าวัด มีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่หลายสำนัก เท่าที่ผ่านมา พระอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคม แก่กล้าด้วยพระเวทย์ ในย่านบางบ่อเห็นจะไม่มีใครเกิน หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ยไปได้ (ความจริง ”เหี้ย” นี่เป็นชื่อของสัตว์เลื้อยคลานพันธุ์หนึ่ง แต่คนนำมาใช้ด่าว่ากัน จึงกลายเป็นคำไม่สุภาพไป) เนื่องจากท่าน ได้ล่วงลับมาเป็นเวลานาน และท่านไม่ได้เล่าถึงชีวิตในอดีตของท่านให้ลูกศิษย์ทราบ ข้อมูลชีวประวัติของท่านจึงมีน้อย ทราบเพียงว่า

ท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ที่ตำบลคลองด่าน ตาเป็นคนจีนชื่อ เขียว ยายเป็นคนไทยชื่อปิ่น โยมพ่อไม่ทราบชื่อ แต่โยมแม่ชื่อตาล เป็นลูกสาวคนโตของยายปิ่น ในตอนเยาว์วัย ท่านได้บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดแจ้ง หรือวัดอรุณฯ กรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือ ไทย หนังสือขอม มูลกัจจายน์ และหนังสือใหญ่ ต่อมาท่านได้สึกจากเณร มาช่วยพ่อแม่ ประกอบอาชีพ ทำจาก และตัดฟืนไปขายเป็นอาชีพประจำ ท่านเป็นผู้มีนิสัยอดทนหนักเอาเบาสู้ ทำให้พ่อแม่เบาใจมาก

ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านก็ได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดอรุณฯ โดยมีพระศรีศากยมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วก็ได้อยู่ศึกษากับพระอุปัชฌาย์หลายปี ท่านมีความสนใจในทางกรรมฐานเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นท่านได้กราบลามาอยู่ วัดบางเหี้ย ตำบลบางเหี้ย อำเภอบางบ่อ ท่านประพฤติปฏิบัติ เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย เจ้าอาวาสขณะนั้น ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ปกครองดูแลพระเณร ออกพรรษาแล้วท่านก็ออกรุกขมูล บุกดงพงป่าเพื่ออบรมสมาธิฝึกกรรมฐาน แสวงหาความรู้วิทยาคมจากสำนักอาจารย์ที่มีชื่อเสียง รู้ว่าอาจารย์ที่ไหนดี ท่านก็บุกไปจนถึงเพื่อขอศึกษาอาคมกับอาจารย์นั้น ท่านสนใจในวิชาไสยศาสตร์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงไม่มีความยากสำหรับท่าน เมื่อมีความชำนาญแคล่วคล่องในเวทย์มนต์ ก็ทำให้เกิดความขลัง ความรู้ความสามารถก็ทวีเป็นเงาตามตัว ต่อมาท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ปกครองสงฆ์ดูแลวัด

หลวงพ่อปานฯ กับหลวงพ่อวัดกระบกต้นผึ้ง จังหวัดระยอง (ซึ่งได้พบกันในระหว่างธุดงค์) ได้ชวนกันไปเรียนวิทยาคมการปลุกเสกเสือ จากอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งพร้อมกัน (ไม่ทราบชื่อ และสำนักของอาจารย์ท่านนั้น) ขณะที่เรียนอยู่นั้น เมื่อเรียนถึงขั้นทดลองพิสูจน์ดู โดยเอาเสือใส่บาตร หรือในโหลให้เอาไม้พาดไว้ ปลุกเสกจนเสือออกมาจากบาตร หรือจากโหลหายเข้าป่าไป ถ้าใครภาวนาเรียกเสือกลับมาได้ก็จะให้เรียนต่อไป ถ้าเรียกกลับมาไม่ได้ ก็ไม่ให้เรียน

หลวงพ่อปานวัดบางเหี้ย ปลุกเสกเสือออกจากบาตรเข้าป่าไปได้ และเรียกกลับมาได้ ส่วนหลวงพ่อวัดกระบกต้นผึ้ง ปลุกเสกเสือออกมาได้เข้าป่าไปเช่นกัน แต่เรียกเท่าไรๆ ก็ไม่กลับ ก็เป็นอันว่าหลวงพ่อปานเรียนต่อจนสำเร็จองค์เดียว หลวงพ่อวัดกระบกต้นผึ้งก็ต้องพักจากการเรียนเสือ ก็หันมาเรียน สร้าง และปลุกเสกแพะ จนสำเร็จ เมื่อได้วิทยาคมนี้ต่อมาก็มาเป็นอาจารย์ของหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก จังหวัดระยอง หลวงพ่ออ่ำนี่มีชื่อเสียงมากในการสร้างแพะ จนได้สมญาว่า “หลวงพ่ออ่ำแพะดัง” และหลวงพ่อวัดกระบกต้นผึ้งนี้ ก็เป็นอาจารย์ของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง ผู้โด่งดังมากในปัจจุบันนี้
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอกจากนี้หลวงพ่อปานฯยังเป็นหัวหน้าสายรุกขมูล และสอนกรรมฐานอันลือชื่อ การออกธุดงควัตร ท่านจะเป็นอาจารย์ควบคุมพระเณร เช่นเดียวกับหลวงพ่อนก วัดสังกะสีซึ่งเป็นคณะธุดงค์อีกสายหนึ่ง ทั้งสองสายมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น หลวงพ่อปานนำพระเป็นร้อยรูป บางปีก็ถึงห้าร้อย พระกรรมฐานสองสายนี้ มีชื่อเสียงมาก่อนกรรมฐานสายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น

เนื่องจากหลวงพ่อปานมีอาคมขลัง มีสมาธิจิตเข้มแข็ง เวลาออกรุกขมูลพักปักกลดอยู่ในป่า ตอนกลางคืนเดือนหงายๆ ท่านมักจะลองใจศิษย์ เนรมิตกายให้เป็นงูใหญ่ เลื้อยผ่านหมู่ศิษย์ไปบ้าง ทำเป็นเสือโคร่งเดินผ่านกลดศิษย์ไปบ้าง เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว

เนื่องจากหลวงพ่อปานได้ศึกษาวิทยาคม ในการสร้างเสือมาโดยสมบูรณ์แบบ ท่านก็เริ่มสร้างแจกจ่ายให้กับประชาชนแถวย่านบางเหี้ยก่อน ที่วัดจึงต้องต้อนรับประชาชน ที่พากันหลั่งไหลเข้าสู่วัดบางเหี้ยเพื่อรับแจกเสือ ตอนแรกคนแกะเสือก็มีเพียงคนเดียว ต่อมาต้องเพิ่มคนแกะเรื่อยๆ จนถึง ๔ คน และมากกว่านั้น แต่ที่มีฝีมือนั้นมีอยู่ ๔ คน ใครต่อใครก็พากันกล่าวขวัญว่า “เสือหลวงพ่อปาน” แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ยังรู้จัก และในสมัยนั้นไม่มีใครทำเลียนแบบ สำหรับหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยนั้น ท่านแก่กว่าหลวงพ่อปานวัดบางนมโค ๔๐ ปี และในจังหวัดสมุทรปราการ มีหลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ดังมากอีกองค์หนึ่ง หลวงพ่อปานเมื่อออกรุกขมูล พระเณรก็จะนำเอาเสือที่ปลุกเสกแล้วติดไปแจกประชาชนด้วย

ปรากฏว่าเสือของท่านมีประสบการณ์ในทางอำนาจ และคงกระพันยอดเยี่ยม หรือจะใช้ในทางเมตตามหานิยม ค้าขายของก็ได้ผล พ่อค้าแม่ค้ามักจะไปขอเสือหลวงพ่อกันวันละมากๆ ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านจึงแพร่หลายโดยรวดเร็ว ยิ่งมีผู้รู้เห็นพิธีปลุกเสก เสือวิ่งในบาตรเสียงดังกราวๆ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนแห่แหนมารับแจกเสือกันไม่ขาดระยะ นอกจากนี้ จีนเฉย (อาแป๊ะเฉย) ซึ่งมีความคุ้นเคยกับหลวงพ่อปาน ถึงกับไปค้างที่วัดเป็นประจำ วันหนึ่งแกก็ไปที่วัดเช่นเคย แต่เอาหมูดิบๆ ไปด้วย เวลาดึกสงัดหลวงพ่อปลุกเสือแกก็เอาหมูแหย่ลงไปในบาตร ปรากฏว่าเสือติดหมูขึ้นมาเป็นระนาว แกยังสงสัยว่าแกจิ้มแรงจนเสือติดหมูออกมา ตอนหลังพอหลวงพ่อปลุกเสกจนเสือวิ่งในบาตร แกก็เอาหมูผูกกับไม้ แล้วชูหมูไว้เหนือบาตร ปรากฏว่าเสือที่อยู่ในบาตรกระโดดกัดหมู เหนือขอบปากบาตร จีนเฉยซึ่งเห็นกับตาตนเองก็นำไปเล่า จนข่าวเสือกระโดดกัดหมู เสือวิ่งในบาตร เสือกระโดดได้ แพร่สะพัดไปราวกับลมพัด ประชาชนต่างก็เห็นเป็นอัศจรรย์
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมัยก่อนมีแม่น้ำอยู่สายหนึ่ง ซึ่งไหลผ่านป่าดงพงพีมีต้นน้ำอยู่แปดริ้ว มาลงทะเลที่สมุทรปราการ ทุกครั้งที่น้ำทะเลหนุน น้ำเค็มจะทะลักเข้าไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ทำให้ชาวบ้านในย่านนั้นได้รับความลำบาก สิ่งที่ไหลขึ้นมาตามน้ำคือตัวเหี้ย ตะกวด และจระเข้ จนต้องมีการทำประตูกั้นน้ำไว้เพื่อมิให้น้ำเค็มจากทะเลไหลขึ้นไปปนกับน้ำจืด และเพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลานที่มีอยู่ชุกชุม มิให้แพร่หลายไปตามคลองต่างๆ ด้วยเหตุที่มีสัตว์พวกนี้ชุกชุม ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางเหี้ย” และคลองบางเหี้ย วัดก็ตั้งชื่อว่า วัดบางเหี้ย มี ๒ วัดคือวัดบางเหี้ยนอก กับวัดบางเหี้ยใน ประตูที่กั้นคลองนั้น มีชื่อเรียกกันปัจจุบันว่า “ประตูน้ำชลหารวิจิตร”

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ประตูน้ำเกิดชำรุด ต้องทำการซ่อมแซมหลายครั้ง เมื่อแล้วเสร็จได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จไปที่ตำบลบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อที่จะทำพิธีเปิดประตูน้ำใหญ่ที่ตั้งอยู่ในคลองบางเหี้ย ปรากฏว่าทรงประทับอยู่ที่คลองด่านถึง ๓ วัน (ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดฯให้เปลี่ยนชื่อ ตำบลบางเหี้ย เป็น ตำบลคลองด่าน คลองบางเหี้ย เป็นคลองด่าน และอำเภอบางเหี้ย เป็นอำเภอคลองด่าน ) ...

บรรดาชาวบ้านที่อยู่ในแถบถิ่น บางบ่อ บางพลี บางเหี้ย และบริเวณใกล้เคียง เมื่อรู้ข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวฯจะเสด็จมาเปิดประตูน้ำ ต่างก็พากันเตรียมของที่จะถวาย หลวงพ่อปานได้นำเขี้ยวเสือ ที่แกะอย่างสวยงามใส่พาน แล้วให้เด็กป๊อดซึ่งเพิ่งจะมีอายุ ๗-๘ ขวบหน้าตาดี เดินถือพานที่ใส่เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ ตามหลังท่านไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ริมคลองด่าน

เมื่อไปถึงที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ หลวงพ่อได้เรียกเอาพานใส่เขี้ยวเสือจากเด็กผู้ติดตาม แต่เด็กคนนั้นบอกกับท่านว่า

“เสือไม่มีแล้ว เพราะมันกระกระโดดน้ำไปในระหว่างทางจนหมดแล้ว”

หลวงพ่อปานจึงได้เอาชิ้นหมูที่ทำขึ้นจากดินเหนียว แล้วเสียบกับไม้ แกว่งล่อเอาเสือขึ้นมาจากน้ำต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงตรัสว่า

“พอแล้วหลวงตา”

หลังจากนั้นหลวงพ่อได้ถวายเขี้ยวเสือแกะนั้นแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงพิจารณาชั่วครู่ จึงตรัสถามชื่อพระเถระรูปร่างสูงใหญ่ผู้ปลุกเสกเขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน ทูลว่าท่านชื่อปาน (ติสโร) เป็นเจ้าอาวาสวัดบางเหี้ย

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งกับพระปานว่า

“ได้ยินชื่อเสียง และกิตติคุณมานาน เพิ่งเห็นตัววันนี้”

แล้วรับสั่งถามว่า

“ที่แจกเครื่องรางเป็นรูปเสือมีความหมายอย่างไร ?”

หลวงพ่อปานทูลตอบว่า

“ได้ไปรุกขมูลธุดงค์ในป่า พบเสือใหญ่หลายครั้ง ได้สังเกตดูเห็นว่า “เสือ” เป็นสัตว์ปราดเปรียว ฉลาด ว่องไว เฉียบขาด มีตบะ และอำนาจ สามารถที่จะใช้ตาสะกดสัตว์อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ คนทั่วไปเรียกผู้ร้ายใจฉกรรจ์ว่า “ไอ้เสือ” ก็คือเอาความเก่งกาจของเสือมานั่นเอง การที่ทำเครื่องรางรูปเสือ มิใช่จะสนับสนุนให้คนกลายเป็น”อ้ายเสือ” เพียงแต่ต้องการเอาลักษณะของเสือจริงในป่า ที่ปราดเปรียว ว่องไว เฉลียวฉลาด เฉียบขาดมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น”
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพอพระทัยในคำตอบของพระปานยิ่งนัก (ด้วยท่านมิได้ โอ้อวดว่า เครื่องรางของท่านดีเด่น แต่ประการใด) ทรงพระราชทานผ้าไตร และผ้ากราบ (ต่อมาได้พระราชทานสมณศักดิ์ เป็น “พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ”)

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง”เสด็จประพาส มณฑลปราจิณ” ได้เล่าถึงพระปานไว้ว่า

“พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้นิยมกันในทางวิปัสสนา และธุดงควัตร มีพระสงฆ์วัดต่างๆ ไปธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมที่วัดบางเหี้ย มีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดิน ทางที่เดินนั้น ลงไปบางปลาสร้อย แล้วจึงเวียนกลับขึ้นไปปราจิณ นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ถ้ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นแต่พระที่เมื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯกลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินทางอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในราวเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา ๔๐ ปีแล้ว

คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากคือ เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสก ต้องใช้หมู ปลุกเสกเป่าไปข้อไร เสือนั้นกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้ (น่าจะหมายความว่า พอปลุกเสกได้ที่เสือจะกระโดดกัดเนื้อหมู เป็นอันใช้ได้น่ะครับ) ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบาก เหน็ดเหนื่อยในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ในป่าช้า ที่พระบาทฯ (สระบุรี) ก็หนีไปอยู่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ ในการทำอะไรๆ ขาย เวลาแย่งชิงก็ขึ้นไปถึง ๓ บาท ว่า ๖ บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัธยาศัยเป็นคนแก่ใจดีมีกิริยาเรียบร้อย อายุ ๗๐ แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย มีคนมาช่วยพูด"

จะเห็นว่า ในพระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสเมืองปราจิณ” ได้เล่าถึง “พระปาน” อย่างละเอียด สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ เครื่องรางเขี้ยวเสือที่ทำเป็นรูปเสือ ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ราคาเช่าซื้อตัวละ ๑ บาทบ้าง ๓ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก (ในสมัยนั้น กาแฟถ้วยละ ๑ สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวชามละ ๓ สตางค์ ข้าวผัดจานละ ๕ สตางค์) หลังจากเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ ก่อนที่ท่านจะเสด็จกลับเมืองหลวง พระองค์มีรับสั่งกับหลวงพ่อปานว่า

“ฟ้าไปก่อน แล้วให้พระท่านไปทีหลัง”

พระราชดำรัสนี้ทำให้ทุกคนพิศวง เพราะไม่เข้าใจความหมาย (ยกเว้นหลวงพ่อฯ) แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี พระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคต และต่อจากนั้นไม่ถึงปี หลวงพ่อปานก็มรณภาพลงเช่นกัน จึงสันนิษฐานว่าพระองค์อาจจะรู้ด้วยญาณ ว่าท่านและหลวงพ่อปานคงถึงเวลาที่จะละสังขารแล้ว
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บุญญาภินิหารของหลวงพ่อ

หลวงพ่อปานท่านเป็นผู้มีความเมตตา ปรานี และมีวาจาสิทธิ์ จนเป็นที่ยำเกรงแก่ประชาชนทั่วไป บรรดาลูกศิษย์ของท่านจะพยายามปฏิบัติตนอยู่ในคุณงามความดี เพราะกลัวหลวงพ่อว่าตนไม่ดี แล้วจะไม่ดีตามวาจาสิทธิ์ของท่าน กอปรกับท่านมีเจโตปริยญาณ และอนาคตังสญาณ

อาทิเช่นครั้งหนึ่งท่านเตรียมจะออกเดินธุดงค์ พร้อมกับพระภิกษุสามเณรจำนวนมากจากวัดต่างๆ พระทั้งหลายจะต้องเข้ามาหาหลวงพ่อ เพื่อรายงานตัวก่อน ถ้าท่านไม่ให้ไปก็ไปไม่ได้ ในครั้งนั้นมีพระอยู่องค์หนึ่ง ชื่อพระผิว หลวงพ่อได้เรียกเข้ามาหา และบอกว่า

“คุณเก็บบาตร เก็บกลด กลับวัดไปเถอะ”

พระผิวเสียใจเป็นอย่างยิ่งถึงกับร้องไห้ หลวงพ่อปานจึงกล่าวกับพระผิวว่า

“อย่าเสียใจไปเลยคุณ กลับไปวัดเถอะ เดินทางไปกับหลวงพ่อมันลำบากมาก องค์อื่นท่านแข็งแรง หลวงพ่อกลัวคุณจะลำบากจึงให้กลับไปก่อน”

พระผิวจึงจำใจกลับ หลังจากพระผิวกลับมาถึงวัดได้ ๒ วันเท่านั้นท่านก็เป็นไข้ทรพิษ และมรณภาพลงในที่สุด การเดินธุดงค์นั้น ท่านมักจะให้ศิษย์ออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อนทุกคราว แต่พอถึงจุดนัดหมาย หลวงพ่อจะไปคอยอยู่ข้างหน้าก่อนเสมอ

หลวงพ่อปานท่านเป็นพระที่เคร่งครัดเอาจริงเอาจัง มีจิตใจกล้าหาญ ผิดว่าผิด ถูกว่าถูก ไม่มีการเอนเอียงไปทางใดเลย การทำกรรมฐาน ท่านให้นั่งพิจารณาธาตุ เพ่งสิ่งต่างๆ เช่น ไฟเทียน น้ำในบาตร ปฐวีธาตุ จนพลังใจแก่กล้ามั่นคง และฝึกสติโดยการให้เดินจงกรม เมื่อฝึกจิตจนได้ที่แล้วท่านจึงจะสอนวิชาเคล็ดลับต่างๆ ให้ มีทั้งอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม และวิชาไสยศาสตร์ต่างๆ ที่เรียนนี้ก็เพื่อรู้ เรียนไว้เพื่อแก้ และเพื่อป้องกันตัว (เวลาออกธุดงค์) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสมัยนั้น ในการไปเดินธุดงค์คราวหนึ่ง ท่านไปได้หินเขียววิเศษ เป็นวัตถุสีเขียว แวววาวมาก โตขนาดเมล็ดถั่วดำ และข้างๆ หินนี้ มีเต่าหินที่สลักด้วยหินทรายสีออกน้ำตาลแดงเล็กน้อย หลวงพ่อปานท่านนิมิตเห็นสิ่งนี้ก่อนท่านจะออกธุดงค์
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ของวิเศษนั้น หลวงพ่อปานไม่เคยเปิดเผยกับใคร ท่านนำไปไว้ยังศาลที่ปลูกไว้ภายในบริเวณวัด ที่ศาลนี้มีพระพุทธรูปศิลาศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย ใครไปมาผ่านศาลก็จะกราบไหว้พระพุทธรูป และจะเห็นเต่าศิลาตัวนั้น แต่บางคราวเต่านั้นก็หายไป และก็น่าแปลกที่หลวงพ่อปานก็จะไม่อยู่ด้วยทุกครั้ง ทุกคนเข้าใจว่าท่านไปธุดงค์ในป่า แต่ทำไมจะต้องนำเต่าหินนั้นไปด้วยเพราะทั้งหนัก และต้องลำบากดูแลรักษา

เรื่องนี้ใครๆ ไม่สนใจ แต่สามเณรน้อยองค์หนึ่งสนใจ และคอยแอบดูอยู่ ว่าเต่าหายไปไหนใครพามันไป ทั้งๆ ที่หนักมาก สามเณรน้อยนี้มีความพยายามมาก ท่านคอยซ่อนตัวแอบดูเต่าหินนั้น ซึ่งบัดนี้มีดวงตาเป็นหินสีเขียว โดยหลวงพ่อปานท่านลองใส่เข้าไปตรงดวงตาเต่าก็เข้ากันได้พอดี อย่างไรก็ตามความพยายามของสามเณร หลวงพ่อท่านก็ทราบโดยตลอด

ต่อมาเป็นวันข้างแรมเดือนดับ สามเณรก็ยังมาคอยดูอยู่เช่นเคย ทันใดนั้น! เณรน้อยก็ตกตะลึงตัวชาอยู่กับที่ เพราะเต่าหินกำลังเคลื่อนไหวคลานออกจากศาล และลอยไปในอากาศ เรียกว่าเต่าหินเหาะก็ไม่ผิด สามเณรพยายามข่มตาไม่ยอมหลับนอน ทนไว้เพื่อจะได้ดู ตอนเต่าหินกลับมา เวลาล่วงเลยไปจนถึงประมาณตี ๔ เณรน้อยก็ต้องอัศจรรย์ใจอีกครั้ง เพราะเต่าหินนั้นได้เหาะกลับมา และคลานกลับไปอยู่ที่เดิม สามเณรนั้นเดินไปสำรวจเต่าหินดู ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ เป็นหินที่เขาสลักมาจากหินทราย ถ้าไม่ใช่ของกายสิทธิ์จะคลานแล้วลอยไปในอากาศได้อย่างไร หลวงพ่อปานท่านคอยดูความมานะ อดทนตลอดจนปัญญาไหวพริบของสามเณรน้อยลูกศิษย์ท่านอยู่เงียบๆ จากการสังเกตเฝ้าดู เณรน้อยพบว่าเต่าหินนี้จะเหาะไป และกลับตอนตี ๔ ทุกๆ วันแรม ๑๕ ค่ำ

ในที่สุดเณรน้อยก็ตัดสินใจ ท่านครองผ้าอย่างทะมัดทะแมง เตรียมตัวจะไปผจญภัยกับเต่าหิน เมื่อถึงเวลา เต่าหินก็ค่อยๆ คลานลงมาจากศาล สามเณรก็ปราดออกจากที่ซ่อน กระโดดเกาะเต่าหินนั้นไว้ เมื่อเต่าหินค่อยๆ ลอยขึ้นสามเณรก็กอดไว้แน่นด้วยใจระทึกเพราะเกรงจะตกลงไป ในที่สุดก็มาถึงเกาะแห่งหนึ่ง ไม่รู้ว่าเป็นสถานที่แห่งใด มองไปรอบๆ ตัวพบกับแสงสว่างเย็นตาน่ารื่นรมย์ เต่าหินค่อยๆ ลอยต่ำลง เมื่อถึงพื้นดินก็ตรงไปยังป่าไผ่ กินหน่อไผ่อย่างไม่รู้จักอิ่ม สามเณรก็ไม่กล้าลงจากหลังเต่า เพราะเกรงถูกทิ้งไว้ ได้แต่รั้งหักหน่อไม้มาได้หน่อหนึ่ง เพื่อเป็นสักขีพยานว่า ไม่ได้ฝันไป ได้มาอยู่บนเกาะนี้จริงๆ

เต่าหินนั้นกินอยู่พักหนึ่ง ก็เหาะกลับแต่ขณะที่เดินทางนั้น สามเณรไม่สามารถกำหนดจดจำทิศทางได้เลย เมื่อกลับมาที่วัด เต่าหินก็กลับไปประจำที่ ส่วนเณรน้อยก็ถือหน่อไม้เข้ากุฏิไป หลวงพ่อปานท่านพิจารณาแล้ว เห็นว่าเรื่องเต่าหินวิเศษนี้จะไม่เป็นความลับอีกต่อไป ท่านจึงได้นำดวงตาอันเป็นหินสีเขียวสดใสนั้นออกเสีย เพื่อเต่าศิลาจะได้ไม่สามารถเหาะไปเที่ยวได้อีก (ท่านคงพิจารณาแล้วว่า ถ้าเรื่องถูกแพร่งพรายออกไปคงจะเกิดความวุ่นวาย และสามเณรนั้นคงจะทดลองเกาะเต่าไปเที่ยวอีก และอาจเกิดอันตราย กระผมเข้าใจว่า หลวงพ่อท่านสามารถควบคุมเต่าได้ และสามารถเกาะหลังเต่าไปในที่ต่างๆ ได้ ตามที่ท่านปรารถนา) ปัจจุบันเต่าหินตัวนี้ ยังปรากฏอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดใกล้เคียง (เรื่องเต่าหินเหาะได้นี้ ท่านพระครูโกศล ปาสาธิโก ศิษย์ของหลวงพ่อปาน ซึ่งเป็นผู้ทรงอภิญญาเช่นเดียวกัน เป็นผู้เล่าให้ฟัง)
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้